Tuesday, May 6, 2008

อริยะบุคคล ๔ ขั้น และวัฏสงสาร ๓๑ ภูมิ

อริยะบุคคล ๔ ขั้น และวัฏสงสาร ๓๑ ภูมิ

อริยะบุคคล ๔ ขั้น

๑.อรหัตโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นสูงสุด) มี ๒ ประเภท

๑.๑ เจโตวิมุตติ เป็นผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานได้ฌาณก่อน แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนสำเร็จพระอรหันต์ หรือ ผู้ที่ปฏิบัติเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อได้มรรคผลนั้นพร้อมกับได้วิชชา ๓ (อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘) สามารถแสดงฤทธิ์ได้

วิชชา ๓ (อภิญญา ๖,ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘) คือ

อภิญญา ๖ คือ เป็นความรู้ชั้นสูงอันเกิดจากการ ปฏิบัติสมถวิปัสสนา ประกอบด้วย ๑.อิทธิวี แสดงฤทธิ์ได้ ๒.ทิพโสต มีหูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ สามารถทายใจคนอื่นได้ ๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้ ๕.ทิพจักขุ (จุตูปปาตญาณ) มีตาทิพย์ ๖.อาสวักขยญาณ คือทำให้อาสวะกิเลส(กิเลสละเอียด) หมดสิ้นไป (๕ อย่างแรก เป็นโลกียอภิญญา เสื่อมได้ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพาน อย่างที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ เป็นโลกุตรอภิญญา ทำให้กิเลสหมดสิ้น บรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้)

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ ปัญญาแตกฉาน มี ๔ อย่างด้วยกัน คือ ๑.อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางอรรถ ๒.ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางธรรม ๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางนิรุกติหรือภาษา ๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางปฏิภาณ

วิโมกข์ ๘ คือ ๑.ผู้มีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลาย ๒.ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอก ๓.บุคคลย่อมน้อมใจไปว่า สิ่งนี้งามทีเดียว ๔.เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา บุคคลย่อมเข้าถึงซึ่งอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ ๕.เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บุคคลย่อมเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ ๖.เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บุคคลย่อมเข้าถึงอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรดังนี้อยู่ ๗.เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะ บุคคลย่อมเข้าซึ่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ ๘.เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง บุคคลย่อมเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ธรรมทั้ง ๘ นี้ ควรทำให้แจ้ง เป็นของจริงแท้แน่นอน ไม่ผิดพลาด ไม่เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบฯ

๑.๒ ปัญญาวิมุตติ สำเร็จพระอรหันต์ด้วยการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ ไม่ได้บำเพ็ญ สมรรถกรรมฐานมาก่อนเลย เรียกว่า สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ คือ ผู้ปฏิบัติทำให้ฌาณแห้งแล้ง (ไม่สามารถทำการสังคายนาพระไตรปิฏกได้ เพราะมีแต่ญาณละกิเลส แต่มิได้มีญาณหยั่งรู้ในการระลึกชาติผู้ใดได้)

ผู้ถึงภูมินี้เป็นผู้ที่สมควรแก่การบูชา ของเหล่าเทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย เพราะสิ้นกิเลสโดยตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการได้ สามารถเข้าอรหัตผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามปรารถนา และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกในวัฏสงสาร เมื่อถึงอายุขัยก็ดับขันธ์ปรินิพพาน

๒.อนาคามีโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ ๓)

ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอนาคามี จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก แบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ

๒.๑ อันตราปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งแรกของสุทธาวาสภูมิพรหมโลกที่สถิตอยู่

๒.๒ อุปทัจจปรินิพพานยี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งหลังของสุทธาวาสภูมิพรหมโลกที่สถิตอยู่

๒.๓ อสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในพรหมโลกที่สถิตอยู่โดยสะดวก สบายไม่ต้องใช้ความเพียรมาก

๒.๔ สสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในพรหมโลก โดยต้องพยายามอย่างแรงกล้า

๒.๕ อุทธังโสตอกนิฏฐคามี ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมโลก ชั้นต่ำที่สุด (อวิหาสุทธาวาสพรหมโลก) แล้วจึงจุติไปเกิด ชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในอกนิฏฐพรหมโลก

๓.สกทาคามีโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ ๒)

ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่า พระอริยบุคคลสกทาคามี ซึ่งจะเกิดอีกเพียงชาติเดียว แบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ

๓.๑ ผู้ถึงภูมินี้ในโลกมนุษย์ และบรรลุพระอรหัตผลในมนุษย์โลก

๓.๒ ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลกแล้ว ไปบรรลุพระอรหัตผลในเทวโลก

๓.๓ ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลก และบรรลุพระอรหัตผลในเทวโลก

๓.๔ ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลกแล้วมาบรรลุพระอรหัตผลในมนุษย์โลก

๓.๕ ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลกแล้วจุติไปเกิดในเทวโลกแล้วกลับมาบรรลุพระอรหัตผลในมนุษย์โลก

๔.โสดาบันโลกุตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ ๑)

ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอริยบุคคลโสดาบัน แบ่งเป็น

๔.๑ เอกพิชีโสดาบัน จะเกิดอีกชาติเดียว แล้วก็บรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน

๔.๒ โกลังโกลโสดาบัน จะเกิดอีก ๒-๖ ชาติ เป็นอย่างมากแล้วก็บรรลุพระอรหัตผล ปรินิพาน

๔.๓ สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน จะเกิดอีกย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็บรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน

วัฏสงสาร ๓๑ ภูมิ

ภูมิแห่งการเวียนว่ายตายเกิดใน โลกเบื้องสูง โลกเบื้องกลาง และโลกเบื้องต่ำ

โลกเบื้องสูง (พรหมโลก)

มาเกิดได้ด้วยผลจากการทำฌาณ และบุพกรรมดีขณะเป็นมนุษย์ ฌาณเป็นการทำสมาธิในระดับลึก ซึ่งสมาธิมีอยู่ ๓ ระดับ สมาธิขั้นต้น เรียกว่า ขณิกสมาธิ สมาธิขั้นกลาง เรียกว่า อุปจารสมาธิ และสมาธิขั้นสูงเรียกว่า อัปปนาสมาธิ ฉนั้น จิตที่ดับลงในขณะที่เข้าฌานทั้ง ๓ ขั้นส่งผลดังนี้

ปฐมฌานภูมิ ๓, ทุติยฌานภูมิ ๓, ตติยฌานภูมิ ๓, และพรหมภูมิตั้งแต่ชั้นที่ ๑๐-๒๐ (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์) รูปพรหม ชั้นที่ ๑-๑๖ อรูปพรหม ชั้นที่ ๑๗-๒๐

บุพกรรม ที่นำมาเกิดในโลกเบื้องสูง

*พรหมโลก ชั้นที่ ๒๐ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยความประณีตเป็นอย่างยิ่ง มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อรูปพรหม อายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม โยคีฤาษีผู้ได้อากิญจัญญายตนฌาน และสำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๙ คือ อากิญจัญญายตนภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌาณที่อาศัยนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม เป็นโยคีฤาษีผู้ได้วิญญาณัญจายตนฌาณ และสำเร็จอากิญจัญญายตนฌาน

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๘ คือ วิญญาณัญจายตนภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยวิญญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม โยคีฤาษีผู้ได้อากาสานัญจายตนฌาน และสำเร็จวิญญาณัญจายตนฌาน

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๗ คือ อากาสานัญจายตนภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม โยคีฤาษีผู้ได้จตุตถฌานแล้ว และสำเร็จอากาสานัญจายตนฌาน

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๖ คือ อกนิฎฐาสุทธาวาสภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ทรงคุณวิเศษโดยไม่มีความเป็นรองกัน พระพรหมอนาคามี อายุ ๑๖,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีปัญญินทรีย์แก่กล้า

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๕ คือ สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า พระพรหมอนาคามี อายุ ๘,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌาน และเจริญวิปัสสนาภาวนาสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีสมาธินทรีย์แก่กล้า

* พรหมโลก ชั้นที่ ๑๔ คือ สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใส พระพรหมอนาคามี อายุ ๔,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยมีสตินทรีย์แก่กล้า

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๓ คือ อตัปปาสุทธาวาสภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่มีความเดือดร้อน พระพรหมอนาคามี อายุ ๒,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีวิริยินทรีย์แก่กล้า

* พรหมโลก ชั้นที่ ๑๒ คือ อวิหาสุทธาวาสภูมิ ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติของตน พระพรหมอนาคามี อายุ ๑,๐๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีสัทธินทรีย์แก่กล้า

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๑ คือ อสัญญสัตตาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งกลาย ผู้ไม่มีสัญญา (พรหมลูกฟัก) อายุ ๕๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญมสมถภาวนาสำเร็จจตุตถฌาน และเป็นผู้มีสัญญาวิราคภาวนา

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑๐ คือ เวทัปผลาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ได้รับผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์ พระพรหม อายุ ๕๐๐ มหากัป บุพกรรม ผู้ที่เจริญสมถภาวนาสำเร็จจตุตถฌาน

*พรหมโลก ชั้นที่ ๙ คือ สุภกิณหาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงาม แห่งรัศมีออกสลับปะปนไปอยู่เสมอตลอดสรีระกาย พระพรหม อายุ ๖๔ มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างประณีต

*พรหมโลก ชั้นที่ ๘ คือ อัปปมาณสุภาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสวยงามแห่งรัศมีมากมายไม่มีประมาณ พระพรหม อายุ ๓๒ มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างปานกลาง

*พรหมโลก ชั้นที่ ๗ คือ ปริตตสุภาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงาม แห่งรัศมีเป็นส่วนน้อย พระพรหม อายุ ๑๖ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จตติยฌานได้อย่างสามัญ

*พรหมโลก ชั้นที่ ๖ คือ อาภัสสราภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีประกายรุ่งโรจน์แห่งรัศมีนานาแสง พระพรหม อายุ ๘ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างประณีต

*พรหมโลก ชั้นที่ ๕ คือ อัปปมาณาภาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีรุ่งเรืองมาก มายหาประมาณมิได้ พระพรหม อายุ ๔ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างปานกลาง

*พรหมโลก ชั้นที่ ๔ คือ ปริตตาภาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีน้อยกว่าพระพรหมที่มีศักดิ์สูงกว่าตน พระพรหม อายุ ๒ มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ต้องสำเร็จทุติยฌานได้อย่างสามัญ

*พรหมโลก ชั้นที่ ๓ คือ มหาพรหมาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย พระพรหม อายุ ๑ มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานอย่างประณีต

*พรหมโลก ชั้นที่ ๒ คือ พรหมปุโรหิตาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ทรงฐานะอันประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่านมหาพรหม พระพรหม อายุ ๓๒ อันตรกัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานอย่างปานกลาง

*พรหมโลก ชั้นที่ ๑ คือ พรหมปาริสัชชาภูมิ ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหม ผู้เป็นบริษัทท้าวมหาพรหม พระพรหม อายุ ๒๑ อันตรกัปเศษ บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานได้อย่างสามัญ

โลกเบื้องกลาง (โลกสวรรค์ โลกมนุษย์)

มาเกิดได้ด้วยผลจากการทำฌาน รักษาศีลอย่างเคร่งครัด และการทำทานดี การรักษาศีล ๕ อย่างสมบูรณ์ ส่งผล อย่างน้อยมนุษย์สมบัติ รักษาศีล ๘ ศีลอุโบสถสมบูรณ์ ส่งผลอย่างน้อยสวรรค์สมบัติ ดังนี้

เทวภูมิ ๖ กับ โลกมนุษย์ ๑ (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๔๒,๐๐๐ โยชน์)

โลกสวรรค์ และบุพกรรม ที่มานำเกิดในโลกสวรรค์

*สวรรค์ ชั้นที่ ๖ คือ ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าซึ่งเสวยกามคุณอารมณ์ แบ่งเป็น ฝ่ายเทพดา มีท้าวปรนิมมิตเทวราช ปกครอง กับ ฝ่ายมาร มีท้าวปปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช เป็นผู้ปกครอง อายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ (๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ อุตส่าห์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่เป็นอุกฤษฏ์ อบรมจิตใจสูงส่งไปด้วยคุณธรรม เมื่อจะให้ทานรักษาศีลก็ต้องบำเพ็ญกันอย่างจริงๆ มากไป ด้วยศรัทธาปสาทะอย่างยิ่งยวดและถูกต้อง ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับฤาษีทั้งหลายแต่กาลก่อน” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตของเราจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส” เพราะวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงยิ่งเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้

*สวรรค์ ชั้นที่ ๕ คือ นิมมานรตีภูมิ เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้ยินดีในกามคุณอารมณ์ ซึ่งเนรมิตรขึ้นมาตามความพอใจ มีท้าวมุนิมมิตเทวราช ปกครอง อายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ (๒,๓๐๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ ยินดียิ่งในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราหุงหากินได้แตสมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราจักจำแนกแจกทานเช่นเดียวกับฤาษีทั้งหลายในกาลก่อน” ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ พยายามรักษาศีลไม่ให้ขาดได้ มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล และมีวิริยะอุตสาหะในการบริจาคทานเป็นอันมาก เพราะผลวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้

*สวรรค์ ชั้นที่ ๔ คือ ดุสิตาภูมิ เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้มีความยินดีแช่มชื่นเป็นนิจ มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง อายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ (๕๗๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ ยินดีมากในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั่งหลายไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงกิน ย่อมเป็นการไม่สมควร” ทรงศีล ทรงธรรม ชอบฟังพระธรรมเทศนา หรือเป็นพระโพธิสัตว์รู้ธรรมมาก ฯลฯ

*สวรรค์ ชั้นที่ ๓ คือ ยามาภูมิ เป็นที่อยู่ของเทพยดาผู้มีแต่ความสุขอันเป็นทิพย์ มีท้าวสุยามเทวราชเป็นผู้ปกครอง อายุ ๒,๐๐๐ ปี ทิพย์ (๑๔๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ พยายามสร้างเสบียง ไม่หวั่นไหวในการบำเพ็ญบุญกุศล ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “การให้ทานเป็นการกระทำที่ดี” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี” รักษาศีล มิจิตขวนขวายในพระธรรม ทำความดีด้วยใจจริง

*สวรรค์ ชั้นที่ ๒ คือ ตาวติงสาภูมิ หรือที่เรียกว่าไตรตรึงษ์หรือดาวดึงส์ เป็นเมืองใหญ่มี ๑,๐๐๐ ประตู มีพระเกศจุฬามณีเจดีย์ มีไม้ทิพย์ชื่อปาริชาตกัลปพฤกษ์ สมเด็จพระอมรินทราธิราช เป็นผู้ปกครอง อายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ (๓๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ มีจิตบริสุทธิ์ยินดีในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “ตายแล้วเราจักได้เสวยผลทานนี้” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “การให้ทานเป็นการกระทำดี” งดงามด้วยพยายามรักษาศีล ไม่ดูหมิ่นดูแคลนผู้ใหญ่ในตระกูล ฯลฯ

*สวรรค์ ชั้นที่ ๑ คือ จาตุมหาราชิกาภูมิ เป็นที่อยู่ของเทพยดาชาวฟ้า มีท้าวมหาราช ๔ พระองค์ ปกครองคือ ๑.ท้าวธตรัฐมหาราช ๒.ท้าววิรุฬหกมหาราช ๓.ท้าววิรูปักษ์มหาราช และ ๔.ท้าวเวสสุวัณมหาราช (ท้าวกุเวร) อายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ (๙ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ ชอบทำความดี สันโดษ ยินดีแต่ของๆ ตน ชักชวนให้ผู้อื่นประกอบการกุศล ชอบให้ทาน ในการให้ทาน เป็นผู้มีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราตายแล้วจักได้เสวยผลแห่งทานนี้” และเป็นผู้มีศีล ฯลฯ

โลกมนุษย์ และบุพกรรม ที่นำมาเกิดในโลกมนุษย์

มนุษย์ภูมิ เป็นที่อาศัยของสัตว์ผู้มีใจสูงในเชิงกล้าหาญ ที่จะประกอบกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็น กุศลกรรมและ อกุศลกรรม แบ่งเป็น ๔ จำพวก ได้แก่

๑.ผู้มืดมาแล้วมืดไป บุคคลที่เกิดในตระกูลอันต่ำ ยากจน ขัดสน ลำบาก ฝืดเคืองอย่างมากในการหาเลี้ยงชีพ มีปัจจัย ๔ อย่างหยาบ เช่น มีอาหารและน้ำน้อย มีเครื่องนุ่มห่มเก่า ร่างกายมอซอ หม่นหมอง หรือมีร่างกายไม่สมประกอบ บ้า ใบ้ บอด หนวก หาที่นอน ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคไม่ใคร่ได้ และเขากลับประพฤติ ทุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย

๒.ผู้มืดมาแล้วสว่างไป บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ผิวพรรณหยาบ ฯลฯ แต่เขาเป็นคนมีศรัทธาไม่มีความตระหนี่ เป็นคนมีความดำริประเสริฐ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้ทาน ย่อมลุกรับสมณะชีพราหมณ์ หรือวณิพกอื่น ๆ ย่อมสำเหนียกใน กิริยามารยาทเรียบร้อย ไม่ห้ามคนที่กำลังจะให้ทาน เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

๓.ผู้สว่างมาแล้วมืดไป เป็นบุคคลผู้อุบัติเกิดในตระกูลสูง เป็นคนมั่งคั่งมั่งมี มีโภคสมบัติมาก เป็นผู้มีปัจจัย ๔ อันประณีต ทั้งเป็นคนที่มีรูปร่างสมส่วน สะสวย งดงาม ผิวพรรณดูน่าชม แต่กลับเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ กรุณาอาทร มีใจหยาบช้า มักขึงโกรธ ย่อมด่า ย่อมบริภาษบุคคลต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่ง มารดาบิดา สมณะชีพราหมณ์ ย่อมห้ามคนที่กำลังให้โภชนาหารแก่คนที่ขอ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย

๔.ผู้สว่างมาแล้วสว่างไป เป็นบุคคลที่อุบัติเกิดในตระกูลสูง มีผิวพรรณงาม และเขาย่อมประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

บุพกรรม ที่นำมาเกิดในโลกมนุษย์

กรรมของมนุษย์ที่ทำในกาลก่อน ส่งผลให้มีปฏิปทาต่างกัน เช่นบางคนเป็นคนดี บางคนบ้า บางคนรวย บางคนจน บางคนมีปัญญา บางคนเขลา ฯลฯ เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ อาทิ

-ปฏิปทาให้มีอายุสั้น เพราะเป็นคนเหี้ยมโหด ดุร้าย มักคร่าชีวิตสัตว์

-ปฏิปทาให้มีอายุยืน เป็นผู้เว้นขาดจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป มีความละอาย เอ็นดูอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลสรรพสัตว์และภูตอยู่

-ปฏิปทามีโรคมาก เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ ท่อมไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน หรือศาสตราอาวุธต่าง ๆ

-ปฏิปทามีโรคน้อย ไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ หรือศาตราอาวุธต่าง ๆ มีมีด ขวาน ดาบ ปืน เป็นต้น

-ปฏิปทาให้มีผิวพรรณทราม เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคือง พยาบาทมาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคลียดให้ปรากฏ

-ปฏิปทาให้มีผิวพรรณงาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธความร้าย และความขึ้งเครียดให้ปรากฏ

-ปฏิปทาให้เป็นคนมีศักดาน้อย คือเป็นคนมีใจริษยา มุ่งร้าย ผูกใจในการอิจฉาริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น

-ปฏิปทาให้เป็นคนมีศักดามาก เป็นคนไม่มีใจริษยา ไม่มุ่งร้าย ยินดีด้วยในลาภสักการะ ความเคารพ การนับถือ การไหว้และการบูชาของคนอื่น

-ปฏิปทาให้มีโภคะน้อย เป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยา ที่นอน ที่อาศัย เป็นต้น

-ปฏิปทาให้มีโภคะมาก ชอบให้ทาน มีอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ของหอม ที่นอน ที่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือชีพราหมณ์ เป็นต้น

-ปฏิปทาให้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่ควรให้ ไม่ให้ทางแก่คนที่ควรให้ทาง เป็นต้น

-ปฏิปทาให้เกิดในตระกูลสูง เป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน วจีไพเราะ สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ รู้จักยืนเคารพ ยืนรับ ยืนคำนับ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ สักการะแก่คนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เป็นต้น

-ปฏิปทาทำให้มีปัญญาทราม คือเป็นผู้ไม่เคยเข้าไปหาบัณฑิต สมณะหรือชีพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ เป็นต้น

-ปฏิปทาทำให้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มักเข้าไปสอบถาม บัณฑิตสมณะหรือชีพราหมณ์ อะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรเมื่อทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน อะไรเมื่อทำไปแล้วย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ดังนี้

?????????????????????????????????

โลกเบื้องต่ำ และบุพกรรม

(อบายภูมิ ๔ คือ ๑.เดรัจฉาน ๒.เปรต ๓.อสุรกาย และ ๔.นรก)

มาเกิดได้ด้วยผลจากการทำบาป ผิดศีล หรือเป็นมนุษย์ไม่ได้ก่อกรรมชั่วอะไร แต่ก็ไม่ได้มีศีล ๕ และรักษาศีล ๕ ให้สมบูณ์ ด้วยความเป็นผู้ไม่รู้อานิสงค์ของศีล เป็นเพียงแค่คนดีของทางโลกเท่านั้น หรือ คนที่ประพฤติตน ทุจริตทางกาย วาจา ใจ เป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ กรุณาอาทร มีใจหยาบช้า มักขึงโกรธ ย่อมด่า ย่อมบริภาคบุคคลต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่ง มารดาบิดา สมณะชีพราหมณ์ ย่อมห้ามคนที่กำลังให้โภชนาหารแก่คนที่ขอ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย

๑.ติรัจฉานภูมิ (โลกเดรัจฉานอยู่ในโลกมนุษย์)

โลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุ ๓ ประการ คือ การกิน การนอน การสืบพันธุ์ แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ

: อปทติรัจฉาน (ไม่มีเท้า ไม่มีขา) เช่น งู ปลา ไส้เดือน ฯลฯ

: ทวิปทติรัจฉาน (มี ๒ ขา) เช่น นก ไก่ ฯลฯ : จตุปทติรัจฉาน (มี ๔ ขา) เช่นวัว ควายฯลฯ

: พหุปทติรัจฉาน (มีมากกว่า ๔ ขา) เช่น ตะขาบ กิ้งกือ ฯลฯ

อายุไม่แน่นอน แล้วแต่กรรมที่นำไปเกิดในสัตว์ประเภทต่าง ๆ ตามอายุของสัตว์ประเภทนั้นๆ

บุพกรรม เป็นมนุษย์จิตไม่บริสุทธิ์ ประพฤติอกุศลกรรม อันหยาบช้าลามกทั้งหลาย หรือเพราะอำนาจของเศษบาปอกุศลกรรมที่ตนทำไว้ให้ผล หรือเป็นเพราะ เมื่อเป็นมนุษย์ไม่ได้ก่อกรรมทำชั่วอะไร แต่เวลาใกล้จะตาย จิตประกอบด้วยโมหะ หลงผิด ขาดสติ ไม่มีสรณะเป็นที่พึ่งจะยึดให้มั่นคง

คตินิมิต นิมิตที่ชี้บอกถึงโลกเดรัจฉานที่ตนจะไป เช่นเห็นเป็นทุ่งหญ้า ป่าไม้ ดงหญ้า เชิงเขา ชายน้ำ แม่น้ำ กอไผ่ และภูเขา เป็นต้น บางทีเห็นเป็นรูปสัตว์ทั้งหลาย เช่น ช้าง เสือ วัว ความ หมู หมา เป็ด ไก่ แร้ง กา เหี้ย นก หนู จิ้งจก ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฏทางใจ แล้วจิตยึดหน่วง เป็นอารมณ์ เมื่อดับจิตตายขณะนั้น ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างแน่นอน

๒.เปตติวิสยภูมิ (โลกเปรต)

โลกที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลความสุข มีมหิทธิกเปรตเป็นเจ้าปกครองดูแล อายุไม่แน่นอนแล้วแต่กรรม ได้แก่

-เปรต ๑๒ ชนิด คือ ๑.วันตาสเปรต กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียร เป็นอาหาร ๒. กุณปาสเปรต กินซากศพคน หรือสัตว์เป็นอาหาร ๓.คูถขาทกเปรต กิจอุจจาระต่าง ๆ เป็นอาหาร ๔.อัคคิชาลมุขเปรต มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ ๕.สูจิมุขาเปรต มีปากเท่ารูเข็ม ๖.ตัณหัฏฏิตเปรต ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าว หิวน้ำอยู่เสมอ ๗.สุนิชฌามกเปรต มีลำตัวดำเหมือนตอไม้เผา ๘. สัตถังคเปรต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมเหมือนมีด ๙.ปัพพตังคเปรต มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา ๑๐.อชครังคเปรต มีร่างกายเหมือนงูเหลือม ๑๑.เวมานิกเปรต ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน ๑๒.มหิทธิกเปรต มีฤทธิ์มาก ที่อยู่เชิงภูเขาหิมาลัย ในป่าวิชฌาฏวี

-เปรต ๔ ประเภท คือ ๑.ปรทัตตุปชีวิกเปรต มีการเลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้ ๒.ขุปปิปาสิกเปรต ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าว หิวน้ำ ๓.นิชฌามตัณหิกเปรต ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ ๔. กาลกัญจิกเปรต (ชื่อของอสูรกายที่เป็นเปรต) มีร่างกายสูง ๓ คาวุต มีเลือดและเนื้อน้อยไม่มีแรง มีสีสันคล้ายใบไม้แห้ง ตาถลนออกมาเหมือนตาปู และมีปากเท่ารูเข็มตั้งอยู่กลางศีรษะ

-เปรต ๒๑ จำพวก คือ มังสเปสิกเปรต มีเนื้อเป็นชิ้น ๆ ไม่มีกระดูก กุมภัณฑ์เปรต มีอัณฑะใหญ่โตมาก นิจฉวิตกเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง ทุคคันธเปรต มีกลิ่นเหม็นเน่า อสีสเปรต ไม่มีศรีษะ ภิกขุเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนพระ สามเณรเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณร ฯลฯ

บุพกรรม ประพฤติอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เมื่อขาดใจตายจากโลกมนุษย์ หากอกุศลกรรมสามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ ต้องไปเสวยทุกขโทษในนรกก่อน พอสิ้นกรรมพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปยังมีก็ไปเสวยผลกรรมเป็นเปรตต่อภายหลัง หรือมีอกุศลกรรมที่เกิดจากโลภะนำมาเกิด

คตินิมิต นิมิตที่บ่งบอกถึงโลกเปรต เช่น เห็นหุบเขา ถ้ำอันมืดมิดที่วังเวง และปลอดเปลี่ยว หรือเห็นเป็นแกลบ และข้าวลีบมากมาย แล้วรู้สึกหิวโหยและกระหายน้ำเป็นกำลัง บางทีเห็นว่าตนดื่มกินเลือดน้ำหนองที่น่ารังเกียจสะอิดสะเอียน หรือเห็นเป็นเปรตมีร่างกายผ่ายผอมน่าเกลียดน่ากลัว เนื้อตัวสกปรกรกรุงรัง ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฏทางใจ แล้วจิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์ เมื่อดับจิตตายขณะนั้น ต้องบังเกิดเป็นเปรต เสวยทุขเวทนาตามสมควรแก่กรรมอย่างแน่นอน

๓.อสุรกายภูมิ (โลกอสุรกาย)

ภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์อันปราศจากความเป็นอิสระและสนุกรื่นเริง แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ เทวอสุรา เปตติอสุรา นิรยอสุรา

-เทวอสุรา มี ๖ จำพวก คือ ๑.เวปจิตติอสุรา ๒.สุพลิอสุรา ๓.ราหุอสุรา ๔.ปหารอสุรา ๕.สัมพรตีอสุรา ๖.วินิปาติกอสุรา ๕ จำพวกแรก เป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดาชั้นตาวติงสา อยู่ใต้ภูเขาสิเนรุ สงเคราะห์ เข้าในจำพวกเทวดาชั้นตาวติงสา ส่วนวินิปาติกอสุรา มีรูปร่างสัณฐานเล็กกว่า และอำนาจก็น้อยกว่าเทวดาชั้นตาวติงสา เที่ยวอาศัยอยู่ในมนุษย์โลกทั่วไป เช่น ตามป่า ตามเขา ตามต้นไม้ และศาลที่เขาปลูกไว้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของ ภุมมัฏฐเทวดาทั้งหลาย แต่เป็นเพียงบริวารของภุมมัฏฐเทวดาเท่านั้น สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดา ชั้นจาตุมหาชิกา

เปตติอสุรา มี ๓ จำพวก คือ กาลกัญจิกเปรตอสุรา ๒.เวมานิกเปรตอสุรา ๓.อาวุธิกเปรตอสุรา เป็นเปรตที่ประหัตประหารกันและกันด้วยอาวุธต่าง ๆ

นิรยอสุรา เป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่เสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกโลกันตร์ นรกโลกันตร์ตั้งอยู่ระหว่างกลางของจักรวาลทั้ง ๓ อสุรกายนี้หมายเอาเฉพาะกาลกัญจิกเปรตอสุรกายเท่านั้น อายุ และ บุพกรรม เช่นเดียวกับเปรต

๔.มหานรก ๘ ขุม (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๑๕,๐๐๐ โยชน์)

-มหานรก ขุมที่ ๑ คือ สัญชีวนรก นรกที่สัตว์นรกไม่มีวันตาย อายุ ๕๐๐ ปี อายุกัป (๑ วันนรก = ๙ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตไม่บริสุทธิ์ หยาบช้า ลามก ก่อกรรมทำเข็ญ เช่นฆ่าเนื้อ เบื่อสัตว์ เบียดเบียนบุคคลที่ต่ำกว่าตน โดยความไม่เป็นธรรมให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นนิจ ฯลฯ

-มหานรก ขุมที่ ๒ คือ กาฬสุตตนรก นรกที่ลงโทษด้วยเส้นเชือกดำ แล้วก็ถากหรือตัดด้วยเครื่องประหาร อายุ ๑,๐๐๐ ปี อายุกัป (๑ วันนรก = ๓๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาป ทำการทรมารสัตว์ด้วยการตัดเท้า หู ปาก จมูก ฯลฯ ทำร้ายบิดามารดา ครู อาจารย์ ฯลฯ เบียดเบียนหรือฆ่าภิกษุ สามเณร ดาบส หรือเป็นเพชฌฆาต

-มหานรก ขุมที่ ๓ คือ สังฆาฏนรก นรกที่มีภูเขาเหล็กใหญ่มีไฟลุกโพลงบดขยี้สัตว์นรก อายุ ๒,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑ วันนรก = ๑๔๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาปหยาบช้าด้วยใจอกุศลกรรม ไร้ความเมตตากรุณา ทำทารุณกรรมสัตว์ด้วยวิธีการต่างๆ เป็นประจำ หรือบุคคลที่ทรมานเบียดเบียนสัตว์ที่ตนใช้ประโยชน์ และพวกนายพราน

-มหานรก ขุมที่ ๔ คือ โรรุวนนรก (ธูมโวรุว หรือจูฬโรรุว) นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังของสัตว์นรกที่ถูกควันไฟอบอ้าว อายุ ๔,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑วันนรก = ๕๗๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ มีใจบาปเผาสัตว์ทั้งเป็น ตัดสินความไม่ยุติธรรม รุกที่ดิน เอาสาธารณสมบัติมาเป็นของตน กินเหล้าเมา ประทุษร้ายผู้อื่น ชาวประมง คนที่เผาป่าที่สัตว์อาศัยอยู่

-มหานรก ขุมที่ ๕ คือ มหาโรรุวนรก (ชาลโรรุว) นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังกว่า โรรุ-วนรก อายุ ๘,๐๐๐ ปีอายุกัป ( ๑ วันนรก = ๒,๓๐๔ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาป ตัดคอสัตว์และมนุษย์ ฆ่าสัตว์ด้วยความโกรธ ปล้น โขมยทรัพย์สมบัติของบิดามารดา ครูอาจารย์ และของศาสนา เช่น ของภิกษุ สามเณร ดาบส แม่ชี และสิ่งของเครื่องสักการะ ที่เขาบูชาพระรัตนตรัย ปล้นโกงเอาของคนอื่นมาเป็นของตน

-มหานรก ขุมที่ ๖ คือ ตาปนนรก (จูฬตาปน) นรกที่ทำให้สัตว์เร่าร้อน ด้วยการให้นั่งตรึงติดอยู่ในหลาวเหล็กอันร้อนแดง แล้วให้ไฟไหม้อยู่ อายุ ๑๖,๐๐๐ ปีอายุกัป (๑ วันนรก = ๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์เป็นคนใจบาป ประกอบกรรมด้วย โลภะโทสะ โมหะ เช่น ฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ และคนที่เผาบ้าน เมือง กุฏิ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ปราสาท ทำลายเจดีย์

-มหานรก ขุมที่ ๗ คือ มหาตาปนนรก (ปตาปน) นรกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนอย่างมากมายเหลือปราะมาณ อายุ ครึ่งอันตรกัปของมนุษย์ บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีใจบาปหนาได้ด้วยอกุศลมลทิน เช่น ประหารคนหรือประหารสัตว์ให้ตายเป็นหมู่มาก ๆ ไม่คำนึงถึงชีวิตเขาชีวิตท่าน และคนที่มีอุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ อเหตกทิฏฐิ และอกิริยทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง

-มหานรก ขุมที่ ๘ คือ อเวจีนรก นรกที่ปราศจากคลื่นคือความบางเบาแห่งความทุกข์ อายุ ประมาณ ๑ อันตรกัปของมนุษย์ บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ได้ทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ฆ่ามารดา บิดา พระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ทำสังฆเภท ยุยงให้สงฆ์แตกกัน และบุคคลที่ทำร้ายพุทธเจดีย์ พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้โดยจิตคิดประทุษร้าย บุคคลที่ติเตียนพระอริยบุคคลพระสงฆ์ผู้มีคุณแก่ตน ผู้ที่ยึดถือนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓

อุสสทนรก ๑๒๘ ขุม (อยู่รอบ ๔ ทิศ ๆ ละ ๕ ของมหานรกแต่ละขุม)

-อุสสทนรก ขุมที่ ๑ คือ คูถนรก สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุขเวทนาอยู่ในนรกอุจจาระเน่า โดยถูกหนอนกัดกินทั้งเนื้อ และกระดูกตลอดจนอวัยวะภายในทั้งหมด จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน

-อุสสทนรก ขุมที่ ๒ คือ กุกกุฬนรก สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุขเวทนา โดยถูกเผาด้วยขี้เถ้าร้อนระอุ ร่างกายไหม้ยับย่อยละเอียดเป็นจุณ จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน

-อุสสทนรก ขุมที่ ๓ คือ สิมปลิวนนรก สัตว์นรกทั้งหลายที่ยังมีเศษอกุศลกรรมเหลืออยู่ ถึงแม้พ้นจากนรกขี้เถ้าร้อนแล้ว ก็ยังไม่หลุดพ้น ยังต้องเสวยทุกข์จากนรกป่าไม้งิ้วต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน

-อุสสทนรก ขุมที่ ๔ คือ อสิปัตตวนนรก สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุกข์จากป่าไม้ใบดาบ เช่น ใบมะม่วงซึ่งกลายเป็นหอกดาบ และมีสุนัข แร้งคอยทรมานขบกัดกินเลือดเนื้อ จนกว่าจะสิ้นกรรม

-อุสสทนรก ขุมที่ ๕ คือ เวตรณีนรก สัตว์นรกที่เกิดมาได้รับทุกข์จากน้ำเค็มแสบที่มีเครือหวายหนามเหล็ก ใบกลีบบัวหลวงเหล็กตั้งอยู่กลางน้ำ ซึ่งคมเป็นกรด มีเปลวไฟลุกโชนอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน

ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม (อยู่รอบ ๔ ทิศ ๆ ละ ๑๐ ของมหานรกแต่ละขุม)

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๑ คือโลหกุมภีนรก เป็นหม้อเหล็กขนาดใหญ่เท่าภูเขา เต็มไปด้วยน้ำแสบร้อนเดือดพล่านตลอดเวลา สัตว์ที่มาเกิดต้องรับทุกข์ ทั้งแสบทั้งร้อน เสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ถูกต้มเคี่ยวในหม้อเหล็กนรกนั้น จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วที่ตนได้ทำมา บุพกรรม เช่นจับสัตว์เป็น ๆมาต้มในหม้อน้ำร้อน แล้วเอามากินเป็นอาหาร

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๒ คือ สิมพลีนรก เต็มไปด้วยป่างิ้วนรก มีหนามแหลมคมเป็นกรดยาวประมาณ ๓๖ องคุลี ลุกเป็นเปลวไฟแรงอยู่เสมอ สัตว์นรกที่มาเกิด ต้องรับทุกข์ทรมานจนสิ้นกรรมชั่วของตน บุพกรรม เช่น คบชู้สู่สาว ผิดศีลธรรมประเพณี ชายเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น หญิงเป็นชู้สามีของผู้อื่น หรือชายหญิงที่มีภรรยาหรือสามี ประพฤตินอกใจไปสู่หาเป็นชู้กับผู้อื่น มักมากในกามคุณ

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๓ คือ อสินขะนรก สัตว์นรกที่มาเกิดมีรูปร่างแปลกพิกล เช่น เล็บมือเล็บเท้าแหลมยาว กลับกลายเป็นอาวุธ หอก ดาบ จอบ เสียม สัตว์นรกเหล่านี้ เหมือนคนบ้าวิกลจริตบ้างนั่ง บ้างยืน เอาเล็บมือถากตะกุยเนื้อหนังของตนกินเป็นอาหารตลอดเวลา จนกว่าจะสิ้นกรรม บุพกรรม เช่น เมื่อเป็นมนุษย์ชอบลักเล็กโขมยน้อย ขโมยของในสถานที่สาธารณะ และของที่เขาถวายแด่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๔ คือ ตามโพทะนรก มีหม้อเหล็กต้มน้ำทองแดงปนด้วยหินกรวด ร้อนระอุตลอดเวลา สัตว์นรกที่มาเกิดต้องรับทุกข์ โดยการถูกกรอกด้วยน้ำทองแดง และกรวดหินเข้าไปทางปาก จนกว่าจะสิ้นกรรม บุพกรรม ด้วยผลกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนๆ เป็นคนใจอ่อน มัวเมาประมาท ดื่มกินสุราเมรัย แสดงอาการคล้ายคนบ้าเป็นเนืองนิจ

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๕ คือ อโยคุฬะนรก เต็มไปด้วยก้อนเหล็กแดงเกลื่อนกลาดไปหมด อกุศลกรรมบันดาลสัตว์นรกที่มาเกิดเห็นก้อนเหล็กแดงเป็นอาหาร เมื่อกินเข้าไปแล้วเหล็กแดงนั้นก็เผาไหม้ไส้พุง ได้รับทุขเวทนาจนกว่าจะสิ้นกรรม บุพกรรม เช่น แสดงตนว่าเป็นคนใจบุญใจกุศล เรื่อไรทรัพย์ว่าจะนำไปทำบุญสร้างกุศล แต่กลับยักยอกเงินทำบุญของผู้อื่นมาเป็นของตน การกุศลก็ทำบ้างไม่ทำบ้างตามที่อ้างไว้ หลอกลวงผู้อื่น

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๖ คือ ปิสสกปัพพตะนรก มีภูเขาใหญ่ ๔ ทิศเคลื่อนที่ได้ไม่หยุดหย่อน กลิ้งไปมาบดขยี้สัตว์นรกที่มาเกิด ให้บี้แบนกระดูกแตกป่นละเอียด จนตายแล้วฟื้นขึ้นมาอีก ถูกบดขยี้อีกจนตายเรื่อยไปจนสิ้นกรรมของตน บุพกรรม เช่น เคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ประพฤติตนเป็นคนอันธพาล กดขี่ข่มเหงราษฏร ทำร้ายร่างกาย เอาทรัพย์เขามาให้เกินพิกัดอัตราที่กฏหมายกำหนด ไม่มีความกรุณาแก่คนทั้งหลาย

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๗ คือ ธุสะนรก สัตว์นรกที่มาเกิดมีความกระหายน้ำมาก เมื่อพบสระมีน้ำใสสะอาดก็ดื่มกินเข้าไป อำนาจของกรรมบันดาลให้น้ำนั้นกลายเป็นแกลบ เป็นข้าวลีบลุกเป็นไฟเผาไหม้ท้องและไส้ เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส จากกรรมชั่วที่ทำมา บุพกรรม เช่น คดโกง ไม่มีความซื่อสัตย์ ปน ปลอมแปลงอาหาร และเครื่องใช้แล้วหลอกขายผู้อื่น ได้ทรัพย์สินเงินทองมาโดยมิชอบ

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๘ คือ สีตโลสิตะนรก เต็มไปด้วยน้ำเย็นยะเยือก เมื่อสัตว์นรกที่มาเกิดตกลงไปก็จะตาย ฟื้นขึ้นมาก็ถูกจับโยนลงไปอีกเรื่อยไป จนสิ้นกรรมชั่วของตน บุพกรรม เช่น จับสัตว์เป็นๆ โยนลงไปในบ่อ ในเหว ในสระน้ำ หรือมัดสัตว์เป็นๆ ทิ้งน้ำให้จมน้ำตาย หรือทำให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้รับความทุกข์และตายเพราะน้ำ

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๙ คือ สุนขะนรก เต็มไปด้วยสุนัขนรก ซึ่งมี ๕ จำพวกคือ หมานรกดำ หมานรกขาว หมานรกเหลือง หมานรกแดง หมานรกต่างๆ และยังมีฝูงแร้ง กา นกตะกรุม สัตว์นรกที่มาเกิดจะถุกสุนัข แร้งกา ไล่ขบกัดตรงลูกตา ปากและส่วนต่าง ๆ ได้รับทุขเวทนาจากผลกรรมชั่วทางวจีทุจริต บุพกรรม คือ ด่าว่าบิดามารดา ปู่ย่าตายาย พี่ชายพี่สาว และญาติทั้งหลายไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ตลอดจนพระภิกษุ สามเณร

-ยมโลกนรก ขุมที่ ๑๐ คือ ยันตปาสาณะนรก มีภูเขาประหลาด ๒ ลูก เคลื่อนกระทบกันตลอดเวลา สัตว์นรกที่มาเกิดจะถูกภูเขาบีบกระแทก ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ตายแล้วก็กลับเป็นขึ้นมา จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน บุพกรรม เช่น เป็นหญิงชายใจบาปหยาบช้า ด่าตีคู่ครองด้วยความโกรธ แล้วหันเหประพฤตินอกใจไปคบชู้เป็นสามีภรรยากับคนอื่นตามใจชอบ

โลกันตร์นรก ๑ ขุม

เป็นนรกขุมใหญ่ อยู่นอกจักรวาล มืดมนไม่มีแสง มองไม่เห็นอะไรเลย และเต็มไปด้วยทะเลน้ำกรดเย็น ที่ตั้งอยู่ระหว่าง โลกจักรวาล ๓ โลก เหมือนกับวงกลม ๓ วงติดกัน คือบริเวณช่องว่างของวงทั้ง ๓ สัตว์นรกที่มาเกิดต้องรับทุขเวทนาเป็นเวลา ๑ พุทธันดร จากผลกรรมชั่ว เช่น ทรมานประทุษร้ายต่อ บิดามารดา และผู้ทรงศีล ทรงธรรมหรือทำปาณาติบาต เป็นอาจิณ ฆ่าตัวตาย เป็นต้น

สรุปธรรมหลวงพ่อสรวง เมื่อวันมาฆบูชาที่ 7 มี.ค.2536 (บนลานพระเจดีย์) ดังนี้

1.งดเว้นแต่การทำชั่วทุกประการ

2.ประกอบแต่ความดีหรือทำบุญกุศลอยู่เป็นประจำ

3.ชีวิตรู้จักทำจิตให้สงบ ทำจิตให้ผ่องแผ้วด้วยวิธีสมถวิปัสสนา

ที่มา http://www.boxboon.com

No comments: