ภาวะผู้นำ ศักยภาพและศิลปะแห่งการครองใจคน
ภาวะผู้นำ
ศักยภาพและศิลปะแห่งการครองใจคน
........................
ว.วชิรเมธี
๑.ใครคือผู้นำ
“ผู้นำ” ในทางพระพุทธศาสนาตรงกับคำว่า “นายก” แปลว่า “ผู้ที่มีศักยภาพในการเป็นหัวหน้ามหาชน” หรือ “ผู้ที่มหาชนพอใจในการบทบาทการเป็นผู้นำ” และ/หรือ “ผู้ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลในการดำเนินรอยตาม” หรือ “ผู้ที่อำนวยการให้การทำงานประสบความสำเร็จและทุกคนพอใจ”
กล่าวอย่างสั้นที่สุด
“ผู้นำ คือ ผู้ที่สามารถสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นและผู้อื่นอยากดำเนินตาม”
“ภาวะผู้นำ” ตรงกับคำว่า “นายกภาวะ” (นา-ยะ-กะ-พา-วะ) แปลว่า “คุณสมบัติที่ทำให้เป็นผู้นำ”
พระพุทธเจ้า เคยได้รับพระสมัญญานามว่า “โลกนายก” แปลว่า “ผู้นำของชาวโลก” หรือ “ผู้นำของมนุษยชาติทั้งโลก”
ดังนั้น การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ต้อง สามารถเป็นผู้นำที่สามารถนำคนได้ทั้งโลก หรือเป็นผู้นำที่มนุษยชาติทั้งโลกให้การยอมรับ แต่การประสบความสำเร็จของการเป็นผู้นำในความหมายอย่างสามัญก็คือ การที่ผู้นำช่วยอำนวยการให้การทำงานประสบความสำเร็จและทุกคนพอใจจนเกิดภาวะ “คนสำราญ งานสำเร็จ” หรือ “งานก็สัมฤทธ์ ชีวิตก็รื่นรมย์”
๒. ผู้นำสำคัญอย่างไร
ผู้ นำ คือ ผู้กำหนดทิศทาง หรือชะตากรรมขององค์กรที่ตนสังกัด เช่น ผู้นำโลกก็เป็นผู้กำหนดทิศทางหรือชะตากรรมของชาวโลก ผู้นำประเทศก็เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ ผู้นำบริษัทก็เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของบริษัท ฯลฯ ผู้นำ เป็นคนอย่างไร องค์กรก็มีชะตากรรมอย่างนั้น ถ้าผู้นำเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีความสามารถในการบริหารจัดการ องค์กรหรือบริษัทนั้นๆ ก็มีชะตากรรมไปในทางที่ดี ประสบความสำเร็จในทุกกิจกรรมที่ดำเนินการ แต่ถ้าผู้นำเป็นคนไม่เก่ง เป็นคนเลว ทุจริตคอรัปชั่น ไร้ความสามารถในการบริหารจัดการ องค์กรหรือบริษัทก็ประสบความล้มเหลว กิจกรรมที่ดำเนินการก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ความสำคัญของผู้นำต่อชะกรรมของคนที่เป็นผู้ตาม หรือต่อองค์กรที่ตนเป็นผู้บริหารนั้นเป็นอย่างไร เห็นได้จากพุทธวัจนะที่ตรัสไว้ว่า
“ยามฝูงโคว่ายน้ำข้ามฟาก หากโคจ่าฝูงนำไปตรง โคบริวารก็ว่ายตรง หากโคจ่าฝูงนำไปคด โคบริวารก็ว่ายคดตามไปด้วย”
๓.ภาวะผู้นำ
คุณสมบัติที่ทำให้เป็นผู้นำ เรียกว่า “ภาวะผู้นำ” ภาวะผู้นำนั้นบางคุณสมบัติก็เป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น หน้าตา ผิวพรรณวรรณะ บุคลิกภาพ ปฏิภาณในการตัดสินใจ วาทศิลป์ แต่บางอย่างก็สามารถพัฒนาให้มีขึ้นได้ในภายหลังโดยการศึกษา ฝึกหัด ปฏิบัติจนกลายเป็นความโดดเด่นเฉพาะตัว
คุณสมบัติที่ก่อให้เกิด “ภาวะผู้นำ” ประกอบด้วย
(๑) คุณสมบัติพื้นฐาน คือ ผู้นำต้องเป็นคนดีที่เรียกว่า “สุภาพบุรุษ” ที่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งความเป็นชนชั้นนำ ๗ ประการ
(๒) คุณสมบัติพิเศษ คือ ผู้นำควรมีพลังของการเป็นผู้นำ ๑๒ ประการ
(๓) คุณสมบัติเฉพาะ คือ ผู้นำต้องมีศักยภาพในการตัดสินใจที่ทรงประสิทธิภาพ
(๔) คุณสมบัติทั่วๆ ไป เช่น สถานการณ์แวดล้อม (เช่น คำกล่าวที่ว่า สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ) บุคคล เหตุการณ์ สถานที่ เงื่อนไขทางวัฒนธรรม หรือทางสังคมในขณะนั้นๆ ที่เกื้อกูลให้ผู้นำสามารถแสดงภาวะผู้นำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนที่กล่าวกันว่า “คนที่เหมาะสม ย่อมมาในเวลาที่เหมาะสม” นั่นเอง
๑.เป็นสุภาพบุรุษ (คนดี) ก่อนเป็นผู้นำ
คำว่า “สุภาพบุรุษ” หมายถึง คนที่ดีพร้อมเพราะกอปรด้วยสมบัติผู้ดีที่ทำให้เป็นชนชั้นนำ ๗ ประการ
(๑) รู้จักเหตุ คือ รู้หลักการว่าเรื่องต่างๆ ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องต้องทำมีหลักการอย่างไร เช่น หลักการของการเมือง คือ การรับใช้ประชาชน ไม่ใช่การกดขี่ ข่มเหงรังแกประชาชน
(๒) รู้จักผล คือ รู้จุดมุ่งหมาย เช่น รู้ว่า จุดมุ่งหมายของการเมือง คือ การ “สร้างประโยชน์สุข” แก่มหาชน ไม่ใช่การ “แสวงหาผลประโยชน์”
(๓) รู้จักตน คือ ดูตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น เห็นตัวเองชัด
(๔) รู้จักประมาณ คือ รู้ว่าความพอดีของสิ่งต่างๆ ควรอยู่ตรงไหน
(๕) รู้จักกาล คือ รู้จักการบริหารเวลาโดยการเห็นคุณค่าของเวลา ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งรู้ว่าเวลาไหน ควรทำ หรือไม่ควรทำอะไร
(๖) รู้จักเข้าสังคม คือ รู้จักการวางตนให้อยู่ในสังคมอย่างสมกับบทบาทหรือสถานภาพทางสังคมของตน
No comments:
Post a Comment