Friday, March 6, 2009

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๙ พระมหากัปปินเถระ

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๙ พระมหากัปปินเถระ

เรียบเรียงจาก หนังสือทางแห่งความดี เล่ม ๒
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ




ใน อดีต พระมหากัปปินะ เกิดเป็นหัวหน้าช่างหูกในหมู่บ้านใกล้กรุงพาราณสี ครั้งนั้นมีพระปัจเจกพระพุทธเจ้าประมาณพันรูปพักอยู่ไม่ไกลกรุงพาราณสี เมื่อถึงฤดูฝนต้องการทำที่อยู่อาศัย จึงส่งตัวแทน ๘ รูปไปเฝ้าพระราชา เพื่อทูลขอ บังเอิญเวลานั้นเป็นเวลามีงานมงคลแรกนาขวัญ พระราชามีภาระยุ่ง เมื่อทรงทราบเหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามาเฝ้าแล้ว จึงตรัสว่าวันนี้ไม่มีเวลา เพราะกำลังเตรียมงานที่จะมีในพรุ่งนี้ จะทำเสนาสนะถวายในวันที่ ๓ พระปัจเจกพุทธเจ้าคิดว่า จะไปขอความอนุเคราะห์จากที่อื่น จึงหลีกไป

ขณะเดินทางกลับได้พบภรรยาของหัวหน้าช่างหูก นางทราบความแล้วมีจิตเลื่อมใส นิมนต์ให้รับอาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น

“พวกเรามีมากด้วยกัน-น้องหญิง” พระปัจเจกพุทธเจ้าบอก นางถามว่ามีเท่าไหร่

“มีประมาณพันรูป”

“ท่าน ผู้เจริญ พวกข้าพเจ้ามีประมาณพันคนเหมือนกัน คนหนึ่งจักถวายภิกษาแก่พระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ขอท่านจงรับอาหารที่บ้านของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าผู้เดียวจะทำที่อยู่ถวายท่านทั้งหลาย”

พระปัจเจกพุทธเจ้ารับอาราธนา

นางเที่ยวป่าวประกาศให้เพื่อนบ้านทราบว่าได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าพันรูป ขอให้ทุกคนจัดแจงที่นั่งและจัดอาหาร

นาง ได้สร้างปะรำใหญ่กลางบ้าน ปูอาสนะไว้เรียบร้อยเลี้ยงพระเสร็จแล้ว ขอให้พระพักจำพรรษาอยู่ที่นั่น เมื่อท่านรับแล้วนางก็ป่าวประกาศ ขอแรงเพื่อนบ้านให้ช่วยกันสร้างเสนาสนะถวาย

ในวันออกพรรษา นางได้ชวนคนทั้งหลายถวายจีวรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วลาจากไป

นางและบริวารทำบุญอย่างนี้ไปเกิดในภพดาวดึงส์

มา ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป เทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้นเกิดในกรุงพาราณสีอีก หัวหน้าช่างหูกเป็นบุตรของกุฎุมพีใหญ่ ภรรยาของเขาได้มาเกิดเป็นธิดาของกุฎมพีใหญ่เหมือนกัน เมื่อเจริญวัยแล้วได้แต่งงานกัน ส่วนบริวารก็มาเกิดในสกุลกุฎุมพีบริวาร และได้แต่งงานกันเหมือนกัน

วันหนึ่งมีการป่าวร้องให้คนไปฟังธรรมใน วัด พวกกุฎุมพีเหล่านั้นก็ชวนกันไป เมื่อไปถึงกลางวัด ฝนตกลงมา คนพวกอื่นที่มีภิกษุหรือสามเณรที่คุ้นเคยก็เข้าไปอาศัยกุฎิของภิกษุหรือ สามเณรนั้น แต่พวกกุฎุมพีพันคนไม่มีญาติหรือสามเณรที่สนิทสนมเลย จึงยืนตากฝนอยู่กลางวัด

หัวหน้ากุฎุมพีรู้สึกละอายในสภาพเช่นนั้น ของตน จึงกล่าวกับกุฎุมพีทั้งหลายว่า ควรจะรวบรวมทรัพย์สร้างเสนาสนะกันเถิด จึงเรี่ยไรทรัพย์กัน หัวหน้าออกพันหนึ่ง บริวารออกคนละ ๕๐๐ พวกผู้หญิงออก ๒๕๐ ทำที่ประทับของศาสดา มีเรือนยอดพันหลังเป็นบริวาร เมื่อทรัพย์ไม่เพียงพอ ได้ออกอีกคนละครึ่งของจำเดิมที่ออกไว้ เมื่อเสนาสนะเสร็จแล้วได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขตลอด ๗ วันจัดจีวรถวายสงฆ์ ๒๐,๐๐๐รูป

ภรรยาของหัวหน้ากุฏุมพี ได้ถวายผอบดอกอังกาบและผ้ามีสีดอกอังกาบราคาพันหนึ่ง แล้วกราบทูลพระศาสดาว่า

“ด้วยอานุภาพแห่งทานนี้ ขอหม่อมฉันจงมีสรีระดุจดอกอังกาบในชาติต่อไป และขอให้มีชื่อว่าอโนชา”

พระศาสดาทรงอนุโมทนา


ชน เหล่านั้นทั้งหมดตายแล้วเกิดในเทวโลก มาในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมของเรานี้ คนเหล่านั้นลงมาเกิดในมนุษยโลก หัวหน้ากุฏุมพีเกิดในราชตระกูลในกุกกุฏวดีนคร ต่อมาได้เป็นพระราชาพระนามว่ามหากัปปินะ คนอื่นๆเกิดในสกุลอำมาตย์ ได้เป็นราชบริวาร ส่วนภรรยาของหัวหน้ากุฎุมพีเกิดในราชตระกูลในนครสาคละแคว้นมัททะ พระนางมีผิวดังดอกอังกาบ มีพระนามว่า ‘อโนชา’ เมื่อทรงเจริญวัยแล้วได้อภิเษกสมรสกับพระมหากัปปินะ

ด้วยนิสัยอันสั่งสมไว้กับพระรัตนตรัย พระราชามหากัปปินะ ให้คนเที่ยวถามข่าวพระรัตนตรัยแต่ไม่ได้ข่าวเลย

วัน หนึ่งพระราชาทรงม้า ชื่อ สุปัตต์ เสด็จไปยังอุทยาน มีอำมาตย์พันหนึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร เห็นพ่อค้าม้าประมาณ ๕๐๐ มีอาการอ่อนเพลีย ดำริว่าคนพวกนี้เดินทางมาไกล คงจะมีข่าวดีอะไรบ้าง จึงไต่ถาม พ่อค้าบอกข่าวการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า

พระราชา ปีติมาก พระราชทานทรัพย์ให้พ่อค้าม้าเหล่านั้น ๓ แสน พระราชาบอกอำมาตย์ว่าจะไม่กลับเข้าวังอีก จะออกบวช อำมาตย์ก็จะเสด็จด้วย พระราชาจึงส่งสาส์นถึงพระนางอโนชาเทวีว่าให้เสวยราชสมบัติแทนพระองค์ พวกอำมาตย์ก็เขียนถึงภรรยาตนเช่นนั้นเหมือนกัน

แล้วพระราชาก็มุ่งสู่สาวัตถี

เช้า วันนั้น พระศาสดาตรวจดูอุปนิสัยของสัตว์โลก ทรงเห็นเรื่องราวของพระราชามหากัปปินะ และพระอุปนิสัยแห่งอรหัตผลแล้ว จึงเสด็จมาแต่เช้า มาต้อนรับพระราชาประทับนั่งเปล่งรัศมีอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

พระราชามาถึงฝั่งแม่น้ำอารวปัจฉา ไม่มีเรือหรือแพจะข้ามจึงตรัสว่า “เมื่อพวกเรามัวคิดหาเรืออยู่ ความเกิดย่อมนำไปสู่ความแก่ ความแก่นำไปสู่ความตาย เราไม่มีความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย เราบวชอุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น ขอน้ำนี้อย่าได้เป็นเหมือนน้ำเลย”

ดัง นี้แล้วระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า แล้วขับม้าลงในแม่น้ำ พร้อมด้วยอำมาตย์พันคน ม้าทั้งหลายเหมือนวิ่งบนแผ่นหิน ปลายกีบก็มิได้เปียกน้ำ

ทรงพบแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ชื่อ นีลวาหนา ก็ข้ามมาได้โดยวิธีเดียวกัน โดยระลึกถึงคุณพระธรรม

เมื่อเสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ก็ระลึกถึงคุณพระสงฆ์แล้วข้ามมา
เมื่อ ทรงข้ามแม่น้ำจันทภาคาได้แล้ว ได้เห็นรัศมี ๖ สี อันพุ่งจากพระสรีระของพระศาสดา กิ่งใบของต้นไทรมีสีดั่งทองคำ ทอดพระเนตรเห็นสิ่งมหัศจรรย์ จึงทรงดำริว่า

“แสงสว่างนี้มิใช่แสง จันทร์ แสงอาทิตย์หรือแสงสว่างแห่งเทวดามารพรหม การที่เราออกบวชอุทิศพระมหาสมณโคดมนั้น พระองค์คงจะรู้แล้วเสด็จมาต้อนรับเป็นแน่แท้”

ดังนี้แล้ว เสด็จลงจากหลังม้า น้อมพระกายเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคตามสายแห่งพระรัศมี เสด็จเข้าภายใต้พระรัศมีประหนึ่งดำลงไปในมโนสิลารส ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่งอยู่ พร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งพันคน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง ต้อนรับ และทรงแสดงอนุปุพพิกถา เมื่อจบอนุปพพิกถา พระราชาและบริวารได้สำเร็จโสดาปัตติผล ได้ลุกขึ้นทูลขอบวช พระศาสดาทรงใคร่ครวญว่า “บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ของคนพวกนี้มีหรือหนอ”ทรงทราบด้วยพระญาณว่า มี เพราะอานิสงส์ที่เคยถวายจีวรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ๒ หมื่นรูป สมัยพระพุทธเจ้าพระนามกัสสป ดังนั้นการพวกเขาจะได้บาตรและจีวร จึงมิใช่ของอัศจรรย์ ดังนี้แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ออกพลางตรัสว่า

“ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้สิ้นทุกข์โดยชอบเถิด”

ฝ่าย พวกพ่อค้าม้านำความไปกราบทูลพระนางอโนชาเทวี ทรงทราบแล้ว ทรงมีความรู้สึกเดียวกับพระราชา เต็มตื้นไปด้วยปิติโสมนัส พระราชทานทรัพย์แก่พ่อค้ามา ครั้งละ ๓ แสน ๓ ครั้ง

พระนางอโนชา เทวีทรงดำริว่า การยอมรับพระราชสมบัติที่พระราชาทรงสละแล้วนั้น เหมือนรับน้ำลายที่บ้วนทิ้งแล้ว ราชสมบัติไม่ได้นำทุกข์มาให้เพียงแต่พระราชา แต่ได้นำทุกข์มาให้เราเหมือนกัน เราไม่ต้องการราชสมบัติ เราจะออกบวชอุทิศพระศาสดาเหมือนกัน

ทรงแจ้งเรื่องทั้งปวงให้ภรรยาของอำมาตย์ ภรรยาเหล่านั้นก็พร้อมใจกัน ตามเสด็จออกบวช

เสด็จ ข้ามแม่น้ำทั้ง ๓ สาย โดยทำนองเดียวกับพระราชา เสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งแล้วทูลถามถึงพระราชสวามีว่า เสด็จออกบวชอุทิศพระพุทธองค์ คงจะเสด็จมาที่นี่

พระผู้มีพระภาคเจ้าบันดาลด้วยฤทธิ์ มิให้หญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตน รับสั่งว่า

“ขอท่านทั้งหลายจงนั่งฟังธรรมก่อน ท่านทั้งหลายจะได้เห็นสามีของท่าน ณ ที่นี้เอง”

หญิง เหล่านั้นมีจิตยินดีว่าจะได้เห็นของตน พระศาสดาทรงแสดงธรรม คืออนุปุพพิกกถามีทาน เป็นต้น ให้หญิงเหล่านั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ส่วนพระมหากัปปินเถระพร้อมทั้งบริวารทรงสดับธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแก่ หญิงเหล่านั้นแล้ว ได้บรรลุอรหัตผล ณ ที่นั้นเอง พระศาสดาทรงทราบดังนั้นแล้วทรงคลายฤทธิ์ให้หญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตน

การ ที่พระศาสดาทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ มิให้หญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตนในเบื้องต้นก็เพราะว่า หากหญิงเหล่านั้นได้เห็นสามีของตนบวชเป็นภิกษุ ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสายะ จิตใจจะฟุ้งซ่าน จิตใจไม่ดิ่งลงเป็นหนึ่ง แต่เมื่อพวกเธอได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว มีศรัทธาอันไม่คลอนแคลนแล้ว พระพุทธองค์จึงให้พวกเธอได้เห็นสามีของตน ไม่มีอันตรายในการประพฤติธรรมอีกแล้ว

หญิงเหล่านั้นขอบวช พระศาสดารับสั่งให้เดินทางไปบวชในสำนักภิกษุณีที่วัดเชตวันกรุงสาวัตถี พระพุทธองค์เองก็ทรงพาภิกษุใหม่ไปสู่วัดเชตวันเหมือนกัน

บรรดาภิกษุทั้งพันรูปนั้น พระมหากัปปินเถระ จะนั่ง ยืน เดิน นอน ที่ใดก็ตาม เปล่งอุทานอยู่เสมอว่า “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”

ภิกษุทั้งหลายได้ยินดังนั้นเข้าใจว่า พระมหากัปปินะระลึกถึงความสุขในราชสมบัติจึงเปล่งอุทานดังนั้น จึงนำความไปกราบทูลพระศาสดา

พระผู้มีพระภาครับสั่งให้พระมหากัปปินะเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า “กัปปินะ ได้ยินว่าเธอเปล่งอุทานปรารภกามสุข และสุขในราชสมบัติจริงหรือ”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ย่อมทรงทราบดีว่าข้าพระองค์ เปล่งอุทานเพราะปรารภกามสุขหรือไม่”

พระพุทธองค์ทรงทราบความจริง จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย มหากัปปินะ บุตรของเราเปล่งอุทานหาใช่เพราะปรารภกามสุขไม่ แต่เพราะปรารภเนกขัมมสุข นิพพานสุข จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น”

No comments: