คุณเคยอยู่ในภาวะกดดันไหม ความรู้สึกนั้นแย่และเครียดจนต้องหาทางระบายใช่ไหม แล้วถ้าลูกคุณต้องอยู่ในภาวะนี้ โดยมีคุณเป็นต้นเหตุล่ะ ?
ไปเจอบทความนึงมา ลองอ่านกัน
เมื่อ ไม่กี่วันนี้ กระเตงลูกไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมก๊วนสมัยเรียนมาค่ะ นอกจากแม่ๆ จะได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันแล้ว ลูกๆ ก็ได้เพื่อนเล่นด้วย แต่ลูกสาววัย 2 ขวบกว่าของเพื่อนดิฉันสิคะ เอาแต่หลบหลังแม่ตลอด ดูท่าทางไม่มั่นใจเอาเสียเลย
สังเกตอาการ หลานสาวสักพัก ก็เห็นว่าเขาเองก็อยากจะไปวิ่งเล่นเหมือนกัน แต่เพื่อนของดิฉันก็คอยส่งสายตาปรามไว้เสมอ เพราะไม่อยากให้ลูกวิ่งซน เธอบอกว่ากลัวลูกจะหกล้มเจ็บตัวน่ะค่ะ แต่แหม...ธรรมชาติของเด็กวัยนี้น่ะเขาจะซน อยากวิ่ง อยากปีนป่าย อยากสำรวจ แล้วมาถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆ แบบนี้คงอึดอัดแย่
และเธอยังบ่นให้ ดิฉันฟังอีกว่า ลูกสาวไม่ได้อย่างใจเอาเสียเลย เพราะออกนอกบ้านทีไรหลบหลังแม่ตลอด อยากให้ลูกเป็นคนมั่นใจในตัวเองมากกว่านี้ ปล่อยไว้แบบนี้เห็นทีจะไม่ได้การ เพื่อนที่แสนดีอย่างดิฉันต้องหาทางช่วยแล้วล่ะค่ะ
กรณีอย่างนี้ พญ.เสาวภา วชิรโรจน์ไพศาล กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโต แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับหรือห้ามเด็กอย่างไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการกดดันลูกได้ค่ะ
เรื่องที่หนูๆ มักโดนกดดัน
ลูก ได้รับความกดดันจากพ่อแม่ได้หลายทางค่ะ เช่น จากการที่พ่อแม่ใช้เสียงดังตวาด บางคนอาจถึงขั้นตี เป็นการใช้อำนาจซึ่งลูกย่อมกลัว ยอมจำนน และต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ รู้สึกไม่มีความสุข ส่วนเรื่องที่เด็กวัยนี้มักจะโดนกดดันเสมอคือ
การ รับประทานอาหาร พ่อแม่ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานความคิดที่ปรารถนาดีต่อลูก ว่าลูกต้องได้สารอาหารอย่างครบถ้วนทั้ง 3 มื้อ บางบ้านนอกจากข้าวแล้ว ลูกยังต้องรับประทานผักทุกชนิดด้วย เพื่อร่างกายจะได้สมบูรณ์แข็งแรง จึงพยายามอธิบายให้ลูกเห็นถึงความสำคัญของข้าวและผัก แล้วก็คอยควบคุมและจัดการให้ลูกรับประทานให้ได้ตามที่คุณแม่เตรียมไว้ แทนที่จะใช้วิธีเชิญชวนหรือโน้มน้าว โดยลืมคิดไปว่านี่เป็นการกดดันลูก
การ เล่น เด็กวัยนี้จะชอบเล่นโลดโผน ชอบเล่นปีนป่าย บางบ้านพ่อแม่เองก็อยากให้ลูกเล่น แต่ในขณะเดียวกันก็กลัวลูกเจ็บเลยห้าม แต่พอออกไปข้างนอกเห็นเด็กคนอื่นปีน ลูกตัวเองปีนไม่ได้ ก็คะยั้นคะยอลูกว่าทำไมไม่ปีน คืออยากให้ลูกทำได้แต่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกลองทำ
เมื่อหนูโดนกดดัน
การกดดันลูกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ
ลูกไม่อยากทำ แต่พ่อแม่อยากให้ทำ อย่างนี้จะเป็นการบังคับ เช่น บังคับให้กิน
ลูกอยากทำ แต่พ่อแม่ไม่อยากให้ทำ อย่างนี้จะเป็นการห้าม ลงโทษ เช่น ห้ามปีน ห้ามเล่น
ผลลัพธ์ ออกมาคือ เด็กจะสงสัยในศักยภาพของตัวเองในการทำกิจกรรมต่างๆ พ่อแม่ที่มักจะห้ามหรือดุลูกก็มักจะไม่ได้ดุแค่เรื่องเดียวในหนึ่งวัน แต่จะห้ามและดุลูกอยู่อย่างนี้เกือบทุกเรื่อง โอกาสที่เด็กจะทำอะไรสำเร็จดังใจน้อยมาก เขาจะถูกอำนาจสั่งการอยู่ตลอดเวลา
อาการที่แสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังได้รับความกดดัน ในเรื่องของการรับประทานอาหาร เช่น บ้วนทิ้ง อมข้าว วิ่งหนี ร้องไห้ เป็นต้น
ส่วน ในเรื่องของการเล่น สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กกำลังได้รับความกดดันอยู่ จะแสดงออกมาเมื่อออกไปข้างนอกค่ะ คือเขาจะอาย ไม่มั่นใจ ติดแม่ มีความเครียดเหมือนลูกสาวของเพื่อนดิฉันนี่แหละ
ซึ่งคุณหมอบอก ว่าถ้าไม่รีบแก้ปัญหา เมื่อเขาโตกว่านี้จะกลายเป็นเด็กที่ไม่มี Self-esteem (ความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง) ออกไปข้างนอกก็แก้ปัญหาไม่เป็นต้องยอมแพ้ และเด็กที่ได้รับความกดดันส่วนใหญ่มักจะลงเอยด้วยการร้องไห้ค่ะ
เลี้ยงอย่างไร ไม่กดดัน
คุณ พ่อคุณแม่หลายท่านอาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วจะทำอย่างไรจึงจะไม่กดดันลูกเกินไปค่ะ ในเมื่อสิ่งที่ทำอยู่ด้วยรักและเป็นห่วงลูกทั้งนั้นนี่น่า คุณหมอแนะนำว่า ควรเดินสายกลางค่ะ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ควรคุยกัน และร่วมกันสร้างกฎของบ้านขึ้นมาเพื่อสร้างวินัย (Discipline) ให้กับเด็กตามวัย โดยต้องเป็นกฎที่ชัดเจน แต่ก็ต้องมีอิสระอยู่ในเรื่องเดียวกันด้วยค่ะ เช่น ในเรื่องการรับประทานอาหาร ควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน อาจเป็นครึ่งชั่วโมงที่ลูกต้องนั่งรับประทานด้วยกันที่โต๊ะเหมือนกับทุกคนใน บ้าน ฝึกให้ลูกใช้ช้อนป้อนตัวเอง ลูกจะมีอิสระที่จะได้ใช้ช้อนเอง โดยไม่ถูกตำหนิว่าเปื้อนหรือเสียเวลา ลูกจะลงจากโต๊ะเพื่อไปเล่นก่อนถึงเวลาที่กำหนด หรือเล่นที่โต๊ะอาหารไม่ได้ ซึ่งลูกมีอิสระที่จะหยิบของเล่นโปรด 1 ชิ้นมาร่วมโต๊ะได้ แต่ไม่ให้หยิบมาหลายๆ อย่างเพื่อตั้งใจมาเล่น ถ้าลูกไม่ต้องการรับประทานอาหารแล้ว พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้กิน แต่ควรยืนยันให้ลูกอยู่บนโต๊ะอาหารจนครบเวลาเหมือนทุกคน ส่วนการกระตุ้นให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็ต้องใช้วิธีเชิญชวนหรือ ดัดแปลงอาหารให้น่ารับประทาน เป็นต้น
ส่วนการเล่น ในเมื่อเด็กวัยนี้ชอบวิ่ง ชอบปีนป่าย พ่อแม่ก็ต้องจัดที่ให้ลูกได้เล่นอย่างที่เขาต้องการ กำหนดเวลาให้เล่น เช่น ให้เวลาเล่นน้ำ 1 ชั่วโมง แล้วหลังจากนั้นมาฟังนิทานกับแม่ ให้ลูกเลือกว่าจะทำกิจกรรมใดก่อน พยายามมีขอบเขตเรื่องของเวลาที่ชัดเจนด้วยว่านานเท่าไหร่ และพยายามทำตามกฎนั้นเสมอ โดยขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านที่จะตกลงกันระหว่างพ่อแม่ค่ะ
นอกจาก นั้นควรสอนให้ลูกมีวินัยแบบไม่กดดันเกินไป คือสอนให้รู้ว่าช่วงไหนควรหรือไม่ควรทำอะไรโดยอาศัยความสม่ำเสมอและจริงจัง อาจใช้เสียงเข้มแต่ไม่ใช่เสียงตวาด เด็กจะสามารถรับสัญญาณได้ค่ะ เพราะโดยสัญชาตญาณของเด็ก เขาต้องการภาพเชิงบวกจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ยิ้มหรือชมเชย เขาจะภูมิใจและมีกำลังใจมากค่ะ
คุณ หมอบอกว่าถ้าพ่อแม่เริ่มมองเห็นและเข้าใจว่าลูกกำลังเกิดปัญหา ก็ถือว่าแก้ปัญหาสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วค่ะ เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่มักไม่เข้าใจว่าตัวเองทำผิด แต่ถ้าเริ่มเข้าใจแสดงว่าพ่อแม่เปิดกว้างและพร้อมที่จะรับหลักการใหม่ ก็อาจจะหาข้อมูลจากหนังสือ หรือพาไปพบแพทย์ก็ได้ค่ะ
เฮ้อ...ได้ ฟังแล้วก็ต้องหันกลับมาพิจารณาตัวเองเป็นการใหญ่ ว่าทุกวันนี้กดดันลูกบ้างหรือเปล่า กลับถึงบ้านคงต้องไปสร้างกฎของบ้านร่วมกับพ่อของเจ้าตัวเล็กแล้วล่ะค่ะ
(update 20 กุมภาพันธ์ 2006)
[ ที่มา..นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 275 ธันวาคม 2548 ]
No comments:
Post a Comment