ถาม
หลวงพ่อเจ้าคะ ตามธรรมเนียมของไทย วันสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ หรือวันมงคลต่างๆ ผู้น้อยมักจะไปกราบขอพรผู้ใหญ่ อยากกราบเรียนถามว่า พรมีความสำคัญอย่างไร และควรให้พรอย่างไรเจ้าคะ ?
ตอบ
คำว่า “ พร” มาจากคำว่า “ วร” ในภาษาบาลี แปลว่า ประเสริฐ เพราะฉะนั้นการให้พรก็คือการให้ความประเสริฐ
ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ใด
ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ถ้าอยากจะรู้ว่าความประเสริฐของมนุษย์อยู่ตรงไหน ท่านให้มองเข้าไปที่ใจ อย่าไปมองที่รูปร่างหน้าตา เพราะความประเสริฐทางร่างกาย เช่น หล่อ สวย หรือว่าแข็งแรงนั้น แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่ายังดีไม่จริง ถ้าดีจริงละก็ต้องดีเข้าไปถึงในใจ
มนุษย์ทั่วไปหากยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ย่อมมีกิเลสอยู่ในใจด้วยกันทุกคน เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในใจมาก ก็จะทำให้เขาคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายได้มาก บาปที่เกิดขึ้นมาจะบั่นทอนความดีของเขาลงไปเรื่อยๆ ส่วนผู้ที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในใจน้อย เขาก็จะคิดดี พูดดี ทำดี บุญที่เกิดขึ้นมาจะทำให้เขามีแต่ความสุข ความเจริญในชีวิต ในหน้าที่การงาน
ความสำคัญของการให้พร
ในทางโลกเขาสมมุติกันว่า ผู้ใหญ่ คือ ผู้ที่ผ่านวัยมามาก เนื่องจากอยู่ในโลกนี้มานาน จึงสมควรที่จะมีหลักธรรมประจำใจ ไว้สำหรับปราบความโลภ ความโกรธ ความหลงที่อยู่ในตัว เพราะได้ฝึกการปราบความโลภ ความโกรธ ความหลงมาตลอดชีวิตแล้ว ผู้ใหญ่จึงสมควรที่จะมีความประเสริฐอยู่ในตัว มากกว่าผู้น้อย
และด้วยเหตุนี้ได้ทำให้เกิดเป็นประเพณีอย่างหนึ่งขึ้นมาในหมู่ชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวพุทธ ในประเทศไทยของเรา นั่นคือ เมื่อถึงวันสำคัญต่างๆ หรือว่ากาลเทศะใดที่เหมาะสม ผู้น้อยควรจะไปกราบ ขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อจะได้เอามาสร้างความประเสริฐ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองบ้าง เพราะกว่าที่ผู้ใหญ่เหล่านั้น จะมีความประเสริฐเกิดขึ้นในตัว ท่านต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก และท่านจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไรไม่รู้ ถ้าท่านละโลกไปแล้ว เราจะไปขอความรู้และความดีเหล่านั้นจากที่ใด
เพราะฉะนั้น พอถึงวันขึ้นปีใหม่ หรือวันมงคลต่างๆ ผู้น้อยจึงพากันไปกราบผู้ใหญ่ เพื่อขอพร หรือว่าขอความประเสริฐ ซึ่งก็คือขอวิธีละความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นเอง
ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นจะไม่ได้เป็นพระภิกษุ แต่ในฐานะที่อยู่ทางโลก เราต้องทำงานกับท่าน ที่สำคัญความโลภ ความโกรธ ความหลงของคนเรา มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายใน ขณะที่ทำงาน ยกตัวอย่าง เวลามีลาภผลเกิดขึ้น ความโลภจะมา เวลาทำงานไม่ค่อยได้ดั่งใจ เดี๋ยวเถอะความโกรธจะมา เวลาได้ยศ ได้ศักดิ์เพิ่มขึ้น ก็ชักจะเกิดความหลงตัวเองเสียแล้ว
หรือเวลาทำงานไม่ค่อยเข้าท่าเข้าทาง ผู้ใหญ่ท่านก็ไม่ปูนบำเหน็จรางวัลให้ แต่เรากลับคิดว่าตัวเองทำดี แล้วเที่ยวไปอิจฉาตาร้อนเพื่อนที่เขาได้ดิบได้ดี ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องไปขอวิธีแก้ความโลภ ความโกรธ ความหลงกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่ส่งงานมาให้เราทำนั่นเอง
เพราะฉะนั้น พอถึงวันขึ้นปีใหม่บ้าง วันสงกรานต์บ้าง บรรดาลูกน้องทั้งหลายก็จะแห่กันไปเป็นขบวนทีเดียว โดยนำของสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น ไปบูชาและกราบขอพรจากผู้ใหญ่ที่พวกตนนับถือ
ธรรมเนียมการขอพรผู้ใหญ่
ธรรมเนียมในการขอพรจากผู้ใหญ่นั้น ก่อนอื่นต้องขอขมาท่านเสียก่อน เพราะว่าขณะทำงานกับท่าน เวลาเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา บางครั้งเราก็คิดไม่ค่อยดี กับท่านเหมือนกัน จึงถือโอกาสนี้ขอขมาลาโทษ ที่เคยทำผิดคิดล่วงเกินท่าน ทั้งต่อหน้าก็ดี ทั้งลับหลังก็ดี ขอท่านจงให้อภัย อย่าได้จองเวรจองกรรม อย่าให้เป็นบาปติดตัวเราไปเลย
เมื่อขอขมาลาโทษเสร็จ ก็ขอแนวทางในการทำงานที่ถูกต้อง หรือขอแนวทางใน การที่จะละความโลภ ความโกรธ และความหลงจากท่าน เพราะว่าท่านคงเคยพบอุปสรรคในการทำงาน ทำนองเดียวกับเรามาแล้วมากมาย
เพราะฉะนั้น ความจริง “ การขอพร ” ก็คือ “การขอหลักในการแก้ไขตัวเอง” แต่เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเป็นทางการจนเกินไป ท่านจึงใช้คำว่า “กราบขอพร” แทน
หลักการให้พรที่ถูกต้อง
เมื่อผู้น้อยเข้ามากราบขอพร ผู้ใหญ่ท่านก็จะมีวิธีให้พรดังนี้
๑ . อ้างสัจจะในการทำความดี
๒ . อธิษฐานให้บุญคุ้มครอง
๓ . สอนวิธีทำความดี
๔ . ใช้วาจาที่ไพเราะ
๕ . ให้พรที่เหมาะสมกับกาละเทศะ
ยกตัวอย่าง ท่านจะอ้างสัจจะ คือ ความจริงใจในการทำความดี แม้ข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาก่อนเช่น “ ตลอดชีวิตในการทำงาน ข้าพเจ้า ไม่เคยมีความลำเอียงเลย” จากนั้นก็อธิษฐานจิตว่า
“ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความลำเอียง ขอให้บุญนี้จงคุ้มครอง ให้ท่านทั้งหลาย จงมีแต่ความสุข ความเจริญ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามข้าพเจ้ามา” ท่านให้พรเพียงสั้นๆ แค่นี้เราก็ชื่นใจแล้ว
ผู้ใหญ่ที่ย่ำโลกมามาก แค่มองหน้าเราท่านก็พอจะรู้ว่า ตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกันมา ๑ ปี เรามีความขุ่นข้องหมองใจต่อท่านในเรื่องใดบ้าง เพราะฉะนั้นนอกจากอธิษฐานให้บุญคุ้มครองเราแล้ว ท่านยังยกเรื่องที่ทำให้เราเกิดความขุ่นใจขึ้นมากล่าวอีกด้วย
“ ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าเคยแก้ไขความขัดแย้ง เรื่องนั้น เรื่องนี้ ในที่ทำงาน ด้วยความจริงใจ ขอให้บุญนั้น จงคุ้มครองให้เขากลับเนื้อกลับตัวเสียใหม่” อย่างนี้เป็นต้น
ผู้ใหญ่บางท่าน เมื่อรู้ว่าผู้น้อยจะไปกราบขอพร ท่านก็จะเตรียมถ้อยคำที่ไพเราะ สละสลวย โดยสรุปสั้นๆ แต่ว่าประทับใจผู้ฟัง หรือบางทีท่านก็เตรียมถ้อยคำที่เป็นโคลงกลอน เพื่อผู้ฟังจะได้จำได้ง่าย เตรียมไว้เป็นพรสำหรับให้กับเราเสร็จเรียบร้อยเลย
เพราะฉะนั้น ถึงคราวที่พวกเราจะต้องให้พรใคร จำหลักการเหล่านี้ไว้ให้ดีก็แล้วกัน
No comments:
Post a Comment