นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๒ อนาถปิณฑิกเศรษฐี
เรียบเรียงจากหนังสือ อานนท์ พุทธอนุชา ของอาจารย์วศิน อินทสระ
ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงเหยียบพระมงคลบาทลงสู่สาวัตถีนั้น เป็นเพราะการอาราธนาของท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐี ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้นามนี้ แต่เป็นนามเดิมของท่านเองคือสุทัตตะ เรื่องเป็นดังนี้
สมัยหนึ่ง เมื่อตรัสรู้แล้วไม่นาน พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่สีตวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น สุทัตตะยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์ เพื่อเยี่ยมเยียนสหายและเพื่อกิจการค้า
เมื่อไปถึง สหายต้อนรับพอสมควรแล้วก็ขอตัวไปสั่งงานคนทั้งหลายให้ทำโน่นทำนี่ จนไม่มีเวลามาคุยด้วยเหมือนอย่างเคย ทำให้สุทัตตะประหลาดใจ จึงถามถึงสาเหตุ ก็ได้รับคำตอบจากสหายว่า กำลังยุ่งกับการเตรียมงาน เพราะว่าพรุ่งนี้ได้อาราธนา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนร้อย เพื่อเสวยและฉันอาหารที่นี่ สุทัตตะถามว่า
“สหาย ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกหรือนี่”
สหายก็รับคำและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระพุทธเจ้ามากมาย ทำให้สุทัตตะ ตื่นเต้นมากและกล่าวว่า ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์พรุ่งนี้เป็นจำนวนเท่าใด ขอออกให้ทั้งหมด แต่เศรษฐีกรุงราชคฤห์ไม่ยอม บอกว่า
“อย่าว่าแต่ค่าอาหารเลย แม้ท่านจะมอบสมบัติในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็หายอมให้ท่านเป็นเจ้าภาพสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าไม่ กว่าข้าพเจ้าจะจองได้ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน ข้าพเจ้าคอยโอกาสนี้มานานนักหนาแล้ว ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ใครเป็นอันขาด”
สุทัตตะ เป็นผู้ที่อันกุศลแต่อดีตมาเตือนแล้ว พอได้ยินคำว่า พุทโธ ก็ปิติซาบซ่าน ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ในเวลานั้นเป็นเวลาค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จิตใจของเขาจึงกังวลถึงแต่เรื่องที่จะเฝ้าพระศาสดา ไม่อาจหลับลงได้อย่างปกติ เขาลุกขึ้นถึง 3 ครั้งด้วยคิดว่าสว่างแล้ว ในที่สุดก็เช้า สุทัตตะเดินไปประตูเมือง ประตูยังไม่เปิด ต้องขอร้องวิงวอนคนเฝ้าประตูเสียนายจึงยอมเปิดให้ เมื่อออกจากเมืองแล้วทางที่จะไปสู่ป่าสีตวันก็เป็นทางเปลี่ยว สุทัตตะก็ยังมุ่งหน้าไป
เวลานั้นพระพุทธเจ้าตื่นบรรทมแล้ว ทรงแผ่ข่ายพระญาณพิจารณาดูสัตว์โลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของสุทัตตะว่าเป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรมอยู่บริเวณที่ประทับ เมื่อสุทัตตะเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
“เข้ามาเถิด สุทัตตะ ตถาคตอยู่นี่”
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกชื่อเขาถูกโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ทำให้สุทัตตะปลื้มใจเป็นล้นพ้น เขาซบหน้าลงแทบบาท แล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระศากยมุนี เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้ว ที่ได้มาเฝ้าพระองค์สมปรารถนา ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเข้าไปในเมือง เพื่อเสวยภัตตาหารไม่ไหว จึงออกมาเฝ้าแต่เช้ามืด พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ราตรีช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกิน ที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า พุทโธ พุทโธ”
“ดูก่อนสุทัตตะ ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้ว รู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้ พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น ดูก่อน สุทัตตะ สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อย ๆ และการเกิดบ่อย ๆ นั้นตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวดทรมานและตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้ว จะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว”
“ดูก่อนสุทัตตะ เมื่อรากยังมั่นคง แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว ก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกันเมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ”
“สุทัตตะเอย น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้ เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณนา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีเล่า ถ้านำมากองรวมๆกันมิให้กระจัดกระจายคงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลยแม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูก นั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น”
“ดูก่อน สุทัตตะ ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิงคือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ ฉะนั้น”
พระศาสดาทรงเทศนาอริยสัจแต่โดยย่อแก่สุทัตตะ จนเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยแล้ว ทรงย้ำในตอนสุดท้ายว่า
“ดูก่อนสุทัตตะ การได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก การดำรงชีพอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นของยาก การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นของยาก และการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นของยาก ดูก่อนสุทัตตะ เพราะเหตุนั้นการแสดงธรรมของสัตบุรุษก็ตาม การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบมาสู่โลก”
สุทัตตะได้เป็นโสดาบันแล้ว ด้วยการฟังธรรมเทศนาเพียงครั้งเดียว เขาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จสู่กรุงสาวัตถี เมื่อพระองค์ทรงรับแล้ว เขาจึงมุ่งหน้ากลับนครตนล่วงหน้าไปก่อน ตามรายทางให้คนสร้างที่พักไว้เป็นแห่ง ๆ และป่าวประกาศให้ประชาชนสร้างที่พัก เพื่อพระสงฆ์สาวก ตามเส้นทางที่พระศาสดาจะเสด็จไป
เมื่อถึงสาวัตถีแล้ว เขาก็มองหาสถานที่จะสร้างอารามถวาย เห็นที่อยู่แห่งหนึ่งเป็นสวนของเจ้าชายในราชตระกูล ทรงนามว่า “เชตะ” เขาได้เข้าเฝ้าและขอซื้อ แต่ทรงโก่งราคาแพงเหลือหลาย ถึงกับว่าถ้าจะซื้อให้ได้ก็ต้องให้ราคาเท่ากับเอาทองไปปูลงให้เต็มสวนนั้น ทั้งนี้เพราะเข้าพระทัยว่า ถ้าแพงเศรษฐีคงจะไม่ซื้อ แต่เศรษฐียอมตกลงซื้อ
เมื่อตกลงแล้ว ก็วัดเนื้อที่ชำระเงินเป็นตอนๆ ไป เหลือเนื้อที่อยู่อีกนิดหน่อย ซึ่งเศรษฐีกำหนดว่าจะทำซุ้มประตูตรงนั้น พอดีเงินหมด เศรษฐีกำลังจะยืมเพื่อนสนิทที่ไว้ใจกันมา เจ้าชายเชตะทรงเห็นใจและสงสารเศรษฐี จึงยกที่ตรงนั้นให้ เมื่อสร้างอารามเสร็จ ถึงเวลาทำซุ้มประตู เศรษฐีดำริว่าเจ้าชายเชตะมีคนเคารพนับถือมาก ถ้ามีชื่อ เจ้าชายอยู่ด้วย จะเป็นประโยชน์มาก จึงให้ยกป้ายขึ้นว่า “เชตวัน” แต่คนทั้งหลายมักจะต่อท้ายว่า “อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี”
เชตวันนี้เป็นอารามที่สวยงามที่สุดและใหม่ที่สุด นอกจากเศรษฐีจะถวายอาราม ยังบำรุงสงฆ์ด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่น จีวร อาหาร และยารักษาโรค
ท่านจะไปเฝ้าพระศาสดาทั้งเช้าและเย็น และไม่เคยไปมือเปล่าเลย ต้องมีอาหารหรือน้ำปานะติดมือไปด้วยเสมอ เมื่อไปเฝ้าก็ไม่เคยทูลถามปัญหาพระศาสดาเลย เพราะท่านคิดว่า พระผู้มี พระภาคเจ้า เคยเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ และบัดนี้ก็เป็นพระพุทธเจ้าสุขุมาล ถ้าจะถามปัญหาพระองค์ก็จะทรงดำริว่า เศรษฐีเป็นผู้มีอุปการะมากต่อเรา แล้วจะทรงแก้ปัญหาด้วยความตั้งพระทัย จะทำให้พระองค์ทรงลำบาก
พระพุทธเจ้าทรงทราบอัยธยาศัยอันนี้ของเศรษฐี แล้วทรงดำริว่า เศรษฐีนี้เกรงใจเราในฐานะที่ไม่ควรจะเกรง เราบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลายาวนานเพียงนี้ ก็เพื่อจุดประสงค์จะขนสัตว์ในสังสารสาครขึ้นสู่ที่อันเกษม คือพระนิพพาน ทรงดำริเช่นนี้ก็แสดงธรรมแก่เศรษฐีทุกครั้งที่เขาไปเฝ้า
No comments:
Post a Comment