Friday, March 6, 2009

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๕ พระอานนท์

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๕ พระอานนท์

จากหนังสือ พุทธชัยมงคลคาถา โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



พุทธ ชัยมงคลข้อที่ ๓ คือ กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับช้างนาฬาคิรี ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูร่วมกับพระเทวทัตปล่อยมา เพื่อจะทำร้ายพระองค์ ในขณะที่เสด็จบิณฑบาต ณ เมืองราชคฤห์ นี่ก็เป็นครั้งที่ ๓ ที่พระเทวทัต พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า

ครั้งแรกก็ได้ส่งคนแม่นธนูไป เพื่อจะให้ยิงพระพุทธเจ้า ก็ส่งคนแม่นธนูไปหลายชุดเหมือนกัน มีแผนว่าส่งไป ๔ คน ต่อมาก็ส่งไป ๘ คนเพื่อให้ฆ่า ๔ คน ต้องการฆ่าปิดปาก แล้วก็ส่งไป ๑๖ คนเพื่อให้ฆ่า ๘ คน ทำนองนั้น แต่ว่าคนแม่นธนูทุกชุด ที่พระเทวทัตส่งไป ก็ปรากฏว่าไปเลื่อมใสพระพุทธเจ้าหมด ไม่สามารถทำร้ายพระพุทธเจ้าได้

ครั้ง ต่อมา พระเทวทัตก็ลงมือเอง กลิ้งหินลงมาจากยอดภูเขาคิชกูฏ ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นภูเขาคิชกูฏ กลิ้งหินก้อนใหญ่เพื่อให้ทับพระพุทธเจ้า โชคดีหรือเป็นพุทธบารมีที่หินไปค้างอยู่ ไม่กลิ้งลงไป แต่ว่าสะเก็ดหินได้ไปกระทบพระบาทของพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตห้อ คือตามธรรมดาของพระพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถทำพระโลหิตให้ออกจากพระกายได้ โดยความตั้งใจที่จะทำร้าย ก็ไม่สำเร็จสมใจของพระเทวทัต

พระเทวทัต ก็มาคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้ ในที่สุดก็มาคิดได้ว่า มีช้างดุร้ายอยู่เชือกหนึ่ง คือช้างนาฬาคิรี ของพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ไปชักชวนให้พระเจ้าอชาตศัตรูยอมปล่อยช้างนาฬาคิรี เพื่อมาประหารพระพุทธเจ้า

ตามธรรมดาเขาจะมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ๘ หม้อ วันนั้นพระเทวทัตได้ขอร้องควาญช้างในฐานะที่เป็นผู้สนิทกับพระราชาว่าให้มอม เหล้าช้างนาฬาคิรีอีกเท่าหนึ่ง คือเป็น ๑๖ หม้อ

พอเช้า ช้างนาฬาคิรีก็ถูกปล่อยออกมา เพื่อจะไปทำร้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยพระอานนท์และภิกษุสงฆ์

แต่ ที่จริงข่าวนี้ ก็ได้รั่วไหลไปก่อนแล้ว เรื่องที่พระเทวทัตสมคบกับพระเจ้าอชาตศัตรู เพื่อจะปล่อยช้างนาฬาคิรีในวันรุ่งขึ้น ใครๆ ก็พากันเป็นห่วงพระพุทธเจ้า และห้ามว่าพรุ่งนี้อย่าได้เสด็จออกไปบิณฑบาต แต่พระพุทธเจ้าก็นิ่งเฉยเสีย พอเช้าก็เสด็จออกไปบิณฑบาตตามปกติก็ได้เวลาปล่อยช้างพอดี ช้างก็วิ่งมาจะทำร้ายพระพุทธเจ้า

ปรากฏตามตำราว่ามีคนมาดูกันมาก ที่ตกใจก็มี ที่อยากเห็นอยากรู้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ บนบ้านก็มี ก็เป็นสงครามระหว่างช้างศึกที่ดุร้ายกับพระพุทธเจ้า

พระอานนท์ออก ขวางหน้าไว้ ขอร้องให้พระพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง ท่านจะรับหน้าเอง ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาพระพุทธเจ้าเอาไว้ พระพุทธเจ้าท่านห้ามถึง ๓ ครั้งว่า อานนท์อย่าทำอย่างนั้นเลย นี่เป็นหน้าที่ของตถาคตที่จะต้องปราบช้างด้วยเมตตา พระอานนท์ก็ไม่ยอม ในตำราบอกว่า พระพุทธเจ้าบันดาลด้วยฤทธิ์ให้พระอานนท์มาอยู่ข้างหลังพระองค์ เมื่อช้างวิ่งมาถึง พระพุทธเจ้าก็แผ่พระเมตตาไป ช้างนาฬาคิรีทั้งๆ ที่เมาอยู่อย่างนั้น ก็กระทบถึงกระแสพระเมตตาของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพลังมากเหลือเกิน ไม่อาจทำร้ายพระพุทธเจ้าได้ กลับหมอบลง

พระ พุทธเจ้าก็ทรงให้โอวาทสั่งสอนช้าง เป็นทำนองว่า เกิดมาเป็นเดรัจฉานก็เพราะบาปกรรมที่เคยทำมา ชาตินี้อย่าได้ทำบาปกรรมอะไรอีกเลย ช้างก็เชื่อง ไม่ดุร้ายอีกต่อไป ตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นช้างที่มีศีล

ปรากฏว่าวันนั้น ประชาชนก็ตื่นเต้นกันมาก ทั้งเมืองราชคฤห์โจษขานกันตลอดทั้งเมืองทั้งวัน พระพุทธเจ้าทรงดำริว่าวันนี้เราได้ทำอภินิหารมากแล้ว ในการปราบช้างนาฬาคิรี อย่าได้ออกไปบิณฑบาตอีกเลย ก็เลยเสด็จกลับไปเวฬุวัน ปรากฏว่ามีประชาชนได้ไปประชุมกันที่ เวฬุวันเป็นจำนวนมาก ไปถวายข้าวปลาอาหารแก่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์

ความพยายามของพระเทวทัตก็ไม่สำเร็จอย่างเคย ความร้ายของพระเทวทัตไม่สำเร็จ สู้ความดีของพระพุทธเจ้าไม่ได้

เย็น วันนั้นเอง ภิกษุทั้งหลายก็ประชุมกันในธรรมสภา สนทนากันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตอนเช้า แล้วก็พรรณนาถึงคุณของพระอานนท์ว่า พระอานนท์นั้นเป็นมหามิตรของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ยอมเสียสละชีวิตเพื่อพระองค์ มีความกล้าหาญ เอาชีวิตเข้าแลกกับผู้มีพระภาคเจ้า

เย็นวันนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่ธรรมสภา ทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า อานนท์ได้สละชีวิตเพื่อเราไม่ใช่เพียงแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ในสมัยที่เป็นกำเนิดของเดรัจฉาน อานนท์ก็เคยสละชีวิตเพื่อเราแล้วเหมือนกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงแสดงเรื่องในอดีต พระพุทธเจ้าก็ทรงเล่าเรื่องในอดีต ที่พระองค์และพระอานนท์ได้เป็นมิตรและได้ช่วยเหลือกันอย่างไร เรื่องเป็นอย่างนี้

ในอดีตกาลไม่ไกลจากนครสาคละ แคว้นมหิสกะ มีสระบัวหลวง สวยงามกว้างใหญ่น่ารื่นรมย์ เป็นที่อาศัยหากินของนกเป็นอันมาก พรานนกคนหนึ่งมาดักบ่วงได้อยู่เสมอ นำไปกินและขายด้วย

หงส์ฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำ ณ ภูเขาคิชกูฏ หัวหน้าฝูงคือพญาหงส์ชื่อธตรฐ มีหงส์ที่สนิทชื่อสุมุข เป็นกัลยาณมิตร คราวหนึ่งนกหงส์ ๒-๓ ตัว ไปหากินที่สระบัวหลวงชื่อมานุษยะ รู้สึกพอใจจึงมาเล่าให้พญาหงส์ฟังว่าเป็นสระที่มีอาหารมาก แต่เป็นถิ่นของมนุษย์ พวกเขาอยากไปหากินที่สระนั้นอีก

พญาหงส์ห้าม ว่าถิ่นมนุษย์มีอันตรายมากสำหรับนกไม่ควรจะไป แต่บริวารก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า พญาหงส์จึงอนุโลมตามและบอกว่าจะไปด้วย คราวนั้นมีหงส์บริวารตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก พอร่อนลงเท่านั้น พญาหงส์ก็ติดบ่วงของพรานรัดเท้าไว้แน่น คิดว่าจะทำให้บ่วงขาดจึงดึงเท้าอย่างแรง ครั้งแรกหนังถลอก ครั้งที่ ๒ เนื้อขาด ครั้งที่ ๓ เอ็นขาด ถึงครั้งที่ ๔ บ่วงกินลึกลงไปถึงกระดูก เลือดไหลมากเจ็บปวดแสนสาหัส

พญาหงส์คิดว่าถ้าจะร้องขึ้นว่าติดบ่วง บริวารซึ่งกำลังกินอาหารเพลินอยู่ ก็จะตกใจกินอาหารไม่ทันอิ่ม เมื่อกินอาหารไม่อิ่ม บินกลับไปไม่มีกำลังพอ ก็จะตกทะเลตายกันหมด จึงเฉยอยู่ รอให้บริวารกินอาหารจนอิ่ม ตนเองยอมทนทุกข์ทรมานด้วยบ่วงนั้น

เมื่อ เวลาล่วงไปพอสมควร เห็นว่าพวกหงส์กินกันหมดแล้วกำลังเล่นเพลินกันอยู่ จึงร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่าติดบ่วงๆ พอได้ยินดังนั้น หงส์บริวารทั้งหลายก็ตกใจ คุมกันเป็นพวกๆ แล้วบินหนีไปยังภูเขาคิชกูฏ

หงส์ สุมุขก็บินไปกับบริวารเหมือนกัน เพราะได้ยินแต่คำว่าติดบ่วง ไม่รู้แน่ว่าเป็นใคร เมื่อบินไปสักครู่หนึ่ง ก็นึกเฉลียวใจว่าพญาหงส์อาจจะติดบ่วงก็ได้ จึงบินด้วยกำลังทั้งหมดสำรวจหงส์ทุกฝูง เมื่อไม่เห็นพญาหงส์ก็คิดว่าอันตรายคงเกิดขึ้นแก่พญาหงส์ จึงรีบบินกลับไปยังสระมานุษยะ เห็นพญาหงส์กำลังติดบ่วง จึงปลอบใจว่า อย่ากลัวเลย จะสละชีวิตแทน จะอยู่เป็นเพื่อนตาย พญาหงส์กล่าวว่า ฝูงหงส์บินหนีกันไปหมดแล้ว ขอท่านจงเอาตัวรอดเถิด ไม่มีประโยชน์อะไรในการอยู่ที่นี่ เมื่อข้าพเจ้าติดบ่วงอยู่เช่นนี้ ความเป็นสหายจะมีประโยชน์อะไรเล่า

สุมุขก็กล่าวตอบว่า ข้าพเจ้าจะอยู่หรือจะไปก็ต้องตายอยู่ดี จะหนีความตายหาได้ไม่ เมื่อท่านมีสุข ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ เมื่อท่านมีทุกข์ ข้าพเจ้าจะจากไปเสียอย่างไร การตายพร้อมกับท่านประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยไม่มีท่าน เมื่อท่านมีทุกข์อยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้าจะไปเสีย ดูไม่เป็นธรรมเลย

พญา หงส์กล่าวว่า คติของผู้ติดบ่วงเช่นข้าพเจ้าจะมีอะไรนอกจากต้องเข้าโรงครัว ท่านเป็นผู้มีความคิด จะเข้าใจคติเช่นนี้ได้อย่างไร ท่านเห็นประโยชน์อะไรในการยอมตายกับข้าพเจ้า ท่านมายอมสละชีวิตในเรื่องที่ไม่ได้เห็นคุณอย่างแจ่มแจ้ง เหมือนคนตาบอดทำกิจการในที่มืด จะให้สำเร็จประโยชน์อย่างไร ท่านมิได้เล็งให้เห็นประโยชน์อันรุ่งเรืองเลย

พญาหงส์พูดดีเหลือ เกิน กระทั่งคนก็ยังพูดไม่ได้ สุมุขยังกล่าวดีขึ้นไปอีก กล่าวตอบว่า ทำไมท่านจึงไม่รู้แจ้งซึ่งความหมายแห่งธรรม ธรรมที่บุคคลเคารพแล้ว ย่อมแสดงประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเพ่งถึงธรรมและประโยชน์ที่จะได้จากธรรม มิใช่ผลประโยชน์ทางวัตถุ คำนึงถึงความภักดีในท่าน จึงมิได้เสียดายชีวิต ธรรมดามิตรเมื่อระลึกถึงธรรมอยู่ ก็ไม่ควรทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้จะต้องเสียชีวิตก็ตาม นี่คือธรรมของสัตบุรุษ

พญาหงส์กล่าวว่า ท่านประพฤติธรรมดีแล้ว ความภักดีในตัวข้าพเจ้าท่านก็แสดงออกชัดเจนแล้ว ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านไปเสียจากที่นี่ ขอให้ทำตามความต้องการของข้าพเจ้า ขอช่วยไปดูแลฝูงหงส์บริวารของข้าพเจ้าด้วย

เมื่อหงส์ทั้งสองกำลัง เจรจากันอยู่อย่างนี้ นายพรานก็มาถึงสงสัยว่าหงส์ตัวหนึ่งติดบ่วงอยู่ แต่อีกตัวหนึ่งมิได้ติดบ่วง ทำไมจึงยืนอยู่ใกล้ๆ มิได้บินหนีไป จึงไต่ถามสุมุขตอบให้ทราบว่าพญาหงส์เป็นนายของตน ไม่อาจละทิ้งท่านไปได้ เขาจึงถามพญาหงส์ว่า เป็นถึงพญาหงส์ เหตุไฉนจึงมาติดบ่วง ทั้งที่บริวารก็มิได้ติด หัวหน้าผู้ฉลาดควรรู้ถึงอันตรายนี้ เป็นธรรมดาของผู้เป็นใหญ่ สุมุขได้ตอบแทนพญาหงส์ว่า เมื่อความเสื่อมมาถึงเข้าในกาลใด กาลนั้นสัตว์ไม่เข้าใกล้บ่วงก็ไม่รู้สึก เมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิตก็เช่นเดียวกัน

ที่จริงชาดกนี่ เค้าเรื่องก็น่าสนใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือคำสนทนาของนกหรือของสัตว์หรือบุคคลในชาดกนั้นเอง เป็นคำพูดที่น่าสนใจ เป็นสุภาษิต บางคราวแร้งก็ไปติดบ่วง ก็มีผู้ถามว่าตาของนกแร้งนี่มองเห็นได้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ ซากศพอยู่ที่ไหนก็มองเห็นมองเห็นได้ไกล แต่ทำไมบ่วงอยู่ใกล้ๆ ถึงมองไม่เห็น พญาแร้งก็ตอบทำนองเดียวกันนี่ ว่าเมื่อความวิบัติจะมาถึง ก็ทำให้ไม่เห็นบ่วง

เพื่อจะขอชีวิตของพญาหงส์ สุมุขกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานให้นายพรานเห็นใจ ขอให้ปล่อยเขาทั้งสองไป เพื่อพบญาติและบริวาร เป็นทำนองว่า ถ้าฆ่าเขาทั้งสอง ก็ได้อาหารเพียงมื้อสองมื้อ หรือถ้าจะนำไปขาย ก็คงได้เงินเพียงเล็กน้อยไปเลี้ยงชีพ แต่ถ้าปล่อยเขาไปพรานก็จะได้บุญไม่น้อยทีเดียว

พรานนั้นตามปกติ นิยมสรรเสริญในน้ำใจภักดี และเสียสละของสุมุขอยู่แล้ว ที่ยอมสละชีวิตเป็นมิตรพลี จึงมีจิตใจอ่อนโยน ต้องการจะปล่อยหงส์ทั้งสองไป แต่เพื่อทดลองใจของสุมุขมากขึ้นจึงกล่าวว่า ท่านเองมิได้ติดบ่วง และเราก็มิได้ปรารถนาจะฆ่าท่านท่านจงรีบไปเสียเถิด ขอให้ท่านอยู่เป็นสุขตลอดกาลนาน

สุมุขตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ประสงค์มีชีวิตอยู่โดยไม่มีพญาหงส์ ถ้าท่านพอใจเพียงชีวิตเดียว ก็ขอให้ปล่อยพญาหงส์เถิด ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นท่านจะปล่อยหรือจะกินเสียก็ได้ ข้าพเจ้าทั้งสองมีรูปกายเท่ากัน ถึงจะเอาข้าพเจ้าไปแทน ลาภของท่านก็มิได้พร่อง ขอได้โปรดเปลี่ยนตัวข้าพเจ้ากับพญาหงส์เถิด ถ้าท่านไม่แน่ใจ ก็ขอให้เอาบ่วงผูกมัดข้าพเจ้าไว้แล้วปล่อยพญาหงส์ไป

พราน มีจิตใจอ่อนโยนยิ่งขึ้น ต้องการจะยกพญาหงส์ให้เป็นรางวัลแก่สุมุข จึงได้กล่าวว่า ขอให้ใครๆ ทราบเถิดว่า พญาหงส์พ้นจากบ่วงและพ้นจากความตายก็เพราะท่าน บรรดามิตรทั้งหลาย มิตรอย่างท่านหาได้ยากในโลก หรืออาจไม่มีในโลก ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเห็นใจท่าน เคารพในน้ำใจของท่าน ขอท่านทั้งสองจงบินไปเถิด ไปสู่หมู่ญาติและบริวาร

สุมุขทราบว่านาย พรานมีกิจคือการดักบ่วง ก็เพื่อได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ก็ควรจะตอบแทนน้ำใจของนายพรานที่ปล่อยตนทั้งสอง จึงขอร้องให้พรานนำตนและพญาหงส์ไปเฝ้าพระราชา พระราชาทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ทรงเลื่อมใสในหงส์และพรานที่ประพฤติธรรมต่อกัน ทรงพระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก แก่พรานเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพไปตลอดชีวิต

ท่าน ผู้อ่านจะสังเกตพบในชาดกนี้ และเรื่องราวของพระพุทธเจ้าว่า การคบบัณฑิตและนักปราชญ์ มีประโยชน์มากอย่างนี้ การมีคนดีเป็นมิตรสหาย เมื่อมีทุกข์ก็เป็นที่พึ่งได้ ไม่ยอมละทิ้งในยามวิบัติ และยอมสละได้แม้ชีวิตเพื่อมิตรที่ดี กัลยาณมิตรผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมในมิตร หาได้ยากในโลก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้แล้วก็ควรประคับประคองมิตร ควรรักษามิตรด้วยดี

คุณ ประโยชน์ของการมีกัลยาณมิตร เช่นเรื่องที่พระอานนท์ได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร ต่ออีกสักเรื่องพอเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีมากมายเหลือเกินเกี่ยวกับพระอานนท์กับ พระพุทธเจ้า ซึ่งเกื้อกูลกันมาตลอดสังสารวัฏ เรื่องที่จะเล่าต่อไปเป็นเรื่องราชสีห์ติดหล่ม ปรารภเรื่องพระอานนท์เหมือนกันว่า พระอานนท์เถระได้รับอาราธนาให้ไปสอนธรรมในพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล สอนแก่มเหสีพระราชเทวี และสนม

วันหนึ่งพระราชาถวายผ้าราคา ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่พระอานนท์ จำนวน ๑,๐๐๐ ผืน ต่อมาพระราชาได้พระราชทานผ้าเนื้อดีแก่พระราชเทวี ๕๐๐ พระองค์ องค์ละผืน รวม ๕๐๐ ผืน พระราชเทวีเหล่านั้นฟังธรรมของพระอานนท์แล้วเลื่อมใส ได้ถวายผ้าเหล่านั้นแก่พระเถระจนหมด เมื่อไปเฝ้าพระราชาในเวลาเสวยพระกระยาหาร ก็สวมฉลองพระองค์เก่าๆ ไป พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ตรัสถามว่า ได้ให้ผ้าใหม่เนื้อดีไปแล้ว ไฉนจึงไม่ใช้สอย นุ่งผ้าเก่าๆ มาที่เฝ้า

พระราชเทวีทูลว่า ได้ถวายผ้าเหล่านั้นแก่พระอานนท์หมดแล้ว พระอานนท์รับไว้ทั้งหมดหรือ ทั้งหมดเลยพระเจ้าขา

พระ ราชาทรงพิโรธว่าพระศาสดาทรงบัญญัติให้สมณศากยบุตรใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน ไฉนพระอานนท์จึงรับผ้าไว้มากมายเพียงนั้น จะตั้งร้านค้าผ้าหรืออย่างไร เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้วเสด็จไปหาพระอานนท์เถระ ตรัสถามเรื่องอื่นก่อนว่า พระคุณเจ้า สตรีที่ตำหนักยังเรียนธรรมอยู่หรือ ขอถวายพระพรยังเรียนอยู่ เรียนธรรมอย่างเดียว หรือถวายผ้าด้วย ถวายผ้าด้วยมหาบพิตร วันนี้ถวายมา ๕๐๐ ผืน ล้วนผ้าราคาแพงผืนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะทั้งนั้น ท่านรับไว้ทั้งหมดหรือ รับไว้ทั้งหมดมหาบพิตร ก็พระสุคตเจ้าทรงบัญญัติให้สาวกใช้ผ้าเพียง ๓ ผืนเท่านั้นมิใช่หรือ ถูกแล้วมหาบพิตร แต่มิได้ทรงห้ามการรับ พระอานนท์เถระได้ทูลตอบพระราชา ฉะนั้นอาตมภาพรับไว้เพื่อภิกษุอื่นที่จีวรเก่าด้วย

พระราชาตรัสถาม ต่อไปว่า ภิกษุเหล่านั้นเอาจีวรเก่าไปทำอะไร เอาไปทำผ้าปูนั่ง มหาบพิตร ผ้าปูนั่งเก่าเอาไปทำอะไร ทำผ้าเช็ดเท้า มหาบพิตร, ผ้าเช็ดเท้าเก่าทำอะไร เอามีดสับผ้าเช็ดเท้าเก่าแล้วเคล้ากับดินเหนียวฉาบทาเสนาสนะ มหาบพิตร

พระ ราชาก็ตรัสต่อไปว่า ของที่ถวายพระคุณเจ้ามิได้สูญเปล่าเลยหรือ ไม่สูญเปล่าเลย มหาบพิตร ของที่ถวายด้วยศรัทธา ภิกษุจะทำให้เสียหายมิได้ ต้องทำให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด

พระราชาชื่นชมโสมนัส ให้คนนำผ้าอีก ๕๐๐ ผืนมาถวายอีก ผ้า ๕๐๐ ผืนชุดก่อน พระเถระได้แจกให้แก่พระเถระทั้งหลายที่จีวรเก่าแล้ว ส่วนผ้า ๕๐๐ ผืนชุดหลัง ท่านได้ให้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งทั้งหมด

พระอานนท์มี สัทธิวิหาริก คือศิษย์อุปัชฌาย์ ศิษย์ที่ท่านบวชให้เองอยู่ประมาณ ๕๐๐ รูป แต่มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ท่าน เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้ให้จีวร ๕๐๐ ผืนแก่ภิกษุหนุ่มเพียงรูปเดียว

ที่ว่ามี อุปการะมากแก่ท่านนั้นก็คือ เป็นผู้กวาดบริเวณกุฏิ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้ท่าน ถวายไม้สีฟัน น้ำล้างปาก น้ำล้างหน้า และน้ำสรง ดูแลเว็จกุฎี คือห้องน้ำห้องส้วม เรือนไฟและเสนาสนะ นวดมือนวดเท้า และทำอุปการกิจอื่นๆสุดแล้วแต่จะมีมา พระเถระก็คิดถึงอุปการคุณของภิกษุนั้น จึงได้มอบจีวรให้ทั้ง ๕๐๐ ผืน ท่านก็คงทราบเพราะท่านรู้จักลูกศิษย์ของท่านดี ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีนิสัยดี ก็ได้แจกจ่ายจีวรนั้นแก่เพื่อนร่วมอุปัชฌาย์จนหมดสิ้น

ภิกษุเหล่า นั้นเย็บย้อมจีวรของตนแล้วก็ห่มไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า การให้เพราะเห็นแก่หน้ามีอยู่แก่บุคคลชั้นโสดาบันหรือพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสตอบว่า ไม่มีดอกภิกษุ มีอะไรเป็นเหตุแห่งคำถามนี้หรือ

ภิกษุ กราบทูลว่า มีพระเจ้าข้า คืออุปัชฌาย์ของพวกข้าพระองค์ได้ผ้ามา ๕๐๐ ผืนไปให้แก่ภิกษุหนุ่มรูปเดียวจนหมด อย่างนี้ไม่เรียกว่าให้เพราะเห็นแก่หน้าหรือ พระศาสดาตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ อานนท์ทำเพราะเห็นแก่อุปการะของภิกษุหนุ่มรูปนั้น เห็นเธอเป็นผู้มีอุปการะมาก ต้องการยกย่องให้ปรากฏแก่ศิษย์ทั้งหลาย นี่เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งของครูหรืออาจารย์ ดูก่อนภิกษุ แม้บัณฑิตในครั้งโบราณ แม้เป็นสัตว์เดรัจฉานก็รู้อุปการะของผู้อื่นและทำตอบแทน

พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ก็นำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ดังนี้

ใน อดีตกาล ราชสีห์ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำบนภูเขา วันหนึ่งยืนมองลงไปที่เชิงเขา ณ เชิงเขานั้นมีสระใหญ่สระหนึ่ง มีหญ้าเขียวสดอ่อนไสวขึ้นตามเชิงเลนขอบสระ สัตว์เล็กๆ เช่น กระต่ายและแมวป่า สุนัขจิ้งจอกต่างก็เที่ยวเล็มหญ้าอยู่ตามเชิงเลนของสระ เนื้อตัวหนึ่งเที่ยวเล็มหญ้าอยู่ สีหเห็นเนื้อนั้นแล้ว ต้องการจับเนื้อเป็นอาหาร จึงกระโดดจากภูเขาวิ่งอย่างเร็ว เนื้อวิ่งสุดกำลังของตนเหมือนกัน สีหไม่อาจยั้งกำลังได้จึงตกลงไปติดที่เชิงเลนขึ้นไม่ได้ เท้าทั้ง ๔ ฝังลงไปเหมือนเสา ยืนอดอาหารอยู่ถึง ๗ วัน

สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งหา กินเพลินอยู่ มาเห็นสีหตกใจกลัวทำท่าจะวิ่งหนี สีหร้องบอกว่าอย่าหนีเลย เราติดหล่มขึ้นไม่ได้หลายวันแล้ว ช่วยชีวิตเราทีเถอะ สุนัขจิ้งจอกเข้าไปใกล้สีหพลางกล่าวว่า เรากลัวว่าเมื่อช่วยท่านได้แล้ว ท่านจะจับเรากินเป็นอาหารเสีย

ราชสีห์ยืนยันว่า อย่ากลัวเลย เรารับรองว่าจะไม่กินท่าน แต่เราจะสนองคุณท่าน จงช่วยเราถอนขึ้นจากหล่มเถิด

สุนัข จิ้งจอกรับคำมั่นสัญญาแล้ว คุ้ยเลนรอบๆเท้าของราชสีห์ออก ขุดลำรางให้น้ำไหลเข้ามา ทำให้เลนเหลว สุนัขจิ้งจอกมุดตัวเข้าไประหว่างท้องสีห เอาศีรษะดันท้อง แล้วก็ร้องดังๆว่า นายพยายามเข้าเถิด สีหออกแรงตะกายขึ้นจากเลนได้วิ่งไปยืนพักเหนื่อยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ลงสระล้างโคลนอาบน้ำระงับความกระวนกระวายแล้ว จับกระบือตัวหนึ่งได้แล้ว เอาเขี้ยวแหวะฉีกล้วงเนื้อมาวางไว้ข้างหน้าของสุนัข ให้สุนัขจิ้งจอกกินก่อน ส่วนตนกินทีหลัง

สุนัขจิ้งจอกคาบเอาเนื้อ ชิ้นหนึ่งวางไว้ เมื่อสีหว่าเนื้อนั้นเพื่อใคร สุนัขจิ้งจอกบอกว่า เพื่อนางสุนัขจิ้งจอก ราชสีห์ก็ว่าจงเอาไปเถิด เพราะตนก็จะเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนางสิงห์เหมือนกัน สัตว์ทั้งสองกินเนื้อจนอิ่มหนำสำราญ แล้วเอาเนื้อไปฝากนางสุนัขจิ้งจอกและนางสิงห์ ไปที่อยู่ของนางสุนัขจิ้งจอกก่อน ชวนครอบครัวสุนัขจิ้งจอกไปอยู่กับตนที่ถ้ำบนภูเขา รับว่าจะเลี้ยงดูให้มีความสุข

สัตว์สองตระกูลสองครอบครัวอยู่ร่วม กันอย่างมีความสุข สุนัขจิ้งจอกกับราชสีห์ นางสิงห์กับนางสุนัขจิ้งจอก และลูกๆ ก็กลมเกลียวกันอย่างดี

จำเนียรกาลล่วงมา นางสิงห์คิดว่า ไฉนหนอราชสีห์สามีเราจึงรักนางสุนัขจิ้งจอกและลูกๆ ของมันนักหนา อาจจะเคยลักลอบได้เสียเป็นเมียผัวกับนางสุนัขจิ้งจอกก็ได้ จึงเสน่หามันมากนัก อย่ากระนั้นเลย เราจะหาอุบายให้นางสุนัขจิ้งจอกไปจากที่นี่
คิดอย่างนี้แล้ว เมื่อสุนัขจิ้งจอกและสีหสามีตนออกไปหากิน จึงกลั่นแกล้งขู่เข็ญนางสุนัขจิ้งจอกนานาประการ อาทิ ว่าทำไมอยู่ที่นี่นานนัก ไม่ไปที่อื่นบ้าง ส่วนลูกนางสิงห์ก็ขู่เข็ญลูกนางสุนัขจิ้งจอกบ้างเหมือนกัน

เมื่อ สุนัขจิ้งจอกกลับมา นางสุนัขจิ้งจอกก็เล่าเรื่องต่างๆ ให้สามีฟัง และตั้งข้อสงสัยว่าไม่ทราบว่าที่นางสิงห์ทำนั้น ทำไปโดยพลการ หรือทำไปตามคำสั่งของสีห

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปหาสีห พูดว่า

“นาย ข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่านนานนักแล้ว ผู้อยู่ร่วมกันนานเกินไป ทำให้ความรักจืดจางลงได้ ผู้ใดไม่พอใจให้คนอื่นอยู่ในสำนักของตน ก็จะขับไล่เสียว่า จงไปเสียทีเถิด จะเหน็บแนมเอาประโยชน์อะไรกัน” ดังนั้นแล้ว ก็เล่าพฤติการณ์ของนางสิงห์ให้ราชสีห์ฟังทุกประการ พร้อมกับถามว่า พญาเนื้อผู้มีกำลัง อยากจะให้ใครไปก็ย่อมจะไล่ได้ นี้เป็นธรรมดาของผู้มีกำลังทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีเขี้ยวโง้ง โปรดทราบเถิดว่าบัดนี้ภัยเกิดจากที่พึ่งเสียแล้ว

สีหราชฟังเช่นนี้ แล้ว ถามนางสิงห์ว่า เป็นความจริงหรือที่ขู่เข็ญนางสุนัขจิ้งจอก นางสิงห์รับว่าเป็นความจริง ราชสีห์จึงว่านางไม่รู้หรือ เมื่อเราไปหากินครั้งโน้น เราไม่กลับมาถึง ๗ วันเพราะเหตุไร นางสิงห์ตอบว่าไม่ทราบ สีหราชจึงเล่าเรื่องที่ตนติดหล่มให้นางสิงห์ฟัง และว่าสุนัขจิ้งจอกนี้เป็นสหายผู้ช่วยชีวิตเรา มิตรที่สามารถดำรงมิตรธรรมไว้ได้ ชื่อว่าอ่อนกำลังย่อมไม่มี ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าได้ดูหมิ่นมิตรของเราและครอบครัวของเขาอีก

และ ย้ำว่ามิตรเขามีกำลังน้อย แต่เขาดำรงอยู่ในมิตรธรรมคือเป็นมิตรแท้ เป็นกัลยาณมิตร ก็นับว่าเป็นทั้งญาติ ทั้งพี่น้อง เป็นทั้งมิตรสหาย อย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกผู้ที่ได้ช่วยชีวิตของเราไว้

นี่ก็เป็น ความกตัญญูกตเวทีของสีหราชหรือพญาราชสีห์ นางสิงห์รู้ว่าตนเข้าใจผิดไป จึงขอขมา ตั้งแต่นั้นมาสัตว์ทั้ง ๒ ตระกูลก็กลมเกลียวรักใคร่กันดังเดิม

เมื่อพ่อแม่สิ้นชีวิตแล้ว ลูกของสัตว์ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันมาถึง ๗ ชั่วอายุ

นี่ ก็เป็นเรื่องที่เป็นตัวอย่างให้กับมนุษย์ ความจริงเรื่องมันก็เกิดในสังคมมนุษย์นั่นแหละ แต่ท่านก็นำเรื่องของสัตว์ชนิดต่างๆ มาเป็นตัวอย่าง


No comments: