วิธีชี้ทางสวรรค์แก่ผู้ป่วยใกล้ตาย
ตั้งแต่โบราณกาลนานมา พุทธศาสนิกชนในไทยปราถนาจะได้รับคำตอบประการหนึ่งอย่างยิ่งยวด คือเมื่อตัวเองใกล้จะตาย หรือเมื่อญาติอันเป็นที่รักเจ็บหนัก ควรจะช่วยเหลือกันอย่างไรเป็นการส่งให้ไปดี
วิธีที่นิยมกันมากคือให้คนตายท่องไว้ว่า"พระอรหันต์ๆๆ" คือจะให้กอดพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสไว้แน่นหนา ซึ่งก็นับว่าใช้ได้ถ้าผู้กำลังจะตายเข้าใจว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือคนเราถ้าทั้งชีวิตไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้จักพุทธธรรม จู่ๆจะให้ท่องว่า"พระอรหันต์ๆๆ" แล้วไปดีนั้นยาก เพราะจิตไม่รู้ว่าพระอรหันต์คือใคร บรรลุธรรมอันใดมา จึงเปรียบเหมือนเทวดายื่นเข็มทิศให้คนหลงป่าโดยปราศจากการแถมคู่มือใช้งาน แม้คนหลงป่าคว้าเข็มทิศไว้ได้ แต่ใช้เข็มทิศไม่เป็น ไม่รู้ว่าเข็มทิศคืออะไร ทำงานอย่างไร อย่างนี้ก็ต้องกลายเป็นผู้หลงทางต่อไปอยู่ดี
มาฟังธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า เมื่อมีกษัตริย์องค์หนึ่งเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ และได้กราบทูลถามว่าอุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนผู้ป่วยซึ่งมีปัญญาด้วยกัน แต่กำลังได้เสวยทุกข์จากการเป็นไข้หนัก(ใกล้ตาย) ว่าอย่างไรดี พระพุทธองค์ตรัสให้สอนอย่างนี้คือ จงเบาใจเถิดว่าเธอมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ มีศีลอันอยู่เหนือความทะยานอยากที่ผิดและความเห็นผิดทั้งปวงแล้ว และเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต
อันนี้หมายความว่าถ้าใกล้ตายอยู่ มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างมั่นคง กับทั้งมีความเห็นชอบในเรื่องคุณและโทษ ในเรื่องบุญและบาป และน้อมใจรักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์จนจิตไม่แส่ส่ายกังวลไปในบาปทั้งหลายแล้ว ก็ย่อมเกิดความตั้งมั่น มีความเบาใจเป็นธรรมดาว่าจะจากไปสู่ความปลอดภัย
นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสว่าหลังจากปลอบเช่นนี้แล้วให้ถามผู้ป่วย(ในกรณีที่พ่อแม่ยังมีชีวิต) ยังมีความห่วงใยในบิดาและมารดาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในบิดามารดา พวกท่านก็จะต้องตายไปอยู่ดี ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในบิดามารดาเสียเถิด
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในบิดามารดาได้แล้ว พึ่งถามเขาอีก (ในกรณีที่บุตรและภรรยายังมีชีวิต) ว่ายังมีความห่วงใยในบุตรและภรรยาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในบุตรและภรรยา พวกเขาก็จะต้องตายไปอยู่ดี ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในบุตรและภรรยาเสียเถิด
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในบุตรและภรรยาได้แล้ว พึ่งถามเขาอีก ว่ายังมีความห่วงใยในกามคุณ5 อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ? (เช่นยังอยากเสพกาม ยังอยากเห็นสาวสวยหรือหนุ่มหล่อ ยังอยากฟังเพลงโปรดจากสุดยอดเครื่องเสียง ฯลฯ) ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่ากามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่า กามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในเทวดาชั้นต่างๆเถิด (คือเล่าพรรณาตามที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยัน ว่า ความสุขระดับเทพยดานั้นเหนือกว่าความสุขแบบมนุษย์เพียงใด ให้เขากำหนดใจเชื่อมั่นไว้ว่าการเสพกามในภพมนุษย์นั้นยังสุขน้อยไป กายอันเป็นทิพย์ชวนให้เสพสมอย่างกว่านั้น รูปเสียงในบรรดามีในโลกที่น่าโปรดปรานที่สุดยังน่าพิสมัยน้อยไป รูปเสียงอันเป็นทิพย์ยังน่าอภิรมย์กว่านั้นมากนัก )
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในกามคุณ 5 อันเป็นของมนุษย์ได้แล้ว พึงกล่าวว่าความสุขแม้ที่เหนือกว่ากามคุณ5 ในภพเทวดายังมี คือความสุขจากการเข้าสมาธิฌานในพรหมโลก แต่แม้จะได้เป็นถึงพรหมและอรูปพรหมก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในความหลงผิดยึดมั่นถือมั่นว่าภพนั้นๆ เป็นตน
(หรือตนเป็นอมตะ) ขอจากพรากจิตให้ออกจากเทวโลกหรือพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับจากการยึดมั่นถือมั่นเถิด
หากเขารับว่าสามารถถอนความยึดมั่นแม้ในเทวโลกและพรหมโลกแล้ว และได้นำจิตเข้าไปในความดับจากอาการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอะไรๆแล้ว เช่นนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าท่านไม่กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี เพราะต่างก็พ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน
ขอให้ทราบว่าช่วงจังหวะใกล้ตายนั้นเป็นโอกาสทอง จิตกำลังหาทิศทางอันเป็นที่ไป ไม่ค่อยอาลัยสิ่งที่เห็นว่าตนกำลังจะต้องทิ้งไว้ในโลกนี้อีกแล้ว จึงมีความหนักแน่นเป็นพิเศษ หากเราพูดเหนี่ยวนำเขาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะได้ล่ะก็ ไม่ใช่แค่คนป่วยหนักจะเข้าถึงสุคติ แต่อาจมีจิตปล่อยวางได้ถึงที่สุดจริงๆ
หากช่วงสุดท้ายผู้ป่วยสามารถเข้าใจธรรมะ สามารถยอมรับ สามารถเลื่อมใสศรัทธา เชื่อถือว่านิพพานเป็นของดี เป็นบรมสุขอันถาวรแล้ว ก็อาจสำทับลงไปตามแนวทางเปรียบเทียบคติต่างๆ ของพระพุทธองค์ คือกล่าวตามจริงว่านรกนั้นแผดเผา เดรัชฉานนั้นเน่าเหม็น เปรตนั้นลุ่มๆดอนๆ มนุษย์นั้นเริ่มสบาย ส่วนเทวดานั้นสุขจริง แต่ก็ไม่สุขได้ตลอด ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นภัยแห่งความไม่เที่ยงนั้นคติต่างๆ และประมาณได้ว่าหากไม่หลุดพ้นไปจากวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็ย่อมพลาดเข้าสักวัน สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้าคิดจะท่องเทียวเกิดตายไปเรื่อยๆ การหลีกเลี่ยงนรกมิใช่วิสัยที่จะเป็นได้
พระพุทธองค์ได้ตรัสสรุปไว้ชัดว่าความสุขระดับวิมุตติ คือหลุดพ้นจากความถือมั่นในภพทั้งปวงนั้นเป็นอย่างไร เราสามารถนำไปพรรณนาให้ผู้ป่วยใกล้ตายได้ฟังเพื่อความเลื่อมใสหนักแน่นขึ้น คือเปรียบแล้ว เหมือนสระโบกขรณี มีน้ำอันสะอาดใสเย็นอยู่ตลอดกับทั้งมีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้นมีแนวป่าอันทึบ ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงสระโบกขรณีนั้นทีเดียว เขาลงสนานกายและดื่ม ดับความกระวนกระวาย ระงับความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนรุ่มเสียได้ แล้วจึงขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่านั้นเสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว เพราะกิเลสเครื่องหมักดองทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งในปัจจุบัน
สรุปว่าวิมุตติสุขนั้น เป็นสุขเดียวที่ดับความกระหายได้สนิท ขอให้สังเกตการเปรียบเทียบของพระพุทธองค์ว่า วิมุตติหรือความหลุดพ้นจากกิเลสนั้น เป็นสถานที่เดียวที่มีน้ำให้ดื่มกินดับกระหาย ดับความกระวนกระวาย ดับความร้อนรุ่มได้สนิท
ขอเพียงผู้ป่วยหนักใกล้ตายมีความเลื่อมใสอย่าางนี้ ปล่อยวางภพภูมิทั้งหลายด้วยปัญญาอันถูกต้องอย่างนี้ แม้จิตขาดกำลังเพียงพอที่จะเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นความว่างจะภาวะทั้งปวง สงบจากการปรุงประกอบทุกข์ทั้งปวง อย่างน้อยที่สุดก่อนถึงวาระแห่งจุติจิต เขาย่อมเห้นนิมิตหมายอันเป็นมงคล เช่นเห็นองค์พระปฏิมาอร่ามเรือง หรือเห็นพุทธนิมิตเสมือนจริง หรือได้ยินเสียงเทศนาธรรมเพื่อความปล่อยวาง กระทำจิตให้แน่วไปในความเป็นมหากุศล เมื่อจิตสุดท้ายดับลง ย่อมเกิดจิตใหม่สืบต่อในสุคติภูมิอย่างแน่แท้ ไม่มีทางเลือนหลงพลัดตกลงไปสู่อบายภูมิได้เลยด้วยประการใดๆทั้งสิ้น
บทสำรวจตนเอง
1. เราเป็นผู้มีความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ ว่าตนเองพรักพร้อม ในการไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่
2. กรรมที่ทำเป็นประจำอันใด สร้างความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ ว่าเรากำลังจะไปสุคติ
3. กรรมที่ทำเป็นประจำอันใดสร้างความกังวล สับสน กลับไปกลับมา ว่าเราอาจมีทุคติเป็นที่ไป
4.เราเป็นผู้พร้อมจะละกรรมอันเป็นเหตุให้ไปทุคติ และพร้อมจะเพิ่มกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสุคติหรือไม่
5. เราพร้อมจะตายพร้อมกับความรู้สึกศรัทธาในพระพุทธเจ้าหรือไม่
สรุป
มีหลายสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเป็นเรื่องจริง แต่มันก็เป็นเรื่องจริงมาชั่วกัปชั่วกัลป์ ดังเช่นหลายคืนที่เราไม่อยากตกอยู่ในห้วงแห่งฝันร้าย แต่เมื่อเหตุแห่งฝันร้ายมีอยู่ เราก็ต้องนอนหลับอย่างทุกทรมานโดยไม่อาจขัดขืนจนกว่าจะตื่น ชีวิตหลังความตายก็เช่นกัน แม้เราเชื่อว่ามันไม่มีด้วยความทะนงตน หรือแม้นเราภาวนาขออย่าให้มันมี หรือแม้เราสามารถรณรงค์ให้คนทั้งโลกเชื่อว่าชาติหน้าเป็นนิทานเหลวไหล แต่ขอเพียงมีเหตุให้มันมี อย่างไรมันก็ต้องมี
มันจะมีหรือไม่ทางที่ดีไม่ประมาณไว้ก่อน ดังที่พระพุทธองค์ ทรงชี้ว่าถ้าเราทำดีแล้ว ย่อมเป็นสุขในปัจจุบัน และถ้าชาติหน้ามี ก็จะต้องไปดีด้วย เรียกว่าสำเร็จประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วย การละเพียรความชั่วและสั่งสมความดีเข้าไว้ จะเป็นประกันชั้นเลิศที่สุด
การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิในแต่ละครั้ง อาจหมายถึงการแก้ตัวใหม่จากที่เคยผิดพลาด หรืออาจหมายถึงการทดสอบซ้ำว่าเราดีทนแค่ไหน ธรรมชาติจะลบความจำเราเกี่ยวกับภพเดิมๆ ให้สูญสิ้นไป แต่กรรมที่ทำเป็นประจำจะทำให้เราเคยชินอยู่กับนิสัยเดิมๆ การจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้ จำเป็นต้องพบกับผู้รู้แจ้งแทงตลอดใยกรรมวิบากทั้งปวงดังเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นการปลูกฝังความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระศาสดาจึงเป็นกุศโลบายที่ดีในการเดิยทางไกล ใครสามารถอุ่นใจได้ว่าเราจะตายพร้อมกับศรัทธาในพระพุทธองค์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้พกเอาเสบียงสำคัญที่สุดติดตัวไปด้วยแล้ว ยากที่จะพลัดไปมีครูผู้สั่งสอนเรื่องกรรมวิบากผิดๆ
สำคัญคือการปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธองค์นั้น ไม่มีอะไร ดีไปกว่าการลงมือปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ทั้งในแง่ของการฝึกการเสียสละ รู้จักให้ทานเพื่อลดความตระหนี่ และทั้งในแง่ของการบำเพ็ญตนเป็นผู้ปลอดโปร่งจากบาปอกุศลทั้งปวง รักษาศีลจนกลายเป็นที่รักยิ่งกว่า สิ่งยั่วยุใดๆ เมื่อประสบสุขทางใจเต็มอิ่มแล้ว ก็จะบังเกิดความเลื่อมใส ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนไม่เบียดเบียน เป็นผู้ชี้ทางตรง ทางถูก ทางไปสู่สวรรค์นิพพานได้จริง เมื่อนั้นศรัทธาจะไม่คลอนแคลน และเราจะเป็นผู้มีคติที่ไปอันประเสริฐเสมอ
No comments:
Post a Comment