Wednesday, February 28, 2007

ทำไมต้องอนุโมทนา สาธุ?

ศัพท์ธรรมคำวัด : อนุโมทนา

มีคำอยู่คำหนึ่งที่ชาวพุทธพูดกันจนติดปาก คำนั้นก็คือ “อนุโมทนา” ความหมายของอนุโมทนาคืออะไร และเมื่อไหร่ที่ควรใช้คำนี้ คำตอบก็คือ...

ในหนังสือ ‘คำวัด’ โดยพระธรรมกิตติวงศ์ ได้อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่า

อนุโมทนา หมายถึง การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำการ อนุโมทนานั้นอาจทำได้ด้วยการพูด เขียนหนังสือ หรือแสดงกิริยาก็ได้ เช่น เมื่อได้ยินเสียงย่ำฆ้องกลองที่วัดในตอนเย็น แสดงว่าพระท่านทำวัตรเย็นจบ ก็ยกมือขึ้นประนมไหว้ เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญ แล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วก็ยกมือขึ้นสาธุ เป็นการอนุโมทนาบุญของเขาด้วย

เรียกการพูดแสดงความยินดีในความดีของผู้อื่นว่า “อนุโมทนากถา”

เรียกหนังสือรับรองการบริจาคที่วัดออกให้แก่ผู้บริจาคทรัพย์ทำบุญว่า “อนุโมทนาบัตร หรือใบอนุโมทนา”

เรียกบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาตามตัวอย่างข้างต้นว่า “อนุโมทนามัยบุญ”

และการที่ภิกษุกล่าวสัมโมทนียกถา อันแปลว่า ถ้อยคำอันเป็นที่บันเทิงใจ ใช้เรียกการที่ภิกษุพูดแสดงความขอบคุณหรือกล่าวถึงประโยชน์และอานิสงส์ของความดีของบุญกุศลที่ทายกทายิกาได้ทำ เช่น ถวายอาหาร สร้างกุฏิ สร้างหอระฆัง เป็นต้น ไว้ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกว่า อนุโมทนากถา

ส่วนในหนังสือศาสนพิธี เล่ม ๒ ฉบับมาตรฐาน โดย คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์ เลี่ยงเชียง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับถวายปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นภัตตาหาร หรือทานวัตถุใดๆ ก็ตามจากทายกทายิกา จะต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้น ไม่ว่าจะได้รับรูปเดียวหรือหลายรูปก็ตาม ต้องอนุโมทนาทุกครั้ง จะละเว้นเสียมิได้ถือว่าผิดพระพุทธานุญาต ต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลังเท่านั้น

ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ฉะนั้นการอนุโมทนาทานจึงเป็น ประเพณีมานานในหมู่สงฆ์ การประกอบพิธีอนุโมทนาลับหลังทา ยกทายิกามีวิธีเดียว คือ การบิณฑบาตที่ต้องออกรับในสถานที่ต่างๆ ทั่วไปไม่จำกัด กรณีเช่นนี้ไม่ต้อง อนุโมทนาต่อหน้าขณะที่รับบิณฑบาต แต่กลับมาถึงวัดฉันอาหารเรียบร้อยแล้ว จึงอนุโมทนา หรือยกไปอนุโมทนาในช่วงทำวัตรสวดมนต์ เช้า - เย็นก็ได้

ส่วนพิธีอย่างอื่นนอกจากนี้ควรจะอนุโมทนาต่อหน้าเสมอไปจึงจะสมควร พิธีอนุโมทนาแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ ๒ หัวข้อคือ

๑. สามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาที่นิยมใช้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ไม่จำกัดงานหนึ่งงานใด ก็คงใช้คำอนุโมทนาแบบเดียวกัน
๒. วิสามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาด้วยบทสวดพิเศษ คือ อนุโมทนาเฉพาะทาน เฉพาะกาล และเฉพาะเรื่อง

สำหรับคำว่า “สาธุ” แปลว่า “ดีแล้ว ชอบแล้ว” ดังนั้นการเปล่งวาจาว่าสาธุก็เพื่อแสดงความเห็นชอบด้วยชื่นชม หรือยกย่องสรรเสริญ เพื่ออนุโมทนาในบุญ หรือความดีที่ผู้อื่นทำนั่นเอง

ในพระไตรปิฎก ได้พูดเรื่องผลบุญของการอนุโมทนาที่ทำให้ไปเกิดในวิหารวิมานว่า

ท่านพระอนุรุทธเถระได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า เหตุใดมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ มีเสียงอันเป็น ทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจ มีกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ เสียงของเครื่องประดับผม ก็ดังเสียงไพเราะ ดุจเสียงดนตรี แม้พวงมา ลัยบนศีรษะก็มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร ?

นางเทพธิดาตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นสหายของดิฉัน อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้น แล้วมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา ก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิ ฉันได้แล้ว เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น วิมานนี้เป็นวิมานอัศจรรย์น่าดูน่าชม โดยรอบสูง ๑๖ โยชน์ เลื่อนลอยไปในอากาศ ได้ตามความปรารถนาของดิฉัน ดิฉันมีปราสาทเป็นที่อยู่อา ศัย อันบุญกรรมจัดแจงเนรมิตให้เป็นส่วนๆ งามรุ่งโรจน์ตลอดร้อยโยชน์โดยรอบทิศ วิมานอันมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ น่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชมเช่นนี้ เกิดแต่ดิฉันเพราะกุศลกรรมทั้งหลาย ควรทำบุญโดยแท้

สรุปแล้วการอนุโมทนาเป็นสิ่งดี แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือ การลงมือทำความดี สร้างบุญกุศลนั้นๆ ด้วยตนเอง

คัดลอกมาจาก
ผู้จัดการออนไลน์ 26 กรกฎาคม 2548

ทำบุญให้ทานไปเพื่ออะไร?

ทำบุญให้ทานไปเพื่ออะไร

ในสังคมเราชาวพุทธมีหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องการทำบุญให้ทานในพระพุทธศาสนา บางคนไม่เข้าใจว่าทำบุญเพื่ออะไร ? ทำไปทำไม ? ทำบุญนั้นคืออะไร ?

บางคนก็ทำบุญโดยสักแต่เหมาเอาเพื่ออยากได้บุญ, เห็นเขาทำก็ทำเหมือนเขาเพราะเขาบอกว่าทำแล้วได้บุญ ถึงเทศกาลงานทำบุญใหญ่ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น หลายคนกลัวไม่ได้ใส่บาตรพระหรือใส่บาตรไม่ทันพระเดิน ก็ชุลมุนเบียดเสียดแย่งกันเข้าไปใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งกับพระภิกษุสงฆ์กันวุ่นวาย เพราะกลัวตนไม่ได้บุญ, บางคนก็สักแต่ว่าทำบุญโดยไม่รู้ว่าเอาบุญไปทำอะไร, บางคนทำบุญเพื่อปรารถนาทางโลก อธิษฐานในภพหน้าชาติหน้าชาติต่อๆ ไป เช่น ขอให้รวยๆ ขอให้สวย เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสไปโดยไม่เข้าใจ

บางคนมีอุปทานในบุญ เพื่อได้ไปสวรรค์ มีวิมานสวยๆ, บางคนทำบุญเอาหน้าทำบุญอวดคนก็มี อุปมาเหมือนปิดทองเฉพาะหน้าพระอย่างเดียว และบางคนไม่เข้าใจเรื่องการทำบุญ ทำบุญโดยผิดศีล เมื่อมีงานบุญใหญ่ เช่น ทำบุญผ้าป่า ทำบุญบ้าน ทำบุญงานศพ เป็นต้น เป็นอันต้องได้ล้มวัวล้มควายมาเลี้ยงกันในงานบุญ (มักพบในต่างจังหวัด)

ถ้าทำบุญโดยไม่เข้าใจอย่างนี้แล้วจะเป็นการเพิ่ม กิเลส ตัณหา อุปาทาน มีอวิชชา (ความโง่, ความหลง) ครอบงำได้ ทำให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะอย่างไม่สิ้นสุด

บางคนก็มีอคติกับการทำบุญสุนทานอยู่ในใจ และไม่ชอบการทำบุญเพราะมองว่าเป็นความเชื่อ ขาดปัญญาและงมงาย เมื่อเห็นคนศรัทธาในการทำบุญมากๆ บริจาคเงินมากๆ ก็ว่าคนหลงบุญเบาปัญญา เหมือนคนโง่งมงายเอาเงินไปทำบุญกันทำไม เงินทองนั้นหามายาก....กว่าจะเก็บจะออมได้ และยิ่งเห็นพวกคนจนๆแต่ศรัทธาสูง แล้วยังจะเจียดเงินที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว อุตส่าห์ไปหาซื้ออาหารมาใส่บาตรพระภิกษุอีก (เห็นแล้วก็สมเพชพวกคนจนๆ เหล่านี้จริงๆ ไม่คิดถึงตนเองที่มัวงมงายขาดปัญญา มีแต่ศรัทธาอย่างเดียว เป็นต้น)

บางคนก็มองว่าการทำทานนั้นไม่ใช่เรื่องที่สำคัญของพระพุทธศาสนานักจึงไม่ให้ความสำคัญ แต่จริงๆ แล้วพระพุทธองค์ท่านสอนให้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา (ปัญญา) ไปควบคู่กัน โดยไม่ให้ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป เพราะถ้าทำแต่ทานไม่มีศีลก็จะมีโอกาสทำชั่วมาก ตกนรกภูมิเวียนวนชดใช้กรรมในวัฏสงสาร และไม่เจริญภาวนาสู่ปัญญาก็ไม่มีปัญญาหาทางเข้าสู่นิพพาน พ้นทุกข์ไม่ได้

เมื่อมีแต่ศีลหรือเจริญภาวนาอย่างเดียวในชาตินี้ (และยังไม่สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ในชาตินี้) ถ้าไม่ทำทานก็เกิดมาอดอยากมีชีวิตลำบากโอกาสผิดศีลในชาติต่อไปย่อมมีมากกว่าคนที่มีฐานะดี ทำให้อาจทำกรรมชั่วได้ง่ายเพราะความจน และไม่มีเวลามาสนใจในการภาวนาเพราะลำพังความจนก็ทุกข์ทรมานหิวโหยอยู่แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมานั่งภาวนาเพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งต่างกับคนมีฐานะดี ยิ่งเป็นเศรษฐีแม้ไม่ต้องทำงานก็มีทรัพย์จุนเจือกินใช้ไม่หมดในชาตินี้ มีเวลาสามารถมาเจริญภาวนาสู่ปัญญาได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงินทอง เป็นต้น

ดังนั้นผู้พิมพ์จึงได้รวบรวมข้อมูลในเรื่องทานนี้จากหนังสือทาน,จากนิยามคำสอนของหลวงปู่มั่น,และคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ มารวบรวมเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในเรื่องทานมากยิ่งขึ้น

ทาน : การให้, สิ่งที่ให้, ให้ของที่ควรให้แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

ทานแบ่งเป็น ๒ หมวด ดังนี้
ทานหมวดที่ ๑ ได้แก่
- อามิสทาน คือให้สิ่งของ เป็นเครื่องบริหารกาย
- ธรรมทาน คือให้ธรรมะ เป็นเครื่องบริหารใจ
ทานหมวดที่ ๒ ได้แก่
- สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม
- ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ
พุทธศาสนิกชนถ้าไม่บำเพ็ญทานเลย ภิกษุทั้งหลายย่อมอยู่ไม่ได้ เมื่อภิกษุไม่มีเสียแล้ว พระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ได้อย่างไร ขอแต่ว่าผู้บำเพ็ญทานอยู่เป็นประจำแล้ว อย่าได้ย่ำเท้าอยู่กับที่ ขอให้รักษาศีลและเจริญภาวนาร่วมด้วย มิฉะนั้นท่านก็ไม่อาจที่จะรับอานิสงส์แห่งพระพุทธศาสนาได้ครบวงจร

การทำบุญนั้นทำเพื่อบูชาคุณท่าน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เพื่อกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียว หรือความเห็นแก่ตัว เมื่อทำบุญอย่าหวังเพื่อขอให้เกิดมารวย ขอมีวิมานในสวรรค์สวยๆ มีบริวารมากมาย เป็นต้น เพราะเป็นการเพิ่มกิเลสตัณหา อุปาทาน เป็นเหมือนการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทน ทำให้ผลแห่งทานนั้นไม่บริสุทธิ์ และมีอานิสงส์อ่อน ไม่ขัดเกลากิเลส เพิ่มตัณหา เป็นไปเพื่อวัฏฏะ ไม่พ้นทุกข์

เมื่อเราทำบุญทำทานไว้แล้ว ตราบใดที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เราต้องได้รับอานิสงส์แห่งบุญนั้นอยู่แล้ว ดังเช่นพระพุทธพจน์กล่าวไว้ในอันนสูตร ๑๕/๔๒ ว่า “ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา อาหารนั้นย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงนำความตระหนี่ให้ปราศจากไป พึงข่มความตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินเสียแล้วจงให้ทาน เพราะบุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า” ถึงแม้จะไม่ปรารถนา ผลแห่งทานนั้นก็มีอานิสงส์ให้อยู่แล้ว ถ้าจะปรารถนาก็ควรที่จะปรารถนาสิ่งที่สูงสุด คือปรารถนาพระนิพพาน แต่ไม่ใช่ปรารถนาอย่างเดียวต้องทำเหตุร่วมด้วยจึงจะสมบูรณ์

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่าเมื่อเราได้ทำบุญให้ทาน ย่อมมีอานิสงส์อยู่ในตัวแล้ว ดังเช่นที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทักขิณาวิภังคสูตร ได้แสดงธรรมเรื่องทานนี้แก่พระอานนท์ เพื่อจำแนกอานิสงส์ในลักษณะแห่งการให้ทานเฉพาะบุคคล และการให้ทานแก่พระสงฆ์ทั่วไป (สังฆทาน) ดังจะยกตัวอย่าง ลักษณะดังนี้

ดูก่อนอานนท์ทักษิณาเป็นปาฏิบุคลิกทานมี ๑๔ ประการ (ยกตัวอย่างมาเพียงบางประการ ให้พอเข้าใจ) “
- บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้เป็นร้อยเท่า
- ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
- ให้ทานผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
- ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
- ให้ทานในผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปใยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำพระสกทาคามิผล ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหันตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธ”

“ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น”
“ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่ามีผลนับไม่ได้ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิบุคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลยฯ”

คือในสมัยปัจจุบัน เราอาจพบเจอพระที่ไม่อยู่ในศีลในธรรม ที่เป็นข่าวให้เราๆ ได้ทราบกันและที่ยังไม่เป็นข่าวให้ทราบ แต่พระผู้มีพระภาคท่านแสดงธรรมให้รู้ว่าถึงแม้เราจะทำบุญกับพระประเภทนี้ก็จริง แต่ให้เราอุทิศในการทำบุญนั้นให้เป็นสังฆทานคือทำเพื่อสงฆ์ ก็จะมีอานิสงส์หาประมาณมิได้เช่นกัน

ตถาคตกล่าวว่า “สังฆทานนั้นมีอานิสงส์มากกว่าการให้ทานเฉพาะบุคคล (ปาฏิบุคลิกทาน)” และพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญธรรมทานและสังฆทานว่าเป็นทานอันเลิศ

ทานเป็นชื่อการให้ และสิ่งที่ให้ คนที่ให้ทานท่านเรียกว่า “ทานบดี” (ทานนะบอดี) เจ้าของทาน คือเป็นเจ้าของแห่งทานนั้นตลอดไป ใครจะมาแย่งชิงเอาไปไม่ได้
การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้ ย่อมเป็นของเราตลอดไปไม่มีใครจะมาแย่งเอาไปได้ ถ้าพอมีโอกาสและไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ขอให้รีบทำไว้อย่ารอไว้เมื่อนั้นเมื่อนี้ เพราะชีวิตไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีหลักประกัน เพราะการทำบุญนั้นเปรียบเหมือนเราเตรียมเสบียงไว้ ในขณะที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ เรายังไม่สามารถหนีออกจากกองทุกข์หนีออกจากวัฏสงสารได้สำเร็จคือเข้าสู่พระนิพพานยังไม่ได้ในชาตินี้ (ยกเว้นนอกจากผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำบุญเพื่อภพชาติต่อไป เพราะได้จบได้สิ้นภพชาติแล้วในชาตินี้) แต่เมื่อเรายังไม่สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ เรายังต้องวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติตามวิบากกรรมของแต่ละคน เพราะยังขจัดกิเลสให้สิ้นซากยังมิได้ กว่าจะเข้าสู่พระนิพพานได้ เราจึงจำเป็นต้องใช้บุญกุศลที่ทำไว้เป็นฐานเสบียงเป็นที่พึ่งที่อาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในภพภูมิต่อไปที่ต้องไปเกิดใหม่

จะยกตัวอย่างเหตุผู้ที่ไม่เคยทำบุญทำทานมาแต่ก่อน แล้วมาการเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ เมื่อต้องมาเกิดในครอบครัวที่ยากจนหาเช้ากินค่ำย่ำแย่ ไม่พอกินไม่พอใช้ หิวโหย ขัดสนไม่มีเงินไม่มีของใช้ดีๆ อย่างที่คนอื่นเขามี เมื่อเห็นคนอื่นมีกินมีใช้ดีๆก็อยากได้อย่างเขาบ้างตามกิเลสตัณหาของตน เมื่ออยากได้มากเข้าๆๆ ก็เกิดความโลภ ความโลภสามารถทำให้คนทำชั่วหรือผิดศีลได้ เช่นลักขโมย, ฉกชิงวิ่งราว (ผิดศีลข้อ ๒) บางคนก็ฆ่าเจ้าของทรัพย์ ปิดปาก หรือเจ้าของทรัพย์ขัดขืนก็ทำร้ายและฆ่าเจ้าของทรัพย์ด้วยโทสะ(ผิดศีลข้อ ๑) การทำผิดครั้งนี้ทำด้วยโลภะและโทสะทำให้ผิดศีลทั้งสองข้อ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวได้ก็อาจพูดปฏิเสธโกหกว่าตนไม่ได้ทำ (ผิดศีลข้อ ๔) อีกข้อ เป็นการสร้างกรรมชั่วผิดศีลธรรมเพราะเกิดมาจน เป็นต้น

เราไม่สามารถตัดกิเลสความโลภนี้ได้ขาด ถ้าเราไม่ได้เดินทางสู่วิปัสสนา เราจึงมีความโลภมากโลภน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่าแต่ละบุคคลได้เก็บบรรจุกันมาหรือระงับสะสางออกไปเท่าใดนั่นเอง แต่ศีลนั้นเป็นด่านแรกที่จะช่วยยับยั้งการก่อกรรมชั่วได้ถ้าคนนั้นตั้งใจที่จะรักษาศีลจริงเช่นกัน และศีลนั้นช่วยไม่ให้ก่อกรรมทำเข็ญทำให้ไม่มีวิบากกรรมชั่วไม่มีเจ้ากรรมนายเวรตามรังคราญ

หรือบางคนยากจนก็จริงแต่ไม่ใช่คนที่เป็นทาสของความโลภมาก ไม่คิดทำกรรมชั่วที่ร้ายแรง แต่เกิดมาจนไม่ค่อยมีเงิน เมื่อปากท้องหิวโหยจำเป็นต้องหาอะไรใส่ปากใส่ท้อง หนทางที่ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อกับข้าว จะทำอย่างไร ?...ก็ต้องตกปลามาทำอาหารกิน เลี้ยงไก่ไว้ก็เชือดคอไก่กินเอง เป็นต้น (มักพบในต่างจังหวัดมาก) นี่เป็นเหตุที่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ (ผิดศีลข้อ ๑) เพื่อมาดำรงชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ ถ้าคนมีเงินมีฐานะก็ไม่ต้องฆ่าสัตว์กินเองไปซื้อหาอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วมาเลี้ยงชีวิตโดย ไม่ต้องผิดศีลธรรม (ยกเว้นพวกที่ตั้งใจทำโดยไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องศีลไม่เชื่อเรื่องบาปกรรม ถึงจะมีฐานะดีก็จริง แต่รักสนุกชอบใช้เวลาว่างไปตกกุ้งตกปลา เป็นต้น)

เป็นอันว่าการเกิดมาเป็นคนจนนี้สามารถทำกรรมชั่วผิดศีลธรรมได้ง่ายกว่าคนมีฐานะดี เมื่อตายลงไปสู่อบาย ก็ยังหาโอกาสเข้าสู่พระนิพพานได้โดยยาก เพียงแค่เกิดมาจน แต่ใช่ว่าคนรวยจะไม่มีโอกาสทำกรรมชั่ว คนรวยที่ไม่มีศีลมีธรรมประจำใจย่อมผิดศีลทำบาปได้เหมือนกัน แต่เราจะกล่าวถึงเฉพาะคนที่เกิดมาจนและมีความจำเป็นของความจนที่บีบคั้นให้ต้องทำบาปเพื่อปากท้อง เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวอย่าง เช่นบางคนก็มีวิบากกรรมต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน เช่นเป็นสุนัข แต่ถ้าเคยทำบุญสุนทานไว้ก็เกิดเป็นสุนัขพันธ์ดีเป็นที่ชื่นชมของผู้เลี้ยง มีอาหารการกินอยู่ดี มีเสื้อผ้าสุนัขสวยๆ ใส่ เจ้าของดูแลเอาใจใส่ มีกินมีที่อยู่ในบ้านคนรวยดีกว่าคนจนๆ หลายๆ คนเสียอีกที่หาเช้าไม่พอค่ำ และต่างกับคนที่ไม่เคยทำบุญสุนทานมา ถ้ามีวิบากกรรมต้องเกิดเป็นสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หากินอดๆ อยากๆ ไม่มีที่อยู่ประเภทสุนัขจรจัด เป็นต้น เนื่องจากบุพกรรมของสัตว์นั้นมีมาต่างกัน

นี่คือตัวอย่างว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องทำบุญให้ทาน และการให้บุญให้ทานบ่อยๆ โดยใจที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทนในทางเป็นไปเพื่อวัฏฏะ จะช่วยลดคลายความตระหนี่ถี่เหนียว ความละโมบโลภมากได้ไม่มากก็น้อยตามปัญญาของแต่ละบุคคล ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องบำเพ็ญทานเพราะเหตุดังนี้
พุทธวจนะในสุมนสูตร ๒๒/๓๒ แสดงไว้ว่า “ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะ แม้แก่เทวดา มนุษย์ และบรรพชิต”

การทำบุญไว้กับมือของตนเองนี่แหละดีที่สุด แน่นอนที่สุด การมัวประมาทรอไว้ให้ญาติทำให้เมื่อตายไปแล้ว โอกาสที่จะได้รับนั้นยาก เพราะอาจไปเกิดในภูมิที่รับไม่ได้ (เช่น นรกภูมิ, สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น) หรือพอจะรับได้แต่เขาไม่ทำบุญอุทิศไปให้ก็อดอีก จงอย่าประมาททำบุญด้วยตนเองดีกว่ารอผู้อื่นทำให้เมื่อตายแล้ว มีน้อยทำน้อย มีมากทำมาก ทำตามกำลังทรัพย์ ตามกำลังศรัทธา โดยไม่ให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

ทานสูตร ๒๒/๓๔๖ มีว่า “ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมากเพราะตน (ผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ผู้รับทาน) ทายกผู้มีปัญญามีศรัทธา เป็นบัณฑิตมีใจพ้นจากความตระหนี่ ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไม่มีความเบียดเบียน”

หลักการทำกรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ท่านเน้นที่เจตนาเป็นใหญ่ ถ้าเจตนาแรง กรรมที่ทำลงไปย่อมมีผลมาก ถ้ามีเจตนาอ่อน กรรมที่ทำลงไปย่อมมีผลน้อย นอกจากจะเน้นที่เจตนาแล้ว ในการทำความดีต่างๆ ยังต้องรักษาจิต ให้มีศรัทธาคือความเชื่อและปสาทะคือความเลื่อมใส ในขณะที่ทำ กำลังทำ และหลังจากทำแล้วด้วยจึงจะได้อานิสงส์แรง ยิ่งมีปิติซาบซ่ามีความอิ่มเอิบใจปลื้มใจด้วย ก็ยิ่งเสริมให้บุญจริยานั้นๆ มีอานิสงส์แรงยิ่งขึ้น

ดังนั้นในการประกอบการกุศลต่างๆ ในแต่ละครั้ง มีเงื่อนไขที่ทำให้อานิสงส์มากดังนี้ ได้แก่ วัตถุต้องบริสุทธิ์, ผู้ให้มีศีลบริสุทธิ์, ผู้รับมีศีลบริสุทธิ์, ต้องประคองจิตให้เป็นกุศลตลอดเวลาคือก่อนให้ทาน ขณะกำลังให้ทาน หลังจากให้แล้วไม่เสียดาย พยามรักษาจิตให้ศรัทธา กับ ปสาทะ (เลื่อมใส) เดินคู่กันไป จงกำจัดความลังเลสงสัยออกให้หมดเมื่อทำทาน

แต่ต้องมีปัญญาร่วมด้วย คือในการประกอบการบุญกุศลทุกประเภท ก่อนทำควรพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่ทำนั้นมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ถูกต้องตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่
มิฉะนั้นอาจจะเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาติดตามมา เช่น
ก. ส่งเสริมโจรปล้นศาสนาให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น
ข. ให้กำลังแก่คนชั่ว ได้มีโอกาสก่อกวนสังคมมากขึ้น
ค. จะเกิด “วิปฏิสารใจ” ว่าไม่ควรทำเลย

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้แสดงธรรมถึงเรื่องทานไว้ว่า
“ทานคือเครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้ทานเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่างๆ ก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิหวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กัน ในเวลาอีกฝ่ายผิดพลาดหรือล่วงเกิน

คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาก็เคารพรัก จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลนหากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ไม่อับจนทนทุกข์ แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ

อำนาจทาน ทำให้ผู้มีใจบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัยจนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์ บันดาลไม่ให้อดอยากในภพที่เกิด กำเนิดที่อยู่นั้นๆ ฉะนั้นทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทานเสียสละ จึงเป็นผู้ค้ำจุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป โลกที่มีการสงเคราะห์กันอยู่ ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป
ทานจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่วๆ ไป ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป”

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้แสดงธรรมเรื่องทานไว้ว่า
“การให้ทานกับการรบพุ่งสงครามเสมอกันอย่างไร ? การให้ทานคือการรบกันกับกิเลส รบกันกับความยึดมั่นถือมั่น การให้ทานที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แลกเอาสวรรค์ ไม่ใช่แลกเอาความสวยความรวย การให้ทานที่แท้จริงนั้นเป็นการรบพุ่งกับกิเลส รบกับความเห็นแก่ตัว รบกับความยึดมั่นว่าตัวกู–ของกู รบให้กิเลสเหล่านั้นพ่ายไป นั่นแหละเรียกว่าการให้ทาน
ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า การให้ทานกับการรบนี้เสมอกัน หรือเป็นสิ่งเดียวกันอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าจะพูดให้ยืดเยื้อออกไป ก็จะพูดได้เหมือนกันว่า การให้ทานนั้นก็มีข้าศึก ต้องมีการตระเตรียม ต้องมีการฝึกฝน ต้องมีการสะสมอาวุธ สะสมเครื่องปัจจัยในการรบพุ่งแล้วจึงจะไปรบกัน
การให้ทานนี้ก็เหมือนกันต้องมีการตระเตรียมที่ถูกต้องจึงจะเป็นการให้ทานที่ดี เมื่อให้ไปได้เท่าไหร่มันก็ชนะเท่านั้น เหมือนการรบที่ชนะเท่าไหร่มันก็ชนะเท่านั้น ถ้าให้ไม่ดีคือรบไม่ดี มันก็พ่ายแพ้ คือถอยหลังไปเห็นแก่ตัว เป็นการลงทุนชนิดหนึ่งไปคือทำบุญหวังผลนั่นเอง

จงระวังให้ดี จงทำบุญให้ได้รับประโยชน์ ให้เป็นประโยชน์ คือให้เป็นประโยชน์อันแท้จริง เป็นบุญที่แท้จริง (ตัดความตระหนี่, ความโลภลงได้และไม่หวังผลทางโลกียะ) อย่าได้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย”

การรับประทานอาหารมังสวิรัติ ได้บุญ หรือ ไม่ ?

การรับประทานอาหารมังสวิรัติ ได้บุญ หรือ ไม่ ?
- พระพุทธเจ้าทรงห้ามพุทธบริษัทรับประทานเนื้อสัตว์ หรือไม่
- การรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ งดเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์
เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ใช่หรือไม่
- การรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นบุญหรือไม่ .....
อาหารมังสวิรัติ

ความหมาย
อาหารมังสวิรัติ คือ อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผัก ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติจะงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด

ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่เคร่ง และ กลุ่มที่ไม่เคร่ง
๑. กลุ่มที่เคร่ง จะกินเฉพาะอาหารที่มาจากพืชเท่านั้น
ไม่กินอาหารที่มาจากสัตว์ คือ ไข่ นม และเนย
๒. กลุ่มที่ไม่เคร่ง จะกินอาหารที่มาจากพืชไม่กินเนื้อสัตว์
แต่กินไข่ นม และเนย

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ทำให้ร่างกายขาดวิตามินและแร่ธาตุได้ โดยเฉพาะชาวมังสวิรัติที่เคร่งครัด (ไม่กินนมและไข่) อาจขาดธาตุแคลเซียม วิตามินบี และวิตามินดี ทำให้เกิดโรคบางอย่างได้

อาหารหลัก ๕ หมู่
นักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร หรือที่เรียกว่า นักโภชนาการ ได้แยกธาตุอาหารออกเป็น ๕ ประเภท นิยมเรียกกันว่าอาหารหลัก ๕ หมู่ คือ
หมู่ที่ ๑ โปรตีน เป็นสารอาหารที่อยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม และเมล็ดถั่ว อาหารประเภทโปรตีนสร้างความเจริญเติบโตแข็งแรงให้แก่เซลล์ และเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย
หมู่ที่ ๒ คาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรต คือ ให้พลังงานแก่ร่างกาย
หมู่ที่ ๓ ไขมัน เป็นสารอาหารที่อยู่ในอาหารประเภทไขมัน ซึ่งได้มาจากไขมันสัตว์ และไขมันจากพืช ประโยชน์ของไขมัน คือ ให้พลังงานแก่ร่างกาย ละลายวิตามิน และแทรกอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
หมู่ที่ ๔ เกลือแร่ เป็นสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เมล็ดถั่ว และผักใบสีเขียว เกลือแร่ที่สำคัญ เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส ทั้งสองชนิดนี้ร่างกายใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟัน ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเม็ดโลหิตแดง อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ได้แก่ เครื่องในสัตว์ พวกตับและหัวใจ
หมู่ที่ ๕ วิตามิน เป็นสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารประเภทตับ หัวใจ ไข่ น้ำนม และผลไม้บางชนิด ถ้าร่างกายขาดวิตามิน หรือ มีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะทำให้ร่างกายผิดปกติขึ้นได้ เช่น ขาดวิตามินบี ๑ ทำให้อ่อนเพลีย และเป็นโรคเหน็บชา ขาดวิตามินดี เป็นโรคกระดูกอ่อน ขาดวิตามินเอ ทำให้ตาพร่ามัว มองไม่ชัดเจนและถึงกับตาบอดได้ ขาดวิตามินซี ทำให้เป็นโรคลักปิดลักเปิด มีอาการเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม และเกิดโรคโลหิตจาง

การรับประทานอาหารมังสวิรัติ กับ การกินเจ
การรับประทานอาหารมังสวิรัติกับการกินเจ แม้จะมีพฤติกรรมเหมือนกัน คือ งดเว้นการกินเนื้อสัตว์เหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน คือ

ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ก็เพราะมีเจตนาจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเบียดเบียนสัตว์ คือ ไม่กินเนื้อสัตว์ เหตุให้ไม่ฆ่าสัตว์ เพื่อเอามาเป็นอาหาร

แต่การกินเจ เป็นประเพณีของชาวจีน การกินเจ ไม่ใช่งดเว้นเนื้อสัตว์ตลอดเวลานาน แต่งดกินเนื้อสัตว์ชั่วระยะเวลาเทศกาลกินเจเท่านั้น คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๙ ของจีน เป็นเวลา ๙ วัน ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำเดือน ๑๑ ของไทย (แต่เฉพาะในปีที่ปฏิทินจีนมีเดือน ๕ สองครั้ง จะตรงกับ ขึ้น ๑-๙ ค่ำเดือน ๑๒ ไทย) การกินเจมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาพระเจ้าเก้าพระองค์ (เก๊า-ฮ้วง-ฮุดโจ้ว) ซึ่งเป็นเทพเจ้าอยู่บนสวรรค์ ในหนึ่งปีพระเจ้าเก้าพระองค์จะลงมาตรวจดูคนในมนุษยโลกว่าใครทำดีทำชั่ว แล้วจะจดบัญชีไว้ เพราะเจ้าทั้งเก้าจะลงมาในมนุษยโลก ผู้ที่ต้องการให้พระเจ้าทั้งเก้าช่วยเหลือ ก็ต้องรักษาศีลกินเจเป็นเวลา ๙ วันนอกจากไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว ยังต้องไม่กินผักที่มีกลิ่นแรงก่อให้เกิดราคะ ๕ ชนิด ที่มีในเมืองไทย ๓ ชนิด คือ หอม กระเทียม และกุยช่าย (อีก ๒ ชนิด คือ หลักเกี๋ย และเฮงกื๋อ ไม่มีในประเทศไทย)

ดังนั้น ในวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำเดือน ๙ ของจีน คนจีนจึงกินเจ เพื่อทำความดีให้เก๊าฮ้วงฮุดโจ้ว เห็นจะได้จดบันทึก และบันดาลให้มีอายุยืนต่อไป

ทำไมพระมหายานจึงฉันอาหารเจ
พระสงฆ์มหายาน คือ พระจีนและพระญวน มีอุดมคติ หรือจุดหมายสูง
สุดในการปฏิบัติธรรมต่างกับพระสงฆ์เถรวาท
พระสงฆ์เถรวาท คือ พระสงฆ์ไทย ลังกา พม่า ลาว เขมร มีจุดมุ่งหมายสูง
สุดในการปฏิบัติธรรม คือ ทำจิตให้บริสุทธิ์ หมดกิเลส
เป็นพระอรหันต์ หรือเรียกว่า บรรลุนิพพาน
นิพพาน คือ จุดหมายสูงสุด

แต่พระสงฆ์มหายาน ไม่ต้องการบรรลุนิพพานแต่ลำพังตนเอง แต่ต้องการช่วยให้มหาชน บรรลุนิพพานทั้งหมด จึงต้องบำเพ็ญบารมีให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในระหว่างที่บำเพ็ญบารมีอยู่นี้เรียกว่า เป็นพระโพธิสัตว์ คำว่าพระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จะต้องรักษาศีลเรียกว่า “สิกขาบท พระโพธิสัตว์” เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ปฏิบัติพร้อมกันกับสิกขาบทที่มีมาในพระปาฏิโมกข์ เหมือนกับพระสงฆ์เถรวาท แต่ต้องรักษาศีลสำหรับพระโพธิสัตว์เพิ่มขึ้น ๕๘ ข้อ ในสิกขาบท พระโพธิสัตว์ ๕๘ ข้อนี้ มีบัญญัติว่าห้ามบริโภคโภชนาหารปลาและเนื้อ และห้าบริโภคผักที่มีกลิ่นฉุน ก่อให้เกิดราคะ ๕ อย่าง คือ หอม กระเทียม และกุยช่าย (อีก ๒ ชนิด คือ หลักเกี๋ย และเฮงกื๋อ ไม่มีในประเทศไทย)

พระพุทธเจ้าทรงห้ามพุทธบริษัทรับประทานเนื้อสัตว์ หรือไม่
คำถามนี้ต้องแยกตอบเป็น ๒ พวก คือ
๑. พุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์
๒. พุทธบริษัทที่เป็นบรรพชิต
สำหรับพุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์นั้นพระพุทธเจ้าไม่ห้ามการรับประทานอาหารทุกชนิด เพราะชาวบ้านมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่างกัน ความเชื่อถือในเรื่องการรับประทานอาหารก็เป็นไปตามตระกูลและวรรณะของตน พระพุทธเจ้าจึงไม่ห้ามชาวบ้านในเรื่องการเลือกอาหาร

แต่สำหรับบรรพชิต คือ ภิกษุ ภิกษุณี และ สามเณรนั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติข้อห้ามไว้ ๒ กรณี คือ
กรณีที่ ๑ ห้ามรับประทานเนื้อ ๑๐ ชนิด คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อสุนัข เนื้องู
การที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อเสือ ๓ ชนิด แทนที่จะพูดรวมๆ “เนื้อเสือ” เพราะในภาษาบาลี เสือแต่ละชนิด ใช้คำเรียกต่างกัน คือ เสือโคร่ง ใช้คำว่า พยคฺฆมํสํ , เสือดาว ใช้คำว่า ตรจฺฉมํสํ , เสือเหลือง ใช้คำว่า ทีปิมํสํ เนื้อ ๑๐ ชนิดนี้ ถ้าภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ (ที่มา : ฉบับหลวง เล่ม ๕ ข้อ ๕๗ หน้า ๖๙-๗๒)
กรณีที่ ๒ พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุฉันเนื้อที่เขาฆ่า เพื่อทำอาหารถวายพระโดยเฉพาะ เรียกในพระวินัยว่า “อุททิสุสมังสะ” แปลว่า เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อถวายภิกษุ ท่านห้ามมิให้ภิกษุฉัน หากภิกษุฉัน ทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติทุกกฎ

พุทธบัญญัติข้อนี้ มีในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่ม ๕ ข้อ ๘๐ หน้า ๑๐๐-๑๐๑ ดังนี้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉัน ต้องอาบัติ ทุกกฎ”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ปลาเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม
คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ”

การรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ งดเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ใช่หรือไม่
คำตอบที่ถูกต้อง คือ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสนับสนุน มิได้ทรงสรรเสริญ มิได้ทรงติเตียน การบริโภคอาหารมังสวิรัติแต่อย่างใด และการบริโภคอาหารมังสวิรัตินั้น ก็มิได้ช่วยให้บรรลุธรรมพิเศษแต่อย่างใด
บางคนยึดถือว่า การบริโภคอาหารมังสวิรัติเป็นสิ่งสำคัญ เป็นข้อปฏิบัติอันประเสริฐ จึงสรรเสริญผู้บริโภค ติเตียนผู้ไม่บริโภค
เคยมีภิกษุสำนักหนึ่ง ติเตียนผู้ที่กินเนื้อสัตว์ว่าเป็นยักษ์มาร ปากที่กินเนื้อสัตว์ เป็นปากของคนใจดำอำมหิต กระเพาะของคนที่กินเนื้อสัตว์เป็นป่าช้า ที่ฝังของเนื้อและปลาทั้งหลาย คำกล่าวอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง คือ มานะ ถือตัว , อติมานะ ดูหมิ่นท่าน , สาเถยยะ โอ้อวด

การรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นบุญหรือไม่
การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำอะไร เป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนั้น ต้องอาศัยกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความคิดเห็นของตนให้ตรง
เมื่อเทียบเคียงกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ วิธี แล้ว ไม่พบว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ รับประทานแต่พืชผักเป็นวิธีทำบุญข้อใดเลย จึงไม่นับว่าเป็นวิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา
ลองคิดดูว่าถ้าการกินพืช เช่น ผัก หญ้า ได้บุญ แล้วสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ก็ต้องได้บุญมากกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์พวกนี้กินพืชตลอดชีวิตไม่กินเนื้อสัตว์เลย

การกินเนื้อสัตว์ บาป หรือ ไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าบาปหรือไม่บาปนั้น ต้องพิจารณาว่า การกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาต หรือไม่ ศีลข้อปาณาติบาต คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ นั้นจะผิดศีลก็ต่อเมื่อประกอบด้วย องค์ ๕ คือ
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม พยายามที่จะฆ่า
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อ จึงถือว่าเป็นการฆ่าสัตว์ ผิดศีลข้อที่ ๑ เป็นบาป แต่ถ้าไม่ได้ลงมือฆ่าเอง และไม่ได้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ก็ไม่เป็นบาป ตัวอย่าง เราไปจ่ายตลาด ซื้อกุ้งแห้ง ปลาดุกย่าง ปลาทู เนื้อหมู ฯลฯ เราได้มีส่วนร่วมในการฆ่าสัตว์เหล่านั้นหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นย่อมตายก่อนที่เราจะไปซื้อมาเป็นอาหาร ถึงเราจะซื้อหรือไม่ซื้อ สัตว์เหล่านั้นก็ตายอยู่แล้ว เราไม่ได้มีส่วนทำให้ตาย
มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า
“นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต”
“บาป ไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ”

พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่
ปัญหาเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่ นี้ พูดกันถามกันอยู่เสมอ คำตอบที่ถูกต้อง คือ พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ หลักฐานที่จะนำมาอ้างมีในพระไตรปิฎกหลายแห่งที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียง ๒ แห่ง คือ
๑. เรื่องสีหะเสนาบดี ในพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๕ ข้อ ๘๐ หน้า ๙๙
๒. อรรถกถาอามคันธสูตร พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย
เล่ม ๔๗ หน้า ๘๗ และ หน้า ๙๒

เรื่องที่ ๑ สีหะเสนาบดี แห่งแคว้นวัชชี เดิมเป็นสาวกของนครนถ์ (นักบวชเปลือย) ต่อมาได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงเปลี่ยนศาสนามาเป็นอุบาสก และอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ไปรับภัตตาหารที่นิเวศน์ของสีหะเสนาบดี ในวันรุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาแล้ว สีหะเสนาบดีจึงได้สั่งให้มหาดเล็ก ไปซื้อเนื้อสดที่เขาขายในตลาด มาทำภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเสวยภัตตาหารนั้น

เรื่องที่ ๒ อามคันธสูตร ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้มีพราหมณ์คนหนึ่งอามะคันธะบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ มีบริวาร ๕๐๐ ดาบสเหล่านั้น ออกจากป่าหิมพานต์ไปจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เป็นเวลาปีละ ๔ เดือน เป็นประจำชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธามาก ให้การต้อนรับเลี้ยงดูเป็นอย่างดี
สมัยต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปยังหมู่บ้านแห่งนั้น พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย เมื่อชาวบ้านได้เห็นพระพุทธเจ้าก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใสถวายมหาทาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่คนเหล่านั้น คนเหล่านั้นบางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี บางพวกได้บรรพชาอุปสมบทบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังกรุงสาวัตถี
ต่อมาดาบสเหล่านั้น ได้เข้าไปสู่หมู่บ้านนั้นอีก แต่คราวนี้ชาวบ้านไม่ได้ให้การต้อนรับอย่างโกลาหล เหมือนคราวก่อนๆ ดาบสเหล่านั้นเห็นผิดจากเดิม จึงถามคนเหล่านั้นว่าเพราะอะไรพวกท่านจึงไม่เป็นเช่นคราวก่อน ชาวบ้านได้เรียนให้ดาบสทราบว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่คนเป็นอันมาก คนทั้งหลายได้บรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคล ชั้นต่างๆ มีพระโสดาบัน เป็นต้น พวกดาบสเมื่อได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ก็เกิดความปลาบปลื้มปิติยินดีอย่างยิ่ง แต่ยังไม่ค่อยเชื่อว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าจริง จึงสอบถามชาวบ้าน ถึงพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า โดยถามว่าพระพุทธเจ้าเสวยอย่างไร ทรงเสวยปลาหรือเนื้อหรือไม่ คนเหล่านั้นกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสวยปลาและเนื้อ” เมื่ออามะคันธดาบส ได้ฟังดังนั้นก็ไม่ชอบใจ เพราะไม่ตรงกับความคิดของตน เพราะมีความเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าต้องไม่เสวยปลาและเนื้อ อามะคันธะดาบสพร้อมด้วยดาบสที่เป็นบริวารจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระวิหารเชตวัน ที่พระนครสาวัตถี และได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าพระองค์เสวยปลาและเนื้อหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า พระองค์เสวยปลาและเนื้อที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจ (คือไม่สงสัย ว่าเขาฆ่าเพื่อตน) จัดเป็นสิ่งหาโทษมิได้
อามะคันธะดาบส ได้โต้แย้งกับพระพุทธเจ้าว่าการเสวยปลาและเนื้อไม่เหมาะสมแก่ชาติสกุลของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไม่ควรที่จะเสวยปลาและเนื้อ
พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้อามะคันธะดาบสเข้าใจว่า การไม่กินปลา กินเนื้อ ย่อมไม่ทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแสดงความที่บุคคลไม่สามารถจะทำตนให้บริสุทธิ์ด้วยการไม่บริโภคปลาเนื้อเป็นต้น อย่างนี้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมที่สามารถจะทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ได้ ด้วยหลักธรรม คือ อินทรีย์สังวร การสำรวมอินทรีย์ ความเป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ ทำให้บางเบา ซึ่งกิเลสทั้งหลายมีราคะและโทสะ เป็นต้น ดำรงอยู่ในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อันจะพึงบรรลุได้ด้วย อริยมรรค
อามะคันธะดาบส ครั้นสดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ก็มีใจอ่อนน้อม ถวายบังคมที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบวชพร้อมกับดาบสผู้เป็นบริวารของตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด” ดาบสเหล่านั้นได้เป็นภิกษุด้วยพระวาจานั้น ต่อมาอีก ๒-๓ วัน ทุกท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์

การรับประทานอาหารมังสวิรัติไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนของใคร ?
คำสอนให้งดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ เป็นคำสอนของ พระเทวทัต
พระเทวทัตเป็นราชบุตรของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นพระชายาของสิทธัตถกุมาร เจ้าชายเทวทัต ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายในราชวงศ์ศากยะ ๕ คน มีพระอานนท์ เป็นต้น และมีพนักงานภูษามาลา (ช่างตัดผม) ชื่อ อุบาลี รวมเป็น ๗ คน ออกบวชพร้อมกัน หลังจากออกบวชแล้วเจ้าชายในราชวงศ์ศากยะทั้ง ๕ พระองค์ และพระอุบาลี ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ส่วนพระเทวทัตไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ได้สำเร็จโลกียฌาน มีอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ
ต่อมาพระเทวทัต อยากจะมีอำนาจปกครองสงฆ์ จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขวนขวายน้อย ประกอบทิฏฐิธรรมสุขวิหารอยู่เถิด ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองภิกษุสงฆ์”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ! เทวทัต เธออย่าพอใจที่จะปกครองภิกษุสงฆ์เลย”
แม้พระพุทธเจ้าทรงห้ามแล้ว พระเทวทัตก็ไม่ฟัง ยังกราบทูลขอปกครองสงฆ์ถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระเทวทัต เป็นผู้ปกครองสงฆ์
พระเทวทัตโกรธ น้อยใจ จึงคิดจะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง พระเทวทัตเข้าไปหาเจ้าชายอชาตศัตรู ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ยุยงให้เจ้าชายอชาตศัตรูเป็นกบฏ ชิงราชบัลลังก์ โดยกล่าวว่า “ดูก่อนกุมาร ถ้ากระนั้น ท่านจงปลงพระชนม์พระชนกเสีย แล้วเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อาตมาจักปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเป็นพระพุทธเจ้า”

พระเทวทัตวางแผนปลงพระชนม์ พระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ พระเทวทัตขอให้เจ้าชายอชาตศัตรู ส่งทหารแม่นธนูไป พบพระพุทธเจ้าแล้วไม่กล้ายิง พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรม ทหารแม่นธนูได้ฟังธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมประกาศตนเป็นอุบาสกแล้วกลับไป
ครั้งที่ ๒ เมื่อแผนการแรกไม่สำเร็จ พระเทวทัตจึงลงมือเอง โดยขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ลงมาขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ที่เชิงเขา ด้วยจงใจว่าเราเองจักเป็นผู้ปลงพระชนม์พระสมณโคดม แต่ศิลานั้นกลิ้งไปกระทบศิลาก้อนอื่น แตกเป็นสะเก็ด กระเด็นไปกระทบพระบาท (หัวแม่เท้า) ทำให้ห้อพระโลหิต บรรดาภิกษุช่วยกันทำแคร่หามพระองค์ไปยังบ้านหมอชีวก หมอชีวก ทำการรักษาด้วยการพอกยาจนพระโลหิตที่ห้อนั้นหายสนิท
ครั้งที่ ๓ พระเทวทัตไม่ละความพยายามเข้าไปหาควาญช้างหลวง แอบอ้างรับสั่งของพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชาพระองค์ใหม่ ให้ปล่อยช้าง นาฬาคิรี ออกไปทำร้ายพระพุทธองค์ขณะเสด็จบิณฑบาต เมื่อช้างแลเห็นพระพุทธองค์ก็ปรี่เข้าไปจะทำร้าย พระอานนท์ออกไปยืนขวางหน้าด้วยความจงรักภักดี ตั้งใจสละชีวิต เพื่อปกป้องพระพุทธองค์ ด้วยอำนาจเมตตาจิต ที่พระศาสดาทรงแผ่เจาะจงยังช้างนาฬาคิรี ทำให้ช้างนั้นเมื่อได้สัมผัสกับกระแสเมตตาจิตของพระพุทธองค์ก็ลดงวงลง เข้าไปหมอบอยู่ต่อหน้าพระพักตร์แล้วกลับไปสู่โรงช้างตามเดิม

ทำสังฆเภท
พระเทวทัต เมื่อพยายามทำร้ายพระพุทธองค์ถึง ๓ ครั้งไม่เป็นผลสำเร็จ จึงใช้อุบายที่จะทำให้สงฆ์แตกแยกกัน พระเทวทัตจะได้แบ่งแยกพระสงฆ์ส่วนหนึ่งไปจากพระพุทธเจ้า
พระเทวทัต กับบริวารของตน เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบท ๕ ประการ โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความจำกัดกิเลส การไม่สั่งสม เพื่ออาการที่น่าเลื่อมใส เรื่องที่พระเทวทัตทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทขึ้นใหม่ ๕ ข้อนั้น เรียกว่า วัตถุ ๕ ประการ คือ
๑. ภิกษุทั้งหลาย พึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่รูปนั้น
พึงต้องโทษ
๒. ภิกษุทั้งหลาย พึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์รูปนั้น
พึงต้องโทษ
๓. ภิกษุทั้งหลาย พึงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้น
พึงต้องโทษ
๔. ภิกษุทั้งหลาย พึงถืออยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง
รูปนั้นพึงต้องโทษ
๕. ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้น
พึงต้องโทษ

พระศาสดารับสั่งว่า ภิกษุพึงถือเป็นวัตรได้ตามความสมัครใจ ภิกษุรูปใดปรารถนาจะอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนาจะอยู่บ้าน ก็จงอยู่บ้านรูปใดปรารถนาจะถือบิณฑบาตเป็นวัตร ก็จงถือบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนาจะรับกิจนิมนต์ก็จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนาจะถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดจะรับผ้าคหบดีจีวร ก็จงรับ เราอนุญาตการอยู่โคนไม้เป็นเสนาสนะ ๘ เดือน นอกฤดูฝน ในฤดูฝนต้องอยู่ในที่มุงที่บัง เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ คือไม่สงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อถวายพระ
พระเทวทัต ประกาศให้ประชาชนทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตข้อวัตรที่ตนทูลขอทำให้ประชาชนที่ไร้ปัญญา เข้าใจว่า พระเทวทัตเป็นผู้มีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีความประพฤติมักมาก
พระเทวทัต ประกาศโฆษณาให้พระภิกษุเห็นด้วยกับ วัตถุ ๕ ประการ โดยอ้างว่าเป็นการปรารถนาความเพียร เพื่อความมักน้อย พระเทวทัตอ้างว่าคำสอนของตนประเสริฐกว่า เคร่งครัดกว่า น่าเลื่อมใสกว่า
พระภิกษุวัชชีบุตร (ชาวเมืองเวสาลี) ประมาณ ๕๐๐ รูป เป็นพระบวชใหม่ และรู้พระธรรมวินัยน้อย พากันหลงเชื่อ ยอมตนเข้าเป็นสาวกของพระเทวทัต พระเทวทัตพาภิกษุเหล่านี้ไปอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ เป็นการแยกคณะสงฆ์
พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัต ทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ หลีกไปทางคยาสีสะ
พระเทวทัตเข้าใจว่า พระอัครสาวกทั้งสองตามมา เพราะชอบใจธรรมะของตน จึงนิมนต์ให้นั่ง หลังจากพระเทวทัตแสดงธรรมกถาเป็นเวลานานแล้ว จึงมอบให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ แสดงธรรมต่อ โดยกล่าวว่า “ท่านจงแสดงธรรมต่อจากเราเถิด เราเหนื่อยแล้ว จักนอนพัก” จากนั้นก็ล้มตัวลงนอนแล้วหลับไป
พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ แสดงธรรมเจือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ กลับใจภิกษุเหล่านั้นให้เข้าใจความจริง แล้วพาภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นกลับไปอยู่กับพระพุทธเจ้าตามเดิม
พระเทวทัตตื่นขึ้นมา ปรากฏว่าพระภิกษุส่วนใหญ่ตามพระอัครสาวกกลับไปแล้ว คงเหลือพระภิกษุที่ยังอยู่เพียงเล็กน้อย พระเทวทัตเสียใจมาก ล้มป่วยถึง ๙ เดือน ในกาลสุดท้ายสำนึกผิด ต้องการจะไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอขมา จึงให้สาวกที่เหลือ นำตนไปเฝ้า เมื่อสาวกนำพระเทวทัตมาใกล้ถึงพระเชตวัน ก็วางคานหามลงริมฝั่งสระโบกขรณี พระเทวทัตลุกขึ้นนั่ง ก้าวลงจากคานหาม พอเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน แผ่นดินสูบพระเทวทัตจมลงในพื้นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก ถูกไฟนรกเผา เพราะอนันตริยกรรมที่ตนได้กระทำทั้ง ๒ อย่าง คือ ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท ทำให้สงฆ์แตกกัน

คำสอนของพระเทวทัตให้งดเว้นจากการรับประทานปลาและเนื้อ หรือที่เราเรียกกันว่ารับประทานอาหารมังสวิรัติก็ยังมีผู้ปฏิบัติตามจนทุกวันนี้ .....

**********************************************************
ชำนาญ นิศารัตน์
อดีตศึกษานิเทศก็ระดับ ๙
กรมการศึกษานอกโรงเรียน
(หนังสือทางเดิน)


เชิญร่วมสมทบทุนสร้าง “พระอุโบสถกลางน้ำ” กับหลวงพ่อปัญญานันทะ


พระเดชพระคุณพระหรหมมังคลาจารย์(หลวงพ่อปัญญานันทะ)เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีความประสงค์จะสร้างพระอุโบสถให้แก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(มหาวิทยาลัยสงฆ์สาขาที่ 2 ตั้งอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)


พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านเห็นว่ามหาวิทยาลัยฯ ยังขาดแคลนสถานที่สังฆกรรม ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับพระภิกษุสงฆ์นับจำนวนเป็นพันรูป จึงความประสงฆ์ที่จะสร้าง “พระอุโบสถทรงไทยประยุกต์กลางน้ำ” เพื่อใช้ในการทำสังฆกรรม อันเป็นกิจของสงฆ์ ที่ปฏิบัติร่วมกันในจำนวนมากอย่างพร้อมเพรียง ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(มจร.)แห่งนี้

การสร้าง “พระอุโบสถทรงไทย ประยุกต์กลางน้ำ” ต้องใช้งบประมาณถึง 100 ล้านบาท
จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสมทบทุนสร้าง“พระอุโอสถกลางน้ำ” ซึ่งหลวงพ่อปัญญานันทะรับเป็นเจ้าภาพฝ่ายสงฆ์ในการจัดหาทุน


ท่านที่ประสงค์จะร่วมบริจาค ติดต่อบริจาคด้วยตัวท่านเองได้ที่
วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ปากเกร็ด นนทบุรี โทร. 02-583-8845 , 081-831-2367, 081-830-1923
หรือ โอนเข้าบัญชีพระพรหมมังคลาจารย์ ธนาคารกสิกรไทย สาขาปากเกร็ด เลขที่บัญชี 142-2-15767-9 ประเภทบัญชีออมทรัพย์


รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างพระอุโบสถกลางน้ำและมจร.


“พระอุโบสถทรงไทย ประยุกต์กลางน้ำ” เพื่อใช้ในการทำสังฆกรรม อันเป็นกิจของสงฆ์ ที่เป็นหมู่คณะ จะพึงปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 100 ล้านบาท พระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญดำริว่า จะสร้างให้เป็นอนุสรณ์ให้กับวัดมหาจุฬาฯ และเป็นอนุสรณ์ให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงอุโบสถทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น อยู่กลางสระน้ำใหญ่ พื้นที่ชั้นบนรองรับพระส่งห์ได้ 400 รูป และมีลานล้อมรอบอุโบสถ ส่วนชั้นล่างเป็นฐานอุโบสถครอบคลุมพื้นที่ลานจากส่วนบน จึงมีขนาดกว้างขวาง และอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ รองรับพระสงฆ์ได้ 4,000 รูป โดยได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างนับแต่นั้นเป็นต้นมา อนึ่งมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ได้ทรางสถาปนาขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิกฎ และวิชาชั้นสูง สำหรับภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์
ด้วยจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา เป็นบัณฑิตที่ทรงคุณภาพ มีควมเป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนา สนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัย และให้บริการวิชาการสังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 นายแพทย์รัศมี และคุณหญิงสมปอง วรรณิสสร เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทูลเกล้า ถวายฯ โฉนดที่ดินตำบลลำไทร อำเภอวังน้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ประมาณ 84 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา โดยเสด็จพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อพระราชธานแก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สำหรับสร้างเป็นศูนย์กลางการศึกษาของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา และพระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญานันทะ ได้รับเป็นประทานอุปถัมภ์ในการระดมทุนก่อสร้างอาคาร 92 ปี ปัญญานันทะ สำหรับเป็นที่พักสงฆ์ได้เป็นหมู่คณะและรองรับอาคันตุกะที่เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จนสำเร็จลุล่วงเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าก่อสร้างกว่า 60 ล้านบาท


ดูประมวลภาพความก้าวหน้าในการก่อสร้างได้ที่
http://www.mcu.ac.th/site/wangnoi/index.php?BRANCH_ID=

วิธีสร้างบุญบารมี

วิธีสร้างบุญบารมี

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ผู้พิมพ์ขอย่นย่อเรื่องในบางส่วนของวิธีสร้างบุญบารมี จากหนังสือวิธีสร้างบุญบารมีโดยสมเด็จพระญาณสังวร มาพอสังเขปเพื่อให้เนื้อหาใจความกระชับกะทัดรัด เหมาะแก่การพิมพ์เป็นบทความสั้น

บุญ ความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวว่า
บุญ คือ เครื่องชำระ สันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทาง กาย วาจา ใจ กุศลธรรม

บารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงสุด

วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ การให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา ที่นิยมเรียกกันว่า “ทาน ศีล ภาวนา”

ท่านกล่าวไว้ว่า ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังเป็นบุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะได้ถวายสังฆทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมีมากถึง ๑๐๐ ครั้งก็ยังเป็นบุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน ได้แก่การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา และสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะเช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

การถวายวิหารทาน ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง) ก็ยังเป็นบุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้ไม่รู้ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วก็ให้รู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้ได้เข้าใจในมรรคผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้อื่นให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์ การแจกหนังสือธรรมะ

การให้ธรรมทานแม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังเป็นบุญน้อยกว่า การให้ “อภัยทาน” แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานคือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ “โทสะกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหารสี่ให้เกิดขึ้น เพราะการให้อภัยทานเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดว่าเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง (ทานอย่างอื่นอาจต้องเสียสละทรัพย์สินเงินทอง แต่อภัยทานนี้ไม่ต้องเสียทรัพย์สินเงินทอง เพียงเสียสละทางใจให้อภัยแม้ศัตรู)

อย่างไรก็ดีการให้อภัยทานแม้จะมากเพียงไร ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า “ฝ่ายศีล” เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน แม้จะได้ถือศีลแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

“ศีล” นั้นแปลว่า “ปกติ” ศีลนั้นมีหลายระดับ คือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ในบรรดาศีลประเภทเดียวกันยังแบ่งแยกออกเป็น ระดับธรรมดา มัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง) และอธิศีล (ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์)

การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษ ทางกาย วาจา อันเป็นเพียงกิเลสอย่างหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงกว่าทาน ทั้งในการถือศีลเองยังเป็นบุญมากน้อยต่างกันตามลำดับ

การถือศีล ๕ แม้จะมาก ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังเป็นบุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้เพียงครั้งเดียว
การถือศีล ๘ แม้จะมาก ๑๐๐ ครั้ง ก็เป็นบุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ แม้เพียงครั้งเดียว (แม้บวชเณรวันเดียว)
การได้บวชเป็นสามเณร รักษาศีล ๑๐ แม้รักษาไม่ให้ขาดหรือด่างพร้อยนาน ๑๐๐ ปี (เปรียบเทียบ) ก็ยังเป็นบุญน้อยกว่าการถือศีล ๒๒๗ แม้บวชได้เพียง ๑ วัน

ฉะนั้นการได้บวชอุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมาก เพราะเป็นเนกขัมมบารมีในบารมี ๑๐ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง คือการภาวนาเพื่อ มรรค ผล นิพพานต่อไป

อานิสงส์แห่งศีลย่อมมีตามลำดับประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้จะมีอานิสงส์มากเพียงไรก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลางๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษา กาย วาจา ให้สงบเท่านั้น ไม่ให้ก่อเกิดทุกข์โทษขึ้นทาง กาย วาจาเท่านั้น

ส่วนทางจิตใจนั้น ศีลยังไม่สามารถควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นการรักษาศีลจึงยังเป็นบุญน้อยกว่าการภาวนา เพราะการภาวนานั้นเป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ การภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบารมีที่สูงที่สุด ประเสริฐที่สุดเป็นบุญมากที่สุด เป็นกรรมอันยิ่งใหญ่เรียกว่า “มหัคคตกรรม” อันเป็นมหัคคตกุศล

การเจริญภาวนานั้นเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา การเจริญภาวนานั้นมี๒อย่าง คือ
๑. สมถภาวนา (การทำสมาธิ)
๒. วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา)

สมถภาวนา (การทำสมาธิ) สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาณ ซึ่งก็คือทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่นๆ วิธีภาวนามีมากหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า “กรรมฐาน ๔๐” ซึ่งผู้ใดจะใช้วิธีใดก็ได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสม อบรมมาแต่ในอดีตชาติ

เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่นๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตน หากเป็นฆารวาสก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรจะต้องรักษาศีล ๑๐ เป็นพระรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย

หากศีลยังไม่มั่นคงย่อมเจริญในฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน (เป็นกำลัง) ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์สมาธินั้นมีมากกว่าศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมาเป็นเวลา ๑๐๐ ปี ก็ยังได้กุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่ว ไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู”

คำว่าจิตสงบในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” คือสมาธิเล็กๆ น้อยๆ สมาธิแบบเด็กๆ ที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่จิตยังไม่ตั้งมั่น สงบลงวูบเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อจิตขั้นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดจิตทรงอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงขณะนั้น อานิสงส์จะส่งผลให้ได้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ (จาตุมหาราชิกา) หากจิตยึดไตรสรณคมน์ (มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาชั้นที่ ๒ คือดาวดึงส์)

สมาธินั้นมีหลายขั้นตอน ระยะก่อนเป็นฌาน (อัปปนาสมาธิ) ก็คือขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น แต่ไม่ถึงชั้นพรหมโลก สมาธิในระดับอัปปมาสมาธิหรือฌานนั้น มีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม ๒๐ ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌานที่ได้ (เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ)

ส่วนอรูปฌานที่เรียกว่า “เนวสัญญา นาสัญญายตนะ” นั้น ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือชั้นที่ ๒๐ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป เรียกกันว่านิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน (แต่ไม่ใช่นิพพาน)

การทำสมาธิเป็นการบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุด เพราะไม่ต้องเสียเงินทอง ไม่เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่ระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตไม่ให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเจริญสมถภาวนาหรือสมาธินั้น แม้ได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้นั้นก็เป็นเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงเป็นบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นแก่นไม้โดยแท้

อารมณ์ของวิปัสสนานั้นแตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะสมาธินั้นมุ่งให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียว โดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้นไม่นึกคิดอะไรๆ แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลาย

และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้นมีแต่เพียงอย่างเดียว คือ “ขันธ์ ๕” ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “รูป- นาม” โดยรูปมี ๑ ส่วน นามมี ๔ ส่วน คือ เวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ

ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชาคือความไม่รู้เท่าสภาวธรรมจึงทำให้เกิดความยึดมั่น ด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนของตน

การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลาย อันได้แก่ ขันธ์๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็นพระไตรลักษณ์ คือ
- อนิจจัง (ความไม่เที่ยง สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจตั้งมั่นทรงตัวอยู่ในสภาพเดิม)
- ทุกขัง (สภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ คือสรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะทนตั้งมั่นอยู่ในสภาพนั้นๆ ได้ตลอดไป ไม่อาจทรงตัวและต้องเปลี่ยนแปลงไป)
- อนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล สิ่งของ โดยสรรพสัตว์ทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย)

ปัญญาที่จะเห็นสภาพดังกล่าวไม่ใช่ปัญญาที่จะนึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาในที่พระท่านเรียกว่า “ญาณทัศนะ”

“สมาธิอบรมปัญญา” คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็ยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”

ฉะนั้นทั้งสมาธิและปัญญาจึงเป็นเหตุและผลของกันและกัน และอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดจะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะเริ่มแรก สมาธิจึงเปรียบเหมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้นเหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหิน คมดีแล้ว ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดพังลงได้

ฉะนั้นการเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่จะก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจนจิตเป็นฌานได้นาน ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังเป็นบุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความจริงว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม”

จะเห็นได้ว่าวิปัสสนาภาวนานั้นเป็นสุดยอดของการสร้างบุญบารมีโดยแท้จริง ไม่ต้องเหนื่อยยากไม่ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนเสียทรัพย์แต่อย่างใด เมื่อเปรียบการให้ทานเหมือนกับกรวดทราย ก็เปรียบวิปัสสนาเหมือนเพชรน้ำเอก ซึ่งทานไม่มีทางที่จะเทียบศีล ศีลไม่มีทางที่จะเทียบสมาธิ และสมาธิไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา

แต่ตราบใดที่ท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆ ทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทั้งทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือแต่ว่าวิปัสสนาลงทุนน้อยที่สุดและได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว โดยไม่ยอมลงทุนให้ทานใดๆ ไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งไปไม่ได้เหมือนกัน

เทศน์สอนโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

Tuesday, February 27, 2007

วิธีชี้ทางสวรรค์แก่ผู้ป่วยใกล้ตาย

วิธีชี้ทางสวรรค์แก่ผู้ป่วยใกล้ตาย

ตั้งแต่โบราณกาลนานมา พุทธศาสนิกชนในไทยปราถนาจะได้รับคำตอบประการหนึ่งอย่างยิ่งยวด คือเมื่อตัวเองใกล้จะตาย หรือเมื่อญาติอันเป็นที่รักเจ็บหนัก ควรจะช่วยเหลือกันอย่างไรเป็นการส่งให้ไปดี

วิธีที่นิยมกันมากคือให้คนตายท่องไว้ว่า"พระอรหันต์ๆๆ" คือจะให้กอดพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสไว้แน่นหนา ซึ่งก็นับว่าใช้ได้ถ้าผู้กำลังจะตายเข้าใจว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือคนเราถ้าทั้งชีวิตไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้จักพุทธธรรม จู่ๆจะให้ท่องว่า"พระอรหันต์ๆๆ" แล้วไปดีนั้นยาก เพราะจิตไม่รู้ว่าพระอรหันต์คือใคร บรรลุธรรมอันใดมา จึงเปรียบเหมือนเทวดายื่นเข็มทิศให้คนหลงป่าโดยปราศจากการแถมคู่มือใช้งาน แม้คนหลงป่าคว้าเข็มทิศไว้ได้ แต่ใช้เข็มทิศไม่เป็น ไม่รู้ว่าเข็มทิศคืออะไร ทำงานอย่างไร อย่างนี้ก็ต้องกลายเป็นผู้หลงทางต่อไปอยู่ดี

มาฟังธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า เมื่อมีกษัตริย์องค์หนึ่งเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ และได้กราบทูลถามว่าอุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนผู้ป่วยซึ่งมีปัญญาด้วยกัน แต่กำลังได้เสวยทุกข์จากการเป็นไข้หนัก(ใกล้ตาย) ว่าอย่างไรดี พระพุทธองค์ตรัสให้สอนอย่างนี้คือ จงเบาใจเถิดว่าเธอมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ มีศีลอันอยู่เหนือความทะยานอยากที่ผิดและความเห็นผิดทั้งปวงแล้ว และเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต

อันนี้หมายความว่าถ้าใกล้ตายอยู่ มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างมั่นคง กับทั้งมีความเห็นชอบในเรื่องคุณและโทษ ในเรื่องบุญและบาป และน้อมใจรักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์จนจิตไม่แส่ส่ายกังวลไปในบาปทั้งหลายแล้ว ก็ย่อมเกิดความตั้งมั่น มีความเบาใจเป็นธรรมดาว่าจะจากไปสู่ความปลอดภัย

นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสว่าหลังจากปลอบเช่นนี้แล้วให้ถามผู้ป่วย(ในกรณีที่พ่อแม่ยังมีชีวิต) ยังมีความห่วงใยในบิดาและมารดาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในบิดามารดา พวกท่านก็จะต้องตายไปอยู่ดี ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในบิดามารดาเสียเถิด

หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในบิดามารดาได้แล้ว พึ่งถามเขาอีก (ในกรณีที่บุตรและภรรยายังมีชีวิต) ว่ายังมีความห่วงใยในบุตรและภรรยาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในบุตรและภรรยา พวกเขาก็จะต้องตายไปอยู่ดี ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในบุตรและภรรยาเสียเถิด

หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในบุตรและภรรยาได้แล้ว พึ่งถามเขาอีก ว่ายังมีความห่วงใยในกามคุณ5 อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ? (เช่นยังอยากเสพกาม ยังอยากเห็นสาวสวยหรือหนุ่มหล่อ ยังอยากฟังเพลงโปรดจากสุดยอดเครื่องเสียง ฯลฯ) ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่ากามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่า กามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในเทวดาชั้นต่างๆเถิด (คือเล่าพรรณาตามที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยัน ว่า ความสุขระดับเทพยดานั้นเหนือกว่าความสุขแบบมนุษย์เพียงใด ให้เขากำหนดใจเชื่อมั่นไว้ว่าการเสพกามในภพมนุษย์นั้นยังสุขน้อยไป กายอันเป็นทิพย์ชวนให้เสพสมอย่างกว่านั้น รูปเสียงในบรรดามีในโลกที่น่าโปรดปรานที่สุดยังน่าพิสมัยน้อยไป รูปเสียงอันเป็นทิพย์ยังน่าอภิรมย์กว่านั้นมากนัก )

หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในกามคุณ 5 อันเป็นของมนุษย์ได้แล้ว พึงกล่าวว่าความสุขแม้ที่เหนือกว่ากามคุณ5 ในภพเทวดายังมี คือความสุขจากการเข้าสมาธิฌานในพรหมโลก แต่แม้จะได้เป็นถึงพรหมและอรูปพรหมก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในความหลงผิดยึดมั่นถือมั่นว่าภพนั้นๆ เป็นตน
(หรือตนเป็นอมตะ) ขอจากพรากจิตให้ออกจากเทวโลกหรือพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับจากการยึดมั่นถือมั่นเถิด

หากเขารับว่าสามารถถอนความยึดมั่นแม้ในเทวโลกและพรหมโลกแล้ว และได้นำจิตเข้าไปในความดับจากอาการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอะไรๆแล้ว เช่นนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าท่านไม่กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี เพราะต่างก็พ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน
ขอให้ทราบว่าช่วงจังหวะใกล้ตายนั้นเป็นโอกาสทอง จิตกำลังหาทิศทางอันเป็นที่ไป ไม่ค่อยอาลัยสิ่งที่เห็นว่าตนกำลังจะต้องทิ้งไว้ในโลกนี้อีกแล้ว จึงมีความหนักแน่นเป็นพิเศษ หากเราพูดเหนี่ยวนำเขาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะได้ล่ะก็ ไม่ใช่แค่คนป่วยหนักจะเข้าถึงสุคติ แต่อาจมีจิตปล่อยวางได้ถึงที่สุดจริงๆ
หากช่วงสุดท้ายผู้ป่วยสามารถเข้าใจธรรมะ สามารถยอมรับ สามารถเลื่อมใสศรัทธา เชื่อถือว่านิพพานเป็นของดี เป็นบรมสุขอันถาวรแล้ว ก็อาจสำทับลงไปตามแนวทางเปรียบเทียบคติต่างๆ ของพระพุทธองค์ คือกล่าวตามจริงว่านรกนั้นแผดเผา เดรัชฉานนั้นเน่าเหม็น เปรตนั้นลุ่มๆดอนๆ มนุษย์นั้นเริ่มสบาย ส่วนเทวดานั้นสุขจริง แต่ก็ไม่สุขได้ตลอด ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นภัยแห่งความไม่เที่ยงนั้นคติต่างๆ และประมาณได้ว่าหากไม่หลุดพ้นไปจากวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็ย่อมพลาดเข้าสักวัน สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้าคิดจะท่องเทียวเกิดตายไปเรื่อยๆ การหลีกเลี่ยงนรกมิใช่วิสัยที่จะเป็นได้

พระพุทธองค์ได้ตรัสสรุปไว้ชัดว่าความสุขระดับวิมุตติ คือหลุดพ้นจากความถือมั่นในภพทั้งปวงนั้นเป็นอย่างไร เราสามารถนำไปพรรณนาให้ผู้ป่วยใกล้ตายได้ฟังเพื่อความเลื่อมใสหนักแน่นขึ้น คือเปรียบแล้ว เหมือนสระโบกขรณี มีน้ำอันสะอาดใสเย็นอยู่ตลอดกับทั้งมีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้นมีแนวป่าอันทึบ ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงสระโบกขรณีนั้นทีเดียว เขาลงสนานกายและดื่ม ดับความกระวนกระวาย ระงับความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนรุ่มเสียได้ แล้วจึงขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่านั้นเสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว เพราะกิเลสเครื่องหมักดองทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งในปัจจุบัน

สรุปว่าวิมุตติสุขนั้น เป็นสุขเดียวที่ดับความกระหายได้สนิท ขอให้สังเกตการเปรียบเทียบของพระพุทธองค์ว่า วิมุตติหรือความหลุดพ้นจากกิเลสนั้น เป็นสถานที่เดียวที่มีน้ำให้ดื่มกินดับกระหาย ดับความกระวนกระวาย ดับความร้อนรุ่มได้สนิท

ขอเพียงผู้ป่วยหนักใกล้ตายมีความเลื่อมใสอย่าางนี้ ปล่อยวางภพภูมิทั้งหลายด้วยปัญญาอันถูกต้องอย่างนี้ แม้จิตขาดกำลังเพียงพอที่จะเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นความว่างจะภาวะทั้งปวง สงบจากการปรุงประกอบทุกข์ทั้งปวง อย่างน้อยที่สุดก่อนถึงวาระแห่งจุติจิต เขาย่อมเห้นนิมิตหมายอันเป็นมงคล เช่นเห็นองค์พระปฏิมาอร่ามเรือง หรือเห็นพุทธนิมิตเสมือนจริง หรือได้ยินเสียงเทศนาธรรมเพื่อความปล่อยวาง กระทำจิตให้แน่วไปในความเป็นมหากุศล เมื่อจิตสุดท้ายดับลง ย่อมเกิดจิตใหม่สืบต่อในสุคติภูมิอย่างแน่แท้ ไม่มีทางเลือนหลงพลัดตกลงไปสู่อบายภูมิได้เลยด้วยประการใดๆทั้งสิ้น

บทสำรวจตนเอง
1. เราเป็นผู้มีความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ ว่าตนเองพรักพร้อม ในการไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่
2. กรรมที่ทำเป็นประจำอันใด สร้างความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ ว่าเรากำลังจะไปสุคติ
3. กรรมที่ทำเป็นประจำอันใดสร้างความกังวล สับสน กลับไปกลับมา ว่าเราอาจมีทุคติเป็นที่ไป
4.เราเป็นผู้พร้อมจะละกรรมอันเป็นเหตุให้ไปทุคติ และพร้อมจะเพิ่มกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสุคติหรือไม่
5. เราพร้อมจะตายพร้อมกับความรู้สึกศรัทธาในพระพุทธเจ้าหรือไม่

สรุป

มีหลายสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเป็นเรื่องจริง แต่มันก็เป็นเรื่องจริงมาชั่วกัปชั่วกัลป์ ดังเช่นหลายคืนที่เราไม่อยากตกอยู่ในห้วงแห่งฝันร้าย แต่เมื่อเหตุแห่งฝันร้ายมีอยู่ เราก็ต้องนอนหลับอย่างทุกทรมานโดยไม่อาจขัดขืนจนกว่าจะตื่น ชีวิตหลังความตายก็เช่นกัน แม้เราเชื่อว่ามันไม่มีด้วยความทะนงตน หรือแม้นเราภาวนาขออย่าให้มันมี หรือแม้เราสามารถรณรงค์ให้คนทั้งโลกเชื่อว่าชาติหน้าเป็นนิทานเหลวไหล แต่ขอเพียงมีเหตุให้มันมี อย่างไรมันก็ต้องมี

มันจะมีหรือไม่ทางที่ดีไม่ประมาณไว้ก่อน ดังที่พระพุทธองค์ ทรงชี้ว่าถ้าเราทำดีแล้ว ย่อมเป็นสุขในปัจจุบัน และถ้าชาติหน้ามี ก็จะต้องไปดีด้วย เรียกว่าสำเร็จประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วย การละเพียรความชั่วและสั่งสมความดีเข้าไว้ จะเป็นประกันชั้นเลิศที่สุด

การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิในแต่ละครั้ง อาจหมายถึงการแก้ตัวใหม่จากที่เคยผิดพลาด หรืออาจหมายถึงการทดสอบซ้ำว่าเราดีทนแค่ไหน ธรรมชาติจะลบความจำเราเกี่ยวกับภพเดิมๆ ให้สูญสิ้นไป แต่กรรมที่ทำเป็นประจำจะทำให้เราเคยชินอยู่กับนิสัยเดิมๆ การจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้ จำเป็นต้องพบกับผู้รู้แจ้งแทงตลอดใยกรรมวิบากทั้งปวงดังเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นการปลูกฝังความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระศาสดาจึงเป็นกุศโลบายที่ดีในการเดิยทางไกล ใครสามารถอุ่นใจได้ว่าเราจะตายพร้อมกับศรัทธาในพระพุทธองค์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้พกเอาเสบียงสำคัญที่สุดติดตัวไปด้วยแล้ว ยากที่จะพลัดไปมีครูผู้สั่งสอนเรื่องกรรมวิบากผิดๆ

สำคัญคือการปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธองค์นั้น ไม่มีอะไร ดีไปกว่าการลงมือปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ทั้งในแง่ของการฝึกการเสียสละ รู้จักให้ทานเพื่อลดความตระหนี่ และทั้งในแง่ของการบำเพ็ญตนเป็นผู้ปลอดโปร่งจากบาปอกุศลทั้งปวง รักษาศีลจนกลายเป็นที่รักยิ่งกว่า สิ่งยั่วยุใดๆ เมื่อประสบสุขทางใจเต็มอิ่มแล้ว ก็จะบังเกิดความเลื่อมใส ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนไม่เบียดเบียน เป็นผู้ชี้ทางตรง ทางถูก ทางไปสู่สวรรค์นิพพานได้จริง เมื่อนั้นศรัทธาจะไม่คลอนแคลน และเราจะเป็นผู้มีคติที่ไปอันประเสริฐเสมอ