Friday, August 10, 2007

พุทธวิธีคิดให้ คลายความเหงา ความเครียด ในยามอกหัก

วิธีคิดให้หายทุกข์ใจยามอกหัก
"อกหักดีกว่ารักไม่เป็น" สุภาษิตยอดฮิตสำหรับคนที่ำพบกับความผิดหวังในความรัก
แต่ถ้าอกหักบ่อยๆ มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน เำพราะมันช่างเจ็บช้ำระกำทรวง ยิ่งคนหนุ่มสาวยุคไอที
พบกันง่าย ชอบกันง่าย เบื่อกันง่าย จะทำอย่างไรกันดี บางคนอกหักวันละสามเวลาหลังอาหาร
เพราะเที่ยวรักคนนั้นคนนี้ไปทั่ว บางคนอกหักอย่างเบา ๆ เพราะรักเขาข้างเดียว
แต่บางคนอกหักอย่างช้ำชอก เพราะถูกคนรักทอดทิ้งไม่ใยดี บางคนรักกันมานานแต่
ภายหลังจำต้องเลิกรา เพราะไปด้วยกันไม่ได้ อันนี้็ก็้เจ็บตัวทั้งคู่ สรุปแล้วอกหักไม่ดีเลย
ดังนั้นบทความในวันนี้จึงขอเสนอเทคนิคทางใจ ยามประสบกับความผิดหวังในความรัก
เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนหนุ่มสาวในยุคไอที ที่พบรักกันง่ายๆ บนออนไลน์ ด้วยความเร็วเท่าแสง
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวิธีคิดทั้ง ๔ วิธีนี้ คงจะได้ช่วยรักษาใจ ให้ท่านมีกำลังใจ
เรียนรู้ชีวิตกันต่อไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตตามปรารถนาของทุกๆ คน
ต่อไปนี้ของเชิญติดตามได้เลย

๑. เข้าใจธรรมชาติของความรัก
ความรักแบบหนุ่่มสาว เป็นความรักที่มีรสหอมหวาน ใครๆก็ใคร่ปรารถนา
แต่ธรรมชาติของความรักแบบนี้ มันมาพร้อมกับพิษสงด้วย คือหากไม่สมปรารถนาเมื่อใด
มันก็จะแสดงความเจ็บปวดออกมาทันที เจ็บมาก เจ็บน้อย แล้วแต่ว่าเรายึดมั่นทุ่มเท
ในความรักแค่ไหน ยึดน้อยก็เจ็บน้อย ยึดมากก็เจ็บมาก ดังนั้นในยามใดอกหัก
ให้เราบอกกับตัวเองว่า นี่เป็นธรรมชาติของชีวิตมันแสดงอาการตามธรรมชาติของมันเอง
ถ้าเราไม่คิดฟุ้งซ่านกับมัน เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ ทุเลาเบาบางไปเอง

๒.มีความเมตตากรุณาต่อตัวเอง
เมื่อใดต้องพบกับความเจ็บปวดจากความผิดหวังในความรัก ให้คิดเมตตากรุณาต่อตัวเอง
ไม่คิดลงโทษตัวเอง หรือคิดทำร้ายจิตใจของตัวเองซ้ำเป็นดาบสองลงไปอีก แต่ให้มองไปที่
ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยความกรุณา เหมือนกับว่าเรากำลังรู้สึกเมตตาสงสารใครสักคน
ปลอบใจตัวเองเหมือนกับที่เรากำลังปลอบเพื่อนด้วยความรักความเข้าใจ

ยกตัวอย่าง
"ทำใจสบายๆ นะ มันเจ็บไม่นานหรอก คราวหน้าเราจะระวังให้มากกว่านี้
ขอโทษทีนะเพื่อนนะ ที่ทำให้นายเจ็บ ฯลฯ"
คือมองที่ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นด้วยความเห็นใจว่านี่เป็นผลพวงที่เกิืดขึ้น
จากความรักแบบหนุ่มสาว (ดูข้อที่๑)

๓. มองโลกในแง่ดี
ให้คิดว่าตัวเองเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดในโลก ดีแล้วที่อกหัก เพราะคนที่เรารักคนนี้
อาจจะไม่ใช่เนื้อคู่ของเราก็ได้ หรือให้คิดดีใจว่า อกหักคราวนี้ดีจัง
เพราะเราได้ความรู้ใหม่ๆ ที่เราสามารถนำมาปรับปรุงชีวิตของเราให้พัฒนา
ขึ้นไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว เอ้.. อย่างนี้คงต้องขอบคุณคนที่หักอกเราแล้วสิ...
ไม่งั้นเราคงต้องเซ่อไำปอีกนาน หรือ คิืดว่า เออ..โชคเรายังดีนะ ที่ผิดหวังเสียก่อน ไม่อย่างนั้นถ้าหากถลาลึกลงไปมากกว่านี้เราก็คงจะเจ็บสาหัสกว่านี้เป็นแน่

การคิดในแง่ดีเช่นนี้ สารพัดที่จะคิดไปได้หลายรูปแบบ ใครที่คิดอย่างนี้ได้
ถือว่าเป็นคนฉลาดคิด เพราะสามารถเอาปัญหามาสร้างเป็นปัญญา
เอาความทุกข์มาแปรให้กลายเป็นความสุขที่เป็นกุศล มองโลกในแง่ดีมากๆ
เช่นนี้ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีตลอดชีวิต

๔.ฝันเพิ่งตื่น

สำหรับคู่รักที่รักกันมานาน หวานชื่นกันมาโดยตลอด
แต่ต่อมาภายหลังมีอันต้องพลัดพรากจากกัน เพราะไปด้วยกันไม่ได้ หรือ
ขัดแย้งไม่เข้าใจกัน หรือ อีกฝ่ายไม่ซื่อสัตย์ทำให้มีอันต้องแยกทางกัน หรือ
ถูกทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี ปัญหาเหล่านี้ล้วนสร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัส
ให้แก่จิตใจจนยากจะรับไว้ได้ ดังนั้น จึงมีบางคนถึงกับคิดสั้น
ทำลายชีวิตของตนเองไปเลยก็มี

ในกรณีนี้ หากใช้ ๓ วิธีข้างต้นดังที่แนะนำไปแล้ว ยังเอาไม่อยู่่ คือยังมีความร่าไรรำพัน
อาลัยอาวรณ์อยููเช่นเดิม ขอแนะนำให้ใช้วิธีคิดแบบ "ตัดใจ" อย่างเด็ดขาดไปเลย
นั่นคือ ทุกครั้งที่มีความคิดหวนอาลัยเกิดขึ้นเมื่อใด ให้บอกกับตัวเองทันทีว่า
วันชื่นคืนสุขเก่าๆ นั่นมันเป็นแค่เพียงเราฝันไป ตอนนี้เราตื่นขึ้นมาวันใหม่แล้ว
ไม่ต้องไปหวนอาลัยมันอีกต่อไป "ความฝันคือมายา ปัจจุบันคือความจริง"
ให้มีความร่าเริงในชีวิตใหม่ สำหรับความรับผิดชอบต่างๆ ที่ตามมา
บอกกับตัวเองไปเลยว่า "เราทำได้สบายมาก" การอยู่เดียวถ้าหากชีวิตมันดีงาม
มันมีความสุขมากขึ้น เราก็น่าจะดีใจ บางทีไม่แน่ ในอนาคตเราอาจจะพบกับคนดีที่
ไปด้วยกันกับเราได้ ก็อาจจะเป็นได้ เป็นต้น

ขอสรุปย้ำอีกครั้งว่า ทุกครั้งที่มีความคิดอาลัยวันวานยังหวานชื่น ให้เราต้องบอกกับตัวเอง
่ทันทีว่า "นั่นมันความฝันเมื่อคืนนี้ ตอนนี้เราตื่นแล้ว เบิกบานแล้ว ใจสว่างแล้ว"
ทำจิตใจให้ร่าเริง ได้เช่นนี้ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

ที่มา www.budpage.com

Tuesday, August 7, 2007

คำสมาทานศีลอุโบสถ

ต้องกล่าวอธิษฐานรับมา (นั่งคุกเข่า)
ขั้นตอนที่1 กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ขั้นตอนที่2 บูชาพระรัตนตรัย

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา - พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ บริสุทธิ์หมดจด จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ได้ตรัสรู้ถูกถ้วนดีแล้ว

อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ - ข้าพเจ้าบูชา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ (กราบ)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม - พระธรรมคือศาสนา อันพระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงไว้ดีแล้ว

อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ธัมมัง อะภิปูชะยามิ- ข้าพเจ้าบูชา ซึ่งพระธรรมเจ้านั้น ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ -หมู่พระสงฆ์ผู้เชื่อฟัง ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว

อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง สังฆัง อะภิปูชะยามิ - ข้าพเจ้าบูชา ซึ่งหมู่สงฆเจ้านั้น ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ (กราบ)

ขั้นตอนที 3 อาราธนาศีลอุโบสถ

มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ
อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ
อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ

(กรณี ว่าคนเดียวให้เปลี่ยน มะยัง เป็น อะหัง ,ยาจามะ เป็น ยาจามิ)

ขั้นตอนที่ 4 นะโมสรรเสริญพระพุทธเจ้า (นั่งพับเพียบ)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.

ขั้นตอนที่ 5 ไตรสรณคมณ์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.
ตติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.

ขั้นตอนที่ 6 สมาทานศีลอุโบสถ

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

อะพรหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

นัจจะคีตะวาทิตะวิสุกะทัสสะนา มาลาคันธะวิเลปะนะทาระณะ
มัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.

ขั้นตอนที่ 7 อธิษฐานรักษาศีลอุโบสถ

(พระนำ) อิมัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง พุทธะปัญญัตตัง อุโปสะถัง อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง
สัมมะเทวะ อะภิรักขิตุง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าสมาทานอุโบสถที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
ดังได้สมทานมาแล้วนี้ จะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทำลาย วันหนึ่ง คืนหนึ่ง ณ เวลานี้

ขั้นตอนที่ 8 สรุปศีลอุโบสถ

อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ อัชเชกัง รัตตินทิวัง อุโปสะถะวะเสนะ สาธุกัง รักขิตัพพานิ.
(รับว่า... อามะภันเต) (รับว่า... สาธุ)

ขั้นตอนที่ 9 กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ข้อห้ามศีลอุโบสถ
ข้อห้าม ศีลข้อ 1,2,4,5 เหมือศีล 5 ทุกประการ

ศีลข้อ 3 อะพรหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์) คือ ห้ามมีเพศสัมพันธ์ จับมือถือแขนได้ แต่ห้ามเล้่าโลม
กอดจูบศีลยังไม่ขาด แต่ศีลด่างพร้อย การสำเร็จความใคร่ให้ตัวเองก็ไม่ได้ เช่นกัน

ศีลข้อ 6 วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล) คือหลังเที่ยงจนถึงรุ่งอรุณ คือ แสงอาทิตย์ส่องเห็นลายมือ หรือแสงส่องใบไม้เป็นสีเขียวแล้ว จึงรับประทานอาหารได้ (ควรแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว เพื่อจะได้ไม่มีเศษอาหาร ล่วงลำคอหลังเที่ยงวันไปแล้ว)

สิ่งที่รับประทานได้หลังเที่ยงวันไปแล้ว
-ยารักษาโรคทุกชนิด
-เภสัชทั้ง 5 มีเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน
-น้ำตาลทุกชนิด น้ำอัดลม
-น้ำปานะ คือน้ำผลไม้ที่คั้นแล้วกรองแล้วไม่มีกาก คั้นกรองจากผลไม้ที่มีขนาดตั้งแต่ผลลูกมะตูมลงไป
เช่น น้ำส้ม น้ำองุ่น น้ำลำไย น้ำเก็กฮวย น้ำมะขาม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำฝรั่ง น้ำแอปเปิ้ล น้ำลิ้นจี่ น้ำลูกพรุน น้ำมะตูม น้ำขิง น้ำตาลสด
ชา,กาแฟ(ที่ไม่ใส่ครีมและนม)

สิ่งที่รับประทานไม่ได้หลังเที่ยงวันไปแล้ว

-น้ำผลไม้มหาผล หมายถึง ผลไม้ที่มีผลใหญ่กว่าลูกมะตูมขึ้นไปดื่มไม่ได้ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำส้มโอ น้ำสัปปะรด น้ำแตงโม
-น้ำนมทุกชนิดโอวัลติน โกโก้ กาแฟที่ใส่ครีมเทียมและ ชาใส่ครีมเทียม
-โกโก้ที่ไม่ใส่นม ช็อคโกแลต ก็ไม่ได้ เพราะผลโกโก้ใหญ่กว่ามะละกอ
-น้ำผัก น้ำธัญพืชทุกชนิด เช่น น้ำผักทุกชนิด น้ำข้าวทุกชนิด น้ำถั่วทุกชนิด น้ำเต้าหู้ น้ำฟักทอง น้ำแครอท
-หากมีข้อสงสัยไม่แน่ใจ (ก็ยกให้ศีลไม่รับประทานดีกว่า)

ศีลข้อ 7 นัจจะคีตะวาทิตะวิสุกะทัสสะนา มาลาคันธะวิเลปะนะทาระณะ
มัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ. (แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ)
-นัจจะคีตะวาทิตะวิสุกะทัสสะนา

คือ เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมเครื่องดนตรี ดูกีฬา การละเล่น ละคร โขน หนังต่างๆ เว้นจากการวิ่งเล่นกีฬา เล่นหมากรุก เล่นซ่อนหา ผิวปาก ตบมือเคาะจังหวะตามเสียงเพลง
ดูเกมส์โชว์ไม่ได้ ดูข่าวหรือสารคดีได้ ซื้อหวยวันนี้ไม่ได้เพราะว่าเป็นเชิงการพนันและการละเล่นอดใจไว้ซื้อวันอื่นนะจ๊ะ
-
มาลาคันธะ วิเลปะนะ ทาระณะมัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา คือ เว้นจากการประดับตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ เช่นสร้อยคอประดับ สร้อยข้อมือแหวน ต่างหู ผ้าชายครุย ดอกไม้ ของหอม เครื่องทาผิวเครื่องย้อมขัดผิวให้งาม แต่ถ้ามีเหตุ เช่น เป็นผื่นคัน สามารถทาแป้งแก้คันได้ ผิวแห้งทาโลชั่นได้ ริมฝีปากแตกแห้งทาลิปมันที่ไม่มีสีได้ ใช้ลูกกลิ้งเพื่อป้องกันหรือขจัดกลิ่นกายได้ แต่ทาเพื่อให้หอมไม่ได้
สำหรับคุณผู้หญิงที่ต้องทำงานโดยหน้าที่ที่ต้องแต่งหน้าแล้ววันพระที่จะถือศีลอุโบสถจะต้องทำอย่างไร
ในวันนี้ก่อนที่จะสมาทานศีลอุโบสถก็ให้แต่งหน้าให้เข้มไปเลยชนิดที่ว่าอยู่ได้ทั้งวัน เครื่องประดับจะใส่อะไรก็ใส่ได้ตามใจชอบ จะใส่อะไรก็ให้เต็มที่เลยก่อนสมาทานศีล แต่หลังจากที่สมาทานศีลแล้ว อันนี้เติมแป้งไม่ได้แล้วนะ เครื่องประดับ เช่นแหวนที่ใส่อยู่หากหลังสมาทานศีลแล้วหากถอดออก แล้วจะใส่เข้าไปใหม่อันนี้ก็ไม่ได้เช่นกััน

ศีลข้อ 8 อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
เว้นจากการนั่งหรือนอนบนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่)
-ที่นอนสูง คือ เตียงหรือตั่งที่ขาเตียงหรือตั่งสูงเกิน 8 นิ้วพระสุคต(นิ้วของพระพุทธเจ้า)
ประมาณ 10 นิ้ว 3 กระเบียด (มาตราช่างไม้ไทย 4 กระเบียดเท่ากับ 1 นิ้ว)
(พิจารณาง่ายๆคือที่นอนใดที่นั่งแล้วขาลอยจากพื้นอันนี้ก็ถือว่าสูง)

-ที่นอนใหญ่ คือที่นอนหรือเครื่องปูลาดที่มีขนาดใหญ่พอ นางฟ้อนรำ 16 นางยืนรำได้

- ฟูกที่ยัดด้วยนุ่นหรือสำลีห้ามนอนเช่นกัน แต่หมอนยัดด้วยนุ่นหรือสำลีใช้หนุนศีรษะได้ ห้ามกอดหมอนข้าง

-เครื่องปูลาดที่วิจิตรด้วยเงินและทองห้ามนั่งหรือนอนเช่นกัน

ศีลอุโบสถที่รักษาในวันพระนั้น สามารถสมาทานศีลด้วยตนเอง รักษาศีลอุโบสถอยู่ที่บ้านได้
จะเริ่มสมาทานศีลอุโบสถในวันพระได้ตั้งแต่รุ่งอรุณ คือแสงอาทิตย์ส่องเห็นลายมือ หรือเห็นใบไม้เป็นสีเขียวแล้ว และเมื่อถึงรุ่งอรุณในวัดถัดไป ศีลอุโบสถที่สมาทานไว้จะเหลือเพีงแค่ ศีล 5หรือศีล 8 ตามที่ได้สมาทานรักษาไว้ก่อนหน้าที่จะสมาทานศีลอุโบสถในวันพระ โดยไม่ต้องลาศีลอุโบสถ เพราะในคำสมาทานนั้นได้ประกาศไว้แล้วว่า จะรักษาศีลอุโบสถเพียงแค่วันหนึ่ง คืนหนึ่งเท่านั้น



Monday, August 6, 2007

เจ้ากรรมนายเวรมีหรือไม่







เจ้ากรรมนายเวร
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


เนื้อหาต่อไปนี้ เป็นบทสนทนาระหว่างอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ กับผู้ที่สนใจ..... เรื่อง "เจ้ากรรมนายเวร" ซึ่งก็ยังมีผู้สงสัยและสนใจในเรื่องนี้อยู่มาก ถ้าหากสามารถจะทำให้ทุกท่านที่สนใจได้มีความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะการสะสมความเห็นที่ถูกนั้น ย่อมสามารถเป็นปัจจัยให้เราสามารถเจริญกุศลได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ถาม.....มีผู้กล่าวว่า การทำบุญแล้ว
ควรอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร
ไม่ทราบว่า คำว่า 'เจ้ากรรมนายเวร' หมายถึงอะไร
การทำสมาธิ เมื่อทำแล้วจะอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรด้วยได้หรือไม่ อย่างไร

สุ.........รู้สึกว่าใช้คำว่า 'เจ้ากรรมนายเวร' กันมาก
และกลัวเหลือเกินว่า ถ้าไม่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร จะไม่พ้นจากเคราะห์กรรมต่างๆ

มีท่านผู้ใดเคยทำ และเคยคิดอย่างนี้ บ้างไหม
ความจริงนั้นเมื่อทำบุญแล้ว ควรอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สามารถรู้และอนุโมทนาได้

แต่คำว่า 'เจ้ากรรมนายเวร' ดูจะเป็นคำคล้องจองของคำว่า..
'กรรมเวร' และ 'เจ้านาย' ที่ว่า..มีเจ้ากรรมนายเวรนั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ใครทำให้ท่านปฏิสนธิในชาตินี้
อะไรทำให้แต่ละบุคคลเกิดในภพนี้ ในภูมินี้ เจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้ทำหรือ

หรือว่าเป็นกรรมของแต่ละท่านที่ได้กระทำแล้ว กรรมหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้..
ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมินี้ เพราะฉะนั้น ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นเจ้ากรรมของใคร

เพราะว่าแต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน แม้แต่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นจิตขณะแรกที่เกิดในภูมินี้
ก็เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในอดีตของท่านเอง ไม่ใช่มีเจ้ากรรมทำให้ท่านปฏิสนธิ

...ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ธัมมปริยายสูตร ข้อ ๑๙๓
...พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า ....

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ....
เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับคำพระผู้มีพระภาคฯ แล้ว พระผู้มีพระภาคฯ ได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ....

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน
เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นพวกพ้อง และมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

กระทำกรรมใด เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม
ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใคร
หรือว่าท่านผู้ใดเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรว่าอย่างไร

มีใครเคยอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรบ้าง


ถาม.....ผมเพียงยกมือว่าเคยกระทำเช่นนั้น แต่ผมไม่มีความรู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร

สุ.........ขณะที่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรนั้น ไม่รู้ว่ามีเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่ ใช่ไหม

ถาม.....เป็นคติความเชื่อที่เชื่อว่า เรากระทำอะไรให้ใครเขาไม่พอใจ
เดือดร้อนอย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ขอให้ต่างฝ่ายต่างมีอโหสิกรรมต่อกัน
อันนั้นเป็นความเชื่อว่า ถ้าเราแผ่ส่วนกุศลไป แผ่เมตตาไป

เชื่อว่าย่อมเป็นการกระทำที่ดี และอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราสบายใจ
เพราะเชื่ออย่างนี้ จึงทำอย่างนี้ และเชื่อต่อไปโดยไม่ได้ศึกษาว่า....
พระผู้มีพระภาคฯ อาจจะตรัสไว้ที่ไหน คิดว่าเป็นคติทางพุทธศาสนา

สุ.........แต่ไม่เห็นเจ้ากรรมนายเวรใช่ไหม

ถาม.....ที่เป็นตัวเป็นตนก็มี พ่อแม่ของผม ผมก็ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร
ท่านมีบุญคุณกับผม ผมก็อุทิศให้พ่อแม่ ครูบา อาจารย์ อุทิศให้ทุกครั้งไป

สุ.........ถ้าอย่างนั้น ในความหมายนี้ คงหมายถึงผู้ที่มีกรรมต่อกัน
ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ก็ชื่อว่าเจ้ากรรมนายเวร

ถาม....ไม่ทราบว่าความจริงจะเป็นอย่างไรสำหรับคนอื่น สำหรับกระผม
กระผมถือว่าใครก็แล้วแต่กระทำกรรมต่อกัน เราก็อยากอุทิศให้

สุ.........นั่นเป็นเรื่องการอุทิศส่วนกุศล เป็นเรื่องของการเจริญเมตตา
แต่นี่เป็นเรื่องการเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวร

ไม่ทราบว่าแต่ละท่านมีความคิดความเข้าใจเรื่องของเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร
เพราะรู้สึกว่าจะเป็นธรรมเนียมในการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร

ถาม.....กระผมเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้ศึกษา มีความเชื่อว่า..

ถ้าเรากระทำความไม่ดีอะไรกับใครไว้ ก่อความไม่พออกพอใจแก่ใครไว้
ก็คิดว่ากรรมนั้นอาจเกิดสนองแก่เราได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงคิดว่า
ถ้าเราอโหสิกรรมต่อกันเสียก็คงจะดี อันนี้เป็นความเชื่อ

นอกจากนั้นเคยไปพบใครไม่ทราบ บอกว่า เวลาเจ็บป่วย
พระภิกษุท่านบอกว่ามีสาเหตุหลายอย่าง จำได้ว่ามีพยาธิ มีอุตุ มีกรรม
และมีข้อหนึ่งว่า เป็นเรื่องของกรรมที่เราทำอะไรในชาติก่อน

อาจจะทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นมาทวงบุญทวงคุณ หรือว่าทวงกรรมที่เราไปทำเขา
ด้วยเหตุนั้นผมจึงเชื่อเช่นนั้น เวลาทำบุญทำกุศลอะไรก็แล้วแต่ แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้

เมื่อเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ก็ไม่ลืมที่จะใส่บาตรกรวดน้ำ
ไปให้ผู้ที่อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวร ถ้ามีอะไรต่อกันก็ขออโหสิกรรมแก่กัน

ทำอย่างนั้นด้วยความเชื่อ ผมไม่ทราบว่าถูกต้องตามคติ หรือ..
พระธรรมของพระผู้มีพระภาคฯ หรือเปล่า

สุ.........ขอให้พิจารณาโดยละเอียดถึงเรื่องการอุทิศส่วนกุศล และการอบรมเจริญเมตตา

สำหรับการอุทิศส่วนกุศลนั้น เมื่อได้ทำกุศลแล้ว
ก็สามารถจะอุทิศให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่สามารถจะล่วงรู้
เพื่อเขาจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือว่าเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

แต่สำหรับความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรนี้ ....

ขอให้พิจารณาจริงๆว่า แต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน เพราะฉะนั้น
จึงไม่มีเจ้ากรรมนายเวร ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะดลบันดาลสุขทุกข์ให้กับท่าน

เพราะสุขทุกข์ของแต่ละท่านนั้น ย่อมต้องเป็นผลของการกระทำคือกรรมของท่านเอง

ส่วนการอุทิศส่วนกุศลขณะนั้น ผู้อุทิศต้องมีเมตตาจิตจึงสามารถ
จะอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละบุคคลนั้นได้ ถ้าขาดเมตตาจิตในบุคคลใดก็..
จะไม่อุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้นการอุทิศส่วนกุศลจึง..

เป็นการเจริญเมตตา คือต้องมีความเมตตาจึงสามารถจะอุทิศส่วนกุศลในขณะนั้นได้

สุ.........ถ้าคิดถึงเจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น กับคิดถึงบุคคลที่ท่านกำลังไม่พอใจ
แทนที่จะคอยโอกาสมีเมตตาอุทิศส่วนกุศลให้กับ..
เจ้ากรรมนายเวรที่ไม่เห็นหน้าและไม่รู้ว่าเป็นใคร

แต่กับคนซึ่งท่านกำลังเห็นและไม่พอใจนั้น อาจจะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรได้ไหม
ซึ่งความจริงเจ้ากรรมนายเวรไม่มี ทุกท่านมีกรรมเป็นของของตน

แต่ถ้าคิดถึงกรรมที่ตนได้เคยทำต่อบุคคลอื่น
แล้วเรียกบุคคลที่ท่านกระทำด้วย ..ว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน

แล้วใคร่ที่จะเห็นเขามีความสุข ให้พ้นจากความผูกโกรธในขณะนั้น
ก็ควรเมตตาบุคคลที่ท่านเห็น แทนที่จะไปอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น
.....นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา


ส่วนการเจริญเมตตานั้นก็เจริญได้ต่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
การเจริญเมตตาต่อคนที่ล่วงลับไปแล้วไม่มีประโยชน์ ไม่เกิดผล

เพราะฉะนั้นควรพิจารณาตามความเป็นจริงว่าบุคคลที่สิ้นชีวิตแล้วนั้น
สูญสิ้นสภาพของการเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้อง เคยมีความสัมพันธ์
เคยชอบหรือเคยชังต่อกันก็จบสิ้นไปแล้ว

ฉะนั้นการที่สามารถมีเมตตาต่อบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
จึงเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาจริงๆ

มีกำลังของเมตตาที่สามารถจะเจริญได้แม้บุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักก็เมตตาได้

สุ.........แต่ถ้าบุคคลนั้นสูญสิ้นความเป็นบุคคลนั้นแล้ว
จะมีเมตตาต่อบุคคลนั้นทั้งๆที่ท่านเองก็รู้ว่าไม่มีบุคคลนั้นอีกต่อไป
....จึงย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉันใด

....ความคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวรก็ฉันนั้น
ในเมื่อกรรมได้กระทำไปแล้ว และกรรมนั้นเป็นของท่านเอง และ..
บุคคลที่ท่านกระทำกรรมในชาติไหนๆก็ตาม ในปัจจุบันชาตินี้จะเป็นใคร และ..

ถ้ากล่าวลอยๆว่า เจ้ากรรมนายเวร โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็ย่อมเป็นโมฆะ
เพราะไม่รู้ว่าเป็นใครที่ไหน

แต่ถ้าระลึกได้ว่าควรจะมีเมตตา ควรอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลทั้งหลายผู้ที่....
สามารถล่วงรู้ได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ท่านก็สามารถจะเจริญเมตตา

โดยอุทิศส่วนกุศลให้แม้คนซึ่งไม่เป็นที่รัก จะดีกว่าการไปอุทิศส่วนกุศลให้..
เจ้ากรรมนายเวรโดยไม่ทราบว่าชาติไหน ท่านได้ทำกรรมอะไรกับบุคคลใด
จึงจะเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน

เพราะว่า แม้กรรมในชาติก่อนๆ ยังนึกไม่ออก
ไม่สามารถจะล่วงรู้ได้ว่า ในชาติก่อนๆ ได้กระทำกรรมอะไร
จึงมีเจ้ากรรมนายเวร และเป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติไหนก็ไม่รู้

และถ้าเป็นในชาตินี้ ใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านบ้าง
และเจ้ากรรมนายเวรซึ่งท่านได้กระทำกรรมต่อบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือว่า..
ล่วงลับไปแล้ว ถ้าล่วงลับไปแล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลนั้นได้

แต่ไม่ใช่โดยฐานะซึ่งเป็นเจ้ากรรมนายเวรลอยๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร
และเป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติไหน

สภาพธรรมนั้นต้องไตร่ตรองพิจารณาเหตุผลจริงๆ
เพราะถ้าไม่พิจารณาเหตุผลก็อาจจะกระทำไปโดยไม่เข้าใจว่าเป็นกุศลจริงๆหรือไม่
เพราะเพียงแต่การกล่าวอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรโดยไม่รู้ว่า...

เจ้ากรรมนายเวรเป็นใครนั้น โดยมากมักจะกลัวเจ้ากรรมนายเวรเพราะคิดว่า ..
เจ้ากรรมนายเวรจะทำให้ชีวิตของท่านลำบากเดือดร้อน

แทนที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่าอกุศลกรรมที่ท่านได้กระทำแล้ว
ซึ่งเกิดเพราะกิเลส เป็นเหตุให้วิบาก คือ...
ผลของกรรมนั้นๆ เกิดขึ้นกับท่านเอง

ถาม......อย่างพวกที่ผูกพยาบาทกัน ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันหรือไม่

สุ.........โดยสถานไหน

ถาม......มีธรรมบทเรื่องนางยักษิณี มีการผูกเวรกันมาหลายชาติ

สุ.........เมื่อผูกเวรกันแล้วหนทางที่จะหมดเวรได้นั้น คืออย่างไร

ถาม......เรื่องที่จะหมดเวรก็คือว่า ตอนสุดท้ายนางยักษิณีจะไปจับลูกของผู้หญิง
คนที่ผูกเวรเพื่อนำไปเป็นอาหาร ผู้หญิงนั้นวิ่งเข้าไปในวัด
เอาลูกไปวางไว้ที่พระบาทของพระพุทธเจ้า

และพระพุทธเจ้าทรงเรียกนางยักษิณีพร้อมด้วยผู้หญิงคนนั้น
และทรงแสดงเทศนาจนคนทั้งสองเลิกผูกเวรกัน

สุ.........เพราะฉะนั้น ที่จะหมดเวรกันได้นั้น คืออย่างไร

ถาม......คงจะเป็นเพราะกุศลจิตที่เกิดขึ้น

สุ.........คือ ไม่จองเวร ไม่โกรธกันต่อไปขณะใด ขณะนั้นก็หมดเวรต่อกัน คือ กุศลจิตเกิดทั้งสองฝ่าย

ถาม......ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งทำบุญ และมีเจตนาดีที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับผลบุญที่ตนกระทำแล้ว
ฝ่ายนั้นอาจจะเลิกคิดพยาบาท เป็นไปได้ไหม

สุ.........ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อได้ทำกุศลแล้วก็อยากให้ผู้อื่นเกิดกุศลด้วย
จึงบอกให้ผู้นั้นรู้ในกุศลนั้น เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา
แต่ถ้าพูดถึงเจ้ากรรมนายเวร หลังจากที่เราทำกุศลแล้ว จะรู้ได้อย่างไร


ถาม......เมื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนที่โกรธกัน โดยบอกว่าไปทำบุญมา ขอให้ท่านได้รับผลบุญด้วย

สุ.........บอกให้เขารู้เพื่อที่เขาจะได้อนุโมทนา แต่ไม่ใช่อย่างที่คิดว่า
เป็นเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ กรรมอะไรก็ไม่รู้

แล้วยังไปกลัวอีกว่าที่อุทิศส่วนกุศลให้เพื่อเขาจะได้ไม่มาทำให้เราเดือดร้อน
ดูเหมือนกับว่าเขาสามารถจะดลบันดาล ทั้งๆที่เราเป็นผู้กระทำกรรม
เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของเราเอง ไม่ใช่คนอื่นสามารถกระทำกรรมให้เราได้

ถาม......คิดว่าเป็นอย่างนั้น

สุ.........ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็อย่าผูกโกรธ แต่ไม่ต้องไปคิดถึงกรรม
ในอดีตที่ผ่านมาแล้วโดยไม่รู้ว่ากรรมอะไร เจ้ากรรมนายเวรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

และถ้าไม่ชอบใครก็คิดเสียว่าคนนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างที่เราเคยคิด
ก็แล้วกันจะได้ไม่โกรธเขา ซึ่งการคิดอย่างนั้นเป็นการคิดไม่ถูกต้อง ดังนั้น
แทนที่จะต้องไปนั่งอุทิศส่วนกุศลให้ จึงควรเกิดเมตตาในบุคคลนั้นทันที


ถาม......เรื่องการแผ่เมตตามีคนเป็นจำนวนมากแผ่ไปไม่เฉพาะแต่เพื่อนฝูง
ญาติมิตรเท่านั้น แต่แผ่ให้แก่โอปปาติกะทั้งหลายด้วย

สุ.........เมื่อทำกุศลแล้ว ก็ควรอุทิศส่วนกุศลที่กระทำแล้ว ให้ผู้ที่สามารถล่วงรู้
เพื่อเขาจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา แต่ไม่ใช่คิดว่าโอปปาติกะนั้นเป็น
เจ้ากรรมนายเวร คืออยากให้เข้าใจคำว่า 'เจ้ากรรมนายเวร' ให้ถูกต้อง

ทุกคนมีกรรมเป็นของของตนเอง เมื่อได้กระทำกรรมต่อใครไว้
และอยากจะให้หมดกรรมนั้น จึงควรเกิดกุศลจิตแทนการผูกโกรธ

ถาม......อยากทราบว่า ตามที่ยกข้อความในธรรมบทขึ้นมานั้น คือกุลสตรี
ซึ่งในอดีตชาติเป็นภรรยาหลวง และภรรยาน้อย ภรรยาหลวงได้ทำให้ภรรยาน้อย
แท้งลูกถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ถึงสิ้นชีวิต ภรรยาน้อยจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่

สุ.........ที่ใช้คำว่า 'เจ้ากรรมนายเวร' หมายความว่าอย่างไร

ถาม......เมื่อภรรยาน้อยตายไปแล้ว
ผูกอาฆาตว่าถ้าเกิดมาในชาติใดๆ จะขอกินลูกภรรยาหลวงทุกชาติ

สุ.........แล้วเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร

ถาม......เพราะยังไม่เข้าใจ จึงเรียนถามอาจารย์ว่าเป็นหรือไม่

สุ.........ไม่ใช่เป็นเจ้ากรรมนายเวรแต่เป็นความผูกโกรธ ทุกท่านในขณะนี้อาจจะมีภัย
หรืออาจจะมีศัตรูจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดในชาติปัจจุบันนี้ จะกล่าวว่า
เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันในอดีต หรือว่าจะเกิดมามีความผูกโกรธกันในปัจจุบันชาติ

แต่บุคคลนั้นไม่สามารถจะทำอันตรายบุคคลใดได้
ถ้ากรรมของบุคคลที่ถูกกระทำนั้นไม่ถึงกาลที่จะให้ผล แต่ถ้าเป็นผู้มีกุศล
สั่งสมมาดีพร้อมทั้งคติสมบัติ กาลสมบัติ อุปธิสมบัติ ปโยคสมบัติ

แม้ว่าบุคคลอื่นจะโกรธหรือผูกโกรธอย่างไรก็ตาม
ย่อมไม่สามารถที่จะทำอันตรายได้ เพราะแต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน
เมื่อกุศลกรรมเป็นเหตุก็ทำให้เกิดกุศลวิบากจิต

ฉะนั้นบุคคลอื่นจึงทำร้ายใดๆไม่ได้ทั้งสิ้น
แต่บุคคลที่โกรธท่านก็อาจจะยังโกรธจากวันเป็นเดือนเป็นปี
จากชาตินี้ไปถึงชาติหน้าก็ได้ เป็นเรื่องของบุคคลซึ่งผูกโกรธเอง

แต่ไม่ใช่ว่าบุคคลที่ผูกโกรธจะเป็นเจ้ากรรมที่สามารถจะดลบันดาลอะไรให้
เพียงแต่ว่าเมื่ออกุศลกรรมของท่านพร้อมที่จะทำให้เกิดอกุศลวิบากเมื่อใด
เมื่อนั้นก็เป็นโอกาสที่อกุศลวิบากจะเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมของท่านเอง


ถาม......เรื่องของกรรมที่กล่าวมานั้นถูกต้อง แต่สำหรับรายนี้เมื่อเขาผูกโกรธแล้ว
ผูกอาฆาตแล้ว ไปเกิดในชาติต่อไป และเกิดเป็นแมวในบ้านนั้น
หลังจากภรรยาหลวงตาย ไปเกิดเป็นไก่ในบ้านนั้นเหมือนกัน

เวลาไก่ออกไข่แมวจะกินทุกที เพราะฉะนั้นจะว่าเป็นกรรมของไก่
....หรือ เป็นการกระทำของแมว

สุ.........ถ้าไม่มีกรรมเป็นของตน บุคคลอื่นจะทำอันตรายได้หรือไม่


ถาม......ในที่นี้เป็นการกระทำของแมว ไม่ใช่การกระทำของไก่

สุ.........ถ้าบุคคลนั้นไม่มีกรรมเป็นของตนเอง แมวนั้นจะทำร้ายได้ไหม

ถาม......จะเป็นการกระทำกรรมในอดีตชาติที่เป็นภรรยาหลวง
แล้วให้ยาเขากินจนแท้งลูก กรรมนั้นหรือไม่

สุ.........นอกจากพระผู้มีพระภาคฯ แล้ว บุคคลอื่นไม่สามารถจะ
พยากรณ์เรื่องของกรรมได้เลย ถ้าใครกล้าที่จะพยากรณ์กรรมว่า
ขณะนี้ท่านผู้นี้กำลังได้รับผลของกรรมนั้นในชาตินั้น

ก็ต้องเป็นที่น่าประหลาดมหัศจรรย์ว่า บุคคลนั้นสามารถ ล่วงรู้ได้อย่างไร
ในเมื่อไม่ใช่ทศพลญาณ อย่างพระญาณของพระผู้มีพระภาคฯ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นสามารถรู้ได้

แต่ข้อสำคัญนั้น คือ ที่พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสน เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลของกรรม
เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม
ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

นี่คือกรรมของตัวเอง เพราะฉะนั้น เรื่องเจ้ากรรมนายเวร อย่าเข้าใจผิดคิดว่า
คนอื่นเป็นเจ้ากรรมนายเวรจริงๆ ซึ่งสามารถจะทำให้ท่านได้รับความทุกข์ต่างๆ
แต่เป็นเพราะกรรมของท่านเองที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุให้ได้รับผลของกรรมนั้นๆ



ถาม......ยิ่งฟังยิ่งงง เกรงว่าจะเป็นเรื่องของถ้อยคำหรือภาษาเท่านั้นหรือเปล่าไม่ทราบ
แต่ความเข้าใจซึ่งตรงกันคือว่า ให้มีอันเป็นไปอย่างนั้นเกิดขึ้น

แต่ท่านอาจารย์เรียกว่าเป็นกรรมของเราเอง ไม่ใช่มีเจ้ากรรมนายเวร
แต่ที่เชื่อๆกัน คือกรรมของเราเองที่ไปฆ่าเขา ชาติต่อไปเขาก็มาฆ่าเรา
แต่ทางภาษาเราถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร คือเราไปกระทำใครเขาไว้

แต่ไม่ใช่หมายความว่า จะเป็นกรรมมาจากคนอื่น เป็นเพราะกรรมของเราเอง
รวมทั้งพระโมคคัลลานะ ตอนสุดท้ายก็สิ้นชีวิตเพราะกรรม

สุ.........ทุกท่านเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนเอง ในปัจจุบันชาตินี้จำได้ไหมว่า
ได้กระทำกรรมอะไร หรือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครบ้าง

ถาม......บางทีก็จำได้ว่าไปทำอะไรให้ใครเจ็บช้ำน้ำใจ
เคยมีและก็ขออโหสิกรรมไปแล้ว

สุ.........เมื่อคนนั้นสิ้นชีวิตไปแล้วเกิดเป็นอีกบุคคลหนึ่ง
ยังจะถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรคนเก่าอยู่อีกหรือไม่

ถาม......เรื่องนี้ไม่รู้

สุ.........แต่ละคนไม่ได้มีกรรมกรรมเดียว ได้กระทำกรรมกันมาแล้วมาก
เคยฆ่าสัตว์มาแล้ว สัตว์ที่ถูกฆ่านั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือเปล่า

และสัตว์จะจำได้ไหมว่า.....
เคยถูกใครฆ่า เช่น ไก่ตัวหนึ่งถูกฆ่าตายแล้วไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์
ไก่ตัวนั้นยังจะจำได้ไหมว่า เขาเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน

ถาม......คงจำไม่ได้แน่นอน

สุ.........จำไม่ได้ทั้งนั้น คือคนที่กระทำกรรมก็จำไม่ได้ว่า
ได้กระทำกรรมต่อบุคคลนี้ เพราะว่าตัวเองก็ไปเกิดใหม่

เพราะฉะนั้น จึงลืมไปแล้วว่า....
ชาติก่อนได้เคยกระทำกรรมอะไรไว้กับใคร

จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครก็จำไม่ได้อีก
.......เพราะว่าจำเรื่องของชาติก่อนไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น เรื่องเจ้ากรรมนายเวรจึงเป็นเรื่องของความคิดเท่านั้น
ต่างคนต่างก็เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกันทั้งนั้น
โดยลักษณะดังกล่าวข้างต้นในสังสารวัฏฏ์

ถาม......ใช่ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้
เพราะเราไม่มีญาณหยั่งรู้อย่างพระผู้มีพระภาคฯ

สุ.........ควรพิจารณาอย่างไรเรื่องเจ้ากรรมนายเวร เช่น ไก่ที่ถูกฆ่าไปตัวหนึ่ง
ไก่ตัวนั้นไปเกิดใหม่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน
แม้เราเองในชาตินี้ก็ไม่รู้ว่าเราเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน

เพราะฉะนั้นใครที่กำลังอุทิศส่วนกุศลให้เราซึ่งอาจจะเป็น
เจ้ากรรมนายเวรของเขาในชาติก่อน เราก็ไม่รู้อีก
เพราะว่าในชาตินี้เราจำชาติก่อนไม่ได้เลย

ชาตินี้ถ้าใครได้ทำอกุศลกรรมกับเรา
ถ้าจะคิดว่าเขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา
เราก็จำไม่ได้ว่าเขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราเมื่อไร

เขาเองก็จำเรื่องกรรมที่ทำต่อกันไม่ได้ ต่างคนต่างก็จำกรรมที่เคย
กระทำในชาติก่อนๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น แล้วจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันอย่างไร


ถาม......กระผมจึงว่าน่าจะเป็นเรื่องของภาษาตามความเข้าใจของกระผม
และกระผมคิดว่าเราจำไม่ได้ว่าไปทำอะไรใครไว้ แต่มีความเชื่อว่า

เราคงเคยกระทำอะไรไว้ และเดี๋ยวนี้เรามีจิตที่บริสุทธิ์คิดว่า
จะอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใคร ก็แล้วแต่ที่ว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร

สุ.........ท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้ เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านผู้ถามหรือไม่

ผู้ฟัง....เรื่องนี้ตอบแทนได้เลยว่าไม่มีใครรู้ใครทั้งสิ้น

สุ.........แต่ก็อุทิศส่วนกุศลให้ทุกวัน และเขาก็ไม่รู้เลยว่าท่านอุทิศส่วนกุศลให้
เพราะเขาจำชาติก่อนไม่ได้ ขณะที่อยู่ในชาตินี้ ......
พบใครก็ไม่รู้ว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรต่อกันหรือไม่

เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวร
แทนที่จะมีเวรโดยการผูกโกรธต่อกันและกัน ก็ควรมีเมตตาต่อกันทันที
จึงหมดเวรได้ ไม่ใช่ต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร

โดยไม่รู้ว่าผู้ที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้อาจเป็นเจ้ากรรมนายเวรก็ได้
และทั้งๆที่อุทิศส่วนกุศลให้ก็ยังไม่รู้ว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง

ถาม......ถ้ามีคนเขาอิสสาริษยาเรา เราจะทำอย่างไรจึงจะให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นผิด
ถ้าเราทำบุญทำกุศลแล้วบอกให้เขาทราบเพื่อให้เขาอนุโมทนาด้วย แต่เมื่อคิดว่า
เขามีจิตริษยา จึงไม่บอกให้เขาทราบ และจะมีวิธีใดที่จะบอกเขาได้

สุ.........รู้ได้อย่างไรว่าเขาอิสสาริษยา

ถาม......จากเหตุการณ์ประมวลมาหลายๆอย่าง ซึ่งคนอื่นคงไม่รู้ แต่เราสามารถรู้ได้

สุ.........ใจของคนอื่น ใครจะสามารถแก้ไขได้ ถ้าไม่ใช่ตัวเขาเอง

ถาม......สมมุติว่าเราทำบุญแล้วจะให้เขาอนุโมทนาด้วย เราจะบอกเขาว่าอย่างไรดี

สุ.........ข้อสำคัญที่สุดคือ ผู้มีอกุศลจิตเป็นผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีอกุศลจิตหรือไม่
ไม่ว่าใครทั้งนั้นที่กำลังมีอกุศลจิต รู้ตัวเองหรือไม่ว่าตนเองกำลังมีอกุศลจิต
หรือคิดว่าคนอื่นทั้งนั้นที่อิสสาริษยา นี่เป็นสิ่งต้องพิจารณา

แทนที่จะพิจารณาว่าคนอื่นริษยา ควรพิจารณาจิตของตนเองดีกว่าว่า
จิตของเราในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

ถาม......ก็ต้องเป็นอกุศลแน่

สุ.........เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปมุ่งหวังเกินเลย ไปแก้ไขคนอื่น
ก็ขอให้ทุกคนได้พิจารณาจิตของตนเอง

ผู้ใดเป็นผู้ฉลาดย่อมแก้ไขจิตของตนเอง
ด้วยการพิจารณาจิตของตนเองว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

เพราะว่าบางคนอาจมุ่งคิดจะแก้ไขบุคคลอื่นที่ริษยา
แต่ความจริงนั้นควรพิจารณาจิตของตนเองก่อนว่า
ขณะที่คิดว่าเขาริษยา จิตของเราเองเป็นอกุศลหรือกุศล

ถ้าจะกล่าวถึงจิตของผู้ที่อุทิศส่วนกุศลก็เป็นกุศลจิต
เป็นกุศลกรรมของบุคคลที่อุทิศกุศลนั้น และ ผู้ที่รู้และ
อนุโมทนาจึงเป็นกุศลจิต เป็นกุศลกรรมของผู้ที่อนุโมทนาเอง

อย่าลืมว่า ถ้าจะคิดถึงเจ้ากรรมนายเวรก็คือ
คิดถึงบุคคลที่กำลังมองเห็นอยู่นี้เอง
โดยไม่ทราบว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันชาติไหน

ถ้าจะคิดว่าในสังสารวัฏฏ์อาจจะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติหนึ่งชาติใด
ก็ควรมีเมตตาต่อผู้ที่กำลังพบเห็นทันที แทนที่จะรอโอกาสเมื่อไปทำบุญ
แล้วจึงอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน และมองไม่เห็น

---------------------------------------------------------------------------



ขออนุโมทนา

ที่มา http://www.dhammahome.com







Wednesday, August 1, 2007

หนาววว..



bt83 (294K)

ภาพนี้มีแง่คิดทางธรรมะอย่างไร ช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันได้นะ