Thursday, July 29, 2010

กิเลส จิต ทุกข์

กิเลส จิต ทุกข์

มนุษย์ เราที่เรียกว่า ปุถุชน แปลเป็นภาษาไทยตรงๆ ก็ว่า เป็นผู้จังหนาแน่นไปด้วยกิเลส กิเลสคืออะไร? คือมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เรียกว่ากิเลสเหล่านี้เป็นตัวใหญ่ ส่วนตัวอื่นๆ เล็กๆ ยังมีอีกมากมายซึ่งเราทุกคนมีอยู่เต็มตัว แต่เรามองไม่ออก เรามองไม่รู้ เช่น คนที่ขี้โกรธ หรือคนที่ชอบด่าเขา นินทาว่าร้าย อิจฉาเขา ก็ยังคิดว่าตนดีอยู่นั่นแหละ อิจฉาเขาก็เป็นคนดี จนบางคนทำร้ายผู้อื่นก็ยังเป็นคนดี หาว่าเขามารังแก เขามาพูดไม่ดีก็เลยตีหัมันเสีย นี่ตัวเองดีอย่างนี้ ไม่รู้ตามความเป็นจริง
ทีนี้จิตของเรา ของมนุษยหรือของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย มันล้วนแต่มีความวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมที่จะหยุดจะนิ่งได้ กระแสของจิตในนาทีเดียวนี้มันมีอารมณ์ตั้งไม่รู้สักกี่อย่าง สักกี่เรื่อง ชั่วนาทีเดียว เช่นที่เรานั่งฟังธรรมอยู่นี่ จิตของเราก็นึกก็คิด อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งที่ฟังรู้เรื่องว่าพูดเรื่องอะไร แต่ทีนี้ก็ที่เราจะไปบังคับมัน คือ บังคับอย่าให้มันคิดนั่นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งที่ไม่มีตัว ที่จะไปจับมัดผูกขังมันไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มีความรู้สึกว่าอยู่ในตัวอย่างหนึ่ง แต่ว่าจะให้เห็นตัวมันก็เห็นไม่ได้ จะไปลูบคลำอะไรมันก็ไม่มี เป็นแต่เพียงความรู้สึกอันหนึ่งเท่านั้น ไม่มีแสง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มันเป็นธรรมชาติ
ฉะนั้นผู้ที่มีปัญญาในโลกที่จะบังคับจิตได้ เดิมก่อนพระพุทธเจ้าก็มีพวกในลัทธิศาสนาพราหมณ์ และศาสนาอื่นๆ เขาก็บังคับได้เหมือนกัน ให้หยุดได้ ให้เป็นสมาธิได้ แต่มันก็แค่นั้น ในขณะที่นั่งอยู่มันไม่วุ่นวายจริง แต่พอออกมาแล้วมันก็วุ่นวายอีก ลืมตาออกมาแล้วมันก็วุ่นวาย มันไม่ยอมหยุดจริง มีแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์สามารถขัดเกลาแก้ไขดัดมันจนว่าหยุด ได้นิ่ง มีความสงบแล้ว ไม่มีความร้อน มีแต่ความเย็นและก็มีถึงที่สุด คือ มีที่สุดด้วย อย่างของศาสนาอื่น ลัทธิอื่นนั้นมันไม่สุด ที่ว่าสุดแล้วนั้นมันไม่สุดเพราะไม่พ้นไปจากวัฏฏะ คือ ความวนเวียนเกิดอยู่ไม่พ้น ถึงแม้จะไปเกิดเป็นอะไรซึ่งมีอายุยืนยาวจริงๆ ตั้ง ๕๐๐ กัป เช่น เป็นพรหมก็ยังต้องตาย แต่เขารู้เช่นนั้น รู้เท่านั้น ที่จะรู้พ้นไปกว่านั้นมีปัญญาไม่พอ มีแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ได้บำเพ็ญบารมีมา มีปัญญาพอ เช่นที่พราหมณ์ ฤษี หรือ ชฏิล เขาปฏิบัติกันแล้วไปเกิดเป็นพรหม เพราะเขาถือว่าเขาไปเกิดเป็นพรหมแล้วเขาเป็นผู้ไม่ตาย แต่พระพุทธองค์รู้ว่ายังต้องตาย พระพรหมก็ต้องตาย ถึงมีอายุยืนนาน แต่ก็ต้องตาย มิใช่ไม่ตาย ที่ไม่ตายมีแห่งเดียว คือ พระนิพพาน ที่ องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้เท่านั้น เรียกว่า พระนิพพาน เป็นผู้เข้าถึง เป็นผู้รู้ถึง เป็นผู้รู้ได้ เข้าใจได้ พบได้ สอนผู้อื่นแนะให้ผู้อื่น หรือพระสาวก นี่เป็นเรื่องจริงของจริงแท้
ฉะนั้นในการที่เมื่อเราได้มาเป็นสาวกของ พระพุทธองค์แล้ว เราก็มีความสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความขะมักเขม้นหันเข้าหาธรรมปฏิบัติ อย่างจริงจัง เราปฏิบัติเป็นพิธีมันก็ได้เหมือนกัน ได้บุญ มิใช่ไม่ได้ แต่ว่าจะให้เรามีปัญญาสูงจริงอย่างชั้นอริยะมันก็ไม่ถึง มันก็เพียงโลกียะเท่านั้น แน้นถ้าเราจะให้รู้จริงก็ต้องฝึกฝนจริง อบรมจริง มันเป็นสิ่งที่อบรมยาก สั่งสอนยาก มันไม่ยอมที่จะอยู่ใต้อำนาจผู้ใดง่ายๆ แต่ถ้าเราได้ฝึกฝนตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้แล้วก็สามารถที่จะบังคับมัน ได้แน่นอน
เมื่อบังคับมันได้ เราทุกๆ คนที่นี่ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันอยู่นี้ ทุกคนก็อยากได้รับความสุข ความสุขนั้นกินอิ่มมันก็สุข นอนหลับมันก็มีความสุข แต่ว่าพอลืมตาขึ้นมาก็มีเรื่องวุ่นวาย ความสุขที่แท้จริงมิใช่สุขเนื้อ สุขหนัง สุขภายนอก มิใช่สุขที่แท้จริง สุขที่แท้จริงนั้นต้องเป็นสุขภายใน คือสุขเป็นความสุขชั้นสูง ความสุขกายภายนอก กินอิ่มมันอิ่ม นอนหลับมันก็ชั่วครู่ พักไม่ตลอดกาล แต่ความสุขของจิตเมื่อฝึกฝนดีแล้ว อบรมดีแล้ว มันสุขจริง มันสุขตลอดกาล ถึงแม้ร่างกายจะขาดอะไรก็ตาม หรือมันจะเป็นอะไรขึ้นมาก็ตาม ในเมื่อจิตได้รับการอบรมมาดีแล้วมันไม่เดือดร้อน มันไม่ไปเป็นทุกข์ด้วย เพราะมันมีปัญญา มันรู้ความเป็นจริงว่ามีสังขาร หรือมีกายมีรูปนี่ หรือมีขันธ์ ๕ นี่มันต้องทุกข์ ไม่มีใครหนีจะไม่ให้มีทุกข์มันไม่มี มันต้องทุกข์ ทุกข์มากทุกข์น้อยมันต้อมี และทุกข์ที่สุด ครั้งที่สุดก็ตอนที่จะตาย นั่นทุกข์ที่สุด
เพราะที่มีร่างกายอยู่รวมกัน ได้นี้ ธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันยังสามัคคีกันอยู่ มันยังไม่แตกสามัคคี พอมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนขึ้นมาแล้วมันคุมกันไว้ไม่อยู่มันก็แตกสามัคคี กัน ต่างธาตุต่างก็ไปตามทางของมัน อยู่รวมกันไม่ได้ จิตของเราก็เหมือนบ้าน พังอยู่ไม่ได้ก็ต้องไปหาเรือนใหม่อยู่ต่อไป ที่เรียกว่า ตาย, มนุษย์หรือสัตว์เกิดมาแล้วย่อมทำกรรม กรรมหนัก กรรมเบา กรรมชั่ว กรรมดี ย่อมทำมาแล้วทั้งสิ้น จะทำอย่างไหนมากอย่างไหนน้อยนั่นเป็นเฉพาะแต่ละบุคคล เช่น บางคนเกิดมาชาติหนึ่งทำแต่บุญมาก บางคนเกิดมาชาติหนึ่งทำแต่บาปตลอดกาลมันก็มี แต่บางคนสงสัยว่า ไอ้คนนี้ทำบาปมากทำไมมันถึงอยู่ได้? เราต้องเข้าใจกรรมเก่ามันอุปถัมภ์อยู่ กรรมที่เขาได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ อดีตชาติหรือชาติก่อนเขาได้ทำไว้ เขามีทุนอยู่ จะต้องใช้กรรมอันนั้น อยู่อาศัยกรรมอันนั้นจนกว่าจะหมดบุญ หรืกุศลกรรมอันนั้นอขงการที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อมีจังหวะ มีโอกาสว่างเมื่อไรจากกุศลกรรม, อกุศลกรรม คือ บาปมันก็ตามมาทันที เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "เหมือนสุนัขที่ไล่เนื้อ ไล่กวางไปในป่า กวางก็วิ่งหนี ไอ้สุนัขมันเก่งมันก็ไล่กวดตาม ถ้ามันไล่ทัน ปากของมันถึงตรงไหน มันถึงที่ท้อง มันถึงที่หาง มันถึงที่ข้างตัว มันก็จะกระโจนกัดเข้าตรงนั้น เนื้อตรงนั้นจนได้ มันทันตรงไหนมันก็กัดตรงนั้น" กรรมก็เหมือนกันกับสุนุขไล่เนื้อ เมื่อมีโอกาสของมันเมื่อไรมันก็เอาเราเมื่อนั้น
ฉะนั้นที่เราดิ้นรนที่ ว่าจะไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ไข้นั่นเป็นความเหลวไหล ไม่เข้าใจความเป็นจริง มันจะเป็นอะไรมันก็เป็นขึ้นมา เราต้องยินดีรับ ในเมื่อเราป้องกันรักษาตัวของเราดีแล้ว แต่ว่ามันไม่วายที่จะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ต้องยอมมัน แต่ว่าเราก็ต้องรักษา ไม่ใช่ว่าปล่อย เพราะว่ายารักษาโรคมีอยู่ มนุษย์คิดค้นขึ้นมาได้ แม้ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็ต้องใช้ยารักษาโรคเหมือนกัน พระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังใช้ยารักษาโรค ไม่ใช่ไม่ใช้ เพราะว่าการที่เป็นพระอรหันต์นั้น จิตเป็นพระอรหันต์ กายนี้เป็นมนุษย์ กายที่เป็นมนุษย์เรียกว่า วิบากของผลกรรม คือ กุศลกรรม คือบุญให้มาเกิดเป็นมนุษย์ หมายความว่า ชั่วชีวิตหนึ่งนั้นต้องอาศัยร่างนี้อยู่ แต่เมื่อดับขันธ์แล้วจิตไม่ไปเที่ยวหาบ้านใหม่อยู่อีก เรียกว่าเข้าสู่พระนิพพาน เข้าอยู่ในพระนิพพาน
พูดถึงหลักของ การทำสมาธิ ไม่ใช่เป็นของเหลวไหลไร้สาระ อย่างพวกสมัยใหม่บางพวกได้เหมาเอาว่าเป็นสัตว์ไดโนเสาร์เต่าล้านปี พวกคร่ำครึเข้าวัดเข้าวาแต่หนุ่มแต่สาว นั่นแหละตัวผู้พูดว่าอย่างนั้นที่เป็นเต่าล้านปีเป็นพวกไดโนเสาร์มันสูญ พันธ์ไปแล้วนั่นแหละพวกเต่าแท้ ผู้ที่เข้ามาหาธรรมของพระพุทธองค์ ไม่ใช่เต่า แต่เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเราไม่รู้เราจึงเข้ามาหา เข้ามาฝึกฝนเพื่อให้รู้ เพื่อจะได้มีความสุข แม้ในชาตินี้หรืออัตภาพนี้ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่นี้ ถ้าได้รับการฝึกฝนอบรมดีแล้ว จิตใจของเราก็มีความสุข และนอกจากนั้นผู้ที่ยังครองเรือน ยังประกอบอาชีพอยู่ในโลก วิชาหลักสมาธิที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี้ก็ยังนำไปใช้กับโลกได้ดวิเศษที่สุด ไม่มีเสียหายตรงไหนเลย คนที่ฝึกหัดปฏิบัติธรรมมีสมาธิแล้ว จะทำกิจการอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นผู้ที่ละเอียดลออถี่ถ้วน และมีความคิดลึกซึ้ง คิดได้ทะลุปรุโปร่ง ติดปัญหาในวัตถุที่กระทำ เช่น เครื่องจักรเครื่องยนต์ หรือกิจการใดก็ตาม สามารถคิดทะลุ คิดได้แตก คิดได้ถูกต้อง ทำได้ถูก นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติยังมีจิตแข็งแกร่ง เมื่อต้องไปทำกิจกรรมที่ลำบากยากเข็ญเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ยังมีกำลังของ ธรรมนี้ช่วยค้ำจุนจิตให้มีความเข้มแข็งไม่อ่อนแอ เมื่อจิตไม่อ่อนแอร่างกายมันก็ต้องไม่อ่อนแอ การที่คนเรารู้สึกว่าอ่อนเพลียละเหี่ยใจเพราะใจมันไม่สู้ ถ้าใจมันสู้แล้วร่างกายมันก็สู้ได้ นี่เป็นหลักความจริง
และเราก็ ต้องรู้ความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องฝึกฝน ต้องอบรม คนจะมีอาชีพทางอะไรๆ ก็ตาม จะเป็นกสิกร หรือวิศวกร ข้าราชการ อะไรก็ตาม ก็ต้องเรียนทั้งสิ้น ต้องเรียนต้องผ่านการศึกษาจึงจะออกมาใช้วิชานั้นประกอบอาชีพได้ ทีนี้วิชชาของจิตเราก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน และวิชชาของจิตโดยเฉพาะแล้วมันละเอียดลึกซึ่งกว่าวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับด้านวัตถุภายนอกสามารถมองเห็นได้ พิสูจน์ได้ ดูได้ รู้ได้ ได้ยินได้ฟังได้ แต่ธรรมะนี่มันต้องหาเอาข้างใน ฉะนั้นการฝึกฝนมันก็ต้องมีความเพียรไม่ยิ่งหย่อน ต้องมีความเพียรให้มาอย่างยิ่ง อย่าหย่อน อย่าท้อถอย มันก็บังเกิดผล มีความสำเร็จเกิดขึ้น
การ ผัดวันประกันพรุ่งของบางคนเหมือนกัน ยังหนุ่มอยู่บ้าง ยังสาวอยู่บ้าง ยังรุ่นอยู่บ้าง รอเข้าวัดเมื่อแก่ เมื่อแก่แล้วจึงเข้าวัด คนเราเมื่อแก่แล้วอะไรๆ มันก็ชำรุดทั้งนั้น เนื้อหนังมันก็เหี่ยวย่น ข้อมือ ข้อเอ็น ข้อเท้า เอว หลัง มันก็มีปวดมีเมื่อย มันไม่ค่อยมีความสุขเสียแล้ว กำลังวังชาแข็งแรงอยู่ ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว หรือในวัยที่ยังเข้มแข็งอยู่เราก็ทำได้ ข้อสำคัญก็คือว่า คนเรานี้มันต้องตาย แล้วก็ตายเมื่อไร ตายด้วยเหตุใด? ไม่มีใครรู้ได้ ฉะนั้นถ้าเราไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ตลอดเวลาแล้ว เราก็เป็นผู้ประมาทเท่านั้นเอง เราจงเป็นผู้มีความไม่ประมาทเถิด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นคำสุดท้ายนั่นแหละเป็นดีที่สุด
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๒๙ มกราคม ๒๕๒๗

ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm/kar-ptibati-thrrm/phra-ngu-phra-pla-hil/kiles-cit-thukkh

พระงู-พระปลาไหล

พระงู-พระปลาไหล

การฟังธรรมนี้ ถ้าฟังด้วยจิตใจศรัทธา นำใจเข้าไปละกิเลสของตนได้ มันก็เป็นประโยชน์ เป็นคุณ แต่ถ้าฟังแล้วมันก็กองอยู่ตรงนั้น มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตนเองก็ไม่ได้อะไร แล้วก็นั่งเมื่อยเปล่าๆ มีอยู่ว่า ไอ้ปลาไหลนั่นแหละ ตัวมันเท่างูเหมือนกันแหละ ที่ผิดกันนั้นมีอยู่สองอย่าง คือ งูนั้นมีเกล็ด ปลาไหลมันไม่มีเกล็ด ตัวของมันเป็นเมือก และอีกอย่างหนึ่งงูมันไม่มีเหงือก ปลาไหลมันมีเหงือก จึงจัดเป็นจำพวกปลา ทีนี้ธรรมชาติของปลาไหลมันลื่นนี่ เรื่อยเปลื่อยไปได้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่าถ้าถูกที่ทรายดูดก็ไปไม่ได้นะ ก็แย่เหมือนกัน ไอ้งูมันไปได้ทั้งนั้น งูที่มันเลื้อยไปไม่ได้ก็ที่ลื่นๆ แต่มันก็กระเดือก มันกระเสือกกระสนของมันไปได้ เดี๋ยวจะฟังไม่ออกว่า เอ....ธรรมะทำไมออกปลาไหลบ้าง ออกงูบ้าง มันมีที่ออกไปอย่างนี้แหละ
คือพระของเรานี่เป็นปลาไหลก็มี เป็นงูก็มี เป็นอย่างนั้น พระ เณรก็เหมือนกัน เป็นปลาไหลบ้าง เป็นงูบ้าง ตลอดถึงชีอะไรก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ผู้ปฏิบัติธรรมโดยมากเป็นปลาไหล มันไหลไปเรื่อยเปื่อย ไปตัมันลื่น ที่ปลาไหลมันจะไปออกไปนั่น คือ ไหลตอนไหน ที่สำคัญไอ้ไหลตอนนั่งกัมมัฏฐานมันก็ไหลเหมือนกันแหละ นั่นๆ แล้ว มันขี้เกียจ หรืออะไรก็ตามออกไปไหลเรื่อย ทีแรกมันปวดท้องเยี่ยวก่อน พ้นจากไปเยี่ยวไปปัสสาวะแล้วมันก็มานั่ง ดูนั่นดู่นี่ ไอ้ที่เดินจงกรมให้เป็นประโยชน์ไม่มีใครทำหรอก ไอ้นี่เพราะมันไหลไปนั่นแหละ อย่างที่ว่า ทีนี้ไอ้สำคัญที่มันไหลมากก็คือ ตอนที่ว่าเคยมีมาปีก่อนๆ โน้น มีอยู่ปีหนึ่งที่หนักตอนฉันอาหารนี่ภิกษุฉันอาหารแล้วมีการพูดคุยด้วยนั่น แหละ นั่นพวกปลาไหลแล้วละ ฉันอาหารเสร็จก็เป็นพวกเดียรถีย์ ไหลเป็นพวกเดียรถีย์ นี้บางทียังไม่เสร็จก็เอาเรื่องต่างๆ ที่ตลกบ้าง เรื่องขบขันบ้าง เรื่องอะไรต่างๆ ที่ไม่ใช่ธรรมะ เรียกว่า เดรัจฉานกถา หรือเรื่องอย่างที่พวกเดียรถีย์เขาชอบพูดกัน เช่นว่าการขบฉันต่างๆ ที่พระเป็นผู้สำรวมระมัดระวัง ฉันให้เรียบร้อย นั่งฉันให้เรียบร้อย ที่จะป้อนคำข้าวเข้าปากให้มันเรียบร้อย ฉันไม่ให้ขอดบาตร ฉันไม่ให้เม็ดข้าวตกลงในบาตร และก็หลายอย่างอื่นๆ อีก แล้วก็ฉันข้าวแล้วก็นั่งกระดิกเข่ากระดิกเท้าบ้างอะไรเหล่านี้ นั่นไหลไปทั้งนั้น เป็นพวกปลาไหลทั้งนั้น อะไรที่ทำให้มันไหล กิเลสเป็นความเพลิดเพลิน มันเกิดความสนุก และเล่าเรื่องตลกขบขันนั่นเพราะว่า ขณะนั้น ท้องมันกำลังอิ่มอยู่ มันสบาย เมื่อมันสบายมันก็ไหลออก ที่จะสำรวมระมัดระวังวาจาของตนที่เรียกว่า อินทรีย์สังวร คืออะไร ปกฏิโมกข์สังวร และก็อินทรีย์สังวรก็คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าวาจามันยังคะนอง อยู่ไม่สำรวม ถ้าลิ้นมันยังชอบของอร่อยอยู่มันก็ไม่สำรวม เพราะว่าเรายังขาดสันโดษ ไม่มีความพอใจ หรือดี หรือพอใจในของที่มีอยู่ เพราะว่าการปรุงอาหารทุกๆ อย่ง แม้แต่แม่ของเราทำเองก็อาจไม่ถูกรสปากเรา เพราะกิเลสไม่ต้องผู้อื่นทำ แม่ของเราเองก็ทำไม่ถูกปากไม่ต้องมาก เพราะกิเลสคนเรานั้นชอบเปรี้ยว ชอบหวาน ชอบเค็ม ชอบมัน ไม่เหมือนกันที ทีนี้การเป็นภิกษุสงฆ์มันต้องประหยัดตัว เพราะที่มาบวชมาเรียนนี้ มันมาละกิเลส ไม่ใช่มาสะสมกิเลส ถ้าบวชเพื่อจะกินให้อร่อยให้มันหวานตามที่ต้องการก็ไม่ต้องบวช เป็นคฤหัสถืไปหาซื้อตามตลาดกินได้ตามชอบใจ เราเป็นภิกษุ เรามีชีวิตอยู่ด้วยชาวบ้าน การที่เขาทำทานมาให้เราฉัน เราอยู่อาศัย หรืออื่นๆ เขาไม่ใช่ทาสเป็นกรรมกรของเรา เขาศรัทธาเราต่างหาก เขาศรัทธาต่อพระศาสนาต่างหาก ที่เขาทำบุญทำทานมานั่น อย่างผู้ปรุงอาหารก็เหมือนกัน ผู้ปรุงก็คงไม่มีเจตนาที่จะปรุงอาหารให้ชนิดสุนัขกินไม่ได้ไม่มีหรอก ให้มนุษย์กินได้ มันอร่อยหรือไม่อร่อยนั่นอย่างที่ว่า กิเลสมันให้อร่อยมันไม่อร่อยสองอย่าง ที่อร่อยก็กิเลส ที่ไม่อร่อยก็กิเลส ไม่อร่อยมันเป็นวิภวตัณหา ที่อร่อยมันเป็นกามตัณหา เอ้าคิดดูเอาและก็นี่แหละท้องมันอิ่มกิเลสมันพอใจ วาจามันก็ไม่เป็นปกติสุข มันก็ไหลออกไป อันนี้เรียกว่าเป็นปลาไหล แล้วทีนี้ถ้าว่าตามในขุมทรัพย์พระบรมโอษฐ์ที่พระองค์ว่าภิกษุจระเข้เห็นแก่ กิน, กินแล้วก็นอนตากแดดอ้าปากหวอ ตากแดดแล้วลงน้ำ และก็ภิกษุพวกหนึ่งที่พระพุทธเจ้าประฌามว่าภิกษุสุนัขขี้เรื้อน มันคัน อยู่ไม่นิ่ง อดไม่ได้ที่จะต้องพูดนั่น พูดนี่ รุกรานคนนั้นคนนี้ให้เดือดร้อน เรียกว่ารุกรานด้วยวาจา รุกรานด้วยกาย รุกรานด้วยกิริยา ถ้าเราจะเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งเหล่านี้เราต้องกระทำได้ เราต้องมีความอดทนอดกลั้นทุกอย่าง
อย่างในเรื่องที่สมเด็จพระพุทฒาจารย์ (โต) ยังมีชีวิตอยู่ มีพระตั้งร้อยที่วัดของท่าน เผอิญวันหนึ่งมีคนนำแกงร้อนมาถวาย หม้ออวยใหญ่ แต่มันไม่พอกับพระหรอก พระมาก ทีนี้สมเด็จโตนั้นท่านอยากจะทดสอบว่า พระของเราที่ปกครองนี่ใครมีความจริงใจแค่ไหน แต่ท่านก็ไม่ได้บอกใคร สั่งให้เณรเอากะทะใบบัวใหญ่มาติดไฟตั้งเข้า แล้วก็ไปตัดผักบุ้งข้างๆ วัดมาสับๆๆๆ ทั้งใบบ้างรากบ้างใส่ลงไป เอาน้ำใส่แล้วเอาแกงร้อนหม้อหนึ่งเทลงไปในกะทะใบบัว แล้วก็ต้มจนสุกเรียบร้อย เติมน้ำปลาบ้างแหละตามสมควร หรือไม่เติมก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้บอกไว้ พอเสร็จแล้วท่านก็สั่งให้เณรตักอาหารที่ปรุงใหม่ถวายพระองค์ละถ้วยๆๆๆ ทุกองค์ฉันกับข้าว พอขณะที่ฉันอยู่ท่านไปนั่งคอยอยู่ที่ประตูโรงฉัน อ้อดูเหมือนจะเป็นตอนเย็นก่อนเข้าทำวัตรที่ในโบสถ์ ท่านนั่งคอยอยู่ที่หน้าโบสถ์ พอถึงพระเณรองค์ไหนมาท่านถามว่า "เป็นไงแกงร้อนเมื่อเช้าอร่อยดีไหม" องค์ที่หนึ่งก็ตอบว่า "อร่อยดีครับผม" ถามองค์ที่สองว่า "คุณล่ะ?" "อร่อยดีครับผม" ทุกองค์แหละอร่อยดีทั้งนั้น องค์ที่แปดสิบ โน่นมีองค์หนึ่งเป็นพระผู้เฒ่าพระหลวงตา ถาม "เป็นไงหลวงตา แกงร้อนเมื่อเช้าที่ตักถวายอร่อยดีไหม?" พระหลวงตาบอกว่า "อร่อยอะไรพระเดชพระคุณ หมาก็ไม่กิน" เอ้าเป็นอย่างนั้นไป สมเด็จโตก็เข้าที่ประชุมสงฆ์บอกพระทั้งหมดว่า วันนี้ที่พบแล้ว พระทั้งหมดมีองค์เดียวเท่านั้นที่พูดจริง นอกนั้นโกหกทั้งนั้นแหละ ไม่อร่อยว่าอร่อย เพราะเกรงว่าสมเด็จโตจะดุเอา นั้นเป็นการทดสอบ ไอ้เรื่องอาหารการกินทุกสิ่งทุกอย่างที่มันอุดมสมบูรณ์ จนว่ากลืนไม่ลงแล้ว มันก็มีบางมื้อบางวัน มันมีเดือนหนึ่งกว่า ๑๕ วันแหละ ทีนี้บางมื้อบางวันก็มีบกพร่องบ้าง เราจะเอาอย่างที่เราต้องการทุกวันหรือย่อมเป็นไปไม่ได้ พระต้องรู้จักเข้าใจคำว่า สันโดษ
อาจารย์ในชีวิตที่บวชมานี่ลำบากยากแค้น บิณฑบาตมาไม่ค่อยได้อะไร เมื่อก่อนไม่ใช่มีสลากโรงครัว ไม่มีหรอก มีพระสององค์เท่านั้น พรรรษาสองแล้วไปบิณฑบาต อ้อ พรรษาแรกไปบิณฑบาตมาบ้านญาติ ก็มีจิตมันก็มีกิเลสขึ้นมาแหละว่าจะไปบิณฑบาตบ้านญาติ ไปขอนั่นขอนี่ ขอกับข้าว แล้วมันก็ไม่ไป มันอดตายก็ช่างมันให้มันรู้ไป มันอัตคัตเหลือเกิน (ช่วงนี้เทปหายไป) ได้ปลาเค็มมาสองตัวขนาดสามนิ้ว เป็นปลากระบอก เขาปิ้งมาไม่ได้ทอดหรอก เขาใส่บาตรมา ท่านอาจารย์ไปบิณฑบาตมา ไปคนละทาง กลับมาขึ้นโรงฉัน เปิดฝาบาตรให้ดูแล้วหัวเราะหึ ท่านบอกว่าไม่ได้อะไรเลยหลวงน้า เลยแบ่งคนละตัวเท่ากันกับอาจารย์ตัวหนึ่ง ฉันเองตัวหนึ่ง และฉันมื้อเดียวล้วนๆ ไม่ได้ฉันอะไรอีก แล้วก็ตอนหลังนี่มีสลากแล้ว เขาก็ลืมเสีย เขาไม่ได้มา ไปบิณฑบาตไม่มีเลย ไม่ได้อะไรเลย เอาละวันนี้ฉันข้าวเปล่ากับน้ำ พอดีกำลังลงมือฉันอยู่นั่น คนที่มันรับสลากมันนึกได้ขึ้นมาว่า ตายรับสลากแล้วลืมเสีย ทำอะไรไม่ทันเลยตำน้ำพริกมาถ้วยหนึ่ง มีผักมานิดหน่อย ก็ไม่เคยปริปาก ไม่เคยขอที่บ้าน ไม่เคยขอญาติ ก็อยู่ตรงนี้แหละ เป็นชีวิตที่อดทน ก็ครั้งที่ไปอยู่ทรายยรี พระ ๕ เณร ๑ บ้านเมืองริมทะเลเป็นบ้านปลาแท้ แต่ไม่มีปลาหรอก กับข้าวอะไรไม่มีเลย วันนั้นมีแกงส้มมาหม้อหนึ่ง ปิ่นโตเถาหนึ่ง เขาใส่แกงมาก็ปิ่นโตเดียว ทีนี้พระเณรข้างต้นก็ ๔ องค์ เขาก็ต้อนเอาเนื้อไปหมดเหลือแต่น้ำมาถึงอาจารย์ น้ำแกงส้มก็ราดๆ เข้า เหลือไว้ครึ่งแบ่งให้เณร กระซิบบอกว่า "อดทนนะเณร" ครับไม่เป็นไรหลวงอาไม่เป็นไร ว่างั้น นี่เป็นอย่างนี้ แล้วอีกครั้งหนึ่งไปบิณฑบาตไม่ได้อะไรเลย อาจารย์ได้กุ้ง ต้มกุ้งที่เขาเอาทำกะปินั่นแหละ มาห่อหนึ่งแล้วพระที่ไปกับอาจารย์อีกองค์หนึ่งก็ได้มาอีกห่อหนึ่ง ได้สองห่อ มาถึงที่วัดไม่มีอะไร พระเณรทั้งหมดนั้นไม่ได้อะไร ก็บอกว่า เณรเห็นน้ำปลาในครัวมี พริขี้หนูข้างครัวมี เอาไปตำๆ ก็ได้นี่เณร เณรก็จัดการตำเป็นน้ำพริก เอากุ้งนั่นแหละกับน้ำปลามาใส่ และผักก็เอาใบมะม่วงหิมพานต์นั่นแหละ เพราะชาวบ้านกินยอดหมดเหลือแต่ใบเก่าๆ ก็เอาแค่นี้, เณรหรือใครบอกว่าใบนี้กินได้ ใบเสม็ด เอายอดเสม็ดธรรมดานี่แหละ และก็ยอดเนียงสีม่วงๆ พอมีบ้าง ก็อยู่ได้ นี่เป็นอย่างนี้ ชีวิตอาจารย์บวชมาพบมาอย่างนี้
แล้วเราอดวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ว่า อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง ใครมันกิน นั่นกิเลสมันกินหรือว่าพระกิน หรือพระฉัน ถ้ากิเลสมันกินพระไม่ได้ฉันนั่นมันไม่อร่อยแล้ว หรือมันอร่อยไม่มีแล้ว แต่ถ้าพระฉันนั้นคำว่าอร่อยหรือไม่อร่อยมันไม่มีอยู่แล้ว มันไม่ขัดเกลากิเลสเลย นี่พูดถึงว่าแล้วก็เหมือนกัน นี่การไม่สำรวมระมัดระวังตั้งแต่พระเณรไป พระผู้ใหญ่ก็เหมือนกันแหละ การนำพระหรืออายุพรรษามากแล้ว พอเสร็จจากฉันก็หาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคุยกัน ซึ่งไม่ใช่ธรรมะ ไม่เป็นเรื่อง และหัวเราะกันเฮฮาๆๆ ไม่ใช่ขี้เมานี่ พระนี่เป็นผู้สำรวมมีวินัย ถ้าคุยเฮฮาหัวเราะคิกคัก เฮฮาแล้วมันก็เป็นขี้เมาเท่านั้นเอง มันจะเป็นพระสงฆ์ได้อย่างไร
และทีนี้ก็กิจวัตร ทำวัตรอะไรบ้าง? เดี๋ยวนี้กิจวัตรน้อยที่สุด มีแต่ปัดกวาดเช็ดถูเท่านั้น นานๆ จึงจะได้ทำนั่นทำนี่กันที และทำวัตรมันทำอยู่ทุกวัน ทำวัตรเพียงวันละสองหนไม่ได้ เราควรจะหยุดเสียบ้าง หยุดมันอย่าฉันมันเสีย เพราะเหตุใดล่ะ เพราะเหตุว่าเราฉันอาหารของชาวบ้าน แล้วเราประพฤติไม่สมกับเป็นสมณะ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นยังไม่ได้ คือเพียงแต่เข้าถึงพระรัตนตรัยเท่านี้วันละสองครั้งยังทำไม่ได้ อิสลามเขาทำวันละ ๕ ครั้ง เราพุทธศาสนาสองครั้งยังทำไม่ได้แล้วจะไปทำอะไร ทีนี้การไม่มาทำกิจวัตร หรือทำวัตร มอบฉันทะกับใครมา? เพราะเหตุไร? ตามพระวินัยต้องมอบฉันทะ ต้องบอกกับผู้อื่นมา เจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีกิจอะไร? ถึงไม่มา โดยไม่บอกก็เป็นอาบัติทุกกฏจะบอกให้ ไม่ว่าใครทั้งนั้น มิฉะนั้นการสามัคคี การประชุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามพระวินัยมันก็ไม่มี มันก็ไหลออกไปอย่างปลาไหล อย่างที่ว่าจับไว้ไม่อยู่ ที่อาจารย์ปกครองนี้เพื่อขัดเกลากิเลสของศิษย์ทั้งหลาย ไม่ใช่ปกครองเพื่อสบายใจ จะทำออกลิงออกค่างอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่ วัด นี้จะอยู่ยืนยงคงกระพันได้เพราะมีศีลมีธรรมที่ดีเรียบร้อย พระทุศีล พระศีลชั่ว พระเลวทรามนั้น มันไม่ทำความเจริญให้แก่พระศาสนา มีแต่ความเสื่อม
การมีชีวิตอยู่ได้ การใช้จ่ายเดือนละหมื่นบาทมาอย่างไร หมื่นกว่าบาทมาอย่างไร?, ขอถามทีใครเป็นทาส? เป็นขี้ข้าเรา ที่นำมาให้เราได้กินได้ใช้ได้บริโภคทุกอย่าง มันมาจากใคร? เป็นผู้สร้างบุญไว้ ที่สิ่งเหล่านี้มา เราสร้างเองหรือ? ให้เข้าใจซิ เราทุกคนนั่นสร้างเองที่เป็นอย่างนี้ได้
นี่แหละคำว่า วิปลาโลวิปลาสจิต ท่องเที่ยวไป ๑๘ ตำบล นี่แหละจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ของจิต เรียกว่า อินทรีย์ ๖ หรือ อายตนะ ๖ เพราะมันท่องเที่ยวไป ๑๘ ตำบล นั่นคือ คูณด้วยตัณหา ๓ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็น ๑๘ พอดี วันหนึ่งเราท่องเที่ยวอยู่ ๑๘ ตำบลนั่น ให้จำไว้ กินอาหารอร่อยไม่ค่อยบอกหรอกว่าอร่อย อาหารไม่อร่อยทำอย่างไร? ฮึ บางทีก็หมาก็ไม่กินเหมือนกัน ว่านั่นแหละเป็นอย่างนั้นเมื่อก่อน เคยจัดพระภัตตุเทศก์แจกภัตรแจกอาหาร เอ้าอิจฉาริษยาว่าตักให้เราน้อย ตักให้องค์โน้นมาก เอาอีกนั่น ทำตามพระวินัย อ้าวสั่งเลิก แล้วทีหลังให้ชีผู้ทำอาหารไปตัก เอาอีกไอ้ชีนั่นมันเกลียดเราให้แต่น้ำๆ ไอ้ชีโน้นมันชอบองค์โน้นให้มาก เลิกทีหลังเปลี่ยนใหม่อีก ไม่ต้องให้รู้ว่าใครแจก แต่เปลี่ยนกันทุกคน แก้มาหมดทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่วาย ฉะนั้นถ้าใครยังจะต้องการบริโภคให้มันอร่อย ให้มันตามใจเรา ไปบิณฑบาตเอาเอง ได้ก็ฉันเอาเองเถอะ บอกมาไม่ต้องขึ้นโรงฉัน เอาอย่างนั้นดีกว่า แล้วก็รู้แหละว่ามันอร่อยหรือไม่อร่อย เจอเข้าบ้างแหละ ท่านอาจารย์ที่สอนเรานี้ท่านบอกว่าเคยไปอยู่ตำบลหนึ่ง ๑๘ วัน ได้แต่ข้าวเปล่า ไม่เคยได้กับข้าวอะไรเลย แล้วถามว่าฉันอย่างไรล่ะอาจารย์ เอาน้ำเทใส่ลงไปแล้วก็ฉัน ฉันข้าวกับน้ำเปล่าไม่ไหว นี่ให้เราอดกลั้นอดทน อย่าหัดเป็นปลาไหล อย่าให้เป็นจระเข้ อย่าเป็นสุนัขขี้เรื้อนอยู่ไม่ได้ อย่าให้เป็นตัวตะก้อง ไอ้ตัวตะก้องนี่ตัวมันมีปีก แล้วความยหรือวัวมันขี้อยู่ตรงไหนนะ ตรงเข้าไปกินอยู่ที่ขี้ควาย มุดอยู่ในนั้นแหละ มุดหัวขึ้นหัวลงกินขี้ควายจนอิ่มแล้วก็นอนอยู่ในนั้นแหละ นั่นมันตัวตะก้อง อยู่ในขุมทรัพย์พระบรมโอษฐ์ เอามาอ่านเสียบ้างแล้วเราจะได้สำนึก ให้รู้ มันท่องเที่ยวไป ๑๘ ตำบลนั่นแหละ ไม่ใช่ที่ไหน ไอ้ที่เรียกว่าวิปลาส มันมาจากคำว่า สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคือความเห็นผิด ไม่เห็นตามทำนองครองธรรมว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้ สอนว่าเรื่องการกินอาหาร นี่อย่าไปติดมัน อย่าไปเห็นแก่รสมัน เรากินเพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่การกินเพื่อความเอร็ดอร่อย ปฏิสังขาโยนิโสปิณฑปาตัง นั่น อ่านดูตัวแปลมันบ้างซิว่าอย่างไร? ทำไมถึงไม่นำไปใช้พิจารณา เอาอะไรคำว่า พิจารณา หมาย ความว่า ต้องรู้ความเป็นจริงอย่างนั้น ไอ้ที่พูดอย่างนั้นมันเป็นกิเลสทั้งนั้น ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นผิด สัญญาวิปลาส จิตก็คือคิดขึ้นมา คนนั้นเขาอคติต่อเรา เขาให้ไม่มาก เขาไม่รัก เขาเกลี่ยดเรา เป็นอคติแล้ว รัก โกรธ เกลียด กลัว ก็เป็นกิเลสทั้ง ๓ อันครั้งเรามีความสำรวมระมัดระวัง เราเป็นผู้เสียสละแล้ว เป็นผู้บริจาคแล้ว เป็นผู้ออกจากวัตถุกาม ออกจากบ้านจากช่องบิดามารดาสามีภรรยามาแล้ว เราออกมาแล้ว ออกมาบวชเพื่ออะไร? เพื่อพระนิพพานแล้วทำไมเราจึงยังให้จิตของเราถอยหลังไปอีก เหมือนผู้อยู่ครองเรือน มันก็ไม่ใช่สมณะ ไม่ควรเป็นอย่างนั้น
สามเณรนี้ จะว่าทำอะไรไม่ค่อยจะได้อะไรนะ รักษาจิต อ้อ...ถ้าทำกิจการอะไรบ้างแล้ว มันจะปฏิบัติธรรมไม่ได้ หรืออะไรนี่แหละ ระวังนะสามเณรจนถึงกับว่าพระใช้อะไรก็ไม่ค่อยได้ ดื้อรั้นกับพระ สามเณรนั่นมันศีล ๑๐ พระมันศีล ๒๒๗ การที่จะหยิบข้าวของมาใช้เองมันไม่ได้ ไม่มีผู้ประเคน การที่มีสามเณรไว้เพื่อทำอะไรก็ได้ช่วยเหลือพระ แล้วมันหนักหนาอะไรกับการประเคนของพระนี่มันหนักหนาอะไร? พระใช้นั่นใช้นี่มันหนักหนาอะไร? ก็อีกเหมือนกัน พระที่ใช้ก็เหมือนกัน จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ต้องรู้เหมือนกัน สักแต่เรียกกันให้เณรหัวหมุนก็ไม่ถูก มันต้องพอควร อะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น จำเป็นจึงจะใช้ เคยมีสามเณรมันทนไม่ไหว เอาของชิ้นนี้ไปประเคนแล้ว พอประเคนเสร็จ พอเณรหันหลังกลับเรียกเอาอื่นอีกแล้ว ตั้งสามครั้งสี่ครั้งโน่น อย่างนี้มันแย่ ไอ้พระก็หนาแน่นเหลือเกินกิเลส แย่เหมือนกัน ฉะนั้นเราอ่านวินัยปฏิบัติธรรมะแล้วถือนิสัยอาจารย์ การพูดฟุ่มเฟือยใดๆ เคยเห็นหรือ อาจารย์นอกจากแสดงธรรมกับผู้เข้ามาหาก็พูด ถ้าอยู่ตามธรรมดาๆ แล้วเจอพระที่เดินสวนกัน ไม่มีธุระอาจารย์เคยถามใครบ้าง เคยพูดกับใครบ้าง เพราะอะไร มันไม่มีกิจที่จะพูดจึงไม่พูด
เราอยู่ถึงอาจารย์ ที่จะเรียนอะไรได้ทุกอย่าง มันจะไปตรงกับคำพังเพยของโบราณที่ว่า เป็นจวักเสียเปล่า หารู้รสแกงไม่ จวักโบราณเขาทำเป็นกะลาใส่ต้นไม้ จะแกงคั่วจืดแกงร้อน โบราณไม่มีช้อน มีตะหลิวเหมือนปัจจุบัน รสอร่อยดีไหมจวักไม่รู้หรอก ไม่รู้รสแกง ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ พระหรือเณรก็ตามอยู่ถึงครูอาจารย์ ที่อบรมศิษย์ อบรมศีลธรรม อยู่ทุกวันๆ นี้ ยังไม่รู้จักที่จะนำไปใช้ปฏิบัติตาม ก็เหมือนกับจวักที่ไม่รู้รสแกงนั่น จบเพียงเท่านี้
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๒ สิงหาคม ๒๕๒๕

ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm/kar-ptibati-thrrm/phra-ngu-phra-pla-hil

การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม ที่ปฏิบัตินี้ก็มีความมุ่งหมายว่า เราจะนำเอากิเลสออกไปจากกาย วาจา จิตของเรา กิเลสก็คือ ความชั่วทั้งหลายทุกอย่าง เรามาติดสมมติ ยึดสมมติว่า ขันธ์ ๕ เป็นเรา ขันธ์ ๕ ก็มี รูปกับนาม รูปก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เรียกว่า รูป เราก็ติดไอ้รูปที่เราอยู่กับมันนั่นแหละ เป็นตัวๆ เรา ไอ้นามนี้มันไม่มีตัว แต่มันเป็นกองๆ รวมกันอยู่ ๔ กอง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เวทนามี ๓ อย่าง เรียกว่า เวทนา ๓ คือ ทุกข์อย่างหนึ่ง สุขอย่างหนึ่ง ไม่ทุกข์ไม่สุขอีก อย่างหนึ่ง เรียกว่าเวทนา ที่เราจะเข้าใจพวกนามนี้ได้เราต้องดูที่จิตของเรามันเอาอะไรมา? ประเดี๋ยวก็ไม่สบายใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คือ ถ้าเห็นอะไรที่ชอบก็พอใจในสิ่งนั้น สิ้งนี้ก็ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เรียกว่ากามคุณทั้ง ๕ ไม่พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ คือ เวทนา
สัญญา ก็พวกสัตว์นั้นมีแต่สัญญา คือ มันจำอะไรๆ ได้ เช่น จำที่ทำมาหากินของมัน เช่นพวกนกมันบินไปไกลๆ มันก็สังเกตได้ จำได้ว่าต้นไม้ไหนมีผลไม้ที่มันกินได้ มันก็ไปหากินที่นั่น หมดแล้วก็หาต่อไป อาศัยสัญญา แต่ที่มันจะมีสัญญาว่าไอ้นกตัวนั้นชื่ออะไรในพวกเดียวกันนั้นไม่มี มันรู้แต่ว่ามันเป็นนก แล้วเป็นนกอะไรมันก็ไม่รู้เหมือนกัน พวกนกหรือพวกสัตว์พวกลิงพวกค่างไม่รู้ว่ามันนั้นเขาสมมติว่าเรียกอะไร และไอ้ที่พวกสุนัข หรือหมีพวกนี้นั้นมันก็ไม่รู้ว่าพวกมันชื่ออะไร ไม่รู้ แต่มนุษย์เรารู้ เพราะมนุษย์นั้นมันสมมติกันไว้ ทั้งเห็นตัวจริง ทั้งเขียนรูปให้เห็น ส่วนสัตว์บางชนิดที่ว่าในอดีตเป็นล้านๆ ปี มันมีแต่ปัจจุบัน มันไม่มีเพียงแต่มีผู้ไปขุดไปพบโครงกระดูกที่อยู่ในน้ำแข็ง อยู่ในทะเลทราย ไอ้เหล่านี้แล้วก็มาสันนิษฐานว่ารูปของมัน เมื่อเห็นโครงกระดูกแล้วยังอยู่ครบเอามาเรียงกันเข้าก็เขียนรูปขึ้นว่าตัว มันนั้นก็ควรจะเป็นอย่างนั้นๆ ความจริงมันก็สมมติขึ้น ไม่ได้เห็นตัวจริง เขียนตามโครงกระดูก นั่นเป็นสัญญาทั้งนั้น สัญญา ก็คือ มนุษย์เราตั้งขึ้น ของชาติหนึ่งก็ภาษาหนึ่ง มีสัญญาอย่างหนึ่ง เช่น ตัวอักษรหนังสือทั้งหลายก็เป็นสัญญา การจำชื่อตั้งชื่อตนเอง ตั้งชื่อพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดลูกหลานเหลน ต้นไม้ ภูเขา บ้านช่อง ก็มีชื่อทั้งนั้น มีชื่อตั้งชื่อให้ ไอ้ชื่อนั้นเป็นสมมติ และก็เมื่อจำได้ก็เป็นสัญญา
สงขารก็คือความนึกคิดของเรา ที่เรานั่งฟังธรรมอยู่นี่เราก็คิดไปต่างๆ อย่างสองอย่างคิดไปแล้ว บางคนก็คิดถึงขันธ์ตนเอง บางคนก็คิดว่ามันหมายความว่าอะไรกันแน่? เราก็ยังไม่รู้จักมันจริงไอ้ขันธ์ ๕ แล้วก็ สังขาร คือ ตัวนึกคิด
ไอ้วิญญาณ ก็คือ ตัวรับรู้ ตัวรู้เช่นที่พูดอยู่นี้ว่าพูดเรื่องอะไร พูดเรื่องกิเลส พูดเรื่องขันธ์ ๕ เรารู้สัญญาว่าขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง...ใครกำลังอธิบายขันธ์ ๕ อยู่ว่าลักษณะของขันธ์มันเป็นอย่างไร นี่ถ้าเรารู้ก็หมายความว่า นั่นเป็นวิญญาณ ตัวรู้ ที่รู้ก็เอามาจากสัญญา
ทีนี้เราปฏิบัติอยู่เราก็ต้องรู้ ของจริง รู้ลักษณะอาการของมันว่าชนิดนี้เรียกว่า สัญญา ชนิดนั้นเรียกว่า สังขาร ชนิดนั้นเรียกว่า วิญญาณ เช่นนั่งอยู่นี่ง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้น....ตัวรู้ก็รู้แล้วว่านี่ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอนเป็นนิวรณ์ สัญญานี่เราเรียนรู้อย่างนี้ ถ้าเราเรียนรู้สัญญาดีแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นกับเรา กับกายกับจิตเรา อะไรเกิดขึ้นก็ตามมันก็รู้ทันทีว่าเกิดที่ตรงนั้นๆ เกิดในขันธ์กองนั้นๆ แล้วเราก็ละสิ่งที่เกิดขึ้น คือ วิปัสสนา คือว่า มันเกิดขึ้นแล้วเราละมันแล้ว มันดับไปนั่นเรียกว่า ปัญญา ถ้าเกิดขึ้นแล้ว รู้แล้วว่ามันเกิด เช่น มันเกิดขึ้นที่รูปของเรา คือ กาย...มันเจ็บปวด มันเมื่อย แต่เราไม่ละ ถือว่าไม่เป็นไรไม่หนัก นั่น โมหะ รู้แล้วไม่ละ แต่ถ้ารู้แล้วละเป็นปัญญา ถ้าละแล้วดับได้สมาธิดี, จิตดี, จิตรู้จักละแล้ว รู้จักละนี่แหละเราเรียนรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เรียนรู้อะไร เรียนรู้อย่างนี้ ถ้าใครรู้แล้วละได้ อันนั้นแหละเรียกว่า รู้แจ้งโลก รู้จักโลก
โลกของเรา โลกของธรรมก็ที่มียาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ กำมา กำมาก็คือเอาตั้งแต่ข้อศอกขึ้นไปถึงปลายนิ้วมือกำเสีย นิ้วมือทั้งหมดนั่นกำไว้มาวัดตรงหน้าอกเราดูเถอะมันกำหนึ่งพอดีแหละ สุดหัวไหล่ถึงหัวไหล่ทุกๆ คน ศอกของเราเองวัดเราเองมันก็ได้เท่านั้นแหละ นี่แหละโลก การที่รู้แจ้งโลก ไม่ใช่โลกที่เรานั่งเรานอนเราเดินอยู่ที่มีต้นไม้มีภูเขา ไอ้นั่นก็โลก เรียกว่าอปุญญาภิสังขาร คือ สังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง โลกใหญ่ โลกที่หมุนอยู่ตลอดเวลา หรือ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดวงดาวที่เราเห็นโลกอย่างนั้นเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร แต่โลกตัวเรานี้ที่เรานั่งอยู่บนนี้เกือบ ๒๐ โลกเวลานี้นี่เรียกว่า สังขารโลก โน่นธาตุโลก อย่างนั้นเรียกว่า ธาตุโลก อย่างนี้เรียกว่า สังขารโลก สัตว์ก็เป็นสังขารโลก เทวดา มนุษย์และสัตว์เป็นสังขารโลกทั้งสิ้น เราเรียนรู้อย่างนี้
ทีนี้การที่เรารู้จักแจ้งโลก รู้จักกองสังขาร หรือกองขันธ์ ๕ นั่นแหละ รู้จักแล้วไม่ยึดถือมันได้ นั่นเรียกว่าพ้นสมมติ ที่เรายึดถือมันอยู่ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นของของเรา นั่นหมายความว่าติดสมมติ ที่เราปฏิบัติกันนี้ก็เพื่อจะให้เพิกถอนสมมติเสียให้ได้จากจิต ไม่ใช่คิดเอา ต้องอาศัยการละ มันจึงจะถอนสมมติได้
การที่คนเรามี ทิฏฐิ ความเห็นผิด แล้วก็มีอัตตาธิปไตย คือเป็นเราทั้งสิ้น อะไรๆ วัดนี้ของเรา ศาลานี้ของเรา ผ้านุ่งผ้าห่มของเรา อะไรๆ ของเราทั้งสิ้น เล็บของเรา ฟันของเรา ผมของเรา ของเราทั้งสิ้น แล้วมันก็ติดอยู่กับพวกนี้ เพิกถอนไม่ได้ ฉะนั้นเราติดสมมติอยู่นี้ ถ้าติดอยู่ตราบใด จิตที่อยู่ในสมมตินั่นแหละ จิตที่ยึดอยู่ในขันธ์ของเรามาว่าเป็นเรานั่นแหละ เรียกว่าอุปาทาน จิตยึดถืออุปาทาน มีอุปาทานยึดถืออยู่ การที่เราจะปฏิบัติจนถึงนิพพาน เราก็ต้องเพิกถอนอุปาทานนี้เสียให้ได้ เพิกถอนความยึดถือเสียให้ได้ ทำความเห็นให้ชัดเจน ความเห็นเมื่อทำดีแล้วมันมองเห็นชัดว่าไม่ใช่เราจริงๆ เพราะนี่ไม่ใช่เราจริงๆ คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ก็สอนไว้ง่ายๆ ฟังง่ายๆ ว่า "รูปนี้เป็นเราไหม?" ถ้ารูปนี้เป็นเราเราก็ห้ามมันได้ซิ ถ้าเราเป็นเจ้าของรูปว่า "มึงอย่าแก่มึงอย่าเจ็บมึงอย่าตาย" ห้ามไม่ได้ทั้งสิ้น ก็ห้ามมันไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเราก็ต้องห้ามได้ ถ้าเป็นของๆ เราก็ต้องห้ามได้ มันไม่ใช่ของเรา เราหลงไปติดอยู่ต่างหาก ไปยึดถืออยู่ต่างหาก"
ในการที่เจริญวิปัสสนาก็เพื่อจะละ ละความยึดถือ ละอุปาทาน การที่จะขจัดให้ละอุปาทานนี้ได้ มันต้องละที่ตัวตัณหา ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกข์ สมุทัย เหตุที่ทุกเกิด คือ ตัณหา เราละตัวตัณหานี้ เราตัดตัวตัณหานี้ เป็นตัวตัดวัฏฏะ ความเวียนว่ายตายเกิด ที่เรียกว่า วัฏฏสงสาร ไม่มีจบไม่มีสิ้น หมุนเหมือนล้อรถ หมุนวนอยู่อย่างนั้นตลอดไป เกิดตายๆ อยู่อย่างนั้นตลอดไปเรียกว่า วัฏฏะ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามใจ ในการที่เราจะเพิกถอนนี้ได้ ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณ มองเห็นความเป็นจริง ละทิ้งสิ่งสมมติ การ ละทิ้งสิ่งสมมติจะคิดเอาไม่ได้ ต้องฝึกหัดละจากสิ่งที่มันเกิด เวลาโกรธเราละโกรธดับ นั่นเรียกว่า เราไม่ติดแหละ ถ้าละแล้วดับได้ ถ้าไม่ละก็หลงโมหะ เพราะรู้แล้วไม่ละเป็นโมหะ จิตก็ไม่รู้เรื่อง การที่เราละก็เท่ากับว่ามีสติเตือนจิต มันรู้ว่าอย่าเอา...ไม่เอา เมื่อเตือนมันอยู่เสมอทุกวินาที ทุกนาทีแล้ว จิตของเราก็คุ้นเคยกับการละ เมื่อละได้แล้วมันรู้สึกมีความสุข มีความสงบ เมื่อมีความสงบมันก็รู้จักความสุข ทีนี้ทุกๆ คนที่ต้องการความสงบ ความสุข เมื่อรู้แล้วละตัณหาทั้งหลายดับไป เมื่อดับไปจิตจะผ่องแผ้ว
อัน นี้เมื่อปฏิบัติอยู่แล้วก็ที่มันเดือดมันดาล มันร้อน มันกลุ้ม มันอึดอัด มันขัดใจอะไรเหล่านี้ต่างๆ นี่คือ พวกกองกิเลสทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือราคะ ความใคร่ความพอใจ หรือความไม่พอใจ ความอิจฉาตาร้อน ความถือตัวถือตนถือดี ความหัวดื้อหัวรั้น ความลบหลู่ดูหมิ่น ความโอ้อวด ความารยาสาไถย มันก็ขึ้นมาหมด นั่นพวกกงกิเลส เรียกว่า อุปกิเลส อุปกิเลสก็กิเลสต่างๆ ที่เล็กๆ ที่ใหญ่ก็ โกรธ พยาบาท โลภอยากได้ของเขานั่นกิเลสใหญ่ การที่เราฝึกให้มันละ ก็คือ ฝึกให้จิตมีปัญญา เมื่อจิตละไปๆ ก็ค้นพบความสุขความสงบ มันก็มีปัญญาขึ้น มันรู้จักตัวมันเองขึ้น อ้อ...ที่เรายึดถือมาแต่ก่อนนั้นเราหลงเราโง่ มันเป็นอย่างนั้นแหละ ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น เมื่อเราทำไปทุกๆ คน ถ้าใครทำได้ถึงขั้นของมันแล้วจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเช่นนั้นจริงๆ ไม่ต้องไปสอน มันเบื่อไปเสียหมด ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันเบื่อทั้งหมด มันเริ่มเบื่อไม่อยากจะพบ ไม่อยากจะได้ แล้วก็ถึงเขาจะเอาของอะไรมาให้จะของมีค่าสักเท่าไร เมื่อเราจะได้แล้วมันไม่มีความยินดีอะไร ไม่มีเลย จนกระทั่งว่าไอ้กลิ่นนี้ความจริงมันแรง มันหอม มันเหม็นนี้ เมื่อละได้แล้ว ไม่มี มันดับ ไม่น่าเชื่อแต่ว่าเป็นความจริง อาจารย์ก็ไม่เชื่อเหมือนกันแหละเมื่อก่อน มันเชื่อนิดหน่อย แต่ไม่เชื่อเลยไม่มี เพราะว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อทำขึ้นๆ มัน อ้อ...ขนาดเอามาพิสูจน์ ของที่หอม สบู่ถูตัวอย่างดีก้อนหลายๆ บาท ที่มีผู้นำมาถวาย เอามาดม เอามสูดดมที่จมูม แล้วเอาถูกับน้ำ เอามาถูที่หน้าแล้วสูดดูมันก็ไม่มีกลิ่น ไม่มี มันเฉยๆ นี่มันถึงว่า อ้อ...มันได้จริง ละได้จริง ถ้ามันถึงขั้นมันจะพบ ถ้าไม่ละ ถ้าเห็นว่านี่มันสบู่หอม ชอบอยากจะได้ เอาถึงกับสูดได้กลิ่นๆ ก็พอใจ ทำไปเถอะ ตายกอีกกี่ชาติมันก็จะหอมอยู่นั่นแหละ เกิดใหม่มันก็หอมอีก
ก็ เหมือนกัน เราชอบสิ่งใด...อย่ารับสิ่งนั้น เหมือนที่ว่า กินข้าวกับอะไรที่อร่อยก็ละมันเสียก่อน คือ มันเห็นแล้วมันรู้ว่าไอ้นี่อร่อยทั้งๆ ที่ลิ้นยังไม่ได้ลิ้มรสสักที แต่มันรู้ว่าไอ้นี่อร่อย อันนี้ก็พอใส่เข้าปากมันก็อร่อยจริง และพออร่อยจริงเราไม่ละ แล้วนั่งโจ้เอาไอ้ที่อร่อยจนหมดชาม หมดถ้วยอย่างนี้ มันก็เป็นทาสของตัณหากิเลสทั้งสิ้น วิธีแก้ ก็คือว่า "ละ" ถ้าละมันไม่ดับก็หยิบของอื่นเสียที่ไม่ดีนั้น จะมีปลา มีไก่ต้ม มีปลาเค็ม มีน้ำพริก มีผักจิ้ม มีแกงคั่ว อันนี้เมื่อมันชอบไก่ต้มยำ เราเห็นตามันเห็นมันเคยกินนี่มันก็อยากจะกินอันนี้ ละเสียก่อน โดยมากนักไม่มีสติ ไม่ทันละอะไรกันล่ะ มันเข้าปากแล้วของอร่อย นี่ขาดสติ เราต้องมีสติ ต้องละ ละไม่ดับก็ไปหยิบชิ้นอื่นเสีย เอาปลาเค็ม หรือน้ำพริกให้มัน ถ้ามันไม่ชอบแล้วสิ่งน้นเอาให้หนัก แล้วไอ้กิเลสมันร้อนตัวทันที ถ้าเราไม่เอาสิ่งที่มันอยาก ในทรวงอกของเรามันวุ่นวายเหมือนกับถูกทุบ เต้นตุบๆ ทีเดียวแหละ เคยพบเคยทดสอบมันมาแล้ว อ้อ....มันกลัวเหมือนกันที่เอาจริงกับมัน มันอยาก เราไม่ให้มันกิน ถ้ามึงอร่อยกูก็ไม่ให้มึงกิน
มีพระบางองค์ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็เรียกว่าอาหารทั้งหมด จะเป็นอะไรก็ตามที่เป็นอาหาร ภาษาธรรมะเรียกว่า กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าว บางองค์ท่าน...ไอ้แก่นั้นก็อร่อย แกงนี้ก็อร่อย ท่านเอาน้ำเย็นใส่เข้าไปในบาตรให้มันกินข้าวกับน้ำเย็น น้ำจืด แต่แล้วก็ยังชอบอีก ครั้งนี้บางองค์ทำโสโครก อาจารย์ไม่ทำล่ะ อย่างนั้นนี่เล่าให้ฟัง เช่นเคี้ยวๆๆ แล้วก็ตามองมาในบาตรนั่นแหละ แล้วให้มันกินคำที่คายลงในบาตรนั่นแหละ ท่านทำถึงอย่างนั้นพระบางองค์ นี่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้ เราอย่าทำตาม นี่ถึงอย่างนี้ อาจารย์เพียงเอาน้ำใส่ก็ยังไม่เคย แต่ว่าวิธีแก้มัน มึงชอบกินอะไรกูไม่ให้มึงกินสิ่งนั้นถ้าละมึงไม่ดับ
แล้ว วิธีตักอาหารนั้นมีอยู่...อย่างตักแกง แกงมันมีอยู่ ๓ ถ้วย สมมติตักแกงถ้วยแรกใกล้ตัวเราคำหนึ่งพอแล้ว แล้วก็ไล่ต่อไปคำที่ ๒ ถ้วยที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ถ้วยที่ ๓ ครั้งที่ ๔ มาถ้วยที่ ๑ ทำมันอยู่อย่างนั้นแหละ มันอยู่เหมือนกัน มันเอาไอ้ถ้วยที่ ๑ ที่อร่อยก็ไม่ให้มันเป็นคำสองต้องทำอย่างนี้ ฉะนั้นการที่ว่า พระที่ว่าให้ฉันในบาตรตักอาหารใส่ลงแล้วก็ฉัน พระบางองค์ท่านคลุกกันเลย เหมือนกับภาคอีสานไปบิณฑบาตมาได้แกง ได้ขนม ได้อะไรเขาใส่ในกะละมังเดียวกันหมด จะเป็นแกงจืด แกงส้ม แกงคั่วอะไรก็ตาม ใส่ลงไปในกะละมังเดียวกันหมด แล้วก็ตักใส่บาตรไปเลย ตักใส่บนข้าว ที่สวนโมกข์ดูก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน กินอย่างหมู่อันนี้อาจารย์ว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนไว้ให้ทำอย่างนั้น ที่ครูอาจารย์ท่านทำตอนแรก อาจารย์ก็บ่นถึงว่าเอาเหมือนกันแหละทำอย่างนั้น เกือบอาเจียน สองคำนี่เกือบกลืนไม่ลง แต่ที่นี้ มานึกได้ว่ากลืนพ้นลำคอลงไปแล้วอยู่แห่งเดียวกันทั้งนั้น แล้วก็กลืนได้ พอฉันได้ ๔-๕ วัน นั่งติดกับท่านอาจารย์ ท่านฉันอาหารอย่างไร? ท่านตักไว้เป็นกองๆ กองข้าง แกงอย่างก็กองไว้ติดๆ กัน จึงได้เอาอย่างท่าน แรกคลุกทีเดียวใส่บาตรตามชาวบ้านที่พูดกันว่า พระที่ถือธุดงค์ พระที่ปฏิบัติ พระกรรมฐานนี่ฉันคลุกกันหมดทั้งข้าวทั้งแกง เรียกว่า ขยำกันเลย มันก็ฉันได้ ใครทำได้ก็ฉันได้ มันลงไปในท้องมันไปแยกกันตรงไหน? เปล่า รวมกันทั้งนั้น มันอร่อยที่ลิ้นต่างหาก ไม่ใช่อร่อยที่อื่น พ้นลิ้นแล้วไม่มีอะไรอร่อย มันตั้งหลายอย่างหลายแบบ
การต่อสู้กับกิเลส เราต้องรู้ตัวเราเอง เราต้องไม่เสียดาย ถ้า เราทำอะไรเช่น เสียดายมันดีอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปคิด เรามาบวช มาปฏิบัติเพื่ออะไร? เพื่อละกิเลส ฉะนั้นสิ่งใดที่มันเป็นกิเลสก็ต้องละสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นชนวนให้เกิดกิเลสต้องละสิ่งนั้นไป เสียดายไม่ได้ ถ้ามัวอาลัยอยู่เรามองไม่เห็นหรอก เงาพระนิพพานก็มองไม่เห็น ฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมนี้ จงมีความฉลาดตรงนี้ ให้รู้เท่าทันกองสังขาร การรู้แจ้งโลก คือ รู้แจ้งสังขารโลกนั่นเอง
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘



ที่มา

http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm/kar-ptibati-thrrm

ปกิณกะธรรม

ปกิณกะธรรม

วันนี้อ่านพบในหนังสือเรื่องโลกทิพย์ในปัญหาธรรม คือ มีนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่งเขาถามปัญหาธรรมไปถึงบรรณาธิการหนังสือ เขาบอกว่าเขาภาวนา "พุทโธ ๆ" เวลานั่งแล้วก็ตัวมันเกร็ง ตัวแข็ง เขาถามว่า "ลักษณะอย่างนี้มันเป็นอะไร? รู้สึกว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน" ทีนี้ก็บรรณาธิการเขาตอบว่า "ให้ปฏิบัติไปเถอะ" คือ คนนั้นกลัวว่าจะเป็นบ้าไม่กล้าปฏิบัติจึงเขียนปัญหาไปถาม เขาบอก "ให้ปฏิบัติไปเถอะอย่าท้อถอย นิวรณ์ย่อมมีเป็นธรรมดา ปฏิบัติไปๆ นิวรณ์นั้นมันก็จะดับแล้วข้ามไปได้" ที่ตอบอย่างนั้นนั่นแสดงว่าไม่รู้จักลัษณะของฌาน
การที่ตัวเกร็จคนนั้นไม่ได้บอกว่า "มือชาเท้าชา" คือ อาจจะไม่ได้สังเกต ผู้ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องฌาน แล้วศึกษาแต่เรื่องสมาธิๆ นั้นไม่รู้หรอก นี่แหละเป็นเรื่องที่ว่ามันยาก เพราะอย่างนี้ เท่าที่เห็นปัญหาธรรมแล้วก็ที่ตอบโยนไปให้นิวรณ์นั้น นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี แล้วอคติอีก ๔ อย่าง คือ รัก โกรธ เกลียด กลัว นี่เรียกว่า อคติ แล้วคนที่ถามปัญหานั้นนั่น ก็มีอคติด้วย คือ กลัว แล้วก็ไอ้ตัวโมหะคือ ไม่รู้นั่นมันก็ทำให้กลัว บางคนก็สงเคราะห์ลงไปในนิวรณ์ก็ได้ แต่เขาก็ไม่ชี้ลงไปว่าเป็นนิวรณ์ตัวไหน? นิวรณ์ตัวที่ ๕ นั้น คือ มันสงสัยจึงถาม ก็เพราะไม่เข้าใจในหลักปริยัติธรรมที่ถูกต้อง แล้วก็เพราะตนเองไม่เคยพบธรรมชนิดนั้นจึงตอบเขาไม่ได้ แต่เขาก็เป็นบรรณาธิการ และเขาก็เป็นผู้ปฏิบัติเหมือนกัน
ฉะนั้น พวกวิปัสสนากับพวกสมถวิปัสสนาจึงมีความแตกต่างกันในเรื่องหลักสมาธินี้มาก สมาธินั้น หลักของสมาธิมี ๓ อย่าง คำว่า สมาธิ คือ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วเขาก็ไปเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่ทำฌานนั้น คือ ฝ่ายที่ทำวิปัสสนาเฉยๆ นั้น ก่อนนั่งไม่ต้องอาศัยฌานหรอก เขาอ้างว่าถ้าไปทำฌานเสียแล้วไปพระนิพพานไม่ได้ นั่นเรื่องหนึ่ง แล้วก็ทำสมาธิเพียงขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิก็ไปพระนิพพานได้ สมาธิมี ๓ อย่าง ขั้นหนึ่งขั้นต้นเรียกว่า ขณิกสมาธิ ขั้นสองเรียก อุปจารสมาธิ ขั้นสูงหรือขั้นที่สาม เรียกว่า อัปปนาสมาธิ มี ๓ ขั้น
ทีนี้ฌานนั้น ความจริงฌานในพระอภิธรรมนั้นท่านเรียก ฌาน ๕ แต่บางแห่งก็เรียก ฌาน ๔ ในพระสูตรกล่าวถึง ฌาน ๔ ในพระอภิธรรมท่านพูดถึงหมวดธรรมแล้วก็เช่นว่า ธรรมพระนิพพานนี้เป็นจิต ๔๐ ดวง ที่เรียกว่า โลกุตตรจิต โลกุตตรจิต คือ จิตที่อยู่เหนือโลก มี ๔๐ ดวง ใน ๔๐ ดวงนั้น อะไรมันเป็น ๔๐ ได้นั้น คือว่า ฌาน ๕ คูณด้วย มรรค ๘ เท่ากับ ๔๐ ทีนี้ถ้าเราเรียนอยู่อย่างนี้อาจจะเป็นบ้าได้แน่ เพราะจิตดวงหนึ่ง คือว่าเมื่อจิตไปสัมปยุต คือ จิตไปเกี่ยวกับอันไหนของฌาน เช่นจิตที่มีฌาน ๑ อยู่ คือ วิตก วิจาร แล้วก็ไปเกี่ยวกับมรรคองค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบนั่นดวงหนึ่ง แล้วก็เป็นจิตดวงหนึ่ง ทีนี้จิตดวงที่ ๒ สมาธิดวงที่ ๒ อุปจารสมาธิมันไปเกี่ยวโยงกับสัมมาวาจา มรรคองค์ที่ ๓ เช่นวันนี้พูด หรือด่าคนไปมันนึกได้ ทีนี้สมาธิกำลังมีอุปจารสมาธิตั้งได้มั่นมาก แต่ก็ยังมีอารมณ์นึกคิดบ้างก็นั่นเป็นจิตดวงหนึ่งแล้วนั่น นั่นเรียกว่าลักษณะจิตดวงหนึ่ง คือ แล้วแต่ว่าจะไปรวมกับอะไร
แต่ทีนี้บัญญัติของสมาธิ คือ ให้มีรูปฌาน ๔ อยู่ บัญญัติ อันนี้อยู่ในพระอภิธรรมเหมือนกัน แต่ว่าถ้ารูปฌาน ๔ (๔ คูณ ๘ มันก็ ๓๒ ดวงเท่านั้น) ถ้ารูปฌาน ๕ (๘ คูณ ๕ มันก็ ๔๐) เราอาจจะไม่เข้าใจว่าฌาน ๕ นั้นมาจากตรงไหน ก็คือ ฌาน ๑ นั่นเอง แยกแบ่งเป็น ๒ ฌาน คือ วิตกเป็นฌานที่ ๑ แล้ววิจารเป็นฌานที่ ๒ ปีตินั้นเป็นฌาน ๓ ฌานสุขเป็นฌาน ๔ (เดิมนั้นเป็นฌาน ๓) แล้วเอกัคคตาอุเบกขาเป็นฌาน ๕ แต่โดยส่วนใหญ่ก็เรียกว่า ฌาน ๔ รูปฌาน ๔
อย่างที่เรียกว่าภูมิ ๓ พอพูดว่าภูมิ ๓ เราก็ไม่รู้ว่าที่ไหนบ้าง? อะไรบ้าง? ภูมิ ๓ ก็คือว่า กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ กามภูมิ คือ ตั้งแต่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ (สัตว์เดรัจฉาน เรต อสุรกาย สัตว์นรก) แล้วมนุษย์โลกด้วย แล้วก็เทวดาทั้ง ๖ ชั้นด้วย นี่จัดอยู่ในพวกกามภูมิทั้งสิ้น ทั้งหมด ๑๑ หน่วย มีนรก ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ (รวมเป็น ๑๑) สวรรค์ ๖ ชั้นที่เรียกว่า ฉกามาพจร นั้นมี (พระอินทร์เป็นราชาดาวดึงส์ ท้าวจาตุมฯ ๔ องค์เป็นราชาของชั้นจาตุมหาราช ท้าวยามาเป็นราชาของสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิตชั้นดุสิต นิมมานรดีก็ท้าวนิมมานรดี ปรนิมมิตรสวัตตี ก็คือ ท้าวปรมินฯ เป็นจอมเทวดา หรือเป็นราชาของชั้นเทวดานี่ พวกนี้ท่านเรียกว่า กามภูมิ)
ทีนี้ในพวกที่เป็นการ ภูมินี่แหละ อย่างพวกเราที่ปฏิบัติธรรมกันอยู่นี่ ขณะที่นั่งอยู่นี้เราเป็นกามภูมิ (ยังไม่ได้เข้าฌาน) แต่พอเรานั่งหลับตาว่า "เกศา โลมา"... แล้วฌาน ๑ ฌาน ๒ เริ่มจับ หรือฌาน ๓ ฌาน ๔ ก็แล้วแต่ คือ ตั้งแต่ฌาน ๑ มีขึ้นแล้ว คราวนี้เป็นรูปภูมิแล้ว เป็นพรหมแล้ว ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ นี่เป็นรูปภูมิ ทีนี้พอผู้ที่สอนหลักสมาธิให้สูงขึ้นขั้นอรูปภูมิ ก็สอนอรูปฌานอีก ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๔ ชั้นนั่นเป็นภูมิของ อรูป คือ ภูมิของพวกพรหมที่ไม่มีรูป นี่เรียกว่า ภูมิ คือ ที่อยู่นั่นเอง
ทีนี้เราที่เป็น มนุษย์อยู่นี้ เมื่อทำอรูปฌานด้วยแล้ว ขณะที่จิตในอรูปฌานนั้นก็เป็นสัตว์ชั้นอรูปภูมิ แต่ทีนี้เมื่อจัดชั้นสูงเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง คือ โลกุตตรภูมิ (ภูมิ ๔) ภูมิ ๓ นั้นมีแค่นี้ คือ ยังเป็นโลกียะทั้งนั้น ภูมิ ๓ นี่ท่านเอาภูมิที่ ๔ มาด้วย เป็นภูมิสูงสุด เรียกว่า โลกุตตรภูมิ ผู้เป็นโลกุตตรภูมิ ก็คือ ผู้เป็นพระอรหันต์แล้วจึงเรียกว่า โลกุตตรภูมิ เพราะพระอรหันต์เสวยผลของจิตความเป็นอรหันต์ที่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ตลอดกาล (เมื่อยังครองขันธ์ ๕ อยู่ในวิบากของความเป็นมนุษย์นี้) แต่จิตนั้นเป็นพระอรหันต์ตลอดกาลสมบูรณ์ ก็เรียกว่าผู้อยู่ในโลกุตตรภูมิ ฉะนั้นคนๆ เดียวนั้น อยู่ได้ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ แล้วขณะที่เรานั่งปฏิบัติอยู่ เมื่อเราเข้าฌานเข้าสมาธิแล้ว จิตของเราก็เปลี่ยนภูมิไปตามลำดับ นี่ให้เราเข้าใจหลักปริยัติธรรม
พูดภาษาไทยๆ มันก็ไม่มีแปลได้มากกว่านี้ คำว่า ภูมิ นั้น ภาษาไทยก็มีอยู่ แต่ที่นี้ฌาน ก็ว่า ฌาน ๑, ๒, ๓, ๔ ก็เป็นภาษาไทยได้ อรูปฌานก็อรูปฌาน ๑, ๒, ๓, ๔ ก็ว่าได้เหมือนกัน แต่ว่าพูดตามหลักพระปริยัติธรรม คือ พระอภิธรรม พระปริยัติธรรม คือ ทั้งหมด ทั้งวินัย ทั้งศีล ทั้งสมาธิ และพระอภิธรรม เรียกว่าเป็นพระปริยัติธรรมทั้งสิ้น ทีนี้เราผู้ปฏิบัติ เมื่อรู้ปริยัติก็ต้องคู่กันไป ถ้าเราไม่รู้หลักปริยัติก็เมหือนที่เล่าตะกี้ว่า ที่มีผู้ถามไปว่า "นั่งภาวนาพุทโธฯ นั่งแล้วมือเกร็งตัวเกร็งไปหมด แล้วก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน?" แล้วไปตอบเขาว่า "นิวรณ์ ๕" แต่ตอบไม่เต็มปาก ตอบอ้อมๆ เพราะไม่รู้ แต่ว่าอาจารย์รู้ ตอบเขาได้ว่า นั่นถึงฌาน ๔ การที่ตัวเกร็ง กายเกร็ง นั่นมันเข้าฌาน ๔ ที่ลึกจนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน นี่จิตของผู้นั้นในตอนนั้น จิตกับกายแยกกันได้เด็ดขาด มันท่องเที่ยวไปไหนๆ ก็ได้ ฉะนั้นพวกเราผผู้ปฏิบัติจงจำเอาไว้ ถ้าเมื่อจิตมันถึงอันนั้นแล้ว เราก็จะได้รู้ไว้ คือ เราต้องรู้หลักปริยัติ เมื่อรู้หลักปริยัติว่า บัญญัติว่าอย่างไร เราก็ปฏิบัติตามปริยัติ ถ้าเราทำถูกต้องตาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วก็พบผล คือ ปฏิเวธ หรือ พระนิพพาน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
แต่ ทีนี้เราจะปฏิบัติให้ตรงได้ เราก็ต้องมาจากสมมติ จากบัญญัติ แล้วก็มาจริงปรมัตถ์ ถึงจริงปรมัตถ์จริงนี่ ความจริงหรือสัจจะมี ๓ อย่าง คือ จริงสมมติ จริงบัญญัติ จริงปรมันถ์
จริงสมมติ ก็ที่โลกเขาใช้กันอยู่ทั่วไป ตลอดไป เช่น ต้นไม้ ภูเขา วัดวาอาราม บ้านช่อง ชื่อต่างๆ มนุษย์ต่างๆ สัตว์ต่างๆ นั่นเป็นชื่อ เป็นจริงสมมติของโลก แล้วก็เพื่อให้มันมั่นคง โลกก็เอาบัญญัติเป็นชื่อเรียก เช่นชื่อต้นไม้ชนิดนี้ เรียกว่าอินทนิล แล้วใครจะมาเรียกต้นอินทนิลเป็นต้นไม้อื่นก็ไม่ได้ บ่งบัญญัติ บัญญัติไว้ในกฏหมายว่าลักษณะต้นเป็นอย่างนั้น เปลือกเป็นอย่างนั้น ใบเป็นอย่างนั้น ดอกเป็นอย่างนั้น มีผลเป็นอย่างนั้น นั่นจริงบัญญัติ หรือข้อบังคับของสังคมที่เรียกว่ากฏหมาย นั่นก็จริงบัญญัติ แล้วก็ข้อวินัยของพระ คือ ศีลหรือวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ หรือธรรมต่างๆ ที่จารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบัญญัติ เรียกชื่อธรรมต่างๆ นั่นก็เป็นสมมติ นั่นเรียกว่าจริงบัญญัติ ทีนี้เมื่อรู้จักจริงสมมติแล้วก็รู้จักจริงบัญญัติแล้ว มันก็สามารถที่จะเรียนถึงจริงปรมันถ์ได้
การที่จะปฏิบัติได้เป็นอุชุปฏิปนฺโน คือ ปฏิบัติได้ตรง ก็ต้องรู้จักบัญญัติ ถ้าไม่รู้จักบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้แล้ว การปฏิบัติธรรมนี้จะปฏิบัติอย่างไร? เริ่มจากไหนก่อน? ไม่ใช่อยู่ๆ ถึงก็ขึ้นวิปัสสนา แล้วศีลก็ไม่ต้องรักษา สมาธิก็ไม่ต้องทำ นั่งถึงหลับตาถึงก็ "พุท" หายใจเข้า "โธ" หายใจออก แล้วก็นั่งคิดว่า สังขารนี้ไม่เที่ยง สังขารนี้เป็นทุกข์ สังขารนี้ไม่ใช่ตัวตน แต่บางทีคิดไปคิดมาจิตท่องพุทโธๆ นั้นจิตมันตั้งเป็นสมาธิเข้ามันก็เป็นฌานนั่นแหละฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ก็เป็นได้ (แต่ฌาน ๔ นั้นไม่ค่อยจะถึงหรอก ตามพระอภิธรรมบอกไม่ถึงทีเดียว) แล้วทีนี้ตัวเองก็พอจะเป็นฌานได้ แต่ทีนี้เราไม่รู้บัญญัติของฌาน มันก็เป็นโมหะ มันก็ไม่เป็น อุชุปฏิปนฺโน
อุชุปฏิปนฺโน หมายความว่า ปฏิบัติตรง องค์ของสังฆคุณ "สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน" คำว่า "อุชุ" นั่นคือ ปฏิบัติตรง คือ ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน คือ บัญญัติไว้แล้ว จริงปรมัตถ์ นั่นได้พบแน่ ใจเราอย่าไปโต้เถียง เราต้องมีศรัทธามั่นในคำบัญญัติของพระพุทธเจ้า เราอย่ามาแปลธรรม แปลวินัย แปลเรื่องของพระพุทธเจ้าให้เป็นอย่างอื่น ถ้าใครขืนแปลให้ไปออกนอกลู่นอกทางเรียกว่า เป็นพระสัทธรรมปฏิรูป นั่นผิดมาก ลงลึกทีเดียว
ฉะนั้น เราผู้ปฏิบัติ เมื่อเรายังไม่พบ ยังไม่ถึงในธรรมที่พระพุทธองค์กล่าวนั่นก็เพราะความเพียรของเรายังไม่พอ อย่างหนึ่ง แล้วก็บุญวาสนาที่เราสร้างมาแต่ในอดีตชาติอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม นั้นมันตามมาอุ้มชูช่วยเหลือไม่ได้ เพราะอดีตเราสร้างไว้มันไม่เพียงพอ เราต้องรู้อย่างนี้แล้วก็ความกังวลใจ ความท้อถอยต่างๆ มันก็จะไม่เกิดมีขึ้นถ้าเรารู้เหตุรู้ผลของตัวเรา
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร

๓๑ กรกฏาคม ๒๕๒๙

ที่มา


http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm

การทำวิปัสสนา

การทำวิปัสสนา

ในการทำวิปัสสนา สิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ให้มากให้เข้าใจ คือ ในใจของเรานั่นแหละ อย่าไปหาของข้างนอกเป็นอันขาด ทุกๆ เวลา ตลอดเวลา จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้รู้ว่า ใจของเรามันเอาอะไรมาให้ รู้ที่ใจของเรา เพราะความสำเร็จทั้งหลายอยู่ที่ใจไม่ใช่ที่อืน คนที่จับอารมณ์ใจของตนไม่ได้ ก็ยังเป็นผู้ที่ยังมีโมหะอยู่ เมื่ออะไรเกิดขึ้นมาเราก็ละทันที ประหารมันเสีย เพียรตัวที่ ๑ เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อเราระวังแล้ว แต่มันยังเอาขึ้นมาได้ ก็ปหานปธาน คือ เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นที่จิต นี่แหละตัวสำคัญ
เท่าที่สังเกตุดู สมาธิดี แต่ทำอะไรแล้วก็หวังผลอยู่เรื่อย จิตก็เป็น ภวตัณหา อยู่เรื่อย หวังจะให้ถึงพระนิพพาน หวังให้ได้เป็นนั่นเป็นนี่ เราไม่ต้องไปหวัง เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "เราปลูกมะม่วงไว้ต้นหนึ่งตั้งแต่เล็กๆ ให้ปุ๋ย หมั่นบำรุงรดน้ำ ดูแลไม่ให้ศัตรูเบียดเบียน เมื่อมันโตเจริญงอกงาม มันก็ผลิดอกออกผล (แล้วก็ไม่ใช่ไปบังคับให้มันสุก) ถึงเวลามันก็แก่ มันก็สุก แล้วมันก็หล่น" ก็เช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติธรรมเพื่อพระนิพพาน
บางครั้ง มันเกิดความอ่อนเพลียละเหี่ยใจขึ้นมา อย่างนี้เราก็หาได้นึกไม่ว่าไอ้ที่มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมานั้น เพราะจิตของเรามันเบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติธรรม แต่ไปเข้าใจเอาว่าโรคภัยเข้ามาเบียดเบียน ไปโน่น ทีนี้เมื่อเข้าใจเช่นนั้น ไอ้จิตที่มันกลัวเจ็บกลัวไม่สบาย ความจริงมันกลัวตาย ไม่ใช่กลัวอื่น คนที่กลัวเจ็บมันก็กลัวตายนั่นแหละ เราไม่ได้เฉลียวใจว่า กิเลสนั่นมันปรุงแต่งได้ทุกอย่าง ให้ เจ็บ มีอาการเจ็บจริงๆ เจ็บเหมือนอย่างชนิดเอาทรายเข้าตา ตัวอาจารย์เองนี้ก็ยังมีอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะเมื่อแรก แต่เดี๋ยวนี้มันมีไม่มาก ปีหนึ่งมีสักครั้งสองครั้ง มันเจ็บเหมือนกับทรายเข้าตา แต่ก็เพราะรู้เท่ามัน แล้วอีกอย่างอาการไข้บางครั้งรู้สึกว่ามันจะเป็นไข้ให้ได้ ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ก็รู้เท่ามัน ก็ละเดี๋ยวเดียวมันก็ดับ เมื่อจับขึ้นมาจริงๆ หนาวสั่นสะท้านเลย ก็นอนละบังสุกุลมันก็ดับไป แต่ใช้เวลาตั้งถึงชั่วโมงนี่ ที่สังเกตอย่างนี้
ทีนี้ ที่เราปฏิบัติ คนที่คิดไปหาของภายนอก หรือคิดไปแก้ให้ผู้อื่นหมดกิเลส เช่นคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี คิดไปแก้เขา คิดรังเกียจเขา ไปว่าเขานั่นแหละ เรานั่นแหละ ตัวกิเลส เรามีโอกาสที่จะเตือน ไม่ใช่เตือนกันไม่ได้ เตือนได้ อย่างพระนี้ก็ได้ปวารณาไว้แล้วในวันออกพรรษา ทำได้อย่างดี ก็เช่นเดียวกัน ผู้ถูกเตือนก็อย่ามีทิฏฐิมานะ รู้ว่าดก็ต้องรับว่าผิด ไม่ใช่คอยหาโอกาสโต้เถียงเอาชนะ การเอาชนะนั่นมันเป็นตัวมานะ การที่โต้เถียงว่าไม่ผิด แต่ผู้อื่นเขามองเห็นว่าผิด แต่เมื่อไม่ผิดเราก็แก้ไขได้ว่าอย่างไร แต่ถ้าส่วนใหญ่เขามองว่าผิดก็ผู้ชี้ขาดก็มีอยู่ คือ ประธานหรือครูอาจารย์ของตนมีอยู่ก็ให้มาถาม ไม่ใช่คอยแสดงความรังเกียจกัน ความสมานสามัคคีกันไว้นั่นแหละเป็นสิ่งประเสริฐสุด หมู่สงฆ์ คณะสงฆ์ก็แปลว่าความสามัคคีนั่นแหละ มีความเสมอเหมือนกันด้วยศีลธรรม โดยเฉพาะ คือ ศีลมีความเสมอกันด้วยศีล ส่วนธรรมนั้นมันเทียบกันไม่ได้ ที่จะให้เท่ากัน แต่ว่าเป็นผู้อยู่ในธรรมด้วยกัน
เท่าที่สังเกตดูว่าทำไมมันถึงเนิ่นช้า ก็เพราะอันนี้แหละ เพราะไอ้จิตมันเป็น ภวตัณหา อย่างหนึ่ง นี่สำคัญ คือ มันน้อมนึกอยากจะ ได้พระนิพพานอยู่เรื่อย พอนั่งถึงบางทีก็นึกแล้วว่าจะให้ถึงพระนิพพาน หรือนึกว่าเมื่อไรจะสัมปยุต เมื่อไรจะรวมไปเลยนั่นแหละ เราต้องคิดว่า "เรานั้นไม่มีอะไรแล้ว ไม่เอาอะไรอีกแล้ว" จำไว้เถอะกิเลสจะเหือดแห้งถ้าหมดตัณหาจริง แล้วธรรมมันไม่อยู่หรอก มันขึ้นมาเอง เดินๆ อยู่ก็ขึ้นได้ นอนหลับอยู่ก็ขึ้นได้ทั้งนั้น ขึ้นได้เมื่อพร้อมด้วย ศีล ๓๓.๓๓ สมาธิ ๓๓.๓๓ ปัญญา ๓๓.๓๓ ทั้ง ๓ อย่างนี้มีกำลังเท่าเทียมกัน ไอ้ที่ ๓๓.๓๓ นั่นไม่มีในพระวินัยพระไตปิฏกหรอก อาจารย์คิดเอาเอง คิดเทียบส่วนเอาเอง เพราะรู้อย่างนั้น เมื่อมีพร้อมอย่างนี้แล้วก็ไม่มีอะไรบังคับได้ และไม่มีมารใดที่จะขัดขวางได้
ไอ้ความคำนึง ไอ้ความระแวง ความคำนึงนั่นคือ ความนึกถึงเรื่องราวต่างๆ คิดถึงเรื่องต่างๆ ในอดีต คิดถึงเรื่องต่างๆ ในอนาคต แล้วก็สิ่งที่จิตผูกพันมาก คือ วัตถุกาม คน ที่มีเหย้ามีเรือน มีสามี ภรรยา ลูก หลาน เหลน พ่อ แม่ พี่ น้อง ทรัพย์สินต่างๆ ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่มีวิญญาณครอง และทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง มันนึกเสียดาย นึกอยากจะเพิ่มพูนให้เกิดขึ้น อะไรเหล่านี้แหละ เป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรค มันเป็น ภวตัณหา
ทีนี้การกระทบกระเทือนเมื่อรับผัสสะจากภายนอกแล้ว ที่ใจเราไม่ชอบนั่นก็เป็นวิภวตัณหา โดยมากมันอยู่อย่างนี้ บางที รูป เสียง รสอาหาร บางคนก็ตัดได้แล้ว รู้จักสำนึก รู้จักงดเว้นได้ แต่อย่างอื่นล่ะ? รูป เสียง กล่น รส โผฏฐัพพะ เอา....กลิ่นตัดได้ รสตัดได้ รูปก็ตัดได้ โผฏฐัพพะก็ตัดได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามคุณ ๕ มันพอรู้จัก ละได้ แต่ว่าได้มลทินจิตที่มีอยู่ที่ผูกพันอยู่นั่นมันมี สิ่งที่ผัสสะปัจจุบันมันทำได้ มันละได้ แต่สิ่งที่ฝังอยู่ข้างในจิตนั้นยังทำไม่ได้ ที่อาจารย์เคยจับเมื่อแรกบวชว่า "ทำไม? นะ พอเย็นๆ บ่ายๆ มันคิดถึงบ้าน มันคิดถึงลูกถึงเมีย" มันคิดถึงการถึงงาน พอเผลอๆ แวบเดียว "อ้าว....นึกถึงอีกแล้ว" จนอธิษฐานว่า "อย่าให้ออกไปนอกวัด" จิตนั่น มันก็พอได้ แต่จะให้สำเร็จแท้นั้นๆ ไม่สำเร็จหรอก แต่อธิษฐานแล้วมันก็ดีอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อเราอธิษฐานแล้ว เราต้องถือสัจจะ ทำที่จิตให้ได้ แล้วมันก็ทำได้ในตอนหลัง
ฉะนั้นอะไรบางอย่างที่เราเอาออกไม่ได้ โทสะละไม่ได้ ราคะละไม่ ได้ ในเรื่องที่จำเจ ที่เคยคุ้นเคยมา เป็นสัญญาแล้วนั่นก็อธิษฐานสิ ใช้อธิษฐานบารมี คือ บารมี ๑๐ นั่น ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี บารมี ๑๐ นี่แหละเราใช้อธิษฐานบารมีนี่ใช้ได้ พระพุทธเจ้าก็ใช้อธิษฐานบารมี ทีแรกเป็นทศบารมี แต่เมื่อแก่กล้าก็เป็นอุปบารมี นึกถึงบารมีทั้ง ๑๐ นี่เราควรจะเรียนให้จำได้ แล้วจะได้นำมาใช้ ความจริงอุปสรรคใดๆ เสนาสนะที่อยู่อาศัย อาหารบิณฑบาต ธรรมและความสงบไม่มีคนรบกวน สัปปายะทั้ง ๔ นี้เราก็มีครบทุกอย่าง ทีนี้อาจารย์ก็พยายามอยู่ที่จะชี้จะแนะให้ศิษย์เดินถึงพระนิพพาน ดูอยู่เสมอ แต่เวลานั้นไม่พบ ถ้าพบก็บอกให้ทันที นี่นานๆ ถึงจะพบสักครั้ง สักองค์หนึ่ง นี่แหละ คือ ว่าถ้าพบบ่อยๆ แล้วโอกาสมีมากแหละ ถ้าพบใครเพื่อให้เราแก้ไขช่วยเหลือแล้ว ถ้าพบแล้ว รู้ทันที พอพบเมื่อไรก็รู้ทันทีว่าติดอะไร?
ฉะนั้น ให้พยายามดูตัวเอง ดูใจตัวเอง รักษาให้ได้จิตของเรา แล้วก็ละให้ได้จิตของเรา มันเอาอะไร อย่าไป "อาลัย" เป็นอันขาด
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙

ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna

ปกิณกะธรรมปฏิบัติ

ปกิณกะธรรมปฏิบัติ

ฌาน เราพิจารณาตนเอง เราต้องดูตัวเราว่าผลของการปฏิบัตินั้นมันย่อมันหย่อน หรือมันเข้มงวดกวดขัน มันเป็นอุกฤษฏ์ หรือว่ามันพอดี เราต้องดูตัวเราดูการปฏิบัติของเราเอง การปฏิบัติที่ดีที่เหมาะที่สมก็คือ ปานกลาง ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป นั่นเป็นการปฏิบัติที่เหมาะสม ฉะนั้นไม่มีใครที่จะชี้ให้เราได้ว่าเหมาะสมแค่ไหน พระพุทธองค์ก็บอกแต่เพียงว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางที่ถูกต้อง คือ ปานกลาง (ไม่หย่อนและไม่ตึงเกินไป) ฉะนั้นเราหาเอาเอง
แต่ที่อาจารย์หาไว้ให้แล้ว คือ รวมเวลาปฏิบัติวันละ ๓ ชั่วโมง ทำให้ได้ทุกวัน แค่นี้แหละพอที่จะไปพระนิพพานได้ ให้นังกรรมฐานให้ได้วันละ ๓ ชั่วโมง (ทุกวัน) ทั้งทำสมาธิ ทำฌานให้เกิดขึ้น แล้วก็เจริญวิปัสสนาไปด้วยแล้ว กิเลสอยู่กับเราไม่ได้ ข้อสำคัญคือว่าให้มีสติรอบคอบอยู่ตลอดเวลา สติควบคุมจิตให้ดี อย่าให้ลุแก่อำนาจจิตใจ ออกไปนอกลู่นอกทาง ประคองจิตอยู่แต่ในแนวทางที่ดี ในทางที่เป็นบุญ เป็นกุศล อย่าให้จิตมันละลาบละล้วงไปในแนวทางที่เป็นอกุศล อย่าให้จิตมันไปยุ่งเข้า เมื่อจิตของเรารักษาได้สะอาดดีอยู่เป็นประจำทุกๆ วันแล้ว หนทางที่จะสลัดกิเลสออกจากจิตได้หมดสิ้นนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ยาก
ใครมีข้อสงสัยในธรรมอันใดถามได้ ถ้ามีอยู่แล้วไปนั่งเถอะ มันติดตรงนั้นแหละไม่ไปหรอก ไม่ได้หรอกมันขัดขวางเรา "วิจิกิจฉา"
ลูกศิษย์ ถาม. ไม่เคยนั่งเลยนะ เพิ่งจะมาหัดนั่ง
พระอาจารย์ตอบ.. นั่งจะต้องมีความอดทน คนที่ไม่เคยนั่งเลยนี่นะถ้าฝึกหัดนั่งแล้วนั่งได้เร็ว คนที่มากครูมากอาจารย์แล้วนั่งนั้น นั่งได้ช้า เพราะคิดอยู่ มัวสงสัยอยู่ คนที่มาถึงแล้วก็รับธรรมโดยยังไม่เคยปฏิบัติที่ไหนมาก่อนเลยนั้นได้เร็ว
ลูกศิษย์ ถาม. คือ ฌาน ๒ จะต้องรอให้เกิดเองเป็นเองหรือเปล่า? หรือต้องช่วยด้วยครับ
พระอาจารย์ตอบ.. ให้เกิดเองเป็นเอง ถ้าว่าเรานึกให้มันเป็นนั้นมันไม่ใช่ (เป็นภวตัณหา) คือ เมื่อจิตมันตั้งได้มั่นคงแล้ว จิตเป็นเอกัคคตาเป็นหนึ่งมั่นคงแล้วฌานมันเต็ม พอฌานมันเต็มแล้ว ฌาน ๒ มันก็เริ่มเกิด จากขนลุกขนพองก่อน เสียวสันหลังเสียวหน้าแข้ง ขนหัวพองขนหัวลุก เส้นผมบนหัวนั่น แล้วก็มันหนัก เมื่อฌาน ๒ มันเกิดมีกำลังมากมันก็กระตุกที่มือที่เท้า คือ มันยกมือขึ้นก่อน บางทีมันยกมือขึ้นมาก่อนแล้วทีนี้อย่ากดไว้มันจะสั่นมันจะตีก็อย่ากดมัน ปล่อยมัน ต้องให้ขึ้นเองเป็นเอง ถ้าว่าเราทำให้มันเป็นขึ้นมานั่นมันหลอกเรา (มันเป็นสัญญาทีหลัง) เมื่อจิตชำนาญแล้วพอจิตหยุดกึกแล้วมันก็ขึ้นโครมทันที แต่ว่าเมื่อแรกๆ นั้นมันยาก เพราะจิตเรายังวอกแวก จิตยังมีความนึกคิด เมื่อจิตว่ากรรมฐานไม่หลงได้แล้วนั่นก็ได้ไปได้ สำคัญคือยึดกรรมฐานให้อยู่ ทีนี้ขณะที่ว่ากรรมฐานอยู่นั้นจิตไปนึกอื่นเสียก็หยุดว่ากรรมฐาน พอนึกอื่นสังขารก็ปรุงแต่งทันทีเรื่องต่างๆ ประดังกันเข้า เรื่องนั้นเรื่องนี้ เอาสัญญาบ้าง เอาเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึงบ้าง เอาเรื่องอดีตคือ สัญญา มานึกมาคิด คือเรื่องอนาคตที่ยังไม่ถึงก็ไปคิด ตกลงไม่ต้องว่ากรรมฐาน เมื่อจิตมีความคิดมีความนึกอยู่ก็จิตเป็นวิตก เมื่อจิตเป็นวิตก จิตก็ตั้งเป็นเอกัคคตาไม่ได้ คือ ถ้าจิตยึดกรรมฐานได้ จิตก็เป็นเอกัคคตา ได้ "เกศา โลมา...." ว่าไม่หลงแล้วจิตก็เป็นหนึ่งได้ เมื่อเป็นหนึ่งได้แล้วขนลุกขนพองก็เกิดขึ้นนั่นเป็น ปีติ
ลูกศิษย์ ถาม. ถ้านั่งนานๆ แล้วจะเป็นโทษต่อร่างกายหรือไม่? ครับ
พระอาจารย์ ตอบ.. ไม่ตายหมดแล้วหรือ อาจารย์ตายก่อนผู้อื่นแล้ว นั่งมา ๑๔ ปีแล้ว วันละ ๘ชั่วโมงก็เคยนั่ง ทำไมยังเดินได้อยู่ดีแล้วก็สอนผู้อื่นอยู่ทุกวัน เรื่องนี้มันเป็นเรื่องเหลวไหลที่เข้าใจกันแล้ว เรื่องทำไมถึงมันสั่นนั่นก็ "ฌาน" ไงล่ะ มีชื่ออยู่ในบัญญัตินี่นา ในพระอภิธรรมก็มี ไม่ใช่ว่าเอาเอง พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว แต่เราไม่รู้จักเองต่างหาก
อิริยาบถมีอยู่ ๔ เรามีอยู่นี่ เดิน ยืน นั่ง นอน ใครจะไปนั่งทั้งวันมีหรือ มันเป็น อัตตกิลมถานุโยค คือ เบียดเบียนกาย นั่ง ๑-๒ ชั่วโมงแล้วก็เดิน ลุกขึ้นเดินจงกรมก็ได้ หรือเดินไปเดินมาก็ได้ เมื่อยก็นอนพัผ่อน ยืน เดิน นั่ง นอน เรานั่งอยู่แล้ว เมื่อฝึกไปชำนาญแล้วมันก็นั่งได้ทน ๓-๔ ชั่วโมง มันก็นั่งได้ มันไม่เจ็บไม่ปวดหรอก ถึงปวดขึ้นมาก็เมื่อมีฌานแล้วมันก็ดับไป ฌานมันต่อสู้ได้เมื่อจิตถึงฌาน ๔ แล้วเดี๋ยวมันปวด มันปวดจี๊ดแล้วมันก็ดับ แล้วตัวมันก็ลอยขึ้นไปบนอากาศ ทีนี้ไม่อยากออกแล้ว มีความสุขมาก มีความสบายมาก
ไม่ใช่มันมีคงที่อยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ว่าไม่เกิดอะไรขึ้นกับกายกับจิต มันมีความเปลี่ยนแปลงไปตามรูปของธรรม ของ ฌาน ๑ ก็อย่างหนึ่ง ของ ฌาน ๒ ก็อย่างหนึ่ง ฌาน ๓ ก็อย่างหนึ่ง ฌาน ๔ ก็อย่างหนึ่ง แล้วพอขึ้นวิปัสสนาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยทั้งจิตทั้งกายเปลี่ยนแปลงไป ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป ดีขึ้นเรื่อย และปัญญาก็เริ่มเกิดขึ้น ขั้นต้นก็มีปัญญารู้จักฌาน เมื่อรู้จักฌานก็เรียกว่า มีปัญญาแล้ว ปัญญาขั้นต้นรู้จักรักษาศีลไม่ให้ขาดตกบกพร่องก็เรียกว่ามีปัญญาแล้ว
คือธรรมทั้งหมด ที่นำมาสอนให้นั้นเป็นธรรมอยู่ในโอวาท อยู่ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ไม่ได้คิดขึ้นมาเองอย่างหลวงพ่อ หรือท่านอาจารย์บางท่านที่คิดธรรมของท่านง่ายๆ ไว้นั่น มี...ที่ไม่เอาในพระอภิธรรมนั่นมีเหมือนกัน หรือเอาสักนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็มาคิดขึ้นเอง อย่างเช่นทำอานาปานสตินี้เป็นต้น ในพระอภิธรรมบอกว่า "ให้นับลมหายใจเข้าหายใจออก จนจิตตั้งมั่นนับไม่หลง" แต่นี่ให้นั่งดูลมาหายใจเข้าหายใจออก หรือนั่งดูลมหายใจเข้าลึกเหนือสะดือ ๒ นิ้ว นั่นมาสอนกันเอง แล้วลมหายใจอะไรเล่าผ่านลำไส้มาจากไหนกันนั้น ลมหายใจมันลงไปแค่ปอดเท่านั้นเอง แล้วทำไมลงไปอยู่เหนือสะดือ ๒ นิ้วได้นั่น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น แต่หลวงพ่อท่านสอนอย่างนั้นก็ทำกันอยู่นั่นแหละ แล้วก็ว่าทำอานาปานสติดูลม
ทีนี้บางคนก็จะ ดูให้จนลมดับไม่ให้มี นี่ก็มีเป็นศิษย์ที่นี่เหมือนกัน ที่สุโขทัยสอนอยู่คืนหนึ่งนั่นยังไม่ยอมเข้าใจ ก็ถามเขาว่า "ถ้าลมดับแล้วเราเป็นพระอรหันต์หรือ?" ก็ตอบไม่ได้ "เราหมดกิเลสหรือ?" ก็ตอบไม่ได้ ก็ถามว่า "คุณต้องการดับเรื่องอะไร?" "ธรรมชาติมันต้องหายใจอยู่นี่มนุษย์" "ผมต้องการให้ลมหายใจมันดับ" ก็เลยบอกเขาว่า "อานาปานสติไม่ใช่ว่าต้องการให้ลมมันดับนี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ลมมันดับ" แต่ว่าถ้าจิตละเอียดถึงที่สุดนั่นมันเหมือนไม่มีลมหายใจ เรามีความรู้สึกอย่างนั้นนั่นจิตละเอียดมาก ถ้าเอาสำลีมารอที่จมูกจึงจะรู้ คนนั่งอยู่ใกล้ๆ นั่งมองนั่นไม่รู้หรอก คือ การหายใจเข้าหายใจออกปกติ ร่างกายมันมีการกระเพื่อม (แต่นี่ไม่มีหรอก นั่นจิละเอียดเมื่ออานาปานสติถูกต้อง) แต่จะให้ลมดับนั้นมันไม่ได้ ลมดับก็ตาย ทีนี้ก็เห็นว่าไม่ยอมเข้าใจโดยง่ายก็เลยต้องวางไม้เด็ดตอนเช้าใกล้รุ่ง แล้วจะพูดคำเดียวเท่านั้นไม่พูดอีก เพราะทิฏฐิมานะมาก เลยบอกว่า "นี่ถ้าคุณต้องการจะให้ลมดับ ไม่ยากหรอก วานใครก็ได้สักคนขุดหลุมลึกลงไปแค่หน้าอก กว้างสัก ๒ ศอก ยาวสักวา ลึกสัก ๓ ศอก พอขุดหลุมเสร็จเราก็ลงไปนอนในก้นหลุมแล้วสั่งให้เขากลบดินแล้วเหยียบให้แน่น ดับแน่ลม" แล้วก็ไม่พูดอีก ๙ เดือน กลับมาหาอาตมา มาหาที่นี่แล้วมาเป็นศิษย์ ๙ เดือน เจอคำๆ เดียวเท่านั้นมาถึงกราบ ๓ ทีแล้วบอกว่า "หลวงพ่อจำผมได้ไหม" "อ้อ...นึกได้แล้ว พบที่สุโขทัยใช่ไหม? ที่บ้านหลานชาย" บอก "ใช่" ถามว่า "คุณมาธุระอะไร" "ผมมาหาหลวงพ่อมาขอธรรม ผมรู้แล้วผมทราบแล้วว่าผมนี้โง่มาก บวชมา ๔ ปี ไม่ได้อะไรเลย" เลยก็บอกว่า "อ้อ....นี่คุณรู้แล้วรึว่าคุณโง่" บอก "รู้แล้วครับ" บอกว่า "นี่แหละปัญญา คุณมีปัญญาแล้ว เวลานี้ปฏิบัติได้" "ใครที่รู้สำนึกว่าตัวนี่โง่ นั่นแหละปัญญา ถ้ารู้ว่าตัวนี้มีปัญญามากนั่นแหละโง่ที่สุด" เรื่องปฏิบัติธรรมนี่มันอัศจรรย์ ไอ้นั่นก็รู้ ไอ้นี่ก็รู้ พูดได้ว่ามีปัญญามากนั่นแหละตัวโง่ ถ้า "เอ้...มันไม่รู้นี่ ทำอย่างไร? มันก็ไม่ยอมรู้ไม่เข้าใจ เพราะธรรมที่จิตของเรายังไม่กระจ่างแจ้ง" ที่เรียกว่ารู้ๆ มันต้องรู้ที่จิต (ไม่ใช่หูฟังแล้วจิตไปจำเอาไว้แล้วก็เรียกว่ามีปัญญานั่นไม่ใช่) จิตที่เราจำได้นั้นเรียกว่า สัญญา ไม่ใช่ปัญญา จำได้หมายรู้ จำได้เรื่องอะไรนั่นมันเป็นสัญญา ส่วนปัญญานั้นมันรู้แจ้งมันรู้ตลอด มันแทงทะลุ มันตีแตก เรียกว่ารู้ แล้วก็มีเหตุผลที่รู้นั้น
นี่คือว่า ผู้ปฏิบัตินั้นคือ อ่านก็อ่านลวกๆ ไม่ตรึกตรอง อ่านธรรมะนี่บางครั้ง ๓ เที่ยวแล้วยังไม่รู้เรื่อง เพราะการแปลไม่ได้แปลเป็นสำนวนไทยแท้ๆ แปลไปตามภาษาบาลี แปลไปตามตัว แปลตามไวยากรณ์ของบาลีไป ทีนี้การอ่านธรรมะถ้าผู้ปฏิบัติรู้จักธรรม รู้ธรรมแล้วก็อ่านเข้าใจง่ายไม่ลำบากตีแตก ข้อสำคัญที่สุดให้มีศรัทธาในการปฏิบัติ คือ มีความเชื่อในคำสั่งสอนปฏิบัติตามคำสั่งสอน เมื่อเราทำตามได้แล้ว ผลมันเกิดขึ้นบอกเราเอง
ถ้า มัวแต่คิดว่า "เราจะคิดทำอย่างนั้นคิดทำอย่างนี้" ซึ่งเราไม่ได้เป็นพระศาสดาหรือพระอรหันต์ที่จะรู้ธรรมแล้วเอามาทำเองได้ พระพุทธเจ้าวางไว้ดีแล้วทุกอย่าง เราเพียงทำตามที่พระองค์สอน พระองค์แนะที่วางไว้นั่นเราก็ยังทำให้ครบให้ถ้วนไม่ได้ ฉะนั้นการฝึกปฏิบัติธรรมเมื่อฝึกกับผู้ที่รู้จักธรรม หรือผู้ที่มีความรู้ในธรรมแล้วจึงเป็นการไม่ยาก เราทำตามเท่านั้น
ดัง เช่นเรื่องกายสั่น มือสั่น ตัวสั่นอย่างนี้บางคนไม่เอา บางคนถึงกับพูดว่า "นั่นมันเจ้าเข้าทรง" เอาเถอะไปใหญ่นั่น คนที่เจ้าเข้าทรงนั่นมันรู้เมื่อไหร่ล่ะ? ตัวเองไม่รู้ ออกแล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร? เพราะจิตของตัวออกไปจากร่าง แล้ววิญญาณของผู้อื่นเข้ามาอยู่ในตัวเรา ใช้ร่างกายของเรา มาใช้อวัยวะของเรา จะพูดหรือกิริยาท่าทาง แต่จิตนั้นไม่ใช่ของเรา เป็นของผู้อื่น เป็นของยักษ์ของมาร ของภูตผีปีศาจ หรือ ของเทพบางพวก แต่เทพเขาไม่ค่อยมายุ่งหรอก ที่ว่า "เทพๆ เจ้าๆ นั่นไม่จริงแท้หรอก" มีบางครั้งเท่านั้นที่จะมี เคยพบแล้วเทพที่เข้าสิงสู่คนนั้นลักษณะเป็นอย่างไร? ผิดมาก ต่างจากไอ้พวกเจ้าเหล่านั้น ราศีของเจ้าก็ไม่มีสักนิดหนึ่ง ราศีของคนทรงก็ไม่มีเลยหน้าดำหน้ามุ่ย แต่ถ้าเทพลงมาสิงสู่ผู้ใดจริงแล้ว มองเห็นรัศมีผิวพรรณหน้าตาเลือดฝาดดีทั้งนั้น การพูดการจาของเทพพูดมีจังหวะ พูดอ่อนโยน รู้จักพระจักเจ้า แล้วพูดนิ่มไม่พูดกระด้างเลย พูดไพเราะแล้วไม่พูดมาก แต่นี่เจ้าอะไรมันถึงจะกินไก่กินเหล้า ถ้าไม่ทำตามจะหักคอเสียบ้าง เจ้าอะไร? นี่แหละมันหลายอย่าง
ฉะนั้น โดยมากทิฏฐิมานะของเรามีทุกคน ที่ว่าไม่มีนั้น มีมานะคือ การถือตัวถือตน ถือรู้ ถือชาติ ถือการเกิด ถือตระกูลดี ถือฐานะอะไรเหล่านี้ ทีนี้การปฏิบัติธรรม ถ้ามีทิฏฐิมานะตัวนี้อยู่ด้วยแล้ว การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันก็เป็นไปได้ยาก ฉะนั้นเราต้องทิ้งหมด เราต้องมีความคิดความเห็นของเราให้ตรงว่า เราเป็นสัตว์โลกตัวหนึ่งเท่านั้น จะเป็นวัว เป็นควาย เป็นช้าง เป็นม้าอะไรก็เป็นสัตว์โลก เราเมนุษย์นี้ก็เป็นสัตว์โลก แม้แต่เทวดาก็ยังเป็นสัตว์โลก ผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกามคุณทั้งสิ้น เรียกว่า สัตว์โลกทั้งนั้น ฉะนั้นเราก็เป็นสัตว์โลกอย่างหนึ่งเท่านั้น การที่จะมีทิฏฐิมานะ ถือชาติ ถือตระกูล ถือศักดิ์ ถือรู้ ถือความรู้ ถืออะไรก็ตามมันถือเอาอะไร? เหมือนกันทั้งสิ้น ขันธ์ทั้ง ๕ มันก็เหมือนกัน มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายกัน รูปเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน และเสียงไม่เหมือนกัน จิตใจดั้งเดิมก็มีปัญญาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ใครสะสมกิเลสไว้มากกว่ากันก็โง่และฉลาดผิดกว่ากัน แล้วแต่การสะสมกิเลสของตนไว้ มันเป็นอย่างนี้
พระอาจารย์ ถาม.. "แล้วฌานได้หรือยัง? ฌาน ๒?"
ลูกศิษย์ ตอบ. "ยังไม่ได้ค่ะ"
พระ อาจารย์ ถาม.. ไม่ใช่ไปนั่งเอาเองได้เหมือนเราเรียนหนังสือ (เราต้องนึกดู) ตำราแบบเรียนเร็วเขามีนี่ เรียนลัดแล้วเราเรียนให้รู้ซิ ถ้าไม่มีครูสอนก็ไม่รู้หรอก ต้องมีครูสอนครูแนะ ต้องคอยเตือนสติ ธรรมะนี่ก็เช่นเดียวกัน ที่เราจะรู้ได้ก็ต้องมีครูอาจารย์คอยชี้แนะ คอยเตือนอยู่ก่อน แล้วถ้าว่าเราจะนั่งเอาเองแล้ว ถ้ามันเกิดขึ้นเราจะรู้ได้อย่างไร? ว่านั่นคืออะไร...ก็ไม่รู้
เช่น มีคนที่ทำงานอยู่นี่เคยบวช เมื่อบวชแล้วก็มีจิตมีศรัทธา จำได้ว่าอุปัชฌาย์บอก "เกศา โลมา..." ให้บวชแล้วเขาก็นั่เลย นั่งท่อง "เกศา โลมา..." นั่งท่องจิตมันก็ตั้งได้ เข้าหายวืดเที่ยวเหาะเหินเดินอากาศไปที่นั่นที่นี่ แล้วรู้ว่าที่นั่นจะสร้างวัด ที่นั่นเป็นอย่างนั้นๆ พอตอนออกจะคืนกลับมานั้น ปีติ คือ ฌาน ๒ มันขึ้นจนกุฏเกือบพัง ดังสนั่นหวั่นไหวไปหมด พระทั้งวัดก็วิ่งมาดู อาจารย์ของเขาก็วิ่งมาดูแล้วก็ถามว่า "เออ...เป็นอะไรไปคุณ?" เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้เป็นอะไร เขานั่งกรรมฐานว่า "เกศา โลมา...." แล้วก็มันหาย จิตมันตั้งได้มั่นแล้วก็ไปเที่ยวที่นั่น ที่นี่ เห็นนั่น เห็นนี่ เห็นเดือน เห็นตะวัน เห็นเทพ เห็นอะไรๆ อาจารย์ของเขาก็บอกว่า "คุณอย่าทำอีกนะต่อไป" แล้วก็ไล่พระผู้อื่นกลับไป แล้วก็เข้าไปปลอบ เพราะนึกว่าบ้า "คุณอย่าทำนะต่อไปมันจะเป็นบ้า" จนครบพรรษาแล้วก็สึกไป มีลูก ๗-๘ คน แล้วนี่มาที่นี่มาเป็นศิษย์ เขาก็เล่าให้ฟัง ก็บอกเขาว่า "ยังทำได้ไหม?" เอาว่า "เกศา โลมา...." ตามเดิมนั่นแหละ เขาก็ทำ เดี๋ยวก็สั่นโครมๆ ก็บอกว่า "นั่นฌาน ๒" แล้วก็ "ฌาน ๓ ฌาน ๔" ก็บอกให้ ก็ขึ้นได้...ก็เห็น เขาก็บอกว่า "อย่างนี้แหละ อย่างนี้ที่ผมเคยทำมาเมื่อผมบวชนั่น" จนอายุเกือบ ๕๐ แล้ว พึ่งมารู้เห็น นี่คนนี้ทำงานอยู่ที่นี่ แล้วอาจารย์สมภารที่วัดนั้นที่สอนเขาอย่างนั้น นั่นตัดขวางทางพระอริยะเจ้าของผู้อื่น เขามีธรรมแล้วไปว่าเขาจะเป็นบ้า นี่เพราะความไม่รู้ ฉะนั้นเราจะหาครูบาอาจารย์ต้องหาผู้รู้จริงๆ (ไม่ใช่รู้พูด) ต้องรู้กระทำ
ปฏิบัติ ให้ได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้แวเราก็โคลงเคลงอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จะเอาอะไรแน่ก็บอกว่า "ให้ชีสอนให้ ให้สอนจนได้ฌาน ๑ ฌาน ๒" ถ้าได้ฌาน ๒ แล้ว ฌาน ๓ ฌาน ๔ มันไม่ยาก แต่ถ้าไม่ได้ฌาน ๒ แล้วอย่าหวัง มันทำไม่ได้หรอก ฌาน ๒ นี่เป็นหลักของธรรมอันสำคัญ และเป็นอทธิฤทธิ์ ทำให้เกิดกำลังใจมาก ผู้ได้ฌาน ๒ แล้ว ความเลื่อมใสศรัทธาในธรรมก็เกิดขึ้น เมื่อใครได้ ฌาน ๒ เพราะมันเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ ตัวเราไม่เคยพบ ไม่เคยรู้ แล้วเมื่อมาพบมารู้เข้า จิตใจมันก็อิ่มเอิบพร้อมทุกอย่างที่ ฌาน ๒ นี้ แล้วมีกำลังใจเกิดขึ้น เพราะมันเป็นอิทธิฤทธิ์
ไม่ ได้หวังจะได้บริวาร หรือศิษย์มาก สอนให้ทำได้ แม้จะมีปริมาณน้อยก็ให้มันมีคุณภาพ ถึงจะมีศิษย์เป็นหมื่นเป็นแสนแล้วมีแต่ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร? มักรกขี้ขยะทั้งเพ ไม่มีแก่นสาร ศิษย์นี้ได้เพียง ฌาน ๑ ฌาน ๒ แค่นี้ก็ใช้ได้ ถือว่าเป็นผู้เข้าถึง เข้าเดินอยู่ในมรรคแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้เลย ก็ยังไม่เข้าถึงมรรค ใครที่เข้าได้ถึงมรรคก็คือ อยู่ในหนทางที่จะไปพระนิพพานนั้นแล้ว ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ยังไม่อยู่ในทาง เพียงศีลอย่างเดียวนั้นยังไม่อยู่ในทาง เพราะศีลอย่างเดียวนั้นหนทางในอนาคตชีวิตเราสิ้นบุญจากชาติที่เป็นมนุษย์นี้ แล้ว โอกาสที่จะไปเกิดใหม่อย่างสูงก็สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นเท่านั้น แล้วก็ลงมาเป็นมนุษย์อีกแค่นั้นเอง แต่ถ้ามีฌานนี้แค่ฌาน ๑ ก็พ้นสวรรค์ ๖ ชั้นได้แล้ว ได้ไปอยู่พรหมโลก มีบุญกุศลวาสนามากกว่ากัน เพราะพวกพรหมเว้นได้เด็ดขาดจากราคะ และโทสะ เป็นพวกพรหมนี่ไม่มีแล้ว ที่สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นนั้นยังมีราคะ และโทสะยังมีทั้งนั้น ถึงจะสะกดไว้ได้อย่างเทพผู้ใหญ่แต่ก็ยังมีไม่ใช่ตัดขาดได้
ลูกศิษย์ ถาม. เมื่อกำลังภาวนาอยู่นี่ อยากทราบว่าจะต้องทำอย่างไรกับลมหายใจ?
พระอาจารย์ ตอบ.. ถ้าไปยุ่งกับลมหายใจก็ทำงาน ๒ อย่างล่ะซิ ลมหายใจมันก็อย่างหนึ่ง ถ้าจะทำลมหายใจก็เรียกว่า อนาปานสติ เช่นนับลมหายใจเข้าและออก นั่นมันเป็นกรรมฐานห้องหนึ่งลมหายใจนี่ แต่เมื่อเราภาวนา "เกศา โลมา...." แล้วเราจะไปห่วงกาย ไปนึกถึงกายไม่ได้ ลมหายใจนั้นเรียกว่าเป็น มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ มันเกี่ยวกับรูปทั้งสิ้น ถ้าเราไปติดอยู่ที่รูปนั้นจิตก็ตั้งไม่ได้ ต้องทิ้ง ต้องไม่คำนึงถึง ต้องให้จิตมันภาวนาอยู่อย่างเดียวว่า "เกศา โลมา..." นั่งกายให้ตั้งตรง มือขวาทับมือซ้ายตามแบบแผน แล้วก็ตั้งใจภาวนาเรื่อยไปไม่ต้องเอาอะไร การภาวนานั้นในภาษาธรรมเรียกว่า บริกรรมภาวนา ก็เพื่อให้มีให้เป็น เมื่อจิตตั้งได้มั่นแล้ว ความมีความเป็นของธรรม คือ ฌานก็เกิดขึ้น คำบริกรรมนั้นเป็นธรรมที่ทำให้มีให้เป็น คือ คำภาวนานั่นเอง
ลูกศิษย์ ถาม. คือการภาวนาให้ช้าหรือให้เร็วที่จะต้องลำดับอย่างไร ครับ?
พระอาจารย์ ตอบ.. คือเมื่อจิตเริ่มตั้งได้ เมื่อปีติเริ่มเกิดขนลุกขนพองแล้ว ถ้าเราภาวนาให้เร็วขึ้นจิตมันก็มั่นคงขึ้น ถ้าเราภาวนาช้าๆ แล้วสังขารมันโผล่มาปรุงแต่งได้ มันเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคิดนึกได้ ถ้าเราภาวนาเร็วแล้วจิตก็ไม่มีเรื่องนึกคิดอื่นๆ สังขารก็ปรุงแต่งไม่ได้ ปีติก็จับได้เต็มที่ ฌาน ๒ เมื่อถึงฌาน ๓ ฌาน ๔ แล้วก็ภาวนาช้าๆ ผ่อนลมหายใจให้เบา อย่าให้หยาบ ถ้าลมหายใจหยาบ จิตมันก็หยาบ ถ้าผ่อนลมหายใจเบา จิตก็ละเอียด ถ้ายังรับรู้เรื่องลมหายใจว่าได้ยินลมหายใจอยู่ ยังรับรู้ลมหายใจอยู่ จิตก็ไปอยู่กับกาย (จิตไม่ได้อยู่เฉพาะจิต) จิตต้องไปนึกถึงกาย ไปเกี่ยวโยงกับกายอยู่ ฉะนั้นเมื่อภาวนาแล้วให้จิตมันทำงานอย่างเดียว คือ ภาวนาเท่านั้น เรื่องลมหายใจนั้นเราต้องรู้สภาพความเป็นธรรมชาติ คือ เราจะบังคับให้มันหยุดก็หยุดไม่ได้หรอก มันจะหายใจเบาหรือมันจะหายใจหยาบ มันก็อยู่ที่ร่างกายของเราออกกำลังหรือไม่ออกกำลัง ถ้าออกกำลังก็หายใจหยาบ ถ้าไม่ออกกำลังถ้านั่งนิ่งสงบกายสงบอยู่ การหายใจมันก็เบาลง เมื่อหายใจเบาลงจิตของเรามันก็ไม่วุ่นวาย เพราะไม่ต้องไปรับรู้ก็ประคองจิตตั้งได้มั่น
ลูกศิษย์ ถาม. ไม่ต้องพิจารณา หมายถึงแปลคำภาวนาใช่ไหม ครับ?
พระอาจารย์ ตอบ.. นั่นแหละ ไอ้ตัวแปลตัวพิจารณา วิปัสสนึก นี่มันยุ่งจริงๆ อาจารย์ไหนก็อาจารย์นั้นแหละ นั่งพิจารณาว่าผมเป็นอย่างนั้น ขนเป็นอย่างนั้น เล็บเป็นอย่างนั้น ฟันเป็นอย่างนั้น หนังเป็น อย่างนั้น (มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน) นั่นแหละตัวเลอะเทอะ ตัวนั่งพิจารณานั่งคิดนึกนั่นมันตัววิตก เมื่อจิตยังเป็นวิตกอยู่แล้วมันจะตั้งได้กับอะไรเล่า? สมาธิมันตั้งไม่ได้ นั่นแหละตัวพิจารณา อาจารย์ไหนก็อาจารย์นั้นแหละพิจารณา
การพิจารณาวิปัสสนาที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่นั่งคิดอย่างนั้น คือ เมื่อเห็นรูปจากนิมิตที่เกิดขึ้นจะสวยจะงามหรือไม่สวยไม่งามก็ ละ ได้ยินเสียงก็ ละ ปวดขึ้นมาก็ ละ นึกคิดขึ้นมาก็ ละ ได้กลิ่นก็ ละ รสเกิดขึ้นที่ลิ้นก็ ละ ละกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่คือตัววิปัสสนา ตัววิปัสสนาคือ ตัวละ ฝึกให้จิตมันละ ให้มันทิ้ง ให้มันปล่อย ให้มันวาง เมื่อฝึกอยู่อย่างนี้ทุกวัน จิตมันรู้มันก็คุ้นเคยแล้วมันก็ไม่รับสิ่งเหล่านั้นต่อไป มันก็เบื่อหน่ายต่อกามคุณนั่น นั่นแหละตัววิปัสสนา คือ ตัวละ ไม่ใช่นั่งคิด ตัวคิดนึกนั่นเป็นตัววิตก (ไม่ใช่ตัวละ)
ลูกศิษย์ ถาม. คำว่า "ละ" นี่คือไม่คิดถึงหรือยังไง คะ?
พระอาจารย์ ตอบ.. "ละ" คือ ให้จิตมันทิ้ง เราอย่าไปนึกถึงมัน ตัวละ คือไม่เอา ทิ้ง วาง
ลูกศิษย์ ถาม. เมื่อกลับไปแล้วให้ภาวนาอย่างเดียว คือ ไม่ต้องขึ้นวิปัสสนาใช่ไหม ครับ?"
พระอาจารย์ ตอบ.. ยังขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ ไม่ได้ฌาน ๔ ขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ ถ้า ใครไม่ได้ฌาน ๔ แล้วไปขึ้นวิปัสสนาที่ทำกันนั่งถึงก็ทำวิปัสสนา นั่นมันแหละหิมพานต์นั่นแหละ ไม่ใช่นิพพาน เป็นหิมพานต์ พบมามากแล้วโยมเอ๊ยก็ทุกๆ คนที่ทำวิปัสสนาก็รับว่าจริง หิมพานต์จริง มันไม่ลงสักที มันไม่เห็นอะไรสักที แล้วจิตก็ไม่เห็นมันจะสงบสักที มันจะสงบอะไรล่ะนั่งคิด เมื่อมัวนั่งคิดแล้วมันจะเอาอะไรมาสงบล่ะ จิตคิดกับนึก ๒ อย่าง คิดถึงอนาคต นึกถึงเรื่องอดีต อดีตก็เอาสัญญามาทั้งสิ้น คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วในชีวิต ไม่ใช่วันนี้ มันตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อวานซืน หรือตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก อะไรที่มีมันก็เอามานึกมาคิดต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง (ตามที่ตนพบมา นั่นเอามานึก...นึกมา ส่วนคิดนั่นอยากจะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อยากจะมีหน้าที่การงาน อยากมีบ้านมีช่อง มีตึกมีราม คิดไปข้างหน้า) แล้วมันได้อะไร? ก็ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น เรื่องอดีตไปนึกก็ไม่ได้อะไรทั้งสิ้นเหมือนกัน
ที่ พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้อยู่กับปัจจุบัน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่หลับตาอยู่นี่ มันปวดที่ขา ปวดที่สันหลังก็ละสิ่งนั้น เมื่อละแล้วถ้าจิตมันละได้ สิ่งนั้นมันก็ดับ เมื่อดับนั่นแหละเป็นตัวนิโรธ เพราะสิ่งที่เกิดนั้นเป็นทุกข์ รูปต่างๆ เป็นทุกข์ เสียงต่างๆ ก็ให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเรารับเอากามคุณทั้ง ๕ ก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น เป็น ทุกข์ปรมัตถ์ อย่าไปคิดว่าทุกข์ธรรมดา ทุกข์ คือ ความไม่เที่ยง มันไม่คงที่ เรียกว่าเป็นทุกข์
ทำ มากดีกว่าพูดมาก (จำไว้) นิ่งดีที่สุด ทำมากดีกว่าพูดมาก เคยเจอที่กรุงเทพฯ ร้อยเอกจาตุรงค์ ๒ วัน ๒ คืน พาเพื่อนมา พาญาติมาได้หมด ได้ถึงฌาน ๔ เลย แต่ตัวเองถามอยู่นั่นแหละ ๒ คืน คือ จะถามให้จน แต่ผลสุดท้ายมันไม่จบ แล้วพอหยุดถาม "เอ้า...ถามซิ" ก็จี้อีก "ถามซิ หมดแล้วหรือ?" ก็นั่งเกาหัวยิกๆ ไม่รู้จะทำอะไร เหลียวไปเหลียวมา "เอ้า...ถามอีก อย่าให้เสียเวลา ถามให้หมด ให้หมดสงสัย" พอลงท้าย ๒ คืนก็ถามเขาบ้างว่า "นี่ได้อะไรบ้าง? เรามา ๒ คืนแล้ว ถามคนอื่นที่มาด้วยกันดูว่าเขาได้อะไร? ฌาน ๔ นี่ แล้วเราได้อะไร? เขาตอบว่า "จริง แล้วผมค่อยเอาเที่ยวหลัง" ปวารณาตัวเป็นศิษย์แล้วนะเอาเที่ยวหลังนั่นแน่ะ เลยบอกไปว่า "แล้วรู้หรือว่าจะอยู่อีกเมื่อไร อีกนานเท่าไร?" เราไล่แหละทีนี้ "อืม...ลำบาก" แล้วก็ไม่ได้พบอีก
การ ถาม ถามแต่ที่เราปฏิบัติ เขาสงสัยว่า "ทำไมถึงขนลุกขนพอง หรือทำไมมันถึงกระตุก ทำไมมันถึงสั่น" นั่นถามอย่างนั้น นั่นเพราะเราจะต้องพบ หรือบอกให้รู้แล้ว พอมันเกิดขึ้นแล้วเราก็ไม่ต้องถาม "อ้อ...รู้ว่านี่มันคือฌาน ๒" นั่นเรียกว่า ปีติ ชื่ออุพเพงคาปีติ คือ กายโยก กายสั่น กายคลอน กระโดดโลดเนไป
พยายาม นั่งให้นาน ให้มีความอดทน ทุกๆ คนที่นั่งปฏิบัตินี่ต้องเจ็บต้องปวดทั้งนั้น อาตมาเองเอาผ้า ๓-๔ ชั้น จีวรสังฆาฏิมารองแล้ว มันก็ปวดอยู่นั่นแหละ เอาผ้าขนมารองแล้วมันก็ปวดอยู่นั่น ปวดก้นไม่พอ ยังปวดสันหลังด้วย พอปวดสันหลังหนักเข้าตรงขมับนี่มันลั่นเปรี๊ยะๆ มันเหมือนจะแตก มันปวด "เอ้...ทำยังไงดี" จะทำยังไง เมื่อบวชเข้ามาแล้วมันก็ต้องทำให้มันตาย ให้มันรู้ไป มีเท่านั้น แล้วเป็นไง? หยุดไหมล่ะ? ชั่วเวลาปีกว่าๆ ที่เราลำบากนั่น ต่อจากนั้นก็มีแต่ความสุขความสบาย นั่งเท่าไรก็ได้ เพราะเราชนะมัน เรามีความเพียรมั่นคง เราไม่ท้อถอย
บาง คนก็เที่ยวพูดไปส่งๆ ว่า "ทำฌานไปพระนิพพานไม่ได้" นั่นรู้ไม่จริง ใครบอกว่าเอาฌานเข้าพระนิพพาน พระพุทธเจ้าสอนไว้ที่ไหนว่าเอาฌานเข้าพระนิพพาน นั่นไม่รู้ว่าฌานนี้มีไว้สำหรับเป็นเครื่องมือเดินทางเท่านั้น ไว้เป็นอาวุธ ไว้เป็นกำลัง ไว้เป็นอิทธิฤทธิ์ เพราะทางที่เราจะเดินไปพระนิพพานนั้น (ถ้าเปรียบเหมือนบนพื้นแผ่นดิน ก็เรียกว่า มีขวาก มีหนาม มีเศษกระเบื้อง มีเศษแก้ว มีอะไรอยู่พร้อมข้างหน้าเหมือนอย่างนี้แหละ ถ้าเปรียบเหมือนทางโลกก็อย่างนี้) ทางพระนิพพานนั้นไม่ได้ปูด้วยพรมราบเรียบ และไม่ได้โรยไว้ด้วยดอกกุหลาบ มันล้วนแต่ขวากหนามทั้งนั้น มารต่างๆ คือ (กิเลสมาก อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร ขันธมาร มัจจุมาร) พอตั้งใจดีก็ตายเสีย พอจะทำดีก็ตายเสีย มารทั้ง ๕ มันก็อย่างนี้แหละ แล้วลูกหลานมารอีกไม่รู้เท่าไร นั่นเฉพาะแม่มันตัวใหญ่นั่น เอาล่ะนั่งเถอะ
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๕ กันยายน ๒๕๒๔

http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati

ขันธ์โลก

ขันธ์โลก

ธรรมที่เราปฏิบัติกันอยู่ทุกๆ คนนี้ พระพุทธเจ้าสอนว่าให้เราทุกคนเรียนให้รู้จักโลก โลก ในธรรมะไม่ใช่แผ่นดินกลมๆ ที่ลอยค้างฟ้าอยู่กลางอากาศนั่น แต่หมายถึงว่า ตัวเรานี้แหละเป็นโลกขันธ์ ๕ ทั้งหมดนี่แหละเป็นโล เรียกว่า "ขันธ์โลก" ที่นี้ที่เราจะต้องรู้จักเป็น ความจริงภายในขันธ์นั้น โดยเฉพาะเรื่องกายของเรานี่ คนเราทุกๆ คนนั้นที่หนาแน่นด้วยกิเลส ด้วยไม่มีปัญญามองเห็นว่ากายของเรานี้มันสวยมันงามทั้งนั้น มันมีผิวพรรณน่ารักน่าใคร่น่าพอใจ อยากได้ น่าได้ น่าลูบน่าคลำ เห็นเป็นอย่างนั้น ไม่ได้รู้ถึงความเป็นจริงว่ามันประกอบด้วยอะไร? ที่จริงของมันนั้นที่มันเป็นรูปอยู่ได้ เราก็จะต้องรู้ตามที่พระพุทธเจ้าสอน และตามความเป็นจริงที่มันมีอยู่นั้นมันประกอบด้วย ธาตุทั้ง ๔ มาประชุมรวมกันเข้า คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ใน ๔ อย่างนี้นั้นมันมันมาสามัคคีกันอยู่ มันยังไม่รวมกัน มันยังไม่แตกสามัคคีกัน มันมีกำลังเท่าเทียมกัน มันจึงปรุงแต่งให้กายของเรานั่นอยู่เป็นตัวเป็นตน เดินได้ พูดได้ ทำการงานได้ กินข้าวได้ นอนได้ อะไรเหล่านี้ มันเพราะธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกันโดยมีเจ้านายใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลในรูปในกายนี้ คือ วิญญาณขันธ์ หรือ จิตใจ หรือที่เรียกว่า จิตก็เรียก มโนก็เรียก มนัสก็เรียก มโนวิญญาณก็เรียก บัณฑรก็เรียก ชื่อของจิต นี่แหละเป็นตัวเจ้านายใหญ่ที่เรียกว่า เป็นเจ้าชีวติ เป็นผู้อำนวยการใหญ่อยู่ในโลกนี้
ทีนี้ผู้อำนวยการใหญ่ หรือเจ้าของโลกนี้ก็แบกเอาความไม่รู้มาด้วยที่เรียกว่า อวิชชา มันจึงทำให้หลงใหลใฝ่ฝัน มารัก มาชอบ มาติดในรูปว่าสวยว่างามน่ารักใคร่ อยากจะได้เป็นของตน รูปของตนเองก็รักของตนเองอยู่แล้วยังจะไปรับรูปของผู้อื่นเข้ามาอีกด้วยจน กลายเป็นราคะ คือ ความใคร่เพื่อการส้องเสพ นี่แหละแล้วมันก็มีหมักหมมอยู่อย่างนี้ ที่เราไม่รู้จักตัวของเราว่าประกอบด้วยอะไร และที่สำคัญก็ที่ว่ากายของเรานี้ที่มันปฏิสนธิตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนโต ใหญ่ ๙ เดือน ๑๐ เดือน คลอดออกมาเป็นทารก จนเป็นวัยเด็ก จนเป็นวัยรุ่น จนเป็นวัยหนุ่มสาว จนเป็นวัยกลางคน จนเป็นวัยคนแก่คนชรา จนสุดท้ายก็ลงไปสงบอยู่ในโลงศพให้พระได้สวดพระอภิธรรมกัน ต่อจากนั้นก็นำเข้าไปสู่เชิงตะกอนเผา หรือที่ไม่มีทุนทรัพย์ที่จะทำได้ก็นำไปฝังไว้ก่อน หรือที่มีทุนทรัพย์มากๆ ยังไม่อยากทำลายเก็บไว้นานๆ ๖ เดือนบ้าง ปีบ้าง สองปี สามปีบ้าง ฝากไว้ที่วัดเสียค่าเช่าที่เขาเก็บศพไว้ทำบุญ หรือศพของบางคนที่ญาติพี่น้อง ลูกเต้า ไม่ใคร่จะปรองดองกัน ขัดแย้งกัน แก่งแย่งกัน ไม่ยอมให้ทำหรือชิงศพที่จะไปทำก็มีนี่ เพราะมันพาดพิงถึงว่ามรดกตกทอด ถ้าใครทำคนนั้นก็จะได้มรดกอะไรอย่างนี้นี่แหละ ลงสุดท้ายมันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น
โลกของเราที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ใหเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ ที่เราลืมตาอยู่นี่โลกอื่นเราก็มองเห็นอยู่ โลกเราเราก็มองเห็นอยู่ ที่มันแข็งๆ ตึงๆ มีขน มีผมอยู่นี่เป็นรูปของกายเราก็ว่าเป็นตัวตนของเรา แต่ทนี้มาถูที่ตัวมันก็อุ่นๆ ที่อุ่นๆ ร้อนๆ ก็เรียกว่าไฟ ที่ในปากของเรา ที่น้ำมูกของเรา ที่ปัสสาวะออกมา ที่เหงื่อออกมาก็เรียกว่าน้ำ แล้วลมนั่น ที่นังอยู่ก็ตาม ที่นอนอยู่ก็ตาม ทำงานอยู่ก็ตาม มันต้องหายใจเข้าหายใจออกตลอด เพียงนาทีเดียวถ้าไม่หายใจมันก็สลบไปแล้ว ถึง ๕ นาที มันก็ตายแน่นอน นี่ธาตุทั้ง ๔ ที่มันอยู่กันได้ก็เพราะว่าเป็นผลของกุศลกรรม กุศลกรรมที่สร้างมา มันให้มาประมวล ให้มารวมกลุ่มกัน คือภาษาธรรมะเรียกว่า สหรคต คือ มารวมกันเป็นก้อนหนึ่งที่จัดเป็นพวกดินก็ มี ๓๒ อย่าง ที่เรามาว่า....เกศา โลมา...ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่เอาเพียง ๕ ย่อมา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ พังผืด ได ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ตลอดจนถึงอุจจาระ นี่ก็เป็นพวกดินเหมือนกัน
ในตัวเราทั้งหมด ถ้าเรามีปัญญาเราก็จะรู้ว่ามันทุกๆ ขุมขนจะบนศีรษะของเรา จะในร่างกายของเรา ในส่วนที่มีผ้าปกคลุม หรือในส่วนที่เปิดเผย เช่น ปลายมือปลายเท้า หรือแค่คอ แค่หน้า มันตรงไหนก็ไม่มีความสะอาด มีแต่ความสกปรกโสโครกทั้งสิ้น มนุษย์ที่อาบน้ำเพียงวันละครั้งสองครั้งนี้มันก็ยังเหม็นสาบอยู่นั่นแหละ เพราะเหงื่อนี้มันออกอยู่ตลอดเวลา เมื่อเหงื่อออกมาเครื่องนุ่งห่มที่สวมนั่นลองสวม ๓-๔ วัน ดูเถอะ แล้วเอามันมาดมดู มันมีกลิ่นอย่างไร มันมีกลิ่นทะแม่งๆ บางคนก็กลิ่นจัดฉุนเฉียวแทบคลื่นไส้ทีเดียว นี่แหละไม่มีตรงไหนที่สะอาด จะล้วงเข้าไปในจมูกก็ขี้มูก ขี้มูกเป็นก้อนดำแล้วว่ามันน่ารักตรงไหน เอาไม้ไปแคะขี้ฟันจิ้มออกมาแล้วก็ดมดูซิ ก็มีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าส้วม น้ำลายที่บ้วนออกมาก็มีกลิ่นเหม็นทั้งนั้น ปัสสาวะอุจจาระก็มีกลิ่นเหม็นทั้งสิ้น แล้วก็ในท้องในไส้ในกระเพาะของเรา อาหารที่กินลงไปทุกวันๆ มันลงไปคลุกไปเคล้าให้ธาตุไฟมันย่อยภายในกระเพาะและลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่จน เหลือเป็นกาก ไอ้ที่อยู่ในกระเพาะนั้นมันก็เหม็น ที่มันไม่ส่งกลิ่นออกมาภายนอกทางปากได้ เพราะธรรมชาติมันสร้างไว้ดี มันมีเสลดก้อนใหญ่ปิดอยู่ที่หลอดอาหาร มันปิดคลุมอยู่หมด อากาศระเหยขึ้นมาไม่ได้ นอกจากบางครั้งที่เรอขึ้นมานั่น หมายความว่า มีช่องว่างขึ้นที่เสลดนั่นมันก็เรอขึ้นมา เช่น กินข้าวอิ่มๆ มันก็เรอขึ้นมา หรือท้องขึ้น ท้องเสีย ท้องอืด เรอขึ้นมาเหม็นเปรี้ยว เหม็นมากนั่น หรือคนที่เคยเป็นหมอเขาผ่าศพแล้วก็ดูเข้าไปในท้องในไส้ หรือเราไปดูสัตว์เดรัจฉานที่เขาทำหมูหรือควาย วัว ก็ตาม ดูซิในช่องท้องมีอะไรบ้าง มีกระดูกซี่โครงหุ้มอยู่ มนุษย์เราก็เหมือนกันอย่างนั้น แล้วมันไม่มีตรงไหนที่มันเรียกว่าตรงไหนที่มันน่ารักบ้าง แต่เราก็ยังรักมัน มันรักตรงที่หนังมันหุ้มพวกเหล่านี้อยู่ แล้วก็หาเครื่องมาบำรุงบำเรอ แป้งบ้าง น้ำหอมบ้าง น้ำอบบ้าง สีต่างๆ บ้าง เอามาทาเอามาแต้ม เอามาเขียนให้มันวิจิตรขึ้น จนถึงว่าขอบตาชั้นเดียว เช่น พวกคนต่างชาติบางพวกเขาขอบตาชั้นเดียวไม่งามไปผ่าตัดตกแต่งให้มันเป็นสอง ชั้น เพื่อให้ยั่วยวน เพื่อให้เขารัก จะได้ไปอยู่กับเขา เขาจะได้มาขอหรือเขาจะได้มาชอบพอ มาเกี้ยวพาราสีเอาไปเป็นเมีย ก็ตกแต่งทั้งสวยทั้งงามทั้งวิเศษที่สุด พอหมดลมปุ๊บทันใดนั้นเข้าใกล้ก็เกือบไม่เข้าใกล้แล้ว พยายามไปถูกที่ตัวเย็นเจี๊ยบก็ฝืนๆ ถูกทั้งนั้น ไอ้ที่ร้องไห้นั่นบางทีมันก็มีเหมือนกันแหละความรักผูกพันที่ว่าเคยอยู่เคย กินกันมา เคยเรียกว่ารักใคร่พอใจ ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้ง รักคุณงามความดีก็ร้องไห้ แต่ว่าไอ้รูปที่หมดลมหายใจแล้ว หมดธาตุไฟแล้ว ยังเหลือแต่ธาตุดินที่จะเน่าจะเปื่อยไป ธาตุน้ำก็จะมีแต่ไฟลอกมาหยดเละเทะเป็นสีน้ำตาลสีขุ่นมีกลิ่นเหม็นฟุ้ง ตอนนี้ไม่เอาแล้ว จ้างให้เอาอีกก็ไม่เอา ให้เอามาเก็บไว้หรือเอามานอนด้วยจ้างอีกสักเท่าไรก็ไม่เอาแล้ว หมดรัก ตอนนี้หาใหม่ต่อไป ไม่เข็ดเพราะว่ามันเห็นว่ามันดี เห็นว่ารูปมันดี ทีนี้พระพุทธเจ้าว่าให้เรามองดูตามความเป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น การที่เราจะเบื่อหน่ายต่อขันธ์ของเรา เราก็ต้องดูรูปเรา เราให้เห็นกายในกายเนืองๆ นึกอยู่ให้เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก หัวใจ ตับ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อยต่างๆ เมื่อมันนึกอย่างนี้ นั่งทำวิปัสสนานึกให้เห็น เมื่อมันเห็นแล้ว เมื่อมันเห็ยกายในกายอยู่เนืองๆ แล้วทีนี้มันก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของกายที่เห็นนั่น ตอนแรกก็เห็นเป็นรูปเป็นร่างเป็นตัวคนเราดีอย่างนี้แหละ เห็นเป็นตัวยังสดยังชื่นนี่แหละ แต่เมื่อจิตของเรามันเกิดความเบื่อหน่ายต่อรูป มันก็จะเห็นไปอีกสภาพหนึ่งว่าตัวเราเองนั้นตาย ตายเป็นซากศพ มันค่อยพองขึ้น สีน้ำตาลเกิดขึ้น สีเขียวเกิดขึ้น จนกระทั่งน้ำเน่าไหลออกมา มีหนอนชอนไชกินอยู่ ตาก็โบ๋ มองไปตรงไหนมันก็พองอืดไปทางนั้น ผมก็หลุดออกมาเป็นเส้นๆ ขนก็หลุดออกมาเนื้อหนังปริแตกแยกเน่าเปื่อย ตอนนี้จิตของเรายิ่งสลดมาก
ฉะนั้นการเห็นกายในกายมันอยู่ใน สติปัฏฐาน ๔ เรา มีสติ ถ้าพบอย่างนั้นเห็นอยู่ก็อย่าได้กลัวได้เกรง การที่เราจะเบื่อหน่ายก็ต้องเห็นถึงความเป็นทุกข์นี่แหละ เห็นความสกปรกโสโครกที่มีอยู่ในตัวเรานี่แหละ ถ้าว่าตัวเรามันหอมอยู่เรื่อยแล้วมันก็รักอยู่เรื่อยแหละ ถ้ารู้จักตัวเรานี้มันเหม็นตรงไหนๆ นี่มันก็เหม็นทั้งนั้น ที่มันไม่เหม็นก็เพราะชำระล้างด้วยน้ำ บางคนที่เป็นกรรมเป็นเวรของเราเหมือนกัน ทั้งอาบน้ำทาแป้ง และใส่น้ำหอมด้วย แต่ไปดมดูที่ตัวเถอะ เหม็นหืนก็มี ซึ่งทางโลกที่ถือชั้นวรรณะเขาเรียกคนประเภทนั้นว่า พวกกาลกิณี พวก คนชั่วใครได้ไปเป็นลูกเป็นเมีย คนเช่นนั้นเขาว่าทำกินไม่เกิด ทำอย่างไรก็ไม่มีเหลือ ไม่พอกิน ไม่พอใช้ เพราะเกิดมามันอัปลักษณ์มันต่ำทราม เศษของกรรมในอดีตติดมา เดินผ่านหน้าผู้ใดไปกลิ่นกายของตนในระยะหนึ่งวาผ่านไปถึงเขาได้ ทั้งๆ ที่อาบน้ำมาใหม่ๆ เหม็นกลิ่นคาว
ทีนี้บางจำพวกที่เขา สร้างบุญไว้ดี ถึงแม้ไม่อาบน้ำ กลิ่นกายของเขาก็หอมเหมือนเกสรดอกบัว นี่ก็มี....มีเหมือนกัน นั่นเขาสร้างบุญสร้างดุศลเป็นผู้รักษาศีลดี มีใจเป็นธรรม มีใจไม่ผูกพยาบาทอาฆาต ไม่โหดร้าย ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น จิตใจผ่องใส ศีลสะอาดบริสุทธิ์ มีวาจาอ่อนหวานไม่หยาบคาย พวกเหล่านี้ที่เกิดมามีลักษณะเช่นนั้นก็ไม่เกิดในตระกูลที่ต่ำเสียด้วย เพราะเขาสร้างบุญกุศลมาดีก็เกิดในตระกูลที่สูง ก็ย่อมเป็นที่ต้องการของคนสกุลสูง นี่แหละ แต่ลงสุดท้าย ทั้งๆ ที่ว่าเดินผ่านไปกลิ่นหอมเหมือนดอกบัว แต่พอหมดลมหายใจเมื่อไรก็เหม็นเหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีใครสักคนที่ไม่เหม็น เน่าเปื่อยทั้งสิ้น แล้วเราทุกคนก็จะต้องวนเวียนเกิดอยู่เช่นนี้ในวัฏฏะ ไม่มีจบ ไม่มีสิ้น
ฉะนั้นเราควรจะ มีปัญญา หรือยังคิดออกจากโลกกันไหม หรือคิดว่าเราจะอยู่ในโลกเรื่อยๆ ไป ชาตินี้ก็อยู่ ชาติหน้าก็อยู่ ชาติโน้นก็อยู่ ชาติต่อๆ ไปนั้นก็อยู่ มันสนุกดี มันก็ได้เหมือนกัน ผู้ที่คิดเช่นนั้น แต่อย่าลืมนึกถึงความเป็นจริงให้ได้ ถ้าเราจะชำระจิตของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ อย่าอคติ มองตามความเป็นจริงแล้วมันไม่น่าอยู่เลย เพราะว่ามันมีแต่ความทุกข์ตลอดกาล ทุกข์ของการเกิด เป็นทุกข์ซ่อนเร้น มองไม่เห็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันอยู่เท่านี้ มันวนอยู่นี่ จะเป็นสัตว์เดรัจฉานก็เกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเป็นเทวดาก็เกิด...ก็ตาย จะเป็นสัตว์นรกก็เกิด...ก็ตาย ตายทั้งนั้น ตายแล้วก็เกิดอีก กรรมไม่หมด เราก็เหมือนกัน เมื่อสร้างกรรมดี กรรมชั่ว หรือกรรมดำ, กรรมขาว เมื่อสร้างอยู่มันก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น
ทีนี้คน เราที่จะสร้างแต่กรรมดีตลอดไปนั้น ในบางครั้งบางคราวมันถูกบีบคั้นจิตของเรา หักห้ามต่อโทสะไม่ได้ ลุล่วงแก่อำนาจจิตใจไปทำผิดทำชั่วเข้าก็ได้รับบาปมา ไม่ใช่ว่าเราคิดว่าเราจะทำดีแต่กรรมดีอย่างเดียว ทำแต่บุญอย่างเดียว เราคิดนั้น เราคิดว่าอย่างนั้น แต่ในสภาพบางครั้งเราอาจจะต้องทำความชั่ว เพราะสิ่งแวดล้อมบ้าง หรือบางทีเกี่ยวกับอาชีพบ้าง หรือเกี่ยวกับว่าเกิดมายากจนบ้าง มันทำไม่พอกินเผลอไผลเห็นใครเผลอเข้ามันก็ไปหยิบไปฉวยของผู้อื่นมาเป็นของตน เกิดเป็นอทินนาทานาขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นการเกิดของเราไม่ใช่ว่าเราจะเกิดแล้วจะมีปัญญาความรู้ตามความเป็นจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าสอน ที่เราได้ยินได้ฟังอยู่นี้ เราเป็นผู้มีโอกาสดีต่างหากที่ได้มาพบธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่มีอาจารย์เป็นผู้สั่งสอนอยู่ตลอดเดือนตลอดปี อย่างที่ทุกๆ แห่งเขาจะสอนอยู่อย่างนี้มันมีที่ไหน มันไม่มี น้อยมาก ได้แต่วันพระ ๘ ค่ำ หรือเขานิมนต์ไปในที่ต่างๆ ไปแสดงธรรมนั่งธรรมาสน์ เขามีพวกเหล่านั้น เขามี หรืออย่างไปแสดงธรรมทางวิทยุนั้นมี ๗ วันครั้ง ๆ การที่ได้ฟังทุกวัน นอกจากบางวันรู้สึกเบื่อหน่ายก็ไม่แสดง ฉะนั้นคือการแสดงธรรมไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง หมายความว่า เราผู้ฟังธรรมนี้รับนำไปใช้ ไม่ใช่ฟังไว้เพื่อประดับความรู้เท่านั้น เรานำไปใช้แล้วมันจะเกิดลาภเกิดผลแก่เรา ได้ผลแก่เราเอง เราจะได้รู้จักโลกดีขึ้น เมื่อเรารู้จักโลกเราดี เราก็จะไม่หลงใหลในโลกอื่นจนลืมตน เมื่อเราไม่หลงในโลกของเราแล้ว เราก็ไม่หลงในโลกอื่น การที่เราไปหลงในโลกอื่นอยู่ก็เพราะเราหลงโลกของเรานั่นเอง
ฉะนั้น ผู้มีสติปัญญา ย่อมใช้สติปัญญาพินิจพิเคราะห์ตรึกตรองหาข้อเท็จจริง หามูลความจริง หาเหตุหาผล เมื่อฟังแล้ว ไม่ฟัง ไม่หาเหตุ ไม่หาผล หรือฟังแล้วก็เบื่อหน่ายเสีย ไม่รู้จะฟังไปเอาอะไร ไปทำอะไร เรามันทำไม่ได้ เรายังจะต้องไปหากินในโลกอีก อะไรเหล่านี้ ถึงจะหากินที่ไหนก็ตาม ธรรมะของพระพุทธเจ้านำไปใช้ได้ทั้งสิ้น นอกจากจะไปหากินทางมิจฉาทิฏฐินั่นนำไปใช้ไม่ได้ ถ้าหากินทางสัมมาทิฏฐิแล้วนำไปใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะธรรมะนี้ช่วยได้ทั้งโลกโลกียะแล้วก็ช่วยไปได้ถึงสูงสุด คือ โลกุตตระ รรมะของพระพุทธเจ้าก็แบ่งเป็นหมวดเป็นหมู่ ขั้นต้นสำหรับโลกียะ ขั้นกลางสำหรับสามัญชน ขั้นสูงสำหรับอริยชน แบ่งเป็นชั้นๆ ถึง ๓ ชั้น ปุถุชน สามัญชน อริยชน แบ่งเป็น ๓ ชั้น ฉะนั้นอย่างไรเราก็พยายามที่จะยกระดับของเราให้พ้นจากปุถุชนให้ได้ แล้วก็หมายความว่าชาตินี้ที่เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนาไม่เป็นการเสียหลายเลย เป็นผู้มีโชคดีมาก
การ เป็นสามัญชนนั้นเป็นอย่างไร? ก็คือการรักษาศีล ๕ นี่แหละให้ได้อยู่ แล้วศีลอุโบสถในบางโอกาส แล้วก็ทานไม่ทอดทิ้ง แล้วโดยเฉพาะภาวนา คือ หลักสมาธินี้ไม่ทิ้งเด็ดขาด วันนี้ได้พบศิษย์คนหนึ่งที่มาบวชที่นี่ ติดกัญชามาก่อนบวช แก้กันเสียพอได้ ออกไปแล้วก็ยังเอานิดหน่อยเขาว่า แต่เดี๋ยวนี้เลิกได้เด็ดขาดแล้ว วันนี้มากราบไหว้ นำของมาถวาย ระลึกถึงบุญคุณที่ได้สั่งสอนอบรมไป ซึ่งพ่อของเขานั้น เมื่อก่อนคิดจะยิงเสียให้ตาย เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร แต่มันกลัวติดตะราง แล้วนี่อาจารย์ไปแก้ให้ ด้วยความดีของธรรมะช่วยได้ เดี๋ยวนี้มีครอบครัว มีลูกคนหนึ่งแล้ว ผิวพรรณผ่องใสแล้วไม่เหมือนก่อน แล้วถามเขาว่า "ยังเอาอีกไหมเดี๋ยวนี้" "ไม่เอาอีกแล้วครับ หยุดเด็ดขาดแล้ว" นี่เพราะผลของการฟังธรรมแล้วนำไปปฏิบัติตามจึงให้ผลความสุขแก่ตน แล้วก็เป็นผู้มีกตัญญูกตเวที ระลึกถึงพระคุณที่สั่งสอนนั้น พร้อมด้วยกตเวที มากราบไหว้บูชาด้วยอามิสของสมณะที่ควรใช้ แล้วมารดาของเขาก็ยังปวารณาถวายสังฆทานในวันที่ ๑๘ นี้ด้วย นี่เห็นไหม นี่คือผลของธรรมที่ช่วยคนตกลงไปในปลัก ตกลงไปในเหว เรียกว่าเกือบขึ้นไม่รอดแล้ว อุตส่าห์ดึงมือขึ้นมา เกือบจะไม่รับแล้วในตอนแรก แต่ทว่าเห็นแก่พ่อแม่ของเขาก็รับไว้ สั่งสอนอบรมได้ ใช้ได้ ไม่ได้ไปเฆี่ยนไปตี ไม่ได้ไปพบอยู่ทุกวัน นี่ ๓ ปีที่สึกไปเพิ่งมาพบวันนี้
ฉะนั้นเราทุกคนฟังแล้วจดจำนำไปใช้ อย่าเพียงแต่จำเอาไว้ นำไปใช้ ตนนั่นแหละใช้ประพฤติหฉิบัติตาม ผลมันจะสนองให้เราเอง
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขสัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๑๐ กันยายน ๒๕๒๖

ที่มา
http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok