Friday, March 6, 2009

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๑๒ รู้เท่าทันชั้นเชิงกิจการ

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๑๒ รู้เท่าทันชั้นเชิงกิจการ

จากหนังสือ คุณสมบัติของผู้มีโชคลาภ ๗ ประการ
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



มีผู้ชายคนหนึ่งเป็นบุตรเศรษฐีที่เมืองราชคฤห์ มีทรัพย์อยู่ ๔๐ โกฏิ ๔๐ โกฏิ นี่ก็ ๔๐๐ ล้าน กหาปณะ คราวหนึ่งอหิวาตกโรคระบาดหนัก

เมื่อ อหิวาตกโรคก็แล้วแต่ มาถึงเศรษฐีและภรรยา เขาทั้งสองก็ร้องไห้ ด้วยว่ามีหน้านองด้วยน้ำตา มองดูบุตรซึ่งอยู่ใกล้ ๆ แล้วก็กล่าวว่า การหนีโรคชนิดนี้ท่านว่าต้องพังฝาเรือนไป เจ้าจงทำอย่างนั้นเถิด อย่าได้ห่วงใยพ่อและแม่เลย เมื่อยังไม่ตายก็จงกลับมาขุดเอาทรัพย์ที่พ่อและแม่ฝังไว้ ๔๐ โกฏิ เลี้ยงชีวิตต่อไป

เด็กน้อยเชื่อมารดาร้องไห้แล้วก็ไหว้ท่านทั้งสอง แล้วก็พังฝาเรือนหนีไป ไปอยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่งเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี จึงกลับมา เมื่อเขากลับมาใคร ๆ ก็จำเขาไม่ได้ เพราะว่าตอนไปยังเด็กกลับมาเมื่อตอนเป็นหนุ่มแล้วมีหนวดเครารุงรัง คราวนี้เด็กหนุ่มคนนี้ไปตรวจดูที่ฝังทรัพย์ เห็นยังเรียบร้อยดีทุกอย่าง เขาก็คิดต่อไปว่า ใคร ๆ ก็จำเราไม่ได้ ถ้าเราขุดเอาทรัพย์ออกไปใช้สอยคนทั้งหลายก็จะประหลาดใจว่า คนเข็ญใจนี้ไปเอาทรัพย์มาจากที่ไหนก็จะจับตัว เราก็จะถูกจับแล้วคนทั้งหลายก็จะเบียดเบียนเรา อย่ากระนั้นเลย เราเก็บทรัพย์ไว้อย่างเดิมก่อน แล้วไปรับจ้างทำงานเลี้ยงชีพดีกว่า เขาตกลงใจอย่างนี้แล้วก็ออกหางานทำ ไปได้งานรับจ้างปลุกคนงานในที่แห่งหนึ่ง หน้าที่ของเขาก็คือตื่นแต่เช้ามืดเที่ยวปลุกคนงานให้ลุกขึ้น เตรียมเกวียน หุงข้าว หุงข้าวต้ม ข้าวสวย เป็นต้น ก็ได้เรือนหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ แล้วอยู่คนเดียว รวมความว่าไปได้งานเป็นแขกยาม เขาได้ทำหน้าที่นั้นอย่างดีที่สุดไม่บกพร่อง ไม่เคยนอนตื่นสาย

เช้า วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้สดับเสียงของเขา พระเจ้าพิมพิสารมีพระคุณสมบัติพิเศษ คือทรงรู้เสียงสัตว์ทุกชนิด เมื่อทรงสดับเสียงของชายหนุ่มคนนี้จึงได้ตรัสว่า เสียงของคนคนนี้เป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก นางสนมคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ คิดว่าพระราชาคงไม่ได้ตรัสอะไรเหลวไหลเป็นแน่แท้ จึงรีบสั่งคนผู้หนึ่งให้ไปสืบดู แต่ความจริงกลับปรากฏว่าเป็นเสียงของชายเข็ญใจคนหนึ่ง รับจ้างเป็นแขกยามคอยปลุกทุกคนให้ตื่นขึ้นทำงาน พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้วก็ทรงเฉยเสีย

ในวันที่ ๒ และวันที่ ๓ เมื่อทรงสดับฟังเสียงของชายผู้นั้นอีกก็ทรงตรัสเช่นเดียวกัน นางสนมก็คิดว่าพระราชาไม่เคยตรัสอะไรเหลวไหล จะต้องมีอะไรลี้ลับอยู่เป็นแน่ จึงทูลพระราชาว่า หากข้าพระองค์ได้ทรัพย์สักพันหนึ่ง ข้าพระองค์ก็จะไปทำอุบายเอาทรัพย์จากชายคนนั้นมาให้ราชสกุลให้จงได้ พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันให้นางสนม นางและลูกสาวแกล้งแต่งตัวปอน ๆ ทำทีเป็นคนยากจนไปยังถนนเป็นที่อยู่ของคนรับจ้าง เข้าไปขอพักอาศัยในเรือนหลังหนึ่ง แต่เจ้าของบ้านปฏิเสธ บอกว่ามีคนอยู่มากแล้วให้ไปขออาศัยชายคนหนึ่งชื่อ กุมภโฆสก ซึ่งอยู่คนเดียว นางสนมไปขออาศัยอยู่กับบ้านของกุมภโฆสก คือผู้ชายคนที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เขาปฏิเสธหลายครั้งแต่นางก็อ้อนวอนจนได้ กุมภโฆสกยอมให้พักอย่างเสียไม่ได้

วันรุ่งขึ้นเมื่อกุมภโฆสกจะออก ไปทำงานนอกบ้าน นางได้ขอค่าอาหารไว้สำหรับทำอาหารให้ กุมภโฆสกปฏิเสธบอกว่า ไม่ต้องก็ได้ ฉันทำกินเองได้ ฉันทำกินของฉันมาตลอด แต่นางสนมก็ยังคงอ้อนวอนจนได้ แต่ไม่ได้ใช้ทรัพย์ของกุมภโฆสกไปซื้อหาอะไรเลย เพียงสักแต่ว่ารับไว้เท่านั้น นางได้ไปซื้อเครื่องแกง เครื่องครัว ข้าวสารอาหารอย่างดีมาปรุงอาหารให้อร่อยอย่างชาววัง อาหารนั้นรสเลิศสมควรแก่พระราชาเสวย เมื่อกุมภโฆสกกลับมาได้ลิ้มรสอาหารเช่นนั้น ก็ชื่นชมเบิกบาน นางรู้อาการนั้นแล้วจึงขอพักต่อไป คราวนี้กุมภโฆสกก็อนุญาตด้วยความพอใจ นางได้หุงต้มอย่างดีให้กุมภโฆสกและก็ขอพักอาศัยยืดเยื้อเรื้อรังเรื่อยมา นางวางอุบายเพื่อให้กุมภโฆสกตกหลุมรักกับบุตรีของตน จึงแอบตัดเชือกเตียงของกุมภโฆสก

อันนี้ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจ ว่าเตียงนั้นเป็นเตียงโครงไม้ถักด้วยเชือก ในอินเดียเขาจะใช้เตียงแบบนั้น โครงไม้แต่ถักด้วยเชือก จึงได้ไปแอบตัดเชือกเตียงนอนของกุมภโฆสกจนเขานอนไม่ได้ เมื่อกุมภโฆสกถามก็บอกว่าพวกเด็กเข้ามาเล่นจนเตียงขาด เมื่อกุมภโฆสกบอกว่าเขาไม่มีที่นอนแล้วจะทำอย่างไร นางก็ให้ไปนอนกับบุตรีของตน ทั้งสองก็ได้เสียกันในคืนนั้น กุมารีร้องไห้บอกว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้เป็นแม่ก็บอกว่าช่างเถอะ ๆ เจ้าทั้งสองก็เหมาะสมกันดีแล้ว กุมภโฆสกนี่ก็มีเมียเพราะเชือกเตียงขาดแท้ ๆ

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน นางสนมก็ส่งสารไปถึงพระราชา ว่าขอให้มีพระบรมราชโองการให้จัดงานมหรสพในย่านถนนพวกรับจ้างทำงาน คนใดไม่จัดทำมหรสพในเรือนนั้นจะต้องถูกปรับ พระราชาทรงมีพระบรมราชโองการอย่างนั้น นางจึงพูดกับกุมภโฆสกว่า พระราชาทรงจัดให้มีมหรสพทุกบ้านเรือน ใครไม่ทำจะถูกปรับ พวกเราจะต้องทำตามพระบรมราชโองการขัดขืนไม่ได้ กุมภโฆสกบอกแม่ยายว่า เขาทำงานรับจ้างก็เพียงได้รับอาหารรับประทานไปมื้อ ๆ เท่านั้น จะเอาเงินที่ไหนมาจัดงานมหรสพ

แม่ยายก็บอกว่า ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนต้องมีหนี้บ้าง เพราะฉะนั้น เมื่อเจ้าไม่มีก็ไปยืมใครมาก่อนใช้หนี้เขาทีหลังก็ได้ ไปเถอะไปยืมมาสัก ๑ กหาปณะหรือ ๒ กหาปณะก็พอ กุมภโฆสกติเตียนแม่ยายพึมพำแล้ว ออกจากบ้านไปนำกหาปณะที่ฝังไว้มา ๑ กหาปณะแล้วก็มอบให้แม่ยาย นางก็ได้แอบส่งกหาปณะไปถวายพระราชา พอล่วงไปอีก ๒-๓ วัน นางก็ขอให้พระราชารับสั่งให้มีมหรสพอีก กุมภโฆสกจึงต้องไปนำกหาปณะมา ๑ กหาปณะอีก นางได้ส่งกหาปณะนั้นไปถวายพระราชาเช่นเคย

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน ผู้หญิงคนนั้นได้ส่งข่าวไปขอให้พระราชาสั่งคนมารับกุมภโฆสกเข้าไปในพระราช นิเวศน์ พระราชาก็ได้สั่งราชบุรุษให้ไปรับ พระราชบุรุษก็มาที่ถนนเป็นที่อาศัยอยู่ของพวกคนรับจ้าง ถามหากุมภโฆสก เมื่อพบตัวแล้ว จึงได้บอกว่าพระราชารับสั่งให้เข้าเฝ้า

กุมภโฆสก ไม่ปรารถนาที่จะไป บอกว่าพระราชาไม่เคยรู้จักตัวเขาเรื่องอะไรจะต้องรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อไม่ยอมไปโดยดีพระราชบุรุษก็ฉุดไปโดยพลการ นางสนมเห็นอย่างนั้นจึงทำทีเป็นขุ่นเคืองแล้วก็ขู่ตะคอก บอกพระราชบุรุษพวกนี้ไม่มีมารยาท ไม่สมควรฉุดบุตรเขยของตน แล้วก็หันมาปลอบกุมภโฆสกว่า ไปเถิดลูก ไปเถิด เมื่อไปถึงพระราชวังแล้ว แม่จะกราบทูลพระราชาให้ตัดมือตัดเท้าของคนพวกนี้เสีย นางได้รีบพาบุตรีล่วงหน้าไปก่อน เมื่อไปถึงพระราชวังก็รีบเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสียใหม่ แต่งแบบชาววังยืนเฝ้าพระราชาอยู่

กุมภโฆสกถูกฉุดกระชากลากถูมาเฝ้า พระราชาจนได้ พระราชาก็ตรัสถามว่าเจ้าชื่อ กุมภโฆสกใช่หรือไม่ เขาทูลตอบว่าใช่ พระราชาตรัสว่าทำไมจึงปกปิดทรัพย์เป็นอันมากไว้ เขาทูลว่า เขาไม่มีทรัพย์ เป็นคนยากจนหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง พระราชาก็ตรัสว่าอย่าหลอกลวง เรารู้ว่าเจ้ามีทรัพย์ เสียงของเจ้าบอกว่า เจ้ามีทรัพย์

ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนยากจน ไม่มีทรัพย์เลย เขายังคงยืนยันกับพระราชา แล้วพระราชาก็ชูกหาปณะให้ดู ตรัสว่านี่เป็นกหาปณะของใคร

กุมภ โฆสกจำกหาปณะของตนได้ คิดว่ากหาปณะมาถึงพระหัตถ์ของพระราชาได้อย่างไร มองดูไปทางโน้นทางนี้จึงได้เห็นหญิงทั้งสองแต่งกายสวยงามอย่างชาววังยืนเฝ้า อยู่ริมพระทวารห้อง เขาจึงเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอด

พระ ราชาจึงได้ตรัสถามต่อไปว่า พูดไปเถอะกุมภโฆสก พูดไปเถอะ ทำไมเจ้าจึงทำอย่างนี้ ทำไมเจ้าจึงปกปิดทรัพย์สินอันมากไว้ กุมภโฆสกจึงเล่าความคิดของตนเองให้พระราชาทรงทราบโดยตลอด แล้วสรุปว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่พึ่งจึงปกปิดทรัพย์เอาไว้ พระราชาตรัสว่าคนอย่างพระองค์พอจะเป็นที่พึ่งได้หรือไม่

“ได้แน่นอน ได้แน่นอนพระเจ้าข้า”

ถ้า อย่างนั้นทรัพย์ของเจ้ามีเท่าไหร่ ก็ทูลบอกว่ามี ๔๐ โกฏิ พระเจ้าข้า ถ้า ๔๐ โกฏิ ก็ควรจะต้องเอาเกวียนไปบรรทุกมา พระราชารับสั่งให้เอาเกวียนไปขนทรัพย์ของเขามากองอยู่หน้าพระลานหลวง รับสั่งให้คนในเมืองราชคฤห์มาประชุมกัน แล้วก็ตรัสถามว่าในเมืองนี้มีใครมีทรัพย์เท่านี้บ้าง ราษฎรก็กราบทูลว่าไม่มี พระราชาตรัสถามว่าควรจะทำอย่างไรกับกุมภโฆสก ประชาชนกราบทูลว่าควรจะยกย่องให้เป็นเศรษฐี พระราชาจึงได้แต่งตั้งให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐี กุมภโฆสกได้เป็นเศรษฐี แล้วพระราชทานบุตรีของนางสนมนั้นให้เป็นภรรยา และก็เสด็จไปสำนักของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยกุมภโฆสก

พระราชาได้ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็กราบทูลว่า นี่คือกุมภโฆสกเศรษฐีคนใหม่ของข้าพระองค์ คนมีปัญญาอย่างนี้ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นเลย มีทรัพย์ถึง ๔๐ โกฏิ ก็มิได้มีอาการเย่อหยิ่ง มิได้อวดตน มิได้มีความทะนงตัว ทำตนประดุจคนเข็ญใจ นุ่งผ้าเก่า ๆ ทำงานรับจ้างอยู่ที่ถนนเป็นที่อาศัยอยู่ของคนรับจ้าง เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองหรือห่อเพชร เป็นคนที่รู้จักรักษาตัวรู้จักถนอมตัว ว่าในสถานการณ์แบบนี้ควรทำอย่างไร พระราชาได้ทรงเล่าเรื่องทั้งปวงถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็สรุปลงว่า ไม่เคยเห็นคนที่มีปัญญาแยบคายอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสนองพระดำริ คือทรงเห็นด้วยกับคำกราบทูลของพระเจ้าพิมพิสาร

แล้วก็ตรัสว่า มหาบพิตร ชีวิตของคนผู้เป็นอยู่อย่างกุมภโฆสกนี้ชื่อว่าประกอบด้วยธรรม มีความสุขความเจริญเป็นผล ส่วนโจรกรรม เป็นต้น เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนบีบคั้น มีความทุกข์เป็นผล ในคราวเสื่อมทรัพย์ การประกอบอาชีพเช่นทำนา การรับจ้าง ชื่อว่าเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยธรรม ความเป็นใหญ่ หรือยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร บริบูรณ์ด้วยสติมีการงานบริสุทธิ์ ใคร่ครวญด้วยปัญญาแล้วจึงทำ สำรวมระหว่างกายวาจาใจด้วยดี เลี้ยงชีวิตโดยธรรมไม่ประมาท นี่เป็นพระพุทธดำรัสที่ตรัสกับพระเจ้าพิมพิสารและกุมภโฆสก

No comments: