Friday, March 6, 2009

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๘ บัณฑิตสามเณร

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๘ บัณฑิตสามเณร

เรียบเรียงจาก หนังสือทางแห่งความดี เล่ม ๒
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



ใน อดีตกาล สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์สองหมื่นเสด็จไปยังพาราณสี ชาวเมืองชวนถวายทานตามกำลังของตน

เมื่อเสร็จภัตตกิจ พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุโมทนาใจ ความว่า คนบางคนทำบุญเอง แต่มิได้ชวนคนอื่น เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ บางคนชักชวนคนอื่นทำแต่ไม่ทำเอง เมื่อเกิดในที่ใด ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้ทรัพย์สมบัติ บางคนไม่ทำเองด้วย ไม่ชักชวนผู้อื่นด้วย เมื่อเกิดในที่ใดย่อมไม่ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ส่วนบางคนทำเองด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ

ขณะนั้น มีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่งได้ฟังอนุโมทนาแล้วคิดว่า เราจะทำบุญอันเป็นเหตุให้ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ จึงไปเฝ้าอาราธนาพระพุทธองค์ และภิกษุสาวกให้รับอาหารของตนในวันรุ่งขึ้น เสด็จแล้วเข้าไปในหมู่บ้าน เที่ยวบอกชาวบ้านว่า

“ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้านิมนต์พระสงฆ์ ๒ หมื่นรูป มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขไว้ เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ท่านผู้ใดมีศรัทธาและมีกำลังจะถวายได้เท่าใด ขอได้โปรดบอก เพื่อข้าพเจ้าจะได้จดไว้ในบัญชี”

คนทั้งหลายกำหนดกำลังและศรัทธา ของตนแล้ว บางคนกล่าวว่า จะถวาย ๑๐ รูป บางคน ๒๐ รูป บางคน ๑๐๐ รูป บางคน ๕๐๐ รูป บุรุษผู้เป็นบัณฑิตจดชื่อและจำนวนสงฆ์ที่เขาต้องการลงไว้ในบัญชี
ในสมัยนั้นมีชายคนหนึ่ง เป็นคนยากจนมากกว่าใครในกรุงพาราณสี ใคร ๆ เรียกเขาว่า มหาทุคคตะ แปลว่ายากจนมาก

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้พบชายเข็ญใจ มหาทุคคตะนั้นแล้วบอกเรื่องที่ตนได้นิมนต์พระไว้ ชักชวนให้มหาทุคคตะช่วยเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง

“จะ เลี้ยงได้อย่างไร ตัวข้าพเจ้าหาเลี้ยงตนและภรรยาก็แสนยาก การเลี้ยงพระเป็นเรื่องของคนมีทรัพย์ ส่วนข้าพเจ้าไม่มีแม้แต่ข้าวสารสักทะนานหนึ่ง ที่จะหุงต้มกันในวันพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าทำงานรับจ้าง เลี้ยงชีพด้วยความฝืดเคือง”

บุรุษผู้เป็น บัณฑิตได้พูดหว่านล้อมต่อไปว่า “สหายท่านเห็นหรือไม่ ในเมืองนี้มีคนมั่งคั่งเป็นอันมากได้บริโภคโภชนะอย่างดี นุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียด แต่งกายด้วยอาภรณ์ต่าง ๆ นอนบนที่นอนอันกว้างใหญ่สง่างามเพราะเขาทำบุญไว้ในกาลก่อน ส่วนสหายทำงานรับจ้างทั้งวัน ก็ไม่ได้อาหารแม้เพียงสักว่าให้เต็มท้อง เพราะท่านมิได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงไม่ควรประมาท รีบขวนขวายในเรื่องบุญกุศลเถิด ท่านสามารถทำตามสติกำลังของท่าน”

เมื่อได้ฟังดังนี้ มหาทุคคตะก็สลดใจ กล่าวว่า “ขอท่านลงบัญชีภิกษุรูปหนึ่งสำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำงานจ้างได้ของมาทำบุญพรุ่งนี้”

ผู้ชักชวนเห็นว่าเป็นภิกษุจำนวนน้อย เพียงรูปเดียว จึงมิได้จดลงในบัญชี

ฝ่ายมหา ทุคคตะกลับไปเรือน บอกเรื่องนั้นให้ภรรยาทราบ ภรรยาของเขาเป็นคนดี มีความเห็นชอบกับการกระทำชอบของสามีพลอยยินดีร่าเริงด้วย กล่าวว่า “เพราะชาติก่อนเรามิได้ทำบุญไว้ด้วยดี เกิดมาชาตินี้จึงเป็นคนจน เราควรทำงานเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง”

เขาทั้งสองได้ไปยังเรือนของมหา เศรษฐี ของานทำ ได้จังหวะเหมาะเศรษฐีรับเลี้ยงพระ ๒-๓ ร้อยในวันรุ่งขึ้น จึงจัดให้มหาทุคคตะผ่าฟืนสำหรับหุงต้ม เขาทำงานด้วยความร่าเริง มีความอุตสาหะยิ่ง เศรษฐีเห็นอาการของเขาแปลกกว่าที่เคยเห็นจึงถามว่า เหตุไรจึงร่าเริงผิดกว่าวันก่อน ๆ เขาเล่าเรื่องที่รับเลี้ยงพระให้เศรษฐีทราบ เศรษฐีเลื่อมใส นับถือจิตใจของเขาว่า เขาทำในสิ่งที่ทำได้ยาก มิได้เฉยเมยว่ายากจน อุตสาห์ทำงานจ้างด้วยเรี่ยวแรงกำลังทั้งหมด เพื่อจะได้มีส่วนเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง

ฝ่ายภรรยาของมหาทุคคตะ เข้าไปหาภรรยาเศรษฐีขอทำงานจ้าง ภรรยาเศรษฐีได้ให้ตำข้าวในโรงกระเดื่องนางมีความยินดี ร่าเริง ตำข้าวและฝัดข้าวเสมือนหนึ่งว่ารำละคร ภรรยาเศรษฐีเห็นดังนั้นประหลาดใจ จึงถาม ทราบความแล้วเลื่อมใสว่าภรรยาของมหาทุคคตะทำสิ่งที่ทำได้ยาก

เมื่อ มหาทุคคตะผ่าฟืนเสร็จ เศรษฐีได้สั่งให้ ให้ข้าวสาลีแก่เขา ๔ ทะนานเป็นค่าจ้าง และอีก ๔ ทะนานให้ด้วยความพอใจในตัวเขา ฝ่ายภรรยาเศรษฐี สั่งให้จ่ายเนยใสขวดหนึ่ง นมส้มกระปุกหนึ่ง เครื่องเทศหนึ่งทะนาน ข้าวสาลีหนึ่งทะนาน

สองสามีภรรยาดีใจว่า ได้ไทยธรรมแล้ว ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ภรรยาบอกสามีให้ไปหาผัก เขาไม่เห็นผักที่ตลาด จึงไปริมแม่น้ำ มีใจยินดีว่าจะได้ถวายอาหารภิกษุสงฆ์ ไม่อาจเก็บความรู้สึกไว้ได้ จึงร้องเพลงพลาง เก็บผักพลาง ชาวประมงคนหนึ่งยืนทอดแหอยู่ริมแม่น้ำ ได้ยินเสียงมหาทุคคตะจำได้ มหาทุคคตะเล่าให้ฟัง

ในเบื้องแรก ชาวประมงพูดจาเป็นเชิงล้อเลียนว่า พระที่ฉันผักของแกคงจะต้องอิ่มมาก แต่เมื่อมหาทุคคตยะบอกว่าจะทำอย่างไรได้ เขาเป็นคนจนต้องเลี้ยงพระตามที่ได้ ชาวประมงเห็นใจจึงให้เขาร้อยปลาเอาไปทำกับข้าว แต่ขณะที่เขาร้อยอยู่นั่นเองชาวเมืองก็มาซื้อเอาไปเสียหมด จนกระทั่งถึงเวลาที่พระจะมาฉัน เขาจึงบอกชาวประมงว่า เขาจะต้องรีบไป เมื่อชาวประมงเห็นว่าพวงปลาหมดเสียแล้ว จึงขุดเอาปลาตะเพียน ๔ ตัว ซึ่งหมกทรายไว้เพื่อตัวเขาเองให้มหาทุคคตะไป

เช้าวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ มหาทุคคตะเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณของพระองค์ ทรงทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว ทรงดำริว่า “วันนี้มหาทุคคตะ จะไม่ได้ภิกษุใด ๆ เลย เพราะเจ้าหน้าที่ลืมจดบัญชี จำนวนภิกษุที่เขาต้องการ เว้นเราเสียแล้ว มหาทุคคตะจะไม่มีที่พึ่ง เราควรสงเคราะห์เขา”

เป็นธรรมดาของพระ พุทธเจ้า ที่ทรงพอพระทัยในการสงเคราะห์คนยากจน ดังนั้น เมื่อทรงทำสรีรกิจแต่เช้าตรู่แล้ว จึงเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ประทับนั่ง ทรงตั้งพระทัยว่าจะสงเคราะห์มหาทุคคตะ

มหาทุคคตะนำปลาตะเพียนมาสู่ เรือนแล้ว มอบให้ภรรยาทำกับข้าว ในตำนานกล่าวว่า มีเทพลงมาช่วยด้วย มหาทุคคตะรีบไปรับพระ เพื่อมาฉันที่เรือนของตน เข้าไปหาบุรุษผู้เป็นบัณฑิตที่ชักชวนให้เขาทำบุญ แต่บุรุษนั้นไม่ได้จดไว้ เขาพยายามขอโทษมหาทุคคตะ แต่ไม่สามารถระงับความเสียใจของบุรุษผู้เข็ญใจได้ เขารู้สึกเหมือนถูกประหารที่ท้องด้วยหอกคม ร่ำไห้ว่า

“เหตุไรท่าน จึงทำผมให้ต้องพิบัติขัดข้องขนาดนี้ ท่านชวนข้าพเจ้าให้รับเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง ข้าพเจ้ารับแล้ว เมื่อวานข้าพเจ้าและภรรยาออกทำงานจ้างทั้งวัน เพื่อได้ค่าจ้างมาเลี้ยงพระ ขอท่านจงให้พระแก่ข้าพเจ้าสักรูปหนึ่งเถิด”

คนทั้งหลายได้เห็นอาการของมหาทุคคตะแล้วสงสาร กล่าวกับบุรุษผู้เป็นบัณฑิตว่า

“ท่าน ได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว” บุรุษผู้นั้นละอายใจ จึงพูดกับมหาทุคคตะว่า “เพื่อน ฉันลำบากใจเหลือเกิน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี คนทั้งหลายได้นำภิกษุไปตามบัญชีของตนหมดแล้ว ไม่มีใครยอมถอนบัญชีภิกษุแม้เพียงรูปเดียว แต่ยังมีพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่อยู่รูปหนึ่ง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้พระองค์ทรงล้างพระพักตร์แล้ว ประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี พระราชา พระยุพราช และ คนใหญ่โตทั้งหลาย มีเสนาบดี เป็นต้น เฝ้ารอรับบาตรของพระองค์อยู่ ก็ธรรมดาพระพุทธเจ้า ย่อมพอพระทัยอนุเคราะห์คนยากจน ท่านจะไปยังที่ประทับของพระองค์ แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นคนยากจนพระเจ้าข้า ขอพระองค์จงทำสงเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด ดูก่อน สหาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ถ้าท่านมีบุญ ท่านจักได้พระศาสดาไปสู่เรือนของท่านอย่างแน่นอน”

มหาทุคคตะ รีบมุ่งหน้าไปสู่วิหาร

พระ ราชา และพระยุพราช เป็นต้น เห็นเขาแล้วกล่าวว่ามหาทุคคตะเข้ามาทำไม เวลานี้มิใช่เวลาอาหาร ออกไปเสียเถิด ที่ตรัสเช่นนี้เพราะเคยทอดพระเนตร เห็นเขาเป็นคนกินเดนอยู่ในวิหารในวันก่อน ๆ มหาทุคคตะจึงทูลว่า

“ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มาเพื่อต้องการอาหาร แต่มาเพื่อต้องการทูลพระศาสดาเพื่อเสวยที่บ้านของข้าพระพุทธเจ้า”

ดัง นี้แล้วได้หมอบลงที่ธรณีพระคันธกุฏี ถวายบังคม ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ และกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ในพระนครนี้ขึ้นชื่อว่าผู้ยากจนกว่าข้าพระพุทธเจ้ามิได้มี ขอพระองค์ได้โปรดสงเคราะห์และทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”

พระศาสดาทรงเปิดพระทวารพระคันธกุฎี ทรงประทานบาตรแก่เขา มหาทุคคตะปลาบปลื้มเสมือนได้สมบัติพระจักรพรรดิ์

พระ เจ้าแผ่นดินและพระยุพราช เป็นต้น มองหน้ากันอย่างพิศวง แต่ธรรมดามีอยู่ว่า ใครจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ย่อมไม่กล้าแย่งบาตรที่พระศาสดาทรงประทานแล้วแก่ผู้ใด ดังนั้น พระราชาจึงไม่กล้าแตะต้องบาตรในมือมหาทุคคตะ ได้แต่อ้อนวอนขอซื้อบาตรว่า

“มหา ทุคคตะ ท่านเป็นคนยากจน จะต้องการบาตรของพระศาสดาทำไม จงให้บาตรแก่เราเถิด เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งหรือแสนหนึ่งแก่ท่าน” คนทั้งหลาย เมื่อเห็นว่าอ้อนวอนไม่ได้ผลก็กลับไป เหลือแต่พระราชาเท่านั้นที่เสด็จติดตามพระศาสดาไป เพื่อทอดพระเนตรว่าไทยธรรมที่มหาทุคคตะถวายพระศาสดามีอะไรบ้าง หากว่าไทยธรรมมีน้อย พระศาสดาเสวยไม่พออิ่ม ก็จะนำเสด็จพระราชวังอีกครั้งหนึ่ง

ดังได้กล่าวแล้วว่า ในการทำอาหาร ครั้งนี้เทพเจ้ามาช่วยปรุงด้วย พอเปิดออกเท่านั้นกลิ่นหอมของอาหารก็ฟุ้งตลบไป แม้พระราชาเองก็ไม่เคยทรงได้กลิ่นอาหารอย่างนี้มาก่อน พระองค์ได้กราบทูลพระศาสดาตามเป็นจริงว่า เสด็จตามมาทำไม แล้วจึงเสด็จกลับวัง

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จทรงอนุโมทนาแล้ว มหาทุคคตะส่งเสด็จพระศาสดา ท้าวสักกเทวราช (ซึ่งปลอมมาเป็นพ่อครัว) ได้บันดาลให้ฝนแก้ว ๗ ประการตกลงเต็มเรือนของมหาทุคคตะ เขาได้เห็นแก้วแหวนเงินทองเต็มเรือนเช่นนั้นก็ปลาบปลื้มว่า บุญที่ทำแก่พระพุทธเจ้าให้ผลเห็นทันตา เขาได้ไปกราบทูล พระราชาขอให้นำเกวียนไปบรรทุกทรัพย์เหล่านั้นมา พระราชาให้กระทำเช่นนั้น แล้วตั้งเขาไว้ในตำแหน่งเศรษฐี

เศรษฐีนั้นทำบุญมีทานเป็นต้นตลอด ชีวิต สิ้นชีพแล้วบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง มาถึงสมัยแห่งพระโคตมพุทธะนี้ บังเกิดในท้องธิดาคนโตของสกุลอุปฐากของพระสารีบุตรในกรุงสาวัตถี

นาง แพ้ท้องอยากถวายอาหารพระสัก ๕๐๐ รูป ด้วยปลาตะเพียน แล้วนุ่งห่มผ้าสากายะ นั่งบริโภคอาหารเป็นเดนของภิกษุ พวกญาติได้จัดให้เธอทำอย่างประสงค์ อาการแพ้ท้องระงับลง

นางให้ลูกชื่อบัณฑิต เพราะเหตุที่ตั้งแต่เด็กนั้นอยู่ในท้องจนคลอด คนโง่ในบ้านของนางกลับเป็นคนฉลาด นางคิดว่าจะไม่ทำลายอัธยาศัยของบุตร คือบุตรต้องการสิ่งใดอย่างไร หากเป็นไปในทางที่ชอบแล้ว ก็จะอนุโลมตาม

เมื่อ บุตรอายุได้ ๗ ขวบก็ขอบวชในสำนักของพระสารีบุตรเถระ แม้พระเถระจะอธิบายสักเพียงใดว่าการบวชเป็นของยากทำได้ยาก แต่เด็กน้อยก็ยืนยันว่าทำได้ จะพยายามทำตามโอวาทพระเถระ พระเถระจึงให้บวชเป็นสามเณร

มารดาบิดาของสามเณรไปอยู่วัดทั้ง ๗ วัน ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข เป็นวันที่ ๗ จึงกลับเรือน

เช้าวันที่ ๘ พระเถระพาสามเณรไปบิณฑบาต ระหว่างทางสามเณรเห็นเหมืองจึงถามอุปัชฌาย์ว่านี่อะไร

“เหมือง สามเณร”พระเถระตอบ

“เขามีไว้ทำอะไร”สามเณรถาม

“เขาไขน้ำจากเหมืองนี้ไปหานาข้าวกล้า เมื่อนาขาดน้ำ”

“น้ำมีจิตไหมครับ”

“ไม่มี”

สามเณร คิดว่า เมื่อน้ำเป็นของไม่มีจิต แต่คนทั้งหลายยังไขไปทำประโยชน์ตามปรารถนาได้ ไฉนเล่า คนซึ่งมีจิตจึงจักไม่อาจฝึกจิตของตนให้ดี คนต้องสามารถฝึกจิตของตนให้ดีได้

สามเณรเดินต่อไป ได้เห็นช่างศรกำลังเอาลูกศรลนไฟเล็งด้วยหางตาดัดให้ตรง จึงถามอุปัชฌาย์ว่า ลูกศรมีจิตหรือไม่ เมื่ออุปัชฌาย์ตอบว่าไม่มี เธอจึงคิดโดยนัยก่อน

เดินทางต่อมาอีกเห็นช่างถาก ถากไม้ทำล้อเกวียน เธอถามพระอุปัชฌาย์และคิดโดยนัยก่อน

สามเณรบัณฑิตมีความคิดอันลึกซึ้ง ด้วยการเห็นสิ่งต่าง ๆ เพียงเท่านี้ เธอน้อมนำเข้ามาปรารถนาตนว่า เมื่อช่างศรดัดลูกศรได้ ช่างไม้ถากไม้ให้เป็นไปตามต้องการได้ บัณฑิตก็ควรฝึกตนได้ เธอได้บอกอุปัชฌาย์ว่าขอกลับไปวัดและขอให้พระอุปัชฌาย์ กรุณานำอาหารที่มีปลาตะเพียนมาให้ด้วย

“จะหาได้ไหนเล่า สามเณร” พระเถระถาม

“ท่านผู้เจริญ หากไม่ได้ด้วยบุญของท่านก็คงจักได้ด้วยบุญของกระผม”

พระ เถระอนุญาตให้สามเณรกลับ เพราะรู้อัธยาศัยและได้มอบลูกกุญแจให้ไปด้วย เพื่อสามเณรจะได้เข้าไปนั่งในห้อง สามเณรกลับมาบำเพ็ญสมณธรรมหยั่งความรู้ลงในกายตน พิจารณาอัตตภาพอยู่

พระ เถระรับภาระของสามเณรแล้ว คิดว่าทำอย่างไรหนอจะได้คือ ปลาตะเพียน ท่านตัดสินใจไปสู่เรือนของอุปัฏฐากคนหนึ่ง ซึ่งเคารพเลื่อมใสในท่านมาก พอดีวันนั้นอุปัฏฐากได้ปลาตะเพียนมาหลายตัว กำลังนั่งคอยการมาของพระเถระอยู่ เมื่อเห็นพระเถระก็ดีใจนิมนต์ให้นั่ง ถวายอาหาร มีรสปลาตะเพียน พระเถระแสดงอาการว่าจะลุกไปฉันที่วัด เพื่อให้สามเณรด้วย แต่อุปัฏฐากขอร้องให้ฉันที่บ้าน และว่าอาหารที่จะนำไปนั้นมีอยู่จะถวายเมื่อฉันเสร็จแล้ว พระเถระฉันเสร็จแล้ว อุปัฏฐากได้ถวายอาหารเจือด้วยปลาตะเพียนอีกจนเต็มบาตร

พระเถระรีบกลับมาด้วยห่วงสามเณร

ฝ่ายสามเณรนั่งบำเพ็ญธรรมอยู่ได้บรรลุผล ๓ คือ โสดาบันปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล

วัน นั้น พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นเรื่องทั้งปวงของสามเณรแล้ว ทรงดำริ บัดนี้สามเณรบัณฑิตได้บรรลุอนาคามิผลแล้ว และอุปนิสัยแห่งอรหัตผลของเธอมีอยู่ หากเราไม่ไปช่วย พระสารีบุตรจักนำอาหารมา ทำลายสมณธรรมของสามเณรเสีย”

ดังนี้แล้ว เสด็จไปดักพระสารีบุตรที่ซุ้มประตู เพื่อชะลอเวลา

เมื่อพระสารีบุตรมาถึง พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ เกี่ยวกับเรื่องอาหารว่า

“อาหารย่อมนำมาซึ่งอะไร”

“นำเวทนามา พระเจ้าข้า”

“เวทนานำมาซึ่งอะไร”

“นำมาซึ่งรูปพระเจ้าข้า”

“รูป นำมาซึ่งอะไร”

“นำผัสสะมาพระเจ้าข้า”

มีคำอธิบายโดยย่อดังนี้

“เมื่อ บุคคลหิว บริโภคอาหารบำบัดความหิวแล้ว สุขเวทนา ย่อมเกิดขึ้น ต่อจากนั้นวรรณสมบัติย่อมมีในสรีระ คือทำให้รูปเปล่งปลั่งมีนวล ต่อจากนั้น นั่งอยู่หรือนอนอยู่ก็ตามย่อมได้สุขผัสสะ”

ขณะที่พระสารีบุตร แก้ปัญหาพระศาสดาอยู่นี้ สามเณรได้บรรลุอรหัตผล พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ แล้วจึงทรงอนุญาตให้พระเถระนำอาหารไปให้สามเณร

พระเถระไปเคาะประตู สามเณรออกมารับบาตรวางไว้แล้ว เอาพัดก้านตาลพัดพระเถระเมื่อพระเถระ บอกให้ฉัน จึงฉัน

เด็กอายุ ๗ ขวบบวชแล้ว บรรลุพระอรหัตผลในวันที่ ๘ ประหนึ่งดอกประทุมอันแย้มบานแล้วด้วยประการฉะนี้

บ่ายวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันเรื่องสามเณรบัณฑิต พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า

“ภิกษุ ทั้งหลาย ธรรมดาบัณฑิตย่อมเป็นอย่างนี้ คือเห็นคนไขน้ำจากเหมือง ช่างศรดัดลูกศรเป็นต้นแล้ว ย่อมน้อมนำเข้ามาในตนและฝึกฝนตน ย่อมสามารถบรรลุอรหัตผลได้โดยพลัน”

No comments: