Friday, April 10, 2009

รัตนสูตร

รัตนสูตร ( สวดแล้ว ทำให้สุขภาพแข็งแรง โรคภัยไม่เบียดเบียน )
*******************************************


ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
สัพเพวะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ
( ขอหมู่ภูตทั้งปวงนั้น จงเป็นผู้มีใจดีเถิด )
อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง
( และเชิญฟังคำสดุดีพระรัตนตรัย อันข้าพเจ้ากล่าวโดยเคารพเถิด )
ตัสมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ
( ดูก่อนภูตทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายทั้งปวง จงฟังข้าพเจ้า )
เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ
( ขอท่านทั้งหลาย จงกระทำเมตตาจิต ในประชาชาวมนุษย์เถิด )
ทิวา จะ รัตโต จะ หะรันติ เย พะลิง
( ซึ่งเขาทั้งหลาย ทำเทวตาพลีอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืน )
ตัสมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตา
( เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาท ช่วยคุ้มครองรักษาเขาเหล่านั้นด้วยเถิด )
ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา
( ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น )
สักเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง
( หรือรัตนะใดอันสูงค่า ในสรวงสวรรค์ )
นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ
( ทรัพย์หรือรัตนะนั้นๆ ที่จะเสมอด้วยพระตถาคตเจ้า มิได้มีเลย )
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ จัดเป็นรัตนะอันสูงส่ง ในพระพุทธเจ้า )
เอเตนะ สัจเจนะสุวัตติ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีเถิด )
ขะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง ยะทัชฌะคา สักยะมุนี สะมาหิโต
( พระศากยมุนีเจ้า ทรงมีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใด
เป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สิ้นราคะ เป็นอมตะอย่างแท้จริง )
นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ
( สิ่งใดๆที่เสมอด้วยพระธรรมนั้น ย่อมไม่มี )
อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ จัดเป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระธรรม )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ยัมพุทธะเสฏโฐ ปะริวัณณะยี สุจิง
( พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญสมาธิใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด )
สะมาธิมานันตะริกัญญะมาหุ
( บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงสมาธิใด ว่าให้ผลไม่มีสิ่งใดคั่นได้ )
สะมาธินา เตนะ สะโม นะ วิชชะติ
( สมาธิอื่น ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ย่อมไม่มี )
อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ ก็จัดเป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระธรรม )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีเถิด )
เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัตถา
( บุคคลเหล่าใด นับเรียงองค์ได้เป็น ๘ )
จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ
( นับเป็นคู่ได้ ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว )
เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา
( บุคคลเหล่านั้น เป็นสาวกของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน )
เอเตสุ ทินนานิ มะหัปผะลานิ
( ทานทั้งหลาย ที่บุคคลถวายในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลเป็นอันมาก )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ จัดเป็นรัตนคุณอันสูงส่ง )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )

เย สุปปะยุตตา มะนะสา ทัฬเหนะ นิกกามิโน โคตะมะสาสะนัมหิ
( บุคคลทั้งหลายเหล่าใด ประกอบความเพียรอย่างดี ดำเนินไปในศาสนา ของพระโคดมเจ้า ด้วยใจอันมั่นคง )
เต ปัตติปัตตา อะมะตัง วิคัยหะ
( บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ได้บรรลุคุณอันควรบรรลุ คือ พระอรหัตตผลแล้ว )
ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา
( จึงได้เสวยอมตะรส คือ ความสงบเย็น จากความเร่าร้อนทั้งปวง )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง แม้ข้อนี้
( ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ยะถินทะขีโล ปะฐะวิง สิโต สิยา จะตุพภิ วาเตภิ อะสัมปะกัมปิโย
( เสาเขื่อนที่ฝังลงดิน อย่างมั่นคงแล้ว ลมทั้งสี่ทิศ ไม่พึงทำให้หวั่นไหวได้ ฉันใด )
ตะถูปะมัง สัปปุริง วะทามิ โย อะริยะสัจจานิ อะเวจจะ ปัสสะติ
( เราตถาคตกล่าวว่า สัตบุรุษผู้หยั่งเห็นอริยสัจธรรม ก็มีอุปมาฉันนั้น นั่นแล )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
เย อะริยะสัจจานิ วิภาวะยันติ คัมภีระปัญเญนะ สุเทสิตานิ
( บุคคลเหล่าใด กระทำอริยสัจธรรมทั้งหลาย ที่พระบรมศาสดา
ผู้มีปัญญาอันลึกซึ้ง ทรงแสดงดีแล้ว ให้แจ่มแจ้งแก่ตนได้ )
กิญจาปิ เต โหนติ ภุสัปปะมัตตา
( บุคคลเหล่านั้น ถึงจะยังเป็นผู้ประมาทอยู่มาก )
นะ เต ภะวัง อัฏฐะมะมาทิยันติ
( แต่ท่านก็ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งภพที่ ๘ )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )

สะหาวัสสะ ทัสสะนะสัมปะทายะ ตะยัสสุ ธัมมา ชะหิตา ภะวันติ,
สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉิตัญจะ สีลัพพะตัง วาปิ ยะทัตถิ กิญจิ
(สังโยชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
ซึ่งเป็นกิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ อันพระโสดาบันละได้แล้ว
เพราะความถึงพร้อมแห่งญาณทัสนะ)
จะตูหะปาเยหิ จะ วิปปะมุตโต
(อนึ่ง พระโสดาบันเป็นผู้พ้นได้แล้ว จากอบายภูมิทั้ง ๔)
ฉะ จาภิฐานานิ อะภัพโพ กาตุง
(ทั้งไม่อาจที่จะทำอภิฐาน คือ ฐานะอันหนัก ๖ ประการ (คือ อนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีต)
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
(แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระสงฆ์)
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
(ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด)
กิญจาปิ โส กัมมัง กะโรติ ปาปะกัง กาเยนะ วาจายุทะ เจตะสา วา
(พระโสดาบันนั้น ยังทำความผิดเล็กน้อยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ อยู่บ้างก็จริง)
อะภัพโพ โส ตัสสะ ปะฏิจฉะทายะ
( แต่เมื่อทำแล้ว ท่านเปิดเผย ไม่ปกปิดความผิดนั้นไว้ )
อะภัพพะตา ทิฏฐะปะทัสสะ วุตตา
( ความที่บุคคลเข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้วเป็นผู้ไม่ปกปิดความผิดไว้นี้ อันเราตถาคตกล่าวแล้ว )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )

วะนัปปะคุมเพ ยะถา ผุสสิตัคเค คิมหานะ มาเส ปะฐะมัสมิง คิมเห
( พุ่มไม้ในป่า แตกยอดในเดือนคิมหันต์แห่งคิมหันตฤดูฉันใด )
ตะถูปะมัง ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ
( พระตถาคตเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ )
นิพพานะคามิง ปะระมังหิตายะ
( ซึ่งเป็นหนทางให้ถึงพระนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็มีอุปมาฉันนั้น )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
(แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์)
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
วะโร วะรัญญู วะระโท วะราหะโร
พระตถาคตเจ้า ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้รู้สิ่งอันประเสริฐ
( ทรงเป็นผู้ให้สิ่งอันประเสริฐ ทรงเป็นผู้นำมาซึ่งสิ่งอันประเสริฐ )
อนุตตะโร ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ
( ทรงเป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งพระธรรมอันประเสริฐ )
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระพุทธเจ้า )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ขีณัง ปุราณัง นะวัง นัตถิ สัมภะวัง
( กรรมเก่า ของพระอริยบุคคลเหล่าใดสิ้นแล้ว กรรมสมภพใหม่ย่อมไม่มี )
วิรัตตะจิตตายะติเก ภะวัสมิง
( พระอริยบุคคลเหล่าใด มีจิตอันหน่ายแล้ว ในภพต่อไป )
เต ขีณะพีชา อะวิรุฬ หิฉันทา
( พระอรหันต์เหล่านั้น มีพืชคือวิญญาณสิ้นไปแล้ว ไม่มีความพอใจที่จะเกิดอีกต่อไป )
นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป
( เป็นผู้มีปัญญา ย่อมนิพพาน เหมือนดังดวงประทีปที่ดับไปฉะนั้น )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
ตะถาคะตัง เทวะสะนุสสะปูชิตัง พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ
( เราทั้งหลายจงนมัสการพระพุทธเจ้าผู้มาแล้ว อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสุขสวัสดีจงมีเถิด )
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
ตะถาคะตัง เทวะสะนุสสะปูชิตัง ธัมมัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ
( เราทั้งหลายจงนมัสการพระธรรมอันมาแล้ว อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสุขสวัสดีจงมีเถิด )
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
ตะถาคะตัง เทวะสะนุสสะปูชิตัง สังฆัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ
( เราทั้งหลายจงนมัสการพระสงฆ์ผู้มาแล้ว อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสุขสวัสดีจงมีเถิด )


********************************************************

ตำนาน

ครั้งหนึ่ง ณ พระนครไพสาลี อันไพบูลย์ไปด้วยขัตติยะตระกูล มีพระยาลิจฉวีเป็นประธาน ได้บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงฝนแล้ง พืชพันธุ์ธัญชาติ ปลูกเท่าไหร่ก็ตายหมด หมู่คนยากจนทั้งหลาย พากันอดยาก ล้มตายลงเป็นอันมาก หมู่ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็พากันเอาศพไปทิ้งไว้นอกพระนคร กลิ่นซากศพนั้น เหม็นตลอดไปทั่วพระนคร

กาลนั้น หมู่อมนุษย์ทั้งหลาย ก็เข้ามากินซากศพ แล้วตรงเข้าไปสู่พระนคร เป็นเหตุให้ชนผู้คนในพระนคร ติดอหิวาตกโรค และโรคนานา จนผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองสกปรก ปฏิกูลไปด้วย เฬวรากซากศพ จากคนและสัตว์

ขณะนั้นกล่าวได้ว่า นครไพสาลี มีภัยเกิดขึ้น ๓ ประการ คือ
๑. ทุพภิกขภัย ข้าวแพง มนุษย์ล้มตายลงเพราะอดอาหาร
๒. อมนุษย์ภัยเบียดเบียน ตายด้วยภัยของอมนุษย์
๓. โรคภัย ผู้คนล้มตายด้วยโรคภัยต่าง ๆ มีอหิวาตกโรค เป็นต้น

ขณะนั้น ผู้คนในพระนคร ต่างได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า จึงชวนกันเข้าไปเฝ้า สภากษัตริย์ลิจฉวี แล้วทูลว่า แต่ก่อนแต่ไรมา ภัยอย่างนี้มิได้เคยมี เหตุไรจึงมาเกิดภัยเช่นนี้ หรือว่า จะมาจากเหตุ ราชะสภามิได้ตั้งอยู่ในธรรม หรือว่าผู้คนมหาชนทั้งหลาย ในไพสาลีนคร หมกมุ่นมัวเมาประมาทขาดสติ มิมีธรรมะ หรือว่า จะมาจากเหตุ นักบวช สมณะ สงฆ์ มิได้ทรงศีลสิกขา จึงเป็นเหตุให้เกิดกาลกิณี แก่ปวงประชา

ฝ่ายสภากษัตริย์ หมู่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ก็มิอาจจับต้นชนปลาย หรือจะรู้สาเหตุก็หาไม่ ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันไปมา ได้แต่ทำตาลอกแลกแล้วส่ายหน้า จนมีท้าวพระยาลิจฉวี พระองค์หนึ่ง ลุกขึ้นตรัสว่า เห็นทีภัยร้ายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก มิอาจจะระงับได้ด้วย กำลังทหาร กำลังทรัพย์ หรือกำลังปัญญา คงต้องอาศัยกำลังของพระโพธิบวร แห่งองค์สมเด็จพระชินศรีศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาโปรด ชาวไพสาลีให้พ้นภัยพิบัติครั้งนี้คงจะได้ ในที่สุดประชุมราชะสภา ต่างเห็นพ้องต้องกัน จึงมอบให้พระยาลิจฉวี ๒ พระองค์พร้อมไพร่พลนำเครื่องบรรณาการ ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอให้พระองค์ทรงอนุญาต ให้เชิญเสด็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายังนครไพสาลี

กล่าวฝ่ายพระราชาพิมพิสาร เมื่อได้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของชาวนครไพสาลี และวัตถุประสงค์ของพระยาลิจฉวี จึงทรงอนุญาตชาวนครไพสาลีไปทูลอาราธนา องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตามประสงค์

องค์พระผู้มีพระภาค พร้อมภิกษุบริษัทอีก ๕๐๐ รูป ได้เสด็จพระดำเนิน ไปสู่นครไพสารี ในเวลาที่เสด็จนั้น พระราชาลิจฉวี หมู่มุขมนตรี ชาวพระนคร องค์อินทรเทวะพรหมินทร์ทั้งหลาย ได้พากันเฝ้ารับเสด็จระหว่างทาง ด้วยการโปรยทราย ดอกไม้ของหอม พร้อมยกฉัตรกางกั้น แสงพระสุริยะฉาย จัดตั้งราชวัตรฉัตรธง จตุรงค์เสนาขุนทหารทั้งหลาย ต่างพากัน ยืนแถวถวายพระเกียรตินานาประการ

ในขณะเดินทาง ทรงหยุดพักระหว่างทางวิถี พระราชาและหมู่ชนต่างพากันจัดสรรสรรพผลาหารอันเลิศ ประเสริฐรส นำมาถวายแด่พระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์

ครั้นเสด็จพระดำเนินมาถึง ริมฝั่งคงคา พระยานาคราช ผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำคงคา ก็ขึ้นมาถวายเครื่องสักการะ แล้วเนรมิตวงกายให้เป็นเรือใหญ่ แล้วทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ ที่เนรมิตถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ส่วนหมู่มนุษย์พระยาลิจฉวี และชาวพระนคร ก็ให้ขึ้นเรือแพ ที่จัดเตรียมมา แล้วเรือนาคา ก็บ่ายหน้าแล่นตรงไป ยังนครไพสาลี สิ้นระยะทาง ๘ โยชน์ กินเวลา ๘ วัน ระหว่างทางองค์นาคราช และบริวารได้ถวายอภิบาลพระบรมศาสดา และหมู่สงฆ์ มิให้สะดุ้ง สะเทือนระหว่างทาง ไม่ว่าคลื่นจะซัด ลมจะพัด น้ำจะแรง เรือนาคราชนั้นก็บรรเทาผ่อนแรง บดบังลมแดดแรงเป็นอันดี ประดุจดัง ทางประทับ อยู่บนยอดขุนเขาคีรีษี มิได้มีหวั่นไหวฉะนั้น

ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เสด็จพระดำเนินถึงเขตนครไพสาลี เมฆฝนก็ตั้งเค้า ลมทั้งหลายก็พัดหอบเอาเมฆมารวมไว้บนท้องฟ้า เหนือนครไพสาลี ครั้นสมเด็จพระชินศรี ทรงย่างพระบาทเหยียบยืนบนแผ่นดินไพสาลี เม็ดฝนก็ตกลงมาในทันที

องค์สมเด็จพระชินศรี เมื่อเสด็จประทับภายในพระนครไพสาลี เป็นอันดีแล้ว ฝนที่มิได้เคยตกมาเจ็ดปี ก็พลูไหลริน จนท่วมภาคพื้นปฐพี กระแสน้ำได้พัดพาเอาซากอสุภ และสิ่งปฏิกูลทั้งปวง ไหลลงไปสู่แม่น้ำคงคาจนหมดสิ้น

ครั้นเม็ดฝนหยดสุดท้ายหมดสิ้น หมู่อมรนิกรเทพพรหมินทร์ และอินทรราช ก็เข้าเฝ้ากราบเบื้องยุคลบาทพระผู้มีพระภาค

ฝ่ายฝูงอมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นเห็นหมู่มหาเทพ ได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพระผู้พระภาคเจ้า ต่างตนต่างก็เกรงกลัวเดช กลัวจะเกิดอาเพศ จึงพากันหลีกลี้หนีไปเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาค จึงทรงมีพุทธฎีกาตรัสเรียกพระอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ เธอจงเรียนมนต์รัตนสูตรนี้ แล้วจงถือเอาเครื่องพลีกรรม เที่ยวไปในระหว่างแห่งกำแพงทั้งสามชั้นของพระนคร แล้วจงสาธยาย มนต์รัตนสูตร เวียนเป็นประทักษิณให้ครบ ๓ รอบ แล้วนำบาตรของเราตถาคต ใส่น้ำที่สำเร็จด้วยมนต์รัตนสูตร สาดรดไปทั้งพระนคร อมนุษย์ทั้งหลายที่ยังมิได้หนี จักได้พากันหนีไปสิ้น ประชาชนผู้คนในพระนคร จักได้ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน

ครานั้น พระบรมสุคตเจ้า ได้ทรงแสดง รัตนสูตร โปรดหมู่อมรนิกรพรหมินทร์ อินทราธิราชทั้งหลาย กาลเมื่อทรงแสดงธรรมจบสิ้น ความสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ก็บังเกิดแก่ชาวไพสาลีทั้งปวง อุปัททวภัยทั้งหลายก็ระงับสิ้น หมู่มนุษย์และเทพทั้งหลาย มีประมาณแปดหมื่นสี่พัน ได้บังเกิดธรรมจักษุ ต่างพากันรู้ทั่วถึงธรรมนั้น ตามแต่อุปนิสัย วาสนาบารมีธรรมของตนที่สั่งสมมา

เมื่อหมู่อมรเทพนิกร พรหมินทร์ อินทรา เสด็จกลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระกรุณาโปรดแสดงธรรมเทศนา รัตนสูตร โปรดชาวพระนครไพสาลีอยู่อีก ๖ วัน รวมสิ้นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ภายในพระนครไพสาลีสิ้นเวลา ๑๕ วัน จึงเสด็จ

ระหว่างทางขณะเสด็จมาถึงริมแม่น้ำคงคา พญานาคาและเหล่าบริวาร ผู้เฝ้ารอคอยเสด็จกลับ ก็ได้เนรมิตกาย ให้เป็นเรือพระที่นั่งถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐

ระหว่างทางได้ทรงแสดงธรรม โปรดพญานาคและบริวาร จนเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ หมู่ชนชาวพระนครราชคฤห์พร้อมพระราชาพิมพิสาร ต่างรอคอยถวายเครื่องสักการะต้อนรับ ยิ่งกว่าตอนเสด็จไป

No comments: