Friday, March 6, 2009

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๔ พระนางสามาวดี

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๔ พระนางสามาวดี


เรียบเรียงจากหนังสือ ทางแห่งความดี เล่ม ๑ โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฏก ดังนี้ว่า...

พระนางสามาวดี เดิมชื่อสามา เป็นลูกสาวเศรษฐีชื่อภัททวดีในภัททวดีนคร เป็นเพื่อนกับโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี ท่านเรียกว่าเป็น “อทิฏฐบุพพสหาย” แปลว่าเพื่อนที่ไม่เคยเห็นกัน กล่าวคือเศรษฐีทั้งสองต่างได้ยินเกียรติคุณของกันและกันจากพวกพ่อค้าที่เดิน ทางไปมาค้าขายระหว่างเมืองทั้งสอง แล้วต้องการคบกันไว้เป็นมิตร ต่างก็ส่งบรรณาการโดยฝากพ่อค้าไป

คราวหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคขึ้นใน เมืองภัททวดี ทำลายชีวิตคนมาก เขามีเคล็ดอย่างหนึ่งคือ ถ้าจะหนีอหิวาต์ ต้องพังฝาเรือนหนี ออกทางประตูไม่ได้

ภัททวดีเศรษฐี ภรรยาและลูกสาวก็หนีอหิวาต์ไปเมืองโกสัมพี ไปหาโฆสกเศรษฐี ในระหว่างทางเสบียงหมด ต้องอดทนเดินต่อไปจนถึงประตูเมืองโกสัมพี ทั้งสามต้องอิดโรยด้วยความหิวและลมแดดอย่างน่าสงสาร เมื่อมาถึงศาลาพักหน้าเมือง เศรษฐีกล่าวขึ้นว่า

“สภาพของเราในเวลา นี้ แม้บิดามารดาก็ไม่ต้องการเห็น เราควรบำรุงร่างกายให้ดีพอสมควรเสียก่อนแล้วจึงค่อยไปหาเศรษฐีสหายของเรา ฉันทราบมาว่าโฆสกะ สหายเราสละทรัพย์วันละพันให้ทานแก่คนเดินทางและคนกำพร้า คนยากจน เป็นต้น เราควรให้สามาไปขออาหารมาเลี้ยงดูกัน บำรุงร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า สักหน่อยหนึ่งแล้วค่อยไปหาสหาย”

วัน รุ่งขึ้นสามาถือภาชนะ เดินปะปนไปกับคนขอทาน คนกำพร้าอนาถา มีความละอายมาก แต่ก็ต้องตัดความละอายนั้นลง เธอเดินก้มหน้าตามคนทั้งหลายไป เมื่อถึงวาระของเธอ ผู้แจกทานชื่อ มิตตกุฎุมพี ถามขึ้นว่า

“เธอรับกี่ส่วน”

“๓ ส่วนค่ะ”เธอตอบ

มิ ตตกุฎุมพีก็มอบให้ ๓ ส่วน เธอได้นำอาหารมาให้พ่อแม่ฝ่ายแม่ก็อ้อนวอนให้พ่อกินก่อน แต่เศรษฐีกินมากเกินไป คืนนั้นอาหารไม่ย่อย รุ่งเช้าก็ตาย

วันนั้น สามาไปขออาหารมา ๒ ส่วน คนแจกทานก็ให้ เธอให้แม่กินก่อน แม่ของเธอกินแล้วอาหารไม่ย่อยอีก จึงตายลงวันนั้น

วันรุ่งขึ้น สามาร้องไห้คร่ำครวญไป ขออาหารจากมิตตกุฎุมพี

“ต้องการเท่าไหร่”

“หนึ่งส่วนเจ้าค่ะ”เธอตอบ

มิ ตตกุฎุมพีจำได้ จึงด่าว่า “จงฉิบหายเสียเถิดหญิงถ่อยเจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของเจ้าวันนี้เองหรือ วันก่อนขอ ๓ ส่วน เมื่อวาน ๒ ส่วน วันนี้ขอส่วนเดียว”

นางสามาผู้มีกำเนิดและเติบโต มาในตระกูลดีมั่งคั่งได้ฟังดังนั้น ก็เจ็บแสบเหมือนมีอาวุธมาเสียบอก ถามย้ำออกไปว่า “ท่านว่าอะไรนะนาย”

มิตตกุฎุมพีก็ย้ำเหมือนกันว่า

“วันก่อนเจ้ารับเอาไป ๓ ส่วน เมื่อวานรับ ๒ ส่วน วันนี้รับส่วนเดียว ฉันถามเจ้าว่าเจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของตัววันนี้เองหรือ”

“นาย ท่านโปรดอย่าเข้าใจว่าฉันรับไปเพื่อตัวคนเดียว ฉันรับไป ๓ ส่วนวันก่อน เพราะเรามีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ พ่อ แม่ และฉัน วันก่อนนี้ พ่อฉันทานอาหารแล้วตาย เมื่อวานนี้แม่ทานอาหารแล้วตาย วันนี้จึงเหลือฉันเพียงคนเดียว ฉันจึงขอเพียงส่วนเดียว”

“พ่อแม่ของเจ้าเป็นใคร มาจากไหน เมื่อพ่อแม่ตายหมดแล้วเจ้าจะอยู่กับใคร” มิตตกุฎุมพีถามอย่างสงสารและเห็นใจ

สามาเล่าเรื่องให้ฟัง มิตตุกุฎุมพีฟังแล้วเศร้าใจ เอามือลูบศีรษะสามา จุมพิตที่ศีรษะด้วยเมตตาอย่างลูกแล้วกล่าวว่า

“อย่าคิดอะไรมากเลยสามา เจ้าเป็นลูกสาวของภัททวดีเศรษฐีก็เหมือนเป็นลูกสาวเรา ตั้งแต่วันนี้ไปจงเป็นลูกสาวเรา”

แล้วพาไปเรือน เลี้ยงอย่างลูกสาว และให้เป็นลูกหญิงคนโต สามาก็มีความสุขขึ้น

ตาม ปรกติโรงทานจะมีเสียงอื้ออึง เพราะคนแย่งกัน วันหนึ่งสามาจึงบอกกับพ่อว่า ให้ล้อมโรงทานเข้า มีประตู ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเข้าด้านหนึ่งออก ให้เข้าและออกเป็นแถวเรียงหนึ่ง เมื่อทำดังนี้แล้วเสียงอื้ออึงก็หมดไป

ฝ่าย โฆสกะเศรษฐีเจ้าของโรงทาน เคยได้ยินเสียงเซ็งแซ่ก็ยินดีว่าเป็นเสียงในโรงทานของตน เมื่อไม่ได้ยิน ๒-๓ วันก็ประหลาดใจ เมื่อพบมิตตกุฎุมพีก็ถามรู้เรื่องทั้งปวงแล้วจึงรับสามาไว้ในฐานะลูกสาวของ ตน มอบหญิงจำนวนร้อยให้เป็นบริวาร

ชื่อของสามา ได้มีคำต่อท้ายว่า “วดี” เป็นสามาวดี เพราะเธอให้ล้อมรั้วที่โรงทาน (วดี แปลว่ารั้ว)

วัน หนึ่ง เธอไปอาบน้ำที่ท่าน้ำกับบริวาร ในงานนักขัตฤกษ์ บังเอิญต้องเดินผ่านทางพระลานหลวง พระเจ้าอุเทนประทับที่หน้าต่างเห็นสามาวดีแล้วก็ชอบ ถามราชบุรุษว่าเป็นใคร เมื่อทราบว่าเป็นธิดาของโฆสกเศรษฐีจึงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า “ขอให้เศรษฐีมอบธิดา ชื่อสามาวดีให้ฉัน”

แต่เศรษฐีไม่ยอมให้ เพราะกลัวลูกสาวไปลำบากในวังหากพลาดพลั้งอาจลงโทษถึงประหารหรือโบยตี

พระ ราชาอุเทนส่งพระราชสาส์นไปถึง ๒ ครั้ง แต่เศรษฐีก็ปฏิเสธ พระราชาทรงกริ้ว รับสั่งให้จับเศรษฐีและภรรยาออกนอกเรือน ให้ตีตราปิดบ้านใครเข้าไม่ได้

สามาวดีกลับจากอาบน้ำเข้าบ้านไม่ได้

“อะไรกันคะพ่อ”

“พระราชาต้องการเจ้า แต่พ่อไม่ให้ จึงรับสั่งให้ปิดบ้าน”

สามาอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง เห็นว่าการฝืนพระราชโองการมีแต่โทษจึงบอกพ่อว่า

“เมื่อพระราชาทรงพระประสงค์ ต้องถวาย พ่อ”

“หากเจ้าไม่ขัดข้อง พ่อก็ไม่ขัดข้องเหมือนกัน”

เป็นอันว่าพระเจ้าอุเทนได้สามาวดีเป็นพระมเหสีตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี แต่นั้นมาก็เป็นพระนางสามาวดี

พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสีหลายพระองค์ เช่น พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งอุชเชนีนคร

พระ นางมาคันทิยา สาวงามแห่งมาคันทิยคาม เป็นต้น พระนางแรกไม่มีบทบาทอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระนางสามาวดี ส่วนพระนางมาคันทิยามีส่วนเกี่ยวข้องมาก จึงต้องขอเล่าเรื่องของพระนางไว้ ณ ที่นี้ด้วย

พระนางมาคันทิยาเป็นลูกสาวพราหมณ์ชื่อ มาคันทิยา ในแคว้นกุรุ (นิวเคลฮีปัจจุบัน) เป็นสาวสวยมาก มีคนมาขอกันมากล้วนแต่ตระกูลใหญ่ๆทั้งนั้น แต่พ่อไม่ให้บอกว่าคนเหล่านั้นไม่เหมาะสมกับลูกสาวของตน

วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยของพราหมณ์มาคันทิยะและภรรยา ว่าหากพระองค์เสด็จไปโปรดก็จะสามารถสำเร็จอนาคามิผลได้ จึงเสด็จไปสู่ที่บูชาไฟของพราหมณ์

พราหมณ์ได้เห็นพระตถาคต ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะทุกประการแล้วคิดว่า “คนอื่นจะเลิศกว่านี้ไม่มี บุรุษนี้สมควรแก่ธิดาของเรา เราจะให้เขาครองเรือนอยู่ด้วยกัน”

เขากล่าวกับพระศาสดาว่า

“สมณะ ข้าพเจ้ามีบุตรีอยู่คนหนึ่ง สวยมาก ข้าพเจ้ามองไม่เห็นใครเหมาะสมเท่าท่าน ข้าพเจ้าขอยกเธอให้แก่ท่าน ขอท่านจงยืนคอยอยู่ตรงนี้สักประเดี๋ยวหนึ่ง”

พระศาสดามิได้ตรัสอะไร

พราหมณ์เข้าไปในบ้าน บอกภรรยาแต่งตัวลูกสาวให้ดี แล้วนำออกไป เพราะได้พบบุรุษที่สมควรแก่นางแล้ว

ข่าวเรื่องนี้แพร่ไปอย่างรวดเร็ว มีคนมาดูกันมาก เพราะสงสัยว่าชายผู้นั้นจะมีลักษณะประการใด

พระ ศาสดาได้เหยียบรอย พระบาทไว้แล้วเสด็จเลี่ยงไปประทับที่อื่น ท่านกล่าวว่ารอยพระบาทที่พระศาสดาทรงอธิษฐานแล้วเหยียบไว้นั้น ทรงประสงค์ให้บุคคลใดเห็นบุคคลนั้นเท่านั้น จึงจะเห็นรอยพระบาทนั้นจะไม่ลบ เพราะช้างเหยียบ ฝนตกหนัก หรือลมพัดแรง

พราหมณ์และภรรยา ลูกสาว เที่ยวตามหาพระศาสดาแต่ไม่เห็นนางพราหมณ์ได้เห็นรอยพระบาทก่อน นางตรวจดูลักษณะพระบาทแล้วกล่าวว่า “นี้ มิใช่รอยเท้าของผู้ข้องในกามารมณ์”

“คนเจ้าราคะ รอยเท้าเว้ากลาง คนเจ้าโทสะรอยเท้าหนักส้น คนเจ้าโมหะ หนักทางปลายนิ้วเท้า รอยเท้าเช่นนี้เป็นรอยเท้าของคนไม่มีกิเลส”

พราหมณ์บอกว่า นางอวดดีอวดรู้ไม่เข้าเรื่อง ให้นิ่งเสีย แล้วก็เที่ยวเดินหาพระศาสดาจนพบ

พระ ศาสดาตรัสเล่าชีวประวัติของพระองค์ให้พราหมณ์ฟังตั้งแต่ต้นว่า ทรงมีความสุขมาอย่างไร จนเสด็จออกผนวช ถูกนางตัณหา ราคา อรดี ยั่วยวน แต่หาทรงพึงพระทัยในนางเหล่านั้นไม่ แล้วตรัสย้ำว่า

“พราหมณ์ เอย เรามิได้พอใจในเมถุน (การเสพกาม) เพราะได้เห็นนางตัณหา ราคา อรดี ผู้สวยเลิศ ก็ไฉนเล่าเราจักพอใจในธิดาของท่านเต็มไปด้วยมูตรและกรีส(อุจจาระ ปัสสาวะ) เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า”

พระศาสดาทรงแสดงธรรมอีกหลายเรื่อง จนพราหมณ์และพราหมณีได้บรรลุอนาคามิผล ฝ่ายนางมาคันทิยาผูกอาฆาตในพระศาสดาว่า

“สมณะ นี้ปากร้ายนัก เมื่อไม่ต้องการเราก็ควรจะบอกเพียงว่าไม่ต้องการ หรือตอบเลี่ยงอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมารยามอันดีของสุภาพบุรุษ แต่นี่กลับดูหมิ่นเราว่าเต็มไปด้วยอุจจาระ ปัสสาวะเอาเถอะ เมื่อใด เราได้ภัสดาอันพรั่งพร้อมด้วยชาติตระกูล ประเทศ โภคะ ยศ และวัยแล้ว เราจักแก้แค้นพระสมณโคดมนี้ให้ได้”

มีปัญหาถามกันอยู่เสมอว่า พระศาสดาตรัสคำเช่นนี้ทำไม พระองค์ไม่ทรงทราบหรือว่า เมื่อตรัสออกไปแล้วนางมาคันทิยาจักผูกอาฆาตในพระองค์ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า พระศาสดาทรงทราบดี แต่ทรงมุ่งมรรคผลแก่พราหมณ์และพราหมณี ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงคำนึงว่าตรัสออกไปแล้ว ใครจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ทรงมุ่งประโยชน์เป็นที่ตั้ง ใครจะอาฆาตก็เป็นเรื่องของใครคนนั้น พระวาจาที่พระองค์ตรัสนั้นต้องจริงและเป็นประโยชน์

ฝ่ายพราหมณ์และพราหมณีสำเร็จพระอนาคามิผลแล้วพามาคันทิยาไปฝากกับจูฬมาคันทิยา ผู้เป็นอา แล้วออกบวชไม่นานนักก็ได้สำเร็จอรหัตตผล

ฝ่าย จูฬมาคันทิยา คิดว่าหลานของตนไม่สมควรแก่คนต่ำ จึงนำไปสู่โกสัมพี ถวายแก่พระเจ้าอุเทน ทรงรับไว้และแต่งตั้งในตำแหน่งอัครมเหสีมีบริวาร ๕๐๐

ขณะ ที่พระนางมาคันทิยา ทรงเป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าอุเทนอยู่นั้น พระพุทธเจ้าก็เสด็จมากรุงโกสัมพี พระนางก็จ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ทูลเสด็จให้ไปเมืองอื่น แต่พระศาสดามิได้ทรงหวั่นไหว ตรัสกับพระอานนท์ว่า ถ้าไปไหนมีคนด่าแล้วหนีก็ต้องหนีกันเรื่อยไป ทรงยืนยันว่า

“เราจักอดทนต่อถ้อยคำล่วงเกินของผู้อื่น ดังช้างศึกในสงครามอดทนต่อลูกศร ซึ่งมาจากทิศทั้ง๔ เพราะคนส่วนมากเป็นคนชั่ว บุคคลย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม สัตว์ที่ฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น คนที่ฝึกให้อดทนต่อคำล่วงเกินของคนอื่นได้ จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด”

พระศาสดาตรัสว่า เรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้จะสงบลงภายในวันที่ ๗ ฉะนั้นอย่าได้วิตก

ฝ่าย พระนางมาคันทิยาทราบว่า การจ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้านั้น ไม่สามารถให้องค์เสด็จออกจากเมืองโกสัมพีได้จึงคิดว่า พระนางสามาวดีเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าหากกำจัดพระนางสามาวดี พระพุทธเจ้าขาดผู้อุปถัมภ์บำรุงก็จะเสด็จออกจากโกสัมพีไปเอง

พระ นางหาเรื่องใส่ความพระนางสามาวดีว่าคิดนอกพระทัยพระเจ้าอุเทน เอาพระทัยไปฝักใฝ่กับพระพุทธเจ้าจึงให้อามาคันทิยะเอาไก่เป็น ๘ ตัวและไก่ตาย ๘ ตัว มาถวายพระราชา ขณะที่พระราชาประทับ ณ ห้องเสวยน้ำจัณฑ์

“มีผู้นำไก่มาถวาย พระเจ้าข้า” มหาดเล็กทูล

“ใคร” พระราชาตรัสถาม

“ปุโรหิตมาคันทิยา พระเจ้าข้า”

“เท่าไหร่”

“ ๘ ตัว พระเจ้าข้า”

“เออดี แกงแกล้มเหล้า ให้ใครแกงดี”

“พระนางสามาวดี เพคะ” พระนางมาคันทิยาทูล พระนางสามาวดีและบริวารว่างงาน เที่ยวเตร่อยู่ทุกวัน”

พระราชารับสั่งให้มหาดเล็กนำไก่ ไปให้พระนางสามาวดีแกง พระนางมาคันทิยาให้รางวัลมหาดเล็ก กระซิบให้นำไก่เป็น ๘ ตัวไป

พระนางสามาวดีทูลกลับมาว่า พระนางแกงถวายไม่ได้ เพราะไม่ทรงทำปาณาติบาต

พระ นางมาคันทิยา ทูลพระเจ้าอุเทนว่า “ขอพระองค์ทรงลองใหม่ คือรับสั่งว่าให้แกงไปถวายพระสมณโคดม คราวนี้พระองค์จักทรงทราบว่า หญิงเหล่านั้น ทำปาณาติบาตหรือไม่ทำ”

พระราชารับสั่งอย่างนั้น

พระ นางมาคันทิยากระซิบให้นำไก่ตาย ๘ ตัวไป พระนางสามาวดีทอดพระเนตรเห็นไก่ตายแล้ว และพระราชามีรับสั่งให้แกงถวายพระพุทธเจ้า ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า “นี้เป็นหน้าที่ของเรา” มหาดเล็กนำข้อความนั้นมาทูลแด่พระราชา

พระ นางมาคันทิยาได้โอกาสจึงทูลว่า “ทรงเห็นไหม หญิงเหล่านั้นเป็นอย่างไร เมื่อรับสั่งให้แกงไก่ถวายพระองค์ไม่ทรงกระทำ ไม่ทรงกระทำ แต่พอรับสั่งว่าให้แกงถวายพระสมณโคดมก็รีบทำทีเดียว” พระเจ้าอุเทน ทรงเฉยเสีย

ตามปกติ พระราชาจะประทับที่ประสาทของพระนางทั้ง ๓ คือพระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และพระนางมาคันทิยาแห่งละ๗ วัน พระนางมาคันทิยา ทราบว่าอีก ๒ วัน พระราชาจักเสด็จไปประสาทของพระนางสามาวดี จึงส่งข่าวให้อาว่าให้นำงูตัวหนึ่งมาให้ และให้ถอนเขี้ยวออกให้หมดเสียก่อน พระนางได้งูมาแล้วเอาใส่ไว้ช่องรางพิณ แล้วเอาดอกไม้อุดเสีย งูนอนในรางพิณนั้น ๒-๓ วัน

ในวันที่พระราชาเสด็จสู่ปราสาทของพระ นางสามาวดี พระนางมาคันทิยาทูลว่า “มหาราช หม่อมฉันสุบินร้าย พระองค์ไม่ควรเสด็จไปที่นั่น”แต่พระราชาไม่ทรงเชื่อ พระนางทูลถึง ๓ ครั้ง พระราชาทรงยืนยัน พระนางก็ขอตามเสด็จด้วย พระเจ้าอุเทนรับสั่งให้กลับก็ไม่ยอมกลับ อ้างว่าไม่ทราบจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้น ตามเสด็จมาก็เพราะทรงเป็นห่วง

พระ ราชาเสด็จไปไหนก็ทรงนำพิณคู่พระทัยไปด้วย ทรงวางไว้เบื้องบนพระเศียรแล้วบรรทม พระนางมาคันทิยาเสด็จกลับไปกลับมาอยู่ในห้องบรรทม เมื่อได้โอกาสก็นำดอกไม้ในรางพิณออก งูซึ่งอดอาหารมา ๒-๓ วัน ก็เลื้อยออกมาแผ่พังพานอยู่บนแท่นบรรทม พระนางมาคันทิยาจึงร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า “งู พระเจ้าข้า”

แล้ว พระนางก็ด่าพระราชาและพระนางสามาวดีเสียมากมายเป็นต้นว่า”พระราชาองค์นี้โง่ นัก ไม่มีวาสนา ไม่ฟังคำพูดของเรา อีกหญิงเหล่านี้ก็เป็นคนไม่มีสิริ หัวดื้อพวกมันไม่ได้รับเลี้ยงดูหรืออย่างไร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว พวกมันจะอยู่กันสบายหรืออย่างไร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระชนม์อยู่ มันอยู่กันลำบากนักหรือ วันนี้เราเองก็ฝันร้าย พยายามอ้อนวอนว่าอย่าเสด็จประสาทของอีหญิงถ่อยคนนี้ แต่พระราชาโง่เขลาก็หาฟังไม่”

พระราชาทรงพิโรธมาก เพราะหลายครั้งหลายคราวมาแล้ว แต่ไม่ประจักษ์ชัดเหมือนคราวนี้ ทรงโก่งธนูจะยิงพระนางสามาวดีและหญิงบริวาร

พระนางสามาวดีบอกกับบริวารของตนว่า “ที่พึ่งอย่างอื่นไม่มีอีกแล้ว ขอพวกเราจงแผ่เมตตาไปยังพระราชา พระเทวี และในตนให้มีจิตสม่ำเสมอ อย่าได้โกรธใครเลย”

ธนู ของพระเจ้าอุเทนนั้นร้ายแรงนัก ว่าสามารถทำลายแม้หินแท่งทึบได้ ทรงปล่อยลูกศรอาบยาพิษออกไปยังพระนางสามาวดี แต่ด้วยอำนาจแห่งเมตตา ลูกศรได้กลับมายังพระองค์ มีอาการเหมือนจะเจาะหทัยของพระองค์ แล้วตกลง

พระ ราชาคิดว่าลูกศรไม่มีจิตยังรู้คุณของพระนางสามาวดี เราเป็นผู้มีจิตไฉนจึงไม่รู้คุณของพระนาง จึงทิ้งคันธนู นั่งลงไหว้พระนางสามาวดี ขอให้เป็นที่พึ่ง

แต่พระนางทูลว่า ขออย่าได้ทรงถือพระนางเป็นที่พึ่งเลย พระนางถือผู้ใดเป็นที่พึ่ง ขอพระองค์จงถือผู้นั้นเป็นที่พึ่งด้วย ผู้นั้นคือพระพุทธเจ้า

พระ ราชาเลื่อมใส ทรงนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์มาเสวยที่วังและขอให้พระนางสามาวดีรับพร พระนางจึงขอพรว่า ขอให้นิมนต์พระศาสดามาเสวยในวังเสมอๆพระราชาจึงทูลอาราธนาพระศาสดา แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าไม่ควรเสวยที่เดียวเป็นประจำ เพราะประชาชนย่อมต้องการให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังบ้านเรือนของเขาบ้าง ทรงมอบหมายหน้าที่ให้พระอานนท์มาแทน พระอานนท์ก็พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ไปสู่ราชสกุลเป็นเนืองนิตย์ พระนางสามาวดีและบริวารจึงได้ถวายทานและฟังธรรมเสมอ

ส่วนพระนางมา คันทิยา มีความคั่งแค้นเพิ่มพูน พระนางขอร้องให้อามาคันทิยะไปเผาปราสาทของพระนางสามาวดี ขณะนั้นพระเจ้าอุเทน เสด็จทรงกีฬา

พระนางสามาวดี เห็นนายมาคันทิยะเอาผ้าชุบน้ำมันแล้วพันเสาปราสาท จึงเสด็จมาถามว่าทำอะไรกัน เขาตอบว่าพระราชารับสั่งให้ทำ เพื่อให้ปราสาทมั่นคง ขอพระนางเสด็จเข้าประทับในห้องเสียเถิด

เมื่อ พระนางสามาวดีและบริวารเสด็จเข้าห้องแล้ว เขาก็ลั่นประตูภายนอกหมด แล้วจุไฟเผาปราสาท พระนางสามาวดีทรงทราบว่าจะถูกเผาทั้งเป็น จึงบอกบริวารว่า

“เมื่อพวกเราท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันยาว นานนี้ เคยถูกไฟเผามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แม้พุทธญาณก็กำหนดได้ยาก ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด”

หญิงเหล่านั้น ขณะที่ตำหนักถูกไฟไหม้อยู่ ก็กำหนดเวทนากรรมฐาน บางพวกได้บรรลุโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี

ครั้ง นั้นภิกษุเป็นอันมาก กลับจากบิณฑบาต ฉันอาหารแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในบุรีของพระเจ้าอุเทนถูกไฟไหม้ หญิง ๕๐๐ มี พระนางสามาวดีเป็นประมุขได้ตายแล้ว สัมปรายภพของอุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไร”

พระศาสดาตรัสว่า “อุบาสิกาเหล่านั้นเป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี อุบาสิกาเหล่านั้นตายอย่างไม่ไร้ผล”

พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า

“โลก มีความหลงเป็นเครื่องผูกพัน จึงปรากฏให้เห็นเสมือนมีรูปควรแก่ความยึดมั่นถือมั่น คนพาลมีอุปธิคือกิเลสเป็นเครื่องผูกไว้ ถูกความมืดแวดล้อม จึงมองเห็นสิ่งต่างๆว่าเที่ยง แต่ความกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นแจ้ง”

พระศาสดาทรงแสดงธรรมต่อไปว่า “สัตว์ ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารที่ไม่ประมาท ทำบุญกรรมอยู่เป็นนิตย์ก็มี ที่ประมาททำบาปกรรมอยู่เนือง ๆ ก็มี เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง”

พระราชาทรง ทราบข่าวเรื่องพระตำหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้รีบเสด็จมา แต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว ทรงเสียพระทัยทรงระลึกถึงความดีของพระนาง ทรงพิจารณาเหตุผล แล้วแน่พระทัยว่าการครั้งนี้ต้องเป็นการกระทำของพระนางมาคันทิยา แต่หากจะถามตรง ๆ พระนางคงไม่รับ จำต้องออกอุบายถาม จึงตรัสกับอำมาตย์ที่แวดล้อมอยู่ว่า

“เมื่อก่อนนี้เรานั่งนอนหา เป็นสุขไม่ คอยระแวงแต่พระนางสามาวดี เพราะเธอคอยหาช่องทำลายเรา บัดนี้พระนางสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นความสุขของเราจริงหนอ ผู้ทำกรรมนี้คงจักมีความรักในเราอย่างหนักแน่น ใครหนอทำกรรมนี้”

ขณะนั้นพระนางมาคันทิยาเฝ้าอยู่ เห็นเป็นโอกาสจึงทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ คนอื่นใครเล่าจักจงรักภักดีเท่าหม่อมฉัน กรรมอันนี้ หม่อมฉันทำแล้ว โดยสั่งให้อาทำ”

พระ ราชาทำทีพอพระทัย รับสั่งว่าจะให้พรแก่พระนางและหมู่ญาติ ขอให้พาญาติมาเข้าเฝ้า เมื่อญาติมากัน พระราชาก็ให้การต้อนรับพระราชทานของเป็นอันมาก คราวนั้นคนที่ไม่ใช่ญาติ ก็ให้สินจ้างแก่ญาติ ให้รับตนเข้าเป็นญาติด้วย พากันมามากมาย

พระ ราชให้จับคนเหล่านั้นมัดไว้ ให้ขุดหลุมลึกประมาณสะดือ ที่ลานหลวง ให้ญาติทั้งหลายยืนในหลุม เอาดินร่วนกลบ เกลี่ยฟางไว้ปากหลุมแล้วจุดไฟเผา พอไฟไหม้หนังแล้วให้เอารถเหล็กไถเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย

ส่วนพระนาง มาคันทิยา รับสั่งให้เอาลงหลุมฝังเหมือนญาติ แต่ให้เชือดเฉือนเนื้อทอดในกะทะแล้วบังคับให้เสวย สิ้นพระชนม์ด้วยอาการน่าสังเวชยิ่ง

วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากัน ว่า พระนางสามาวดีและบริวารสิ้นพระชนม์ด้วยลักษณาการไม่สมควร เพราะพระนางเป็นผู้ศรัทธา มีศีลเห็นปานนั้น ไม่ควรสิ้นพระชมน์อย่างนั้นเลย

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า พระนางสามาวดีสิ้นพระชนม์ไม่สมควรแก่กรรมในบัดนี้ แต่สมควรแก่กรรมในอดีต ตรัสเล่าว่า

ใน อดีตกาล หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข บำรุงพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ๘ องค์ อยู่ในวังพระเจ้าพรหมทัต เมืองพาราณสี วันหนึ่งเมื่อฉันเสร็จแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์ ไปป่าหิมพานต์ อีกองค์หนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ในกอหญ้าริมแม่น้ำ

พระราชาพาหญิงเหล่า นั้นไปเล่นน้ำในแม่น้ำ หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำอยู่แทบทั้งวัน เมื่อขึ้นจากน้ำก็รู้สึกหนาว ต้องการก่อไฟผิง มองไปเห็นกอหญ้าจึงจุดไฟล้อมกอหญ้าผิงอยู่ พอหญ้ายุบแลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงร้องขึ้นว่า

“พวกเราแย่แล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าถูกไฟคลอก พระราชาทรงทราบจักลงโทษพวกเราอย่างหนัก พวกเราจะเผาท่านให้ไหม้ให้หมด”

ดังนี้แล้ว ช่วยกันหาฟืนมาสุมเผา เมื่อคิดว่าท่านถูกไหม้หมด จึงชวนกันหลีกไป

พอ วันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ลุกไปอย่างสบาย เพราะธรรมดามีอยู่ว่า ขณะที่ท่านอยู่ในสมาบัตินั้น จะเอาฟืนสัก ๖๐๐๐ เล่ม เกวียนมาเผา ก็ไม่สามารถให้สรีระของท่านอุ่นได้

หญิงเหล่านั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ถูกไฟคลอกตาย มานับร้อยชาติแล้ว เพราะเศษกรรมที่เหลือ

ต่อ มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องพระนางสามาวดี และพระนางมาคันทิยาว่า หญิงสองพวกนี้ใครชื่อว่าเป็นอยู่ ใครชื่อว่าตายแล้ว

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า “ผู้ประมาทชื่อว่าผู้ตาย ส่วนผู้ไม่ประมาทแม้ตายแล้วก็ชื่อว่าไม่ตาย ส่วนพระนางสามาวดีเป็นผู้ไม่ตาย”

No comments: