การปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม ที่ปฏิบัตินี้ก็มีความมุ่งหมายว่า เราจะนำเอากิเลสออกไปจากกาย วาจา จิตของเรา กิเลสก็คือ ความชั่วทั้งหลายทุกอย่าง เรามาติดสมมติ ยึดสมมติว่า ขันธ์ ๕ เป็นเรา ขันธ์ ๕ ก็มี รูปกับนาม รูปก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เรียกว่า รูป เราก็ติดไอ้รูปที่เราอยู่กับมันนั่นแหละ เป็นตัวๆ เรา ไอ้นามนี้มันไม่มีตัว แต่มันเป็นกองๆ รวมกันอยู่ ๔ กอง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เวทนามี ๓ อย่าง เรียกว่า เวทนา ๓ คือ ทุกข์อย่างหนึ่ง สุขอย่างหนึ่ง ไม่ทุกข์ไม่สุขอีก อย่างหนึ่ง เรียกว่าเวทนา ที่เราจะเข้าใจพวกนามนี้ได้เราต้องดูที่จิตของเรามันเอาอะไรมา? ประเดี๋ยวก็ไม่สบายใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คือ ถ้าเห็นอะไรที่ชอบก็พอใจในสิ่งนั้น สิ้งนี้ก็ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เรียกว่ากามคุณทั้ง ๕ ไม่พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ คือ เวทนา
สัญญา ก็พวกสัตว์นั้นมีแต่สัญญา คือ มันจำอะไรๆ ได้ เช่น จำที่ทำมาหากินของมัน เช่นพวกนกมันบินไปไกลๆ มันก็สังเกตได้ จำได้ว่าต้นไม้ไหนมีผลไม้ที่มันกินได้ มันก็ไปหากินที่นั่น หมดแล้วก็หาต่อไป อาศัยสัญญา แต่ที่มันจะมีสัญญาว่าไอ้นกตัวนั้นชื่ออะไรในพวกเดียวกันนั้นไม่มี มันรู้แต่ว่ามันเป็นนก แล้วเป็นนกอะไรมันก็ไม่รู้เหมือนกัน พวกนกหรือพวกสัตว์พวกลิงพวกค่างไม่รู้ว่ามันนั้นเขาสมมติว่าเรียกอะไร และไอ้ที่พวกสุนัข หรือหมีพวกนี้นั้นมันก็ไม่รู้ว่าพวกมันชื่ออะไร ไม่รู้ แต่มนุษย์เรารู้ เพราะมนุษย์นั้นมันสมมติกันไว้ ทั้งเห็นตัวจริง ทั้งเขียนรูปให้เห็น ส่วนสัตว์บางชนิดที่ว่าในอดีตเป็นล้านๆ ปี มันมีแต่ปัจจุบัน มันไม่มีเพียงแต่มีผู้ไปขุดไปพบโครงกระดูกที่อยู่ในน้ำแข็ง อยู่ในทะเลทราย ไอ้เหล่านี้แล้วก็มาสันนิษฐานว่ารูปของมัน เมื่อเห็นโครงกระดูกแล้วยังอยู่ครบเอามาเรียงกันเข้าก็เขียนรูปขึ้นว่าตัว มันนั้นก็ควรจะเป็นอย่างนั้นๆ ความจริงมันก็สมมติขึ้น ไม่ได้เห็นตัวจริง เขียนตามโครงกระดูก นั่นเป็นสัญญาทั้งนั้น สัญญา ก็คือ มนุษย์เราตั้งขึ้น ของชาติหนึ่งก็ภาษาหนึ่ง มีสัญญาอย่างหนึ่ง เช่น ตัวอักษรหนังสือทั้งหลายก็เป็นสัญญา การจำชื่อตั้งชื่อตนเอง ตั้งชื่อพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดลูกหลานเหลน ต้นไม้ ภูเขา บ้านช่อง ก็มีชื่อทั้งนั้น มีชื่อตั้งชื่อให้ ไอ้ชื่อนั้นเป็นสมมติ และก็เมื่อจำได้ก็เป็นสัญญา
สงขารก็คือความนึกคิดของเรา ที่เรานั่งฟังธรรมอยู่นี่เราก็คิดไปต่างๆ อย่างสองอย่างคิดไปแล้ว บางคนก็คิดถึงขันธ์ตนเอง บางคนก็คิดว่ามันหมายความว่าอะไรกันแน่? เราก็ยังไม่รู้จักมันจริงไอ้ขันธ์ ๕ แล้วก็ สังขาร คือ ตัวนึกคิด
ไอ้วิญญาณ ก็คือ ตัวรับรู้ ตัวรู้เช่นที่พูดอยู่นี้ว่าพูดเรื่องอะไร พูดเรื่องกิเลส พูดเรื่องขันธ์ ๕ เรารู้สัญญาว่าขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง...ใครกำลังอธิบายขันธ์ ๕ อยู่ว่าลักษณะของขันธ์มันเป็นอย่างไร นี่ถ้าเรารู้ก็หมายความว่า นั่นเป็นวิญญาณ ตัวรู้ ที่รู้ก็เอามาจากสัญญา
ทีนี้เราปฏิบัติอยู่เราก็ต้องรู้ ของจริง รู้ลักษณะอาการของมันว่าชนิดนี้เรียกว่า สัญญา ชนิดนั้นเรียกว่า สังขาร ชนิดนั้นเรียกว่า วิญญาณ เช่นนั่งอยู่นี่ง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้น....ตัวรู้ก็รู้แล้วว่านี่ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอนเป็นนิวรณ์ สัญญานี่เราเรียนรู้อย่างนี้ ถ้าเราเรียนรู้สัญญาดีแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นกับเรา กับกายกับจิตเรา อะไรเกิดขึ้นก็ตามมันก็รู้ทันทีว่าเกิดที่ตรงนั้นๆ เกิดในขันธ์กองนั้นๆ แล้วเราก็ละสิ่งที่เกิดขึ้น คือ วิปัสสนา คือว่า มันเกิดขึ้นแล้วเราละมันแล้ว มันดับไปนั่นเรียกว่า ปัญญา ถ้าเกิดขึ้นแล้ว รู้แล้วว่ามันเกิด เช่น มันเกิดขึ้นที่รูปของเรา คือ กาย...มันเจ็บปวด มันเมื่อย แต่เราไม่ละ ถือว่าไม่เป็นไรไม่หนัก นั่น โมหะ รู้แล้วไม่ละ แต่ถ้ารู้แล้วละเป็นปัญญา ถ้าละแล้วดับได้สมาธิดี, จิตดี, จิตรู้จักละแล้ว รู้จักละนี่แหละเราเรียนรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เรียนรู้อะไร เรียนรู้อย่างนี้ ถ้าใครรู้แล้วละได้ อันนั้นแหละเรียกว่า รู้แจ้งโลก รู้จักโลก
โลกของเรา โลกของธรรมก็ที่มียาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ กำมา กำมาก็คือเอาตั้งแต่ข้อศอกขึ้นไปถึงปลายนิ้วมือกำเสีย นิ้วมือทั้งหมดนั่นกำไว้มาวัดตรงหน้าอกเราดูเถอะมันกำหนึ่งพอดีแหละ สุดหัวไหล่ถึงหัวไหล่ทุกๆ คน ศอกของเราเองวัดเราเองมันก็ได้เท่านั้นแหละ นี่แหละโลก การที่รู้แจ้งโลก ไม่ใช่โลกที่เรานั่งเรานอนเราเดินอยู่ที่มีต้นไม้มีภูเขา ไอ้นั่นก็โลก เรียกว่าอปุญญาภิสังขาร คือ สังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง โลกใหญ่ โลกที่หมุนอยู่ตลอดเวลา หรือ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดวงดาวที่เราเห็นโลกอย่างนั้นเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร แต่โลกตัวเรานี้ที่เรานั่งอยู่บนนี้เกือบ ๒๐ โลกเวลานี้นี่เรียกว่า สังขารโลก โน่นธาตุโลก อย่างนั้นเรียกว่า ธาตุโลก อย่างนี้เรียกว่า สังขารโลก สัตว์ก็เป็นสังขารโลก เทวดา มนุษย์และสัตว์เป็นสังขารโลกทั้งสิ้น เราเรียนรู้อย่างนี้
ทีนี้การที่เรารู้จักแจ้งโลก รู้จักกองสังขาร หรือกองขันธ์ ๕ นั่นแหละ รู้จักแล้วไม่ยึดถือมันได้ นั่นเรียกว่าพ้นสมมติ ที่เรายึดถือมันอยู่ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นของของเรา นั่นหมายความว่าติดสมมติ ที่เราปฏิบัติกันนี้ก็เพื่อจะให้เพิกถอนสมมติเสียให้ได้จากจิต ไม่ใช่คิดเอา ต้องอาศัยการละ มันจึงจะถอนสมมติได้
การที่คนเรามี ทิฏฐิ ความเห็นผิด แล้วก็มีอัตตาธิปไตย คือเป็นเราทั้งสิ้น อะไรๆ วัดนี้ของเรา ศาลานี้ของเรา ผ้านุ่งผ้าห่มของเรา อะไรๆ ของเราทั้งสิ้น เล็บของเรา ฟันของเรา ผมของเรา ของเราทั้งสิ้น แล้วมันก็ติดอยู่กับพวกนี้ เพิกถอนไม่ได้ ฉะนั้นเราติดสมมติอยู่นี้ ถ้าติดอยู่ตราบใด จิตที่อยู่ในสมมตินั่นแหละ จิตที่ยึดอยู่ในขันธ์ของเรามาว่าเป็นเรานั่นแหละ เรียกว่าอุปาทาน จิตยึดถืออุปาทาน มีอุปาทานยึดถืออยู่ การที่เราจะปฏิบัติจนถึงนิพพาน เราก็ต้องเพิกถอนอุปาทานนี้เสียให้ได้ เพิกถอนความยึดถือเสียให้ได้ ทำความเห็นให้ชัดเจน ความเห็นเมื่อทำดีแล้วมันมองเห็นชัดว่าไม่ใช่เราจริงๆ เพราะนี่ไม่ใช่เราจริงๆ คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ก็สอนไว้ง่ายๆ ฟังง่ายๆ ว่า "รูปนี้เป็นเราไหม?" ถ้ารูปนี้เป็นเราเราก็ห้ามมันได้ซิ ถ้าเราเป็นเจ้าของรูปว่า "มึงอย่าแก่มึงอย่าเจ็บมึงอย่าตาย" ห้ามไม่ได้ทั้งสิ้น ก็ห้ามมันไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเราก็ต้องห้ามได้ ถ้าเป็นของๆ เราก็ต้องห้ามได้ มันไม่ใช่ของเรา เราหลงไปติดอยู่ต่างหาก ไปยึดถืออยู่ต่างหาก"
ในการที่เจริญวิปัสสนาก็เพื่อจะละ ละความยึดถือ ละอุปาทาน การที่จะขจัดให้ละอุปาทานนี้ได้ มันต้องละที่ตัวตัณหา ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกข์ สมุทัย เหตุที่ทุกเกิด คือ ตัณหา เราละตัวตัณหานี้ เราตัดตัวตัณหานี้ เป็นตัวตัดวัฏฏะ ความเวียนว่ายตายเกิด ที่เรียกว่า วัฏฏสงสาร ไม่มีจบไม่มีสิ้น หมุนเหมือนล้อรถ หมุนวนอยู่อย่างนั้นตลอดไป เกิดตายๆ อยู่อย่างนั้นตลอดไปเรียกว่า วัฏฏะ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามใจ ในการที่เราจะเพิกถอนนี้ได้ ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณ มองเห็นความเป็นจริง ละทิ้งสิ่งสมมติ การ ละทิ้งสิ่งสมมติจะคิดเอาไม่ได้ ต้องฝึกหัดละจากสิ่งที่มันเกิด เวลาโกรธเราละโกรธดับ นั่นเรียกว่า เราไม่ติดแหละ ถ้าละแล้วดับได้ ถ้าไม่ละก็หลงโมหะ เพราะรู้แล้วไม่ละเป็นโมหะ จิตก็ไม่รู้เรื่อง การที่เราละก็เท่ากับว่ามีสติเตือนจิต มันรู้ว่าอย่าเอา...ไม่เอา เมื่อเตือนมันอยู่เสมอทุกวินาที ทุกนาทีแล้ว จิตของเราก็คุ้นเคยกับการละ เมื่อละได้แล้วมันรู้สึกมีความสุข มีความสงบ เมื่อมีความสงบมันก็รู้จักความสุข ทีนี้ทุกๆ คนที่ต้องการความสงบ ความสุข เมื่อรู้แล้วละตัณหาทั้งหลายดับไป เมื่อดับไปจิตจะผ่องแผ้ว
อัน นี้เมื่อปฏิบัติอยู่แล้วก็ที่มันเดือดมันดาล มันร้อน มันกลุ้ม มันอึดอัด มันขัดใจอะไรเหล่านี้ต่างๆ นี่คือ พวกกองกิเลสทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือราคะ ความใคร่ความพอใจ หรือความไม่พอใจ ความอิจฉาตาร้อน ความถือตัวถือตนถือดี ความหัวดื้อหัวรั้น ความลบหลู่ดูหมิ่น ความโอ้อวด ความารยาสาไถย มันก็ขึ้นมาหมด นั่นพวกกงกิเลส เรียกว่า อุปกิเลส อุปกิเลสก็กิเลสต่างๆ ที่เล็กๆ ที่ใหญ่ก็ โกรธ พยาบาท โลภอยากได้ของเขานั่นกิเลสใหญ่ การที่เราฝึกให้มันละ ก็คือ ฝึกให้จิตมีปัญญา เมื่อจิตละไปๆ ก็ค้นพบความสุขความสงบ มันก็มีปัญญาขึ้น มันรู้จักตัวมันเองขึ้น อ้อ...ที่เรายึดถือมาแต่ก่อนนั้นเราหลงเราโง่ มันเป็นอย่างนั้นแหละ ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น เมื่อเราทำไปทุกๆ คน ถ้าใครทำได้ถึงขั้นของมันแล้วจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเช่นนั้นจริงๆ ไม่ต้องไปสอน มันเบื่อไปเสียหมด ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันเบื่อทั้งหมด มันเริ่มเบื่อไม่อยากจะพบ ไม่อยากจะได้ แล้วก็ถึงเขาจะเอาของอะไรมาให้จะของมีค่าสักเท่าไร เมื่อเราจะได้แล้วมันไม่มีความยินดีอะไร ไม่มีเลย จนกระทั่งว่าไอ้กลิ่นนี้ความจริงมันแรง มันหอม มันเหม็นนี้ เมื่อละได้แล้ว ไม่มี มันดับ ไม่น่าเชื่อแต่ว่าเป็นความจริง อาจารย์ก็ไม่เชื่อเหมือนกันแหละเมื่อก่อน มันเชื่อนิดหน่อย แต่ไม่เชื่อเลยไม่มี เพราะว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อทำขึ้นๆ มัน อ้อ...ขนาดเอามาพิสูจน์ ของที่หอม สบู่ถูตัวอย่างดีก้อนหลายๆ บาท ที่มีผู้นำมาถวาย เอามาดม เอามสูดดมที่จมูม แล้วเอาถูกับน้ำ เอามาถูที่หน้าแล้วสูดดูมันก็ไม่มีกลิ่น ไม่มี มันเฉยๆ นี่มันถึงว่า อ้อ...มันได้จริง ละได้จริง ถ้ามันถึงขั้นมันจะพบ ถ้าไม่ละ ถ้าเห็นว่านี่มันสบู่หอม ชอบอยากจะได้ เอาถึงกับสูดได้กลิ่นๆ ก็พอใจ ทำไปเถอะ ตายกอีกกี่ชาติมันก็จะหอมอยู่นั่นแหละ เกิดใหม่มันก็หอมอีก
ก็ เหมือนกัน เราชอบสิ่งใด...อย่ารับสิ่งนั้น เหมือนที่ว่า กินข้าวกับอะไรที่อร่อยก็ละมันเสียก่อน คือ มันเห็นแล้วมันรู้ว่าไอ้นี่อร่อยทั้งๆ ที่ลิ้นยังไม่ได้ลิ้มรสสักที แต่มันรู้ว่าไอ้นี่อร่อย อันนี้ก็พอใส่เข้าปากมันก็อร่อยจริง และพออร่อยจริงเราไม่ละ แล้วนั่งโจ้เอาไอ้ที่อร่อยจนหมดชาม หมดถ้วยอย่างนี้ มันก็เป็นทาสของตัณหากิเลสทั้งสิ้น วิธีแก้ ก็คือว่า "ละ" ถ้าละมันไม่ดับก็หยิบของอื่นเสียที่ไม่ดีนั้น จะมีปลา มีไก่ต้ม มีปลาเค็ม มีน้ำพริก มีผักจิ้ม มีแกงคั่ว อันนี้เมื่อมันชอบไก่ต้มยำ เราเห็นตามันเห็นมันเคยกินนี่มันก็อยากจะกินอันนี้ ละเสียก่อน โดยมากนักไม่มีสติ ไม่ทันละอะไรกันล่ะ มันเข้าปากแล้วของอร่อย นี่ขาดสติ เราต้องมีสติ ต้องละ ละไม่ดับก็ไปหยิบชิ้นอื่นเสีย เอาปลาเค็ม หรือน้ำพริกให้มัน ถ้ามันไม่ชอบแล้วสิ่งน้นเอาให้หนัก แล้วไอ้กิเลสมันร้อนตัวทันที ถ้าเราไม่เอาสิ่งที่มันอยาก ในทรวงอกของเรามันวุ่นวายเหมือนกับถูกทุบ เต้นตุบๆ ทีเดียวแหละ เคยพบเคยทดสอบมันมาแล้ว อ้อ....มันกลัวเหมือนกันที่เอาจริงกับมัน มันอยาก เราไม่ให้มันกิน ถ้ามึงอร่อยกูก็ไม่ให้มึงกิน
มีพระบางองค์ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็เรียกว่าอาหารทั้งหมด จะเป็นอะไรก็ตามที่เป็นอาหาร ภาษาธรรมะเรียกว่า กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าว บางองค์ท่าน...ไอ้แก่นั้นก็อร่อย แกงนี้ก็อร่อย ท่านเอาน้ำเย็นใส่เข้าไปในบาตรให้มันกินข้าวกับน้ำเย็น น้ำจืด แต่แล้วก็ยังชอบอีก ครั้งนี้บางองค์ทำโสโครก อาจารย์ไม่ทำล่ะ อย่างนั้นนี่เล่าให้ฟัง เช่นเคี้ยวๆๆ แล้วก็ตามองมาในบาตรนั่นแหละ แล้วให้มันกินคำที่คายลงในบาตรนั่นแหละ ท่านทำถึงอย่างนั้นพระบางองค์ นี่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้ เราอย่าทำตาม นี่ถึงอย่างนี้ อาจารย์เพียงเอาน้ำใส่ก็ยังไม่เคย แต่ว่าวิธีแก้มัน มึงชอบกินอะไรกูไม่ให้มึงกินสิ่งนั้นถ้าละมึงไม่ดับ
แล้ว วิธีตักอาหารนั้นมีอยู่...อย่างตักแกง แกงมันมีอยู่ ๓ ถ้วย สมมติตักแกงถ้วยแรกใกล้ตัวเราคำหนึ่งพอแล้ว แล้วก็ไล่ต่อไปคำที่ ๒ ถ้วยที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ถ้วยที่ ๓ ครั้งที่ ๔ มาถ้วยที่ ๑ ทำมันอยู่อย่างนั้นแหละ มันอยู่เหมือนกัน มันเอาไอ้ถ้วยที่ ๑ ที่อร่อยก็ไม่ให้มันเป็นคำสองต้องทำอย่างนี้ ฉะนั้นการที่ว่า พระที่ว่าให้ฉันในบาตรตักอาหารใส่ลงแล้วก็ฉัน พระบางองค์ท่านคลุกกันเลย เหมือนกับภาคอีสานไปบิณฑบาตมาได้แกง ได้ขนม ได้อะไรเขาใส่ในกะละมังเดียวกันหมด จะเป็นแกงจืด แกงส้ม แกงคั่วอะไรก็ตาม ใส่ลงไปในกะละมังเดียวกันหมด แล้วก็ตักใส่บาตรไปเลย ตักใส่บนข้าว ที่สวนโมกข์ดูก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน กินอย่างหมู่อันนี้อาจารย์ว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนไว้ให้ทำอย่างนั้น ที่ครูอาจารย์ท่านทำตอนแรก อาจารย์ก็บ่นถึงว่าเอาเหมือนกันแหละทำอย่างนั้น เกือบอาเจียน สองคำนี่เกือบกลืนไม่ลง แต่ที่นี้ มานึกได้ว่ากลืนพ้นลำคอลงไปแล้วอยู่แห่งเดียวกันทั้งนั้น แล้วก็กลืนได้ พอฉันได้ ๔-๕ วัน นั่งติดกับท่านอาจารย์ ท่านฉันอาหารอย่างไร? ท่านตักไว้เป็นกองๆ กองข้าง แกงอย่างก็กองไว้ติดๆ กัน จึงได้เอาอย่างท่าน แรกคลุกทีเดียวใส่บาตรตามชาวบ้านที่พูดกันว่า พระที่ถือธุดงค์ พระที่ปฏิบัติ พระกรรมฐานนี่ฉันคลุกกันหมดทั้งข้าวทั้งแกง เรียกว่า ขยำกันเลย มันก็ฉันได้ ใครทำได้ก็ฉันได้ มันลงไปในท้องมันไปแยกกันตรงไหน? เปล่า รวมกันทั้งนั้น มันอร่อยที่ลิ้นต่างหาก ไม่ใช่อร่อยที่อื่น พ้นลิ้นแล้วไม่มีอะไรอร่อย มันตั้งหลายอย่างหลายแบบ
การต่อสู้กับกิเลส เราต้องรู้ตัวเราเอง เราต้องไม่เสียดาย ถ้า เราทำอะไรเช่น เสียดายมันดีอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปคิด เรามาบวช มาปฏิบัติเพื่ออะไร? เพื่อละกิเลส ฉะนั้นสิ่งใดที่มันเป็นกิเลสก็ต้องละสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นชนวนให้เกิดกิเลสต้องละสิ่งนั้นไป เสียดายไม่ได้ ถ้ามัวอาลัยอยู่เรามองไม่เห็นหรอก เงาพระนิพพานก็มองไม่เห็น ฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมนี้ จงมีความฉลาดตรงนี้ ให้รู้เท่าทันกองสังขาร การรู้แจ้งโลก คือ รู้แจ้งสังขารโลกนั่นเอง
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘
ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm/kar-ptibati-thrrm
No comments:
Post a Comment