นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๑ วิฑูฑภะ
เรียบเรียง จากหนังสือ ทางแห่งความดี เล่ม๑ โดยอาจารย์วศิน อินทสระ
มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฏกดังนี้ว่า...
วัน หนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถี ประทับยืนที่ประสาทชั้นบน ทอดพระเนตรไปที่ถนน เห็นภิกษุหลายพันรูปกำลังเดินไป เพื่อฉันอาหารที่บ้านของอนาถปิณฑิกเศรษฐีบ้าง บ้านของจูฬอนาถบัณฑิตเศรษฐีบ้าง บ้านของนางวิสาขาและนางสุปปวาสาบ้าง พระราชาก็เลยมีพระประสงค์อยากจะเลี้ยงพระบ้าง จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลนิมนต์พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มาเสวยที่วัง ๗ วัน และในวันที่ ๗ ก็ทูลพระศาสดาว่า
“ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์และพระสงฆ์สาวก จงรับภิกษาในวังเป็นนิตย์เถิด”
พระ ศาสดาตรัสว่า “มหาบพิตร ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่รับอาหารประจำในที่แห่งเดียว เพราะประชาชนเป็นอันมาก หวังการมาของพระพุทธเจ้า” คือต้องการให้พระพุทธเจ้าไปเสวยที่บ้านของตนบ้าง
พระราชาเลยทูลขอให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งเป็นหัวหน้ามาแทนพระพุทธองค์ พระศาสดาทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์
พระราชาทรงอังคาส(เลี้ยง)พระสงฆ์ด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทรงกระทำติดต่อกันมาอีก ๗ วัน พอวันที่ ๘ ทรงลืม
เนื่องจากไม่ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ไว้ จึงไม่มีใครกล้าทำอะไร กว่าพระองค์จะทรงระลึกได้ พระสงฆ์ก็กลับไปหลายรูป
วันต่อมาก็ทรงลืมอีก พระสงฆ์ก็กลับไป วันต่อมาก็ทรงลืมอีก คราวนี้พระสงฆ์กลับหมด เหลือพระอานนท์อยู่รูปเดียว
พอ พระราชานึกได้ก็เสด็จมา เห็นพระอานนท์อยู่องค์เดียวก็น้อยใจ เมื่อเลี้ยงพระอานนท์เสร็จแล้ว ก็เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า “ข้าพระองค์จัดแจงอาหารไว้สำหรับพระ ๕๐๐ รูปแต่มีพระอานนท์อยู่รูปเดียว ทำให้ของเหลือมากมาย พวกภิกษุสงฆ์ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่รักษาศรัทธาของข้าพระองค์เลย”
พระศาสดาไม่ได้ตรัสโทษพระภิกษุ ทรงเข้าพระทัยทุกสิ่งทุกอย่าง ตรัสกับพระราชาว่า
“มหาบพิตร พระสงฆ์คงจะไม่คุ้นเคยกับราชสกุล จึงได้กระทำดังนี้”
พระ ราชาอยากจะให้พระสงฆ์คุ้นเคยราชสกุลเลย ทรงหาอุบายว่า ถ้าพระองค์เป็นญาติกับพระพุทธเจ้าได้ พระสงฆ์คงจะคุ้นเคย ควรจะไปขอเจ้าหญิงแห่งศากยวงศ์มาเป็นพระมเหสีสักองค์หนึ่ง จึงแต่งทูตถือสาส์นไปกรุงกบิลพัสดุ์ ขอเจ้าหญิงมาเป็นมเหสี
ฝ่าย ทางศากยวงศ์ ถือตัวว่าสกุลสูงกว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เวลานั้นแคว้นโกศลก็เป็นใหญ่อยู่ ดังนั้นเลยลำบากใจกันมาก จะไม่ให้ก็กลัวอำนาจ ครั้นจะให้ก็กลัวสกุลของตน จะไปปะปนกับเลือดสกุลอื่นที่ต่ำกว่าตน
เมื่อประชุมปรึกษากัน ท้าวมหานาม ก็เสนอว่า
“หม่อมฉันมีธิดาอยู่คนหนึ่ง ชื่อวาสภขัตติยาเป็นลูกของทาสี มีความงามเป็นเลิศ เราสมควรให้นางแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล”
ที่ ประชุมเห็นชอบจึงจัดนางส่งไป พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทราบจึงโปรดปรานมาก ให้สตรีมาเป็นบริวาร ๕๐๐ ต่อมานางประสูติพระโอรส นามว่าวิฑูฑภะ
ความ จริงก่อนให้ทูตรับนางมา พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ป้องกันการถูกหลอกเหมือนกัน เช่น จะต้องเป็นธิดาที่ร่วมเสวยกับนางราชฑูตดู แต่ก็วางแผนให้มหาดเล็ก วิ่งกระหืดกระหอบมาว่า ไฟไหม้พระราชวัง ทำให้ต้องเลิกเสวยทันทีเพื่อไปดูแลดับไฟ
แม้แต่ชื่อของวิฑูฑภะ ก็ได้มาโดยการฟังผิด คือ เมื่อพระกุมารประสูติแล้ว พระเจ้าปเสนทิส่งราชทูตไปขอให้พระเจ้ายายพระราชทานนามให้ ซึ่งพระเจ้ายายให้นามว่า วัลลภา แปลว่า เป็นที่โปรดปราน แต่ราชทูตหูตึง ฟังเป็นวิฑูฑภะ
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี วิฑูฑภะ ก็เสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ มารดาพยายามทัดทานหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ พระนางคงรีบส่งสาส์นล่วงหน้าไปก่อน เพื่อให้ปฏิบัติต่อวิฑูฑภะอย่างเหมาะสม
เมื่อทราบข่าว ทางศากยวงศ์ก็ประชุมกัน พวกเขาไม่ลืมว่า มารดาของวิฑูฑภะเป็นธิดาของทาสี ดังนั้น ตัววิฑูฑภะเองแม้จะเป็นพระโอรส พระเจ้าปเสนทิ แต่มารดาวรรณะต่ำ พวกเขาไม่สามารถให้เกียรติอย่างลูกกษัตริย์ได้ จึงจัดแจงส่งพวกเด็กๆที่อายุน้อยกว่าวิฑูฑภะ ออกไปชนบทหมด เพื่อจะได้ไม่ต้องไหว้ทำความเคารพลูกของทาสี
เมื่อวิฑูฑภะเสด็จมา ถึง ทางกบิลพัสดุ์ก็ต้อนรับดีพอสมควร วิฑูฑภะต้องเที่ยวไหว้คนโน้นคนนี้ ที่เป็นตายาย ลุงป้า น้า อา พี่ แต่ไม่มีใครที่จะไหว้พระองค์ก่อนเลย เมื่อถามก็ได้รับคำตอบว่าออกไปตากอากาศกันหมด วิฑูฑภะก็เก็บความสงสัยไว้ในใจ
พระองค์ประทับอยู่เพียง ๒-๓ วัน ก็เสด็จกลับ พกเอาความสงสัยไปด้วย ว่าทำไมได้รับการต้อนรับที่เย็นชาเหลือเกิน
ขณะ เสด็จออกไปจากวังนั้น นายทหารคนหนึ่งได้ลืมดาบไว้ จึงวิ่งกลับไปเอา ได้เห็นหญิงรับใช้ กำลังเอาน้ำเจือน้ำนม ซึ่งถือว่าเป็นน้ำล้างเสนียดจัญไรออกไป ล้างแผ่นกระดานที่วิฑูฑภะนั่ง พลางก็บ่นว่า นี่คือกระดานที่วิฑูฑภะ บุตรนางทาสีนั่ง
ทหารผู้นั้น เข้าไปถาม ทราบเรื่องโดยตลอด เมื่อกลับมาก็กระซิบกันไปทั่วกองทัพ วิฑูฑพะก็ทรงทราบด้วย ทรงพิโรธมาก อาฆาตพวกศากยะว่า เวลานี้ขอให้พวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่ประทับนั่งด้วยน้ำเจือด้วยน้ำนมก่อน เมื่อใดที่ได้ครองแคว้นโกศลจะกลับมาล้างแค้นโดยเอาเลือดในลำคอของพวกศากยะ ล้างแผ่นกระดาน
เมื่อถึงสาวัตถี พวกอำมาตย์ทูลให้พระเจ้าปเสนทิทรงทราบ ทรงพิโรธมาก รับสั่งให้ถอดพระนางวาสภขัตติยาและวิฑูฑภะออกจากตำแหน่ง รับเครื่องบริหารและเครื่องเกียรติยศทั้งปวง พระราชทานให้เพียงสิ่งของที่ทาสทาสี ควรใช้เท่านั้น
ต่อมาอีก ๒-๓ วัน พระศาสดาเสด็จมา พระเจ้าปเสนทิทูลให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสปลอบว่า
“มหาบพิตร พวกศากยะกระทำไม่สมควรเลย เมื่อจะถวายก็ควรจะถวายพระราชธิดา ที่มีชาติเสมอกันจึงจะควร”
ครู่หนึ่งผ่านไป พระศาสดา จึงตรัสอีกว่า
“แต่ อาตมาภาพใคร่ถวายพระพรว่า พระนางวาสภขัตติยานั้นเป็นธิดาของ ขัตติยราช ได้รับการอภิเษกในพระราชมณเทียรของขัตติราช ฝ่ายวิฑูฑภะเล่าก็ได้อาศัยขัตติยราชนั้นแลประสูติแล้ว มหาบพิตรตระกูลฝ่ายมารดาไม่สู้สำคัญนัก สำคัญที่ฝ่ายบิดา แม้บัณฑิตแต่โบราณก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงยากจนหาบฟืนขาย และพระราชกุมารอันประสูติจากครรภ์สตรีนั้นก็ได้ เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในนครพาราณสี พระนามว่า กัฏฐวาหนราช”
พระราชาทรงเชื่อและคืนเกียรติยศแก่พระนางวาสภขัตติยาและวิฑฑูภะดังเดิม
ต่อมา วิฑูฑภะได้ราชสมบัติโดยการช่วยเหลือของ ทีฆการายนะ เสนาบดี
ฑีฆ การายณะนั้นเป็นหลานของพันธุละเสนาบดี ซึ่งพระเจ้ปเสนทิวางอุบายให้คนของพระองค์ฆ่าเสีย โดยมิได้มีความผิดแต่เพราะมีคนยุยงว่าพันธุละต้องการแย่งราชสมบัติก็ทรง เชื่อ
พันธุละมีบุตร ๓๒ คน ก็ถูกฆ่าตายหมดพร้อมกันพระราชาทราบความจริงภายหลัง โทมนัสมาก พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีให้ฑีฆการายนะ ผู้เป็นหลานของพันธุละ เพื่อทดแทนความผิดที่พระองค์ทำไป
ฑีฆการายนะผูกใจเจ็บ หาโอกาสแก้แค้นอยู่เสมอ
วัน หนึ่ง พระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาที่นิคมชื่อ เมทฬุปะ ของพวกศากยะ ทรงพักพลไว้ใกล้พระอาราม เสด็จไปเฝ้าพระศาสดาแต่พระองค์เดียว
ฑีฆ การายนะได้โอกาส จึงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้วิฑูฑภะแล้วนำผลกลับพระนคร คือแย่งราชสมบัติไปดื้อๆนั่นเอง วิฑูฑภะก็พอใจ เพราะจะได้แก้แค้นศากยะได้เร็วขึ้น
พระเจ้าปเสนทิกลับจากเฝ้าพระ ศาสดา ไม่เห็นไพร่พล มีแต่ม้าตัวหนึ่งกับหญิงรับใช้คนหนึ่งอยู่ที่นั่น ทรงทราบความแล้วก็เสด็จไปเมืองราชคฤห์เพื่อขอกำลังของพระเจ้าอชาตศัตรูมา ปราบวิฑูฑภะ แต่กลับไปถึงค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว ไม่อาจเข้าเมืองได้ จึงทรงพักที่ศาลาหน้าเมือง แต่ด้วยความหนาว ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง และทรงชรามาก อายุ ๘๐ แล้ว ดังนั้นจึงสิ้นพระชนม์ในคืนนั้น
ตอนเช้า พระเจ้าอชาตศัตรูจึงให้รับพระศพเข้าไปถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ
ฝ่ายวิฑูฑภะ ได้เป็นกษัตริย์แล้ว ก็เตรียมทัพไปตีพวกศากยะ
พระ ศาสดาทรง ตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นความพินาศจะมาถึงหมู่พระญาติมีพุทธประสงค์ จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระญาติ จึงเสด็จไปประทับ ณ พรมแดนระหว่างโกศลกับศากยะ ประทับ ณ ใต้ต้นไม้ที่มีใบน้อยต้นหนึ่งในแดนศากยะ ถัดมาอีกเล็กน้อยเป็นเขตแดนแคว้นโกศล มีต้นไทรใหญ่ ใบหนาร่มรื่นครึ้มขึ้นอยู่
พระเจ้าวิฑูฑภะ ยกกองทัพผ่านมาทางนั้น ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาจึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้วทูลว่า
“พระองค์ ผู้เจริญ เพราะเหตุไร จึงประทับใต้ต้นไม้ อันมีใบน้อยในเวลาร้อนถึงปานนี้ ขอพระองค์โปรดประทับนั่ง ณ โคนต้นไทร อันมีร่มครึ้ม มีเวลาเย็นสนิทดีทางแดนโกศลเถิด”
“ขอถวายพระพรมหาพิตร ร่มเงาของพระญาติเย็นดี”
พระ เจ้าวิฑูฑภะ ทรงทราบทันทีว่าพระศาสดาเสด็จมาป้องกันพระญาติ อนึ่งทรงระลึกได้อยู่ว่า พระศาสดาเคยช่วยเหลือให้ได้รับเกียรติยศคืนมา ในครั้งก่อน ดังนี้จึงยกทัพกลับ
แต่ความแค้นยังกรุ่น จึงยกทัพไปอีกสองครั้ง พบพระศาสดาในที่เดียวกันและยกทัพกลับทั้ง ๒ ครั้ง
พอ ถึงครั้งที่ ๔ พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นกรรมเก่าของพวกศากยะที่เคยเอายาพิษโปรยลงในแม่น้ำ ทำให้สัตว์น้ำตายหมู่เป็นอันมาก กรรมนั้นกำลังมาให้ผลพระองค์ไม่สามารถต้านทานได้ จึงมิได้เสด็จไปในครั้งที่๔
พระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จมาถึงพรมแดนนั้น ไม่ทอดพระเนตรเห็นศาสดาจึงเสด็จเข้ากบิลพัสดุ์ จับพวกศากยะฆ่าเสียมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เด็กกำลังดื่มนม รับสั่งให้เอาโลหิตในลำคอของพวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่เคยนั่ง แล้วกลับสาวัตถี
เมื่อมาถึงฝั่งแม่น้ำอจิรวดีในเวลาค่ำ จึงให้ตั้งค่ายพัก ไพร่พลเลือกนอนได้ตามใจชอบ บางพวกก็นอนที่หาดทรายในแม่น้ำเมื่อน้ำลง หาดทรายในแม่น้ำนอนได้สบาย แต่บางพวกก็นอนบนบกริมฝั่ง
พอตกดึก พวกที่นอนบนบกแต่ทำกรรมไว้ร่วมกันมา ก็ถูกมดแดงกัดลงไปนอนที่ชายหาด ส่วนพวกที่นอนชายหาด ก็ถูกมดแดงกัดหนีขึ้นไปนอนข้างบน
มหาเมฆตั้งเค้าทางเหนือน้ำ ฝนตกใหญ่ น้ำหลากอย่างรวดเร็ว พัดเอาวิฑูฑภะกับบริวารบางพวกลงสู่มหาสมุทรตายกันหมด
ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ ว่า ได้สิ้นพระชนม์ไปในขณะที่ยังมีความปรารถนาอื่นๆอยู่อีกมาก
พระศาสดาเสด็จมาสู่ธรรมสภา ตรัสว่า
“ภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อความปรารถนาของสัตว์ทั้งหลายยังไม่จบลงนั่นเอง มัจจุราชก็เข้ามาตัดชีวิตให้จมลงในสมุทร คือ อบาย๔ ดุจห้วงน้ำใหญ่หลากมาท่วมชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น”
ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
“มัจจุ คือความตาย ย่อมพัดพาเอาบุคคลผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ ผู้เลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณ ๕ อยู่ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลหลาก พัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น”
หมายเหตุ: กามคุณ ๕ มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)
No comments:
Post a Comment