Tuesday, May 6, 2008

ตำนานตักบาตรเทโว

วันตักบาตรเทโวโรหณะ (วันพระเจ้าเปิดโลก) สรุปโดยย่อ

วันเทโวโรหณะ คือ วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ ในดาวดึงส์พิภพถ้วนไตรมาส และตรัสพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ในเทวโลกนั้นมาตลอด 3 เดือน พอออกพรรษาแล้ว ก็เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงทางบันไดสวรรค์ ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร อันตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี วันเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวันมหาปวารณา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 วันนั้นถือกันว่า เป็นวันบุญกุศลที่สำคัญวันหนึ่ง ของพุทธบริษัท รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงพร้อมกันทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นการฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

ตำนานตักบาตรเทโว (เทโวโรหณะ)

สมัยหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์แล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในดาวดึงส์เทวโลก เพื่อจะตรัสพระสัทธรรมเทศนาสัตตปกรณาภิธรรม โปรดพระพุทธมารดา

ครั้นถึงวันปวารณา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว เสด็จจากดาวดึงส์ภิภพ มาสู่มนุษย์โลกโดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 คือ บันไดทอง อยู่ ณ เบื้องขวา บันไดเงิน อยู่ ณ เบื้องซ้าย บันไดแก้ว ประดิษฐานอยู่ ณ ท่ามกลาง และเชิงบันไดทั้ง 3 นั้นจรดพื้นภาคปฐพี ณ ที่ใกล้เมือง สังกัสสนคร และศรีษะบันไดเบื้องบนจรดยอดเขาพระสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งดาวดึงส์ภิภพ บันไดทองเป็นที่ลงแห่งหมู่เทวดาตามส่งเสด็จ บันไดเงินเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม บันไดแก้วท่ามกลางเป็นทางเสด็จของพระบรมครูสัพพัญญูเจ้า

วันพระเจ้าเปิดโลก

ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จเหนือยอดเขาสิเนรุราช ทอดพระเนตรเครื่องสักการบูชาแห่ง เทพยาดาและมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ทรงแสดง “โลกวิวรณปาฏิหาริย์” คือเปิดโลก โดยทอดพระเนตรไปในทิศาภาคเบื้องบน ในกาลนั้น อันว่าเทวโลกและพรหมโลกทั้งหลาย ก็แลตลอดโล่งเป็นลานอันเดียวกันทั้งสิ้น แล้วทอดพระเนตรไปในฝ่าย อโธภาคเบื้องต่ำในขณะนั้น อันว่าอโธทิศก็แลโล่งเป็นลานอันเดียวตลอดถึงอเวจีเป็นที่สุด แล้วก็ทอดพระเนตรไปในทิศต่าง ๆ ทั้ง 8 ทิศ อันว่าพ้นแห่ง

จักรวาลทั้งหลายเป็นอันมาก ก็แลโล่งตลอดไปเป็นลานอันเดียวกัน ในกาลนั้น สวรรค์แลมนุษย์กับทั้งนรก ก็แลเห็นกันปรากฏทั่วทั้งสิ้นมิได้มีที่ปิดบังทั้งหมื่นโลกธาตุ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงแสดงพระวิวรณาปาฏิหารย์บันดาลเปิดโลก ให้เห็นกันเป็นมหัศจรรย์จึงเรียก “พระเจ้าเปิดโลก”

ครั้นแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาจากเทวโลก โดยมณีมัยบันไดในท่ามกลางเทพยดาทั้งหมื่นโลกธาตุ มีองค์อัมรินทร์ทราธิราชเป็นอาทิ ก็ลงมาทางบันไดทองเบื้องทักษิณปรัศว์ ท้าวสหัมบดีพรหมกับหมู่บริษัท ก็ลงทางหิรัญบันไดฝ่ายวามภาคทั้งสิ้น และปัญจสิงขรคันธัพพเทวบุตร ก็ถือซึ่งพิณมีพรรณดังผิวมะตูมสุก ดีดขับร้องนำเสด็จพระสัพพัญญูไปในเบื้องหน้า และเชิงบันไดทั้ง 3 นั้น ลงประดิษฐานบนแผ่นพื้นศิลาใหญ่ ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร ที่อันนั้นได้นามกรปรากฏว่า “อจลเจดีย์”

การทำบุญตักบาตรเทโว โดยนั้นแห่งประวัตินี้ เท่ากับทำบุญตักบาตรต้อนรับพระพุทธองค์ ในความเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง ของทำบุญที่นิยมกันเป็นพิเศษในกาลทานนี้คือ ข้าวต้มลูกโยน ซึ่งเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว แล้วไฉนจึงนิยมทำบุญด้วยข้าวต้มลูกโยนนั้น กล่าวกันว่าในครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ถูกห้อมล้อมด้วยเทวดาและมนุษย์ ผู้ที่เข้าถึงพระองค์ก็มี ผู้ที่เข้าไม่ถึงพระองค์ก็มี ดังนั้นผู้ที่เข้าไม่ถึงพระองค์ ก็ต้องโยนเข้าไป การที่ขนมชนิดนี้จ้องไว้หางยาวก็เพื่อว่า เมื่อโยนไปจะได้แม่นยำตรงทางเพราะมีหาง หากไม่เช่นนั้นก็จะเฉไปทางอื่น

เมื่อถึงวันกำหนดตักบาตรเทโว พุทธศาสนิกชนมักบอกกล่าวกันให้รู้วัน และสถานที่ ในบางแห่งทำกันเป็นการครึกครื้นและเห็นจริงเห็นจัง โดยนัยแห่งประวัติข้างต้น คือให้คฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดา เป็นพรหม อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานเป็นล้อเลื่อนมีบุษบก และมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าบ้าง พวกทายกทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตร สรุปได้ว่าทำให้ใกล้กับความจริง เพื่อเป็นการระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แนวการจัดขบวนต่างๆ ในการตักบาตรเทโว

1. ขบวนธงชาติและธงเสมาธรรมจักร รอรับที่หน้าบันไดทางขึ้นพระเจดีย์

2. ขบวนปัญจสิงขรคันธัพเทวบุตร ถือพิณ, หรือซออู้ ดีดนำขบวนลงมาตั้งแต่บนพระเจดีย์ตลอดจนสิ้นการรับบิณฑบาตรของพระสงฆ์

3. ขบวนรถที่ประดับด้วยดอกไม้และมีการแต่งกายเป็นพระพรหมนำพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร นำขบวนตลอดจนสิ้นการรับบิณฑบาตรของพระสงฆ์

4. ขบวนพระอินทร์, และพระชายาทั้งสี่คือ นางสุธรรมา, นางสุนันทา, นางสุชาดา, นางสุจิตรา, และเทพบุตรนางอัปสร (เทพธิดา) ถือพานดอกไม้โปรยดอกไม้ไปตลอดการรับบิณฑบาตรของพระสงฆ์

5. ขบวนฆ้องลั่นสัญญาณนำขบวนตลอดจนสิ้นการรับบิณฑบาตรของพระสงฆ์

6. ขบวนพระสงฆ์รับบิณฑบาตร

ที่มา http://www.boxboon.com

No comments: