Thursday, July 29, 2010

การทำวิปัสสนา

การทำวิปัสสนา

ในการทำวิปัสสนา สิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ให้มากให้เข้าใจ คือ ในใจของเรานั่นแหละ อย่าไปหาของข้างนอกเป็นอันขาด ทุกๆ เวลา ตลอดเวลา จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้รู้ว่า ใจของเรามันเอาอะไรมาให้ รู้ที่ใจของเรา เพราะความสำเร็จทั้งหลายอยู่ที่ใจไม่ใช่ที่อืน คนที่จับอารมณ์ใจของตนไม่ได้ ก็ยังเป็นผู้ที่ยังมีโมหะอยู่ เมื่ออะไรเกิดขึ้นมาเราก็ละทันที ประหารมันเสีย เพียรตัวที่ ๑ เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อเราระวังแล้ว แต่มันยังเอาขึ้นมาได้ ก็ปหานปธาน คือ เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นที่จิต นี่แหละตัวสำคัญ
เท่าที่สังเกตุดู สมาธิดี แต่ทำอะไรแล้วก็หวังผลอยู่เรื่อย จิตก็เป็น ภวตัณหา อยู่เรื่อย หวังจะให้ถึงพระนิพพาน หวังให้ได้เป็นนั่นเป็นนี่ เราไม่ต้องไปหวัง เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "เราปลูกมะม่วงไว้ต้นหนึ่งตั้งแต่เล็กๆ ให้ปุ๋ย หมั่นบำรุงรดน้ำ ดูแลไม่ให้ศัตรูเบียดเบียน เมื่อมันโตเจริญงอกงาม มันก็ผลิดอกออกผล (แล้วก็ไม่ใช่ไปบังคับให้มันสุก) ถึงเวลามันก็แก่ มันก็สุก แล้วมันก็หล่น" ก็เช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติธรรมเพื่อพระนิพพาน
บางครั้ง มันเกิดความอ่อนเพลียละเหี่ยใจขึ้นมา อย่างนี้เราก็หาได้นึกไม่ว่าไอ้ที่มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมานั้น เพราะจิตของเรามันเบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติธรรม แต่ไปเข้าใจเอาว่าโรคภัยเข้ามาเบียดเบียน ไปโน่น ทีนี้เมื่อเข้าใจเช่นนั้น ไอ้จิตที่มันกลัวเจ็บกลัวไม่สบาย ความจริงมันกลัวตาย ไม่ใช่กลัวอื่น คนที่กลัวเจ็บมันก็กลัวตายนั่นแหละ เราไม่ได้เฉลียวใจว่า กิเลสนั่นมันปรุงแต่งได้ทุกอย่าง ให้ เจ็บ มีอาการเจ็บจริงๆ เจ็บเหมือนอย่างชนิดเอาทรายเข้าตา ตัวอาจารย์เองนี้ก็ยังมีอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะเมื่อแรก แต่เดี๋ยวนี้มันมีไม่มาก ปีหนึ่งมีสักครั้งสองครั้ง มันเจ็บเหมือนกับทรายเข้าตา แต่ก็เพราะรู้เท่ามัน แล้วอีกอย่างอาการไข้บางครั้งรู้สึกว่ามันจะเป็นไข้ให้ได้ ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ก็รู้เท่ามัน ก็ละเดี๋ยวเดียวมันก็ดับ เมื่อจับขึ้นมาจริงๆ หนาวสั่นสะท้านเลย ก็นอนละบังสุกุลมันก็ดับไป แต่ใช้เวลาตั้งถึงชั่วโมงนี่ ที่สังเกตอย่างนี้
ทีนี้ ที่เราปฏิบัติ คนที่คิดไปหาของภายนอก หรือคิดไปแก้ให้ผู้อื่นหมดกิเลส เช่นคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี คิดไปแก้เขา คิดรังเกียจเขา ไปว่าเขานั่นแหละ เรานั่นแหละ ตัวกิเลส เรามีโอกาสที่จะเตือน ไม่ใช่เตือนกันไม่ได้ เตือนได้ อย่างพระนี้ก็ได้ปวารณาไว้แล้วในวันออกพรรษา ทำได้อย่างดี ก็เช่นเดียวกัน ผู้ถูกเตือนก็อย่ามีทิฏฐิมานะ รู้ว่าดก็ต้องรับว่าผิด ไม่ใช่คอยหาโอกาสโต้เถียงเอาชนะ การเอาชนะนั่นมันเป็นตัวมานะ การที่โต้เถียงว่าไม่ผิด แต่ผู้อื่นเขามองเห็นว่าผิด แต่เมื่อไม่ผิดเราก็แก้ไขได้ว่าอย่างไร แต่ถ้าส่วนใหญ่เขามองว่าผิดก็ผู้ชี้ขาดก็มีอยู่ คือ ประธานหรือครูอาจารย์ของตนมีอยู่ก็ให้มาถาม ไม่ใช่คอยแสดงความรังเกียจกัน ความสมานสามัคคีกันไว้นั่นแหละเป็นสิ่งประเสริฐสุด หมู่สงฆ์ คณะสงฆ์ก็แปลว่าความสามัคคีนั่นแหละ มีความเสมอเหมือนกันด้วยศีลธรรม โดยเฉพาะ คือ ศีลมีความเสมอกันด้วยศีล ส่วนธรรมนั้นมันเทียบกันไม่ได้ ที่จะให้เท่ากัน แต่ว่าเป็นผู้อยู่ในธรรมด้วยกัน
เท่าที่สังเกตดูว่าทำไมมันถึงเนิ่นช้า ก็เพราะอันนี้แหละ เพราะไอ้จิตมันเป็น ภวตัณหา อย่างหนึ่ง นี่สำคัญ คือ มันน้อมนึกอยากจะ ได้พระนิพพานอยู่เรื่อย พอนั่งถึงบางทีก็นึกแล้วว่าจะให้ถึงพระนิพพาน หรือนึกว่าเมื่อไรจะสัมปยุต เมื่อไรจะรวมไปเลยนั่นแหละ เราต้องคิดว่า "เรานั้นไม่มีอะไรแล้ว ไม่เอาอะไรอีกแล้ว" จำไว้เถอะกิเลสจะเหือดแห้งถ้าหมดตัณหาจริง แล้วธรรมมันไม่อยู่หรอก มันขึ้นมาเอง เดินๆ อยู่ก็ขึ้นได้ นอนหลับอยู่ก็ขึ้นได้ทั้งนั้น ขึ้นได้เมื่อพร้อมด้วย ศีล ๓๓.๓๓ สมาธิ ๓๓.๓๓ ปัญญา ๓๓.๓๓ ทั้ง ๓ อย่างนี้มีกำลังเท่าเทียมกัน ไอ้ที่ ๓๓.๓๓ นั่นไม่มีในพระวินัยพระไตปิฏกหรอก อาจารย์คิดเอาเอง คิดเทียบส่วนเอาเอง เพราะรู้อย่างนั้น เมื่อมีพร้อมอย่างนี้แล้วก็ไม่มีอะไรบังคับได้ และไม่มีมารใดที่จะขัดขวางได้
ไอ้ความคำนึง ไอ้ความระแวง ความคำนึงนั่นคือ ความนึกถึงเรื่องราวต่างๆ คิดถึงเรื่องต่างๆ ในอดีต คิดถึงเรื่องต่างๆ ในอนาคต แล้วก็สิ่งที่จิตผูกพันมาก คือ วัตถุกาม คน ที่มีเหย้ามีเรือน มีสามี ภรรยา ลูก หลาน เหลน พ่อ แม่ พี่ น้อง ทรัพย์สินต่างๆ ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่มีวิญญาณครอง และทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง มันนึกเสียดาย นึกอยากจะเพิ่มพูนให้เกิดขึ้น อะไรเหล่านี้แหละ เป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรค มันเป็น ภวตัณหา
ทีนี้การกระทบกระเทือนเมื่อรับผัสสะจากภายนอกแล้ว ที่ใจเราไม่ชอบนั่นก็เป็นวิภวตัณหา โดยมากมันอยู่อย่างนี้ บางที รูป เสียง รสอาหาร บางคนก็ตัดได้แล้ว รู้จักสำนึก รู้จักงดเว้นได้ แต่อย่างอื่นล่ะ? รูป เสียง กล่น รส โผฏฐัพพะ เอา....กลิ่นตัดได้ รสตัดได้ รูปก็ตัดได้ โผฏฐัพพะก็ตัดได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามคุณ ๕ มันพอรู้จัก ละได้ แต่ว่าได้มลทินจิตที่มีอยู่ที่ผูกพันอยู่นั่นมันมี สิ่งที่ผัสสะปัจจุบันมันทำได้ มันละได้ แต่สิ่งที่ฝังอยู่ข้างในจิตนั้นยังทำไม่ได้ ที่อาจารย์เคยจับเมื่อแรกบวชว่า "ทำไม? นะ พอเย็นๆ บ่ายๆ มันคิดถึงบ้าน มันคิดถึงลูกถึงเมีย" มันคิดถึงการถึงงาน พอเผลอๆ แวบเดียว "อ้าว....นึกถึงอีกแล้ว" จนอธิษฐานว่า "อย่าให้ออกไปนอกวัด" จิตนั่น มันก็พอได้ แต่จะให้สำเร็จแท้นั้นๆ ไม่สำเร็จหรอก แต่อธิษฐานแล้วมันก็ดีอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อเราอธิษฐานแล้ว เราต้องถือสัจจะ ทำที่จิตให้ได้ แล้วมันก็ทำได้ในตอนหลัง
ฉะนั้นอะไรบางอย่างที่เราเอาออกไม่ได้ โทสะละไม่ได้ ราคะละไม่ ได้ ในเรื่องที่จำเจ ที่เคยคุ้นเคยมา เป็นสัญญาแล้วนั่นก็อธิษฐานสิ ใช้อธิษฐานบารมี คือ บารมี ๑๐ นั่น ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี บารมี ๑๐ นี่แหละเราใช้อธิษฐานบารมีนี่ใช้ได้ พระพุทธเจ้าก็ใช้อธิษฐานบารมี ทีแรกเป็นทศบารมี แต่เมื่อแก่กล้าก็เป็นอุปบารมี นึกถึงบารมีทั้ง ๑๐ นี่เราควรจะเรียนให้จำได้ แล้วจะได้นำมาใช้ ความจริงอุปสรรคใดๆ เสนาสนะที่อยู่อาศัย อาหารบิณฑบาต ธรรมและความสงบไม่มีคนรบกวน สัปปายะทั้ง ๔ นี้เราก็มีครบทุกอย่าง ทีนี้อาจารย์ก็พยายามอยู่ที่จะชี้จะแนะให้ศิษย์เดินถึงพระนิพพาน ดูอยู่เสมอ แต่เวลานั้นไม่พบ ถ้าพบก็บอกให้ทันที นี่นานๆ ถึงจะพบสักครั้ง สักองค์หนึ่ง นี่แหละ คือ ว่าถ้าพบบ่อยๆ แล้วโอกาสมีมากแหละ ถ้าพบใครเพื่อให้เราแก้ไขช่วยเหลือแล้ว ถ้าพบแล้ว รู้ทันที พอพบเมื่อไรก็รู้ทันทีว่าติดอะไร?
ฉะนั้น ให้พยายามดูตัวเอง ดูใจตัวเอง รักษาให้ได้จิตของเรา แล้วก็ละให้ได้จิตของเรา มันเอาอะไร อย่าไป "อาลัย" เป็นอันขาด
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙

ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna

No comments: