Friday, March 6, 2009

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๓ อสทิสทาน

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๓ อสทิสทาน


จากหนังสือ ทางแห่งความดี เล่ม 3 ของอาจารย์วศิน อินทสระ



สมัยหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี พระเจ้า ปเสนทิโกศลทูลอาราธนาพระศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วถวายอาคันตุกทานอย่างประณีต ทรงประกาศให้ชาวนครมาดูทานของพระองค์

วันรุ่งขึ้น ชาวนครทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ไปเสวย และฉันอาหารของพวกตน แล้วทูลให้พระราชาเสด็จไปทอดพระเนตรทานของตน

พระราชาทอดพระเนตรเห็นทานอันมโหฬารของชาวนครแล้ว ทรงถวายทานอีก ทำให้ยิ่งกว่าที่ชาวนครทำ ชาวเมืองก็ไม่ยอมแพ้ รวมกำลังกันถวายทานให้ยิ่งกว่าที่ พระราชาถวาย

รวมความว่าทำบุญแข่งกัน

ในที่สุดพระราชาสู้ไม่ได้ เพราะประชาชนมีมากด้วยกัน จึงบรรทมเป็นทุกข์อยู่ พลางทรงดำริว่า ทำอย่างไรจึงจะถวายทานให้ชนะชาวนครได้ พระนางมัลลิกา อัครมเหสีเสด็จเข้าไปเฝ้า ทรงทราบถึงความโทมนัสของพระราชาแล้วทูลอาสาจะจัดทานถวายเอง และจะให้ชนะชาวนครให้ได้

พระนางขอให้พระราชารับสั่งให้คนจัดดังต่อไปนี้

ให้ทำมณฑปสำหรับภิกษุ 500 รูปภายในวงเวียนมณฑปนั้น ทำด้วยไม้สาละและไม้ขานาง ภิกษุที่เกินจำนวน 500 นั่งนอกวงเวียน ให้ทำเศวตฉัตร 500 คัน จัดหาช้าง 500 เชือก สำหรับถือเศวตฉัตรกั้นภิกษุ 500 รูปเหล่านั้น ขอให้ทำเรือทองคำ 8 ลำ หรือ 10 ลำไว้กลางมณฑป ให้เจ้าหญิงองค์หนึ่ง ๆ นั่งบดของหอมอยู่ระหว่างภิกษุทุก ๆ 2 รูป (คือเจ้าหญิงองค์หนึ่งต่อภิกษุ 2 รูป) และเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ๆ ยืนพัดภิกษุ 2 รูป เจ้าหญิงนอกนี้ มีหน้าที่นำของหอมที่บดแล้วมาใส่ในเรือ

ให้จัดเจ้าหญิงเป็นพวก ๆ บางพวกถือกำดอกบัวเขียวไปเคล้าของหอมที่ใส่ไว้ในเรือทองคำแล้วนำไปถวายภิกษุ ให้ภิกษุรับเอาไออบ

เรื่องที่จัดเจ้าหญิงให้มาร่วมในการถวายทานนี้ก็ด้วยทรงดำริว่า ชาวนครไม่มี เจ้าหญิงเป็นเครื่องประกอบในทาน เป็นอันได้ชนะชาวนครไปได้เรื่องหนึ่ง เศวตฉัตรของชาวนครก็ไม่มี ช้างจำนวนมากเช่นนั้นก็ไม่มี

พระราชารับสั่งให้ทำตามที่พระนางมัลลิกาทรงแนะนำ

ปัญหามาติดอยู่ที่เรื่องช้างคือช้างไม่พอ ความจริงพระราชามีช้างเป็นจำนวนพัน แต่ช้างที่เชื่องพอจะนำมาถือเศวตฉัตรได้มีเพียง 499 เชือก ขาดไปเชือกหนึ่ง นอกจาก 499 เชือกแล้วเป็นช้างดุร้ายทั้งนั้น

พระราชาทรงปรึกษาพระนางมัลลิกาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระนางมัลลิกาถวายความเห็นว่า ขอให้เอาช้างเชือกที่ดุร้ายนั้นไปถือเศวตฉัตรให้พระคุณเจ้าองคุลิมาล

พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำเช่นนั้น เมื่อช้างที่ดุร้ายเข้าใกล้พระองคุลิมาล มันสอดหางเข้าไปในระหว่างขาของมัน ปรบหูทั้งสองยืนหลับตานิ่งอยู่

มหาชนต่างมองดูช้างดุที่ยืนหลับตาอยู่ใกล้พระเถระและชมว่า พระคุณเจ้า องคุลิมาลมีอานุภาพถึงปานนี้

พระราชาทรงอังคาส (เลี้ยง) ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขด้วยอาหารอันประณีต และด้วยพระหฤทัยอันอิ่มเอิบ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลว่า “สิ่งทั้งปวงในโรงทานนี้ ทั้งที่เป็นกัปปิยภัณฑ์ (สิ่งที่สมควรแก่สมณะ) และอกัปปิยะภัณฑ์ (สิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะ) หม่อมฉันขอถวายพระองค์ทั้งสิ้น”

ในทานนี้ พระราชาทรงสละทรัพย์ 14 โกฏิหมดในวันเดียว ของ 4 อย่างคือ เศวตฉัตร 1 บัลลังก์สำหรับนั่ง 1 เชิงบาตร 1 ตั่งสำหรับเช็ดเท้า 1 ที่พระราชาถวายพระศาสดานั้นเป็นของสูงค่าจนไม่อาจคำนวณได้

ทานดังกล่าวมานี้ ไม่มีใครสามารถทำได้อีก (ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าองค์เดียว) เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกทานอย่างนี้ว่า อสทิสทาน คือทานที่ไม่มีใครทำได้เหมือน

ท่านกล่าวว่า อทิสทานนี้มีแก่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่พระองค์ละครั้งเท่านั้น สตรีย่อมเป็นผู้จัดแจงทานนี้เพื่อพระศาสดาและภิกษุสงฆ์

เมื่อพระราชาทรงบำเพ็ญอสิทิสทานอยู่นี้ มหาอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ กาฬะ รู้สึกเสียดายพระราชทรัพย์เหลือประมาณ เขาคิดว่า “นี้เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่ง ราชตระกูล ทรัพย์ถึง 14 โกฏิ หมดในวันเดียว ภิกษุทั้งหลายบริโภคอาหารที่พระราชาถวายด้วยศรัทธาแล้วก็นอนหลับ มิได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ราชตระกูลฉิบหายเสียแล้ว”

ส่วนอำมาตย์อีกคนหนึ่งชื่อ ชุณหะ คิดว่า “อา! ทานของพระราชายิ่งใหญ่ น่าเลื่อมใสจริง ทานอย่างนี้ผู้ที่ไม่เป็นราชาไม่อาจทำได้ พระราชาย่อมต้องทรงแบ่งส่วนบุญให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เราขออนุโมทนาบุญนั้น”

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จ พระราชาทรงรับบาตร เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา พระศาสดาทรงดำริว่า

“ทาน ของพระราชาครั้งนี้เป็นประดุจห้วงน้ำใหญ่ มหาชนมีจิตเลื่อมใสหรือไม่หนอ ทรงทราบวารจิต คือความคิดของอำมาตย์ทั้งสองแล้วทรงทราบว่า ถ้าจะทรงทำการอนุโมทนาให้สมควรแก่ทานของพระราชาในครั้งนี้ ศีรษะของกาฬอำมาตย์จะต้องแตกเป็น 7 เสี่ยง ส่วนชุณหอำมาตย์จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล”

ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ในกาฬอำมาตย์นั้น จึงตรัสพระคาถาเพียง 4 บาทเท่านั้น อนุโมทนาทานของพระราชาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเสด็จไปสู่วัดเชตวัน

ภิกษุทั้งหลายถามพระองคุลิมาลว่า “ไม่กลัวหรือที่ช้างดุร้ายอย่างนั้นยืนถือเศวตฉัตรให้”

พระองคุลิมาลตอบว่าไม่กลัว ภิกษุทั้งหลายจึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า พระองคุลิมาลพยากรณ์อรหัตผล อวดตนว่าเป็นอรหันต์ ไม่กลัวช้างดุร้ายเห็นปานนั้น พระศาสดาตรัสรับรองว่า พระองคุลิมาลไม่กลัวจริง

ส่วนพระราชาปเสนทิ ทรงน้อยพระทัยว่า ได้ถวายทานอันมโหฬารปานนั้น แต่พระศาสดาทรงอนุโมทนาเพียง 4 บาท พระคาถาเท่านั้น น่าจะมีอะไรที่ไม่สมควรในทานอยู่บ้าง พระศาสดาคงจะทรงขุ่นเคืองพระทัยเป็นแน่แท้

พระราชารีบเสด็จไปสู่วิหารเชตวัน ทูลถามพระศาสดาในเรื่องนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า พระราชาได้ทรงกระทำชอบทุกอย่าง ทานนั้นได้นามว่า “อสทิสทาน” แต่ที่ทรงอนุโมทนาน้อย ก็เพราะหวังอนุเคราะห์กาฬอำมาตย์ ตรัสเล่าความคิดของอำมาตย์ทั้งสองให้พระราชาทรงทราบ

พระราชาทรงกริ้วกาฬอำมาตย์ตรัสว่า “เราให้ทานมากจริง แต่เราให้ของ ๆ เรา มิได้เบียดเบียนอะไรท่านเลย ไฉนท่านจึงเดือดร้อนปานนั้น”

ดังนี้แล้วทรงเนรเทศกาฬอำมาตย์ออกจากแคว้น ตรัสเรียกชุณหอำมาตย์เข้าเฝ้า ตรัสถามว่า จริงหรือที่มีความคิดอนุโมทนาทานที่พระองค์ทรงกระทำแล้ว เมื่อ ชุณหอำมาตย์ทูลรับว่าจริง ทรงชอบใจและเลื่อมใส จึงทรงมอบราชสมบัติให้เขาครอง 7 วัน และให้ถวายทานได้ตามประสงค์ โดยทำนองที่พระองค์เคยทรงถวายมาแล้ว

พระราชาเสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาอีกทูลว่า “พระองค์ทรงดูการกระทำของคนพาลเถิด เขาเหยียดหยามทานที่ข้าพระองค์ถวายแล้วถึงปานนี้ (ทรงหมายถึงกาฬอำมาตย์)

พระศาสดาตรัสว่า

“คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ คนพาลไม่สรรเสริญทาน ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาทานอยู่ จึงเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า เพราะการอนุโมทนานั้น”

No comments: