Sunday, February 24, 2008

อบรมธรรมะคอร์สที่1 วันที่ 9 มี.ค. 2551

เรียนเชิญผู้ที่สนใจจะเข้าอบรมธรรมะ และการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องโดย คุณศิริพงษ์ อัครศรียุกต์
จะเป็นอาจารย์ผู้บรรยายและฝึกสอนด้วยตัวเอง

กำหนดการจะจัดอบรมธรรมะ "ความสำเร็จที่มาจากพระพุทธเจ้า คอร์สที่ 1" ในวันอาทิตย์ ที่ 9 มีนาคม 2551 นี้ เวลา 8.00-23.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ผลที่ได้จากการอบรมธรรมะคอร์สที่ 1

1.ท่านจะมีความเข้าใจในศาสนาพุทธอย่างแท้จริงโดยที่ท่่านไม่เคยรู้มาก่อน
2.ท่านจะมีความเข้าใจในเรื่องของบุญอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้รู้วิธีเพิ่มบุญวาสนา
บารมี จนทำให้ตนเองสามารถประสบความสำเร็จได้
3.ท่านจะมีความเข้าใจในการทำสมาธิที่ถูกต้อง (สัมมาสมาธิ) ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถทำสมาธิขั้นต่ำ
ทำสมาธิขั้นกลาง และทำสมาธิขั้นสูงได้ นั่น ก็คือ การทำรูปฌาณ 4 นั่นเอง
4.จะทำให้ท่านมีโอกาสรอดพ้นจากนรกและอบายภูมิ ถึงประมาณ 10%


ผู้เข้าฟังอบรมจะมีค่าใช้จ่ายท่านละ 300 บาท (อาหาร 2 มื้อ และคอฟฟี่เบรค 4 ครั้ง) ผู้สนใจโปรดติดต่อลงทะเบียนล่วงหน้ากับ จนท.มูลนิธิได้ที่ โทร. 02-961-7318 , 081-808-6796, 086978-9379 เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้เข้าฟังเป็นจำนวนมาก
ท่านสามารถลงทะเบียนได้โดยการโอนเงินผ่านบัญชีดังนี้
ธนาคารกสิกรสิกรไทย สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ประเภทออมทรัพย์
ชื่อบัญชี นายศิริพงษ์ อัครศรียุกต์ เลขบัญชี 758-2-30382-1
จากนั้นแฟกซ์ใบโอน เขียนระบุว่า "ลงทะเบียนคอร์ส 1" พร้อมพร้อมระบุชื่อ นามสกุล เบอร์ติดต่อ ของผู้ลงทะเบียนทุกท่าน มาที่เบอร์ 02-961-7316

Thursday, February 14, 2008

มาฆบูชา วันแห่งความรักของชาวพุทธ

กวีบางคนเคยกล่าวไว้ว่าความรักทำให้โลกหมุน ทำให้คนชั่วกลับกลายเป็นคนดี ความรักบันดาลสิ่งต่างๆ ได้มากมาย

ที่สำคัญความรักมิได้มีความหมายเพียงความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความรักระหว่างพ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง อาจารย์กับศิษย์ เพื่อนต่อเพื่อน รวมไปถึงความรักที่มนุษย์มีต่อมวลมนุษย์ และสรรพสิ่งร่วมโลกทั้งหลาย
เพราะความ รักมีความหมายกว้างขวาง ไร้ขอบเขต ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข นี่เอง หลายคนจึงถือว่า 'วันมาฆบูชา' อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เป็น 'วันแห่งความรัก' ทั้งนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า 'จาตุรงคสันนิบาต'

อันมีเนื้อหาหลักว่าด้วยเป็นวันที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธ ศาสนาการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว สอนให้รู้จักเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

คำว่า มาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือเดือน 3 หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 นั่นเอง

เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่าวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็เพราะในวันนี้ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน (นับแต่วันวิสาขบูชาขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ขณะเสด็จประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน (อันเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา) ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น

พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ได้ส่งออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามเมืองต่างๆ พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันถึง 1,250 รูป ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะสมัยโบราณที่ไม่มีการสื่อสารโทรคมนาคม การนัดหมายคนจำนวนมากที่อยู่คนละทิศละทางให้มาพบกันหรือประชุมกันที่ใดที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

การมาของพระพุทธสาวกเหล่านี้ ถือว่าเป็นการมาประชุมพิเศษที่ประกอบด้วยองค์ 4 อันเป็นที่มาของการเรียกวันนี้อีกอย่างว่าวันจาตุรงคสันนิบาต นั่นคือ เป็นวันมาฆปูรมี ได้แก่ หนึ่งวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำกลางเดือนมาฆะ (เดือน 3) จึงเรียกว่าวันมาฆบูชา สองพระภิกษุที่มาประชุมในวันนั้นมีจำนวนถึง 1,250 รูป

และสามพระภิกษุที่ มาประชุมนี้ล้วนเป็นพระอรหันต์ที่สำเร็จอภิญญา 6 กล่าวคือเป็นผู้มีความรู้อันยอดยิ่ง 6 ประการ ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ และมีญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย สี่พระภิกษุเหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หมายถึง ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

การประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ 4 ประการข้างต้นนี้ เกิดขึ้นในวันมาฆบูชานี้เป็นครั้งแรกและเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาล เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม หลักธรรมคำสอนดังกล่าวจะเรียกว่าเป็นธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือหัวใจของพุทธศาสนาก็ได้

ในหนังสือวันสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่ว่านี้ว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน คือเป็นหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

หลักการ 3 หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่

หนึ่ง-การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย ไม่ผูกพยาบาท

สอง-การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โลภมาก และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

สาม-การทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

อุดมการณ์ 4 หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่

หนึ่งความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ

สองความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น

สามความสงบ คือการปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ

สี่นิพพาน คือการดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ

วิธีการ 6 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ หนึ่ง ไม่ว่าร้าย คือไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น สองไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น สามสำรวมในปาติโมกข์ คือการเคารพระเบียบ กติกา กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม สี่รู้จักประมาณ คือรู้จักพอดี พอกินพออยู่ หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ ห้าอยู่ในสถานที่ที่สงัด คืออยู่ในสถานที่ที่สงบ มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม หกฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือการฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

จะเห็นได้ว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนนี้ล้วนมีความหมาย และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตที่บวชเรียนเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน และฆราวาสอย่างพวกเราทุกคนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็น อย่างดี

ในโอกาสที่วันมาฆบูชา จะเวียนมาบรรจบในวันพฤหัสบดี์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ ขอทุกท่านได้ใช้วันนี้เป็นวันแห่งความรัก ด้วยการตามรอยพระพุทธองค์ มอบความรัก ความเมตตาต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมโลกทั้งหลาย โดยการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการพูดดี คิดดี ทำดี ไม่คิดร้ายทำลายผู้อื่นทั้งกาย วาจาและใจ

เพียงเท่านี้ สังคมทุกแห่งก็จะเกิดสงบสุข โลกเราก็จะบานสะพรั่งด้วยความรักสีขาวที่บริสุทธิ์ปลอดพิษภัย

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Thursday, February 7, 2008

เก็บเงินได้แล้วเอาไปทำบุญ จะได้บุญหรือไม่ ?

ถาม – สมมุติว่าผมเดินไปเจอเงินตกอยู่กลางถนน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ (เคยได้ยินบ่อยๆทำนองคนเก็บขยะเคยเจอแหวนเพชรในซองที่ถูกทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ) ถ้าเรานำเงินมาเข้ากระเป๋าตัวเอง วิบากจะเป็นเช่นไร ถือว่าผิดศีลข้ออทินนาฯไหม? แล้วกรณีที่เราพยายามสืบหาเจ้าของอย่างเต็มที่แต่หาไม่ได้จริงๆ จะยังผิดอยู่ไหม? อีกอย่างถ้านำทรัพย์ดังกล่าวไปทำบุญ ผลบุญที่ได้จะเป็นเช่นไร? ส่วนเจ้าของเงินตัวจริงถ้าไม่ได้อนุโมทนา จะได้บุญตามเราหรือไม่อย่างไร? และถ้าเป็นคุณดังตฤณเจอเงิน คุณจะทำอย่างไรกับเงินนั้น?

ต้องทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของสิทธิ์ในการครอบครองกันก่อนครับ ตามกฎของธรรมชาตินั้นคล้ายคลึงกับกฎหมายทางโลก นั่นคือสิทธิ์ครอบครองสมบัติจะคงอยู่ตราบเท่าที่เจ้าของยังไม่ตาย และ/หรือ ยังไม่ยินยอมยกให้กับผู้อื่น

สิทธิ์ในการครอบครองเป็นสิ่งที่มีพลังในตัวเอง หากใครมาทำลายสิทธิ์นั้น เจตนาฉกฉวยสิทธิ์นั้นไปครอบครองโดยเจ้าของไม่ยินยอม ก็ได้ชื่อว่าทำกรรมข้อที่ว่าด้วยการลักขโมยเต็มร้อย

สิทธิ์ในการครอบครองจะเป็นพลังที่เป็นกลางกับเจ้าทรัพย์เดิม แต่จะแปรเป็นพลังลบ หรือเป็นเงาดำติดตัวหัวขโมยไปในทันทีที่เกิดการยักยอกหรือฉกชิงไป หากคุณมีโอกาสเข้าไปในบ้านหัวขโมย เห็นข้าวของเครื่องใช้ที่ขโมยคนอื่นมาตั้งอยู่เรียงราย ก็จะสัมผัสได้ชัดเลยครับว่ามีกลิ่นอายแปลกๆ ทั้งบ้านมีความทึบทึมน่าอึดอัดอย่างอธิบายยาก และตัวหัวขโมยเองก็มีกระแสประหลาดที่ไม่น่าไว้ใจ ไม่น่าเข้าใกล้ อันนั้นแหละ ‘เงาดำ’ อันเกิดจากการมีสมบัติอย่างไม่ชอบธรรม

คราวนี้มาถึงกรณีของทรัพย์ที่พบตามทาง คุณไม่มีเจตนาไปปล้นใครเขามา อันนั้นเป็นความจริงข้อหนึ่งที่ทำให้การหยิบฉวยไปไม่เข้าข่ายลักขโมย แต่สิทธิ์ในการครอบครองวัตถุยังไม่หายไป เพราะเจ้าของยังไม่ยินยอมยกสิทธิ์ให้ใครอื่น อันนั้นเป็นความจริงอีกข้อหนึ่งที่ทำให้คุณครอบครองสมบัติโดยไม่ชอบธรรมเต็มร้อย เพราะฉะนั้นขอกล่าวว่าคุณไม่ได้ทำกรรมอันเป็นบุญหรือเป็นบาปอย่างชัดเจน แต่มีมลทิน มีกลิ่นเหม็นติดมือมาด้วย ส่วนจะเหม็นมากหรือเหม็นน้อยก็ขึ้นอยู่กับความโลภที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างนะครับ ถ้าระหว่างเดินทางเข้าบ้านซึ่งไม่ค่อยมีคนสัญจร หากเห็นกระเป๋าเงินหล่น คุณรีบปรี่เข้าไปฉกทันที ด้วยเจตนาจะรีบอุ๊บอิ๊บไว้ เป็นการป้องกันเจ้าของกลับมาพบ อันนั้นไม่ขโมยก็เหมือนขโมย เพราะใจรู้สึกอยู่ว่าเจ้าของเขามีสิทธิ์รู้ตัวและย้อนกลับมาเอาคืนได้ภายในสองสามนาที ไม่สายเกินการณ์

อีกประการหนึ่ง ถ้าของที่พบเป็นกระเป๋าสตางค์ ปกติจะมีร่องรอยเจ้าของอยู่เสมอ เช่นบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวพนักงาน อันนี้คุณมีสิทธิ์สองประการเกิดขึ้นทันที หนึ่งคือทำบุญด้วยการนำของไปคืนตามที่อยู่ สองคือทำบาปด้วยการไม่รู้ไม่ชี้ ริบทรัพย์ไปเลยด้วยใบหน้าเฉยๆชาๆ

มันขึ้นอยู่กับว่าใจคุณรู้อย่างไร คิดอย่างไรด้วย ถ้ารู้ตัวว่าอยู่ในมือคุณ เจ้าของมีสิทธิ์ได้คืนแน่ เพราะคุณจะแจ้งเขาตามที่อยู่ตามเอกสารในกระเป๋า อันนั้นหากตัดสินใจทิ้งไว้ที่เดิม แม้ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาปก็ถือเป็นการขาดเมตตา เพาะนิสัยดูดาย อันเป็นกรรมที่กระเดียดไปทางลบอยู่ดี

ยิ่งเป็นกรณีคนเก็บขยะพบแหวนเพชร ถ้าเขาซื่อจริงย่อมสืบได้ว่ามาจากขยะกองไหน เป็นเขตบ้านของใคร การนำไปคืนไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย คือแจ้งตำรวจเรียกหาเจ้าของเดิมมารับพร้อมหลักฐาน

แต่มีอีกกรณีหนึ่ง หากเจอแต่เงินหรือทรัพย์ล้วนๆที่ไม่อาจสืบหาเจ้าของได้ อันนั้นถ้าทิ้งไว้กับที่จะดีที่สุด สบายใจที่สุด เพราะแม้คุณคิดว่าถ้าคุณไม่เอา คนอื่นก็เอา อย่างนั้นก็เป็นการตัดสิทธิ์เจ้าของไม่ให้กลับมาพบทรัพย์ได้อีกเลยอย่างถาวร ให้คนอื่นทำเถอะ อย่าให้เป็นคุณจะดีกว่า

ที่จะเป็นกรณียกเว้น คือคุณรู้ชัดๆว่าเจ้าทรัพย์ตาย หาผู้สืบทอดไม่ได้ อันนั้นโอเคไม่มีปัญหา อย่างเช่นเมื่อครั้งพุทธกาล พอคนตายญาติก็เอาศพไปทิ้งที่ป่าช้า พระก็มีสิทธิ์ชักผ้าห่อศพมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นการขโมย เพราะไหนๆเจ้าของเดิมก็ตายแล้ว ญาติก็นำมาทิ้งให้แร้งทึ้งแล้ว ไม่ใช้ประโยชน์อันใดอีกแล้ว สละสิทธิ์ครอบครองเต็มที่แล้ว ใครจะเอาไปก็ไม่ควรว่ากัน

และหากพิจารณาด้วยใจบริสุทธิ์จริงๆว่าเจ้าของไม่มีทางย้อนกลับมาสืบหาได้ เช่นธนบัตรปลิวมาจากที่ไกล เจ้าของไม่อาจตามเส้นทางลมมาถึงธนบัตร อันนี้ถือเป็นลาภลอยก็คงไม่ผิดอะไร

กรณีที่นำทรัพย์ไปทำบุญ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาจากเงื่อนไขที่ผ่านๆมาข้างต้น ถ้าทรัพย์หาเจ้าของไม่ได้จริงๆ เป็นลาภลอยของคุณจริงๆ บุญนั้นก็บริสุทธิ์ แต่ถ้าใจคุณสงสัยแม้แต่นิดเดียวว่าป่านนี้เจ้าของจะกลับมายังตำแหน่งของตกหรือเปล่า เขาจะกระวนกระวายทุกข์ร้อนแค่ไหนเมื่อไม่พบ ใจคุณจะมีมลทินทันที และบุญจะไม่มีทางบริสุทธิ์ไปได้เลย

กรณีที่เจ้าของไม่อนุโมทนา แม้คุณจะอุทิศบุญไปให้เขา เขาก็ไม่ได้รับส่วนบุญหรอกครับ แต่เขาอาจได้รับกระแสความสว่างเย็นแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้วูบหนึ่ง เพราะจิตเป็นสิ่งที่สื่อกันได้ผ่านวัตถุ โดยเฉพาะถ้าวัตถุเคยอยู่ในครอบครองของเขา

สำหรับผม ถ้าเจอเหตุการณ์ดังกล่าว ก็จะพิจารณาตามที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดเหมือนกันครับ


โดย ดังตฤณ
ที่มา http://dungtrin.com/prepare/archieve/prepare082.htm