ฝรั่งมีสำนวนประโยคหนึ่งว่า “Add insult to injury” หมายถึงการเหยียบซ้ำ
พลาดแล้วถูกซ้ำเติมเป็นเรื่องเราต้องเคยเจอสักครั้งหนึ่ง
เคยไหมที่คุณขับรถฝ่าไฟแดง แล้วไม่ถูกตำรวจจับ และคนข้างๆ บอกประชดว่า “ขับรถเก่งจัง”
แต่ครั้นทำอย่างเดียวกันอีกครั้ง แล้วถูกตำรวจจับ จะได้รับคำซ้ำเติมว่า “บอกว่าอย่าฝ่าไฟแดง แล้วไง โดนใบสั่งจนได้”
ความผิดพลาดอาจเป็นความเสียหาย แต่ก็เป็นความเสียหายในระดับหนึ่ง การซ้ำเติมทำให้ความเสียหายนั้นสูงขึ้นกว่าเดิม และทำให้ปัญหานั้นแก้ไขยากขึ้น
มีตัวอย่างมากมายที่เมื่อเด็กสอบตก พ่อแม่ก็ดุด่าเด็กจนเด็กกลัว ทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมด เสียอนาคตไปเลย
บางเหตุการณ์เกิดมานานหลายสิบปี ยังรื้อฟื้นขึ้นมา และยังสามารถโกรธเป็นฟืนเป็นไฟในเรื่องที่จบไปนานแล้ว
บางคนติดนิสัยด่าคนที่ทำพลาด ตอกย้ำทุกครั้งที่ทำผิด และทุกครั้งที่คิดการใหม่ ด้วยประโยค “ทำไปทำไม เดี๋ยวก็คงผิดอย่างเดิมอีก”
ด้วย ‘กำลังใจ’ แบบนี้ ถึงไม่ทำผิด ก็คงต้องผิดสักวัน
ประโยคยอดนิยมคือ :
"บอกแล้วว่าอย่าทำๆ"
"เห็นมั้ย ฉันว่าแล้ว ผิดซะเมื่อไหร่"
"นึกแล้วเชียว"
"สมน้ำหน้า เตือนแล้วไม่ฟัง"
การกระหน่ำซ้ำคนที่ทำผิดพลาดไม่ใช่กุศโลบายที่ดี โดยเฉพาะในฐานะของผู้นำ
ด่าไปแล้วก็ไม่ช่วยให้ความผิดพลาดกลับคืนสู่สภาพเดิมได้
มองโลกในแง่ดีว่า ไม่มีใครอยากทำผิด ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี
ภาษิตฝรั่งว่า “Don't cry over spilt milk.”
ทำน้ำนมหกไปแล้วก็อย่าเสียเวลาคร่ำครวญกับมัน เสียเวลาเปล่า เพราะไม่มีทางที่จะนั่งยานเวลาย้อนกลับไปป้องกันเหตุการณ์นั้นได้
การเหยียบซ้ำก็เหมือนการถูกมีดบาดแล้วโรยเกลือซ้ำ บางครั้งอาจทำให้คนทำผิดพาลไม่ยอมเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น หรือแสดงออกด้วยการประชด ตั้งใจทำผิดซ้ำสองอีก
คนทำผิดส่วนใหญ่เรียนรู้จากความละอายใจมากกว่าจากคำด่า
มองโลกในแง่ดีคือเมื่อรู้จักให้อภัย เมื่อนั้นความผิดพลาดนั้นๆ ก็อาจคุ้มค่ากับความเสียหาย เพราะต่างคนต่างได้รับบทเรียน
บทความโดย....วินทร์ เลียววาริณ
No comments:
Post a Comment