Tuesday, May 6, 2008

ทานที่เลือกผู้รับและอานิสงค์ที่แตกต่างกันของทาน

ผลของทานในปัจจุบัน

ท่านกล่าวว่ามีมากถึง 12 อย่าง คือ

1.)เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย เช่นรูปสมบัติ ยศสมบัติ และบริวารสมบัติ

2.)เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือได้รับทรัพย์สมบัติ

3.)ทำให้ได้รับความสุขในปัจจุบัน

4.)ทำให้เป็นที่รักของคนเป็นอันมาก

5.)ย่อมผูกมิตรไมตรีกับผู้รับทานไว้ได้

6.)ทำให้เป็นผู้มีเสน่ห์ คือเป็นที่รักของคนทั้งหลาย

7.)ทำให้เป็นที่เคารพคบหาของคนอื่น

8.)ทำให้เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว

9.)ทำให้แกล้วกล้า อาจหาญในที่ชุมนุมชน

10.)ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณดังขจรไป

11.)เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ เพราะเมื่อช่วยเหลือคนอื่นๆไว้มาก เมื่อมีภัยต่างๆ เกิดขึ้น ย่อมได้รับการป้องกัน

12.)เป็นที่พึ่งอาศัยในโลกนี้ คือตนก็พึ่งตนเองได้ และผู้อื่นก็พึ่งอาศัยได้ เพราะการบริจาคเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ส่วนผลในอนาคต คือเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หรือเกิดเป็นมนุษย์มีทรัพย์สมบัติมาก มีบริวารมาก เป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย.

ประเภทของผู้ให้ทาน 4 ประเภท

-ประเภทที่ 1 เกิดมาร่ำรวย แต่ไร้ญาติขาดมิตร จะมีบ้างก็น้อยมาก เพราะชาติก่อนหรือแม้ชาตินี้ ตนเองให้ทาน แต่ไม่ชักชวนใครให้ทาน

-ประเภทที่ 2 เกิดมายากจน แต่มีญาติมิตร และบริวารมาก เพราะชาติก่อนหรือแม้ชาตินี้ ตนเอง ขี้-เหนียว ไม่ทำบุญให้ทาน ได้แต่ชักชวนคนอื่นให้ทาน

-ประเภทที่ 3 เกิดมายากจน และไร้ญาติขาดมิตร เพราะชาติก่อนหรือแม้ชาตินี้ ตนเองขี้เหนียว ไม่ทำบุญให้ทาน ทั้งไม่ยอมชักชวนใคร ทำบุญให้ทาน

-ประเภทที่ 4 เกิดมาร่ำรวย และมีญาติมิตรบริวารพวกพ้องมาก เพราะชาติก่อนหรือแม้ชาตินี้ ตนเองมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบให้ทาน ทั้งชักชวนคนอื่นทำบุญให้ทาน

ฉนั้น ผู้ต้องการได้รับ ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ก็จงยินดีในการให้ทานช่วยเหลือผู้อื่น และชักชวนผู้อื่นในการทำบุญให้ทาน ทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมโดยรวม ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังกล่าวมานี้

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

ทานที่ต้องเลือกผู้รับและอานิสงค์ที่แตกต่างกันจากทานที่เลือกและไม่เลือกผู้รับ

โดยสรุป :

ควรให้ทานแก่ปฏิคาหก ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แม้ท่านยังไม่เป็นพระอริยบุคคล ทานก็ยังมีผลมากกว่า ทานที่ให้แก่คนไม่มีศีล และไม่ถึงพระรัตยตรัย หลายเท่านัก แต่ถ้าได้ ทักขิไณยบุคคล(ผู้ควรรับทาน)แล้ว ทานแม้น้อยก็จะมีผลมาก

พุทธพจน์ :

ให้ทาน ๑๐๐ ครั้ง บุญยังไม่เท่ารักษาศีลห้า ๑ ครั้ง รักษาศีลห้า ๑๐๐ ครั้ง บุญยังไม่เท่า นั่งสมาธิ ๑ ครั้ง ตกลงให้ทาน ๑๐,๐๐๐ ครั้ง บุญยังไม่เท่า นั่งสมาธิ ๑ ครั้ง เพราะเหตุว่า เพียงให้ทาน รักษาศีล ถึงพระนิพพานไม่ได้ เพียงเป็นปัจจัยข้างต้นเท่านั้น แต่การนั่งสมาธิจนมีปัญญารู้จักธรรมชาติตามความเป็นจริง สามารถทำให้ถึงพระนิพพานได้

เหตุปัจจัยในการได้บุญสมบูรณ์แบบ คือ

1. ผู้ให้ (ทายก) มีศีลบริสุทธิ์

2. ผู้รับ (ปฏิคาหก) มีศีลบริสุทธิ์

3. ทานที่ให้ ได้มาด้วยความบริสุทธิ์

และต้องพร้อมด้วย 3 กาล คือก่อนให้ - กำลังให้ - หลังจากให้

มีจิตใจศรัทธาเลื่อมใส เบิกบานในบุญที่กระทำนั้น

ตัวอย่าง : ทานที่เลือกผู้รับ-ผลบุญที่แตกต่างกัน

เรื่อง : อินทกเทพบุตร กับอังกุรเทพบุตร

อรรถกถาธรรมบทว่า ในพรรษาที่ 7 พระพุทธองค์ ทรงแสดงพระอภิธรรม โปรดพระพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในครั้งนั้น มีเทพเจ้าจำนวนมากมาเฝ้าเพื่อฟังธรรม ในจำนวนเทพเจ้าที่เข้าเฝ้าครั้งนั้น มีเทพบุตร 2 องค์ คือ อินทกเทพบุตร และ อังกุรเทพบุตร มาฟังธรรมด้วย ในครั้งแรกได้เข้ามานั่งใกล้พระพุทธองค์ แต่เมื่อเทพเจ้าที่มีอำนาจมากกว่า มีรัศมีมากกว่า และมีบุญมากกว่า ทยอยกันเข้ามาเฝ้า อังกุรเทพบุตรซึ่งมีบุญและอำนาจน้อยกว่าเทพเหล่านั้น ก็ต้องถอยออกไปนั่งอยู่ห่างไกล แต่อินทกเทพบุตร ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ยังนั่งอยู่ที่เดิม หาได้ถอยไปเช่นอังกุรเทพบุตรไม่

พระพุทธองค์ทรงเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น เพื่อจะทรงชี้ให้เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายเห็น ความแตกต่าง ของทานที่เลือกให้ และไม่เลือกให้

*พระองค์จึงได้ตรัสถาม อังกุรเทพบุตรว่า “อังกุร เธอให้ทานเป็นอันมาก สิ้นกาลนาน เมื่อมาสู่สำนักของเรา ทำไมจึงไปนั่งเสียไกลลิบ”

ทั้งนี้ก็เพราะว่า อังกุรเทพบุตรนั้น ในสมัยที่เป็นมนุษย์ ได้เกิดในปลายศาสนา ของพระพุทธจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ได้ทำบุญถวายทานเป็นอันมาก และเป็นเวลานาน แต่ปฏิคาหกผู้รับทาน ในสมัยนั้นไม่มีใครมีศีล และไม่มีใครยึดถือพระรัตนตรัย แม้แต่เพียงคนเดียว ทานที่ให้จึงไม่มีผลมาก แม้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังมีบุญบารมี สู้อินทกเทพบุตร ซึ่งทำบุญน้อย แต่ได้ผลมากไม่ได้ เพราะเขาได้ให้ทานแก่ ทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ คือ อินทกเทพบุตรนั้น ในสมัยที่อยู่ในโลกมนุษย์ เป็นคนยากจน อยู่ในกรุงราชคฤห์ ได้ถวายทานที่ผู้อื่น มอบให้แก่ตน แก่พระอนุรุทธ์ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้เข้าไปบิณฑบาต ในบ้านหนึ่งทัพพี ทานที่ให้นั้น มีผลมากกว่าทานที่ อังกุรเทพบุตรได้ถวายเป็นอันมาก และเป็นเวลานาน

อังกุรเทพบุตร ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าพระองค์จะต้องการอะไรด้วยทานที่ว่างเปล่าจากทักขิไณบุคคล อินทกะนั้นถวายทานนิดหน่อย ยังรุ่งเรืองกว่าข้าพระองค์ ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว”

*เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามอินทกเทพบุตรว่า “เธอนั่งอยู่ข้าขวาของเรา ไฉนจึงไม่ถอยร่นออกไปนั่งเล่า” อินทกเทพบุตรได้ทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ได้ทักขิไณยบุคคล ดุจชาวนาหว่านพืชนิดหน่อยในนาดี” แล้วกราบทูลต่อไปว่า “พืชแม้มาก อันบุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ให้ทายกพอใจฉันนั้นเหมือนกัน พืชแม้เล็กน้อย อันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนตกต้องตามกาลแล้ว ผลที่ได้รับย่อมทำชาวนาให้พอใจฉันใด เมื่อทานแม้เล็กน้อยอันทายกให้แล้วในผู้ที่มีศีล มีคุณ ผลย่อมทำทายกให้พอใจ ยินดีได้ฉันนั้นเหมืนกัน” เมื่ออินทกเพทบุตรกราบทูลเช่นนี้แล้ว

*พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “อังกุร การเลือกเสียก่อนแล้วให้ทานจึงควร ทานย่อมมีผลมากด้วยอาการอย่างนี้ ดุจพืชที่เขาหว่านลงในนาดี แต่เธอหาทำเช่นนั้นไม่ เหุตนั้น ทานของเธอจึงไม่มีผลมาก แล้วพระองค์ตรัสว่า วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ – การเลือกให้ พระสุคตเจ้าสรรเสริญ”

จากเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า ทานจะมีผลมากต้องเลือกให้ คือต้องเลือกปฏิคาหกผู้รับทาน อย่าทำโดยสักว่าให้เท่านั้น ไม่เลือกไม่ได้ เพราะการเลือกให้ กับการไม่เลือกให้ มีผลแตกต่างกันมาก สังฆทาน ไม่ต้องเลือกบุคคล แต่ควรเป็นวัดที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ส่วนทานอื่นทั้งหมดต้องเลือก ถ้าไม่เลือก ผลที่ได้รับก็มีน้อย ซ้ำเป็นการส่งเสริมให้ผู้ไม่มีคุณธรรม อยู่ดีกินดี อันเป็นการทำลายชาติ และศาสนาของตน โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย.


ที่มา http://www.boxboon.com

No comments: