Wednesday, March 7, 2012

ประเพณี “แห่ผ้าขึ้นธาตุ”"กวนข้าวยาคู”ที่”เมืองคอน


เมืองหรือประเทศใดๆ ทั่วโลกที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปถึง ย่อมมีประวัติและประเพณีที่เกี่ยวโยงให้ประชาชนประพฤติ ปฏิบัติไปตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขั้นพื้นฐานเพือสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ถ่ายทอดตามนิพนธ์ของท่านพุทธทาสภิกขุคือ สงบ ร่มเย็น เป็นประโยชน์)และเมื่อปฏิบัติแล้วจะถ่ายทอดการปฏิบัติออกไปเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ ที่มาจากพื้นฐานแนวทางของศาสนา

แล้วมีการแสดงออกถึงการเคารพ บูชาต่อ"องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"ในแต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกันบ้างในขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ก็เพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือ "บูชาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"แสดงออกความเคารพบูชาต่อหน้าพระพุทธรูปหรือต่อพระธาตุของพระพุทธเจ้า

ผ้าพระบฎพระราชทาน(ภาพจากเวป)

ภาพแห่ผ้าขึ้นธาตุของ"เมืองคอน"ภาพโดย น.ส.ปุณิกา(ศรีรัตน์) พันธรังษี เมื่อเยาว์วัย

  • แห่ผ้าขึ้นธาตุที่"เมืองคอน"(ภาพจากเวป)

ภาพอดีตแห่ผ้าขึ้นธาตุ(ภาพจากหอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี)

" เมืองคอน" ก็เช่นกัน ตามประวัติและตำนาน เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารได้นำพระทันตธาตุมาเมืองคอนเมื่อ พ.ศ.854 และได้เริ่มก่อสร้างเป็นลักษณะเจดีย์และก็ทิ้งเวลาถึง พ.ศ.1300 โดยประมาณ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้มีการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์และมีการฉลองพระบรมธาตุเจดีย์ จึงได้มีการสมโภชและกำเหนิดประเพณี"แห่ผ้าขึ้นธาตุ"ตามประวัติคือ

"ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้"

สำหรับวันประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุจะนำผ้าไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารในวันขึ้น 15 ค่ำ เืดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา(ปี 2554 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์) มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ

ภาพจากหนังสือ"ภาพเล่าพระพุทธประวัติในโอกาสทำบุญ 100 วันคุณพ่อวราวุฒิ สุวรรณโกศัย"

ความหมาย
วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ความสำคัญ
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์

ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส

ประวัติความเป็นมา
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้ นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจาก พระพุทธเจ้

เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว จึงมีชื่อเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต และในโอกาสนี้ พระพุทธเจ้า ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศหลักการอุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา


  • ผ้าพระบฎยุคต้นรัตนโกสินทร์(ภาพจากเวป)

ผ้าพระบฏของเมืองไทยและนานาชาติ(ภาพจากเวป)

  • ผ้าะพระบฎของไทยที่เป็นเรืองราวพุทธประวัติพระเวสสันดรชาดก(ภาพจากเวป)

  • ประเพณีกวนข้าวยาคู

ภาพจากหนังสือ"ภาพเล่าพระพุทธประวัติในโอกาสทำบุญ 100 วันคุณพ่อวราวุฒิ สุวรรณโกศัย"

ประเพณีกวนข้าวยาคู
ข้าวยาคูหรือข้าวยาโค เป็นชื่อที่คนภาคใต้เรียกกันท่าไป ในพุทธประวัติเรียกว่า “ข้าวมธุปายาสยาคู” ซึ่งเป็นข้าวที่นางสุชาดานำไปถวายพระพุทธเจ้า

ความเชื่อ
พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ให้สมองดีเกิดปัญญาแก่ผู้ บริโภค ทำให้ผิวพรรณผ่องใส อายุยืนยาว และเป็นโอสถขนานเอก ขจัดโรคร้ายทุกชนิด และบันดาลความสำเร็จในการประกอบอาชีพเป็นสิริมงคลแก่ผู้บริโภคด้วย

ภาพจากหนังสือ วารสาร อบจ.นครศรีธรรมราชและจากเวป

กำหนดเวลากวนข้าวยาคู

เดือนสามเป็นระยะเวลาที่ข้าวในนากำลังออกรวง เมล็ดข้าวยังไม่แก่กำลังเป็นน้ำนมข้าวสำหรับนำมากวนข้าวยาคู ชาวบ้านจึงนิยมกวนข้าวยาคูในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือน๓ โดยใช้วัดเป็นสถานที่กวนข้าวยาคู เพราะว่าวัดเป็นศูนย์รวมของประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการจัดกวนข้าวยาคูขึ้นตามวัดต่างๆ และได้มีการจัดพิธีกวนข้าวยาคูเป็นพิเศษ จำนวน ๙ กระทะ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นประจำทุกปี

การเตรียมการ

๑.เครื่องปรุง
เครื่องปรุงมีมากกว่า ๕๐ ชนิด มีทั้งพวกพืชผลและพืชสมุนไพรผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นตามฤดูกาล ซึ่งจัดเครื่องปรุงแยกเป็นประเภทได้ดังนี้
๑.๑ น้ำนมข้าว เป็นเครื่องปรุงที่สำคัญที่สุดได้จากการเก็บข้าวที่กำลังมีน้ำนม ชาวใช้กะลามะพร้าวรูดเอาแต่เมล็ดออกจารวงนำเมล็ดข้าวไปตำให้แหลกแล้ว นำมาคั้นเอาน้ำนมข้าว ใช้วิธีการเดียวกับการคั้นกะทิ แล้วกรองให้สะอาดเก็บเตรียมไว้
๑.๒ ประเภทผลไม้ เช่น ขนุน จำปาดะ มังคุด ละมุด อินทผาลัม กล้วย เงาะ พุทรา มะละกอ ทุเรียนสด ทุเรียนกวน มะตูม สาคูวิลาด และผลไม้อื่นๆ ที่มีตามฤดูกาล ผลไม้เหล่านี้ปอกเปลือกแกะเมล็ด หั่น ต้ม เตรียมไว้
๑.๓ประเภทพืชผัก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวโพดอ่อน ข้าวเม่า ข้าวตอก ฟักทอง ถั่วลิสงคั่ว เมล็ดผักชี ลูกบัว หอม กระเทียม ซึ่งแต่ละชนิดเตรียมด้วยการหั่น ซอย คั่วหรือตำให้ละเอียด
๑.๔ประเภทพืชมีหัว ได้แก่ เผือก มันเทศ มันล่า หัวมันหอม เป็นต้น ปอกเปลือกหั่นแล้วนำไปต้มในน้ำกะทิเตรียมไว้
๑.๕ประเภทน้ำผึ้งและนม ได้แก่ น้ำผึ้งรวง น้ำตาลทราย น้ำตาลขัณฑสกร น้ำตาลปิ๊บ น้ำอ้อย นมสด นมข้น นมผง น้ำลำไย น้ำบัวบก เป็นต้น
๑.๖ประเภทสมุนไพร ได้แก่ พริกไทย ลูกกระวาน กานพลู ราแดง ราขาว ราตั๊กแตน ชะเอม ดีปลีเชือก (ดีปลี) ลูกจันทน์ รกจันท์ ดอกจันท์ นำเครื่องเทศทั้งหมดคั่วให้มีกลิ่นหอมแล้วนำไปตำร่อนเอาแต่ส่วนที่ละเอียด ส่วนขิงแห้ง หัวเปราะ หัวกระชาย หัวข่า อบเชย และโป้ยกั๊ก นำไปต้มกรองเอาแต่น้ำ
๑.๗ประเภทแป้ง ได้แก่ แป้งข้าวเจ้า แป้งขาวเหนียว เวลาจะกวนจึงละลายผสมในน้ำนมข้าว
๑.๘มะพร้าว นำไปขูดเอกน้ำกะทิแล้วเคี่ยวให้แตกมันจนกลายเป็นน้ำมันมะพร้าวเก็บพักไว้

การผสมเครื่องปรุง
นำเครื่องปรุงทั้งหมดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยแบ่งเครื่องปรุงทุกชนิดออกเป็นส่วนๆ เท่าๆ กัน ใส่ภาชนะโอ่งดินพักไว้ จำนวนโอ่งดินที่ใช้ใส่เครื่องปรุงทั้งหมดจะเท่ากับจำนวนกระทะใบบัวที่ใช้กวน ข้าวยาคู อาจจะเป็น ๕ – ๗ – ๙ กระทะ
การเตรียมอุปกรณ์เตาไฟ
การกวนข้าวยาคูต้องใช้ความร้อนสูง ลักษณะของเตานิยมขุดลงไปในพื้นดินเป็นรูปตัวที ให้ความร้อนระอุอยู่ภายในตลอดเวลา เตาดินสามารถเก็บความร้อนไว้ได้มากลมไม่โกรก มีช่องสำหรับใส่ฟืนเชื้อเพลิงและมีรูช่องระบายอากาศ ชาวบ้านเรียกว่า รูพังเหย เตาไฟของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารใช้เป็นเตาเหล็กตั้งบนพื้นดินแต่เก็บความ ร้อนได้ดี
การเตรียมบุคลากรที่สำคัญ
๑.สาวพรหมจารี เพื่อความเป็นสิริมงคลในการกวนข้าวยาคูในพิธีต้องใช้สาวพรหมจารีคือผู้หญิง ที่บริสุทธิ์ รับสมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวนแต่ละเตาจะใช้จำนวน ๓ คน
๒.นิมนต์พระสงฆ์สำหรับสวดชัยมงคลคาถาพร้อมทั้งเครื่องใช้ในพิธีสงฆ์ เช่น ด้าย สายสิญจน์ และอื่นๆ
๓.ด้านสายสิญจน์ วงจากพระสงฆ์มาผูกไว้ที่ไม้พาย (ไม้กวน) เพื่อให้สาวพรหมจารีจับไม้พายที่ผูกสายสิญจน์ไว้
ขั้นตอนในการกวนข้าวยาคู
การกวนข้าวยาคู ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เริ่มด้วยพิธีบวงสรวงพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เสร็จแล้วจึงบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล สาวพรหมจารีรับสมาทานศีล ประธานในพิธีทัดดอกมะตูมให้สาวพรหมจารี
๑.เริ่มพิธีกวน สาวพรหมจารียืนประจำกระทะละ ๓ คน พนักงานนำเครื่องปรุงวางบนโต๊ะข้างกระทะ ประธานในพิธีเข้าประจำที่กระทะ เริ่มพิธีกวนข้าวยาคูโดยประธานในพิธีเทเครื่องปรุงลงในกระทะ จับไม้กวนมีการลั่นฆ้องชัย ตั้งแต่เริ่มกวนพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาจนจบเป็นอันว่าเสร็จพิธีต่อไปใครจะ กวนก็ได้
๒.วิธีกวน การกวนข้าวยาคูต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่ติดกระทะ เมื่อข้าวยาคูเริ่มเหนียวหนืดจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ไม่ให้ข้าวยาคูติดไม้พาย ข้าวยาคูจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำเมื่อกวนเสร็จ และมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ
๓.ระยะเวลาในการกวนข้าวยาคู ใช้เวลาประมาณ ๘ ถึง ๙ ชั่วโมง ส่วนมากเริ่มกวนเวลา ๑๙.๐๐ น. แต่ละกระทะจะใช้เวลากวนไม่เท่ากัน เพราะการใส่ส่วนผสมและขนาดของกระทะไม่เท่ากัน รวมทั้งการเติมไฟเชื้อเพลิงแต่ละกระทะไม่เสมอกัน ทำให้ข้าวยาคูกระทะแรกมักจะสุกได้ที่ใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมง คือเสร็จประมาณ ๐๒.๐๐ น. ส่วนกระทะสุดท้ายอาจกวนจนเช้าถึงเวลา ๐๕.๐๐ น. จึงแล้วเสร็จ
๔.ตักข้าวยาคูจากกระทะใส่ถาด เกลี่ยข้าวยาคูให้บางๆ ในถาดวางไว้จนข้าวยาคูเย็นลงต้องทิ้งระยะหนึ่ง ในวันรุ่งขึ้นจึงร่วมกันตัดข้าวยาคูบรรจุใส่ถุงและบรรจุลงกล่องสำหรับนำไป ถวายพระในวัด แจกจ่ายฝากญาติมิตรที่มาร่วมในพิธีทั่วทุกคน ที่เหลือจัดส่งไปยังวัดต่างๆ และนำไปฝากญาติมิตร ซึ่งข้าวยาคูของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารพุทธศาสนิกชนจะรับได้ในวันมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ

สาระสำคัญ
การกวนข้าวยาคูเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติเพราะเป็นการปลูกฝังให้คนมีความศรัทธาต่อพระพุทธ ศาสนาสาระสำคัญมีดังนี้
๑.ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่ญาติและมิตรสหาย เพราะต้องร่วมแรงร่วมใจจัดหาอุปกรณ์ เครื่องปรุง การกวนต้องใช้ทั้งเวลาและผู้คน
๒.เป็นประเพณีที่มีความสัมพันธ์กับสังคมเกษตรกรรม คือให้ความสำคัญต่อข้าวหรือน้ำนมข้าวซึ่งเป็นพืชหลักของชาวไทย
๓.การแบ่งปันข้าวยาคูแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เกิดความห่วงใยซึ่งกันและกัน แม้ไม่ได้มาร่วมกวนข้าวยาคู ก็จะได้รับข้าวยาคูเป็นของฝากให้ได้รับประทานทั่วถึงกันทุกคน
๔.เป็นการอนุรักษ์และปฏิบัติตามประเพณีที่ดีงาม และเป็นการถ่ายทอดประเพณีให้แก่เยาวชนได้เรียนรู้ถึงวิธีการกวนข้าวยาคู เพื่อสืบทอดประเพณีให้คงอยู่ตลอดไป

สูตรข้าวยาคูของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

ส่วนผสมข้าวยาคู ๙ กระทะ
สูตรข้าวยาคูของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นสูตรของชาวบ้านพระเพรง อำเภอพระพรหม ซึ่งส่วนผสมมีทั้งหมด ๒๖ ชนิด แบ่งออกเป็น ๘ ประเภท ดังนี้
เครื่องปรุง
๑.น้ำนมข้าว ได้แก่
-น้ำนมข้าว โดยใช้ข้าวที่ตั้งท้อง จำนวน ๖๐ เลียง
ซึ่งต้องนำมาขูดเมล็ดข้าวออกจากรวง ใส่ครกตำ แล้วนำมาคั้นกรองเอาเฉพาะน้ำนมข้าว
๒.ประเภทผลไม้ ได้แก่
-ขนุน จำนวน ๒๐๐ ก.ก.
-จำปา(จำปาดะ) จำนวน ๒๐๐ ก.ก.
-ทุเรียน จำนวน ๒๐๐ ก.ก.
-ทุเรียนกวน จำนวน ๙ ก.ก.
ผลไม้แต่ละชนิดต้องปอกหั่นเตรียมไว้สำหรับผสมเครื่องปรุง
๓.ประเภทพืชผัก ได้แก่
-ฟักทอง จำนวน ๑๐ ก.ก.
-ลูกบัว จำนวน ๒ ก.ก.
-งาขาว จำนวน ๒ ก.ก.
-ถั่วลิสง จำนวน ๑๕ ก.ก.
-หัวหอม จำนวน ๑๕ ก.ก.
ฟักทองต้องนำมาปอกหั่นเป็นชิ้นแล้วนำไปต้มให้สุกในน้ำกะทิ ลูกบัวแช่น้ำแล้วนำไปตำให้ละเอียด ถั่วลิสงและงาขาวคั่วให้สุก หัวหอมปอกเปลือกหั่นเตรียมไว้
๔.พืชประเภทหัว ได้แก่
-มันเทศ จำนวน ๑๐ ก.ก.
-เผือก จำนวน ๑๐ ก.ก.
-หัวมันหอม จำนวน ๓๐ ก.ก.
เผือกมันทุกชนิดปอกเปลือก หั่นแล้วนำไปต้มในน้ำกะทิเตรียมไว้
๕.ประเภทน้ำผึ้ง น้ำตาล และนม ได้แก่
-น้ำตาลปี๊บ จำนวน ๒ ปี๊บ
-น้ำตาลทราย จำนวน ๖ กระสอบ
-น้ำตาลกรวด จำนวน ๑ ก.ก.
-นมข้น จำนวน ๙ โหล
-นมสด จำนวน ๑๘ โหล หรือใช้นมสด จำนวน ๒ ถัง
-น้ำผึ้งรวง จำนวน ๙ ขวด หรือมากกว่านี้ก็ได้
-น้ำอ้อย จำนวน ๙ แกลลอน
-โอวัลติน จำนวน ๑๐ ก.ก.
๖.ประเภทพืชสมุนไพร ได้แก่
-เครื่องเทศ จำนวน ๔ ก.ก.
เช่น พริกไทย พริกเชือก ลูกกระวาน อบเชย โกษบัว โกษฐพุงปลา โป้ยกั๊ก กานพลู ให้นำสมุนไพรทั้งหมดไปอบให้สุกนำไปบดให้ละเอียดแล้วร่อนเอาเฉพาะผงละเอียด
๗.ประเภทแป้ง ได้แก่
-แป้งข้าวเจ้า จำนวน ๕ ลัง
-แป้งข้าวเหนียว จำนวน ๕ ลัง
เมื่อใกล้เวลาจะกวนให้ละลายแป้งด้วยน้ำกะทิเตรียมไว้โดยใช้ผ้าขาวกรองแป้งให้ละเอียด
๘.ประเภทมะพร้าว และน้ำมัน ได้แก่
-มะพร้าว จำนวน ๙๐๐ ลูก
-น้ำมันพืช จำนวน ๑๘ ปี๊บ
มะพร้าวต้องขูดแล้วคั้นกะทิไปเคี่ยวให้ได้น้ำมันมะพร้าวเตรียมไว้ก่อน เวลากวน

ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับใน"เมืองคอน"การกวนข้าวยาคูมีหลายวัดหลายสูตรซึ่งแล้วแต่สภาพท้องถิ่น แต่ก็มีจุดประสงค์ในการกวนข้าวเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด

ที่มา http://www.gotonakhon.com/2011/02/10/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5-%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8/

No comments: