Sunday, January 20, 2008

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับงานศพ

ความหมายบางอย่าง ที่คนไทยได้สัมผัส แต่ไม่เคยรู้ เพิ่งรู้เหมือนกัน อ่านแล้วจะได้ปลงๆ ชีวิตก็เป็นเช่นชะนี้เอง ความจริงแล้วปริศนาธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานศพนั้นมีอยู่หลายข้อ ซึ่งก็สงสัยอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่เด็กมาแล้ว แต่พ่อกับแม่ก็ไม่เคยเล่าให้ฟังเลย เหมือนกับว่าเขาให้ทำก็ทำกันไป โง่อยู่ตั้งนาน พอได้มาอ่านหนังสือธรรมลีลาของธรรมสภาแล้วก็ตาสว่างขึ้น มีอีกหลายข้อดังนี้


มัดตราสังข์สามเปราะ

มัดที่คอ หมายถึง บ่วงรักลูก
มัดที่มือ หมายถึง บ่วงรักสามี - ภรรยา
มัดตรงข้อเท้า หมายถึง บ่วงรักทรัพย์สมบัติ ติดอยู่สามบ่วงนี้ ไปนิพพานไม่ได้ ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏไม่มีจบสิ้น


เคาะโลงรับศีล

ไม่ใช่ให้คนตายมารับศีล แต่เพื่อเป็นการบอกคนที่มาร่วมงานว่า อย่าเอาแต่มัวประมาทขาดสติ ไม่สนใจในหลักธรรมคำสอน เมื่อตายไปหมดโอกาสทำความดี จะเคาะจนโลงแตกก็ลุกขึ้นมาไม่ได้


สวดอภิธรรม

มักสวดเป็นภาษาบาลี คนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง จึงนึกว่าสวดให้คนตาย แต่จริงๆ แล้วเป็นการสวดเพื่อสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะได้นำหลักธรรม ไปปฏิบัติให้เกิดผลดีในชีวิตประจำวัน ดังนั้นแม้จะฟังไม่เข้าใจแต่เพื่อให้การฟังสวดอภิธรรมเกิดผล ควรสำรวมส่งจิตไปอยู่กับเสียงพระสวดให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเสียงพระสวดก็จะเกิดสมาธิจิตได้


บวชหน้าไฟ

มักเข้าใจกันว่า เป็นการบวชจูงผู้ตายขึ้นสวรรค์ ความจริงนั้น ไม่ใช่ เพราะการบวชหน้าไฟเป็นการปลงธรรมสังเวชต่อการเกิด แก่ เจ็บ และตายในที่สุด มนุษย์ก็มีเท่านี้ ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายต่อชีวิตในโลกียวิสัย ไม่ประสงค์จะอยู่ในเพศฆราวาส แล้วพอใจในสมณะเพศ มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น เข้าสู่มรรคผลนิพพาน


การนิมนต์พระจูงออกหน้าศพ

เพื่อจะสอนคนที่ยังอยู่ให้ได้สำนึกว่าตอนที่ยังอยู่ ต้องเดินตามหลังพระ หมายความว่าให้ดำเนินชีวิตตามพระธรรม คำสั่งสอนพระพุทธเจ้านั่นเอง จึงจะอยู่ดีมีสุข มีความเจริญก้าวหน้า


การเวียนซ้าย 3 รอบ

หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสามอันมี กามภพ รูปภพ อรูปภพ ด้วยอำนาจกิเลส ตัณหาอุปทาน ก็จะเป็นทุกข์ไม่จบสิ้น ฉะนั้นต้องทวนกระแสกิเลส เป็นการสอนธรรมชั้นสูง จึงได้พาศพเวียนซ้าย


การใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ

เพื่อชี้ให้เห็นว่า น้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ผู้เข้าสู่มรรคผลนิพพาน ต้องชำระจิตให้สะอาดด้วยน้ำทิพย์จากพระธรรม


การแปรรูป

หลังจากเผาแล้ว มีการเก็บอัฐิและมีการเขี่ยขี้เถ้าผู้ตายให้เป็นรูปร่างกลับไปกลับมา เพื่อจะบอกว่าได้กลับชาติใหม่แล้วตามวิบากของกรรมต่อไป

คำว่า"กฐิน"


คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของสังฆกรรมชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ต้องใช้พระสงฆ์ร่วมเป็นพยานในการทำ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย คือ ๔ รูป เป็นองค์สงฆ์หรือพยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน รวมเป็น ๕ รูป ภาษาสังฆ์กรรมของพระเรียกว่า "ปัญจวรรค"
นอกจากนี้คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึงในเวลาเย็บจีวร ภาษาไทยเรียกว่า "ไม้สดึง" ภาษาบาลีใช้คำว่า "กฐิน"


ขณะเดียวกันภาษาไทยได้ยืมภาษาบาลีมาเป็นภาษาของตัวเองโดยการเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า ผ้ากฐินหรือบุญกฐิน
บุญกฐิน มีกำหนดทำกันในระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สำหรับจุดประสงค์หลักของการทำบุญกฐินนั้น เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วได้ผลัดเปลี่ยนผ้าใหม่ โดยได้มีมูลเหตุของบุญกฐินปรากฎในกฐินขันธะแห่งพระวินัยปิฎก และฎีกาสมันตปาสาทิกา ไว้ว่า:-
สมัยหนึ่ง ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ขณะนั้นวันจำพรรษาได้ไกล้เข้ามา พวกภิษุเหล่านั้นจึงได้พากันจำพรรษาที่เมืองพระเชตวันมหาวิหาร ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่จำพรรษาภิษุเหล่านั้นมีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ ครั้นพอ ออกพรรษาแล้ว พากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดร้อนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า



ขณะฤดูฝนยังไม่ทันจะล่วงพ้นสนิท ทำให้พวกภิกษุชาวเมืองปาฐาเหล่านั้นมีจีวรเปียกชุ่มและเปรื่อนด้วยโคลนตม พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นใจในความยากลำบากของภิษุเหล่านั้น จึงอนุญาตให้หาผ้ากฐินหรือผ้าที่ขึงเย็บด้วยไม้สะดึงมาใช้เปลี่ยนถ่ายแทนผ้าเก่า ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกาเมื่อได้ทราบถึงพุทธประสงค์แล้ว นางก็ได้นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนางได้เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินในพระพุทธศาสนา



การทำบุญกฐิน หรือการหาผ้ากฐินในสมัยก่อนๆ ของคนอีสานนั้นสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องหรือเป็นกิจกรรมของพระที่จะต้องช่วยเหลือกัน และครั้นพอทำสำเร็จแล้วก็มอบ หมายให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่ปรากฏในกฐินขันธกะ แห่งพระวินัยปิฎกและฎีกาสมันตปาสาทิกาว่า:-
พระที่มีคุณสมบัติ สมควรที่จะได้รับกฐิน คือ เป็นผู้ที่มีอายุมาก มีพรรษามาก เป็นผู้ที่มีจีวรเก่า เป็นผู้ที่ฉลาด สามารถรู้อานิสงค์ ๕ มาติกา ๘ รู้จักการกรานกฐิน พินทุ ปัจจุธรณ์และอธิษฐาน และเป็นผู้ที่สามารถกระทำกฐินัตถารกิจได้ คนอีสานรู้และเข้าใจดีฐานะที่ว่าครองกฐิน ในตอนว่าด้วยบุญกฐินนี้มีบทผญาที่นักปราชญ์อีสานได้กล่าวพรรณนาถึงประเพณีฮีตข้อที่ ๑๒ ไว้ว่า...


พอแต่เหลียวขึ้นฟ้าเห็นแต่ว่าวเดือนสิบสอง
ลมคะนองเชยพัดง่า ยม กะเลยม้วน
พอสมควรกะหาผ้ากฐินทานมาทอด
ตลอดเดือนหนึ่งหาได้ดั่งประสงค์
หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงตาสีหาน้ำครั่ง
หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายขวาซ้ายเข้าซ่อยกัน
พอแต่ตกบ่อนบั้นโลกมันเปลี่ยนเวียนผัน
ปัจจุบันกะเลยโยมเป็นคนเฮ็ดแห่แหนแพนกั้ง
ต่างกะหวังเต็มที่ทำความดีบ่ดูหมิ่น
บุญกฐินซ่อยค้ำทานทอดให้หมู่สงฆ์


ทุกวันนี้การทำกฐินเป็นเรื่องของผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ต้องการจะทำบุญกฐิน เนื่องมาจากสมัยนี้เป็นเรื่องของความสดวก ถ้ามัวแต่ให้หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงปู่สีหาน้ำครั่ง หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายเหมือนสมัยก่อนนั้น ผู้เขียนกลัวว่าวันหนึ่ง กับคืนหนึ่งผ้ากฐินคงจะเสร็จไม่ทันกำหนดแน่ เว้นแต่ว่าใช้กำลังคนมาก และอาศัยความพร้อมเพียงสามัคคีกันเท่านั้น
ผ้าที่พระบรมพุทธานุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐินไดนั้น มีดังนี้ คือ ผ้าใหม่ ๑ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ๑ ผ้าเก่า ๑ ผ้าบังสุกุล ๑ ผ้าที่มีขายอยู่ตามร้านตลาด ๑ ซึ่งผ้าเหล่านี้เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้ ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ยืมเขามา ๑ ผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑ ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑ ผ้าเป็นนิสัคคีย์ ๑ ผ้าที่ขโมยมา ๑


เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วผ้าที่เป็นผ้ากฐินได้คือผ้าที่ได้มาโดยชอบหรือโดยสุจริต ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ได้มาโดยมิชอบหรือโดยทุจริต
ทีนี้พูดกันถึงเรื่องของประเภทของกฐินบ้าง โดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจว่ากันว่ากฐินมี ๒ แบบ คือ "จุลลกฐิน" และ "มหากฐิน" จุลกฐินเป็นกฐินเล็กหรือกฐินแล่น เป็นกฐินที่ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มตั้งแต่การปั่นด้าย ทอด้าย เย็บ ย้อมและถวายต้องให้เสร็จในวันนั้น กฐินชนิดนี้นานๆ จะมีคนทำ เพราะความยุ่งยากและต้องใช้คนมาก ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐิน ส่วนมหากฐินเป็นกฐินใหญ่ เป็นกฐินที่นอกจากจะมีผ้าไตรจีวรแล้ว ยังมีเครื่องบริวารกฐินอีกจำนวนมาก และใช้ระยะเตรียมงานมากกว่าจุลกฐิน แต่ก็เป็นที่นิยมทำกันเพราะมีความสะดวกพอสมควร
ประเภทของกฐินอีกอย่างหนึ่งคือ "กฐินหลวง" และ "กฐินราษฎร์" กฐินหลวงหมายถึงกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินไปทอดเอง หรือพระราชทานแก่หน่วยงานต่างๆ บริษัท ห้างร้าน พ่อค้า ประชาชนที่มีจิตศรัทธา นำไปถวายตามวัดที่เป็นพระอารามหลวงต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนกฐินราษฎร์หมายถึง กฐินที่ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ชักชวนกันจัดทำขึ้น เพื่อนำไปถวายวัดต่างๆ ที่ได้จองไว้แล้ว ซึ่งกฐินราษฎร์นี้หมายถึง กฐินสามัคคีและกฐินที่ปัจเจกบุคคลด้วย



ในเรื่องของการทอดกฐินนี้ "ธงกฐิน" ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว โดยเหตุที่ว่า วัดหนึ่งๆ นั้นรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว อีกในหนึ่ง ธงกฐินจะมีรูปสัตว์ ๓ - ๔ จำพวก เป็นสัญลักษณ์ คือ รูปจรเข ้ รูปตะขาบ รูปแมลงป่อง รูปนางกินร ีและรูปเต่าคาบดอกบัว
เรื่องธงกฐินนี้โดยใจความแล้วไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในหนังสือคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของกฐินอย่างชัดเจน


สาเหตุอาจจะเป็นเพราะนักปราชญ์อีสานโบราณท่านสอนคนหรือแนะนำคน จะไม่ใช้วิธีการที่บอกหรือกล่าวสอนกันตรงๆ มักจะใช้ทำนองที่ว่าเรียบๆ เคียงๆ เป็นลักษณะของปริศนาธรรม เช่น ลักษณะที่เด่นและเห็นชัดเจนคือ การใช้คำพูดในบทผญาหรืออีสานภาษิต ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกำลังพูดกันตรงๆ เช่นว่า "เจ้าผู้แพรผืนกว้างปูมาให้มันเลื่อมแด่เป็นหยัง สังมาอ่อมส่อมแพงไว้แต่ผู้เดียว แท้น้อ" ซึ่งสำนวนนี้ก็ได้พูดถึงความใจกว้างหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่



สำหรับรูปสัตว์ต่างๆ ธงกฐินนี้ท่านบอกสอนไว้ให้รู้ในลักษณะที่ว่า คนที่สามารถทำกฐินหรือเจ้าภาพทอดกฐินได้ ต้องเป็นคนจิตใจกว้าง มีความเสียสละเป็นอันมาก รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แม้กระทั้งสัตว์ที่มีพิษร้ายก็สามารถมาร่วมทำบุญได้ หรืออีกความหมายหนึ่งนักปราชญ์อีสานโบราณท่านอธิบายเปรียบเทียบกับโลภะ โทสะ โมหะ ได้ชัดเจนว่า
ธงกฐินอันดับแรก เป็นรูปจรเข้คาบดอกบัว หมายถึงความโลภ โดยปกติแล้วจรเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในบางช่วงขึ้นมานอนอ้าปากอยู่บนบกให้แมลงวันเข้ามาตอมอยู่ในปาก พอแมลงวันเข้าไปรวมกันหลายๆ ตัวเข้าจึงได้งับปากเอาแมลงเป็นอาหาร ท่านได้เปรียบถึงคนเราที่มีความโลภ ไม่มีความรู้สึกสำนึกชั่วดี ความถูกต้องหรือไม่ มีแต่จะเอาได้ท่าเดียว โดยไม่คำนึงว่าที่ได้มานั้นมีความสกปรกแปดเปื้อนด้วยความไม่ดีไม่งามคือ อกุศลหรือไม่ ผู้อื่นจะได้รับผลอย่างไรจากการกระทำของตนไม่ได้ใส่ใจ ดังนั้น ธงรูปจรเข้ท่านจึงได้เปรียบเหมือนกับคนโลภ ที่มันทำให้คนกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่มีช่องทางหรือโอกาส



ธงกฐินอันดับที่สอง เป็นรูปตะขาปหรือแมลงป่องคาบดอกบัว หมายถึงความโกรธ โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์ทั้งสองอย่างนี้เป็นสัตว์ที่มีพิษร้าย ถ้าใครโดนตะขาปและแมลงป่องกัดหรือต่อยเข้าแล้วจะรู้สึกเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดเหล่านั้นมียาหรือของที่แก้ให้หายหรือบรรเทาปวดได้ ท่านได้เปรียบถึงโทสะ เพราะโทสะนี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นง่ายเกิดขึ้นเร็วและรุนแรง แต่ก็หายเร็วหรือที่เรียกว่า โกรธง่ายหายเร็ว โทสะหรือความโกรธ มีความเจ็บปวดและมีความเสียหายเป็นผล ดังนั้นท่านจึงเปรียบธงรูปตะขาปและธงรูปแมงป่องว่า เหมือนกับความโกรธ เพราะมีลักษณะคล้ายกันคือเกิดขึ้นง่าย เร็ว รุนแรง มีความเจ็บปวดและหายเร็วหรือมีทางที่จะรักษาให้หายได้
ธงกฐินอันดับที่สาม มีรูปเป็นนางกินรีถือดอกบัว หมายถึงความหลงหรือโมหะ โดยที่รูปร่างและศัพท์ที่ใช้เรียกก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว กินรี แปลว่า คนอะไร หรือสัตว์อะไร ดูไม่ออกบอกไม่ถูกว่าเป็นรูปสัตว์หรือรูปคนกันแน่ เพราะว่าท่อนล่างมีรูปเป็นปลา ท่อนบนมีรูปร่างเป็นคน ศัพท์ว่า กินรีมาจากภาษาบาลีว่า " กึ นรี" แต่ผ่านกระบวนการแปลงศัพท์ของภาษาบาลีเป็น "กินนรี" แปลว่า "คนอะไร" หรือว่า คนผู้สงสัย, ผู้ยังสงสัย หรือ ผู้ที่ค้นพบเห็นก็เกิดความสงสัย คือคนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองนั่นเอง ทั้งทางด้านความคิด ทั้งทางด้านการกระทำหรือพฤติกรรม เพราะฉะนั้น กินนรี หรือ กินรี ท่านจึงเปรียบเสมือน โมหะ คือความหลงหรือผู้หลง ความลังเลสงสัยนั่นเอง
ธงกฐินอันดับสุดท้าย เป็นรูปเต่าคาบดอกบัว มีความหมายถึง ศีล หรืออินทรีย์สังวร (การสำรวมระวังอินทรีย์)


โดยปกติสัญชติญาณการหลบภัยของเต่าคือการหดส่วนต่างๆของร่างกายเข้าไว้ในกระดองอันตรายที่จะเกิดจากสัตว์ไม่ว่าจะมีรูปร่างใหญ่โตสักปานใด ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายอะไรแก่เต่าได้ หรือสังเกตง่ายๆเวลาหมาเห่าเต่าก็จะเก็บอวัยวะส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นหัว หางและขาไว้ภายในกระดอง หมาไม่สามารถทำอันตรายใดๆแก่เต่าได้ คนผู้ที่สามารถทำบุญกฐินให้ได้บุญจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีศีล คือ มีความสำรวมระวังไม่ให้ อกุศลเกิดขึ้น จากการที่อินทรีย์ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งอารมณ์ขัดเคือง หรือความไม่ได้ดั่งใจตนคิด อันทำให้เกิดความท้อถอยโดยการอาศัย ศีล คือความมั่นคงในตัวเอง นั่นเอง
ฮีต ๑๒ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงรายระเอียดปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยวกับแต่ละฮีต เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นก็มีความเชื่อในฮีตเดียวกันไม่ค่อยจะตรงกัน มีความแตกต่างกันในรายระเอียดปลีกย่อยอยู่พอสมควรแต่เมื่อพูดโดยภาพรวมของฮีต ๑๒ ก็เป็นไปในแนวทางอันเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
เรื่องฮีต ๑๒ นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ


ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ฮีตหรือจารีตประเพณีบางอย่างในบางท้องถิ่นอาจจะไม่เหลือให้เห็น แต่ว่าบางท้องถิ่นก็ยังมีการรักษาปฏิบัติสืบต่อกันมาพอได้เห็นอยู่.ฯ

ที่มา http://www.watyan.com

Tuesday, January 15, 2008

เบื้องหลังของความสำเร็จ


เมื่อใดที่มนุษย์มีความปรารถนา เมื่อนั้น "ความสำเร็จ"จะเป็นเป้าหมายที่เขาต้องการ
ทะยานไปให้ถึง แต่การที่จะก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จได้ดังใจปรารถนาไม่ใช่เรื่องง่าย คนจำนวน
มากมายมหาศาลเดินทางผิด ต้องล้มลุกคลุกคลาน เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือ เบื้องหลังของความสำเร็จ


ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หนังสือประเภท "กุญแจแห่งความสำเร็จ" "ทางลัดสู่ชีวิตใหม่" "ค้นพบความร่ำรวย" ฯลฯ เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือ ขายดี ที่อินเทรนด์ตลอดกาลในวงการหนังสือ และมีเล่มใหม่ๆ ทยอยออกมาวางตลาดอย่างต่อเนื่อง

ที่จริงแล้ว เนื้อหาสาระของหนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน คือ มักจะเน้นเรื่องอานุภาพของจิตใจ ซึ่งพอจะ
สรุปวิธีการได้ว่า ถ้าใครต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ให้วางใจให้สงบ ปลอดโปร่ง จากนั้น จินตนาการถึงสิ่งที่อยากได้ และรอผลด้วยใจที่ปล่อยวางเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ผู้เขียนหนังสือเหล่านี้กล่าวว่า เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดให้แล้ว พลังงานอันทรงอำนาจ ที่แฝงเร้นอยู่ภายในตัวมนุษย์
จะบันดาลให้สิ่งที่ปรารถนาบังเกิดขึ้น และมีผู้ที่ปฏิบัติตามวิธีการ เหล่านี้ หลายๆ คน ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์ สามารถสร้างชีวิตใหม่ที่ทำให้คนส่วนใหญ่อิจฉา เช่น มีรถหลายคัน มีบ้านหลายหลัง การงานดี สุขภาพดี มีความรัก
ครอบครัวอบอุ่น รวมทั้งหายจากโรคร้าย หรือถูกลอตเตอรี เป็นต้น

ตามวิธีการของหนังสือเหล่านี้ ลองมาดูกันว่า ถ้าเราอยากได้บ้านสักหลัง จะต้องทำอย่างไร

ขั้นแรก ต้องทำใจให้สงบปลอดโปร่ง ด้วยการสวดอ้อนวอนทำสมาธิ และอื่นๆ เพื่อเป็นการเตรียมจิตใจ

ขั้นที่ ๒ จินตนาการถึงผลที่จะได้รับ โดยทำความรู้สึกเหมือนกับว่าบ้านหลังที่เราต้องการเกิดขึ้นแล้วจริงๆ
โดยนึกให้เห็นภาพบ้านที่เราต้องการ แล้วใส่รายละเอียดลงไปให้ชัดเจนที่สุด ว่า เป็นบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น บ้านเดี่ยว หรือ
ทาวน์เฮาส์ ทาสีอะไร ตกแต่งอย่างไร ฯลฯ

ขั้นที่ ๓ รอคอยผลลัพธ์ด้วยใจที่ปล่อยวาง ช่วงนี้ต้องทำใจให้สงบ ปล่อยวาง และทำสิ่งต่างๆ ตามแรงบันดาลใจ เพื่อดึงดูด
บ้านหลังนี้ให้เกิดขึ้นกับเราได้จริงๆ

จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่หนังสือก็ขายดิบ ขายดี เพราะจริงๆ แล้ว มนุษย์ทั่วไปย่อมฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า และฝันยังเปรียบ
เสมือนพลังที่ผลักดันชีวิตเราให้ก้าวไป ดังบทเพลงที่ว่า "คนเราอยู่กันได้ก็ด้วยฝัน ทุกชนทุกชั้นต่างก็เป็นกันทั้งนั้น ใครจะเติมพลังให้ฝันได้มากกว่ากัน"

บันได ๓ ขั้นตอนนี้ ถ้าใช้ความรู้ในทางพระพุทธศาสนามาวิเคราะห์ ก็จะพบว่า ฝันนี้มีโอกาสเป็นจริง เนื่องจาก

ประการแรก การทำสมาธิ และสวดอ้อนวอน จะทำให้ใจสงบ ปลอดโปร่ง และเป็นทางมาแห่งบุญ บุญจะหลั่งไหลมา บันดาลให้สิ่งที่ปรารถนาบังเกิดเป็นจริงได้

ส่วนการจินตนาการถึงผลที่จะได้รับ ก็คือการอธิษฐานนั่นเอง แต่เป็นการอธิษฐานด้วยภาพ ซึ่งชัดเจนกว่าและมี
พลังกว่าการอธิษฐานด้วยคำพูด เพียงอย่างเดียว ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ถือว่าการอธิษฐานเป็นทางมาแห่งบุญอย่างหนึ่ง
เป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ ทัศยิ่งอธิษฐานบุญก็ยิ่งเกิด และจะทำให้ความปรารถนาของเราเป็นจริงเร็วขึ้น

ประการสุดท้าย รอคอยผลลัพธ์ด้วยใจที่ปล่อยวาง การปล่อยวางทำให้ใจปราศจากความวิตกกังวล มีอารมณ์สบาย
ใจที่เบิกบานก็จะสามารถ ดึงดูดสิ่งที่ดีๆ เข้ามาสู่ชีวิตของเราได้

นอกจากนี้ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนาใดก็ตาม ก็ต้องมีบุญเก่าอยู่แล้ว เมื่อได้มาทำตาม ๓ ขั้นนี้ จนกระทั่งใจใสระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า "พลังงานอันทรงอำนาจ" (จริงๆ แล้วก็คือบุญนั่นเอง)ก็จะส่งผล
ทำให้คำอธิษฐานปรากฏเป็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าจะมีผู้ประสบความสำเร็จด้วยวิธีการเหล่านี้

แต่ไม่ได้หมายความว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นกับทุกคน หรือฝันจะเป็นจริงทุกเรื่องเพราะถ้าไม่มีบุญอยู่เบื้องหลัง
จะขึ้นบันไดกี่ขั้น หรือต่อให้ขึ้นลิฟต์ก็ตาม ก็คงไม่สามารถปั้นฝันให้เป็นจริงได้ เช่น คนที่มีทานบารมีไม่มากพอจะอธิษฐานอย่างไร
ทรัพย์สมบัติก็คงไม่เกิดขึ้น หรือคนที่มีปัญญาบารมีไม่มากพอ จะอธิษฐานให้เป็นคนฉลาดหลักแหลมก็คงจะไม่สำเร็จ เป็นต้น

ดังนั้น เราจึงควรหมั่นสั่งสมบุญ และนำความสำเร็จที่ล้วนเกิดมาจากบุญ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงิน ทอง ลาภ ยศ หน้าที่การงาน ฯลฯ ไปใช้สั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นแล้วเราจะมีสิทธิโดยชอบธรรมในการเดินทางบนถนนสายที่ชื่อ "ความสำเร็จ"
อย่างมีความสุขตลอดไป โดยมีอักษรจารึกข้างกระเป๋าเดินทางว่า"มนุษย์มีหน้าที่ต่อสู้ แต่บุญคือเบื้องหลังของความสำเร็จ"






Friday, January 11, 2008

มาพับดอกบัวไปทำบุญกัน...(วิธีพับกลีบบัว)

มา พับดอกบัว ไปทำบุญกัน.... ( วิธีพับกลีบบัว )
พับดอกบัว แบบต่างๆ










ดูวิธีพับที่นี่ http://picasaweb.google.com/dhammavoice