คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของสังฆกรรมชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ต้องใช้พระสงฆ์ร่วมเป็นพยานในการทำ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย คือ ๔ รูป เป็นองค์สงฆ์หรือพยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน รวมเป็น ๕ รูป ภาษาสังฆ์กรรมของพระเรียกว่า "ปัญจวรรค"
นอกจากนี้คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึงในเวลาเย็บจีวร ภาษาไทยเรียกว่า "ไม้สดึง" ภาษาบาลีใช้คำว่า "กฐิน"
ขณะเดียวกันภาษาไทยได้ยืมภาษาบาลีมาเป็นภาษาของตัวเองโดยการเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า ผ้ากฐินหรือบุญกฐิน
บุญกฐิน มีกำหนดทำกันในระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สำหรับจุดประสงค์หลักของการทำบุญกฐินนั้น เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วได้ผลัดเปลี่ยนผ้าใหม่ โดยได้มีมูลเหตุของบุญกฐินปรากฎในกฐินขันธะแห่งพระวินัยปิฎก และฎีกาสมันตปาสาทิกา ไว้ว่า:-
สมัยหนึ่ง ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ขณะนั้นวันจำพรรษาได้ไกล้เข้ามา พวกภิษุเหล่านั้นจึงได้พากันจำพรรษาที่เมืองพระเชตวันมหาวิหาร ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่จำพรรษาภิษุเหล่านั้นมีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ ครั้นพอ ออกพรรษาแล้ว พากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดร้อนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ขณะฤดูฝนยังไม่ทันจะล่วงพ้นสนิท ทำให้พวกภิกษุชาวเมืองปาฐาเหล่านั้นมีจีวรเปียกชุ่มและเปรื่อนด้วยโคลนตม พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นใจในความยากลำบากของภิษุเหล่านั้น จึงอนุญาตให้หาผ้ากฐินหรือผ้าที่ขึงเย็บด้วยไม้สะดึงมาใช้เปลี่ยนถ่ายแทนผ้าเก่า ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกาเมื่อได้ทราบถึงพุทธประสงค์แล้ว นางก็ได้นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนางได้เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินในพระพุทธศาสนา
การทำบุญกฐิน หรือการหาผ้ากฐินในสมัยก่อนๆ ของคนอีสานนั้นสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องหรือเป็นกิจกรรมของพระที่จะต้องช่วยเหลือกัน และครั้นพอทำสำเร็จแล้วก็มอบ หมายให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่ปรากฏในกฐินขันธกะ แห่งพระวินัยปิฎกและฎีกาสมันตปาสาทิกาว่า:-
พระที่มีคุณสมบัติ สมควรที่จะได้รับกฐิน คือ เป็นผู้ที่มีอายุมาก มีพรรษามาก เป็นผู้ที่มีจีวรเก่า เป็นผู้ที่ฉลาด สามารถรู้อานิสงค์ ๕ มาติกา ๘ รู้จักการกรานกฐิน พินทุ ปัจจุธรณ์และอธิษฐาน และเป็นผู้ที่สามารถกระทำกฐินัตถารกิจได้ คนอีสานรู้และเข้าใจดีฐานะที่ว่าครองกฐิน ในตอนว่าด้วยบุญกฐินนี้มีบทผญาที่นักปราชญ์อีสานได้กล่าวพรรณนาถึงประเพณีฮีตข้อที่ ๑๒ ไว้ว่า...
พอแต่เหลียวขึ้นฟ้าเห็นแต่ว่าวเดือนสิบสอง
ลมคะนองเชยพัดง่า ยม กะเลยม้วน
พอสมควรกะหาผ้ากฐินทานมาทอด
ตลอดเดือนหนึ่งหาได้ดั่งประสงค์
หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงตาสีหาน้ำครั่ง
หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายขวาซ้ายเข้าซ่อยกัน
พอแต่ตกบ่อนบั้นโลกมันเปลี่ยนเวียนผัน
ปัจจุบันกะเลยโยมเป็นคนเฮ็ดแห่แหนแพนกั้ง
ต่างกะหวังเต็มที่ทำความดีบ่ดูหมิ่น
บุญกฐินซ่อยค้ำทานทอดให้หมู่สงฆ์
ทุกวันนี้การทำกฐินเป็นเรื่องของผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ต้องการจะทำบุญกฐิน เนื่องมาจากสมัยนี้เป็นเรื่องของความสดวก ถ้ามัวแต่ให้หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงปู่สีหาน้ำครั่ง หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายเหมือนสมัยก่อนนั้น ผู้เขียนกลัวว่าวันหนึ่ง กับคืนหนึ่งผ้ากฐินคงจะเสร็จไม่ทันกำหนดแน่ เว้นแต่ว่าใช้กำลังคนมาก และอาศัยความพร้อมเพียงสามัคคีกันเท่านั้น
ผ้าที่พระบรมพุทธานุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐินไดนั้น มีดังนี้ คือ ผ้าใหม่ ๑ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ๑ ผ้าเก่า ๑ ผ้าบังสุกุล ๑ ผ้าที่มีขายอยู่ตามร้านตลาด ๑ ซึ่งผ้าเหล่านี้เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้ ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ยืมเขามา ๑ ผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑ ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑ ผ้าเป็นนิสัคคีย์ ๑ ผ้าที่ขโมยมา ๑
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วผ้าที่เป็นผ้ากฐินได้คือผ้าที่ได้มาโดยชอบหรือโดยสุจริต ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ได้มาโดยมิชอบหรือโดยทุจริต
ทีนี้พูดกันถึงเรื่องของประเภทของกฐินบ้าง โดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจว่ากันว่ากฐินมี ๒ แบบ คือ "จุลลกฐิน" และ "มหากฐิน" จุลกฐินเป็นกฐินเล็กหรือกฐินแล่น เป็นกฐินที่ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มตั้งแต่การปั่นด้าย ทอด้าย เย็บ ย้อมและถวายต้องให้เสร็จในวันนั้น กฐินชนิดนี้นานๆ จะมีคนทำ เพราะความยุ่งยากและต้องใช้คนมาก ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐิน ส่วนมหากฐินเป็นกฐินใหญ่ เป็นกฐินที่นอกจากจะมีผ้าไตรจีวรแล้ว ยังมีเครื่องบริวารกฐินอีกจำนวนมาก และใช้ระยะเตรียมงานมากกว่าจุลกฐิน แต่ก็เป็นที่นิยมทำกันเพราะมีความสะดวกพอสมควร
ประเภทของกฐินอีกอย่างหนึ่งคือ "กฐินหลวง" และ "กฐินราษฎร์" กฐินหลวงหมายถึงกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินไปทอดเอง หรือพระราชทานแก่หน่วยงานต่างๆ บริษัท ห้างร้าน พ่อค้า ประชาชนที่มีจิตศรัทธา นำไปถวายตามวัดที่เป็นพระอารามหลวงต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนกฐินราษฎร์หมายถึง กฐินที่ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ชักชวนกันจัดทำขึ้น เพื่อนำไปถวายวัดต่างๆ ที่ได้จองไว้แล้ว ซึ่งกฐินราษฎร์นี้หมายถึง กฐินสามัคคีและกฐินที่ปัจเจกบุคคลด้วย
ในเรื่องของการทอดกฐินนี้ "ธงกฐิน" ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว โดยเหตุที่ว่า วัดหนึ่งๆ นั้นรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว อีกในหนึ่ง ธงกฐินจะมีรูปสัตว์ ๓ - ๔ จำพวก เป็นสัญลักษณ์ คือ รูปจรเข ้ รูปตะขาบ รูปแมลงป่อง รูปนางกินร ีและรูปเต่าคาบดอกบัว
เรื่องธงกฐินนี้โดยใจความแล้วไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในหนังสือคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของกฐินอย่างชัดเจน
สาเหตุอาจจะเป็นเพราะนักปราชญ์อีสานโบราณท่านสอนคนหรือแนะนำคน จะไม่ใช้วิธีการที่บอกหรือกล่าวสอนกันตรงๆ มักจะใช้ทำนองที่ว่าเรียบๆ เคียงๆ เป็นลักษณะของปริศนาธรรม เช่น ลักษณะที่เด่นและเห็นชัดเจนคือ การใช้คำพูดในบทผญาหรืออีสานภาษิต ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกำลังพูดกันตรงๆ เช่นว่า "เจ้าผู้แพรผืนกว้างปูมาให้มันเลื่อมแด่เป็นหยัง สังมาอ่อมส่อมแพงไว้แต่ผู้เดียว แท้น้อ" ซึ่งสำนวนนี้ก็ได้พูดถึงความใจกว้างหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
สำหรับรูปสัตว์ต่างๆ ธงกฐินนี้ท่านบอกสอนไว้ให้รู้ในลักษณะที่ว่า คนที่สามารถทำกฐินหรือเจ้าภาพทอดกฐินได้ ต้องเป็นคนจิตใจกว้าง มีความเสียสละเป็นอันมาก รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แม้กระทั้งสัตว์ที่มีพิษร้ายก็สามารถมาร่วมทำบุญได้ หรืออีกความหมายหนึ่งนักปราชญ์อีสานโบราณท่านอธิบายเปรียบเทียบกับโลภะ โทสะ โมหะ ได้ชัดเจนว่า
ธงกฐินอันดับแรก เป็นรูปจรเข้คาบดอกบัว หมายถึงความโลภ โดยปกติแล้วจรเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในบางช่วงขึ้นมานอนอ้าปากอยู่บนบกให้แมลงวันเข้ามาตอมอยู่ในปาก พอแมลงวันเข้าไปรวมกันหลายๆ ตัวเข้าจึงได้งับปากเอาแมลงเป็นอาหาร ท่านได้เปรียบถึงคนเราที่มีความโลภ ไม่มีความรู้สึกสำนึกชั่วดี ความถูกต้องหรือไม่ มีแต่จะเอาได้ท่าเดียว โดยไม่คำนึงว่าที่ได้มานั้นมีความสกปรกแปดเปื้อนด้วยความไม่ดีไม่งามคือ อกุศลหรือไม่ ผู้อื่นจะได้รับผลอย่างไรจากการกระทำของตนไม่ได้ใส่ใจ ดังนั้น ธงรูปจรเข้ท่านจึงได้เปรียบเหมือนกับคนโลภ ที่มันทำให้คนกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่มีช่องทางหรือโอกาส
ธงกฐินอันดับที่สอง เป็นรูปตะขาปหรือแมลงป่องคาบดอกบัว หมายถึงความโกรธ โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์ทั้งสองอย่างนี้เป็นสัตว์ที่มีพิษร้าย ถ้าใครโดนตะขาปและแมลงป่องกัดหรือต่อยเข้าแล้วจะรู้สึกเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดเหล่านั้นมียาหรือของที่แก้ให้หายหรือบรรเทาปวดได้ ท่านได้เปรียบถึงโทสะ เพราะโทสะนี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นง่ายเกิดขึ้นเร็วและรุนแรง แต่ก็หายเร็วหรือที่เรียกว่า โกรธง่ายหายเร็ว โทสะหรือความโกรธ มีความเจ็บปวดและมีความเสียหายเป็นผล ดังนั้นท่านจึงเปรียบธงรูปตะขาปและธงรูปแมงป่องว่า เหมือนกับความโกรธ เพราะมีลักษณะคล้ายกันคือเกิดขึ้นง่าย เร็ว รุนแรง มีความเจ็บปวดและหายเร็วหรือมีทางที่จะรักษาให้หายได้
ธงกฐินอันดับที่สาม มีรูปเป็นนางกินรีถือดอกบัว หมายถึงความหลงหรือโมหะ โดยที่รูปร่างและศัพท์ที่ใช้เรียกก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว กินรี แปลว่า คนอะไร หรือสัตว์อะไร ดูไม่ออกบอกไม่ถูกว่าเป็นรูปสัตว์หรือรูปคนกันแน่ เพราะว่าท่อนล่างมีรูปเป็นปลา ท่อนบนมีรูปร่างเป็นคน ศัพท์ว่า กินรีมาจากภาษาบาลีว่า " กึ นรี" แต่ผ่านกระบวนการแปลงศัพท์ของภาษาบาลีเป็น "กินนรี" แปลว่า "คนอะไร" หรือว่า คนผู้สงสัย, ผู้ยังสงสัย หรือ ผู้ที่ค้นพบเห็นก็เกิดความสงสัย คือคนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองนั่นเอง ทั้งทางด้านความคิด ทั้งทางด้านการกระทำหรือพฤติกรรม เพราะฉะนั้น กินนรี หรือ กินรี ท่านจึงเปรียบเสมือน โมหะ คือความหลงหรือผู้หลง ความลังเลสงสัยนั่นเอง
ธงกฐินอันดับสุดท้าย เป็นรูปเต่าคาบดอกบัว มีความหมายถึง ศีล หรืออินทรีย์สังวร (การสำรวมระวังอินทรีย์)
โดยปกติสัญชติญาณการหลบภัยของเต่าคือการหดส่วนต่างๆของร่างกายเข้าไว้ในกระดองอันตรายที่จะเกิดจากสัตว์ไม่ว่าจะมีรูปร่างใหญ่โตสักปานใด ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายอะไรแก่เต่าได้ หรือสังเกตง่ายๆเวลาหมาเห่าเต่าก็จะเก็บอวัยวะส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นหัว หางและขาไว้ภายในกระดอง หมาไม่สามารถทำอันตรายใดๆแก่เต่าได้ คนผู้ที่สามารถทำบุญกฐินให้ได้บุญจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีศีล คือ มีความสำรวมระวังไม่ให้ อกุศลเกิดขึ้น จากการที่อินทรีย์ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งอารมณ์ขัดเคือง หรือความไม่ได้ดั่งใจตนคิด อันทำให้เกิดความท้อถอยโดยการอาศัย ศีล คือความมั่นคงในตัวเอง นั่นเอง
ฮีต ๑๒ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงรายระเอียดปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยวกับแต่ละฮีต เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นก็มีความเชื่อในฮีตเดียวกันไม่ค่อยจะตรงกัน มีความแตกต่างกันในรายระเอียดปลีกย่อยอยู่พอสมควรแต่เมื่อพูดโดยภาพรวมของฮีต ๑๒ ก็เป็นไปในแนวทางอันเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
เรื่องฮีต ๑๒ นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ฮีตหรือจารีตประเพณีบางอย่างในบางท้องถิ่นอาจจะไม่เหลือให้เห็น แต่ว่าบางท้องถิ่นก็ยังมีการรักษาปฏิบัติสืบต่อกันมาพอได้เห็นอยู่.ฯ
ที่มา http://www.watyan.com
No comments:
Post a Comment