Thursday, July 29, 2010

พระงู-พระปลาไหล

พระงู-พระปลาไหล

การฟังธรรมนี้ ถ้าฟังด้วยจิตใจศรัทธา นำใจเข้าไปละกิเลสของตนได้ มันก็เป็นประโยชน์ เป็นคุณ แต่ถ้าฟังแล้วมันก็กองอยู่ตรงนั้น มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตนเองก็ไม่ได้อะไร แล้วก็นั่งเมื่อยเปล่าๆ มีอยู่ว่า ไอ้ปลาไหลนั่นแหละ ตัวมันเท่างูเหมือนกันแหละ ที่ผิดกันนั้นมีอยู่สองอย่าง คือ งูนั้นมีเกล็ด ปลาไหลมันไม่มีเกล็ด ตัวของมันเป็นเมือก และอีกอย่างหนึ่งงูมันไม่มีเหงือก ปลาไหลมันมีเหงือก จึงจัดเป็นจำพวกปลา ทีนี้ธรรมชาติของปลาไหลมันลื่นนี่ เรื่อยเปลื่อยไปได้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่าถ้าถูกที่ทรายดูดก็ไปไม่ได้นะ ก็แย่เหมือนกัน ไอ้งูมันไปได้ทั้งนั้น งูที่มันเลื้อยไปไม่ได้ก็ที่ลื่นๆ แต่มันก็กระเดือก มันกระเสือกกระสนของมันไปได้ เดี๋ยวจะฟังไม่ออกว่า เอ....ธรรมะทำไมออกปลาไหลบ้าง ออกงูบ้าง มันมีที่ออกไปอย่างนี้แหละ
คือพระของเรานี่เป็นปลาไหลก็มี เป็นงูก็มี เป็นอย่างนั้น พระ เณรก็เหมือนกัน เป็นปลาไหลบ้าง เป็นงูบ้าง ตลอดถึงชีอะไรก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ผู้ปฏิบัติธรรมโดยมากเป็นปลาไหล มันไหลไปเรื่อยเปื่อย ไปตัมันลื่น ที่ปลาไหลมันจะไปออกไปนั่น คือ ไหลตอนไหน ที่สำคัญไอ้ไหลตอนนั่งกัมมัฏฐานมันก็ไหลเหมือนกันแหละ นั่นๆ แล้ว มันขี้เกียจ หรืออะไรก็ตามออกไปไหลเรื่อย ทีแรกมันปวดท้องเยี่ยวก่อน พ้นจากไปเยี่ยวไปปัสสาวะแล้วมันก็มานั่ง ดูนั่นดู่นี่ ไอ้ที่เดินจงกรมให้เป็นประโยชน์ไม่มีใครทำหรอก ไอ้นี่เพราะมันไหลไปนั่นแหละ อย่างที่ว่า ทีนี้ไอ้สำคัญที่มันไหลมากก็คือ ตอนที่ว่าเคยมีมาปีก่อนๆ โน้น มีอยู่ปีหนึ่งที่หนักตอนฉันอาหารนี่ภิกษุฉันอาหารแล้วมีการพูดคุยด้วยนั่น แหละ นั่นพวกปลาไหลแล้วละ ฉันอาหารเสร็จก็เป็นพวกเดียรถีย์ ไหลเป็นพวกเดียรถีย์ นี้บางทียังไม่เสร็จก็เอาเรื่องต่างๆ ที่ตลกบ้าง เรื่องขบขันบ้าง เรื่องอะไรต่างๆ ที่ไม่ใช่ธรรมะ เรียกว่า เดรัจฉานกถา หรือเรื่องอย่างที่พวกเดียรถีย์เขาชอบพูดกัน เช่นว่าการขบฉันต่างๆ ที่พระเป็นผู้สำรวมระมัดระวัง ฉันให้เรียบร้อย นั่งฉันให้เรียบร้อย ที่จะป้อนคำข้าวเข้าปากให้มันเรียบร้อย ฉันไม่ให้ขอดบาตร ฉันไม่ให้เม็ดข้าวตกลงในบาตร และก็หลายอย่างอื่นๆ อีก แล้วก็ฉันข้าวแล้วก็นั่งกระดิกเข่ากระดิกเท้าบ้างอะไรเหล่านี้ นั่นไหลไปทั้งนั้น เป็นพวกปลาไหลทั้งนั้น อะไรที่ทำให้มันไหล กิเลสเป็นความเพลิดเพลิน มันเกิดความสนุก และเล่าเรื่องตลกขบขันนั่นเพราะว่า ขณะนั้น ท้องมันกำลังอิ่มอยู่ มันสบาย เมื่อมันสบายมันก็ไหลออก ที่จะสำรวมระมัดระวังวาจาของตนที่เรียกว่า อินทรีย์สังวร คืออะไร ปกฏิโมกข์สังวร และก็อินทรีย์สังวรก็คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าวาจามันยังคะนอง อยู่ไม่สำรวม ถ้าลิ้นมันยังชอบของอร่อยอยู่มันก็ไม่สำรวม เพราะว่าเรายังขาดสันโดษ ไม่มีความพอใจ หรือดี หรือพอใจในของที่มีอยู่ เพราะว่าการปรุงอาหารทุกๆ อย่ง แม้แต่แม่ของเราทำเองก็อาจไม่ถูกรสปากเรา เพราะกิเลสไม่ต้องผู้อื่นทำ แม่ของเราเองก็ทำไม่ถูกปากไม่ต้องมาก เพราะกิเลสคนเรานั้นชอบเปรี้ยว ชอบหวาน ชอบเค็ม ชอบมัน ไม่เหมือนกันที ทีนี้การเป็นภิกษุสงฆ์มันต้องประหยัดตัว เพราะที่มาบวชมาเรียนนี้ มันมาละกิเลส ไม่ใช่มาสะสมกิเลส ถ้าบวชเพื่อจะกินให้อร่อยให้มันหวานตามที่ต้องการก็ไม่ต้องบวช เป็นคฤหัสถืไปหาซื้อตามตลาดกินได้ตามชอบใจ เราเป็นภิกษุ เรามีชีวิตอยู่ด้วยชาวบ้าน การที่เขาทำทานมาให้เราฉัน เราอยู่อาศัย หรืออื่นๆ เขาไม่ใช่ทาสเป็นกรรมกรของเรา เขาศรัทธาเราต่างหาก เขาศรัทธาต่อพระศาสนาต่างหาก ที่เขาทำบุญทำทานมานั่น อย่างผู้ปรุงอาหารก็เหมือนกัน ผู้ปรุงก็คงไม่มีเจตนาที่จะปรุงอาหารให้ชนิดสุนัขกินไม่ได้ไม่มีหรอก ให้มนุษย์กินได้ มันอร่อยหรือไม่อร่อยนั่นอย่างที่ว่า กิเลสมันให้อร่อยมันไม่อร่อยสองอย่าง ที่อร่อยก็กิเลส ที่ไม่อร่อยก็กิเลส ไม่อร่อยมันเป็นวิภวตัณหา ที่อร่อยมันเป็นกามตัณหา เอ้าคิดดูเอาและก็นี่แหละท้องมันอิ่มกิเลสมันพอใจ วาจามันก็ไม่เป็นปกติสุข มันก็ไหลออกไป อันนี้เรียกว่าเป็นปลาไหล แล้วทีนี้ถ้าว่าตามในขุมทรัพย์พระบรมโอษฐ์ที่พระองค์ว่าภิกษุจระเข้เห็นแก่ กิน, กินแล้วก็นอนตากแดดอ้าปากหวอ ตากแดดแล้วลงน้ำ และก็ภิกษุพวกหนึ่งที่พระพุทธเจ้าประฌามว่าภิกษุสุนัขขี้เรื้อน มันคัน อยู่ไม่นิ่ง อดไม่ได้ที่จะต้องพูดนั่น พูดนี่ รุกรานคนนั้นคนนี้ให้เดือดร้อน เรียกว่ารุกรานด้วยวาจา รุกรานด้วยกาย รุกรานด้วยกิริยา ถ้าเราจะเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งเหล่านี้เราต้องกระทำได้ เราต้องมีความอดทนอดกลั้นทุกอย่าง
อย่างในเรื่องที่สมเด็จพระพุทฒาจารย์ (โต) ยังมีชีวิตอยู่ มีพระตั้งร้อยที่วัดของท่าน เผอิญวันหนึ่งมีคนนำแกงร้อนมาถวาย หม้ออวยใหญ่ แต่มันไม่พอกับพระหรอก พระมาก ทีนี้สมเด็จโตนั้นท่านอยากจะทดสอบว่า พระของเราที่ปกครองนี่ใครมีความจริงใจแค่ไหน แต่ท่านก็ไม่ได้บอกใคร สั่งให้เณรเอากะทะใบบัวใหญ่มาติดไฟตั้งเข้า แล้วก็ไปตัดผักบุ้งข้างๆ วัดมาสับๆๆๆ ทั้งใบบ้างรากบ้างใส่ลงไป เอาน้ำใส่แล้วเอาแกงร้อนหม้อหนึ่งเทลงไปในกะทะใบบัว แล้วก็ต้มจนสุกเรียบร้อย เติมน้ำปลาบ้างแหละตามสมควร หรือไม่เติมก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้บอกไว้ พอเสร็จแล้วท่านก็สั่งให้เณรตักอาหารที่ปรุงใหม่ถวายพระองค์ละถ้วยๆๆๆ ทุกองค์ฉันกับข้าว พอขณะที่ฉันอยู่ท่านไปนั่งคอยอยู่ที่ประตูโรงฉัน อ้อดูเหมือนจะเป็นตอนเย็นก่อนเข้าทำวัตรที่ในโบสถ์ ท่านนั่งคอยอยู่ที่หน้าโบสถ์ พอถึงพระเณรองค์ไหนมาท่านถามว่า "เป็นไงแกงร้อนเมื่อเช้าอร่อยดีไหม" องค์ที่หนึ่งก็ตอบว่า "อร่อยดีครับผม" ถามองค์ที่สองว่า "คุณล่ะ?" "อร่อยดีครับผม" ทุกองค์แหละอร่อยดีทั้งนั้น องค์ที่แปดสิบ โน่นมีองค์หนึ่งเป็นพระผู้เฒ่าพระหลวงตา ถาม "เป็นไงหลวงตา แกงร้อนเมื่อเช้าที่ตักถวายอร่อยดีไหม?" พระหลวงตาบอกว่า "อร่อยอะไรพระเดชพระคุณ หมาก็ไม่กิน" เอ้าเป็นอย่างนั้นไป สมเด็จโตก็เข้าที่ประชุมสงฆ์บอกพระทั้งหมดว่า วันนี้ที่พบแล้ว พระทั้งหมดมีองค์เดียวเท่านั้นที่พูดจริง นอกนั้นโกหกทั้งนั้นแหละ ไม่อร่อยว่าอร่อย เพราะเกรงว่าสมเด็จโตจะดุเอา นั้นเป็นการทดสอบ ไอ้เรื่องอาหารการกินทุกสิ่งทุกอย่างที่มันอุดมสมบูรณ์ จนว่ากลืนไม่ลงแล้ว มันก็มีบางมื้อบางวัน มันมีเดือนหนึ่งกว่า ๑๕ วันแหละ ทีนี้บางมื้อบางวันก็มีบกพร่องบ้าง เราจะเอาอย่างที่เราต้องการทุกวันหรือย่อมเป็นไปไม่ได้ พระต้องรู้จักเข้าใจคำว่า สันโดษ
อาจารย์ในชีวิตที่บวชมานี่ลำบากยากแค้น บิณฑบาตมาไม่ค่อยได้อะไร เมื่อก่อนไม่ใช่มีสลากโรงครัว ไม่มีหรอก มีพระสององค์เท่านั้น พรรรษาสองแล้วไปบิณฑบาต อ้อ พรรษาแรกไปบิณฑบาตมาบ้านญาติ ก็มีจิตมันก็มีกิเลสขึ้นมาแหละว่าจะไปบิณฑบาตบ้านญาติ ไปขอนั่นขอนี่ ขอกับข้าว แล้วมันก็ไม่ไป มันอดตายก็ช่างมันให้มันรู้ไป มันอัตคัตเหลือเกิน (ช่วงนี้เทปหายไป) ได้ปลาเค็มมาสองตัวขนาดสามนิ้ว เป็นปลากระบอก เขาปิ้งมาไม่ได้ทอดหรอก เขาใส่บาตรมา ท่านอาจารย์ไปบิณฑบาตมา ไปคนละทาง กลับมาขึ้นโรงฉัน เปิดฝาบาตรให้ดูแล้วหัวเราะหึ ท่านบอกว่าไม่ได้อะไรเลยหลวงน้า เลยแบ่งคนละตัวเท่ากันกับอาจารย์ตัวหนึ่ง ฉันเองตัวหนึ่ง และฉันมื้อเดียวล้วนๆ ไม่ได้ฉันอะไรอีก แล้วก็ตอนหลังนี่มีสลากแล้ว เขาก็ลืมเสีย เขาไม่ได้มา ไปบิณฑบาตไม่มีเลย ไม่ได้อะไรเลย เอาละวันนี้ฉันข้าวเปล่ากับน้ำ พอดีกำลังลงมือฉันอยู่นั่น คนที่มันรับสลากมันนึกได้ขึ้นมาว่า ตายรับสลากแล้วลืมเสีย ทำอะไรไม่ทันเลยตำน้ำพริกมาถ้วยหนึ่ง มีผักมานิดหน่อย ก็ไม่เคยปริปาก ไม่เคยขอที่บ้าน ไม่เคยขอญาติ ก็อยู่ตรงนี้แหละ เป็นชีวิตที่อดทน ก็ครั้งที่ไปอยู่ทรายยรี พระ ๕ เณร ๑ บ้านเมืองริมทะเลเป็นบ้านปลาแท้ แต่ไม่มีปลาหรอก กับข้าวอะไรไม่มีเลย วันนั้นมีแกงส้มมาหม้อหนึ่ง ปิ่นโตเถาหนึ่ง เขาใส่แกงมาก็ปิ่นโตเดียว ทีนี้พระเณรข้างต้นก็ ๔ องค์ เขาก็ต้อนเอาเนื้อไปหมดเหลือแต่น้ำมาถึงอาจารย์ น้ำแกงส้มก็ราดๆ เข้า เหลือไว้ครึ่งแบ่งให้เณร กระซิบบอกว่า "อดทนนะเณร" ครับไม่เป็นไรหลวงอาไม่เป็นไร ว่างั้น นี่เป็นอย่างนี้ แล้วอีกครั้งหนึ่งไปบิณฑบาตไม่ได้อะไรเลย อาจารย์ได้กุ้ง ต้มกุ้งที่เขาเอาทำกะปินั่นแหละ มาห่อหนึ่งแล้วพระที่ไปกับอาจารย์อีกองค์หนึ่งก็ได้มาอีกห่อหนึ่ง ได้สองห่อ มาถึงที่วัดไม่มีอะไร พระเณรทั้งหมดนั้นไม่ได้อะไร ก็บอกว่า เณรเห็นน้ำปลาในครัวมี พริขี้หนูข้างครัวมี เอาไปตำๆ ก็ได้นี่เณร เณรก็จัดการตำเป็นน้ำพริก เอากุ้งนั่นแหละกับน้ำปลามาใส่ และผักก็เอาใบมะม่วงหิมพานต์นั่นแหละ เพราะชาวบ้านกินยอดหมดเหลือแต่ใบเก่าๆ ก็เอาแค่นี้, เณรหรือใครบอกว่าใบนี้กินได้ ใบเสม็ด เอายอดเสม็ดธรรมดานี่แหละ และก็ยอดเนียงสีม่วงๆ พอมีบ้าง ก็อยู่ได้ นี่เป็นอย่างนี้ ชีวิตอาจารย์บวชมาพบมาอย่างนี้
แล้วเราอดวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ว่า อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง ใครมันกิน นั่นกิเลสมันกินหรือว่าพระกิน หรือพระฉัน ถ้ากิเลสมันกินพระไม่ได้ฉันนั่นมันไม่อร่อยแล้ว หรือมันอร่อยไม่มีแล้ว แต่ถ้าพระฉันนั้นคำว่าอร่อยหรือไม่อร่อยมันไม่มีอยู่แล้ว มันไม่ขัดเกลากิเลสเลย นี่พูดถึงว่าแล้วก็เหมือนกัน นี่การไม่สำรวมระมัดระวังตั้งแต่พระเณรไป พระผู้ใหญ่ก็เหมือนกันแหละ การนำพระหรืออายุพรรษามากแล้ว พอเสร็จจากฉันก็หาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคุยกัน ซึ่งไม่ใช่ธรรมะ ไม่เป็นเรื่อง และหัวเราะกันเฮฮาๆๆ ไม่ใช่ขี้เมานี่ พระนี่เป็นผู้สำรวมมีวินัย ถ้าคุยเฮฮาหัวเราะคิกคัก เฮฮาแล้วมันก็เป็นขี้เมาเท่านั้นเอง มันจะเป็นพระสงฆ์ได้อย่างไร
และทีนี้ก็กิจวัตร ทำวัตรอะไรบ้าง? เดี๋ยวนี้กิจวัตรน้อยที่สุด มีแต่ปัดกวาดเช็ดถูเท่านั้น นานๆ จึงจะได้ทำนั่นทำนี่กันที และทำวัตรมันทำอยู่ทุกวัน ทำวัตรเพียงวันละสองหนไม่ได้ เราควรจะหยุดเสียบ้าง หยุดมันอย่าฉันมันเสีย เพราะเหตุใดล่ะ เพราะเหตุว่าเราฉันอาหารของชาวบ้าน แล้วเราประพฤติไม่สมกับเป็นสมณะ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นยังไม่ได้ คือเพียงแต่เข้าถึงพระรัตนตรัยเท่านี้วันละสองครั้งยังทำไม่ได้ อิสลามเขาทำวันละ ๕ ครั้ง เราพุทธศาสนาสองครั้งยังทำไม่ได้แล้วจะไปทำอะไร ทีนี้การไม่มาทำกิจวัตร หรือทำวัตร มอบฉันทะกับใครมา? เพราะเหตุไร? ตามพระวินัยต้องมอบฉันทะ ต้องบอกกับผู้อื่นมา เจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีกิจอะไร? ถึงไม่มา โดยไม่บอกก็เป็นอาบัติทุกกฏจะบอกให้ ไม่ว่าใครทั้งนั้น มิฉะนั้นการสามัคคี การประชุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามพระวินัยมันก็ไม่มี มันก็ไหลออกไปอย่างปลาไหล อย่างที่ว่าจับไว้ไม่อยู่ ที่อาจารย์ปกครองนี้เพื่อขัดเกลากิเลสของศิษย์ทั้งหลาย ไม่ใช่ปกครองเพื่อสบายใจ จะทำออกลิงออกค่างอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่ วัด นี้จะอยู่ยืนยงคงกระพันได้เพราะมีศีลมีธรรมที่ดีเรียบร้อย พระทุศีล พระศีลชั่ว พระเลวทรามนั้น มันไม่ทำความเจริญให้แก่พระศาสนา มีแต่ความเสื่อม
การมีชีวิตอยู่ได้ การใช้จ่ายเดือนละหมื่นบาทมาอย่างไร หมื่นกว่าบาทมาอย่างไร?, ขอถามทีใครเป็นทาส? เป็นขี้ข้าเรา ที่นำมาให้เราได้กินได้ใช้ได้บริโภคทุกอย่าง มันมาจากใคร? เป็นผู้สร้างบุญไว้ ที่สิ่งเหล่านี้มา เราสร้างเองหรือ? ให้เข้าใจซิ เราทุกคนนั่นสร้างเองที่เป็นอย่างนี้ได้
นี่แหละคำว่า วิปลาโลวิปลาสจิต ท่องเที่ยวไป ๑๘ ตำบล นี่แหละจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ของจิต เรียกว่า อินทรีย์ ๖ หรือ อายตนะ ๖ เพราะมันท่องเที่ยวไป ๑๘ ตำบล นั่นคือ คูณด้วยตัณหา ๓ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็น ๑๘ พอดี วันหนึ่งเราท่องเที่ยวอยู่ ๑๘ ตำบลนั่น ให้จำไว้ กินอาหารอร่อยไม่ค่อยบอกหรอกว่าอร่อย อาหารไม่อร่อยทำอย่างไร? ฮึ บางทีก็หมาก็ไม่กินเหมือนกัน ว่านั่นแหละเป็นอย่างนั้นเมื่อก่อน เคยจัดพระภัตตุเทศก์แจกภัตรแจกอาหาร เอ้าอิจฉาริษยาว่าตักให้เราน้อย ตักให้องค์โน้นมาก เอาอีกนั่น ทำตามพระวินัย อ้าวสั่งเลิก แล้วทีหลังให้ชีผู้ทำอาหารไปตัก เอาอีกไอ้ชีนั่นมันเกลียดเราให้แต่น้ำๆ ไอ้ชีโน้นมันชอบองค์โน้นให้มาก เลิกทีหลังเปลี่ยนใหม่อีก ไม่ต้องให้รู้ว่าใครแจก แต่เปลี่ยนกันทุกคน แก้มาหมดทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่วาย ฉะนั้นถ้าใครยังจะต้องการบริโภคให้มันอร่อย ให้มันตามใจเรา ไปบิณฑบาตเอาเอง ได้ก็ฉันเอาเองเถอะ บอกมาไม่ต้องขึ้นโรงฉัน เอาอย่างนั้นดีกว่า แล้วก็รู้แหละว่ามันอร่อยหรือไม่อร่อย เจอเข้าบ้างแหละ ท่านอาจารย์ที่สอนเรานี้ท่านบอกว่าเคยไปอยู่ตำบลหนึ่ง ๑๘ วัน ได้แต่ข้าวเปล่า ไม่เคยได้กับข้าวอะไรเลย แล้วถามว่าฉันอย่างไรล่ะอาจารย์ เอาน้ำเทใส่ลงไปแล้วก็ฉัน ฉันข้าวกับน้ำเปล่าไม่ไหว นี่ให้เราอดกลั้นอดทน อย่าหัดเป็นปลาไหล อย่าให้เป็นจระเข้ อย่าเป็นสุนัขขี้เรื้อนอยู่ไม่ได้ อย่าให้เป็นตัวตะก้อง ไอ้ตัวตะก้องนี่ตัวมันมีปีก แล้วความยหรือวัวมันขี้อยู่ตรงไหนนะ ตรงเข้าไปกินอยู่ที่ขี้ควาย มุดอยู่ในนั้นแหละ มุดหัวขึ้นหัวลงกินขี้ควายจนอิ่มแล้วก็นอนอยู่ในนั้นแหละ นั่นมันตัวตะก้อง อยู่ในขุมทรัพย์พระบรมโอษฐ์ เอามาอ่านเสียบ้างแล้วเราจะได้สำนึก ให้รู้ มันท่องเที่ยวไป ๑๘ ตำบลนั่นแหละ ไม่ใช่ที่ไหน ไอ้ที่เรียกว่าวิปลาส มันมาจากคำว่า สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคือความเห็นผิด ไม่เห็นตามทำนองครองธรรมว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้ สอนว่าเรื่องการกินอาหาร นี่อย่าไปติดมัน อย่าไปเห็นแก่รสมัน เรากินเพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่การกินเพื่อความเอร็ดอร่อย ปฏิสังขาโยนิโสปิณฑปาตัง นั่น อ่านดูตัวแปลมันบ้างซิว่าอย่างไร? ทำไมถึงไม่นำไปใช้พิจารณา เอาอะไรคำว่า พิจารณา หมาย ความว่า ต้องรู้ความเป็นจริงอย่างนั้น ไอ้ที่พูดอย่างนั้นมันเป็นกิเลสทั้งนั้น ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นผิด สัญญาวิปลาส จิตก็คือคิดขึ้นมา คนนั้นเขาอคติต่อเรา เขาให้ไม่มาก เขาไม่รัก เขาเกลี่ยดเรา เป็นอคติแล้ว รัก โกรธ เกลียด กลัว ก็เป็นกิเลสทั้ง ๓ อันครั้งเรามีความสำรวมระมัดระวัง เราเป็นผู้เสียสละแล้ว เป็นผู้บริจาคแล้ว เป็นผู้ออกจากวัตถุกาม ออกจากบ้านจากช่องบิดามารดาสามีภรรยามาแล้ว เราออกมาแล้ว ออกมาบวชเพื่ออะไร? เพื่อพระนิพพานแล้วทำไมเราจึงยังให้จิตของเราถอยหลังไปอีก เหมือนผู้อยู่ครองเรือน มันก็ไม่ใช่สมณะ ไม่ควรเป็นอย่างนั้น
สามเณรนี้ จะว่าทำอะไรไม่ค่อยจะได้อะไรนะ รักษาจิต อ้อ...ถ้าทำกิจการอะไรบ้างแล้ว มันจะปฏิบัติธรรมไม่ได้ หรืออะไรนี่แหละ ระวังนะสามเณรจนถึงกับว่าพระใช้อะไรก็ไม่ค่อยได้ ดื้อรั้นกับพระ สามเณรนั่นมันศีล ๑๐ พระมันศีล ๒๒๗ การที่จะหยิบข้าวของมาใช้เองมันไม่ได้ ไม่มีผู้ประเคน การที่มีสามเณรไว้เพื่อทำอะไรก็ได้ช่วยเหลือพระ แล้วมันหนักหนาอะไรกับการประเคนของพระนี่มันหนักหนาอะไร? พระใช้นั่นใช้นี่มันหนักหนาอะไร? ก็อีกเหมือนกัน พระที่ใช้ก็เหมือนกัน จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ต้องรู้เหมือนกัน สักแต่เรียกกันให้เณรหัวหมุนก็ไม่ถูก มันต้องพอควร อะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น จำเป็นจึงจะใช้ เคยมีสามเณรมันทนไม่ไหว เอาของชิ้นนี้ไปประเคนแล้ว พอประเคนเสร็จ พอเณรหันหลังกลับเรียกเอาอื่นอีกแล้ว ตั้งสามครั้งสี่ครั้งโน่น อย่างนี้มันแย่ ไอ้พระก็หนาแน่นเหลือเกินกิเลส แย่เหมือนกัน ฉะนั้นเราอ่านวินัยปฏิบัติธรรมะแล้วถือนิสัยอาจารย์ การพูดฟุ่มเฟือยใดๆ เคยเห็นหรือ อาจารย์นอกจากแสดงธรรมกับผู้เข้ามาหาก็พูด ถ้าอยู่ตามธรรมดาๆ แล้วเจอพระที่เดินสวนกัน ไม่มีธุระอาจารย์เคยถามใครบ้าง เคยพูดกับใครบ้าง เพราะอะไร มันไม่มีกิจที่จะพูดจึงไม่พูด
เราอยู่ถึงอาจารย์ ที่จะเรียนอะไรได้ทุกอย่าง มันจะไปตรงกับคำพังเพยของโบราณที่ว่า เป็นจวักเสียเปล่า หารู้รสแกงไม่ จวักโบราณเขาทำเป็นกะลาใส่ต้นไม้ จะแกงคั่วจืดแกงร้อน โบราณไม่มีช้อน มีตะหลิวเหมือนปัจจุบัน รสอร่อยดีไหมจวักไม่รู้หรอก ไม่รู้รสแกง ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ พระหรือเณรก็ตามอยู่ถึงครูอาจารย์ ที่อบรมศิษย์ อบรมศีลธรรม อยู่ทุกวันๆ นี้ ยังไม่รู้จักที่จะนำไปใช้ปฏิบัติตาม ก็เหมือนกับจวักที่ไม่รู้รสแกงนั่น จบเพียงเท่านี้
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๒ สิงหาคม ๒๕๒๕

ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm/kar-ptibati-thrrm/phra-ngu-phra-pla-hil

No comments: