Monday, March 12, 2007
พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
คราเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์ ได้ประทับอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีเงาครึ้มต้นหนึ่ง โดยมีพระอานนท์หมอบลงที่พระบาทมูลแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์อาศัยความกรุณาแก่ข้าและหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนมชีพต่อไปอีกเถิดอย่าเพิ่งด่วนปรินิพพานเลย ” กราบทูลเท่านี้แล้วพระอานนท์ก็ไม่ทูลอะไรต่อไปอีกเพราะโศกาดูรท่วมท้นหทัย
“ อานนท์เอ๋ย ” พระศาสดาตรัสพร้อมทอดทัศนาการไปเบื้องหน้าอย่างสุดไกล ลีลาอันเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตรและพระพักตร์ “เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ อีกสามเดือนข้างหน้านี้ อานนท์ เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่า 16 ครั้งแล้วว่า คนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ได้ทูลอะไรเราเลย เราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อนๆนั้น ถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไปเราจะห้ามเสียสองครั้งพอเธอทูลครั้งที่สามเราจะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เรามิอาจกลับใจได้อีก”
“ อานนท์เอ๋ย ” บัดนี้สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้ว เรื่องที่จะดึงกลับมาอีกครั้งหนึ่งนั้นไม่ใช่วิสัยแห่งตถาคต....บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้ อานนท์เอ๋ย ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกดับไปสลายไปเป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวทุกขณะ ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลเป็นพื้นฐานที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นสิ่งที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลาย เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขรและสัตว์จตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ คือ ความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดเรียบร้อย มีหลังคาป้องกันลม แดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวายเมื่อลม แดดและฝน กล่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสวะให้เบาบางและหมดสิ้นไป ”
“อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีล สมาธิและปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกด้วยศีล สมาธิและปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์ 8 ประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลายบท 4 คือ อริยสัจประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์ 8 นี่แลเป็นไปเพื่อทัศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์ 8 นี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น เมื่อปฏิบัติดังนี้พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฐิ คือ ความยึดมั่นเรื่องของตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวลไม่มีความสุขใดยิ่งกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ ความสุขชนิดนี้สามารถหาได้ด้วยตัวเรานี้เอง ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย มนุษย์ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตามแต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้นเป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อยเหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็ก ๆ เพียงตัวเดียว มนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกินและเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือดวงจิตที่ผ่องแผ่ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา เรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ ภาระที่ต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องที่ใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพ่งแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยประสบความสงบเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆกันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง”
“ภายในอาคารมหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบายแต่สถานที่เหล่านั้นมักบรรจุไปด้วยคนที่มีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมาก ภาวะอย่างนั้นจะมีความสุขสู้ผู้มีใจสงบที่อยู่โคนไม้ได้อย่างไร ”
“ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ อย่างพวกเธออยู่ที่นี่มีแต่ความพอใจ แม้กระท่อมจะมุงด้วยใบไม้ ก็มีความสุขกว่าอยู่ในพระราชฐานอันโอ่อ่า แน่นอนทีเดียวคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนี้มิใช่คนใหญ่คนโต แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข สงบเยือกเย็น ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภและยศนั้นเป็นเหยื่อของโลกที่น้อยคนนักจะสละละวางได้ จึงแย่งลาภและยศกันอยู่เสมอ เหมือนปลาที่แย่งเหยื่อกันกิน แต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย หรือเหมือนไก่ที่แย่งไส้เดือนกัน จิกตีกัน ทำลายกันจนพินาศกันทั้งสองฝ่าย น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ถ้ามนุษย์ในโลกนี้ลดความโลภลง มีการเผื่อแผ่เจือจานโอบอ้อมอารี ถ้าเขาลดโทสะลง มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีเมตตากรุณาต่อกัน และลดโมหะลง ไม่หลงงมงาย ใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาและดำเนินชีวิต โลกนี้จะน่าอยู่อีกมาก แต่ช่างเขาเถิดหน้าที่โดยตรงและเร่งด่วนของเธอ คือ ลดความโลภ ความโกรธและความหลงของเธอเองให้น้อยลง แล้วจะประสบความสุขเยือกเย็นขึ้นมาก เหมือนคนลดไข้ได้มากเท่าใด ความสบายกายก็มีมากขึ้นเท่านั้น ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ยิ่งเจริญก็ดูเหมือนจะมีเสรีภาพน้อยลงทั้งทางกายและทางใจ ดูแล้วความสะดวกสบายและเสรีภาพของมนุษย์ยังสู้สัตว์เดรัจฉานบางประเภทไม่ได้ที่มันมีเสรีภาพที่จะทำอะไรตามใจชอบอยู่เสมอ ดูอย่างเช่น ฝูงวิหกนกกา มนุษย์เราเจริญกว่าสัตว์ตามที่มนุษย์เราเองชอบพูดกัน แต่ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขน้อยกว่าสัตว์ ภาระใหญ่จะที่ต้องแบกไว้ คือ เรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ สัตว์เดรัจฉานตัดไปได้อย่างหนึ่งคือเรื่องเกียรติ คงเหลือแต่เรื่องกามและเรื่องกิน นักพรตอย่างพวกเธอนี้ตัดไปได้อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องกาม คงเหลือแต่เรื่องกินอย่างเดียว แต่การกินอย่างนักพรตกับการกินของผู้บริโภคกามก็ดูเหมือนจะบริโภคแตกต่างกันอยู่ ผู้บริโภคกามและยังหนาแน่นอยู่ด้วยโลกียวิสัย บริโภคเพื่อยุกามให้กำเริบจะต้องกินให้มีเกียรติ กินให้สมเกียรติ มิได้กินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้อย่างสมณะ ความจริงร่างกายคนเราไม่ได้ต้องการอาหารอะไรมากนัก เมื่อหิวก็ต้องการอาหารบำบัดความหิวเท่านั้น แต่เมื่อมีเกียรติเข้ามาบวกด้วย จึงกลายเป็นเรื่องกินอย่างเกียรติยศ และแล้วก็มีภาระตามมาอย่างหนักหน่วง คนจำนวนมากเบื่อเรื่องนี้แต่จำเป็นต้องทำ เหมือนโคหรือควายซึ่งเหนื่อยหน่ายต่อแอกและไถ แต่จำใจต้องลากมันไป อนิจจา ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก เหล็กหรือโซ่ตรวนใดๆ เราไม่กล่าวว่าเป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำ คือ บุตร ภรรยาและทรัพย์สมบัตินี่แลตรึงมัดรัดผูกสัตว์ให้ติดอยู่ในภพอันไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อนๆ คือ บุตร ภรรยาและทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะเป็นเหยื่อของโลก เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลิ่นดอกไม้กลิ่นจันทน์ไม่สามารถหอมหวนทวนลมได้ แต่กลิ่นแห่งเกียรติคุณความดีงามของสัตบุรุษนั้นแล สามารถจะหอมไปได้ทั้งตามลมและทวนลม คนดีย่อมมีเกียรติคุณฟุ้งขจรไปได้ทั่วทุกทิศ กลิ่นจันทน์แดง กลิ่นอุบล กลิ่นดอกมะลิ จัดว่าเป็นดอกไม้กลิ่นหอม แต่ยังสู้กลิ่นศีลไม่ได้ กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งมวล ถ้าภิกษุหวังจะให้เป็นที่รักที่เคารพ เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีแล้ว พึงเป็นผู้ทำตนให้สมบูรณ์ด้วยศีลเถิด ”
“ สัตว์โลกเมื่อเกิดมาย่อมนำความทุกข์ติดตัวมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งดิ้นรนกลับกลอกง่าย บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมัน พวกเธอจงเอาสติเป็นขอเหนียวรั้งช้าง คือจิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจ บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดและควรแก่การสรรเสริญนั้นคือผู้ที่สามารถเอาชนะตนของตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถเอาชนะตนเองได้ ผู้ชนะตนได้ชื่อว่าเป็นยอดนักรบในสงคราม เธอทั้งหลายจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้ เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรกเราก็ร้องไห้พร้อมกำมือไว้แน่น เป็นสัญลักษณ์ว่าเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตาลาโลกนั้น ทุกคนแบมือออกเหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึกและเป็นพยานว่าเขามิได้เอาอะไรไปด้วยเลย ”
“ เมื่อหัวใจยึดไว้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังก็จะรอเราอยู่ ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาว่าไม้จันทน์แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น อัศวินก้าวลงสู่สนามก็ไม่ทิ้งลีลา อ้อยแม้เข้าสู่เครื่องยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบความทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตระหนี่ลาภเป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาที่ตระหนี่ไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนา ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้วหนึ่งเมล็ดย่อมให้ผลหนึ่งรวงฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมากผลไพศาล คนดีมีทรัพย์แล้วย่อมบำรุงมารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุงสมณะพรหมาจารย์ให้เป็นสุข เปรียบเสมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลจากบ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็น น่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัย นำไปอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการ โภคทรัพย์ของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาอยู่โดยเปล่าประโยชน์ไม่ ”
“ การเสียสละนั้น คือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลาย ผู้ไม่ยอมเสียสละอะไรย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิด มนุษย์ทั้งหลายรดน้ำต้นไม้ที่โคนแต่ต้นไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย ”
“ บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด การสั่งสมบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปล้ไปด้วยบาป ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันร่างกายนี้สะสมแต่ของสกปรกโสโครก มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้งเก้ามีช่องหู ช่องจมูก เป็นต้น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กสัตว์น้อย เป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เก็บโรค อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่าง ๆ เข้าไว้แล้วซึมออกมาเสมอ ๆ เจ้าของกายจึงต้องชำระล้าง ขัดถูวันละหลาย ๆครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียวหรือสองวัน กลิ่นเหม็นก็ปรากฏเป็นที่น่ารังเกียจ เป็นของน่าขยะแขยง ”
“ ดูกรอานนท์ บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล คือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทอง แล้วเราก็นิพพานด้วยขันธ-นิพพาน คือ ดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะพึงจะเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบให้เขาหายกังวลใจเสีย อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา ”
“ อานนท์เอ๋ย พึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าธรรมวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป ”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวงมีเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด ”
ย่างเข้าปัจฉิมยาม ณ ใต้ต้นสาละคู่แห่งกุสินารานคร มีพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงปรินิพพานอยู่ในที่นั้นและพรั่งพร้อมด้วยพุทธบริษัทเนืองแน่นเป็นปริมณฑลทอดไกลสุดสายตา พระธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนมาตลอดพระชนมชีพว่า สัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดนั้น เป็นสัจธรรมที่ไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์
“ บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด การสั่งสมบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปล้ไปด้วยบาป ”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
Saturday, March 10, 2007
อธิษฐาน
คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐานส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร,คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ”(ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ เป็นต้น)
2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐),ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา
ที่มา http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อธิษฐาน
ดังนั้น การตั้งจิตอธิษฐาน คือการตั้งใจมั่นในสิ่งที่เรากระทำ เหมือนพระโพธิสัตว์ที่ท่านตั้งใจมั่นในการสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า การอธิษฐานจึงเป็นบารมีสำคัญข้อหนึ่งในบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ อานิสงค์ของบารมีข้อนี้ คือ ทำให้เราตั้งมั่น ไม่ออกนอกลู่นอกทางในการสร้างบารมี
การอธิษฐานจึงไม่ใช่การขอนู่นขอนี่ แต่เป็นการตั้งจิตเพื่อให้สิ่งที่เรากระทำลงไป ตรงตามเป้าหมายที่เราต้องการ คือ พระนิพพานและที่สุดแห่งธรรม
การอธิษฐาน ถือเป็นบารมี 1 ใน 10 ทัศที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ต้องสั่งสมให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์จึงจะสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้
การอธิษฐานนั้น ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนหางเสือเรือ ที่จะคัดท้ายนาวาชีวิตให้ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว ถ้าปราศจากการอธิษฐานเสียแล้ว ชีวิตก็เหมือนเรือที่ขาดหางเสือ ไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน ได้แต่ลอยตามน้ำ ตามกระแสกิเลส ยากที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ดังนั้นการอธิษฐานที่เรียกว่าเป็นอธิษฐานบารมีคือ การอธิษฐานเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้มีสิ่งดีๆ บังเกิดขึ้นในชีวิตเพื่อเกื้อหนุนในการสร้างบารมี สร้างความดี ได้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สำหรับข้อดีของการอธิษฐานบารมีก็เหมือนกับเป็นหางเสือชีวิต เป็นการตั้งผังชีวิตในภพชาติต่อไป ว่าต้องการให้มีชีวิตเป็นอย่างไร หรือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ การอธิษฐานก็เหมือนกับการตั้งผังชีวิตที่ชัดเจนว่า การเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ เราต้องการให้ชีวิตเราเป็นอย่างไร
แต่สิ่งที่อธิษฐานจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งทีเราปรารถนานั้นยิ่งใหญ่เพียงไหน ถ้าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือการบรรลุธรรม ก็ต้องใช้บุญมาก การทำบุญเพียงนิดๆ หน่อยๆ ไม่อาจจะทำให้เราบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือบรรลุธรรมได้ เราจำเป็นต้องสั่งสมบุญบ่อยๆ แล้วอธิษฐานตอกย้ำในเรื่องเดิม สิ่งที่เราปรารถนาจึงจะสำเร็จ ถ้าชาตินี้ยังไม่สำเร็จ สิ่งทีเราอธิษฐานเอาไว้ก็จะเป็นเชื้อให้ภพชาติต่อไป เมื่อเรามาเกิดสร้างความดี สิ่งที่เราอธิษฐานเอาไว้ในชาติก่อนจะกระตุ้นเตือนให้เราอยากจะสร้างความดีเพิ่มขึ้น แล้วก็มาอธิษฐานในสิ่งที่ยังไม่สมหวังในชาติที่แล้ว
ถ้าจะให้อุปมา บุญเปรียบเสมือนเงิน สิ่งที่เราปรารถนาเปรียบเสมือนสิ่งของที่เราอยากได้ ถ้าสิ่งที่เราอยากได้ราคายิ่งแพง (คำอธิษฐาน) เราก็ต้องยิ่งเก็บเงินมากๆ (มีบุญมากๆ) เพื่อที่จะได้มีเงินไปซื้อของสิ่งนั้น (คำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผล)
แต่ผู้ฉลาดในการลงทุน แทนที่เอาแต่เก็บเงินทีละนิดๆ จนมีเงินพอไปซื้อของ ก็จะเอาเงินไปลงทุนเพิ่มเติม ขยายกิจการ ให้มีทางมาของเงินมากขึ้น จะได้ซื้อของที่อยากได้แต่ราคาแพงได้เร็วขึ้น ถ้าจะให้อุปมาก็เหมือน พอเราทำบุญแล้วเราอธิษฐานให้เราได้มี รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มรรคผล นิพพาน ที่สุดแห่งธรรม คือ เราอธิษฐานให้บุญที่เรามีส่งผลให้เรามีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ดีขึ้นในภพชาติต่อไป (คือ การลงทุนเพิ่มเติม ขยายกิจการ) แล้วเราก็นำรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ดีขึ้นในภพชาติต่อไป มาสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าภพชาติก่อน (คือ เรามีทางมาแห่งเงินมากขึ้น เหมือน เปลี่ยนฐานะจากมนุษย์เงินเดือนเป็นเจ้าของกิจการ) แล้วเราก็ตั้งจุดหมายปลายทางให้ชัดเจนว่า ให้มรรคผล นิพพาน ที่สุดแห่งธรรม (คือ สามารถซื้อสิ่งของราคาแพงทีเราอยากได้)
ดังนั้นคนในยุคปัจจุบันที่บอกว่า ทำบุญแล้วอธิษฐานเป็นการโลภนั้น เค้าไม่เข้าใจหลักการดำเนินชีวิตในวัฏฏสงสาร แต่ถ้าเราทำบุญแล้วอธิษฐานในสิ่งที่ผิด บุญก็จะบันดาลให้สำเร็จเหมือนกัน แต่จะทำให้ชีวิตแย่ลง เพราะเราจะหลงไปสร้างบาปเพิ่มเติมได้
บทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย
อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทูอนุตตะโร
ปุริสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวมนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ
๒. ธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิติ
๓. สังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆอุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทังจัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลาเอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆอาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
คำแปล
พุทธคุณ – แม้เพราะอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่นควรได้รับความเคารพบูชา เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและความประพฤติ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว และเป็นผู้จำแนกแจกธรรม
ธรรมคุณ – พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
สังฆคุณ – พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง เป็นผู้ปฏิบัติสมควร เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลีกราบไหว้ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้าที่ทรงสะสมบารมีนับชาติไม่ถ้วนเพื่อมาตรัสรู้เป็นพระผู้รู้ สมณโคดมพุทธเจ้า...
แต่ก็มิได้ทรงเสวยสุขนั้นเพียงผู้เดียวแต่กลับทรงลำบากตรากตรำสั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้รู้ถึงความจริงจนแม้แต่วาระสุดท้าย ก็ยังทรงสั่งสอนให้เราทุกคน ระวังตนไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท
จะมีครูผู้ใดที่ยิ่งใหญ่ และเสียสละเท่านี้อีกหรือ...
และอีกบทที่พระจะสวดให้เราฟังบ่อยๆเห็นคนก็รับ สาธุๆๆแต่รู้ความหมายกันไหม..
สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํวิโส ทเย
แปลศีลทำให้เราเข้าถึงสุคติ ศีลก่อให้เกิดโภคทรัพย์ และศีลนำมาให้ได้ถึงความดับ หรือพระนิพพาน ด้วยเหตุฉะนี้ จึงควรรักษาศีลไว้ด้วยดี
บทนี้ท่านสอนให้เรารู้คุณแห่งศีลแม้เพียงแค่ศีล 5 ก็ทำให้เราเป็นผู้มีความสุข มีทรัพย์และเป็นเหตุทำให้ใกล้ถึงนิพพานได้แล้ว อย่าคิดว่ามันโอเว่อร์ เป็นไปไม่ได้นะอย่างน้อยผู้มีศีล ก็ยังเข้าใกล้ความสุขความเจริญกว่าผู้ไม่มีศีลอย่างแน่นอน
เราจึงควรเป็นผู้มีศีล อย่างน้อย 5 ข้อ คือ
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
..อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องไกลตัวหากเรายังกล้าพูดได้เต็มปากว่า นับถือศาสนาพุทธก็อย่าให้นับถือแต่ชื่อ หรือพิธีกรรมประหลาดนอกศาสนาควรศึกษาให้รู้ถึงแก่นแท้ และน้อมนำมาใส่ตนเพราะพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง (ถ้าปฏิบัติ จะเห็นชัดด้วยตนเอง)ไม่ขึ้นอยู่กับกาล (สามารถพิสูจน์ได้เสมอ ไม่มีเก่าเกินไป หรือใหม่เกินไป)ควรเรียกให้มาดู (ควรเรียกให้ผู้อื่นมาศึกษา)ควรน้อมเข้ามาในตน (ควรศึกษาให้ถ่องแท้)อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน (จะเข้าใจได้เฉพาะตน ไม่มีใครบอกให้รู้เห็นตามตนได้)
ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐเพื่อให้เห็นว่า ไม่มีอาภรณ์ใดประเสริฐกว่าศีลไม่มีกลิ่นหอมใด หอมกว่าศีล..
ขอแค่ 5 ข้อเองนะ...
หนี้บุญ (กุศล)
จงจำไว้เถิดว่า เมื่อได้ทำบุญทำกุศลแล้ว อย่าคิดว่าจะได้รับผลนั้นทันที จะทำให้จิตใจหดหู่ท้อถอย แต่จงมั่นใจเถิดว่า ผลบุญนั้นไม่สูญหายไปไหน เพราะการให้ผลของ "กรรม" นั้น จะทำให้ผลตามกำหนดถ้ายังไม่ถึงเวลาที่ส่งผลแล้ว แม้แต่เทพเจ้าหรือผู้มีฤทธิ์องค์ใด ที่เจ้าไปขอร้องให้ช่วยเหลือ ก็ไม่สามารถให้ผลนั้นเกิดได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะให้ผล ทั่วฟ้าดิน ก็ต้านทานผลของกรรมนั้นไว้ไม่อยู่
ฉะนั้น จงเตือนใจไว้เสมอว่า ถ้าประสงค์ความสุข ความเจริญ โภคสมบัติ จงหมั่นสร้างบุญ สร้างกุศลไว้อย่างสม่ำเสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังศรัทธา เพราะเราไม่อาจจะรู้ได้ว่า อดีตชาติเราได้สร้างบุญหรือสร้างบาปไว้มากน้อยเพียงใด และผลของกรรมใดจะส่งผลก่อนหรือหลัง เพื่อความไม่ประมาทจึงควรจะสร้างบุญกุศลเป็นการเพิ่มเติมไว้เสมอ ถ้าอดีตทำไว้มากแล้ว ก็จะยิ่งมีมากขึ้น ย่อมให้ผลก่อนที่มีกำลังน้อยกว่า อันเป็นกฎธรรมชาติของกรรม ฉะนั้น ด้วยความไม่ประมาท จงระลึกไว้ว่า ถ้าตนเองไม่สะสมไว้แล้ว ใครที่ไหนจะช่วยเจ้าได้ เจ้าจะมีอะไรไว้เป็นทุนเดินทางเวียนว่ายในวัฏฏทุกข์ที่ยังต้องผจญต่อไป ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไหร่ จงระลึกไว้เสมอว่า เจ้าสะสมเตรียมตัวไว้เดินทางแล้วหรือยัง จะรอให้คนอื่นทำไปให้นั้น จะมั่นใจดีเท่ากับเราเตรียมหาไปเองหรือ
ดังพุทธสุภาษิตท่านสอนไว้ว่า "อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ - ตนนั่นแหละ เป็นที่พึ่งแห่งตน"
Monday, March 5, 2007
ใส่บาตรอย่างไร???
เห็นพี่ ๆ น้อง ๆ หลายท่านได้ไปใส่บาตรกัน ก็น่าจะเป็นการดีที่จะได้แนะนำถึงข้อปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการตักบาตร ลองอ่านดูแล้วกัน
๑. ขณะรอใส่บาตร ให้ทำจิตตั้งมั่นไว้ว่า จะใส่บาตรโดยไม่เจาะจง เมื่อพระเณรรูปใดเดินผ่านมาก็ใส่บาตรไปตามลำดับจนหมดอาหารที่เตรียมมาไม่เลือกใส่องค์นี้ ไม่ใส่องค์นั้นการใส่บาตรโดยไม่เจาะจงนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่ามีผลานิสงค์มากกว่าการใส่บาตรโดยเจาะจง
๒. เมื่อพระภิกษุเดินมาใกล้จะถึงที่ ที่เราอยู่พึงอธิษฐานจิต เสียก่อน โดยถือขันข้าวด้วยมือทั้งสอง นั่งกระหย่งยกขันข้าวขึ้นเสมอหน้าผาก กล่าวคำอธิษฐานว่า “สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสเถิด”
๓. จากนั้นลุกขึ้นยืน และถอดรองเท้า เพราะการสวมรองเท้าถือว่า ยืนสูงกว่าพระ ถือเป็นการไม่สมควรเหมือนเป็นการขาดความเคารพ แต่ก็ไม่กรณียกเว้นเช่น เท้าเจ็บ หรือเป็นที่น้ำขังเฉอะแฉะ เป็นต้น แต่ที่ไม่ควรก็คือบางคนถอดจริงแต่กลับไปยืนอยู่บนรองเท้าเสียอีก ยิ่งสูงไปกันใหญ่ ดังนั้นถ้าตั้งใจจะไม่ใส่รองเท้าก็จัดที่ให้พระสงฆ์ยืนสูงกว่า
๔. เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว ถ้ามีโต๊ะรองอาหารหรือรถยนต์จอดอยู่ด้วย ให้วางขันข้าวบนนั้น ยืนตรง น้อมตัวลงไว้พระสงฆ์ แต่ถ้าตักบาตรรอยู่ริมทางควรนั่งกระหย่ง วางขันข้าวไว้ข้างตัวยกมือไว้พระสงฆ์ พร้อมกับอธิษฐานว่า “นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง, สังโฆ เม สะระณัง วะรัง, เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสิรฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ข้าพเจ้าเจริญในพระศาสนาของศาสดา”
๕. หลังจากนั้นควรอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการกรวดน้ำ และกล่าวว่า “อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอบุญทั้งหลังจงสำเร็จแก่ญาติของข้าพเจ้า ขอให้ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลายจงเป็นสุข เป็นสุขเถิด”
Thursday, March 1, 2007
เป็นดารา นักร้อง นักแสดง ดีจริงหรือ...
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "อย่าเลยนายคามณี จงหยุดคำถามนี้เสียเถิด ท่านจงอย่าได้ถามคำถามนี้กับเราเลย"
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแล้ว ทำให้พ่อบ้านหัวหน้านักเต้นรำเกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก จึงได้พยายามถามเป็นครั้งที่ 2 แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างเดิม พ่อบ้านก็คะยั้นคะยอถามเป็นครั้งที่ 3
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พ่อบ้านนักเต้นรำนามว่าตาลบุตรก็ได้แต่ร้องไห้สะอึกสะอื้น น้ำตาไหลพราก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนนายคามณี เราได้ห้ามท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าเลย ให้หยุดคำถามนี้เสียเถิด อย่าถามคำถามนี้กับเราเลย"
ตาลบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้กับข้าพระองค์หรอก แต่ที่ข้าพระองค์ร้องไห้นั้นด้วยความเสียใจว่าได้ถูกนักเต้นรำผู้เป็นอาจารย์ และโบราณจารย์ก่อนๆ ล่อลวงให้หลงเสียนานว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะรื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชื่อปหาสะ
เมื่อนายตาลบุตรผู้เป็นพ่อบ้านนักเต้นรำอุปสมบทได้ไม่นาน ก็ได้หลีกออกจากหมู่ อยู่ลำพังแต่ผู้เดียว ประพฤติไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่น ในที่สุดพระตาลบุตรก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายนั่นเอง
ประวัติของนายบ้านนักเต้นรำตาลบุตร
ชาวบ้านเล่ากันมาว่า
คำอธิบาย
การแสดงมายากลต่างๆ นั้นเป็นปัจจัยยั่วกิเลสของมนุษย์เช่นกัน ทำให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ
ธรรมดานรกที่มีชื่อว่าปหาสะนั้น มิได้เป็นนรกที่เกิดขึ้นอยู่อย่างเอกเทศแต่เป็นส่วนหนึ่งของอเวจีมหานรกนั่นเอง ในที่นั้นพวกสัตว์นรกทั้งหลายจะพากันขับร้องบ้าง ฟ้อนรำบ้าง อยู่ในเปลวไฟแห่งนรก และพากันหมกไหม้อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะหมดกรรมอย่างน่าเวทนา
น่าเห็นใจนักแสดงทั้งหลาย เพราะท่านเหล่านั้นได้ตั้งใจทำหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี อย่างเช่นการร้องไห้ ถ้าร้องไม่ออกก็จะต้องพยายามร้องให้ได้ ซึ่งเจตนาของเขานั้นก็เพื่อทำให้คนดูมีความสุขความพอใจในการแสดงของเขา แต่กฎธรรมชาติไม่ละเว้นให้กับเจตนาที่ดีอย่างนี้เลย
คำแปลบทกรวดน้ำอิมินา
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปปัชฌายา คุณุตตะรา อาจาะริยูปะการา จะมาตาปิตา จะ ญาตะกา สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ พรหมะมารา จะ อินทา จะ ตุโลกะปาลา จะ เทวะตา ยะโมมิตตามะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตังฯ
ด้วยบุญนี้ อุทิศให้ อุปัชฌาย์ผู้เลิศคุณและอาจารย์ผู้เกื้อหนุน ทั้งพ่อแม่และปวงญาติ สูรย์จันทร์และราชาผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ พรหมมารและอินทราช ทั้งทวยเทพและโลกบาล ยมราช มนุษย์มิตรผู้เป็นกลาง ผู้จ้องผลาญ ขอให้เป็นสุขศานติ์ทุกทั่วหน้า อย่าทุกข์ทน บุญผองที่ข้าทำ จงช่วยอำนวยศุภผลให้สุขสามอย่างล้น ให้ลุถึงนิพพานเทอญ
วัฎฎสงสาร ๓๑ ภูมิ
{ ๓๑ ภูมิ ประกอบไปด้วย = อรูปพรหม ๔ + รูปพรหม ๑๖ + เทวภูมิ ๖ + มนุษยโลก ๑ + อบายภูมิ ๔ (เดรัจฉาน ๑, อสุรกาย ๑,เปรต ๑, นรก ๑ ) }
( ส่วน พระอรหันต์ไม่นับรวมใน ๓๑ ภูมิ เพราะพระอรหันต์พ้นจากวัฏฏสงสารแล้ว ดับกิเลสโดยสิ้นเชิงไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว )
( พระอริยบุคคล ๔ จำพวก )
๑.อรหัตโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นสูงสุด)
มี ๒ ประเภท
๑.เจโตวิมุตติ เป็นผู้ปฎิบัติสมถกรรมฐานได้ฌานก่อน แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อจนสำเร็จพระอรหันต์ หรือ ผู้ที่ปฎิบัติเฉพาะวิปัสสนา เมื่อได้มรรคผลนั้นพร้อมกับได้วิชา ๓ อภิญญา ๖ สามารถแสดงฤทธิ์ได้
๒.ปัญญาวิมุตติ สำเร็จพระอรหันต์ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ ไม่ได้บำเพ็ญสมถกรรมฐานมาก่อนเลย เรียกว่าสุกขวิปัสสกพระอรหันต์ คือ ผู้ปฏิบัติทำให้ฌานแห้งแล้ง ผู้ถึงภูมินี้เป็นผู้ที่สมควรแก่การบูชาของเหล่าเทพยาดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะสิ้นกิเลสด้วยโดยตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการได้ สามารถเข้าอรหันตผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามปรารถนา และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกในวัฎสงสาร เมื่อถึงอายุขัยก็ดับขันธ์ปรินิพพาน
๒.อนาคามีโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ ๓) ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอนาคามี จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก แบ่งเป็น ๕ ประเภทคือ
๑.อันตราปรินิพพายี สำหรับเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งแรกของสุทธาวาสภูมิพรหมโลกที่สถิตอยู่
๒.อุปหัจจปรินิพพายี สำหรับเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งหลังของสุทธาวาสภูมิพรหมโลกที่สถิตอยู่
๓.อสังขารปรินิพพายี สำหรับเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในพรหมโลกที่สถิตอยู่โดยสะดวกสบายไม่ต้องใช้ความเพียรมาก
๔.สสังขารปรินิพพายี สำหรับเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในพรหมโลกที่สถิตอยู่โดยต้องพยายามอย่างแรงกล้า
๕.อุทธังโสตอกนิฎฐคามี ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมโลก ชั้นต่ำที่สุด (อวิหาสุทธาวาสพรหมโลก) แล้วจึงจุติไปเกิด ชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ อวิหา อัตัปปา สุทัสสา สุทัสสี แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในอกนิฎฐพรหมโลก
๓.สกทาคามีโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ ๒) ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าถึงพระอริยบุคคลสกทาคามี ซึ่งจะเกิดอีกเพียงชาติเดียว แบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ
๑.ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษยโลก และบรรลุพระอรหันตผลในมนุษยโลก
๒.ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษยโลกแล้วไปบรรลุพระอรหันตผลในเทวโลก
๓.ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลกและบรรลุอรหันตผลในเทวโลก
๔.ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลกแล้วมาบรรลุพระอรหันตผลในมนุษยโลก
๕.ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษยโลกแล้วจุติไปเกิดในเทวโลกแล้วกลับมาบรรลุพระอรหันตผลในมนุษยโลก
๔.โสดาบันโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลกชั้นที่ ๑) ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอริยะบุคคลโสดาบัน แบ่งเป็น
๑.เอกพิซีโสดาบัน จะเกิดอีกชาติเดียว แล้วก็บรรลุพระอรหันตผล ปรินิพพาน
๒.โกลังโกลโสดาบัน จะเกิดอีก ๒-๖ ชาติ เป็นอย่างมากแล้วก็บรรลุพระอรหันตผล ปรินิพพาน
๓.สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน จะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็จะบรรลุพระอรหันตผล ปรินิพพาน
อรูปพรหม ๔
๒๐.เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๒๐ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยความประณีตเป็นอย่างยิ่งมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อรูปพรหม อายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม โยคีฤาษีผู้ได้ อากิญจัญญายตนฌาน และสำเร็จเนวสัญญานา-สัญญายตนฌาน
๑๙.อากิญจัญญายตนภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๙ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย นัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม เป็นโยคีฤาษีผู้ได้วิญญาณัญจายตนฌานและสำเร็จอากิญจัญญายตนฌาน
๑๘.วิญญาณัญจายตนภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๘ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย วิญญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม โยคีฤาษีผู้ได้อากาสานัญจายตนฌาน และสำเร็จวิญญาณัญจายตนฌาน
๑๗.อากาสานัญจายตนภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๗ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย อากาสบัญญัติซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม เป็นโยคีฤาษีผู้ได้จตุตถฌานแล้ว และสำเร็จอากาสานัญจายตนฌาน
รูปพรหม ๑๖
๑๖.อกนิฎฐสุทธาวาสภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๖ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ทรงคุณวิเศษโดยไม่มีความเป็นรองกัน พระพรหมอนาคามี อายุ ๑๖,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีอินทรีย์แก่กล้า๑๕.สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๕ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า พระพรหมอนาคามี อายุ ๘,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌาน และเจริญวิปัสสนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีสมาธินทรีย์แก่กล้า
๑๔.สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๔ ภูมิเป็นที่อยู่อันริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่งแจ่มใส พระพรหมอนาคามี อายุ ๔,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌาน และเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีสตินทรีย์แก่กล้า
๑๓.อตัปปาสุทธาวาสภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๓ ภูมิเป็นที่อยู่อันบิสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่มีความเดือนร้อน พระพรหมอนาคามี อายุ ๒,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยมีวิริยินทรีย์แก่กล้า
๑๒.อวิหาสุทธาวาสภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๒ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่เสื่อมคลายในสมาบัติของตน พระพรหมอนาคามี อายุ ๑,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอานาคามีอริยบุคคล โดยมีสัทธินทรีย์แก่กล้า
๑๑.อสัญญสัตตาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑๑ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ไม่มีสัญญา(พรหมลูกฟัก) อายุ ๕๐๐ มหากัปบุพกรรม ผู้เจริญสมถภานาสำเร็จจตุตถฌาน และเป็นผู้มีสัญญาวิราคภาวนา
๑๐.เวหัปผลาภูมิ พรหมโลก ชั้นที ๑๐ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ได้รับผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์ พระพรหมอายุ ๕๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จจตุตถฌาน
๙.สุภกิณหาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๙ ภูมิอันป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีที่ออกสลับปะปนไปอยู่เสมอตลอดสรีระกาย พระพรหม อายุ ๖๔ มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างปราณีต
๘.อัปปมาณสุภาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๘ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสวยงามแห่งรัศมีมากมายไม่มีประมาณ พระพรหม อายุ ๓๒ มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างปานกลาง
๗.ปริตตสุภาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๗ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีเป็นส่วนน้อย พระพรหมอายุ ๑๖ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จตติยฌานได้อย่างสามัญ
๖.อาภัสสราภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๖ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีประกายรุ่งโรจน์แหงรัศมีนานาแสง พระพรหม อายุ ๘ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างปราณีต
๕.อัปปมาณาภาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๕ ภูมิอันเป็นทีอยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีรุ่งรื่องมากมายหาประมาณมิได้ พระพรหม อายุ ๔ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างปานกลาง
๔.ปริตตาภาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๔ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งท่านพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีน้อยกว่าพระพรหมที่มีศักดิ์สูงกว่าตน พระพรหม อายุ ๒ มหากัป บุพกรรม ผู้ทีจะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ต้องสำเร็จทุติยฌานได้อย่างสามัญ
๓.มหาพรหมาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๓ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พระพรหม อายุ ๑ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานอย่างประณีต
๒.พรหมปุโรหิตาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๒ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ทรงฐานอันประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่านมหาพรหม พระพรหม อายุ ๓๒ อัตรกัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จได้ปฐมฌานอย่างปานกลาง
๑.พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมโลก ชั้นที่ ๑ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหม ผู้เป็นท้าวมหาพรหม พระพรหม อายุ ๒๑ อันตรกัปเศษ บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานได้อย่างสามัญ
เทวภูมิ ๖
๖.ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ ๖) เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าซึ่งเสวยกามคุณอารมณ์ แบ่งเป็น ฝ่ายเทพยาดา มีท้าวปรนิมมิตเทวราช ปกครอง กับ ฝ่ายมาร มีท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราชเป็นผู้ปกครอง อายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ (๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ อุตส่าห์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่เป็นอุกฤษฏ์ อบรมจิตใจสูงส่งไปด้วยคุณธรรม เมื่อจะให้ทานรักษาศีลก็ต้องบำเพ็ญกันอย่างจริงๆ มากไปด้วยศรัทธาปสาทะอย่างยิ่งยวดและถูกต้อง ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า "เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับฤาษีทั้งหลายแต่กาลก่อน" แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า "เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตของเราจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส" เพราะวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงยิ่งเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้
๕.นิมมานรตีภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ ๕) เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้ยินดีในกามคุณอารมณ์ ซึ่งเนรมิตขึ้นมาตามความพอใจ มีท้าวสุนิมมิตเทวราชปกครอง อายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ (๒,๓๐๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ ยินดียิ่งในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตใจผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ ไม่มุ่งสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า "เราหุงหากินได้แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร" แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า "เราจักจำแนกแจกทานเช่นเดียวกับฤาษีทังหลายในกาลก่อน" ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ พยายามรักษาศีลไม่ให้ขาด มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล และมีวิริยอุตสาหะในการบริจาคทานเป็นอันมาก เพราะผลวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงส่งเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้
๔.ตุสิตาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ ๔) เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้มีความยินดีแช่มชื่นเป็นนิจ มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง อายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ (๕๗๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษยมีจิตบริสุทธิ์ ยินดีมากในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลของทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ให้ทานด้วยความคิดว่า "บิดา มารดา ปู่ ยา ตา ยาย เคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี"แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า "เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร" ทรงศีล ทรงธรรม ชอบฟังพระธรรมเทศนาหรือเป็นพระโพธิสัตว์รู้ธรรมมาก ฯลฯ
๓.ยามาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ ๓) เป็นที่อยู่ของเทพยดาผู้มีแต่ความสุขอันเป็นทิพย์ มีท้าวสุยามเทวราชเป็นผู้ปกครอง อายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ (๑๔๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ พยายามสร้างเสบียง ไม่หวั่นไหวในการบำเพ็ญบุญุศล ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า "การให้ทานเป็นการกระทำที่ดี" แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า "บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี" รักษาศีล มีจิตขวนขวานในพระธรรม ทำความดีด้วยความจริงใจ
๒.ตาวติงสาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ ๒) ที่เราเรียกว่า ไตรตรึงษ์หรือดาวดึงส์ เป็นเมืองใหญ่มี ๑,๐๐๐ ประตู มีพระเกศจุฬามณีเจดีย์ มีไม้ทิพย์ ชื่อปาริชาตกัลปพฤกษ์ สมเด็จพระอมรินทราธิราชปกครอง อายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ (๓๒ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ มีจิตบริสุทธิ์ ยินดีในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิต ผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมการให้ทาน ไม่ได้ห้ทานด้วยความคิดว่า "ตายแล้วเราจักได้เสวยผลทานนี้" แต่ให้ทานด้วยด้วยความคิดว่า "การให้ทานเป็นการกระทำดี" งดงามด้วยพยายามรักษาศีล ไม่ดูหมิ่นดูแคลนผู้ใหญ่ในตระกูล ฯลฯ
๑.จาตุมหาราชิกาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ ๑) เป็นที่อยู่ของเทพยดาชาวฟ้า มีท้าวมหาราช ๔ พระองค์ปกครองคือ ๑.ท้าวธตรัฐมหาราช ๓.ท้าววิรูปักษ์มหาราช ๒.ท้าววิรุฬหกมหาราช ๔. ท้าวเวสสุวัณมหาราช (ท้าวกุเวร)
อายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ (๙ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ ชอบทำความดี สันโดษ ยินดีแต่ของๆตน ชักชวนให้ ผู้อื่น ประกอปการกุศล ชอบให้ทาน ในการให้ทานเป็นผู้มีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยความคิดว่า "เราจะตายแล้วจักได้เสวยผลแห่งทานนี้" และเป็นผู้มีศีล ฯลฯ
โลกมนุษย์ ๑ ( อายุมนุษย์สมัยพระพุทธองค์ ๑๐๐ ปี และอายุมนุษย์ในปัจจุบัน ๗๕ ปี )
( มนุษยภูมิ ) เป็นที่อาศัยของสัตว์ผู้มีใจในเชิงกล้าหาญที่จะประกอบกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม แบ่งเป็น ๔ จำพวก คือ
๑.ผู้มืดมาแล้วมืดไป บุคคลที่เกิดในตระกูลอันต่ำ ยากจน ขัดสน ลำบาก ฝืดเคืองอย่างมากในการหาลี้ยงชีพ มีปัจจัย ๔ อย่างหยาบ เช่น มีอาหารและน้ำน้อย มีเครื่องนุ่งห่มเก่า ร่างกายมอซอ หม่นหมอง หรือมีร่างกายไม่สมประกอป บ้าใบ้ บอด หนวก หาที่นอน ทีอยู่อาศัย ยารักษาโรค ไม่ใคร่ได้ และเขากลับประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย
๒.ผู้มืดมาแล้วสว่างไป บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ผิวพรรณหยาบ ฯลฯ แต่เป็นเขาเป็นคนมีศรัทธา ไม่มีความตะหนี่ เป็นคนมีความดำริประเสริฐ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้ทาน ย่อมลุกรับสมณะชีพราหมณ์ หรือวณิกพกอื่นๆ ย่อมสำเนียกในกริยามารยาทเรียบร้อย ไม่ห้ามคนที่กำลังจะให้ทาน เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
๓.ผู้สว่างมาแล้วมืดไป เป็นบุคคลผู้อุบัติในตระกูลสูง เป็นคนมั่งคั่งมั่งมี มีโภคสมับัติมาก เป็นผู้มีปัจจัย ๔ อันประณีต ทั้งเป็นคนที่มีรูปร่างสมส่วน สะสวย งดงาม ผิวพรรณดูน่าชม แต่กลับเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ กรุณาอาทร มีใจหยาบช้า มักขึ้งโกรธ ย่อมด่า ย่อมบริภาษบุคคลต่างๆ ไม่เว้นกระทั้งมารดาบิดา สมณชีพราหมณ์ ย่อมห้ามคนที่กำลังให้โภชนาหารแก่คนที่ขอ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย
๔.ผู้สว่างมาแล้วสว่างไป เป็นบุคคลที่อุบัติเกิดในตระกูลสูง มีผิวพรรณงามและเขาย่อมประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ บุพกรรม กรรมของมนุษย์ที่ทำในกาลก่อน ส่งผลให้มีปฎิปทาต่างกัน เช่นบางคนเป็นคนดี บางคนบ้า บางคนรวย บางคนจน บางคนมีปัญญา บางคนเขลา ฯลฯ เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิ
-ปฎิปทาให้มีอายุสั้น เพราะเป็นคนเหี้ยมโหดดุร้าย มักคร่าชีวิตสัตว์
-ปฎิปทาให้มีอายุยาว เป็นผู้เว้นขาดจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป มีความละอาย เอ็นดูอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลสรรพสัตว์และภูตอยู่
-ปฎิปทามีโรคมาก เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ ท่อนไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน หรือศาสตราอาวุธต่างๆ
-ปฎิปทามีโรคน้อย ไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ หรือศาสตราอาวุธต่างๆ มีมีด ขวาน ดาบ ปืน เป็นต้น
-ปฎิปทาให้มีผิวพรรณทราม เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความเคืองแค้น ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคือง พยาบาทหมาดร้าย ทำความโกรธความร้ายและความขึ้งเคียดให้ปรากฎ
-ปฎิปทาให้มีผิวพรรณงาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธความร้ายและความขึ้งเคียดให้ปรากฎ
-ปฎิปทาให้เป็นคนมีศักดาน้อย คือเป็นคนมีใจริษยา มุ่งร้าย ผูกใจในการอิจฉาริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการบูชาของคนอื่น
-ปฎิปทาให้เป็นคนมีศักดามาก เป็นคนไม่มีใจริษยา ไม่มุ่งร้าย ยินดีด้วยในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการบูชาของคนอื่น
-ปฎิปทาให้มีโภคะน้อย เป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอนที่อาศัย เป็นต้น
-ปฎิปทาให้มีโภคะมาก ชอบให้ทานมีอาหาร น้ำ เครื่องนุ่มห่ม ของหอม ที่นอนที่อาศัย เครื่องตามประทีบแก่สมณะหรือชีพราหมณ์ เป็นต้น
-ปฎิปทาให้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่ควรให้ ไม่ให้ทางแก่คนที่ควรให้ทาง เป็นต้น
-ปฎิปทาให้เกิดในตระกูลสูง เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน วจีไพเราะ สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ รู้จักยืนเคารพ ยืนรับ ยืนคำนับ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ สักการะแก่คนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เป็นต้น
-ปฎิปทาทำให้มีปัญญาทราม คือเป็นผู้ไม่เคยเข้าหาบัณฑิต สมณะหรือชีพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ เป็นต้น
-ปฎิปทาทำให้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มักเข้าไปสอบถาม บัณฑิตสมณะหรือชีพราหมณ์ อะไรเป็นุศล อะไรไม่เป็นกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรเมื่อทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกือกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน อะไรเมื่อทำไป แล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ดังนี้
ดิรัจฉานภูมิ ๑
( ดิรัจฉานภูมิ ) (โลกเดรัจฉานอยู่ในโลกมนุษย์) โลกของสัตว์ที่มีความยินดีในหตุ ๓ ประการ คือ การกิน การนอน การสืบพันธุ์ แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ
๑.อปทติรัจฉาน (ไม่มีเท้า ไม่มีขา) เช่นงู ปลา ไส้เดือน ฯลฯ
๒.ทวิปทติรัจฉาน (มี ๒ ขา) เช่น นก ไก่ ฯลฯ
๓.จตุปทติรัจฉาน (มี ๔ ขา) เช่น วัว ฯลฯ
๔.พหุปทติรัจฉาน (มีมากกว่า ๔ ขา) เช่น ตะขาบ กิ่งกือ ฯลฯ
อายุ ไม่แน่นอน แล้วแต่กรรมที่นำไปเกิดในสัตว์ประเภทต่างๆ ตามอายุของสัตว์ประเภทนั้นๆ
บุพกรรม เป็นมนุษย์จิตไม่บริสุทธิ์ ประพฤติอศุลกรรม อันหยาบช้าลามกทั้งหลายหรือเพราะอำนาจของเศษบาปอกุศลกรรมที่ตนทำไว้ให้ผล หรือเป็นเพราะเมื่อเป็นมนุษย์ไม่ได้ก่อกรรมทำชั่วอะไร แต่เวลาใกล้จะตายจิตประกอปด้วยโมหะ หลงผิด ขาดสติ ไม่มีสรณะเป็นที่พึ่ง จะยึดให้มั่นคง
คตินิมิต นิมิตที่ชี้บอกถึงโลกดรัจฉานที่ตนจะไป เช่น เห็นทุ่งหญ้า ป่าไม้ ดงหญ้า เชิงเขา ชายน้ำ แม่น้ำ กอไผ่ เป็นต้น บางทีเห็นเป็นรูปสัตว์ทั้งหลาย เช่น ช้าง เสือ วัว หมู หมา เป็ด ไก่ แร้ง กา เหี้ย นก หนู จิ๊กจก ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฎทางใจ แล้วจิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์มื่อจิตดับตายขณะนั้นต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างแน่นอน
อสุรกายภูมิ ๑
(อสุรกายภูมิ ) (โลกอสุรกาย) ภูมิอันเป็นทีอยู่ของสัตว์อันปราศจากความเป็นอิสระและสนุกรื่นเริง แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ เทวอสุรา เปตติอสุรา นิรยอสุรา
๑.เทวอสุรา มี ๖ จำพวก คือ
๑.เวปจิตติอสุรา ๒.สุพลิอสุรา ๓.ราหุอสุรา ๔.ปหารอสุรา ๕.สัมพรตีอสุรา๖.วินิปาติกอสุรา
แล้ว ๕ จำพวกแรกเป็นปฎิปักษ์ต่อเทวดาชั้นตาวสิงสา อยู่ใต้ภูเขาสิเนรุ สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดาชั้นตาวติงสา ส่วนวินิปาติกอสุรา มีรูปร่างสัณฐานเล็กกว่า และอำนาจก็น้อยกว่าเทวดาชั้นตาวติงสา เที่ยวอาศัยอยู่ในมนุษยโลกทั่วไป เช่น ตามป่า ตามเขา ต้นไม้ และศาลที่เขาปลูกไว้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของภุมมัฎฐเทวดาทั้งหลาย แต่เป็นเพียงบริวารของภุมมัฎฐเทวดาเท่านั้น สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดา ชั้นจาตุมหาราชิกา
๒.เปตติอสุรา มี ๓ จำพวก คือ ๑.กาลกัญจิกเปรตอสุรา ๒.เวมานิกเปรตอสุรา ๓.อาวุธิกเปรตอสุรา
เป็นเปรตที่ประหัตประหารกันและกันด้วยอาวุธต่างๆ
๓.นิรยอสุรา เป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่เสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกโลกันตร์ นรกโลกันตร์ตั้งอยู่ระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสาม อสุรกายนี้หมายเอาเฉพาะกาลกัญจิกเปรตอสุรกายเท่านั้น อายุและบุพกรรม เช่นเดียวกันกับโลกเปรต
เปตติวิสยภูมิ ๑
(เปตติวิสยภูมิ ) (โลกเปรต) โลกที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลจากความสุข มีมหิทธิกเปรตเป็นเจ้าปกครองดูแล อายุ ไม่แน่นอนแล้วแต่กรรม ได้แก่
เปรต ๑๒ ชนิด คือ
๑.วันตาสเปรต กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
๒.กุณปาสเปรต กินซากศพคน หรือสัตว์เป็นอาหาร
๓.คูถขาทกเปรต กินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร
๔.อัคคิชาลมุขเปรต มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
๕.สูจิมุขาเปรต มีปากเท่ารูเข็ม
๖.ตัณหัฎฎิตเปรต ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าว หิวน้ำอยู่เสมอ
๗.สุนิชฌามกเปรต มีลำตัวดำเหมือนตอไม้เผา
๘.สัตถังคเปรต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมเหมือนมีด
๙.ปัพพตังคเปรต มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
๑๐.อชครังคเปรต มีร่างกายเหมือนงูเหลือม
๑๑.เวมานิกเปรต ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน
๑๒.มหิทธิกเปรต มีฤทธิ์มาก ที่อยู่ เชิงเขาหิมาลัยในป่าวิชฌาฎวี
เปรต ๔ ประเภท เปรต ๔ ประเภท คือ
๑.ปรทัตตุปชีวิกเปรต มีการเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยโดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้
๒.ขุปปิปาสิกเปรต ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าว หิวน้ำ
๓.นิชฌามตัณหิกเปรต ถูกไฟเผาให้เร้าร้อนอยู่เสมอ
๔.กาลกัญจิกเปรต (ชื่อของอสูรกายที่เป็นเปรต) มีร่างกายสูง ๓ คาวุต มีเลือดและเนื้อน้อยไม่มีแรง มีสีสันคล้ายใบไม้แห้ง ตาถลนออกมาเหมือนตาปู และมีปากเท่ารูเข็มและตั้งอยู่กลางศีรษะ
เปรต ๒๑ จำพวก เปรต ๒๑ จำพวก คือ
๑.มังสเปสิกเปรต มีเนื้อเป็นชิ้นๆไม่มีกระดูก
๒.กุมภัณฑ์เปรต มีอัณฑะใหญ่โตมาก
๓.นิจฉวิตกเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง
๔.ทุคคันธเปรต มีกลิ่นเหม็นเน่า
๕.อสีสเปรต ไม่มีศีรษะ
๖.ภิกขุเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนพระ
๗.สามเณรเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนเณรและ ฯลฯ
บุพกรรม ประพฤติอศุลกรรมบถ ๑๐ ประการ เมื่อขาดใจตายจากมนุษยโลก หากอศุลกรรมสามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ ต้องไปเสวยทุกขโทษในนรกก่อน พอสิ้นกรรมพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปยังมีก็ไปเสวยผลกรรมเป็นเปรตต่อภายหลัง หรือมีอศุลกรรมที่เกิดจากโลภะนำมาเกิด
คตินิมิต นิมิตที่บ่งบอกถึงโลกเปรต เช่น เห็นหุบเขา ถ้ำอันมืดมิดที่วังเวง และปลอดเปลี่ยว หรือเห็นเป็นแกลบ และข้าวลีบมากมายแล้วรู้สึกหิวโหยและกระหายน้ำเป็นกำลัง บางทีเห็นว่าตนดื่มกินเลือดน้ำหนองที่น่ารังเกียจสะอิดสะเอียน หรือเห็นเป็นเปรตมีร่างกายผ่ายผอมน่าเกลียดน่ากลัว เนื้อตัวสกปรกรกรุงรัง ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฎทางใจแล้วจิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์ เมื่อดับจิตตายขณะนั้น ต้องบังเกิดเป็นเปรตเสวยทุกขเวทนาตามสมควรแก่กรรมอย่างแน่นอน
นรกภูมิ ๑
(มหานรก ๘ ขุม ) (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๑๕,๐๐๐ โยชน์)
๑.สัญชีวนรก นรกที่สัตว์นรกไม่มีวันตาย อายุ ๕๐๐ ปีอายุกัป (๑วันนรก = ๙ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตไม่บริสุทธิ์ หยาบช้าลามก ก่อกรรมทำเข็ญ เช่นฆ่าเนื้อ เบื่อสัตว์ เบียดเบียนบุคคลที่ต่ำกว่าตน โดยความไม่เป็นธรรมให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นนิจ ฯลฯ
๒.กาฬสุตตนรก นรกที่ลงโทษด้วยเส้นเชื่อกดำ แล้วถากหรือตัดด้วยเครื่องประหาร อายุ ๑,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑ วันนรก = ๓๖ ปีล้านมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาป ทำการทรมานสัตว์ด้วยการตัดเท้า หู ปาก จมูก ฯลฯ ทำร้ายบิดามารดา ครู อาจารย์ ฯลฯ เบียดเบียนหรือฆ่าภิกษุ สามเณร ดาบส หรือเป็นเพชฌฆาต
๓.สังฆาฎนรก นรกที่มีภูขาเหล็กใหญ่มีไฟลุกโพลงบดขยี้สัตว์นรก อายุ ๒,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑ วันนรก = ๑๔๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาปหยาบช้าด้วยใจอศุลกรรม ไร้ความเมตตากรุณา ทำทารุณกรรมสัตว์ด้วยวิธีการต่างๆ เป็นประจำ หรือ บุคคลที่ทรมานเบียดเบียนสัตว์ที่ตนใช้ประโยชน์ และพวกนายพราน
๔.โรรุวนนรก (ธูมโวรุวหรือจูฬโรรุว) นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังของสัตว์นรกที่ถูกควันไฟอบอ้าว อายุ ๔,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑ วันนรก = ๕๗๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาปเผาสัตว์ทั้งเป็น ตัดสินความไม่ยุติธรรม รุกที่ดิน เอาสาธารณสมบัติมาเป็นของตน กินเหล้าเมาประทุษร้ายผู้อื่น ชาวประมง คนที่เผาป่าที่สัตว์อาศัยอยู่
๕.มหาโรรุวนรก (ชาลโรรุว) นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังกว่าโรรุวนรก อายุ ๘,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑ วันนรก = ๒,๓๐๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาป ตัดคอสัตว์ด้วยความโกรธ ปล้น ขโมยทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และของศาสนาเช่น ของภิกษุ สามเณร ดาบส แม่ชี และสิ่งของเครื่องสักการะ ที่เขาบูชาพระรัตนตรัย ปล้นโกงเอาของคนอื่นมาเป็นของตน
๖.ตาปนนรก (จูฬตาปน) นรกที่ทำให้สัตว์เร่าร้อน ด้วยการให้นั่งตรึงติดอยู่ในหลาวเหล็กอันร้อนแดงแล้วให้ไฟไหม้อยู่ อายุ ๑๖,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑ วันนรก = ๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์เป็นคนใจบาป ประกอบกรรมด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เช่น ฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ และคนที่เผาบ้านเมือง กุฎิ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ปราสาท ทำลายเจดีย์
๗.มหาตาปนนรก (ปตาปน) นรกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนอย่างมากมายเหลือประมาณ อายุ ครึ่งอันตรกัปของมนุษย์ บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาปหนาไปด้วยอกุศลมลทิน เช่น ประหารคนหรือสัตว์ให้ตายเป็นหมู่มากๆ ไม่คำนึงถึงชีวิตเขาชีวิตท่าน และคนที่มีอุจเฉททิฎฐิ สัสสตทิฎฐิ นัตถิกทิฎฐิ อเหตุทิฎฐิ และอกิริยทิฎฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง
๘.อเวจีนรก นรกที่ปราศจากคลื่นคือ ความเบาบางแห่งความทุกข์ อายุ ประมาณ ๑ อันตรกัปของมนุษย์ บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ได้ทำอนันตริยกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ฆ่ามารดา บิดา พระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ทำสังฆเภท ยุยงให้สงฆ์แตกกัน และบุคคลที่ทำลายพระพุทธเจดีย์ พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้โดยจิตคิดประทุษร้าย บุคคลที่ติเตียนพระอริยบุคคลพระสงฆ์ผู้มีคุณแก่ตน ผู้ที่ยึดถือนิยตมิจฉาทิฎฐิ ๓
(อุสสทนรก ๑๒๘ ขุม ) (อยู่รอบ ๔ ทิศ ๆ ละ ๔ ของมหานรกแต่ละขุม)
๑.คูถนรก สัตว์นรกทีมาเกิดได้รับทุกขเวทนาอยู่ในอุจจาระเน่า โดยถูกหนอนกัดกินทั้งเนื้อและกระดูกตลอดจนอวัยวะภายในทั้งหมดจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
๒.กุกกุฬนรก สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุกขเวทนา โดยถูกเผาด้วยขี้เถ้าร้อนระอุ ร่างกายไหม้ยับย่อย ละเอียดเป็นจุณ จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
๓.สิมปลิวนนรก สัตว์นรกทั้งหลายที่ยังมีเศษอศุลกรรมเหลืออยู่ ถึงแม้พ้นจากนรกขี้เถ้าร้อนแล้วก็ยังไม่หลุดพ้น ยังต้องเสวยทุกข์จากนรกป่าไม้งิ้วต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
๔.อสิปัตตวนนรก สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุกข์จากป่าไม้ใบดาบ เช่น ใบมะม่วงซึ่งกลายเป็นหอกดาบ และมีสุนัข แร้งคอยทรมานขบกัดกินเลือดเนื้อ จนกว่าจะสิ้นกรรม
๕.เวตรณีนรก สัตว์นรกที่เกิดมาได้รับทุกข์จากน้ำเค็มแสบที่มีเครือหวายหนามหล็ก ใบกลีบบัวหลวงเหล็กตั้งอยู่กลางน้ำ ซึ่งคมเป็นกรด มีเปลวไฟลุกโชนอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
(ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม ) ( อยู่รอบ ๔ ทิศ ๆ ละ ๑๐ ของมหานรกแต่ละขุม )
๑.โลหกุมภีนรก เป็นหม้อเหล็กขนาดใหญ่เท่าภูเขา เต็มไปด้วยน้ำแสบร้อนเดือดพล่านตลอดเวลา สัตว์ที่มาเกิดต้องได้รับทุกข์ทั้งแสบทั้งร้อนเสวยทุกขเวทนาอย่าง แสนสาหัส ถูกต้มเคี่ยวในหม้อเหล็กนรกนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วที่ตนได้ทำมา บุพกรรม เช่นจับสัตว์เป็นๆมาต้มในหม้อน้ำร้อน แล้วเอามากินเป็นอาหาร
๒.สิมพลีนรก เต็มไปด้วยป่างิ้วนรก มีหนามแหลมคมเป็นกรดยาวประมาณ ๓๖ องคุลี ลุกเป็นเปลวไฟแรงอยู่เสมอ สัตว์นรกที่มาเกิดต้องรับทุกข์ทรมานจนสิ้นกรรมชั่วของตน บุพกรรม เช่น คบชู้สู่สาว ผิดศีลธรรมประเพณี ชายเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น หญิงเป็นชู้สามีของผู้อื่น หรือชายหญิงที่มีภรรยาหรือสามี ประพฤตินอกใจไปสู่หาเป็นชู้กับผู้อื่น มักมากในกามคุณ
๓.อสินขะนรก สัตว์นรกที่มาเกิดมีรูปร่างแปลกพิกล เช่น เล็บมือเล็บเท้าแหลมยาว กลับกลายเป็นอาวุธ หอก ดาบ จอบ เสียม สัตว์นรกเหล่านี้เหมือนคนบ้าวิกลจริตบ้างนั่ง บ้างยืน เอาเล็บมือถากตะกุยเนื้อหนังของตนกินเป็นอาหารตลอดเวลา จนกว่าจะสิ้นกรรมบุพกรรม เช่น เมื่อมนุษย์ชอบลักเล็กขโมยน้อย ขโมยของในสถานที่สาธารณะและของทีเขาถวายแด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๔.ตามโพทะนรก มีหม้อเหล็กต้มน้ำทองแดงปนด้วยหินกรวด ร้อนระอุตลอดเวลา สัตว์นรกที่มาเกิดต้องรับทุกข์ โดยการถูกกรอกด้วยน้ำทองแดง และกรวดหินเข้าไปทางปาก จนกว่าจะสิ้นกรรม บุพกรรม ด้วยผลกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนๆเป็นคนใจอ่อนมัวเมาประมาท ดื่มสุราเมรัย แสดงอาการคล้ายคนบ้าเป็นนืองนิจ
๕.อโยคุฬะนรก เต็มไปด้วยก้อนเหล็กแดงเกลื่อนกลาดไปหมด อกุศลกรรมบันดาลสัตว์นรกที่มาเกิดเห็นก้อนเหล็กแดงเป็นอาหาร เมื่อกินเข้าไปแล้วเหล็กแดงนั้นก็เผาไหม้ไส้พุง ได้รับทุกขเวทนาจนกว่าจะสิ้นกรรม บุพกรรม เช่น แสดงว่าตนเป็นคนใจบุญใจกุศล เรี่ยไรทรัพย์ว่าจะนำไปทำบุญสร้างกุศล แต่กลับยักยอกเงินทำบุญของผู้อื่นมาเป็นของตน การกุศลก็ทำบ้างไม่ทำบ้างตามที่อ้างไว้ หลอกลวงผู้อื่น
๖.ปิสสกปัพพตะนรก มีภูเขาใหญ่ ๔ ทิศ เคลื่อนที่ได้ไม่หยดหย่อน กลิ้งไปมาบดขยี้สัตว์นรกที่มาเกิดให้บี้แบนกระดูกแตกป่นละเอียด จนตายแล้วฟื้นขึ้นมาอีก ถูกบดขยี้อีกจนตายเรื่อยไปจนสิ้นกรรมของตน บุพกรรม เช่น เคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ประพฤติตนเป็นคนอันธพาล กดขี่ข่มเหงราฎร ทำร้ายร่างกาย เอาทรัพย์เขามาให้เกินพิกัดอัตราที่กฏหมายกำหนด ไม่มีความกรุณาแก่คนทั้งหลาย
๗.ธุสะนรก สัตว์นรกที่มาเกิดมีความกระหายน้ำมาก เมื่อพบสระมีน้ำใสสะอาดที่ดื่มกินเข้าไป อำนาจของกรรมบันดาลให้น้ำนั้นกลายเป็นแกลบ เป็นข้าวลีบลุกเป็นไฟเผาไหม้ท้องและลำไส้ เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส จากกรรมชั่วที่ทำมา บุพกรรม เช่น คดโกงไม่มี ความซื่อสัตย์ ปน ปลอมแปลงอาหารและเครื่องใช้แล้วหลอกขายผู้อืน ได้ทรัพย์สินเงินทองมาโดยมิชอบ
๘.สีตโลสิตะนรก เต็มไปด้วยน้ำเย็นยะเยือก เมื่อสัตว์นรกที่มาเกิดตกลงไปก็จะตายฟื้นขึ้นมาก็ถูกจับโยนลงไปอีกเรื่อยไปจนสิ้นกรรมชั่วของตนบุพกรรม เช่น จับสัตว์เป็นๆ โยนลงไปในบ่อ ในเหว ในสระน้ำ หรือมัดสัตว์เป็นๆ ทิ้งน้ำให้จมน้ำตาย หรือทำให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้รับความทุกข์และตายเพราะน้ำ
๙.สุนขะนรก เต็มไปด้วยสุนัขนรก ซึ่งมี ๕ พวกคือ หมานรกดำ หมานรกขาว หมานรกเหลือง หมานรกแดง หมานรกต่างๆ และยัง มีฝูงแร้งกา นกตะกรุม สัตว์นรกที่มาเกิดจะถูกสุนัข แร้งกา ไล่ขบกัดตรงลูกตา ปากและส่วนต่างๆ ได้รับทุกขเวทนาจาก ผลกรรมชั่วทางวจีทุจริต บุพกรรม คือ ด่าว่าบิดามารดา ปู่ยาตายาย พี่ชายพี่สาวและญาติทั้งหลายไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์สามเณร
๑๐.ยันตปาสาณะนรก มีภูเขาประหลาด ๒ ลูก เคลื่อนกระทบกันตลอดเวลา สัตว์นรกที่มาเกิดจะถูกภูเขาบีบกระแทก ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ตายแล้วก็กลับเป็นขึ้นมา จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน บุพกรรม เช่น เป็นหญิงชายใจบาปหยาบช้า ด่าตีคู่ครองด้วยความโกรธ แล้วหันเหประพฤตินอกใจไปคบชู้เป็นสามีภรรยากับคนอื่นตามใจชอบ
(โลกันตร์นรก ๑ ขุม )
โลกันตนรก เป็นนรกขุมใหญ่ อยู่นอกจักรวาล มืดมนไม่มีแสง มองไม่เห็นอะไรเลยและเต็มไปด้วยทะเลน้ำกรดเย็น ที่ตั้ง อยู่ระหว่างโลก จักรวาล ๓ โลก เหมือนกับวงกลม ๓ วงติดกัน คือ บริเวรช่องว่างของวงทั้ง ๓ สัตว์นรกที่มาเกิดต้องได้รับทุกขเวทนาเป็นเวลา ๑ พุทธันดร จากผลกรรมชั่ว เช่น ทรมานประทุษร้ายต่อบิดามารดา และผู้ทรงศีล ทรงธรรมหรือปาณาติบาต เป็นอาจิณ ฆ่าตัวตาย เป็นต้น
(โลกนรกประกอบด้วย )
มหานรก ๘ ขุม
อุสสทนรก ๑๒๘ ขุม
ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม
โลกันตร์นรก ๑ ขุม
รวม ๔๕๗ ขุม
หนังสืออ้างอิง พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ปรมัตถโชติกะ (ปริเฉทที่ ๕เล่มที่ ๑) โรงพิมพ์ทิพยวิสุทธิ์ กรุงเทพฯ. ๒๕๔๐
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) มุนีนาถทีปนี สำนักพิมพ์ดอกหญ้า กรุงเทพฯ. ๒๕๓๙
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ภูมิวิลาสินี สำนักพิมพ์ดอกหญ้า กรุงเทพฯ. ๒๕๔๐
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) กรรมทีปนี สำนักพิมพ์ดอกหญ้า กรุงเทพฯ. ๒๕๔๕
พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) โลกทีปนี สำนักพิมพ์ดอกหญ้า กรุงเทพฯ. ๒๕๔๕
บุญชู ศรีมุษิกโพธิ์ (มศว. ประสานมิตร) วัฏสงสาร ๓๑ ภูมิ
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรม ภาษาไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ กรุงเทพฯ.๒๕๔๖ (หมายเหตุ ) แผนภูมินี้ไม่ได้แสดงรูปร่าง ขนาดของภูมิต่างๆ ฉบับปรับปรุงใหม่ ๑ ต.ค. ๒๕๔๖