Thursday, July 29, 2010

กิเลส จิต ทุกข์

กิเลส จิต ทุกข์

มนุษย์ เราที่เรียกว่า ปุถุชน แปลเป็นภาษาไทยตรงๆ ก็ว่า เป็นผู้จังหนาแน่นไปด้วยกิเลส กิเลสคืออะไร? คือมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เรียกว่ากิเลสเหล่านี้เป็นตัวใหญ่ ส่วนตัวอื่นๆ เล็กๆ ยังมีอีกมากมายซึ่งเราทุกคนมีอยู่เต็มตัว แต่เรามองไม่ออก เรามองไม่รู้ เช่น คนที่ขี้โกรธ หรือคนที่ชอบด่าเขา นินทาว่าร้าย อิจฉาเขา ก็ยังคิดว่าตนดีอยู่นั่นแหละ อิจฉาเขาก็เป็นคนดี จนบางคนทำร้ายผู้อื่นก็ยังเป็นคนดี หาว่าเขามารังแก เขามาพูดไม่ดีก็เลยตีหัมันเสีย นี่ตัวเองดีอย่างนี้ ไม่รู้ตามความเป็นจริง
ทีนี้จิตของเรา ของมนุษยหรือของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย มันล้วนแต่มีความวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมที่จะหยุดจะนิ่งได้ กระแสของจิตในนาทีเดียวนี้มันมีอารมณ์ตั้งไม่รู้สักกี่อย่าง สักกี่เรื่อง ชั่วนาทีเดียว เช่นที่เรานั่งฟังธรรมอยู่นี่ จิตของเราก็นึกก็คิด อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งที่ฟังรู้เรื่องว่าพูดเรื่องอะไร แต่ทีนี้ก็ที่เราจะไปบังคับมัน คือ บังคับอย่าให้มันคิดนั่นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งที่ไม่มีตัว ที่จะไปจับมัดผูกขังมันไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มีความรู้สึกว่าอยู่ในตัวอย่างหนึ่ง แต่ว่าจะให้เห็นตัวมันก็เห็นไม่ได้ จะไปลูบคลำอะไรมันก็ไม่มี เป็นแต่เพียงความรู้สึกอันหนึ่งเท่านั้น ไม่มีแสง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มันเป็นธรรมชาติ
ฉะนั้นผู้ที่มีปัญญาในโลกที่จะบังคับจิตได้ เดิมก่อนพระพุทธเจ้าก็มีพวกในลัทธิศาสนาพราหมณ์ และศาสนาอื่นๆ เขาก็บังคับได้เหมือนกัน ให้หยุดได้ ให้เป็นสมาธิได้ แต่มันก็แค่นั้น ในขณะที่นั่งอยู่มันไม่วุ่นวายจริง แต่พอออกมาแล้วมันก็วุ่นวายอีก ลืมตาออกมาแล้วมันก็วุ่นวาย มันไม่ยอมหยุดจริง มีแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์สามารถขัดเกลาแก้ไขดัดมันจนว่าหยุด ได้นิ่ง มีความสงบแล้ว ไม่มีความร้อน มีแต่ความเย็นและก็มีถึงที่สุด คือ มีที่สุดด้วย อย่างของศาสนาอื่น ลัทธิอื่นนั้นมันไม่สุด ที่ว่าสุดแล้วนั้นมันไม่สุดเพราะไม่พ้นไปจากวัฏฏะ คือ ความวนเวียนเกิดอยู่ไม่พ้น ถึงแม้จะไปเกิดเป็นอะไรซึ่งมีอายุยืนยาวจริงๆ ตั้ง ๕๐๐ กัป เช่น เป็นพรหมก็ยังต้องตาย แต่เขารู้เช่นนั้น รู้เท่านั้น ที่จะรู้พ้นไปกว่านั้นมีปัญญาไม่พอ มีแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ได้บำเพ็ญบารมีมา มีปัญญาพอ เช่นที่พราหมณ์ ฤษี หรือ ชฏิล เขาปฏิบัติกันแล้วไปเกิดเป็นพรหม เพราะเขาถือว่าเขาไปเกิดเป็นพรหมแล้วเขาเป็นผู้ไม่ตาย แต่พระพุทธองค์รู้ว่ายังต้องตาย พระพรหมก็ต้องตาย ถึงมีอายุยืนนาน แต่ก็ต้องตาย มิใช่ไม่ตาย ที่ไม่ตายมีแห่งเดียว คือ พระนิพพาน ที่ องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้เท่านั้น เรียกว่า พระนิพพาน เป็นผู้เข้าถึง เป็นผู้รู้ถึง เป็นผู้รู้ได้ เข้าใจได้ พบได้ สอนผู้อื่นแนะให้ผู้อื่น หรือพระสาวก นี่เป็นเรื่องจริงของจริงแท้
ฉะนั้นในการที่เมื่อเราได้มาเป็นสาวกของ พระพุทธองค์แล้ว เราก็มีความสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความขะมักเขม้นหันเข้าหาธรรมปฏิบัติ อย่างจริงจัง เราปฏิบัติเป็นพิธีมันก็ได้เหมือนกัน ได้บุญ มิใช่ไม่ได้ แต่ว่าจะให้เรามีปัญญาสูงจริงอย่างชั้นอริยะมันก็ไม่ถึง มันก็เพียงโลกียะเท่านั้น แน้นถ้าเราจะให้รู้จริงก็ต้องฝึกฝนจริง อบรมจริง มันเป็นสิ่งที่อบรมยาก สั่งสอนยาก มันไม่ยอมที่จะอยู่ใต้อำนาจผู้ใดง่ายๆ แต่ถ้าเราได้ฝึกฝนตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้แล้วก็สามารถที่จะบังคับมัน ได้แน่นอน
เมื่อบังคับมันได้ เราทุกๆ คนที่นี่ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันอยู่นี้ ทุกคนก็อยากได้รับความสุข ความสุขนั้นกินอิ่มมันก็สุข นอนหลับมันก็มีความสุข แต่ว่าพอลืมตาขึ้นมาก็มีเรื่องวุ่นวาย ความสุขที่แท้จริงมิใช่สุขเนื้อ สุขหนัง สุขภายนอก มิใช่สุขที่แท้จริง สุขที่แท้จริงนั้นต้องเป็นสุขภายใน คือสุขเป็นความสุขชั้นสูง ความสุขกายภายนอก กินอิ่มมันอิ่ม นอนหลับมันก็ชั่วครู่ พักไม่ตลอดกาล แต่ความสุขของจิตเมื่อฝึกฝนดีแล้ว อบรมดีแล้ว มันสุขจริง มันสุขตลอดกาล ถึงแม้ร่างกายจะขาดอะไรก็ตาม หรือมันจะเป็นอะไรขึ้นมาก็ตาม ในเมื่อจิตได้รับการอบรมมาดีแล้วมันไม่เดือดร้อน มันไม่ไปเป็นทุกข์ด้วย เพราะมันมีปัญญา มันรู้ความเป็นจริงว่ามีสังขาร หรือมีกายมีรูปนี่ หรือมีขันธ์ ๕ นี่มันต้องทุกข์ ไม่มีใครหนีจะไม่ให้มีทุกข์มันไม่มี มันต้องทุกข์ ทุกข์มากทุกข์น้อยมันต้อมี และทุกข์ที่สุด ครั้งที่สุดก็ตอนที่จะตาย นั่นทุกข์ที่สุด
เพราะที่มีร่างกายอยู่รวมกัน ได้นี้ ธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันยังสามัคคีกันอยู่ มันยังไม่แตกสามัคคี พอมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนขึ้นมาแล้วมันคุมกันไว้ไม่อยู่มันก็แตกสามัคคี กัน ต่างธาตุต่างก็ไปตามทางของมัน อยู่รวมกันไม่ได้ จิตของเราก็เหมือนบ้าน พังอยู่ไม่ได้ก็ต้องไปหาเรือนใหม่อยู่ต่อไป ที่เรียกว่า ตาย, มนุษย์หรือสัตว์เกิดมาแล้วย่อมทำกรรม กรรมหนัก กรรมเบา กรรมชั่ว กรรมดี ย่อมทำมาแล้วทั้งสิ้น จะทำอย่างไหนมากอย่างไหนน้อยนั่นเป็นเฉพาะแต่ละบุคคล เช่น บางคนเกิดมาชาติหนึ่งทำแต่บุญมาก บางคนเกิดมาชาติหนึ่งทำแต่บาปตลอดกาลมันก็มี แต่บางคนสงสัยว่า ไอ้คนนี้ทำบาปมากทำไมมันถึงอยู่ได้? เราต้องเข้าใจกรรมเก่ามันอุปถัมภ์อยู่ กรรมที่เขาได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ อดีตชาติหรือชาติก่อนเขาได้ทำไว้ เขามีทุนอยู่ จะต้องใช้กรรมอันนั้น อยู่อาศัยกรรมอันนั้นจนกว่าจะหมดบุญ หรืกุศลกรรมอันนั้นอขงการที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อมีจังหวะ มีโอกาสว่างเมื่อไรจากกุศลกรรม, อกุศลกรรม คือ บาปมันก็ตามมาทันที เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "เหมือนสุนัขที่ไล่เนื้อ ไล่กวางไปในป่า กวางก็วิ่งหนี ไอ้สุนัขมันเก่งมันก็ไล่กวดตาม ถ้ามันไล่ทัน ปากของมันถึงตรงไหน มันถึงที่ท้อง มันถึงที่หาง มันถึงที่ข้างตัว มันก็จะกระโจนกัดเข้าตรงนั้น เนื้อตรงนั้นจนได้ มันทันตรงไหนมันก็กัดตรงนั้น" กรรมก็เหมือนกันกับสุนุขไล่เนื้อ เมื่อมีโอกาสของมันเมื่อไรมันก็เอาเราเมื่อนั้น
ฉะนั้นที่เราดิ้นรนที่ ว่าจะไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ไข้นั่นเป็นความเหลวไหล ไม่เข้าใจความเป็นจริง มันจะเป็นอะไรมันก็เป็นขึ้นมา เราต้องยินดีรับ ในเมื่อเราป้องกันรักษาตัวของเราดีแล้ว แต่ว่ามันไม่วายที่จะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ต้องยอมมัน แต่ว่าเราก็ต้องรักษา ไม่ใช่ว่าปล่อย เพราะว่ายารักษาโรคมีอยู่ มนุษย์คิดค้นขึ้นมาได้ แม้ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็ต้องใช้ยารักษาโรคเหมือนกัน พระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังใช้ยารักษาโรค ไม่ใช่ไม่ใช้ เพราะว่าการที่เป็นพระอรหันต์นั้น จิตเป็นพระอรหันต์ กายนี้เป็นมนุษย์ กายที่เป็นมนุษย์เรียกว่า วิบากของผลกรรม คือ กุศลกรรม คือบุญให้มาเกิดเป็นมนุษย์ หมายความว่า ชั่วชีวิตหนึ่งนั้นต้องอาศัยร่างนี้อยู่ แต่เมื่อดับขันธ์แล้วจิตไม่ไปเที่ยวหาบ้านใหม่อยู่อีก เรียกว่าเข้าสู่พระนิพพาน เข้าอยู่ในพระนิพพาน
พูดถึงหลักของ การทำสมาธิ ไม่ใช่เป็นของเหลวไหลไร้สาระ อย่างพวกสมัยใหม่บางพวกได้เหมาเอาว่าเป็นสัตว์ไดโนเสาร์เต่าล้านปี พวกคร่ำครึเข้าวัดเข้าวาแต่หนุ่มแต่สาว นั่นแหละตัวผู้พูดว่าอย่างนั้นที่เป็นเต่าล้านปีเป็นพวกไดโนเสาร์มันสูญ พันธ์ไปแล้วนั่นแหละพวกเต่าแท้ ผู้ที่เข้ามาหาธรรมของพระพุทธองค์ ไม่ใช่เต่า แต่เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเราไม่รู้เราจึงเข้ามาหา เข้ามาฝึกฝนเพื่อให้รู้ เพื่อจะได้มีความสุข แม้ในชาตินี้หรืออัตภาพนี้ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่นี้ ถ้าได้รับการฝึกฝนอบรมดีแล้ว จิตใจของเราก็มีความสุข และนอกจากนั้นผู้ที่ยังครองเรือน ยังประกอบอาชีพอยู่ในโลก วิชาหลักสมาธิที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี้ก็ยังนำไปใช้กับโลกได้ดวิเศษที่สุด ไม่มีเสียหายตรงไหนเลย คนที่ฝึกหัดปฏิบัติธรรมมีสมาธิแล้ว จะทำกิจการอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นผู้ที่ละเอียดลออถี่ถ้วน และมีความคิดลึกซึ้ง คิดได้ทะลุปรุโปร่ง ติดปัญหาในวัตถุที่กระทำ เช่น เครื่องจักรเครื่องยนต์ หรือกิจการใดก็ตาม สามารถคิดทะลุ คิดได้แตก คิดได้ถูกต้อง ทำได้ถูก นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติยังมีจิตแข็งแกร่ง เมื่อต้องไปทำกิจกรรมที่ลำบากยากเข็ญเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ยังมีกำลังของ ธรรมนี้ช่วยค้ำจุนจิตให้มีความเข้มแข็งไม่อ่อนแอ เมื่อจิตไม่อ่อนแอร่างกายมันก็ต้องไม่อ่อนแอ การที่คนเรารู้สึกว่าอ่อนเพลียละเหี่ยใจเพราะใจมันไม่สู้ ถ้าใจมันสู้แล้วร่างกายมันก็สู้ได้ นี่เป็นหลักความจริง
และเราก็ ต้องรู้ความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องฝึกฝน ต้องอบรม คนจะมีอาชีพทางอะไรๆ ก็ตาม จะเป็นกสิกร หรือวิศวกร ข้าราชการ อะไรก็ตาม ก็ต้องเรียนทั้งสิ้น ต้องเรียนต้องผ่านการศึกษาจึงจะออกมาใช้วิชานั้นประกอบอาชีพได้ ทีนี้วิชชาของจิตเราก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน และวิชชาของจิตโดยเฉพาะแล้วมันละเอียดลึกซึ่งกว่าวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับด้านวัตถุภายนอกสามารถมองเห็นได้ พิสูจน์ได้ ดูได้ รู้ได้ ได้ยินได้ฟังได้ แต่ธรรมะนี่มันต้องหาเอาข้างใน ฉะนั้นการฝึกฝนมันก็ต้องมีความเพียรไม่ยิ่งหย่อน ต้องมีความเพียรให้มาอย่างยิ่ง อย่าหย่อน อย่าท้อถอย มันก็บังเกิดผล มีความสำเร็จเกิดขึ้น
การ ผัดวันประกันพรุ่งของบางคนเหมือนกัน ยังหนุ่มอยู่บ้าง ยังสาวอยู่บ้าง ยังรุ่นอยู่บ้าง รอเข้าวัดเมื่อแก่ เมื่อแก่แล้วจึงเข้าวัด คนเราเมื่อแก่แล้วอะไรๆ มันก็ชำรุดทั้งนั้น เนื้อหนังมันก็เหี่ยวย่น ข้อมือ ข้อเอ็น ข้อเท้า เอว หลัง มันก็มีปวดมีเมื่อย มันไม่ค่อยมีความสุขเสียแล้ว กำลังวังชาแข็งแรงอยู่ ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว หรือในวัยที่ยังเข้มแข็งอยู่เราก็ทำได้ ข้อสำคัญก็คือว่า คนเรานี้มันต้องตาย แล้วก็ตายเมื่อไร ตายด้วยเหตุใด? ไม่มีใครรู้ได้ ฉะนั้นถ้าเราไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ตลอดเวลาแล้ว เราก็เป็นผู้ประมาทเท่านั้นเอง เราจงเป็นผู้มีความไม่ประมาทเถิด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นคำสุดท้ายนั่นแหละเป็นดีที่สุด
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๒๙ มกราคม ๒๕๒๗

ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm/kar-ptibati-thrrm/phra-ngu-phra-pla-hil/kiles-cit-thukkh

No comments: