Sunday, June 26, 2011

ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตจักไม่ทะนุถนอมเลย เหมือนช่างหม้อทะนุถนอมภาชนะดินเหนียวที่ยังดิบๆ ฉะนั้น เราตถาคตจักบำราบเอาบำราบเอา ผู้ใดหนักแน่นเป็นสาระ ผู้นั้น

อรรถกถา คันธารชาดก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภเภสัชชสันนิธิการสิกขาบท สิกขาบทว่าด้วยการทำการสะสมเภสัช แล้วจึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า หิตฺวา คามสหสฺสานิ ดังนี้.
ก็เรื่องเกิดขึ้นแล้วที่กรุงราชคฤห์. ความพิสดารว่า
เมื่อท่านปิลินทวัจฉะไปพระราชวังเพื่อปล่อยคนตระกูลผู้รักษาอาราม แล้วสร้างปราสาททองถวายพระราชาด้วยกำลังฤทธิ์ คนทั้งหลายเลื่อมใสพากันส่งเภสัชทั้ง ๕ ไปถวายพระเถระ. ท่านแจกจ่ายเภสัชเหล่านั้นแด่บริษัท แต่บริษัทของท่านมีมาก พวกเขาเก็บของที่ได้ๆ มาไว้เต็มกระถางบ้าง หม้อบ้าง ถลกบาตรบ้าง.
คนทั้งหลายเห็นเข้าพากันยกโทษว่า สมณะเหล่านี้มักมาก เป็นผู้รักษาคลังภายใน.
พระศาสดาทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ก็แลเภสัชที่เป็นของควรลิ้มของ ภิกษุผู้เป็นไข้เหล่านั้นใดดังนี้เป็นต้น ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตสมัยก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ บวชเป็นนักบวชในลัทธิภายนอก แม้รักษาเพียงศีล ๕ ก็ไม่เก็บก้อนเกลือไว้ เพื่อประโยชน์ในวันรุ่งขึ้น
ส่วนเธอทั้งหลายบวชในศาสนาที่นำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เมื่อพากันทำการสะสมอาหารไว้ เพื่อประโยชน์แก่วันที่ ๒ วันที่ ๓ ชื่อว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าคันธาระในคันธารรัฐ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ โดยพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ทรงครองราชย์โดยธรรม. แม้ในมัชฌิมประเทศ พระเจ้าวิเทหะก็ทรงครองราชย์ในวิเทหรัฐ. พระราชาทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงเป็นพระสหายที่ไม่เคยเห็นกัน แต่ก็ทรงมีความคุ้นเคยกันอย่างมั่นคง.
คนสมัยนั้นมีอายุยืนดำรงชีวิตอยู่ได้ถึง ๓ แสนปี. ดังนั้นในวันอุโบสถกลางเดือน พระเจ้าคันธาระก็ทรงสมาทานศีลเป็นครั้งคราว แล้วเสด็จไปประทับบนพระบวรบัลลังก์ภายในชั้นที่โอ่โถง ทรงตรวจดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออกทางสีหปัญชรที่เปิดไว้ ตรัสถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรมแก่เหล่าอำมาตย์
ขณะนั้น พระราหูได้บดบังดวงจันทร์เต็มดวง เหมือนกระโดดโลดเต้นไปในท้องฟ้า แสงจันทร์อันตรธานหายไป. อำมาตย์ทั้งหลายไม่เห็นแสงพระจันทร์ จึงทูลพระราชาถึงภาวะที่ดวงจันทร์ถูกราหูยึดไว้
พระราชาทรงทอดพระเนตรพระจันทร์ ทรงพระดำริว่า พระจันทร์นี้เศร้าหมองอับแสงไปเพราะสิ่งเศร้าหมองที่จรมา. แม้ข้าราชบริพารนี้ก็เป็นเครื่องเศร้าหมองสำหรับเราเหมือนกัน แต่การที่เราจะเป็นผู้หมดสง่า ราศรีเหมือนดวงจันทร์ที่ถูกราหูยึดไว้นั้น ไม่สมควรแก่เราเลย.
เราจักละราชสมบัติออกบวช เหมือนดวงพระจันทร์สัญจรไปในท้องฟ้าที่บริสุทธิ์ฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรด้วยผู้อื่นที่เราตักเตือนแล้ว เราจักเป็นเสมือนผู้ไม่ข้องอยู่ด้วยตระกูลและหมู่คณะ ตักเตือนตัวเองเท่านั้นเที่ยวไป นี้เป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับเรา แล้วทรงมอบราชสมบัติให้แก่เหล่าอำมาตย์ด้วยพระดำรัสว่า
ท่านทั้งหลายจงพากันแต่งตั้งผู้ที่ท่านทั้งหลายต้องประสงค์ให้เป็นพระราชาเถิด.
พระราชาในคันธารรัฐนั้นทรงสละราชสมบัติ เสด็จออกทรงผนวชเป็นฤๅษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้นแล้ว ทรงเอิบอิ่มด้วยความยินดีในฌาน สำเร็จการอยู่ในท้องถิ่นดินแดนหิมพานต์.
ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะตรัสถามพวกพ่อค้าทั้งหลายว่า พระราชาพระสหายของเราสบายดีหรือ?
ทรงทราบว่า พระองค์เสด็จออกทรงผนวชแล้ว ทรงดำริว่า เมื่อสหายของเราทรงผนวชแล้ว เราจักทำอย่างไรกับราชสมบัติ แล้วจึงทรงสละราชสมบัติในมิถิลนครกว้างยาว ๗ โยชน์ คลังที่เต็มเพียบอยู่ในหมู่บ้าน ๑๖,๐๐๐ หมู่บ้าน ในวิเทหรัฐประมาณ ๓๐๐ โยชน์และหญิงฟ้อน ๑๖,๐๐๐ นาง ไม่ทรงคำนึงถึงพระราชโอรส และพระราชธิดา เสด็จสู่ท้องถิ่นดินแดนหิมพานต์ทรงผนวชแล้ว เสวยผลไม้ตามที่มี ประทับอยู่ไม่เป็นประจำเที่ยวสัญจรไป.
ทั้ง ๒ ท่านนั้นประพฤติพรตและอาจาระสม่ำเสมอ ภายหลังได้มาพบกันแต่ก็ไม่รู้จักกัน ชื่นชมกันประพฤติพรตและอาจาระสม่ำเสมอกัน.
ครั้งนั้น วิเทหดาบสทำการอุปัฏฐากท่านคันธารดาบส ในวันเพ็ญวันหนึ่ง เมื่อท่านทั้งสองนั้นนั่งกล่าวกถาที่ประกอบด้วยธรรมกัน ณ ควงไม้ต้นใดต้นหนึ่ง พระราหูบดบังดวงจันทร์ ที่ลอยเด่นอยู่ท้องฟ้า.
ท่านวิเทหดาบสคิดว่า แสงพระจันทร์หายไป เพราะอะไรหนอ จึงมองดูเห็นพระจันทร์ถูกราหูยึดไว้ จึงเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ อะไรหนอนั่น ได้บดบังพระจันทร์ทำให้หมดรัศมี.
ท่านคันธารดาบสตอบว่า ดูก่อนอันเตวาสิก นี้ชื่อว่า ราหูเป็นเครื่องเศร้าหมองอย่างหนึ่งของพระจันทร์ ไม่ให้พระจันทร์ส่องแสงสว่าง แม้เราเห็นดวงจันทร์ถูกราหูบังแล้ว คิดว่า ดวงจันทร์ที่บริสุทธิ์นี้ ก็กลายเป็นหมดแสงไป เพราะเครื่องเศร้าหมองที่จรมา
ราชสมบัตินี้ก็เป็นเครื่องเศร้าหมองแม้สำหรับเรา เราจักบวชอยู่จนกระทั่งราชสมบัติจะไม่ทำให้เราอับแสง เหมือนราหูบังดวงจันทร์ แล้วทำดวงจันทร์ที่ถูกราหูบังนั่นเองให้เป็นอารมณ์ ทอดทิ้งราชสมบัติใหญ่หลวงบวชแล้ว.
วิเทหดาบสถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านเป็นพระเจ้าคันธาระหรือ?
คันธารดาบส ถูกแล้ว ผมเป็นพระเจ้าคันธาระ.
วิ. ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมเองก็ชื่อว่า พระเจ้าวิเทหะ ในมิถิลนครในวิเทหรัฐ พวกเราเป็นสหายที่ยังไม่เคยเห็นกันมิใช่หรือ?
คัน. ก็ท่านมีอะไรเป็นอารมณ์ จึงออกบวช?
วิ. กระผมได้ทราบว่าท่านบวชแล้ว คิดว่า ท่านคงได้เห็นคุณมหันต์ของการบวชแน่นอน จึงทำท่านนั่นแหละให้เป็นอารมณ์ แล้วสละราชสมบัติออกบวช.
ตั้งแต่นั้นมา ดาบสทั้ง ๒ นั้นสมัครสมานกันชื่นชมกันเหลือเกิน เป็นผู้มีผลไม้เท่าที่หาได้เป็นโภชนาหาร ท่องเที่ยวไป. ก็แหละทั้ง ๒ ท่านอยู่ด้วยกัน ณ ที่นั้นมาเป็นเวลานาน จึงพากันลงมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อต้องการลิ้มรสเค็มรสเปรี้ยว ลุถึงชายแดนตำบลหนึ่ง. คนทั้งหลายเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน ถวายภิกษารับปฏิญญาแล้ว พากันสร้างที่พักกลางคืนเป็นต้นให้ท่านอยู่ในป่า แม้ในระหว่างทางก็พากันสร้างบรรณศาลาไว้ในที่ๆ มีน้ำสะดวกเพื่อต้องการให้ท่านทำภัตกิจ ท่านพากันเที่ยวภิกขาจารที่บ้านชายแดนนั้นแล้ว นั่งฉันที่บรรณศาลาหลังนั้นแล้ว จึงไปที่อยู่ของตน.
คนแม้เหล่านั้นเมื่อถวายอาหารท่าน บางครั้งก็ถวายเกลือใส่ลงในบาตร บางคราวก็ห่อใบตองถวาย บางคราวก็ถวายอาหารที่มีรสไม่เค็มเลย.
วันหนึ่ง พวกเขาได้ถวายเกลือจำนวนมากในห่อใบตองแก่ท่านเหล่านั้น. วิเทหดาบสถือเอาเกลือไปด้วย เวลาภัตกิจของพระโพธิสัตว์ก็ถวายจนพอ ฝ่ายตนเองก็หยิบเอาประมาณพอควร ที่เกินต้องการก็ห่อใบตองแล้วเก็บไว้ที่ต้นหญ้า ด้วยคิดว่า จักใช้ในวันที่ไม่มีเกลือ
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อได้อาหารจืด ท่านวิเทหดาบสถวายภาชนะภิกษาแก่ท่านคันธาระแล้ว นำเกลือออกมาจากระหว่างต้นหญ้าแล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ นิมนต์ท่านรับเกลือ.
คันธารดาบสถามว่า วันนี้คนทั้งหลายไม่ได้ถวายเกลือ ท่านได้มาจากไหน?
วิ. ข้าแต่ท่านอาจารย์ ในวันก่อนคนทั้งหลายได้ถวายเกลือมาก กระผมจึงเก็บเกลือที่เกินความต้องการไว้ด้วยตั้งใจว่า จักใช้ในวันที่อาหารมีรสจืด.
พระโพธิสัตว์จึงต่อว่า วิเทหดาบสว่า โมฆบุรุษเอ๋ย ท่านละทิ้งวิเทหรัฐประมาณ ๓ ร้อยโยชน์มาแล้ว ถึงความไม่มีกังวลอะไร บัดนี้ยังเกิดความทะยานอยากในก้อนเกลืออีกหรือ
เมื่อจะตักเตือน ท่านจึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ท่านละทิ้งหมู่บ้านที่บริบูรณ์ ๑๖,๐๐๐ หมู่ และคลังที่เต็มด้วยทรัพย์มาแล้ว บัดนี้ยังจะทำการสะสมอยู่อีก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกฏฺฐาคารานิ ได้แก่ คลังทองคลังเงินคลังแก้ว มีแก้วมณีและแก้วมุกดาเป็นต้น ทั้งคลังผ้า และคลังข้าวเปลือก.
บทว่า ผีตานิ ความว่า เต็มแล้ว.
บทว่า สนฺนิธินฺทานิ กุพฺพสิ ความว่า บัดนี้ ท่านยังจะทำการสะสมเพียงเกลือ ด้วยคิดว่า จักใช้พรุ่งนี้ จักใช้วันที่ ๓.

วิเทหดาบสถูกตำหนิอยู่อย่างนี้ ทนคำตำหนิไม่ได้ กลายเป็นปฏิปักษ์ไป เมื่อจะแย้งว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านไม่เห็นโทษของตัวเอง เห็นแต่โทษของผมอย่างเดียว ท่านดำริว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยคนอื่นที่ตักเตือนเรา เราจักเตือนตัวเราเอง ทอดทิ้งราชสมบัติออกบวชแล้ว แต่วันนี้ เหตุไฉน ท่านจึงตักเตือนผม
จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ท่านละทิ้งที่อยู่คือคันธารรัฐ หนีจากการปกครอง ในราชธานีที่มีทรัพย์พอเพียงแล้ว บัดนี้ ยังจะปกครองในที่นี้อีก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสาสนิโต ความว่า จากการตักเตือนและการพร่ำสอน.
บทว่า อิธ ทานิ ความว่า เหตุไฉน บัดนี้ท่านจึงตักเตือนในที่นี้ คือในป่าอีก.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
ดูก่อนท่านวิเทหะ เรากล่าวธรรมะความจริง เราไม่ชอบอธรรม ความไม่จริง เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ บาปก็ไม่เปรอะเปื้อนเรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ สภาวะความเป็นเอง คือเหตุที่บัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงพรรณนาสรรเสริญแล้ว.
บทว่า อธมฺโม เม น รุจฺจติ วามว่า ธรรมดา อธรรมไม่ใช่สภาวะความเป็นเอง เราก็ไม่ชอบใจแต่ไหนแต่ไรมา.
บทว่า น ปาปมุปลิมฺปติ ความว่า เมื่อเรากล่าวสภาวะนั่นเองหรือเหตุนั่นแหละอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปจะไม่ติดอยู่ในใจ.
ธรรมดา การให้โอวาทนี้เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก และโพธิสัตว์ทั้งหลาย. ถึงคนพาลจะไม่รับเอาโอวาทที่ท่านเหล่านั้นให้แล้ว แต่ผู้ให้โอวาทก็ไม่มีบาปเลย.
เมื่อจะแสดงอีก จึงกล่าวคาถาว่า :-
ผู้มีปัญญา คนใดมักชี้โทษมักพูดบำราบ
คนควรมองให้เหมือนผู้บอกขุมทรัพย์
ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่า
เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น จะมีแต่ความดีไม่มีความชั่ว
คนควรตักเตือน ควรพร่ำสอนและควรห้ามเขาจากอสัตบุรุษ
เพราะเขาจะเป็นที่รักของเหล่าสัตบุรุษ
ไม่เป็นที่รักของเหล่าอสัตบุรุษ.


วิเทหดาบสฟังถ้อยคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ บุคคลแม้เมื่อกล่าวถ้อยคำที่อิงประโยชน์ ก็ไม่ควรกล่าวกระทบเสียดแทงผู้อื่น ท่านกล่าวคำหยาบคายมาก เหมือนโกนผมด้วยมีดโกนไม่คมแล้ว
จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
คนอื่นได้รับความแค้นเคือง เพราะคำพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำนั้นจะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรพูด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยนเกนจิ ความว่า ด้วยเหตุ แม้ประกอบด้วยธรรม.
บทว่า ลภติ รุปฺปนํ ความว่า ได้รับความกระทบกระทั่ง ความแค้นเคือง คือความเดือดดาล.
บทว่า นตํ ภาเสยฺย มีเนื้อความว่า เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรกล่าววาจา ที่เป็นเหตุให้ประทุษร้ายบุคคลอื่นนั้น ที่มีประโยชน์มาก คือแม้ที่อิงอาศัยประโยชน์ตั้งมากมาย.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถาที่ ๕ แก่วิเทหดาบสนั้นว่า :-
ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด หรือจะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่า บาปย่อมไม่เปรอะเปื้อนเรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามํ ความว่า โดยส่วนเดียว.
มีคำอธิบายว่า บุคคลผู้ทำกรรมไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนว่า ท่านทำกรรมไม่สมควรแล้ว จะโกรธโดยส่วนเดียวก็ตาม หรือไม่โกรธก็ตาม.
อีกอย่างหนึ่ง เขาจะเขี่ยทิ้งเหมือนกำแกลบหว่านทิ้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่มี.
ก็แหละพระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ได้ดำรงอยู่ในข้อปฏิบัติที่สมควรแก่โอวาทของพระสุคตนี้ ว่า
ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตจักไม่ทะนุถนอมเลย เหมือนช่างหม้อทะนุถนอมภาชนะดินเหนียวที่ยังดิบๆ ฉะนั้น เราตถาคตจักบำราบเอาบำราบเอา ผู้ใดหนักแน่นเป็นสาระ ผู้นั้นก็จักดำรงอยู่ได้.
เมื่อจะตักเตือนวิเทหดาบสอีกเพื่อแสดงให้เห็นว่า ท่านตักเตือนบำราบแล้ว ตักเตือนบำราบอีก จึงรับบุคคลทั้งหลายผู้เช่นกับภาชนะดินที่เผาสุกแล้วไว้ เหมือนช่างหม้อเคาะดูแล้วเคาะดูอีก ไม่รับเอาภาชนะดินที่ยังดิบไว้ รับเอาเฉพาะภาชนะดินที่เผาสุกแล้วเท่านั้นไว้ ฉะนั้น ดังนี้แล้ว
จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาไว้ว่า :-
ถ้าสัตว์เหล่านี้ไม่มีปัญญาของตนเอง
หรือวินัยที่ศึกษาดีแล้วไซร้
คนจำนวนมากก็จะเที่ยวไป
เหมือนกระบือตาบอดเที่ยวไปในป่า ฉะนั้น
แต่เพราะเหตุที่ธีรชนบางเหล่า
ศึกษาดีแล้วในสำนักอาจารย์
ฉะนั้น ธีรชนผู้มีวินัยที่ได้แนะนำแล้ว
จึงมีจิตตั้งมั่นเที่ยวไปอยู่.


คาถานี้มีเนื้อความว่า
ดูก่อนสหายวิเทหะ เพราะว่า ถ้าหากสัตว์เหล่านี้ไม่มีปัญญา หรือไม่มีวินัยคืออาจารบัญญัติ ที่ศึกษาดีแล้ว เพราะอาศัยเหล่าบัณฑิตผู้ให้โอวาทไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้คนเป็นอันมาก ก็จะเป็นเช่นท่าน เที่ยวไปเหมือนกระบือตาบอด ไม่รู้ที่ที่เป็นที่โคจรหรืออโคจร มีสิ่งที่น่ารังเกียจหรือไม่มีสิ่งที่น่ารังเกียจ เที่ยวไปในพงหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น
แต่เพราะเหตุที่ สัตว์บางพวกในโลกนี้ที่ปราศจากปัญญาของตน ศึกษาดีแล้วด้วยอาจารบัญญัติในสำนักอาจารย์ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีวินัยที่แนะนำแล้ว เพราะตนเป็นผู้ที่อาจารย์แนะนำแล้ว ด้วยวินัยที่เหมาะสม คือเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ได้แก่เป็นผู้มีจิตเป็นสมาธิ เที่ยวไป ดังนี้.
ด้วยคาถานี้ ท่านคันธารดาบสแสดงคำนี้ไว้ว่า จริงอยู่ คนนี้เป็นคฤหัสถ์ ก็ศึกษาสิกขาที่สมควรแก่ตระกูลของตน เป็นบรรพชิตก็ศึกษาสิกขาที่สมควรแก่บรรพชิต
อธิบายว่า
ฝ่ายคฤหัสถ์เป็นผู้ศึกษาดีใน กสิกรรมและโครักขกรรม เป็นต้น ที่เหมาะสมแก่ตระกูลของตนแล้วเที่ยว ก็จะเป็นผู้มีความเป็นอยู่สมบูรณ์ มีใจมั่นคง เที่ยวไป.
ส่วนบรรพชิตเป็นผู้ศึกษาดีในอาจาระ มีการก้าวไปข้างหน้า และการถอยกลับเป็นต้น และในอธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาทั้งหลายที่เหมาะสมแก่บรรพชิต ที่น่าเลื่อมใสแล้ว ก็เป็นผู้ปราศจากความฟุ้งซ่าน มีจิตตั้งมั่นเที่ยวไป.
เพราะว่า ในโลกนี้ :-
ความเป็นพหูสูต ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาที่เป็นสุภาษิต ๑ สามอย่างนี้เป็นมงคลอันสูงสุด ดังนี้.


วิเทหดาบสได้ฟังคำนั้นแล้ว ไหว้ขอขมาพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอท่านจงตักเตือน จงพร่ำสอนเราเถิด เรากล่าวกะท่าน เพราะความเป็นผู้ไม่มีความยับยั้งใจโดยกำเนิด ขอท่านจงให้อภัยแก่เราเถิด.
ท่านทั้งสองนั้นอยู่สมัครสมานกันแล้ว ได้พากันไปป่าหิมพานต์อีกนั่นแหละ ณ ที่นั้น พระโพธิสัตว์ได้บอกกสิณบริกรรมแก่วิเทหดาบส ท่านสดับแล้วยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น ทั้งสองท่านนั้นเป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมแล้ว ได้เป็นผู้มีพรหมโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า
วิเทหราชาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอานนท์ ในบัดนี้
ส่วนคันธารราชา ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.


จบ อรรถกถาคันธารชาดกที่ ๑

ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1043

หากมีคนใดที่พูดชี้โทษให้ ควรมองผู้นั้นเหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ ๖
๖. บัณฑิตวรรควรรณนา
๑. เรื่องพระราธเถระ [๖๐]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท่านพระราธะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "นิธีนํว ปวตฺตารํ" เป็นต้น.

ราธพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช
ได้ยินว่า พระราธะนั้น ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ ได้เป็นพราหมณ์ตกยากอยู่ในกรุงสาวัตถี. เขาคิดว่า "เราจักเลี้ยงชีพอยู่ในสำนักของภิกษุทั้งหลาย" ดังนี้แล้ว ไปสู่วิหาร ดายหญ้า กวาดบริเวณ ถวายวัตถุมีน้ำล้างหน้าเป็นต้น อยู่ในวิหารแล้ว. ภิกษุทั้งหลายได้สงเคราะห์เธอแล้วก็ตาม, แต่ก็ไม่ปรารถนาจะให้บวช. เขาเมื่อไม่ได้บวช จึงซูบผอมแล้ว.

ราธพราหมณ์มีอุปนิสัยพระอรหัต
ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้นแล้ว ทรงใคร่ครวญอยู่ว่า "เหตุอะไรหนอ?" ดังนี้แล้ว ทรงทราบว่า "ราธพราหมณ์จักเป็นพระอรหันต์"
ในเวลาเย็น เป็นเหมือนเสด็จเที่ยวจาริกไปในวิหาร เสด็จไปสู่สำนักของ
พราหมณ์ แล้วตรัสถามว่า "พราหมณ์ เธอเที่ยวทำอะไรอยู่?" เขากราบทูลว่า "ข้าพระองค์ทำวัตรปฏิวัตรแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. เธอได้การสงเคราะห์จากสำนักของภิกษุเหล่านั้นหรือ?
พราหมณ์. ได้พระเจ้าข้า, ข้าพระองค์ได้แต่เพียงอาหาร, แต่ท่านไม่ให้ข้าพระองค์บวช.

พระสารีบุตรเป็นผู้กตัญญูกตเวที
พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเรื่องนั้นแล้ว ตรัสถามความนั้นแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใครๆ ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ มีอยู่บ้างหรือ?" พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ระลึกได้, เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ให้คนถวายภิกษาทัพพีหนึ่งที่เขานำมาเพื่อตน, ข้าพระองค์ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้."
เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "สารีบุตร ก็การที่เธอเปลื้องพราหมณ์ผู้มีอุปการะอันกระทำแล้วอย่างนี้จากทุกข์ ไม่ควรหรือ?" ท่านกราบทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า, ข้าพระองค์จักให้เขาบวช" จึงให้พราหมณ์นั้นบวชแล้ว.

พราหมณ์บวชแล้วเป็นคนว่าง่าย
อาสนะที่สุดแห่งอาสนะในโรงฉันย่อมถึงแก่ท่าน, ท่านลำบากอยู่ด้วยอาหารวัตถุมีข้าวยาคูและภัตเป็นต้น. พระเถระพาท่านหลีกไปสู่ที่จาริกแล้ว, กล่าวสอน พร่ำสอนท่านเนืองๆ ว่า "สิ่งนี้ คุณควรทำ, สิ่งนี้ คุณไม่ควรทำ" เป็นต้น. ท่านได้เป็นผู้ว่าง่าย มีปกติรับเอาโอวาทโดยเคารพแล้ว, เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปฏิบัติตามคำที่พระเถระพร่ำสอนอยู่ โดย ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว. พระเถระพาท่านไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมนั่งแล้ว.
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกะท่านแล้ว ตรัสว่า "สารีบุตร อันเตวาสิกของเธอเป็นผู้ว่าง่ายแลหรือ?"
พระเถระ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า เธอเป็นผู้ว่าง่ายเหลือเกิน เมื่อโทษไรๆ ที่ข้าพระองค์แม้กล่าวสอนอยู่ ไม่เคยโกรธเลย.
พระศาสดา. สารีบุตร เธอเมื่อได้สัทธิวิหาริกเห็นปานนี้ จะพึงรับได้ประมาณเท่าไร?
พระเถระ. ข้าพระองค์พึงรับได้แม้มากทีเดียว พระเจ้าข้า.

พวกภิกษุสรรเสริญพระสารีบุตรและพระราธะ
ภายหลังวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระเป็นผู้กตัญญูกตเวที ระลึกถึงอุปการะสักว่าภิกษาทัพพีหนึ่ง ให้พราหมณ์ตกยากบวชแล้ว; แม้พระราธเถระก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาท ย่อมได้ท่านผู้ควรแก่การให้โอวาทเหมือนกันแล้ว."

พระศาสดาทรงแสดงอลีนจิตตชาดก
พระศาสดาทรงสดับกถาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น, ถึงในกาลก่อน สารีบุตรเป็นผู้กตัญญูกตเวทีเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว เพื่อจะประกาศความนั้น จึงตรัส อลีนจิตตชาดก๑- ในทุกนิบาตนี้ ให้พิสดารว่า :-
"เสนาหมู่ใหญ่อาศัยเจ้าอลีนจิตตกุมาร ร่าเริงทั่วกันแล้ว
ได้ให้ช้างจับพระเจ้าโกศลทั้งเป็น ผู้ไม่พอพระทัยด้วยราชสมบัติ,
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิสัยอย่างนี้ เป็นผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว
เจริญกุศลธรรมอยู่, เพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ พึง
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ."

ได้ยินว่า ช้างตัวหนึ่งเที่ยวไปตัวเดียว รู้อุปการะที่พวกช่างไม้ทำแล้วแก่ตน โดยภาวะคือทำเท้าให้หายโรค แล้วให้ลูกช้างตัวขาวปลอด ในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตรเถระแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๖๑; อรรถกถา ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๖๑.

ภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายอย่างพระราธะ
พระศาสดา ครั้นตรัสชาดกปรารภพระเถระอย่างนั้นแล้ว ทรงปรารภพระราธเถระ ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ, แม้อาจารย์ชี้โทษกล่าวสอนอยู่ ก็ไม่ควรโกรธ อนึ่ง ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้ฉะนั้น"
ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๑. นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย.
บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะ ชี้โทษ
ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้, พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น
ซึ่งเป็นบัณฑิต, (เพราะว่า) เมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณ
อย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก.

แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิธีนํ ได้แก่ หม้อแห่งขุมทรัพย์อันเต็มด้วยเงินทองเป็นต้น ซึ่งเขาฝังเก็บไว้ในที่นั้นๆ.
บทว่า ปวตฺตารํ คือ เหมือนอย่างผู้ทำความอนุเคราะห์คนเข็ญใจ ซึ่งเป็นอยู่โดยฝืดเคือง แล้วชักชวนว่า "ท่านจงมา, เราจักชี้อุบายเลี้ยงชีพโดยสะดวกแก่ท่าน" ดังนี้แล้ว นำไปยังที่ขุมทรัพย์แล้ว เหยียดมือออกบอกว่า "ท่านจงถือเอาทรัพย์นี้ เลี้ยงชีพตามสบายเถิด."
วินิจฉัยในบทว่า วชฺชทสฺสินํ
ภิกษุผู้ชี้โทษมี ๒ จำพวก คือ
ภิกษุคอยแส่หาโทษ ด้วยคิดว่า "เราจักข่มภิกษุนั้นด้วยมารยาทอันไม่สมควร หรือด้วยความพลั้งพลาดอันนี้ในท่ามกลางสงฆ์" ดังนี้ จำพวก ๑,
ภิกษุผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชูด้วยการแลดูโทษนั้นๆ เพื่อประโยชน์จะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อต้องการจะได้ตามถือเอาสิ่งที่รู้แล้ว เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีลเป็นต้นแก่ผู้นั้น จำพวก ๑;
ภิกษุจำพวกหลังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ในบทว่า วชฺชทสฺสินํ นี้.
คนเข็ญใจถูกผู้อื่นคุกคามก็ดี ตีก็ดี ชี้ขุมทรัพย์ให้ว่า "แกจงถือเอาทรัพย์นี้" ย่อมไม่ทำความโกรธ, มีแต่ปราโมทย์อย่างเดียว ฉันใด; เมื่อบุคคลเห็นปานดังนั้น เห็นมารยาทมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาดก็ดี แล้วบอกอยู่, ผู้รับบอกไม่ควรทำความโกรธ ควรเป็นผู้ยินดีอย่างเดียว ฉันนั้น, ควรปวารณาทีเดียวว่า "ท่านเจ้าข้า กรรมอันใหญ่ อันท่านผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌาย์ของกระผมแล้ว สั่งสอนอยู่กระทำแล้ว, แม้ต่อไป ท่านพึงโอวาทกระผม" ดังนี้.
บทว่า นิคฺคยฺหวาทึ ความว่า ก็อาจารย์บางท่านเห็นมรรยาท อันมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาดก็ดี ของพวกศิษย์มีสัทธิวิหาริกเป็นอาทิแล้ว ไม่อาจเพื่อจะพูด ด้วยเกรงว่า "ศิษย์ผู้นี้อุปัฏฐากเราอยู่ด้วยกิจวัตร มีให้น้ำบ้วนปากเป็นต้นแก่เรา โดยเคารพ ถ้าเราจักว่าเธอไซร้ เธอจักไม่อุปัฏฐากเรา ความเสื่อมจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้ ย่อมหาชื่อว่าเป็นผู้กล่าวนิคคหะไม่, เธอผู้นั้นชื่อว่าเรี่ยรายหยากเยื่อลงในศาสนานี้.
ส่วนอาจารย์ใด เมื่อเห็นโทษปานนั้นแล้ว คุกคาม ประฌาม ลงทัณฑกรรม ไล่ออกจากวิหาร ตามสมควรแก่โทษ ให้ศึกษาอยู่. อาจารย์นี้ ชื่อว่าผู้กล่าวนิคคหะ แม้เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
สมจริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้ว่า
"ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวข่มๆ ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวยกย่องๆ ผู้ใดเป็นสาระ ผู้นั้นจักดำรงอยู่ได้."

บทว่า เมธาวึ คือ ผู้ประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม.
บทว่า ตาทิสํ เป็นต้น ความว่า บุคคลพึงคบ คือพึงเข้าไปนั่งใกล้ บัณฑิตเห็นปานนั้น, เพราะเมื่ออันเตวาสิกคบอาจารย์เช่นนั้นอยู่, คุณอย่างประเสริฐย่อมมี โทษที่ลามกย่อมไม่มี คือมีแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเสีย.
ในที่สุดเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระราธเถระ จบ.
----------------------

ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=16&p=1

ถ้อยคำของมิตรแท้...

มงคลที่ ๒

คบบัณฑิต - ถ้อยคำของมิตรแท้

ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด จะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเขากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่เปรอะเปื้อน

การสร้างบารมี เป็นงานที่สำคัญยิ่งของมวลมนุษยชาติ เราเกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติเพื่อบ่มบารมีให้แก่รอบ โดยเดินตามรอยบาทของพระบรมศาสดา มุ่งแสวงหาธรรมกายที่ มีอยู่ภายใน ทำใจหยุดใจนิ่งจนกระทั่งบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือที่สุดแห่งธรรม แต่ในระหว่างทางที่เราสร้างบารมีอยู่นั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะต้องพบเจอกับอุปสรรค

อุปสรรคเหล่านั้น เป็นเพียงเครื่องทดสอบกำลังใจของนักสร้างบารมี หากเราใช้สติปัญญาและขันติธรรม เราย่อมผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาเหล่านั้นไปได้พร้อมกับใจที่ผ่องใส

มีวาระพระบาลีใน คันธารชาดก กล่าวไว้ว่า

"กามํ รุปฺปตุ วา มา วา ภูสํ วา วิกิริยฺยตุ
ธมฺมํ เม ภณมานสฺส น ปาปมุปลิมฺปติ

ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด จะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเขากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่เปรอะเปื้อน"

ผู้มีหัวใจยอดกัลยาณมิตร มี ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เมื่อเห็นข้อบกพร่องของผู้ใดแล้ว มีกำลังใจพอที่จะว่ากล่าวตักเตือน และพูดออกไปด้วยความหวังดี นับว่าเป็นผู้ที่หาได้ยากในโลก คนที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีจิตใจสูงส่ง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใหญ่เป็นหลัก แม้บางครั้งจะต้องพบกับความไม่พอใจหรือไม่เข้าใจของผู้ที่เราว่ากล่าวตัก เตือน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ใจของผู้ชี้บอกขุมทรัพย์จะต้องยิ่งใหญ่และผ่องใสเสมอ อย่าให้สูญเสียความละเอียดไปอย่างเด็ดขาด เช่นนี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล

ส่วนผู้ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน ให้ทำตนประหนึ่งรวงข้าวที่เต็มบริบูรณ์ น้อมรวงลง ไม่ยะโสโอหัง ยอมรับฟังคำเตือนนั้น แม้ว่าบางครั้งเราจะเกิดความรู้สึกที่ไม่พอใจกับคำเตือนนั้น แต่หากบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายได้รับฟังคำเตือนของผู้รู้ และน้อมนำมาปฏิบัติตามแล้ว จะทำให้ใจอ่อนโยนควรค่าแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม และยังจะส่งผลให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

*ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งขณะประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันพระบรมศาสดาได้ยกตัวอย่างการสร้าง บารมีของพระองค์มาเล่าให้พระภิกษุทั้งหลายฟัง สาเหตุของการตรัสเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองราชคฤห์ ตอนนั้น พระปิลินทวัจฉเถระ พระอริยเจ้าผู้เป็นพุทธสาวกได้ไปที่พระราชวังเพื่อโปรดคนรักษาอาราม แล้วได้สร้างปราสาททองถวายพระราชาด้วยกำลังฤทธิ์ มหาชนต่างพากันเลื่อมใส จึงส่งเภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยไปถวายท่าน พระเถระเป็นผู้ที่ไม่สั่งสมอยู่แล้ว จึงแจกจ่ายให้กับพระภิกษุผู้เป็นลูกศิษย์ ศิษย์เหล่านั้นได้เก็บสะสมไว้ในหม้อบ้าง ในถลกบาตรบ้าง

ญาติโยมทั้งหลายเห็นการกระทำนั้น จึงพากันติเตียนโพนทะนาว่า สมณะทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้มักมากจริงๆ ได้อาหารเท่าไรก็ยังไม่รู้จักพอ พากันสะสมมากมายก่ายกองอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะไปตั้งเป็นคลังสินค้าหรืออย่างไร เมื่อเรื่องราวนั้นรู้ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตในกาลก่อน แม้ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสด็จอุบัติขึ้น ยังเป็นนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา รักษาเพียงศีล ๕ เท่านั้น ก็ไม่สะสมแม้ก้อนเกลือไว้เพื่อในวันรุ่งขึ้น ส่วนพวกเธอออกบวชมีจุดมุ่งหมาย เพื่อที่จะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ในศาสนาของเราตถาคต ยังพากันสะสมอาหารไว้เพื่อฉันในวันที่ ๒ ที่ ๓ ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง" จากนั้นทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า

ในสมัยที่ยังสร้างบารมี มีอยู่พระชาติหนึ่งที่พระโพธิสัตว์เกิด เป็นพระโอรสของ พระเจ้าคันธาระ อยู่ที่คันธารรัฐ เมื่อพระบิดาสวรรคตจึงเสด็จถวัลย์ราชสมบัติ ทรงครองราชย์โดยธรรม พระเจ้าคันธาระเป็นผู้ที่มีพระอัธยาศัยงดงาม มีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ ทรงมีพระราชไมตรีกับแว่นแคว้นต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ พระเจ้าวิเทหะ ที่ครองราชย์อยู่ที่วิเทหรัฐ ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชาที่ถูกอัธยาศัยกันเป็นพิเศษ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นหน้ากันและกัน เพียงแต่เจริญสัมพันธไมตรีกันตลอดมา คนในยุคนั้นมีอายุยืนถึง ๓๐๐,๐๐๐ ปีทีเดียว ทุกวันอุโบสถพระเจ้าคันธาระจะสมาทานศีล เสด็จประทับบนบัลลังก์แล้วจะตรัสถ่อยคำที่ประกอบด้วยธรรม ให้โอวาทแก่ข้าราชบริพารอย่างสม่ำเสมอ

วันหนึ่ง หลังจากที่พระเจ้าคันธาระสมาทานศีลแล้ว ขณะประทับนั่งและให้โอวาทแก่ข้าราชบริพารอยู่นั้น ทรงทอดพระเนตรออกไปทางนอกพระบัญชร เห็นพระราหูได้บดบังดวงจันทร์ที่เต็มดวง แสงจันทร์ที่ทอแสงสว่างนวลกระจ่างตาในคํ่าคืนนั้น ถูกกลืนหายไปทันที

พระราชาทอดพระเนตรดูพระจันทร์แล้ว ทรงดำริว่า "พระ จันทร์ที่มีแสงกระจ่างยังเศร้าหมองกับสิ่งที่จรมา แม้ข้าราชบริพารนี้ก็เป็นสิ่งเศร้าหมองสำหรับเรา ทำให้เราไม่สามารถแสวงหาทางหลุดพ้นได้ การที่เราจะเป็นผู้ที่หมดสง่าเหมือนพระจันทร์ที่ถูกราหูอมนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกับเราเลย เราจะเป็นผู้ที่ตักเตือนตัวเอง แสวงหาหนทางที่บริสุทธิ์จะดีกว่า"

เมื่อดำริเช่นนี้แล้ว จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติให้กับอำมาตย์ทั้งหลายพร้อมกับกล่าวว่า "พวกท่านจงแสวงหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นพระราชาเถิด เราต้องการที่จะออกบวช"

พระเจ้าคันธาระจึงออกผนวช โดยอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ ยังฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้น ทรงเอิบอิ่มด้วยฌานสุขที่ได้บรรลุ

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะสหายที่ยังไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เมื่อไม่ได้รับข่าวคราว ของเพื่อนรักหลายวัน ก็นึกสงสัยว่า ทำไมเพื่อนเราจึงขาดการติดต่อมา จนกระทั่งวันหนึ่งมีพ่อค้ามาจากแคว้นคันธาระ จึงตรัสถามพวกพ่อค้าว่า "สหายเรานั้นเป็นอย่างไรบ้าง ยังสุขสบายดีอยู่หรือ"
พ่อค้าทั้งหลายกราบทูลว่า "ตอนนี้พระสหายของพระองค์ ได้สละราชสมบัติออกผนวชเป็นดาบสแล้วพระเจ้าข้า"

พระเจ้าวิเทหะสดับดังนั้น ทรงดำริทันทีว่า "สหายของเราคงเห็นอะไรบางอย่างเป็นแน่จึงออกบวช อย่ากระนั้นเลย เราก็ควรที่จะออกบวชตามสหายรัก เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต"

จากนั้นพระเจ้าวิเทหะก็สละราชสมบัติทั้งหลายออกผนวชเป็นดาบสอาศัยอยู่ที่ป่า หิมพานต์เช่นกัน วันหนึ่งดาบสทั้งสองนี้มาเจอกัน ต่างยังไม่รู้จักกันและกัน เมื่อได้พบปะพูดคุยรู้สึกถูกอัธยาศัย จึงพากันสร้างอาศรมเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ใกล้กัน

ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสององค์นั่งสนทนากันอยู่นั้น วันนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ ได้เกิดเหตุการณ์ราหูอมจันทร์อีกครั้งหนึ่ง วิเทหดาบสสงสัยว่า แสงจันทร์หายไปไหน จึงแหงนดูพระจันทร์ที่ถูกราหูบดบังจนมืดมิด จึงถามคันธารดาบสว่า "ข้าแต่ท่านอาจารย์ ทำไมวันนี้ราตรีไม่มีแสงจันทร์เลย"

คันธารดาบสโพธิสัตว์กล่าวตอบว่า "ดู ก่อนอันเตวาสิก นี้ชื่อว่าราหู เป็นมลทินแห่งจันทร์ แม้ตัวเราเห็นเหตุการณ์อย่างนี้จึงคิดว่า ราชสมบัติก็เป็นมลทินในการแสวงหาความหลุดพ้น เราจึงได้ออกบวช"
วิเทหดาบสฟังเช่นนั้น เกิดความสงสัย จึงถามขึ้นว่า "ท่านอาจารย์ ท่านคือพระเจ้าคันธาระหรือ"

คันธารดาบสก็ตอบยืนยันว่า "ใช่แล้ว เราเคยเป็นพระราชาแห่งคันธาระ"

วิเทหะดีใจยิ่งนัก รีบพูดขึ้นว่า "กระผมเองคือวิเทหะผู้เป็นสหายของท่าน รู้ข่าวว่าท่านออกบวชจึงออกบวชตาม"
เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ที่มาของกันและกัน ก็ยิ่งเพิ่มความรัก ใคร่ปรองดองยิ่งขึ้น วันหนึ่งทั้งคู่ออกจากป่าหิมพานต์มาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านใกล้ชายแดน ชาวบ้านทั้งหลายเห็นท่านดาบสทั้งสอง ต่างพากันออกมาถวายทานกับท่าน และอาราธนาให้ ท่านอยู่ประจำในที่แห่งนั้น

ท่านทั้งสองก็รับอาราธนาและเที่ยวภิกขาจารอยู่ที่นั้นอีก ทั้งมานั่งฉันที่บรรณศาลาที่ชาวบ้านสร้างถวาย ด้วยเหตุที่อาหาร ที่ชาวบ้านนำมาถวายนั้นมีรสหลากหลาย มีทั้งรสจืดสนิท รสเข้มข้น ดังนั้นวิเทหดาบสจึงเก็บเกลือที่ชาวบ้านถวายไว้ เพื่อจะได้ใช้ผสมอาหารที่มีรสจืดในวันต่อๆ ไป วันหนึ่งเมื่อได้อาหารที่ค่อนข้างจืด ท่านจึงนำเกลือนั้นออกมาถวายคันธารดาบส ท่านจึงถามว่า "วันนี้ชาวบ้านไม่ได้ถวายเกลือ ท่านได้เกลือมาจากไหน"

วิเทหดาบสจึงเล่าเรื่องที่ตนเก็บเกลือไว้

ท่านคันธาระรู้จึงตำหนิทันทีว่า "ดูก่อนวิเทหะ ตัวท่านสละราชสมบัติออกบวชแล้ว ยังจะทำการสะสมอยู่อีกหรือ"

เมื่อได้ฟังคำติเตียนตรงๆ อย่างนี้ วิเทหดาบสรู้สึกไม่ พอใจคันธารดาบส คิดว่า "เรื่องเล็กแค่นี้ก็ตำหนิ ทำไมไม่ยอมติเตียนตัวเองบ้าง" จึงตอบโต้ด้วยมานะทิฏฐิว่า "ท่านก็ละทิ้ง รัฐคันธาระมาแล้ว ยังจะปกครองที่นี้อยู่อีกหรือ"

คันธารดาบสรู้ทันทีว่าสหายรักไม่พอใจ แต่หวังประโยชน์ ของสหาย จึงสวมหัวใจของยอดกัลยาณมิตร โดยกล่าวสอนว่า "ดูก่อนวิเทหะ ผู้มีปัญญา หากมีคนใดที่พูดชี้โทษให้ ควรมองผู้นั้นเหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าหากคบผู้นั้นแล้ว จะมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย"

วิเทหดาบสฟังแล้วก็ได้คิด และยอมอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทรงบอกกสิณบริกรรม ทำให้วิเทหดาบสยังฌานและอภิญญาสมาบัติให้บังเกิดขึ้นได้

เราจะเห็นว่า ถ้อยคำของมิตรแท้ที่คอยว่ากล่าวตักเตือนนั้น เป็นถ้อยคำที่ออกมาจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดี ไม่มีความมุ่งร้าย มีแต่จะให้มิตรภาพนั้น เป็นทางมาแห่งประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ไพศาลต่อเพื่อนพรหมจรรย์ ดังนั้นเมื่อได้รับคำตักเตือนจากมิตรแท้ของเราแล้ว ควรที่จะน้อมนำมาปรับปรุงตัวของเราให้ดี อย่าได้ประมาท เมื่อเราทำได้เช่นนี้ เราย่อมจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อม และได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

เอาบุญมาฝากถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน...ขาหมู...เผือกทอด...เงาะ

































Thursday, June 23, 2011

เอื้ออาทร ...อ่อนโยนต่อกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรา อยู่ได้ บนโลกใบนี้













เอื้ออาทร ...อ่อนโยนต่อกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรา อยู่ได้ บนโลกใบนี้

Wednesday, June 22, 2011

การกราบไหว้ท่านผู้มีคุณทำให้อายุยืน















พวงนี้กราบแม่

พวงนี้กราบพ่อ



















อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๔.

๘. เรื่องอายุวัฒนกุมาร [๘๘]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยทีฆลัมพิกนคร ประทับอยู่ ณ กุฎีในป่า๑- ทรงปรารภกุมารผู้อายุยืน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อภิวาทนสีลิสฺส" เป็นต้น.
____________________________
๑- กุฏิกศัพท์ แปลว่า กระท่อม ก็มี คำว่า อรญฺญกุฏิกายํ คงเป็นกระท่อมที่เขาสร้างไว้ในป่า ไม่ใช่สถานที่ประทับยั่งยืน เป็นที่ประทับชั่วคราว.

พราหมณ์ ๒ สหายออกบวช
ได้ยินว่า พราหมณ์ ๒ คนชาวทีฆลัมพิกนคร บวชในลัทธิภายนอก บำเพ็ญตบะสิ้นกาล ๔๘ ปี. บรรดาพราหมณ์ ๒ คนนั้น คนหนึ่งคิดว่า "ประเพณีของเราจักเสื่อมเสีย, เราจักสึก" ดังนี้แล้ว จึงขายบริขารตบะที่ตนทำไว้แก่คนเหล่าอื่น ได้ภรรยาพร้อมด้วยโค ๑๐๐ ตัวและทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ ให้ตั้งไว้เป็นกองทุน. ครั้งนั้น ภรรยาของเขาคลอดเด็ก.
ส่วนสหายของเขานอกจากนี้ไปสู่ต่างถิ่นแล้ว ก็กลับมาสู่นครนั้นอีกนั่นแล. เขาได้ยินความที่สหายนั้นมา จึงได้พาบุตรและภรรยาไปเพื่อต้องการเยี่ยมสหาย, ครั้นถึงแล้วให้บุตรในมือของมารดาแล้วก็ไหว้เองก่อน. แม้มารดาให้บุตรในมือของบิดาแล้วก็ไหว้. สหายนั้นกล่าวว่า "ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน" แต่เมื่อมารดาบิดาให้บุตรไหว้แล้ว สหายนั้นได้นิ่งเสีย.

พราหมณ์ถามเหตุที่สหายไม่ให้พรแก่บุตร
ลำดับนั้น เขากล่าวกะสหายนั้นว่า "ผู้เจริญ ก็เพราะเหตุไร? เมื่อผมไหว้ ท่านจึงกล่าวว่า ' ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน.' ในเวลาที่เด็กนี้ไหว้ ไม่กล่าวคำอะไรๆ?"
สหาย. พราหมณ์ อันตรายอย่างหนึ่งของเด็กนี้มีอยู่.
พราหมณ์. เด็กจักเป็นอยู่ตลอดกาลเท่าไร? ขอรับ.
สหาย. ๗ วัน พราหมณ์.
พราหมณ์. เหตุเป็นเครื่องป้องกัน มีไหม? ขอรับ.
สหาย. เราไม่รู้เหตุเป็นเครื่องป้องกัน.
พราหมณ์. ก็ใครพึงรู้เล่า? ขอรับ.
สหาย. พระสมณโคดม, ท่านจงไปสำนักของพระสมณโคดมนั้น แล้วถามเถิด.
พราหมณ์. ผมไปในที่นั้น กลัวแต่การเสื่อมแห่งตบะ.
สหาย. ถ้าความรักในบุตรของท่านมีอยู่, ท่านอย่าคิดถึงการเสื่อมแห่งตบะ จงไปสำนักของพระสมณโคดมนั้น ถามเถิด.

พราหมณ์ไปเฝ้าพระศาสดา
พราหมณ์นั้นไปสู่สำนักของพระศาสดาไหว้เองก่อน. พระศาสดาตรัสว่า "ท่านจงมีอายุยืน" แม้ในเวลาที่ปชาบดีไหว้ ก็ตรัสแก่นางอย่างนั้นเหมือนกัน ในเวลาที่เขาให้บุตรไหว้ได้ทรงนิ่งเสีย. เขาทูลถามพระศาสดาโดยนัยก่อนนั่นแล. แม้พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์แก่เขาอย่างนั้นเหมือนกัน.
ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นไม่แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ จึงเทียบเคียงมนต์ของตนกับพระสัพพัญญุตญาณ. แต่ไม่รู้อุบายเครื่องป้องกัน.

พระศาสดาตรัสบอกอุบายป้องกัน
พราหมณ์ทูลถามพระศาสดาว่า "ก็อุบายเครื่องป้องกันมีอยู่หรือ? พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. พึงมี พราหมณ์.
พราหมณ์. พึงมีอย่างไร?
พระศาสดา. ถ้าท่านพึงอาจเพื่อทำมณฑปใกล้ประตูเรือนของตน ให้ทำตั่งไว้ตรงกลางมณฑปนั้น แล้วปูอาสนะไว้ ๘ หรือ ๑๖ ที่ ล้อมรอบตั่งนั้น ให้สาวกของเรานั่งบนอาสนะเหล่านั้น ให้ทำพระปริตร ๗ วันไม่มีระหว่าง. อันตรายของเด็กนั้นพึงเสื่อมไป ด้วยอุบายอย่างนี้.
พราหมณ์. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจทำมณฑปเป็นต้นได้. แต่จักได้สาวกของพระองค์อย่างไร?
พระศาสดา. เมื่อท่านทำกิจเท่านี้แล้ว เราจักส่งสาวกของเราไป
พราหมณ์ทูลรับว่า "ดีละ พระโคดมผู้เจริญ" แล้วทำกิจนั้นทั้งหมดใกล้ประตูเรือนของตนแล้ว ได้ไปยังสำนักของพระศาสดา.

พวกภิกษุไปสวดพระปริตร
พระศาสดาทรงส่งภิกษุทั้งหลายไป. ภิกษุเหล่านั้นไปนั่งในมณฑปนั้น. พราหมณ์สามีภริยาให้เด็กนอนบนตั่งแล้ว. ภิกษุทั้งหลายสวดพระปริตร ๗ คืน ๗ วันไม่มีระหว่าง. ในวันที่ ๗ พระศาสดาเสด็จมาเอง.
เมื่อพระศาสดานั้นเสด็จไปแล้ว. พวกเทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว.
ก็อวรุทธกยักษ์ตนหนึ่งบำรุงท้าวเวสวัณ ๑๒ ปี เมื่อจะได้พรจากสำนักท้าวเวสวัณนั้น ได้กล่าวว่า "ในวันที่ ๗ จากวันนี้ ท่านพึงจับเอาเด็กนี้" เพราะฉะนั้น ยักษ์ตนนั้นจึงได้มายืนอยู่. ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จไปในมณฑปนั้น เมื่อพวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกัน. พวกเทวดาผู้มีศักดิ์น้อยถดถอยไป ไม่ได้โอกาส หลีกไปตลอด ๑๒ โยชน์ ถึงอวรุทธกยักษ์ก็ได้หลีกไปยืนอย่างนั้นเหมือนกัน.

เด็กพ้นอันตรายกลับมีอายุยืน
แม้พระศาสดาได้ทรงทำพระปริตรตลอดคืนยังรุ่ง. เมื่อ ๗ วันล่วงแล้ว อวรุทธกยักษ์ไม่ได้เด็ก. ก็ในวันที่ ๘ เมื่ออรุณพอขึ้นเท่านั้น, สองสามีภรรยานำเด็กมาให้ถวายบังคมพระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า "ขอเจ้าจงมีอายุยืนเถิด."
พราหมณ์. พระโคดมผู้เจริญ ก็เด็กจะดำรงอยู่นานเท่าไร?
พระศาสดา. ๑๒๐ ปี พราหมณ์.
ลำดับนั้น ๒ สามีภรรยาขนานนามเด็กนั้นว่า "อายุวัฒนกุมาร" อายุวัฒนกุมารนั้นเติบโตแล้ว อันอุบาสก ๕๐๐ คนแวดล้อมเที่ยวไป.

การกราบไหว้ท่านผู้มีคุณทำให้อายุยืน
ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดู ได้ยินว่า อายุวัฒนกุมารพึงตายในวันที่ ๗ บัดนี้ อายุวัฒนกุมารนั้น (ดำรงอยู่ ๑๒๐ ปี) อันอุบาสก ๕๐๐ คนแวดล้อมเที่ยวไป เหตุเครื่องเจริญอายุของสัตว์เหล่านี้ เห็นจะมี."
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกัน ด้วยเรื่องอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้"
จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อายุเจริญอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่, ก็สัตว์เหล่านี้ไหว้ท่านผู้มีพระคุณ ย่อมเจริญด้วยเหตุ ๔ ประการ, พ้นจากอันตราย ดำรงอยู่จนตลอดอายุทีเดียว" ดังนี้แล้ว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๘. อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.

ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่

บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญ

เป็นนิตย์.

แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิวาทนสีลิสฺส คือ ผู้ไหว้เป็นปกติ ได้แก่ผู้ขวนขวายกิจคือการไหว้เนืองๆ.
บทว่า วุฑฺฒาปจายิโน ความว่า แก่คฤหัสถ์ผู้อ่อนน้อมหรือผู้บูชาเป็นนิตย์ ด้วยการกราบไหว้ แม้ในภิกษุหนุ่มและสามเณรบวชในวันนั้น, ก็หรือแก่บรรพชิตผู้อ่อนน้อมหรือผู้บูชาเป็นนิตย์ ด้วยการกราบไหว้ในท่านผู้แก่กว่าโดยบรรพชาหรือโดยอุปสมบท (หรือ) ในท่านผู้เจริญด้วยคุณ.
สองบทว่า จตฺตาโร ธมฺมา ความว่า เมื่ออายุเจริญอยู่, อายุนั้นย่อมเจริญสิ้นกาลเท่าใด, ธรรมทั้งหลายแม้นอกนี้ ก็เจริญสิ้นกาลเท่านั้นเหมือนกัน ด้วยว่าผู้ใดทำกุศลที่ยังอายุ ๕๐ ปี ให้เป็นไป, อันตรายแห่งชีวิตของผู้นั้นพึงเกิดขึ้นแม้ในกาลมีอายุ ๒๕ ปี, อันตรายนั้นย่อมระงับเสียได้ ด้วยความเป็นผู้กราบไหว้เป็นปกติ. ผู้นั้นย่อมดำรงอยู่ได้จนตลอดอายุทีเดียว. แม้วรรณะเป็นต้นของผู้นั้น ย่อมเจริญพร้อมกับอายุแล.
นัยแม้ยิ่งกว่านี้ ก็อย่างนี้แล.
ก็ชื่อว่าการเจริญแห่งอายุ ที่เป็นไปโดยไม่มีอันตราย หามีไม่.
ในเวลาจบเทศนา อายุวัฒนกุมารตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับอุบาสก ๕๐๐ แล้ว, แม้ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องอายุวัฒนกุมาร จบ.
--------------------------


ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=18&p=8



Friday, June 17, 2011

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๕ )



สามเณร เดินต่อไป เห็นช่างศร กำลังเอาลูกศรลนไฟ เล็งดูด้วยหางตา แล้วดัดให้ตรง จึงเรียนถามพระเถระด้วยความอยากรู้ ตามประสาเด็กอายุ ๗ ขวบ ที่มีบารมีแก่กล้า เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ตรึกธรรมะไปว่า ถ้าสามารถดัดลูกศรที่ไม่มีจิต ให้ตรงได้ ทำไมหนอ คนซึ่งมีจิตแท้ๆ จึงไม่สามารถบังคับจิตของตนเองได้"










มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๕ )

ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใดติดตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น บุญนิธินี้ให้สมบัติที่พึงใคร่แก่เทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายปรารถนานักซึ่งอิฐผลใดๆ อิฐผลนั้นๆ ทั้งหมด อันเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพไม่มีประมาณ เป็นบุคคลอจินไตยเกินกว่าการนึกคิดคาดเดาของมนุษย์และเทวา กว่าพระองค์จะมีพุทธานุภาพที่ไม่มีใครเทียบได้นี้ ต้องสร้างบารมีมาอย่างน้อย ๒๐ อสงไขย กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจในการสร้างบารมี ไม่เคยย่อท้อแม้แต่ภพชาติเดียว พระมหากรุณาของพระองค์ในการที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน นั้น กว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าจักรวาล เราทั้งหลายจึงควรยึดพระองค์เป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม และให้หมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระพุทธคุณอันไม่มีประมาณ แล้วตั้งใจสร้างบารมีตามอย่างพระองค์ ด้วยการหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน คือ เข้าถึงพระธรรมกายในตัวให้ได้กันทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน นิธิกัณฑสูตร ว่า

"ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใดติดตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น บุญนิธินี้ให้สมบัติที่พึงใคร่แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายปรารถนานักซึ่งอิฐผลใดๆ อิฐผลนั้นๆ ทั้งหมด อันเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นอธิบดี ความเป็นผู้มีบริวาร อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นพระราชาประเทศราช ความเป็นใหญ่ สุขของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก แม้ความเป็นพระราชา แห่งเทวดาในหมู่ทิพย์ อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ มนุษยสมบัติ ความยินดีในเทวโลกและนิพพานสมบัติ อิฐผลทั้งปวงนี้ เทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความที่พระโยคาวจร เมื่ออาศัยคุณเครื่องถึงพร้อม คือ มิตร แล้วประกอบอยู่โดยอุบายอันแยบคายไซร้ เป็นผู้มีความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์มากอย่างนี้ เพราะเหตุนั้นบัณฑิตผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความที่บุคคลมีบุญอันทำไว้แล้ว"

บุญนิธิ หมายถึง ขุมทรัพย์อันประเสริฐ ที่อำนวยผลทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์ บุญที่สั่งสมไว้มากๆ จะกลายเป็นทะเลบุญ คอยหนุนนำเราให้ประสบความสุขและความสำเร็จ บางท่านอาจสงสัยว่า บุญนิธินี้ฝังไว้ตรงไหน สามารถขุดมาใช้ได้อย่างไร มองเห็นเป็นรูปธรรมเหมือนขุมทรัพย์ทั่วๆ ไปได้ไหม

บุญไม่ใช่เป็นเพียงคำกล่าวในเชิงนามธรรมอย่างเดียว เมื่อใดเราทำใจหยุดใจนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ จะไปรู้ไปเห็นได้ว่าบุญนั้นมีลักษณะเป็นดวงกลมๆ ใสๆ เรียกว่าดวงบุญ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกๆ คน ดวงโตบ้าง ดวงเล็กบ้าง ตามแต่กำลังบุญของแต่ละคน และในกลางดวงบุญนั้น มีสมบัติทั้งหลาย ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน คือ มีสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยทรัพย์ และอริยทรัพย์ซ้อนอยู่ในกลางดวงบุญ สายสมบัติจะเชื่อมโยงมาที่กลางกายนั้น

บางคนสายสมบัติยาว บางคนสายสมบัติสั้น บางคนขาดตอนเป็นช่วงๆ สายสมบัติมาจากต้นแหล่งแห่งบุญที่อยู่ลึกๆ ละเอียดๆ ในภพอันวิเศษ มาเชื่อมโยงที่กลางกาย เมื่อสายสมบัติเชื่อมโยงติดแน่น จะดึงดูดสมบัติหยาบในเมืองมนุษย์มาให้เราใช้สร้างบารมี อย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น ถ้าสายสมบัติเชื่อมติดกับกลางกายแล้ว มนุษย์จะพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทั้งหลาย เป็นอยู่ได้ด้วยบุญ เมื่อปรารถนาสิ่งที่ดี ย่อมจะสมความปรารถนาในทุกครั้ง

*เหมือนอย่างบัณฑิตสามเณร ผู้ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เยาว์วัย เพราะอาศัยบุญที่ได้สั่งสมไว้อย่างดีแล้วในอดีต วันนี้เรามาติดตามเรื่องราวของท่านในตอนอวสาน ครั้นหนูน้อยบัณฑิตมีอายุได้ ๗ ขวบ บุญในตัวกระตุ้นเตือนให้หนูน้อยอยากออกบวช เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อปรารภอยากบวชกับมารดา มารดาก็อนุโมทนาบุญด้วย และได้พาหนูน้อยไปมอบถวายแด่พระสารีบุตรเถระ

หนูน้อยบัณฑิตได้บรรพชาเป็นสามเณร ท่านฝึกตนเองอยู่ ๗ วัน ในวันที่ ๘ ของการบวช ขณะที่สามเณรบัณฑิตกำลังเดินบิณฑบาตตามหลังพระเถระอยู่นั้น ได้เห็นเหมืองแห่งหนึ่ง จึงเรียนถามพระสารีบุตรว่า "สิ่งนี้เขาเรียกว่าอะไร มีไว้ทำอะไรครับ"
พระสารีบุตรตอบว่า "เขาเรียกว่าเหมือง มีไว้สำหรับไขน้ำเข้าไปในนาข้าว"
สามเณรถามต่อว่า "น้ำมีจิตไหมครับ"
พระเถระ ตอบว่า น้ำไม่มีจิตหรอก สามเณร"

สามเณรเกิดความคิดว่า "ถ้าคนทั้งหลายไขน้ำซึ่งไม่มีจิต เข้าไปสู่ที่ที่ตนปรารถนา แล้วทำการงานได้ เหตุไฉนคนซึ่งมีจิตแท้ๆ จึงไม่สามารถบังคับจิตตนเองได้"
สามเณรเดินต่อไป เห็นช่างศร กำลังเอาลูกศรลนไฟ เล็งดูด้วยหางตา แล้วดัดให้ตรง จึงเรียนถามพระเถระด้วยความอยากรู้ ตามประสาเด็กอายุ ๗ ขวบ ที่มีบารมีแก่กล้า เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ตรึกธรรมะไปว่า ถ้าสามารถดัดลูกศรที่ไม่มีจิต ให้ตรงได้ ทำไมหนอ คนซึ่งมีจิตแท้ๆ จึงไม่สามารถบังคับจิตของตนเองได้"

ครั้นสามเณรเดินต่อไป เห็นช่างไม้กำลังถากไม้ เพื่อทำกำกง และดุมเกวียน จึงเรียนถามพระเถระว่า "เขาถากไม้เพื่อทำอะไรกันครับ"
พระเถระตอบว่า "เขาถากไม้เพื่อทำล้อเกวียน"
สามเณรถามต่อว่า "แล้วไม้เหล่านั้นมีจิตไหมครับ"
เมื่อรู้ว่า ไม้ไม่มีจิต ก็ขบคิดขึ้นมาว่า "ถ้าคนทำท่อนไม้ที่ไม่มีจิต ให้เป็นล้อได้ แล้วทำไม คนผู้มีจิตจึงไม่สามารถบังคับจิตตนเองได้"
เมื่อสามเณรได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัวเพื่อการฝึกจิตเช่นนั้น จึงได้กราบเรียนพระเถระว่า "กระผมจะขอ กลับวัดไปก่อน"
พระสารีบุตรรู้ถึงจุดมุ่งหมายของสามเณร จึงอนุญาตให้กลับก่อน เมื่อสามเณรกลับถึงที่พักแล้ว ได้ตั้งใจนั่งสมาธิ(Meditation)อยู่ในห้องตามลำพัง และด้วยเดชของสามเณร ทิพยอาสน์ของท้าวสักกะเกิด อาการร้อนขึ้นมา พระองค์ใคร่ครวญดู รู้ว่า บัณฑิตสามเณรถวายบาตรแด่พระอุปัชฌาย์แล้วเดินทางกลับ ด้วยตั้งใจว่า "จักปฏิบัติสมณธรรม" จึงตรัสเรียกท้าวมหาราชทั้งสี่มาสั่ง ให้ไปไล่นกกาที่ร้องจอแจอยู่ใกล้วิหารให้หนีไป แล้วอารักขาให้ดี และตรัสบอกจันทเทพบุตรให้ไปฉุดรั้งมณฑลพระจันทร์ไว้ ฝ่ายสุริยเทพบุตรให้ไปฉุดรั้งมณฑลพระอาทิตย์ไว้ ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปประทับยืนอารักขาอยู่ที่ประตูวิหารนั้น แม้เสียงใบไม้ร่วงก็ไม่มี ทั่วบริเวณเงียบสนิท เหมาะต่อการทำใจหยุดใจนิ่งยิ่งนัก

ฝ่ายพระสารีบุตรได้บิณฑบาตไปถึงบ้านของอุปัฏฐากท่านหนึ่ง วันนั้นอุปัฏฐากได้ปลาตะเพียนมาหลายตัว จึงนำมาปรุงเป็นอาหาร เมื่อเห็นพระเถระมามีความยินดี จึงนิมนต์ให้ท่านรับบิณฑบาต ถวายข้าวยาคู และข้าวคลุกปลาตะเพียน หลังจากพระเถระฉันภัตตาหารแล้ว ได้นำอาหารส่วนที่เป็นของสามเณรกลับมาที่พัก

เมื่อสามเณรเจริญภาวนา มีจิตตั้งมั่นหยั่งลงสู่สมาธิ ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ขณะที่กำลังทำใจหยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ นั้น พระบรมศาสดาทรงรู้เรื่องราวของสามเณรโดยตลอด จึงได้เสด็จไปดักรอพระสารีบุตร และตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ เพื่อถ่วงเวลา เพราะทรงเกรงว่า จะไปกระเทือนการบรรลุธรรมขั้นสูง ของสามเณร ขณะพระเถระแก้ปัญหาที่พระพุทธองค์ตรัสถามทั้งหมด สามเณรก็ได้บรรลุอรหัตผลในขณะนั้นเอง

เราจะเห็นว่า ขณะผู้มีบุญมีบารมีกำลังทำความเพียร ผู้รู้ทั้งหลายต้องมาอำนวยความสะดวก คอยปกปักรักษา ไม่ให้สิ่งใดมาเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ชีวิตในสังสารวัฏของคนๆ หนึ่ง กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องอาศัยกำลังบุญอย่างมาก เมื่อมีบุญมาก การทำสิ่งใดย่อมจะสำเร็จทุกอย่าง เหมือนอย่างมหาทุคตะผู้เคยเป็นคนยากจนมา ก่อน แต่ด้วยความไม่ประมาทในชีวิต เขาเริ่มต้นทำความดีจนผลแห่งความดีนั้นปรากฏ ในที่สุดได้สำเร็จมรรคผลเป็นอัศจรรย์ เพราะบุญกุศลที่ได้ทำไว้อย่างดี ด้วยใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ จึงมีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล ส่งผลให้สมปรารถนาในทุกสิ่ง คือ ได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต

เพราะฉะนั้น อย่าได้ดูเบาในการสั่งสมบุญ แม้เป็นบุญเล็กบุญน้อยให้ทำต่อไป ทำด้วยใจที่หยุดนิ่งใสบริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นบุญจากการให้ทาน รักษาศีลหรือเจริญภาวนา ให้ทำไป พร้อมๆกัน เพราะบุญคือเพื่อนแท้ที่ติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง เป็นสมบัติที่เราสามารถนำติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อเราเข้าใจเรื่องของบุญเช่นนี้แล้ว อย่ามัวให้ความสำคัญกับการ ทำมาหากิน เพียงอย่างเดียว ต้องสั่งสมบุญบารมีไปด้วย ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตในสัมปรายภพ ซึ่งเป็นชีวิตที่ยาวนานกว่าภพปัจจุบันนี้มาก ดังนั้นเราต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจสั่งสมบุญให้เต็มที่ และนั่งสมาธิให้ได้ทุกๆ วัน ให้มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. บัณฑิตสามเณร เล่ม ๔๑ หน้า ๓๓๑

ที่มา
http://buddha.dmc.tv/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99/mongkol02-25.html

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๔ )



ฝ่ายมหา ทุคตะกลับจากวิหารเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น บังเกิดมหาปีติ ขนลุกไปทั่วสรรพางค์ ปลื้มใจว่า ฝนรัตนะ ๗ ประการ ตกเพราะพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณ รวมทั้งบุญญานุภาพที่ตัวได้ทำในวันนี้ จากนั้นเขารีบไปยังราชสำนัก พลางกราบทูลพระราชาว่า "บ้านของข้าพระองค์เต็มไปด้วยรัตนะ ๗ ประการ ขอพระองค์ทรงให้ราชบุรุษนำเกวียนไปขนทรัพย์นั้นมาเถิด พระเจ้าข้า"









มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๔ )


ทายกก่อนแต่จะให้ทาน เป็นผู้ดีใจ
กำลังให้ทานอยู่ ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส
ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นยัญสมบัติิ

เราเกิดมาภพหนึ่งชาติหนึ่ง ต้องตั้งใจสั่งสมบุญบารมีให้ เต็มเปี่ยม ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ กำลังสั่งสมบารมีอยู่นั้น พระองค์มิได้หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ต้องสละทรัพย์ อวัยวะ หรือแม้กระทั่งชีวิต พระองค์ไม่ได้หวั่นไหวแต่อย่างใด คิดแต่เพียงว่า เกิดมาภพชาติหนึ่ง ต้องสั่งสมบุญบารมีให้เต็มเปี่ยม เพื่อให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราก็เช่นเดียวกัน แม้มีอุปสรรคมาขัดขวางหนทางการสร้างบารมี จงอย่าหวั่นไหว ให้มีใจมุ่งมั่นและก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง เราย่อมจะพบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทานสูตร ว่า


"ปุพฺเพว ทานา สุมโน ททํ จิตฺตํ ปสาทเย
ทตฺวา อตฺตมโน โหติ เอสา ยญฺญสฺส สมฺปทาฯ
วีตราโค วีตโทโส วีตโมโห อนาสโว
เขตฺตํ ยญฺสฺส สมฺปนฺนํ สญฺตา พฺรหฺมจาริโนฯ
สยํ อาจรยิตฺวาน ทตฺวา สเกหิ ปาณิภิฯ
อตฺตโน ปรโต เจโส ยญฺโญ โหติ มหปฺผโลฯ
เอวํ ยชิตฺวา เมธาวี สทฺโธ มุตฺเตน เจตสา
อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ ปณฺฑิโต อุปปชฺชติ

ทายกก่อนแต่จะให้ทาน เป็นผู้ดีใจ กำลังให้ทานอยู่ ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นยัญสมบัติ ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ ย่อมเป็นเขตที่ถึงพร้อมแห่งยัญ ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมาก เพราะตน (ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก) ทายกผู้มีปัญญา มีศรัทธาเป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่ ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุขไม่มีความเบียดเบียนŽ

ผู้มีปัญญาแท้จริง ไม่ใช่วัดกันที่เชาว์ปัญญาในการศึกษาเล่าเรียน หรือความรู้ความสามารถในการทำงานเท่านั้น สิ่งนี้เป็นเพียงความรู้ที่ทำให้ติดอยู่ในโลก แต่เขาวัดกันตรงที่ใครมีปัญญาช่วยตนเองให้รอดพ้นจากภัยทั้งหลาย ทั้งภัยในโลกนี้และภัยในสังสารวัฏ ไม่พลัดตกไปในอบายภูมิ สามารถดำรงชีวิตอยู่แต่ในสุคติภูมิ และสร้างความดีได้อย่างเต็มที่ คนที่เกิดมาแล้ว ละเว้นความชั่วทุกชนิด ทำแต่บุญกุศล หมั่นทำใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ จนได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต อย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง

ผู้มีปัญญาไม่จำกัดว่าต้องเป็นชนชั้นสูง หรือมียศถาบรรดาศักดิ์เท่านั้น คนที่ยากจน หรือไม่ได้รับการศึกษา แต่หากรู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า เป็นต้น ไม่มีความตระหนี่อยู่ในใจ ไม่ประมาทในชีวิต มุ่งหน้าทำความดีอย่างไม่ลดละ ก็ถือได้ว่าเป็นผู้มีปัญญาฉลาดในการสร้างกุศลธรรม เหมือนอย่างวิถีชีวิตของมหาทุคตะ ที่จะได้ศึกษากันต่อในตอนนี้

อันที่จริงแล้ว มหาทุคตะนั้นเคยเป็นเศรษฐีในภพชาติก่อนๆ แต่เพราะประมาทในชีวิต เรียกว่ารวยแล้วประมาท ไม่ให้ทาน ทำให้ในภพชาตินี้ต้องกลายเป็นคนยากจนอนาถา เป็นชนชั้นต่ำ อาศัยได้กัลยาณมิตรชักชวนให้ทำบุญ ทำให้เกิดกุศลจิต ประกอบกับมีปัญญาสามารถสอนตนเองได้ จึงโชคดีได้ทำบุญถูกหลักวิชชา ดังที่หลวงพ่อได้ ยกพุทธพจน์ขึ้นมากล่าวข้างต้น คือทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ มีจิตเลื่อมใส วัตถุทานของท่านนั้นบริสุทธิ์ ปฏิคาหก คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บริสุทธิ์ ผลบุญอันยิ่งใหญ่ไพศาลจึงบังเกิดขึ้น ในปัจจุบันทันตาเห็น

*ครั้งกˆอนได้กล่าวถึงตอนที่มหาทุคตะ มีโอกาสถวาย ภัตตาหารแด่ พระบรมศาสดา ซึ่งกว่าจะได้ทำบุญครั้งนี้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เมื่อเสร็จภัตกิจได้ตามไปส่งเสด็จที่พระวิหาร ส่วนพระอินทร์ก็เสด็จกลับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ใน ขณะนั้น สิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครคาดฝันพลันบังเกิดขึ้น ฝนรัตนะ ๗ ประการ ตกลงมาเต็มบ้าน จนล้นออกมานอกบ้าน ภายในบ้านไม่มีที่ว่างเลย ภรรยาของมหาทุคตะต้องจูงลูกๆ ออกไปยืนอยู่ข้างนอก

ฝ่ายมหาทุคตะกลับจากวิหารเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น บังเกิดมหาปีติ ขนลุกไปทั่วสรรพางค์ ปลื้มใจว่า ฝนรัตนะ ๗ ประการ ตกเพราะพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณ รวมทั้งบุญญานุภาพที่ตัวได้ทำในวันนี้ จากนั้นเขารีบไปยังราชสำนัก พลางกราบทูลพระราชาว่า "บ้านของข้าพระองค์เต็มไปด้วยรัตนะ ๗ ประการ ขอพระองค์ทรงให้ราชบุรุษนำเกวียนไปขนทรัพย์นั้นมาเถิด พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงอัศจรรย์ในทานที่มหาทุคตะถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดผลบุญทันตาเห็น ทรงส่งเกวียน ๑,๐๐๐ เล่ม ไปขนสมบัติมาเทลงที่พระลานหลวง กองทรัพย์ได้สูงประมาณเท่าต้นตาล พระราชารับสั่งให้ชาวเมืองประชุมกัน พลางตรัสถามว่า "ในเมืองนี้ มีใครมีทรัพย์มากถึงเพียงนี้บ้าง" ชาวเมืองทูลว่า "ไม่มี พระเจ้าข้า" พระราชาเห็นว่า สมบัติเหล่านี้ เป็นของมหาทุคตะที่ได้มาด้วยบุญ จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นมหาเศรษฐีประจำเมือง

พระราชาได้ตรัสบอกสถานที่ที่จะสร้างบ้านใหม่ให้กับเศรษฐีคนใหม่ ซึ่งสถานที่ตรงนั้นเคยเป็นบ้านของเศรษฐีเก่าคนหนึ่ง ขณะที่เศรษฐีใหม่เข้าไปดูพื้นที่ และคนงานกำลังแผ้วถางพื้นที่ให้เรียบนั้น หม้อทรัพย์ได้ผุดแออัดยัดเยียดกันขึ้นมา สร้างความแตกตื่นและอัศจรรย์ใจให้กับคนงาน และท่านเศรษฐีใหม่เป็นอย่างยิ่ง พระราชารับสั่งว่า "หม้อทรัพย์เกิดเพราะบุญของเธอนั่นเอง เพราะฉะนั้นเธอจงเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ เหล่านั้นเถิด"
เศรษฐีใหม่ปลูกบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่โตกว่าเดิมหลายเท่า วิถีชีวิตใหม่ได้เริ่มขึ้น จากที่เคยยากจนอนาถาก็กลายมาเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน แต่ด้วยความ ตระหนักในบุญว่า เป็นที่พึ่ง เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุข และความสำเร็จทุกอย่าง เขาจึงไม่ประมาทเหมือนภพชาติในอดีตอีก ได้ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุขตลอด ๗ วัน และตั้งใจมั่นว่า จะไม่ขอจนข้ามชาติอีกต่อไป ได้บำเพ็ญบุญถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ รวมไปถึงคนยากจนอนาถา ที่มาขอพึ่งพาอาศัยจนตลอดชีวิต เมื่อละโลกไปแล้ว ได้บังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง

ในสมัยพุทธกาล ท่านได้จุติจากสวรรค์ ถือกำเนิดในครรภ์ธิดาคนโตของตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรเถระ ในกรุงสาวัตถี ทันทีที่หมู่ญาติรู้ว่า ธิดาคนโตตั้งครรภ์แล้ว ได้นำเครื่องบำรุงครรภ์มามอบเป็นบรรณาการมากมาย การแพ้ครรภ์ ของนางเป็นไปเพื่อบุญกุศล คือ อยากถวายทานแด่ภิกษุ ๕๐๐ รูป โดยมีท่านพระสารีบุตรเป็นประธาน ถวายภัตตาหารที่ปรุงด้วยปลาตะเพียน เมื่อภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จ นางจึงค่อยรับประทานทีหลัง จากนั้นอาการแพ้ท้องจึงค่อยระงับไป ต่อมาในงานมงคลอื่นๆ เช่น วันคลอด วันโกนจุก วันนุ่งผ้าใหม่ เมื่อนางปรารภเหตุแล้ว ได้ถวายสังฆทานแด่ภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ทุกครั้งไป

เมื่อเด็กคลอดออกมา มารดาของเด็กได้ขอร้องให้พระสารีบุตรเถระ ช่วยตั้งชื่อให้ พระเถระถามว่า "วันที่ทารกน้อยเกิดนั้น มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเป็นพิเศษบ้าง"
มารดาของเด็กตอบว่า "ท่านผู้เจริญ ตั้งแต่เด็กคนนี้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของดิฉัน คนในบ้านนี้ ที่ปัญญาอ่อน หรือพูดไม่รู้เรื่อง ก็กลายเป็นคนฉลาด"
พระเถระจึงตั้งชื่อให้ว่า หนูน้อยบัณฑิต อีกทั้งมารดาของเด็กเชื่อว่า ลูกของนาง ต้องเป็นผู้มีบุญมาเกิดอย่างแน่นอน จึงตั้งใจว่า เมื่อโตขึ้น หากลูกชายอยากครองเรือน ก็จะไม่ขัดข้อง และหากปรารภอยากบวชก็จะอนุโมทนา หนูน้อยบัณฑิตจะได้เป็นมหาเศรษฐีประจำเมือง หรือจะเป็นอะไร ต้องติดตามในตอนต่อไป

เราจะเห็นว่า การถวายทานด้วยเจตนาอันแรงกล้า ด้วยปัญญาที่ผ่องแผ้ว ด้วยใจที่เบิกบานผ่องใส และได้ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ทานที่ถวาย จะให้ผลทันตาเห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ ดังตัวอย่างข้างต้น แสดงว่าการทำบุญถูกเนื้อนาบุญ เป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ปัจจุบันเราไม่มีโอกาสทำบุญกับพระพุทธเจ้า แต่พวกเราทั้งหลายก็ยังนับว่าโชคดี ที่มีภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทานของเรา ดังนั้นในช่วงเข้าพรรษานี้ ให้หมั่นสั่งสมบุญกุศล ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ทำกันให้เต็มที่ ให้เป็นพรรษาแห่งมหากุศล และเป็นพรรษาแห่งการบรรลุธรรมของพวกเราทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. บัณฑิตสามเณร เล่ม ๔๑ หน้า ๓๒๙

ที่มา

http://buddha.dmc.tv/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99/mongkol02-24.html

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๓ )


พระองค์ ทรงรับอาราธนา แล้วประทานบาตรแก่มหาทุคตะ มหาทุคตะรับบาตรไปด้วยความดีใจ เสมือนหนึ่งได้มหาสมบัติจักรพรรดิ น้ำตาไหลอาบแก้ม ด้วยความปลาบปลื้มปีติยินดี แม้พระราชามหาอำมาตย์ จะอ้อนวอน ขอบาตร หรือต่อรองขอซื้อบาตร ด้วยราคาเป็นแสน เขาก็ไม่ยอมขาย เพราะมหาทุคตะเป็นผู้มีปัญญา เห็นว่าบุญเท่านั้นที่จะเป็นสมบัติติดตัวไปได้ ทั้งในภพนี้และภพเบื้องหน้า จึงไม่ยอมยกบุญนี้ให้แก่ใคร









มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๓ )

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรท้อถอย
ควรมุ่งหมายจนกว่าจะประสบความสำเร็จ


ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่โลกผันผวนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์กำลังประสบปัญหารุม เร้ารอบด้าน จนทำให้เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย สับสนในชีวิต หมดกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป ในภาวะเช่นนี้ หากมีใครสักคนที่เข้าใจ และคอยให้กำลังใจ ก็จะทำให้ความรู้สึกดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง ใครสักคนที่ว่านั้น มิใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ ดังนั้นบุคคลที่จะให้กำลังใจเราได้ดีที่สุดก็คือ ตัวของเราเอง ไม่ควรคิดว่า เรื่องนั้นเป็นปัญหา ทุกปัญหาล้วนมีวิธีแก้ไข ฉะนั้นปัญหาจึงมีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้กลุ้ม ขอ เพียงเราเดินออกจากปัญหา และทำจิตใจให้สงบ ก็จะพบทางออก ถ้าเรารู้จักคำว่า หยุด ชีวิตย่อมจะพบความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ ใจหยุดนิ่งจะทำให้พบหนทางสว่าง ที่จะนำพาเราไปสู่อิสรเสรี เป็นตัวของตัวเอง และได้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ คือ พระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน จูฬชนกชาดก ว่า

"วายเมเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต
บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรท้อถอย
ควรมุ่งหมายจนกว่าจะประสบความสำเร็จ"

อัธยาศัยอย่างหนึ่งของพระบรมโพธิสัตว์ที่น่าศึกษา คือ เมื่อท่านตัดสินใจทำอะไรแล้ว จะไม่ย่อท้อ หากไม่สำเร็จเป็นไม่เลิกลา จะไม่ตามใจกิเลส เพราะรู้ว่ากิเลสคือสิ่งที่ชักจูงใจให้ตกต่ำ ต้องเวียนวนอยู่ในมหาสมุทรแห่งทุกข์ใน สังสารวัฏ ไม่สามารถข้ามขึ้นสู่ฝั่งพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้พุทธสาวกมีความเพียรไม่ลดละ เพราะคนจะล่วงพ้นจากทุกข์ได้เพราะความเพียร หากย่อหย่อนแล้ว ความสำเร็จที่ตั้งไว้จะไกลออกไป แม้การสั่งสมบุญก็ต้องมีความเพียร มีใจจดจ่อ ไม่ย่อท้อเมื่อเจออุปสรรค

อุปสรรค นอกจากแปลว่า สิ่งขวางกั้นการทำความดีของเราแล้ว นักปราชญ์ยังให้ไว้อีกนัยหนึ่งว่า อุปสรรค แปลว่า เข้าใกล้สวรรค์ ใกล้ความสุขและความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อพบเจออุปสรรค ก็ให้ดีใจเถิดว่า เราใกล้จะประสบความสำเร็จแล้ว

สำหรับตอนนี้ เรามาติดตามเรื่องราวของมหาทุคตะ ผู้ไม่ย่อท้อในการทำความดีกันต่อ ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงมหาทุคตะเสียใจที่ผู้นำบุญมัวแต่สาละวนจนหลงลืม ทำให้เขาไม่มีเนื้อนาบุญไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ทว่าผู้นำบุญได้ชี้ทางสว่างให้ว่า อย่าเพิ่งท้อแท้ใจ พระบรมศาสดาทรงเป็นผู้อนุเคราะห์คนยากคนจน ขอให้ไปทูลอาราธนาพระพุทธองค์เถิด

*วันนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นมหาทุคตะเข้ามาในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่า มหาทุคตะคิดจะเลี้ยงพระ ได้ตั้งใจทำงานรับจ้างเพื่อทำบุญ แต่ว่ามหาทุคตะจะไม่ได้เลี้ยงพระ เนื่องจากคนที่มาบอกบุญลืมแบ่งพระให้ มีแต่เราตถาคตเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของมหาทุคตะในครั้งนี้ เมื่อทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงทำสรีรกิจแต่เช้าตรู่ แล้วเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ประทับนั่งรอคอยเวลาที่จะสงเคราะห์ มหาทุคตะ

ฝ่ายมหาทุคตะ เมื่อได้รับคำแนะนำแล้ว ได้มุ่งหน้าไปสู่พระคันธกุฎี ซึ่งมีทั้งพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมทั้งเหล่ามหาเศรษฐีทั้งหลาย ที่กำลังรอคอยรับบาตรจากพระบรมศาสดา ทุกท่านต่างพูดห้ามปรามมหาทุคตะว่า "เวลานี้ ไม่ใช่เวลามาขออาหาร เจ้าจงออกไปเสียก่อน"
เพราะที่ผ่านมา เคยเห็นแต่มารอคอยรับอาหารที่เหลือหลังจากพระฉันเสร็จแล้ว มหาทุคตะตอบว่า ข้าพระองค์ไม่ได้มาขออาหาร แต่มาเพื่อถวายบังคมพระบรมศาสดาต่างหาก" เขาซบศีรษะลงที่ธรณีพระคันธกุฎี ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ พลางกราบทูลเสียงดังว่า "ผู้ที่ยากจนกว่าข้า พระองค์ ในเมืองนี้ไม่มีอีกแล้ว พระเจ้าข้า ขอพระองคŒทรงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระองค์เถิด ขอทรงทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิด"

ธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุเคราะห์ชนทุกชั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์ทรงรับอาราธนา แล้วประทานบาตรแก่มหาทุคตะ มหาทุคตะรับบาตรไปด้วยความดีใจ เสมือนหนึ่งได้มหาสมบัติจักรพรรดิ น้ำตาไหลอาบแก้ม ด้วยความปลาบปลื้มปีติยินดี แม้พระราชามหาอำมาตย์ จะอ้อนวอน ขอบาตร หรือต่อรองขอซื้อบาตร ด้วยราคาเป็นแสน เขาก็ไม่ยอมขาย เพราะมหาทุคตะเป็นผู้มีปัญญา เห็นว่าบุญเท่านั้นที่จะเป็นสมบัติติดตัวไปได้ ทั้งในภพนี้และภพเบื้องหน้า จึงไม่ยอมยกบุญนี้ให้แก่ใคร
บุญใหญ่นี้ไม่ใช่ของสาธารณะสำหรับคนทั่วไป จึงตอบปฏิเสธว่า "สิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาที่สุดในเวลานี้คือบุญ แม้เอาทรัพย์สมบัติมากองเท่าภูเขา ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการ" เมื่อมหาทุคตะไม่ให้บาตรกับใคร ก็ไม่มีผู้ใดสามารถมายื้อแย่งเอาบาตรที่พระบรมศาสดาทรงประทานให้ได้

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน ทรงดำริว่า มหาทุคตะ แม้เขาจะเอาทรัพย์มาล่อ ก็ไม่ยอมให้บาตรของพระศาสดาแก่ใคร ช่างมีใจเด็ดเดี่ยวจริงหนอ ถ้าอย่างไร หลังจากมหาทุคตะถวายไทยธรรมแล้ว เราจึงจะทูลอาราธนาพระบรมศาสดาไปรับภัตตาหาร ที่พระราชมณเฑียรทีหลังก็ได้ จากนั้นต่างชักชวนกันตามเสด็จพระบรมศาสดาไปที่บ้านของมหาทุคตะ

ฝ่ายท้าวสักกเทวราช ครั้นจัดอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็ปูอาสนะอันสมควรสำหรับพระบรมศาสดา มหาทุคตะทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปข้างใน ปกติบ้านของมหาทุคตะจะหลังเล็กและต่ำมาก ถ้าหากไม่ก้มตัวลงจะเข้าประตูบ้านไม่ได้ แต่สำหรับพระพุทธองค์แล้ว พระองค์ไม่ต้องก้มก็เสด็จเข้าไปได้ เพราะแผ่นดินใหญ่ยุบลงต่ำเอง นี่เป็นผลแห่งมหาทานบารมีที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ถวายไว้ดีแล้ว และเป็นผลแห่งการแสดงความนอบน้อมต่อบุคคลผู้ควรกราบไหว้บูชา ฉะนั้นภพชาตินี้ จึงไม่มีใครหรือสิ่งใด ที่พระองค์ต้องก้มศีรษะให้อีกต่อไป

เมื่อพระบรมศาสดาประทับนั่งแล้ว ท้าวสักกะเปิดข้าวยาคูและภัตตาหาร อันมีกลิ่นเหมือนสุธาโภชน์ของเหล่าเทวดา กลิ่นนั้นหอมหวนยวนใจตลบไปทั่วทั้งเมือง พระราชาทรงตรวจดูข้าวยาคูและอาหารของมหาทุคตะแล้ว บังเกิดความอัศจรรย์ใจ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน คิดว่า ไทยธรรมของมหาทุคตะจะเป็นอย่างไร จึงตามมาดู ครั้นเห็นแล้ว ให้รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหม่อมฉันไม่เคยเห็นอาหารที่ใดที่เลิศเช่นนี้มาก่อนเลย พระเจ้าข้า" หลังจากนั้นก็กราบทูลลาเสด็จกลับพระราชมณเฑียร

มหาทุคตะและภรรยา พร้อมด้วยท้าวสักกะ ต่างกุลีกุจอ ถวายอาหารหวานคาว น้ำดื่ม น้ำล้างพระหัตถ์ด้วยความเลื่อมใส เมื่อพระบรมศาสดาเสวยภัตตาหารแล้ว ทรงอนุโมทนาในกุศลจิตศรัทธาของมหา ทุคตะ จากนั้นเสด็จลุกจากอาสนะเพื่อกลับพระวิหาร พระอินทร์ทรงบอกให้มหาทุคตะรับบาตร และตามส่งพระบรมศาสดา มหาทุคตะรีบเข้าไปประคองบาตร ตามเสด็จด้วยความปลื้มปีติในบุญใหญ่ครั้งนี้ ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามในตอนต่อไป

สำหรับตอนนี้มีข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ฝากทุกท่านว่า ถ้าเราตั้งใจทำความดีแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ อย่าย่อท้อ ชีวิตจะงดงามและมีคุณค่าเมื่อก้าวข้ามอุปสรรค ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะอยู่กับเราไม่นาน ไม่ช้าย่อมหมดไป ขอเพียงเราอย่ายอมแพ้ ยอดนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะท่านชิงช่วงสร้างบารมีในยุคที่ลำบากยากเข็ญ กระแสบุญจะส่งผลแรงในช่วงนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นผู้ที่ทำได้ต้องมีกำลังใจสูงส่ง เมื่อสามารถทำได้ จะเกิดมหาปีติ ส่งผลให้กระแสธารแห่งบุญ ที่สอดละเอียดซ้อนลงมาในกลางกาย มีกำลังแรงมากเป็นพิเศษ จนสามารถพลิกผันชีวิตของผู้นั้นให้ประสบความสำเร็จและได้ดียิ่งกว่าใครๆ ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสู้ต่อไป สู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. บัณฑิตสามเณร เล่ม ๔๑ หน้า ๓๒๔

ที่มา
http://buddha.dmc.tv/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99/mongkol02-23.html