Thursday, February 14, 2008

มาฆบูชา วันแห่งความรักของชาวพุทธ

กวีบางคนเคยกล่าวไว้ว่าความรักทำให้โลกหมุน ทำให้คนชั่วกลับกลายเป็นคนดี ความรักบันดาลสิ่งต่างๆ ได้มากมาย

ที่สำคัญความรักมิได้มีความหมายเพียงความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความรักระหว่างพ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง อาจารย์กับศิษย์ เพื่อนต่อเพื่อน รวมไปถึงความรักที่มนุษย์มีต่อมวลมนุษย์ และสรรพสิ่งร่วมโลกทั้งหลาย
เพราะความ รักมีความหมายกว้างขวาง ไร้ขอบเขต ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข นี่เอง หลายคนจึงถือว่า 'วันมาฆบูชา' อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เป็น 'วันแห่งความรัก' ทั้งนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า 'จาตุรงคสันนิบาต'

อันมีเนื้อหาหลักว่าด้วยเป็นวันที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธ ศาสนาการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว สอนให้รู้จักเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

คำว่า มาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือเดือน 3 หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 นั่นเอง

เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่าวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็เพราะในวันนี้ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน (นับแต่วันวิสาขบูชาขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ขณะเสด็จประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน (อันเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา) ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น

พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ได้ส่งออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามเมืองต่างๆ พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันถึง 1,250 รูป ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะสมัยโบราณที่ไม่มีการสื่อสารโทรคมนาคม การนัดหมายคนจำนวนมากที่อยู่คนละทิศละทางให้มาพบกันหรือประชุมกันที่ใดที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

การมาของพระพุทธสาวกเหล่านี้ ถือว่าเป็นการมาประชุมพิเศษที่ประกอบด้วยองค์ 4 อันเป็นที่มาของการเรียกวันนี้อีกอย่างว่าวันจาตุรงคสันนิบาต นั่นคือ เป็นวันมาฆปูรมี ได้แก่ หนึ่งวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำกลางเดือนมาฆะ (เดือน 3) จึงเรียกว่าวันมาฆบูชา สองพระภิกษุที่มาประชุมในวันนั้นมีจำนวนถึง 1,250 รูป

และสามพระภิกษุที่ มาประชุมนี้ล้วนเป็นพระอรหันต์ที่สำเร็จอภิญญา 6 กล่าวคือเป็นผู้มีความรู้อันยอดยิ่ง 6 ประการ ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ และมีญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย สี่พระภิกษุเหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หมายถึง ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

การประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ 4 ประการข้างต้นนี้ เกิดขึ้นในวันมาฆบูชานี้เป็นครั้งแรกและเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาล เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม หลักธรรมคำสอนดังกล่าวจะเรียกว่าเป็นธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือหัวใจของพุทธศาสนาก็ได้

ในหนังสือวันสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่ว่านี้ว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน คือเป็นหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

หลักการ 3 หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่

หนึ่ง-การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย ไม่ผูกพยาบาท

สอง-การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โลภมาก และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

สาม-การทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

อุดมการณ์ 4 หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่

หนึ่งความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ

สองความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น

สามความสงบ คือการปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ

สี่นิพพาน คือการดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ

วิธีการ 6 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ หนึ่ง ไม่ว่าร้าย คือไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น สองไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น สามสำรวมในปาติโมกข์ คือการเคารพระเบียบ กติกา กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม สี่รู้จักประมาณ คือรู้จักพอดี พอกินพออยู่ หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ ห้าอยู่ในสถานที่ที่สงัด คืออยู่ในสถานที่ที่สงบ มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม หกฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือการฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

จะเห็นได้ว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนนี้ล้วนมีความหมาย และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตที่บวชเรียนเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน และฆราวาสอย่างพวกเราทุกคนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็น อย่างดี

ในโอกาสที่วันมาฆบูชา จะเวียนมาบรรจบในวันพฤหัสบดี์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ ขอทุกท่านได้ใช้วันนี้เป็นวันแห่งความรัก ด้วยการตามรอยพระพุทธองค์ มอบความรัก ความเมตตาต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมโลกทั้งหลาย โดยการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการพูดดี คิดดี ทำดี ไม่คิดร้ายทำลายผู้อื่นทั้งกาย วาจาและใจ

เพียงเท่านี้ สังคมทุกแห่งก็จะเกิดสงบสุข โลกเราก็จะบานสะพรั่งด้วยความรักสีขาวที่บริสุทธิ์ปลอดพิษภัย

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

No comments: