Monday, April 9, 2007

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 10 )

ชีวิตทั้งหมดอยู่ด้วยอานาปานสติ
การเจริญอานาปนสติ มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้เกิดสติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ เพื่อละสังโยชน์เข้าถึงอริยมรรค อริยผล และพระนิพพาน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
หนทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ ได้ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้คือสติปัฏฐาน 4
สติที่ระลึกรู้อารมณ์ในสติปัฏฐาน 4 คือสติที่ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กายเป็นสักแต่ว่ากาย เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา จิตสักแต่ว่าจิต
ธรรมสักแต่ว่าธรรม

ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ทำให้จิตถอนอุปาทาน ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นเหตุแห่งทุกข์
ธรรมชาติของจิตเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความยึดมั่นถือมั่น
ยกตัวอย่าง อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เช่น คนติดบุหรี่ คิดถึงบุหรี่สม่ำเสมอด้วยความอยาก หากไม่มีก็หงุดหงิดไม่พอใจ เป็นเหตุให้เกิดความโกรธ ความคับแค้นใจ ก็เพราะเกิดอุปทานในบุหรี่ สำหรับคนที่ติดเหล้า ติดการพนัน ติดในบุคคล วัตถุสิ่งของ หรือไม่ว่าจะติดในอะไรก็ตาม ก็มีลักษณะเดียวกัน คือทำให้เกิดอารมณ์ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ตามมาเสมอ แต่สำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่แล้ว บุหรี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีคุฯค่าความหมายอะไรเลย ดังนั้นการถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นก็คือเพื่อทำจิตใจปล่อยวางความยึดติด
ติดบุหรี่ คือติดในกาย เวทนา จิต ธรรม
ความยึดติดในบุหรี่ซึ่งเป็นวัตถุ คือ กาย

ความยึดติดในความรู้สึกคือ เวทนา
รู้สึกสุขเมื่อได้สูบบุหรี่ คือ สุขเวทนา
รู้สึกทุกข์เมื่อหิวบุหรี่ คือทุกขเวทนา
ความยึดติดในอาหารอยากบุหรี่ คือ จิต
ความยึดติดในความเห็น คือ ธรรม
ความเห็นว่าสูบบุหรี่ทำให้มีความสุข
ความเห็นว่าสูบบุหรี่ทำให้ดูโก้ เป็นต้น
ถ้าเราพิจารณาจนถอนอุปาทานจากความยึดติดในอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เท่ากับถอนอุปาทานจากกาย เวทนา จิต ธรรม ได้ทั้ง 4 อย่าง เลิกบุหรี่ได้ ไม่ติดบุหรี่ติดไป
เมื่อถอนอุปาทานเสียแล้วสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป ทำให้จิตว่าง สงบเบาสบาย มีความบริสุทธิ์ผ่องใสตามธรรมชาติเดิมแท้ของจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
จิตที่มีความยึดติด คือจิตที่เป็นทุกข์

จิตที่ไม่มีความยึดติด คือจิตที่เป็นอิสระ เป็นสุขอย่างยิ่ง

การเจริญอานาปานสติในชีวิตประจำวัน สามารถอธิบายในลักษณะวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ตามรู้ลมหายใจ
= ตามดูจิต
การตามรู้ลมหายใจ กับตามดูจิตเป็นเรื่องเดียวกัน เปรียบเทียบลมหายใจ เป็นหน้าต่าง ภาพที่มองเห็นผ่านหน้าต่างเป็นจิต
เมื่อมองดูหน้าต่าง เราเห็นภาพข้างนอก เมื่อกำหนดดูลมหายใจ ก็มองเห็นจิต
ลองสังเกตดู หากเราคิดฟุ้งซ่านเมื่อไร ความรู้สึกตัวกับลมหายใจจะหายไป แต่เมื่อเรามีสติระลึกรู้ลมหายใจได้
แสดงว่าจิตใจสงบพอสมควรเรียกว่าเรามีจุดยืน มีความรู้สึกตัวที่ลมหายใจ ติดตามดูจิต รักษาจิต ไม่ว่าจะนึกคิดอะไรขึ้นมา คิดดีหรือคิดชั่วก็ตามกำหนดรู้เท่าทันคือความดับ คิดดีหรือคิดชั่วนั้นก็ดับไปๆ ไม่ต้องห้าม ไม่ต้องยึด ไม่ต้องคิดปรุงแต่งต่อคือรู้แล้วก็ดับไป รู้แล้วให้ปล่อย รู้แล้วไม่ต้องติดใจอะไรอีก เรียกว่า กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์แล้ว กิเลส และความทุกข์ก็ไม่เกิด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนจริงๆ สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้

ผู้ใดตามรู้จิตของตน ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงมาร

2. ลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร

โดยปกติ จิตที่ไม่ได้ฝึกก็จะฟุ้งซ่านไปทั่วทุกสารทิศ ปรุงแต่ไปตามการรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้น สำหรับการฝึกปฏิบัติของเราคือ ให้มีสติระลึกรู้ลมหายใจ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ตาม ให้มีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สม่ำเสมอในอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน พยายามทำอยู่บ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้คิดปรุงแต่งไปตามอารมณ์ยินดี ยินร้าย รักษาใจให้เป็นปกติ เป็นศีล เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร รักษาใจสงบ สุขภาพใจดี

3.ลมหายใจยาวๆ คือปฐมพยาบาลแก่จิตใจ
เมื่อติดอามารณ์ คือ มีความไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เกิดขึ้นเมื่อไร ให้เอาลมหายใจเป็นปฐมพยาบาลแก่จิตใจ ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ
การหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกตัวชัดเจน เมื่อมีความรู้สึกตัวชัดเจนกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกติดต่อกันต่อเนื่องแล้ว ความคิดที่ไม่ดี ความรู้สึกที่ไม่ดีก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ความรู้สึกตัว ความรู้สึกที่ดี ความสงบสบายใจจะเข้ามาแทน เป็นปฐมพยาบาลแก่จิตใจ ช่วยทำให้สุขภาพใจดี

4.ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด

ในอิริยาบถบางอย่างไม่สะดวกที่จะกำหนดรู้ลมหายใจ เช่น ขณะที่กำลังพูดคุย เรียนหนังสือ ขับรถ เล่นกีฬา ฯลฯ เราไม่ต้องกังวล คือไม่ต้องระลึกถึงลมหายใจ แต่ให้อยู่ในหลักอานาปานสติให้ครบถ้วน คือเอาใจใส่ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี มีความสุขใจ

ปัจจุบัน เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด
อดีต ผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่ต้องไปคิดถึง

อนาคตยังมาไม่ถึง การวิตกกังวลถึงอนาคต จึงไม่มีประโยชน์เลย

เรื่องคนอื่นไม่สำคัญเท่าไร โดยเฉพาะความชั่ว ของคนอื่น อย่าแบก

ตัวเราเองทำดีทำถูก รักษาใจเป็นปกติได้ สำคัญที่สุด

ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี คือ ใจเป็นศีล ไม่เบียดเบียน ตั้งเจตนาถูกต้อง

ไม่ยินดี คือ ไม่โลภ

ไม่ยินร้าย คือ ไม่โกรธ

รู้เท่าทันอารมณ์ คือ ไม่หลง

มีความเมตตากรุณา ต่อตนเองและผู้อื่น

ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ คือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี สุขใจ

ชีวิตนี้ไม่ควรทำชั่ว
ไม่ควรอาฆาตพยาบาท
และไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
ชีวิตนี้เพื่อสร้างสมคุณงามความดี
สาระสำคัญของชีวิตคือความรักความเมตตา
ที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น

จากหนังสือเราเกิดมาทำไม? พระอาจารย์มิตซูดอะ คเวสโก

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 9 )

พิจารณาความตายเพื่อเข้าใจการมีชีวิตอยู่

อุบายอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากชึ้น เข้าใจว่าเราเกิดมาทำไม และควรใช้ชีวิตอย่างไร คือการพิจารณามรณานุสติ ให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า

หากเรามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 1 เดือน เราต้องการทำอะไร

ตั้งคำถามและค่อยๆ พิจารณาทบทวนดู ไม่ต้องรีบหาคำตอบ แม้ว่าจะมีคำตอบเกิดขึ้นก็ให้เก็บไว้ในใจ ทำใจสงบนิ่งง แล้วก็ตั้งคำถามขึ้นใหม่ พิจารณาในสมาธิอาจจะนั่งสมาธิสักชั่วโมงหนึ่งหรือครึ่งชั่วโมงก็ได้ เมื่อคำตแบเกิดขึ้นก็รับรู้และปล่อยวาง แล้วก็ตั้งต้นพิจารณาใหม่ ทำอยู่อย่างนี้สักระยะหนึ่ง อาจจะทำอยู่สัก 1 เดือน ตั้งสติพิจารณาทบทวนเฉพาะคำถามข้อนี้ เป็นการพิจารณาปริศนาธรรมซึ่งก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นอุบายที่ช่วยไม่ให้จิตฟุ้งซ่านในสิ่งต่างๆ

ต่อไปเดือนที่ 2 ตั้งคำถามใหม่ว่า

หากเรามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 7 วัน เราต้องการทำอะไร

ปฏิบัติเหมือนกันคือค่อยๆ พิจารณาทบทวนดู ไม่ต้องรีบหาคำตอบ หากคำตอบเกิดขึ้นก็รับรู้และปล่อยวาง แล้วก็ตั้งต้นใหม่พิจารณาในสมาธิ ทำเช่นนี้ทุกวันสักระยะหนึ่งผ่านไปอีกหนึ่งเดือน

เดือนที่ 3 ตั้งคำถามใหม่ว่า

หากเรามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงวันเดียว เราต้องการทำอะไร

พิจารณาในลักษณะเดียวกัน พิจารณาไปเรื่อยๆ คำตอบอาจจะเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย เพ่งพิจารณษในสมาธิถึงสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ ในชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตที่เราอยากจะทำจริงๆ คืออะไร ในที่สุดคำตอบที่ได้จะไม่ใช่มาจากความคิด แต่เป็นความรู้สึกภายในจิตใจจริงๆ

การพิจารณาอย่างนี้เป็นวิธีเจริญมรณานุสติวิธีหนึ่ง ช่วยปลุกจิตใจให้ตื่นจากความลุ่มหลงมัวเมาในชีวิต หลงอยู่ว่าเรายังไม่แก่ ยังไม่เจ็บ เรายังไม่ตาย เป็นวิธีกระตุ้นปัญญาให้ทำงาน เป้าหมายในชีวิตก็จะชัดเจนขึ้นมา เห็นชัดว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร กำไรของชีวิตคืออะไร ทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคืออะไร

สำหรับอาจารย์ ช่วงหนึ่งที่ปรารภความเพียรมากๆ ก็เคยปฏิบัติแบบนี้ เมื่อพิจารณษตามนี้ ก็ได้คำตอบว่า ถ้าเรามีชีวิตอยู่อีกเพียงวันเดียว เราต้องปฏิบัติเอาจริงเอาจังจนเข้าถึงธรรมะ

เอาจิงเอาจังในที่นี้ก็คือปฏิบัติเพิ่อเข้าหลักสติปัฏฐาน 4 ให้สมบูรณ์ สำหรับประสบการณ์ของอาจารย์ ก็อาศัยวิธีที่เรียกว่า นั่งจนตาย คือนั่งขัดสมาธิอย่างไรก็นั่งอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อเกิดทุกขเวทนาก็ยกเอาทุกขเวทนาเป็นอารมณ์กรรมฐาน เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพ่งพิจารณาทุกขเวทนา เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิกับทุกขเวทนา คือไม่ยินดียินร้าย ไม่มีวิภวตัณหา ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ขณะที่วิภวตัณหาดับ ทุกขเวทนาก็จะดับในขณะนั้น เห็นด้วยปัญญาว่าเราผู้รู้ ผู้เห็นทุกขเวทนา กับความรู้สึกทุกขเวทนาอยู่คนละฝ่ายกัน ใจสงบเย็นด้วยความปล่อยวาง เห็นทุกข์แต่ไม่มีทุกข์ มองเห็นด้วยใจว่า เวทนาเป็นสักแต่เวทนา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อยู่ในเวทนา เวทนาไม่ใช่อยู่ในเรา เวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ตัวตน ทุกขเวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จุดมุ่งหมายของการเพ่งพิจารณาเรื่องความตายก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในการใช้ชีวิตของเรา

ที่จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทขาดสติ และฝึกหัดที่จะปล่อยวาง อารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ได้มากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายมีคุณค่า และมีความสุขใจ

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 8 )

แก้ปัญหาชีวิตด้วยทาน ศีล ภาวนา

พูดถึงปัญหาของชีวิตมันก็มีสารพัดอย่าง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็เกิดจากเรื่องความรักและเรื่องเงินทอง ฐานะความเป็นอยู่ วิธีแก้ปัญหาของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป สำหรับความเห็นของอาจารย์ การแก้ปัญหาทุกเรื่อง ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน

อาจารย์เคยพบกับพระองค์หนึ่ง ก่อนที่จะบวชพระเขาก็เป็นคนที่มีฐานะดี เป็นลูกชายของผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย เขาเล่าประสบการณืให้อาจารย์ฟังว่า หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาก็ทำงานสร้างฐานะ เมื่อมีเงินเขาก็ชอบที่ยวเหมือนผู้ชายทั่วไป กินเหล้าเมายา มีเพื่อนผู้หญิง เที่ยวกลางคืน ใช้ชีวิตแบบหนุ่มเจ้าสำราญนี่แหละ แต่แล้ววันหนึ่งธุรกิจของเขาเกิดปัญหา มีหนี้สิ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงที่เขามีปัญหาอยู่นี้ เขาก็ได้พบกับอุบาสิกาคนหนึ่ง อุบาสิกาคนนี้แนะนำวิธีแก้ปัญหาให้เขา 3 ข้อ

1. ให้ทาน เขากำลังมีปัญหาเรื่องหนี้สินอยู่หลายล้าน แต่อุบาสิกาแนะนำให้เขาทำบุญให้ทานเป็นข้อแรก
2. รักษาศีล ต้องหยุดเที่ยวกลางคืน เลิกอบายมุข หยุดกินเหล้าเมายา ตั้งใจรักษาศีล 5

3. เจริญเมตตาภาวนา ให้ฝึกทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบ มีความสุขใจ


เขาก็เชื่อฟังอุบาสิกา ปฏิบัติตามคำแนะนำคือทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ปรากฏว่าไม่นานชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปแก้ปัญหาได้ภาระหนี้สิ้นค่อยๆ หมดไป จนในที่สุดเมื่อจัดการทุกอย่างเรียบร้อย เขาก็บวชพระจนถึงปัจจุบัน อุบาสิกาซึ่งเคยให้คำแนะนำแก่เขาก็ได้เข้ามาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดเดียวกันนี่แหละ

เมื่อเขาบวชเป็นพระแล้ว เวลามีโยมผู้หญิงมากราบ มาปรึกษาปัญหา ท่านก็ให้อุบาสิกาช่วยรับแขก ทุกข์ของผู้หญิงส่วนมากก็มี 2 เรื่องนั่นแหละ คือผิดหวังในความรัก กับเรื่องหนี้สิ้นเงินทอง อุบาสิกาก็สอนวิธีแก้ปัญหาในชีวิต ให้ปฏิบัติตาม 3 ข้อนี้ คือให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ใครปฏิบัติตามนี้แล้วก็แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

การให้ทาน บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าตัวเองมีปัญหาหนี้สินอยู่จะมีเงินที่ไหนไปทำบุญให้ทาน จริงๆ แล้ว การทำบุญให้ทานนั้น ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะการทำบุญกับวัด กับพระเท่านั้น ไม่ว่าจะให้แก่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนหรือกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เรียกว่าเป็นทานทั้งสิ้น จะให้มากให้น้อยก็แล้วแต่กำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ของผู้ให้

การให้ทานเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่จะเปลี่ยนความรู้สึกของทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีปัญหาเคยทะเลาะกัน ไม่พูดกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงน้ำใจด้วยการซื้อขนมหรือผลไม่มาฝาก ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน เปลี่ยนความรู้สึกที่เคยขุ่นเคืองต่อกันมาเป็นมิตรได้ มีอานิสงส์เหมือนการทำบุญให้ทานเหมือนกัน

นอกจากการให้ทรัพย์สินเงินทองแล้ว การทำทานก็มีหลายวิธี ทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไรก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เสมอ ตามหลักการบำเพ็ญทาน 10 ประการได้แก่

1. ให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทอง
2. ให้ทานด้วยสายตาที่เมตตาปราณี

3. ให้ทานด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

4. ให้ทานด้วยวาจาที่ไพเราะน่าฟัง

5. ให้ทานด้วยแรงงานช่วยเหลือผู้อื่น

6. ให้ทานด้วยการอนุโมทนายินดีเมื่อผู้อื่นทำดี

7. ให้ทานด้วยการให้อาสนะ (ที่นั่ง)

8. ให้ทานด้วยการให้ที่พัก

9. ให้ทานด้วยการให้อภัย

10. ให้ทานด้วยการให้ธรรมะ

การให้เป็นเหตุแห่งความสุข การเสียสละแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้แก่ผู้อื่น เป็นการฆ่าความตระหนี่ถี่เหนียว ทำให้จิตใจสบาย

การรักษาศีล เมื่อมีปัญหาให้เราสำรวจตัวเองก่อนว่า ตัวเรานั้นสำรวมกาย วาจา ใจ เรียบร้อยหรือไม่ บางทีเราอาจขี้บ่น คำพูดหรือการแสดงออกของเราสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง แก่ผู้อื่นหรือไม่ ให้สำรวจตัวเองด้วยใจเป็นธรรม เพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงตัวเอง ตั้งเจตนาในการรักษาศีล 5 ให้สมบูรณ์อย่างน้อยที่สุดก็เป็นกรอบทำให้เราไม่เบียดเบียนผู้อื่น

หัวใจของศีลคือความไม่เบียดเบียน ตามปกติก็ให้เรารักษาศีลก่อน เมื่อเรารักษาศีลสมบูรณ์ ศีลเกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดศีลก็จะรักษาเรา

การเจริญภาวนา เมื่อมีปัญหาอย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะแก้ปัญหาภายนอก ให้ตั้งสติ หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด หยุดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ก่อน กำหนดร็ลมหายใจเข้าออกยาวๆ ลมหายใจเข้าลึก ๆ ให้มีสติ มีความรู้สึกตัวกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ติดต่อกันต่อเนื่องกัน มีสมาธิตั้งมั่นกับลมหายใจ ปล่อยวางความรู้สึกที่ไม่ดี ปล่อยวางจิตใจให้ว่างๆ ว่างจากอดีต ว่างจากอนาคต ว่างจากความไม่สบายใจ เหลือแต่จิตที่มีความรู้สึกตัว โอปนยิโก น้อมเข้าไปหาธรรมชาติของจิตที่เป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใส เมื่อจิตสงบเบาสบายแล้ว จึงค่อยๆ คิดแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา เมื่อจิตใจดี สบายใจแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่งก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ไม่ว่าจะมีวิกฤติหรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับเรา สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือรักษาใจของเราให้ดี เพราะใจที่เป็นประธาน ใจเป็นหัวหน้า เมื่อใจดี ก็คิดดี พูดดี ทำดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้นได้ตามเหตุปัจจัย

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 7 )

ทางแห่งความสุข

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา เรามักมีความรู้สึกว่าชีวิตเราจะมีความสุขเมื่อได้ในสิ่งนั้น สิ่งนี้สมความปรารถนาแต่ความจริงแล้ว ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เปรียบเหมือนมีดคมๆ ถ้าเราขาดสติหรือมี จิตใจที่ถูกครอบงำด้วยกิเลส ตัณหาแล้ว คมมีดนี้ก็จะทำร้ายเรา และเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นได้ ความมียศ ความมีศักดิ์ มีอำนาจมาก สำหรับผู้ที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งแล้ว ก็หลงได้ง่าย เป็นโอกาสให้ทำความชั่วได้มากเหมือนกัน

สำหรับปุถุชน ความปรารถนาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความปรารถนาในอำนาจวาสนาก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตาม เราต้องมีสติปัญญา รู้จักตัวเอง รู้จักสันโดษ พอใจในสิ่งที่ได้ที่มี ที่เป็น ตามกำลังความสามารถของเรา หากต้องประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ให้มีสติปัญญาที่จะเข้าใจว่า โลกธรรมแปด คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา ทุกข์ สุข เป็นอนิจจัง ไม่แน่นอน ได้มาก็ไม่หลงเพลิดเพลิน เสียไปก็ไม่เป็นไรทำใจได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนสาวกทั้งหลายว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอุปสรรค ต่อการปฏิบัติธรรม การได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ความสุขที่แท้

ผู้มีปัญญาจึงไม่แสวงหาความสุขในทางโลกที่ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน แต่กลับมองเห็นโทษของโลกียสุข และแสวงหาความสุขที่แท้จริง ดังตัวอย่างในสมัยพระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์

พระเตมีย์ราชกุมาร เมื่อมีพระชนมายุได้ 1 เดือน ทรงระลึกชาติได้ ขณะบรรทมอยู่บนตักของพระบิดาซึ่งทรงกำลังพิพากษาความผิดของโจร 4 คน พระเจ้ากาสีทรงพิพากษาด้วยพระสุรเสียงดุดัน โจรคนแรกมีความผิดน้อย ทรงตัดสินให้เฆี่ยนด้วยหวาย โจรคนที่2 มีความผิดมากกว่าคนแรก ทรงตัดสินให้คุมขัง โจรคนที่3 มีความผิดมากกว่าคนที่2 ทรงตัดสินให้ประหารชีวิต โจรคนที่4 มีความผิดมากกว่าใครและทำทารุณกรรมไว้มาก ทรงตัดสินให้เสียบหลาวทั้งเป็นแล้วปักประจานไว้หน้าประตูเมือง พระกุมารระลึกชาติได้ว่า ชาติหนึ่งในอดีต พระองค์เคยเกิดเป็นกษัตริย์ครองเมืองนี้อยู่ 20 ปีตัดสินประหารชีวิตของผู้คนมาไม่น้อย ตายแล้วบาปกรรมส่งผลให้ไปเกิดในนรกนานถึง 80,000 ปี พ้นจากนรก บุญจึงส่งผลให้มาเกิดในสรรค์ชั้นดาวดึงส์ จากนั้นจึงลงมาเกิดเป็นมนุษย์ในราชตระกูลเดิมอีกครั้งหนึ่ง

พระราชกุมารคิดได้ว่าหากเป็นฆราวาสต่อไปก็ต้องทำบาปอย่างเก่าอีก เพราะตำแหน่งหน้าที่บังคับให้ทำ แล้วผลของบาปก็จะส่งให้ตกนรกอีก พระองค์ระลึกได้ว่าไม่มีทุกข์ทรมานใดจะร้ายกว่าทุกข์ทรมานในนรก จึงใคร่ครวญหาทางพ้นไปจากตำแหน่งกษัตริย์นับแต่เวลานั้น

เมื่อพระเตมีย์กุมารตัดสินพระทัยว่า จะไม่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อีก จึงทรงใช้วิธีแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดสอบต่างๆ ก็อดกลั้นไว้ ไม่ยอมแสดงอาการพิรุธให้ปรากฏ พระราชาปรึกษาพวกพราหมณ์ ก็ได้รับคำแนะนำให้นำราชกุมารไปฝังเสีย พระราชมารดาทรงคัดค้านไม่สำเร็จ ก็ทูลขอให้พระราชกุมารครองราชย์สัก 7 วัน แต่พระราชกุมารก็ไม่ยอมพูด ต่อเมื่อ 7 วันแล้ว สารถีนำราชกุมารขึ้นสู่รถเพื่อจะฝังตามรับสั่งพระราชา ขณะที่นายสารถีขุดหลุดอยู่พระราชกุมารก็เสด็จลงจากรถเดินไปหานายสารถีและตรัสแจ้งความจริงให้ทราบว่า มีพระประสงค์จะออกบวชอยู่ในป่าตามลำพัง นายสารถีกราบทูลว่า อยู่ในป่าอาจมีอันตรายได้ จึงขอให้ราชกุมารเสด็จกลับไปหาพระราชบิดา พระราชมารดา พระราชกุมารตรัสตอบว่า ไม่มีอันตรายหรอก คนที่บวชแล้วย่อมปลอดภัย ไม่มีใครทำอันตรายหรอก คนที่บวชแล้วย่อมเสียสละทุกอย่าง ไม่แสวงหาผลประโยชน์ เมื่อไม่แสวงหาประโยชน์ก็ไม่มีผลกระทบกระทั่ง และก็ไม่มีศัตรูที่จะมาทำร้าย

เมื่อแน่ใจว่าพระราชกุมารไม่เสด็จกลับแน่และไม่ทรงห่วงใยราชสมบัติเลยแม้แต่น้อย นายสารถีเกิดศรัทธาและขอออกบวชด้วย ราชกุมารจึงตรัสให้นำรถกลับไปคืนก่อน สารถีนำความกลับไปเล่าถวายพระราชบิดา พระราชมารดาให้ทรงทราบ
ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพาร จึงได้เสด็จออกไปหา เชิญให้พระราชกุมารเสด็จกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระกุมารกลับถวายหลักธรรมให้ยินดีในเนกขัมมะ คือการออกจากกาม พระราชบิดา พระราชมารดา พร้อมด้วยบริวารทรงเลื่อมใสในคำสอน ก็เสด็จออกผนวชและบวชตามและได้มีพระราชาอื่นอีกเป็นอันมากสดับพระราโชวาทขอผนวชตาม


Sunday, April 8, 2007

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 6)

เกิดมาเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาในพรรษาแรกของการตรัสรู้ ได้มีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์รวม 60 องค์ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงส่งสาวกทั้ง 60 องค์นั้น ให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์ตรัสว่า “เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าไปทางเดียวกัน พวกเธอจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แม้เราก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”

งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำคัญตามหลักพระพุทธศาสนา โดยมีเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมคือ เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว อัตตา ตัวตน เมื่อจิตใจบริสุทธิ์แล้ว ธรรมชาติของจิตที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็จะปรากฏขึ้น สำหรับจิตที่บริสุทธิ์แล้ว การดำเนินชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของสังคม ก็เป็นไปเองโดยธรรมชาติ

สำหรับพระอรหันต์เมื่อหมดกิเลส มีจิตใจที่บริสุทธ์แล้วหน้าที่ในชีวิตทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชน การแระกาศพระพุทธศาสนาจึงแสดงถึงหน้าที่ในชีวิต เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ แม้มิได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ตาม หน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์สุขแก่สังคม

หากเรายังไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นกำลังทรัพย์ หรือช่วยด้วยแรงงานก็ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ให้มีสติรู้ถึงหน้าที่ของตนว่า เราเป็นพ่อ แม่ เป็นลูก เป็นสามี ภรรยา เป็นเจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ มีหน้าที่อย่างไร ก็ให้ตั้งใจทำหน้าที่นั้นๆ ให้ดีที่สุด มีใจเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ ก็ถือว่าทำหน้าที่ คนดีของสังคมแล้ว ให้เข้าใจว่า เมื่อเราทำหน้าที่ของเราที่มีต่อบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราได้สมบูรณ์ ทั้งทางมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ด้วยใจที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เท่ากับว่าเราได้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ไหน เวลาใด

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่5 )

เกิดมาเพื่อพัฒนาจิตใจ

ตามธรรมดา ความปรารถนาของมนุษย์ทุกคน อยากเกิดมาสบาย สุขภาพสมบูรณ์ สติปัญญาดี ฐานะดี ครอบครัวอบอุ่น แต่ตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน บางครั้งเมื่อเราประสบปัญหา มีประสบการณ์ทุกข์ เรามักน้อยใจ ท้อใจ บางคนก็สรุปเอาว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อชดใช้กรรม อาจารย์รู้สึกว่า ข้อสรุปแบบนี้เป็นการเข้าใจกฏแห่งกรรมในแง่ลบ ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็ไม่ใช่ การเกิดมานั้นเป็นกรรมเก่าก็จริงอยู่ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือกรรมเก่า แต่พระพุทธองค์ก็ทรงสอนด้วยว่า เราเกิดมาเพื่อศึกษา “ไตรสิกขา” ศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาชีวิตจิตใจและสติปัญญาอันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งเพื่อความดับแห่งทุกข์ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนสามารถบรรลุได้

หากเราพิจารณากฏแห่งกรรมด้วยปัญญาชอบแล้ว เราจะเข้าใจว่ากรรมปัจจุบันสำคัญที่สุด
อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
เราต้องยอมรับความจริงว่า อดีตผ่านไปแล้วเราไม่อาจแก้ไขอะไรได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง แต่ปัจจุบันเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร

เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์ได้อ่านเรื่องราวของชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ผ่านงานเขียนของเขาซึ่งติดอันดับขายดีในญี่ปุ่น หนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษาทั่วโลก ในภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า No One’s Perfect เมื่อแปลเป็นภาษาไทยเขาก็ใช้ชื่อตามต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นว่า “ไม่ครบห้า”

“ไม่ครบห้า” เป็นชีวิตจริงของฮิโรทาดะ โอโตตาเกะ ชายชาวญี่ปุ่นเกิดที่โตเกียว เขาไม่มีแขนขาเลยตั้งแต่เกิด แต่ที่น่าแปลกตรงที่เขากลับมองความพิการของตัวเองว่านั่นคือ ลักษณะพิเศษทางกาย ไม่ต่างไปจาก คนอ้วน คนผอม คนสูง คนเตี้ย คนตัวดำ หรือตัวขาว ความพิการของเขานั้นเป็นแค่เพียง ความไม่สะดวก แต่ไม่ใช่ความไม่สบาย โอโตตาเกะเล่าว่า วันแรกที่หมออนุญาตให้แม่ของเขาได้พบกับเขาเป็นครั้งแรก หลังจากที่คลอดเขาออกมาได้ 3 สัปดาห์นั้น ทางโรงพยาบาลเตรียมการไว้พร้อม เตรียมเตียงว่างไว้หนึ่งเตียง เผื่อแม่เห็นเขาแล้วเกิดเป็นลมไปด้วยความตกใจ ทุกฝ่ายเคร่งเครียดกันไปหมด ทั้งโรงพยาบาลพ่อและแม่ของเขา
แต่ปรากฏว่าประโยคแรกที่คุณแม่ของเขาอุทานเมื่อได้เห็นหน้าลูกเป็นครั้งแรกคือ เธอช่างเป็นเด็กที่น่ารักเหลือเกิน อารมณ์ครั้งแรกที่คุณแม่มีต่อโอตาเกะไม่ได้เป็นอารมณ์ของการตกใจหรือเศร้าโศก แต่เป็นอารมณ์ของความปิติยินดีที่มีต่อตัวลูก ความรักที่ถ่ายทอดจากแม่มาสู่เขาเป็นพลังผลักดันให้เขาสามารถพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น

พ่อแม่เลี้ยงดูโอตาเกะให้เป็นเด็กที่เข้มแข็งมาตั้งแต่เล็กๆ ไม่ให้หนีจากสิ่งต่างๆ โดยเอาความพิการเป็นข้ออ้าง ไม่ให้คิดว่าความพิการเป็นปมด้อย ด้วยเหตุนี้โอตาเกะจึงเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ พยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ด้วยตนเอง เขียนหนังสือได้ ใช้คอมพิวเตอร์เป็น เล่นกีฬาได้หลายอย่าง เขานั่งรถเข็นที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เขาสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นโดยไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างไปจากคนอื่น เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำโดยไม่ต้องใช้อภิสิทธิ์ใดๆเลย

โอโตตาเกะไม่ได้มองว่าการไม่มีแขนขาเป็นปมด้อย แต่เขากลับมองในแง่บวกว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นจุดแข็งของเขาที่ไม่มีใครเหมือน เขาไม่เคยโทษโชคชะตาฟ้าลิขิต ที่สร้างเขามาให้มีรูปร่างไม่สมประกอบ ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่กลับภูมิใจในสิ่งที่ตนเป็น เขามีความคิดว่าโลกนี้ไม่ควรมีพรมแดนและสิ่งกีดขวางระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพียงเพราะคนใดคนหนึ่งเกิดมาพิการเท่านั้น เขาได้เรียกร้องให้สังคมเปิดใจให้กว้าง ให้ทุกหัวใจในสังคมเป็นหัวใจที่ไร้สิ่งกีดขวาง เขาใช้ชีวิตได้อย่างสง่างามน่าชื่นชม

ทุกวันนี้โอโตตาเกะ กำลังใช้ร่างกายเล็กๆ ของเขาขับเคลื่นสังคมอยู่ เขาช่วยเหลือให้กำลังใจแก่คนพิการ เขาต้องการสร้างโลกแบบหัวใจไร้สิ่งกีดขวางให้ได้ ด้วยการเขียนหนังสือและเดินทางไปเผยแพร่แนวความคิดดังกล่าวทั่วญี่ปุ่น

เรื่องของฮิโรทาดะ โอโตตาเกะ น่าจะเป็นตัวอย่างให้คนอีกหลายๆคนที่คิดท้อแท้หันกลับมามองตัวเองแล้วมีกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิตต่อไปด้วยใจที่เข้มแข็ง

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่4)

การปฏิบัติธรรม คือชีวิตที่เราวางแผนไว้แล้ว

อาจารย์รู้สึกเห็นดีด้วยกับการศึกษาและวิจัยของแพทย์ตะวันตก ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ค่อนข้างจะสอดคล้องกับประสบการณ์ชีวิตของอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม

ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น อาจารย์ก็ชอบปีนเขา วางแผนพิชิตยอดเขาสูงๆ ปีนเขาในช่วงฤดูหนาว ภูเขามีหิมะปกคลุมหนา ซึ่งมีน้อยคนเท่านั้นที่จะขึ้นไปถึงได้ ถ้าพลาดพลั้งก็อันตรายถึงชีวิต แต่เมื่อเราวางแผนไว้แล้ว ก็ตั้งใจฝึกซ้อม เตรียมการ ต่อสู้กับความยากลำบาก ระมัดระวังรักษาความปลอดภัย เมื่อทำได้สำเร็จก็รู้สึกภาคภูมิใจ มีกำลังหนักแน่น จิตใจเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว การปฏิบัติธรรมของอาจารย์ก็มีลักษณะวางแผนตั้งข้อวัตรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อฝึกฝนตนเอง

ข้อวัตรอย่างหนึ่งที่ฝึกปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นก็คือการถือเนสัชชิก คือปฏิบัติในอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน ไม่นอน หากง่วงนอนก็จะไม่นอนเอนกายลงนอน จะเพียงแต่พิงเสานั่งหลับเท่าที่จำเป็นแก่ร่างกายเท่านั้น ในช่วงพรรษาก็พยายามตั้งใจถือเนสัชชิกตลอดพรรษา ปรารถความเพียร ไม่เห็นแก่นอน เพื่อสร้างวิริยะ แต่ก็มักจะแพ้ที่ทำได้ครบสมบูรณ์ตลอดพรรษาก็เป็นพรรษาที่8 เมื่ออยู่ที่ประเทศอินเดีย

ในพรรษาที่ 4 อาจารย์ก็ตั้งใจอดข้าวหนึ่งเดือน ฉันแต่น้ำเปล่าๆ ตามปกติคนเราที่จะอดข้าวขนาดนี้ก็เรียกว่าคนยากจน เราทำตัวเป็นคนจนที่สุดคนหนึ่ง มนุษย์ในโลก 6,500 ล้านคน มีไม่กี่คนที่สมัครใจทำอย่างนี้ แต่เราก็ทำเพื่อฝึกกาย ฝึกจิต สร้างกำลังใจ ทดสอบความอดทนอดกลั้น เมื่อครบหนึ่งเดือน ทำได้ตามที่ตั้งใจ ก็ภูมิใจ มีกำลังดี

ในพรรษาที่ 6-7 ก็เก็บอารมณ์ เข้าห้อง กรรมฐาน ปรารถความเพียร ข้อวัตรต่างๆ ที่ปฏิบัติก็เช่น พิจารณาทุกขเวทนา นั่งสมาธิเพชร ไม่ขยับตัว ไม่เปลี่ยนอิริยาบทตลอดคืน เอาทุกขเวทนาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ส่วนมากก็ทำไม่สำเร็จ นานๆ ทีหนึ่งจึงจะทำได้ นอกจากนั้นก็ตั้งใจปรารภความเพียรด้วยการรักษาความรู้สึกตัวติดต่อกัน 7 วัน 7 คืนไม่นอน ไม่หลับ นับเป็นวัตรปฏิบัติที่ทรมานทำได้ยาก ต้องยอมแพ้ ล้มเหลวไปหลายสิบครั้ง กว่าจะทำได้ก็ต้องอาศัยกำลังสติและสมาธิที่เข้มแข็งจริงๆ เมื่อทำได้สมบูรณ์ก็รู้สึกพอใจ มีกำลังใจ

นอกจากนี้ ก็ออกธุดงค์ไปในป่า เมื่อวางแผนไปธุดงค์ในที่ซึ่งมีสัตว์ป่าดุร้าย จริงๆแล้วเราก็กลัวตาย แต่เพื่อจะต่อสู้เอาชนะความกลัว เอาชนะใจตัวเอง ถ้าเราสามารถเอาชนะความกลัวได้ ก็ค่อนข้างจะรักษาชีวิตตัวเองได้ ถ้ากลัวแล้วก็จะอันตรายตกเป็นเหยื่อของสัตว์ป่า เพราะตามธรรมชาติของสัตว์ป่าก็จะทำร้ายผู้อ่อนแอ แต่ถ้าเราจิตใจหนักแน่น เข้มแข็ง มีศีลมั่นคง มีเมตตาต่อสรรพสัตว์แล้วก็เป็นการรักษาชีวิตเราจากสัตว์ป่า ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระอริยเจ้าอยู่ในป่าก็ไม่มีอันตราย เพราะท่านมีเมตตาจิต มีวิปัสสนาปัญญาเข้าถึงอนัตตาคือไม่มีตัว ไม่มีตน สัตว์ป่าก็ไม่ทำร้ายท่าน เมื่อกลับจากธุดงค์ด้วยความปลอดภัยก็รู้สึกภูมิใจที่เราทำใจได้ เอาชนะความกลัวได้ และผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ มาได้ด้วยดี

สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมโดยทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ทุกคนมีเจตนา มีความตั้งใจที่ก็ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจตนเอง ให้รู้จักอดทนอดกลั้น ด้วยการกินน้อย นอนน้อย พูดน้อยรู้จักรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยด้วยการรักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญภาวนาเป็นต้น อาจารย์จึงรู้สึกว่าน่าเชื่อตามที่กลุ่มจิตแพทย์วิจัยไว้เหมือนกันว่า ทุกคนก่อนที่จะเกิดได้วางแผนชีวิตของตนไว้แล้ว ว่าเราจะเกิดมาอย่างไร เพื่ออะไร เรายอมรับการเกิดนี้แล้วว่าเพื่อพัฒนาชีวิตจิตใจของเรา เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ด้วยใจดี

ความสำเร็จในชีวิตจึงอยู่ที่ เราทำใจดีได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเจอวิกฤต เจอปัญหาหนักขนาดไหน ก็ยังรู้จักคิดดี คิดถูก ตั้งมั่นอยู่ในความดี ความถูกต้องได้ คนที่มีปัญหาในชีวิต มีทุกข์มากๆ หากมองแง่ดีก็เป็นการสร้างบารมี เมื่อเอาชนะปัญหา ผ่านพ้นอุปสรรคได้ด้วยใจดีก็จะทำให้เข้มแข็ง มีกำลังใจมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคนที่มีชีวิตสบายๆ มีฐานะดี กินดีอยู่ดี ได้ทุกสิ่งทุกอย่างสมใจ เมื่อไม่มีอุปสรรคแล้ว บารมีก็ไม่เกิดเหมือนกัน

ลองพิจารณาดูเรื่องการบำเพ็ญทศบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นต้น พระโพธิสัตว์เกิดมาแต่ละชาติ ก็ลำบากแสนสาหัสจนเกือบตาย แต่พระองค์ก็ต่อสู้ เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยการทำความดี ซึ่งเรียกว่าการบำเพ็ญบารมี ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี ฯลฯ พระองค์ก็ผ่านพ้นอุปสรรค บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ด้วยการบำเพ็ญบารมีนั้นจนเต็มเปี่ยม ในพระชาตินั้นๆ

ดังนั้น หากชีวิตเรามีทุกข์หนัก รู้สึกว่าเรานี้โชคร้าย สามีหรือภรรยานอกใจ ครอบครัวแตกแยก ถูกโกง มีหนี้สิ้น ตกงาน ฯลฯ ขอให้เราตั้งสติ รู้จักคิดดี คิดถูก เอาการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง หากเราทำใจได้ ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยใจดี ด้วยการทำความดี ก็เป็นการสร้างบารมี ถือเป็นความสำเร็จในชีวิตแล้ว

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 3)

การกลับชาติมาเกิดในมุมมองของจิตแพทย์

จิตแพทย์ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ มีพื้นฐานความเชื่อตามศริสตศาสนา ซึ่งตามปกติไม่มีการสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด จึงไม่มีใครเชื่อว่าวัฏสงสารมีจริง อย่างไรก็ดี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กลุ่มจิตแพทย์ที่ศึกษาค้นคว้าหาวิธีรักษาโรคจิต ด้วยวิธีการให้คนไข้กำหนดจิต เข้าไปสู่ประสบการณ์ในอดีต ได้ค้นพบว่าปัญหาทางจิตใจของคนไข้ส่วนใหญ่ล้วนเกิด จากประสบการณ์ หรือการประสบเหตุการณ์ที่รุนแรงในอดีต รวมถึงอดีตชาติ ทำให้เกิดจิตวิปลาส โรคประสาท หรือเกิดปมปัญหาทางใจขึ้น

อาจารย์เคยศึกษาข้อมูลจากการวิจัยของจิตแพทย์ชาวตะวันตกหลายๆคน ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ได้แก่ การวิจัยของ ดร.ไบรอัน ไวส์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานของภาควิชาจิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลเมาท์ไซไน รัฐไมอามี่ (ผู้ที่แต่งหนังสือเรื่องเราจะข้ามเวลามาพบกัน) ดร.ไวส์ เป็นผู้หนึ่งที่รักษาคนไข้ของเขาด้วยวิธีการ Past Life Regression Therapy หมายถึงการฟื้นความทรงจำย้อนกลับไปยังอดีตชาติ คนไข้ที่รับการรักษาด้วยวิธีนี้จะไม่ได้หลับไป และคลื่นสมองก็แตกต่างจากสภาวะหลับ หากแต่เป็นสภาวะที่เหมือนกับการทำสมาธิของผู้ปฏิบัติธรรมแบบพุทธหรือลัทธิเต๋า ภายใต้สภาวะการรวบรวมจิตเป็นสมาธิดังกล่าวคนไข้จะสามารถสัมผัสได้ถึงสมาธิระดับลึก ทำให้รับรู้ถึงประสบการณ์ในอดีตได้ และบางกรณีสามารถจำอดีตชาติได้

การรักษาโรคจิตด้วยวิธีดังกล่าว เมื่อคนไข้ระลึกถึงประสบการณ์รุนแรงในอดีตได้ ทำให้คนไข้สามารถเข้าใจแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของตน ช่วยให้อุปทานยึดมั่นถือมั่นคลายลง อาการทางจิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็สามารถหายได้ ตัวอย่างเช่น คนที่กลัวน้ำมากไม่กล้าหัดว่ายน้ำ มีสาเหตุมาจากสมัยเด็กๆ เคยตกน้ำเกือบจมน้ำตาย จนเกิดความฝังใจกลัวมาตั้งแต่เด็กเป็นต้น

การรักษาด้วยวิธีการกำหนดจิตสู่อดีตนี้ เมื่อดร.ไวส์ ทำการรักษามาเรื่อยๆ ก็พบว่า คนไข้บางคนสามารถฟื้นความทรงจำระลึกย้อนกลับไปถึงอดีตชาติอันยาวนานนับศตวรรษได้ และประสบการณ์ที่ได้จากการรักษาด้วยวิธีนี้ทำให้เกิดความก้าวหน้าที่สำคัญในการศึกษา เรื่องเป้ฯอมตะของจิตวิญญาณและเรื่องการตายการเกิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อเรื่อ่งการเวียนว่ายตายเกิดตามหลักศาสนาพุทธนั่นเอง นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาถึงประสบการณ์ของคนที่กำลังจะตาย พบว่าคนไข้ทุกรายเมื่ออยู่ในสภาวะที่กำลังจะตาย สัญญา(ความจำได้หมายรู้) ของการกระทำในอดีตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลจะเข้ามาในมโนภาพที่เคยทำบาปอกุศลไว้กับผู้ใด ความรู้สึกของผู้ที่เราเคยทำบาปไว้กับเขา รวมถึงความทุกข์ของญาติพี่น้องของเขาก็จะเข้ามาในจิตสำนึก ทำให้เรามีประสบการณ์ทุกข์เหมือนตกนรก หรือในทางตรงข้าม ที่เราเคยสร้างบุญกุศลไว้ ความรู้สึกของผู้รับบุญกุศลนั้นก็จะเข้ามาสัมผัสกับจิตของเรา ทำให้เกิดปิติสุขเหมือนเป็นสวรรค์ การศึกษาประสบการณ์ของผู้ใกล้ตายดังกล่าว นำไปสู่ข้อสรุปว่า

ชีวิตนี้ไม่ควรทำชั่ว ไม่ควรอาฆาตพยาบาทและไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น ชีวิตนี้เพื่อสร้างสมคุณงามความดี สาระสำคัญของชีวิตคือ ความรักความเมตตาที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น

นอกจากนี้ เกี่ยวกับเรื่องการเกิด ตามการศึกษาและวิจัยของจิตแพทย์กลุ่มนี้ พบว่า ก่อนการเกิดนี้ เราได้วางแผนชีวิตมาแล้ว โดยจิตเราจะสัมผัสกับ “ผู้ดูแล” (Master) “ผู้ดูแล” นี้จะเป็นผู้สื่อสารกับเราว่า เมื่อเกิด พ่อแม่เราจะเป็นใคร เราจะต้องพบเจอกับอะไรบ้างเป็นต้น บางครั้งเราก็จะปฏิเสธว่าเราไม่ต้องการแบบนี้ แต่“ผู้ดูแล” ก้จะปลอบโยนเรา เช่น บางครั้งเราต้องเกิดมาพิการ มีชีวิตที่ยากลำบาก หรือเราอาจต้องเกิดมาเป็นลูก เป็นคู่รักกับคนนั้นคนนี้ ซึ่งเป็นคนที่เคยทะเลาะกันเกลียดกันมา เราไม่ต้องการ เราอาจจะบอก “ผู้ดูแล” ว่าเราไม่ต้องการแบบนั้น “ผู้ดูแล” ก็จะสอนเราว่า เราต้องเจอกับคนนี้เพื่ออะไร เราต้องเกิดมาลำบากยากจนขาดแคลน ร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งพิการ เพื่ออะไร จริงๆ แล้วก็เพื่อฝึกหัดพัฒนาจิตใจ ให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง ทำใจได้ และก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปให้ได้
โดยสรุปแล้ว ตามการวิจัยของจิตแพทย์ชาวตะวันตก ในการเกิดของเรา เราได้วางแผนมา ก่อนแล้วว่า เราจะเกิดมาอย่างไร เพื่ออะไร แม้ว่าชีวิตจะมีอุปสรรค แต่เราก็ตั้งใจมาแล้วและทำใจยอมรับกับการเกิดนี้ ว่าเพื่อพัฒนาจิตใจ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร มีทุกข์มากขนาดไหน เราจะทำใจดีให้ได้ คิดสร้างสรรค์ คิดดี คิดในแง่บวกได้ทุกสถานการณ์

Saturday, April 7, 2007

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่2)

ชีวิตคือการศึกษา

มนุษย์เราไม่ว่าจะเกิดมาเป็นใคร เป็นลูกของใครก็ตาม ต่างก็มีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ชีวิตนี้คือทุกข์ หมายความว่า ความเกิด ความแก ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ ตามหลักพระพุทธศาสนา ชีวิตอันประเสริฐสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคือชีวิตที่เป็นไปเพื่อการศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ

1.ทุกข์

2.เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์(สมุทัย)

3.ความดับทุกข์(นิโรธ)

4.ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์(มรรค)

การศึกษาในพระพุทธศาสนามีเป้าหมายสำคัญเพื่อความดับทุกข์ โดยการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 หรือสรุปโดยย่อเป็น ไตรสิกขา หมายถึงการศึกษา 3 ประการประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

1.ศีล เป็นข้อปฏิบัติเพื่อฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ให้มีความประพฤติดีงาม
2.สมาธิ คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมใจ เพื่อให้จิตใจสงบตั้งมั่น พร้อมแก่การพิจารณา คือการใช้ปัญญาลึกซึ้ง

3. ปัญญา คือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง


ธรรมะแต่ละข้อในไตรสิกขานี้ ต่างก็มีความสัมพันธ์กัน คือเมื่อปฏิบัติข้อแรกคือศีลสมบูรณ์ เรียกว่าศีลถึงใจ ชีวิตก็จะเป็นสุข สบาย มีความโปร่งใส โล่งใจ ความโปร่งโล่งเบาสบายนั้นจะเป็นฐานทำให้ฝึกสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตนิ่งสงบ จึงย่อมจะโน้มหาความจริงได้ง่าย จิตที่หยั่งเห็นความย่อมตระหนักว่า ไม่มีอะไรควรยึดถือ ปัญญาซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ก็จะเกิดขึ้น ไตรสิกขาจึงเป็นหลัก ปฏิบัติที่สำคัญ ที่จะช่วยในการดับทุกข์ในชีวิตได้อย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่าใครจะมีความทุกข์มากขนาดไหน เคยทำบาปทำกรรมไว้มากก็ตาม หากหยุดทำกรรมชั่วได้ ตั้งมั่นอยู่ในศีล 5 ปฏิบัติภาวนาจนเกิดวิปัสสนาปัญญาแล้ว ก็มีโอกาส มีทางไปที่สูงขึ้น จนถึงขั้นบรรลุอริยมรรค อริยผล นิพพานได้ ดังเช่นองคุลีมาล เคยฆ่าคนมาแล้ว 999 คน ตามธรรมดาก็จะต้องตกนรก แต่องคุลีมาล ก็เจริญวิปัสสนาจนเกิดปัญญารู้แจ้ง หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นสมบูรณ์ บรรลุนิพพาน พ้นไปจากกฎแห่งกรรม พ้นไปจากวัฏสงสารได้ การเจริญวิปัสสนาจึงเปรียบเหมือนระเบิดนิวเคลียร์ล้างบาปทั้งหมดได้

อานิสงส์ของศีล คือ ความสุข เพราะเมื่อสุขใจ เป็นศีล ศีลถึงใจ ชีวิตก็ไม่มีโทษภัย มีความสุขในเบื้องต้น อานิสงส์ของสมาธิคือ ความสุขมากยิ่งขึ้น อานิสงส์ของปัญญา คือ ความสุขสูงสุด

นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี

นิพพานัง ปะระมัง สุขัง วะทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นความสุขสูงสุด

Friday, April 6, 2007

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่1)

ที่มาจากหนังสือเราเกิดมาทำไม โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ณ วัดเชตวัน มีอุบาสก 5 คนเป็นเพื่อนกัน มานั่งฟังธรรม ทั้ง 5 คน ต่างมีกิริยาอากานต่างๆ กัน คนหนึ่งนั่งหลับ คนหนึ่งนั่งเอานิ้วเขียนพื้นดินเล่น คนหนึ่งนั่งเขย่าต้นไม้ คนหนึ่งนั่งแหงนดูท้องฟ้า มีเพียงคนเดียวที่นั่งฟังด้วยอาการสงบ

พระอานนท์กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมอุบาสกเหล่านี้จึงแสดงกิริยาเช่นนั้น
พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าอดีตชาติของอุบาสกแต่ละคนว่า
อุบาสกที่นั่งหลับ เคยเกิดเป็นงูมาแล้วหลายร้อยชาติ เขาหลับมาหลายร้อยชาติแล้วยังไม่อิ่ม แม้แต่ฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ธรรมะก็ไม่เข้าหู ยังหลับอยู่อย่างนั้น อุบาสกที่เอานิ้วมือเขียนบนพื้นดินเล่น เคยเกิดเป็นไส้เดือนมาหลายร้อยชาติ นั่งเอานิ้วเขียนบนพื้นดินเล่นอยู่อย่างนั้น ด้วยอำนาจความประพฤติที่ตัวเคยทำมาก็ไม่ได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้าเช่นกันอุบาสกที่นั่งเขย่าต้นไม้อยู่นั้นเกิดเป็นลิงมาแล้วหลายร้อยชาติ ถึงบัดนี้ก็ยังเขย่าต้นไม้อยู่ ไม่ได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้าเช่นกัน อุบาสกที่นั่งแหงนดูท้องฟ้านั้นเคยเกิดเป็นพราหมณ์บอกฤกษ์
ด้วยการดูดาวมาหลายร้อยชาติ ถึงบัดนี้ก็ยังนั่งดูท้องฟ้าอยู่ ไม่ได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้า
อุบาสกที่นั่งฟังธรรมะอย่างสงบด้วยความเคารพ เคยเกิดเป็นพราหมณ์ศึกษาธรรมะและปรัชญา ค้นคว้าหาความจริงมาหลายร้อยชาติ มาบัดนี้ได้พบพระพุทธเจ้า ตั้งใจฟังธรรมด้วยดี จนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน

อ่านมาตรงนี้หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่า ชาติก่อนเราเกิดเป็นอะไรหนอ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก ต้องมีบุญมาก อุปมาเหมือนเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำอยู่ในทะเล ทุกๆ 100 ปี เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่หัวขึ้นมาจากทะเลครั้งหนึ่ง ในทะเลก็มีห่วงเล็กๆ ขนาดใหญ่กว่าหัวเต่าหน่อยหนึ่งลอยอยู่ 1 ห่วง โอกาสที่เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่ขั้นมาแล้ว หัวสวมเข้ากับห่วงพอดียากเพียงใด โอกาสนั้นยังมีมากกว่า การที่เหล่าสรรพสัตว์จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์

เมื่อพูดถึงจิตวิญญาณที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิใด มนุษยื สัตว์เดรัชฉาน เปรต ยักษ์ สัตว์นรก
เทวดา พรหม ฯลฯ กล่าวได้ว่า มนุษย์ เป็นภพภูมิที่ประเสริฐสูงสุด ในโลกมนุษย์นี้ โดยอาศัยอัตภาพร่างกายของมนุษย์ จิตของเรามีโอกาสที่จะมีประสบการณ์ได้ทุกภพ เมื่อเราเกิดมา เราอาศัยพ่อแม่มาเกิด กายของเราเป็นมนุษย์ก็จริงแต่จิตใจก็เป็นไปได้สารพัดอย่าง เปรียบชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนห้องทดลอง
คนที่ขี้เกียจ กินแล้วก็นอน กินแล้วก็นอน ชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับงู
คนที่ชอบทะเลาะวิวาท ต่อยกัน ตีกัน ก็เป็นเหมือนไก่ชน

คนที่ซุกซนอยู่เฉยไม่ได้ ก็เหมือนกับลิง

หรือชีวิตบางคนเป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ จนบอกว่าเหมือนตกนรกทั้งเป็น ก็เป็นใจที่มีประสบการณ์เหมือนตกนรก
คนที่ไม่รู้จักพอ มีเท่าไรก็ยังหิวโหย อยากจะได้อยู่ร่ำไป ก็เป็นใจเปรต

บางคนถือตัวจนถือตน ชอบใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้อื่น ก็มีใจเหมือนยักษ์

บางคนรักสวยรักงาม รักอารมณ์ดี ใจดีมีหิริโอตตัปปะ ก็เป็นใจเทวดา
บางคนบำเพ็ญสมาธิภาวนาเข้าฌาณเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ก็มีใจเป็นพรหม

คนที่ประพฤติตนเหมาะสมกับเป็นมนุษย์ ก็มีใจเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

มนุษย์แปลว่า ใจสูง หมายถึงมีจิตใจสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน เปรต ยักษ์ สัตว์นรก มนุษย์รู้จักรับผิดชอบชั่วดี รู้จักว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ มีหิริโอตตัปปะ ละอายเกรงกลัวต่อบาป ประพฤติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย ธรรมเนียมประเพณี ตามหลักพระพุทธศาสนาก็คือ มีศีลธรรม การรักษาศีล 5 คือการรักษาคุณธรรมความเป็นมนุษย์ รักษาศีล 5 ได้ก็เท่ากับรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้สมบูรณ์

ในฐานะมนุษย์ไม่มากก็น้อยที่ใจของเราได้มีประสบการณ์ ในภพชาติอื่นๆ ทั้งที่ต่ำกว่าและสูงกว่าภพภูมิมนุษย์ เรามีปัญญาที่จะรู้ได้จากประสบการณืของเราแล้วว่าอะไรดี อะไรไม่ดี การเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าดีก็ดีได้มากๆ แต่ก็น่ากลัวเหมือนกันเพราะถ้าประมาทก็ทำชั่วได้มาก ถ้าไม่ประมาทรักษาศีล 5 ทำความดี สร้างบารมี ตั้งใจพัฒนาชีวิตจิตใจแล้วก็สามารถมีประสบการณ์สูงขึ้น เป็นเทวดา พรหม ตลอดจนเข้าถึงอริยมรรค อริยผล บรรลุนิพพานได้มนุษย์จึงเป็นชาติที่มีทางเลือก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เป็นการยากที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นการยากที่ชีวิตสัตว์จะได้อยู่สบาย เป็นการยากที่จะได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ เป็นการยากที่พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติ

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงควรเห็นคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ อย่าให้เสียโอกาส เสีลเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เอาใจใส่รักษาความเป็นมนุษย์ไว้ให้มั่นคง ถึงจะเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ตาม แต่จิตใจก็เป็นได้ 2 ทางคือ

ใจต่ำ เป็นอกุศลจิต ใช้ชีวิตอย่างประมาทขาดสติ เป็นทางของสัตว์เดรัจฉาน เปรต ยักษ์ สัตว์นรก
ใจสูงเป็นกุศลจิต ดำเนินชีวิตอย่างมีสติปัญญา ไม่ประมาท สร้างกุศลความดี สร้างบารมี เป็นทางของมนุษย์ เทวดา พรหม อริยมรรค อริยผล นิพพาน

ดังนั้นสำหรับการเกิดมนุษย์ในชาติหนึ่ง การเลือกทางดำเนินชีวิตของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด