จะทำอย่างไรให้เด็กสมัยนี้ รู้จักประหยัดและอดออมเจ้าคะ ?
การ ประหยัดและอดออมเป็นหัวใจของการตั้งหลักตั้งฐานให้มั่นคง ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ว่า การที่ใครจะตั้งหลักตั้งฐานให้ได้นั้น มีหลักอยู่ ๔ ประการด้วยกัน เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ได้แก่
๑. อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น หรือว่า หาเป็น
๒. อารักขสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยการรักษา หรือว่า เก็บเป็น
๓. กัลยาณมิตตตา แปลว่า ความมีเพื่อนเป็นคนดี หรือว่า สร้างเครือข่ายคนดีเป็น
๔. สมชีวิตา แปลว่า การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ หรือว่า ใช้เป็น
นิสัยอดออมและนิสัยประหยัดนี้ อยู่ดีๆ คงไม่ตกลงมาจากท้องฟ้าเหมือนอย่างกับน้ำฝน เมื่อเป็นนิสัย ก็ต้องเกิดจากการ ย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น อยากจะให้ลูกมีนิสัยประหยัด ก็ฝึกลูกให้ ย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ในเรื่องประหยัด
อยากจะให้ลูกมีนิสัยอดออม รู้จักออมทรัพย์เป็น ไม่ว่าจะออมทรัพย์เป็นตัวเงิน หรือจะออมทรัพย์เป็นบุญก็ตาม ต้องฝึกลูกให้ ย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ในเรื่องของการอดออมอยู่เสมอ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย
แต่ว่าการที่จะให้ลูกหลานของเรา หรือใครก็ตาม ย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ในเชิงประหยัด ในเชิงอดออมนั้น ต้องมีข้อแม้ เอาเป็นว่าจากในครอบครัวก็แล้วกัน คือ
๑. คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ดู การประพฤติปฏิบัติตนด้วยความประหยัดและอดออมให้ลูกดู คือวิธีการสอนที่วิเศษที่สุด เพราะเมื่อพ่อแม่ทำให้ดู ทำให้เห็นอยู่เป็นประจำ ลูกก็จะมีแนวคิด แนวพูด แนวการกระทำ ตามอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ดูนั้น
เพราะฉะนั้น นิสัยประหยัด นิสัยอดออม ของลูก แน่นอนและชัดเจนลงไปเลยว่า ย่อมได้จากคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก
๒. หาเพื่อนดีให้ลูกคบ เพื่อนที่มีนิสัยประหยัด มีนิสัยอดออม หาทาง ชวนให้แกมาที่บ้านบ่อยๆ เพื่อส่งเสริมให้คบกับลูกๆ ของเรา แล้วการซึมซับนิสัยดีๆ จากเพื่อนก็จะเกิดขึ้น
๓. หาครูดีให้ลูก พาไปเรียนหนังสือ หรือหาครูดีๆ มาสอนหนังสือที่บ้านให้ลูกของเราเป็นพิเศษ ซึ่งครูนั้นนอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการดีแล้ว ยังต้องมีนิสัยประหยัด มีนิสัยอดออมด้วย เดี๋ยวแกก็จะซึมซับนิสัยดีๆ เหล่านั้น จากคุณครูเข้ามาในตัวของแกได้เอง
สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกของเรา ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบภายนอก
แต่ที่สำคัญคือองค์ประกอบภายใน ซึ่งก็ตกเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่อีกเหมือนกัน ที่จะต้องให้หลักการที่ชัดเจน
เมื่อได้หลักการแห่งการประหยัด การอดออมที่ชัดเจนแล้ว แกจึงจะเข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ดู ที่เพื่อนทำให้ดู ที่คุณครูได้อบรมสั่งสอนอยู่เป็นประจำ
คือ การที่ใครจะประหยัดเป็น เขาจะต้องรู้จักคำว่า " จำเป็น" กับคำว่า " อยาก" นั้นแตกต่างกันอย่างไร ต้องแยก ๒ คำนี้ให้ออก ถ้าแยกไม่ออกก็ประหยัดไม่เป็น
ยกตัวอย่าง ลูกเอ๊ย เสื้อผ้าเขามีไว้สำหรับนุ่งห่ม เพื่อกันแดด กันลม กันฝน กันร้อน กันหนาว กันเหลือบ ยุง ลิ้น ไร มาไต่ตอม และที่สำคัญกันอายนะลูก
ถ้าลูกยังใช้เสื้อใช้ผ้า ใช้เครื่องนุ่งห่ม อยู่ในลักษณะเพื่อป้องกันแดด กันลม กันฝน กันอาย อย่างที่ว่ามานี้ ก็เป็นเรื่องของความประหยัด
แต่เมื่อไหร่ ลูกจะใส่เสื้อใส่ผ้าเพื่อ ความเด่น ความดัง ตามแฟชั่น เดินผ่านไปถึงไหน ใครๆ ก็ต้องเหลียวหน้ากลับมาดู อย่างนี้ไม่ประหยัดแล้ว แต่จะกลายเป็นการฟุ่มเฟือยไป
การใช้เสื้อผ้าก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักแยกให้ออกได้อย่างนี้
ในบางกรณี ถ้าลูกอยากหล่อ อยากสวย อยากเด่น กับเขาบ้าง เป็นบางครั้งบางคราวก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าก็ต้องออกแรงทำงานเสียก่อน โดยอาจจะให้ทำงานในบ้าน หรือไปทำงานนอกบ้านก็ตาม
ฝึกให้ลูกรู้จักเหนื่อยเสียบ้าง ไม่ใช่ว่าค่อยแบมือขอแม่เพียงอย่างเดียว เมื่อต้องเหนื่อยเสียก่อนแล้วจึงจะได้ของที่ต้องการ อย่างนี้ความคิดที่จะฟุ้งเฟ้ื้อก็ลดลง
ยิ่งกว่านั้น ยังต้องสอนให้ลูกของเรารู้จักหยอดเงินใส่กระปุกออมสิน โดยเก็บเงินส่วนที่เหลือจากค่าขนมบ้าง เหลือจากตรงนั้น ตรงนี้บ้าง เอามาใส่กระปุกไว้ หรือว่าเอาไปทำบุญ
ก็จะกลายเป็นทั้งออมเพื่อเตรียมไว้สำหรับอนาคตชาตินี้ และออมไว้สำหรับอนาคตชาติหน้า ด้วยการเปลี่ยนเป็นบุญ
ถ้าทำอย่างนี้กันทั้งครอบครัวตั้งแต่เล็กๆ รับรองนิสัยประหยัดและอดออมของคนทั้งชาติไทยจะบังเกิดขึ้นมาได้ในไม่ช้านี้
ขอขอบคุณ DMC.TV
No comments:
Post a Comment