เป็นบทสนทนา....ถาม-ตอบ ระหว่างผู้เห็น(คือตัวเรา)กับพระสงฆ์
ทุกวันนี้มีเสียงบ่นกันมากเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพระประพฤติผิดพระธรรมวินัย เสียงโพนทนาว่ากล่าวเหล่านี้เราสามารถได้ยินทั่วไปทุกหนแห่ง แม้แต่ในกระดานข่าวอินเทอร์เน็ต ก็มีกระทู้บ่นถึงพระประพฤติผิดพระธรรมวินัยให้เห็นอยู่เป็นประจำ อาทิเช่น ปัญหาพระชอบเข้าไปในสถานที่ไม่เหมาะสม (เช่นห้างพันธ์ทิพย์) พระใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางที่ไม่สมควร เป็นต้น
มีบางท่านได้เกิดความสงสัยว่า การที่เราพบเห็นพระประพฤติผิดพระธรรมวินัยแล้ว เราคิดไม่พอใจ หรือ ขุ่นเคืองใจในตัวพระผู้ประพฤติผิดนั้น มันจะเป็นบาปหรือไม่ บางท่านก็ถามว่าเราจะควรโกรธเกลียดพระที่หลอกลวงประชาชน หรือที่เข้ามาบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาหรือไม่ เป็นต้น
เครือข่ายชาวพุทธฯ เห็นว่าปัญหานี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย สมควรที่จะนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิธีปฏิบัติต่อพระที่ทำผิดพระธรรมวินัยมานำเสนอ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธทั่วไป
ในการนี้เราได้เขียนเป็นบทสนทนา ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความเป็นกันเอง และ ชวนให้ผู้อ่านได้ใช้ความคิดให้มากขึ้น อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนา ขอเชิญท่านติดตามได้ ณ บัดนี้
ถาม : ถามจริง ๆ นะ เวลาเราเจอพระทำไม่ดี แล้วเราคิดรังเกียจ สะอิดสะเอียนเนี่ย มันจะบาปมั๊ย?
ตอบ : บาปหรือไม่บาปให้ดูตรงไปที่ ใจของเรา คือให้ดูว่าจิตใจของเรามันขุ่นมัว หรือไม่สบายใจหรือเปล่า คือ ถ้าเราเห็นพระปฏิบัติไม่ดีแล้ว จิตใจของเราหดหู่ขุ่นมัว หรือ ร้อนรุ่ม ก็แสดงว่าในขณะนั้นได้เกิดอกุศล (บาป) ขึ้นในจิตใจของเราแล้ว
ถาม : เห็นบางคนถึงกับด่าพระด้วย อ่านเจอในอินเทอร์เน็ตบ่อย ๆ แต่พระก็ทำไม่ดีจริง ๆ นะ หลอกลวง ประชาชนก็มี ต้มตุ๋นก็มี บางกลุ่มรวมหัวกันเป็นแก๊งเลย?
ตอบ : กรณีนี้มันเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะเป็นปฏิกริยาของสังคมที่มีต่อบุคคลเหล่านี้ แต่ทีนี้เราต้องยอมรับว่า ลำพังการพูดบ่นหรือด่าว่าอย่างเดียว คงไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาอะไรได้ มันก็แค่เพียงการระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจไปวัน ๆ เท่านั้นเอง คงไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์อะไรดีขึ้นมาได้
ถาม : ในพระไตรปิฎกมีคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเปล่าว่าจะควรจะคิดอย่างไรกับพระที่ทำตัวไม่ดี?
ตอบ : ท่านวางหลักง่าย ๆ ว่า จะคิด พูด ทำอะไรกับพระก็ให้ประกอบไปด้วยเมตตา อันนี้ครอบคลุมไปหมดเลย หมายความว่าถ้าเห็นพระทำผิด ก็ให้คิดมองเห็นด้วยความเมตตากรุณา แต่ทว่าต้องคิดต่อไปถึงการแก้ไขปัญหาด้วยนะ ไม่ใช่เมตตาแบบเห็นใจแต่ไม่ยอมแก้ไขปัญหา
ถาม : ไหนลองยกตัวอย่าง สมมติว่า ไปเจอะพระเดินเรี่ยไรเงินทองญาติโยมตามบ้าน น่ารังเกียจมาก เราจะคิด อย่างไรจิตใจถึงจะเป็นกุศล (บุญ)?
ตอบ :ให้คิดด้วยความเมตตากรุณาก่อนเลย โดยอาจจะคิดว่า " โอ้..! น่าเวทนาสงสารพระรูปนี้จัง ท่านไม่รู้วินัย จึงได้มาเที่ยวเดินเรี่ยไรเงินทองรบกวนญาติโยมเช่นนี้ ตัวท่านเองคงต้องได้รับผลจากการกระทำของท่านเอง จิตใจคงเศร้าหมองไปไม่น้อย นี่แหละหนา บวชเรียนเข้ามาแต่ไม่ได้รับการศึกษา ผลเลยออกมาเป็นเช่นนี้ "
นี้คิดขั้นแรกให้เกิดความเมตตากรุณาเสียก่อน จากนั้นก็ให้คิดต่อเพื่อเกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ เช่น เราอาจจะคิดต่อไปว่า " ปรากฏการณ์ที่เห็นนี้มันเป็นเครื่องส่งสัญญาณบอกเหตุเตือนเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวพุทธทั้งหลายต้องมาช่วยกันฟื้นฟูพุทธศาสนา คือต้องมาร่วมด้วยช่วยกันทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สถาบันสงฆ์ดีขึ้น ทางพระเองท่านคงแก้ไขปัญหาฝ่ายเดียวไม่ไหวแล้ว พวกเราเหล่าฆราวาสนี้แหละที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือท่าน " เห็นไหมคิดแบบนี้มันจะเกิดกำลังใจขึ้นมาทันที ไม่เห็นต้องไปท้อใจ หรือ สลดใจอะไรเลย การคิดแบบนี้ มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คือทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหา
ถาม : บางคนเห็นพระบวชเข้ามาทำพุทธศาสนาเสื่อมแล้ว ถึงกับท้อใจอยากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นก็มี
ตอบ : อันนี้คล้าย ๆ กับว่าเราเห็นคนมาเผาบ้านของเราแล้วแทนที่จะคิดช่วยกันจับคนเผาบ้านแล้วดับไฟ แต่นี่กลับคิดวิ่งหนีเพื่อหวังที่จะไปขออาศัยบ้านของคนอื่น อันนี้เท่ากับเป็นการฟ้องว่าตัวเองเป็นคนชอบหนีปัญหา
ถาม : อยากจะถามว่าในยามที่เราได้พบเห็นพระทั่วๆไปตามสถานที่ต่างๆ เราควรจะคิดอย่างไรจึงจะได้บุญ
ตอบ : เมื่อพบเห็นพระทั่ว ๆ ไป ให้คิดด้วยความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจท่าน คือเราต้องยอมรับว่า ในยุคปัจจุบันสถานะของพระตกต่ำไปมาก ผิดกับในยุคสมัยอดีตที่ท่านเคยเป็นผู้นำสติปัญญาของคนทุกชนชั้นมาก่อน คือในสมัยก่อนนับตั้งแต่พระราชายันยาจก ทุกคนเป็นลูกศิษย์พระหมดเลย
แต่ปัจจุบันนี้พระกลับกลายเป็นตัวแทนของผู้ไร้การศึกษา หรือ ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ใครพบเห็นก็อดที่จะรู้สึกดูหมิ่นดูแคลนไม่ได้ (พระไม่ต้องถึงกับทำผิด ฆราวาสก็นึกดูหมิ่นในใจอยู่แล้ว)
ดังนั้นเวลาเราพบเห็นพระที่ไหน ให้เราคิดเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจท่านก่อนเลย เช่นอาจจะคิดว่า " โถ.. ท่านเคยเป็นผู้นำของสังคมมาก่อน แต่มาบัดนี้สังคมได้ทอดทิ้งท่านให้กลายเป็น ส่วนเกินของสังคมไปแล้วหรือนี่ "
เมื่อคิดด้วยเมตตาแล้ว ก็ควรจะคิดปลุกใจของตนเองต่อไปว่า " ทำอย่างไรหนอ..จึงจะช่วยสนับสนุนให้ท่านได้รับการศึกษาที่เป็นเลิศ เพื่อให้ท่านได้กลับมาเป็นผู้นำทางสติปัญญาของสังคมอีกครั้งหนึ่ง สังคมไทยของเราจะได้ไปรอด ฯลฯ "
ถาม : คิดทุกครั้งที่ได้พบเห็นพระใช่หรือเปล่า? ไม่คิดไม่ได้หรือ?
ตอบ : ถ้าไม่คิด ความเข้าใจเก่า ๆ จะทำให้เรามองท่านผิดไป ทำให้เราไม่สบายใจเมื่อพบเห็นท่าน ..แต่ถ้าคิดอย่างที่แนะนำนี้ จิตจะเกิดบุญกุศลทุกขั้นตอน ลองลำดับดูนะ คิดขั้นที่หนึ่ง เมตตากรุณามาก่อนเลย คิดขั้นที่สอง คิดให้เกิดความตื่นตัวรับผิดชอบ (ไม่ประมาท) เกิดธรรมฉันทะ (ใฝ่ดี) เกิดวิริยะ (ความเพียรสู้) เกิดปัญญา (คิดหาหนทางแก้ไข) จะเห็นได้ว่าสภาพจิตแต่ละขณะเป็นกุศลทั้งนั้นเลย การคิดเช่นนี้นอกจากจะเป็น คุณต่อตัวผู้คิดเองแล้ว ยังเป็นคุณต่อพระพุทธศาสนาอีกด้วย
ถาม : แล้วอย่างในกรณีพระที่ประพฤติผิดเลวทรามถึงขั้นทำลายพระพุทธศาสนา เราจะคิดอย่างไรกับพระเหล่านี้ พวกนี้แย่มากนะ มันอดโกรธไม่ไหวเหมือนกัน
ตอบ : ก็ยังคงถือหลักที่พระพุทธองค์วางไว้ให้นั้นเอง คือตราบใดที่บุคคลนั้นยังครองผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ควรมีสติคิด ให้เกิดเป็นความเมตตากรุณาให้ได้ ไม่ว่าเขาจะมีความร้ายกาจสักเพียงใดก็ตาม เช่นเราอาจจะคิดเวทนาสงสาร ที่เขาทำตัวประดุจโจรร้ายเที่ยวหลอกลวงมหาชน คติภายหน้าคงไม่พ้นอบายภูมิเป็นแน่ ถึงแม้ปัจจุบัน ชีวิตของเขาแม้ดูอย่างผิวเผินอาจจะเสมือนว่ามีความสุขจากทรัพย์สินเงินทองที่หลอกลวงมาได้ แต่ทว่าความเป็นจริงแล้วภายในจิตใจของเขามีแต่ความร้อนรุ่ม กินแหนงแคลงใจตัวเองไปตลอดทิวาราตรี
คิดให้ได้แบบนี้ จิตใจก็จะเกิดความรู้สึกกรุณา ไม่ได้โกรธ หรือ เกลียดชังอะไร จากนั้นจึงค่อยคิด หนทางช่วยกันแก้ไขปัญหาต่อไปดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ถาม : อยากให้สรุปวิธีคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระอีกครั้ง
ตอบ :
๑. พบเห็นพระทั่วไปให้คิดเห็นอกเห็นใจที่ท่านด้อยโอกาส แล้วคิดช่วยเหลือท่านให้ได้รับการศึกษาที่ดี
๒.พบเห็นพระทำผิดให้คิดสงสารที่ท่านไม่ได้รับการศึกษา ผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้ แล้วคิดช่วยกันแก้ไข
๓.ได้ทราบข่าวพระหลอกลวงประชาชน จาบจ้วงพระธรรมวินัย ให้คิดเวทนาสงสารที่บุคคลเหล่านี้ ว่าต้องตกอยู่ในความร้อนรุ่ม อยู่ไม่เป็นสุขไปตลอดกาลนาน แล้วคิดช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนา
สรุปคือ คิดให้เกิดความเมตตากรุณา และ คิดรับผิดชอบแก้ไขปัญหา นี้คือวิธีคิดของชาวพุทธรุ่นใหม่ยุคไอทีที่ควรมีต่อพระภิกษุสงฆ์ในยุคปัจจุบัน หากเราทำได้พุทธศาสนาของเราก็จะได้พระภิกษุสงฆ์กลับเป็นผู้นำทางสติปัญญาเช่นเดิม พุทธศาสนาก็จะดำรงอยู่สืบต่อไปด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพวกเราฆราวาสชาวพุทธนี่เอง
Friday, March 7, 2008
เห็นพระทําผิด คิดอย่างไรจึงไม่บาปแต่ได้บุญ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment