Friday, July 25, 2008

.. บุญสลากภัต ..


เช้าวันนี้พวกเรานัดกันตั้งแต่เช้าตรู่
ต่างคนต่างเตรียมข้าวของกันมาหลายอย่าง
ทั้งถ้วยโถโอชาม ทั้งสำรับภัตตาหาร

พวกเรานัดกันไปร่วมทำบุญ "ลากภัต"

วัดเล็กๆ ในหมู่บ้านที่เงียบสงบไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่
แค่ขับรถชั่วโมงหนึ่งก็ถึง อ.บ้านนา จ.นครนายก

วันนี้ที่วัดคึกคักด้วยญาติโยมคนในหมู่บ้านใกล้เคียง
ซึ่งว่าไปก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เครือญาติกันเกือบทั้งนั้น

บุญสลากภัตหรือใครจะเรียกว่าฉลากภัตรก็น่าจะได้
ก็คือการถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์
เพียงแต่เราต้องจัดเตรียมสำรับอาหาร
โดยไม่เจาะจงว่าจะถวายให้พระรูปไหน
เราต้องจับฉลากเลขเบอร์ของพระ
ได้เบอร์อะไร ก็ต้องนำอาหารที่เราเตรียมไปถวายพระรูปนั้น

ถึงเรียกกันว่า ฉลาก + ภัตตาหาร นั่นละ
แต่ไม่รู้เพี้ยนมายังไงถึงได้ออกมาเป็น "สลากภัต"
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ เหมือนกันนะ


บางทีจับฉลากได้เป็นพระหนุ่ม หรือพระที่สูงวัย หรือรูปที่อาพาธ
อาหารที่เตรียมไว้จึงควรเป็นอาหารรสกลางๆ ไม่รสจัดเกินไปด้วยเหมือนกัน

ถ้าเป็นวัดในเมืองกรุง
เราอาจเห็นคนเมืองเอาอาหารใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องโฟม
หิ้วใส่ถุงก๊อปแก๊ปขึ้นศาลาไปถวายอาหารเพล

แต่ที่วัดแห่งนี้
ชาวบ้านยังคงเก็บงำรักษาประเพณีเล็กๆ ของหมู่บ้านเอาไว้อย่างงดงาม
คนเฒ่าคนแก่นุ่งซิ่นผืนงามแต่งตัวกันเรียกว่าเต็มยศ
จัดเตรียมอาหารกันข้ามวันข้ามคืน
สำรับอาหารจะถูกบรรจงใส่ลงในถ้วยกระเบื้องเคลือบอย่างดี
จัดเรียงลงกระบุงขึ้นคานหาบ

เข้าใจว่าเมื่อก่อน ชาวบ้านคงเอาสำรับอาหาร
ใส่คานขึ้นหาบออกจากบ้านมาที่วัด
แต่ทุกวันนี้คงไม่ต้องลำบากลำบนขนาดนั้น
แค่เอาหาบใส่กระบะขับรถมาที่วัดได้ง่ายขึ้นเยอะ

ทุกครอบครัวเอาอาหารใส่หาบกันขึ้นมาบนศาลา
ทั้งคนเฒ่าคนแก่ ลูกหลานคนหนุ่มคนสาว
แต่เท่าที่ดูเห็นมีแต่คนแก่ๆ ผมสีดอกเลาเท่านั้นละที่หาบของขึ้นมา
ไม่ใช่ว่าหนุ่มๆ รุ่นลูกรุ่นหลานจะใจไม้ไส้ระกำ
ไม่ยอมมาช่วยคุณย่าคุณยายหาบของหรอกนะ

แต่ขืนให้พวกนี้มาหาบสำรับละก็นะ
กระดกขึ้นกระดกลงเป็นไม้กระดกสนามเด็กเล่น
มีหวังข้าวของระเนระนาดไม่ได้ไปทำบุญกันพอดี


ก็ยังดีใจที่ชาวบ้านยังอนุรักษ์การใช้คานหาบ
หาบสำรับอาหารขึ้นศาลามาถวายพระ
ขากลับก็ได้หาบบุญกลับบ้านกันไป
เหมือนได้หาบเงินหาบทองกลับไปเต็มกระบุงนั่นละ

คุณยายที่นั่งข้างๆ เล่าว่า
สมัยที่ยายยังสาวๆ อยากได้ชุดกระเบื้องเคลือบ
ไว้ใส่สำรับสลากภัตของตัวเองสักชุดนึง
ก็เลยไปรับจ้างเกี่ยวข้าวได้ค่าแรงไร่ละห้าสิบสตางค์
ค่อยๆ เก็บหอมรอมริดจนได้พอซื้อชุดกระเบื้องเคลือบ
โถชามสีขาวสะอาดพร้อมฝาปิดลายดอกไม้สีชมพูเล็กๆ
อย่างที่สมัยนี้คนกรุงเทพฯ จะเรียกว่าชามลาย Japanese Occupied

ยายเก็บเงินซื้อมาชุดละ 5 บาทแพงเอาการสำหรับสมัยนั้น
แล้วคุณยายก็ยกโถขึ้นมาใบหนึ่ง พลิกให้ดูที่ก้นถ้วยด้านล่าง
เขียนเลขเอาไว้ด้วยปากกาสีเลือนๆ "2502"

48 ปีแล้วนะ ชามใบนี้..คุณยายยิ้มอย่างภูมิใจ
พร้อมกับสายตาที่มีความสุขกับเรื่องราวของวันวาน

บนศาลาวัดวันนี้ คึกคักเนืองแน่นไปด้วยผู้คนญาติโยม
ต่างคนต่างหน้าตาอิ่มเอิบอิ่มบุญอิ่มใจ

โดยเฉพาะคนแก่เฒ่าคุณตาคุณยาย
ที่นั่งมองพระฉันภัตตาหารด้วยอาการสำรวม
อิ่มใจที่พระท่านฉันอาหารที่เตรียมไว้ได้เยอะ
อิ่มใจที่ได้เอาชุดสำรับที่เก่าเก็บมานมนานออกมาใช้แค่ปีละหน
แม้จะไม่สวยหรูเหมือนถ้วยชามเบญจรงค์สมัยใหม่
แต่ก็เป็นวัตถุที่เก็บงำความทรงจำเรื่องเล่าแห่งเงาอดีต

และเหนืออื่นใด
สุขใจ..ที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา กับลูก กับหลาน
ในวันที่ครอบครัว..เป็นครอบครัวกันพร้อมหน้า

ขอขอบคุณเรื่องดีๆ จาก http://loorsad.exteen.com
เรื่องนี้้ประทับใจอย่างแรง


ทำให้เห็นว่าคนเมื่อก่อนมีศรัทธามหาศาลต่อพระพุทธศาสนามักจะเลือกสิ่ง ที่ดีๆ ไปถวายเป็นพุทธบูชา ดูแล้วถ้วยชามหรูหราเอาการมากๆ ไม่ได้มีโอกาสใช้ในชีวิตประจำวันเป็นแน่ และเรื่องที่คุณยายเล่าให้ฟังก็แสดงถึงความตั้งใจและศรัทธาที่เต็มเปี่ยมใน การทำบุญ

ดูผู้เฒ่า ผู้แก่ทำบุญแล้วรู้สึกดีจริงๆ เลย ^____^

บุญใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ ซะที่ไหน ไหนจะต้องตื่นแต่เช้า จัดเตรียมข้าวของ
ผู้ที่มีบุญมากเท่านั้นจึงจะสามารถทำบุญได้มาก บางคนตายเสียก่อนที่จะมางานบุญใหญ่เพี่ยงไม่กี่วันเท่านั้น
บางคนมัวแต่หาเงิน หรือใช้ชีวิตโดยลืมไปว่าเราจะต้องตายสักวันหนึ่ง
มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่ติดตัวเราไปยังภพหน้า

2 comments:

Unknown said...

วัดอะไรคะ

journey said...

ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ คัดลอกบทความมาจากที่นี่ค่ะ http://loorsad.exteen.com