Thursday, April 23, 2009

เครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย


เครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย
เครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัยนั้น ชาวพุทธไทยเราทั้งหลาย นิยมนำมาบูชาเป็นประจำเสมอ ในการประกอบพิธีกรรม ในทางพระพุทธศาสนาทั้งงานมงคล และงานอวมงคลมี ๓ อย่างคือ
๑. ธูป
๒. เทียน และ
๓. ดอกไม้







ธูปสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า

ธูปนั้น สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า นิยมจุดธูปบูชาครั้งละ ๓ ดอก เป็นอย่างน้อย โดยมีความมุ่งหมายว่า พระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงมีพระคุณเป็นอันมาก ยากที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ แต่เมื่อประมวลกล่าวเฉพาะพระคุณ ที่เป็นใหญ่เป็นประธานแห่งพระคุณทั้งปวง คงมี ๓ ประการ คือ
๑. พระปัญญาธิคุณ ๒. พระบริสุทธิคุณ และ ๓. พระมหากรุณาธิคุณ

ธูปทั้ง ๓ ดอกนั้น สำหรับจุดเพื่อบูชาพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้ แต่บางท่านก็อธิบายความมุ่งหมายแตกต่างออกไปว่า ธูป ๓ ธูป ดอกนั้น เพื่อบูชาพระพุทธทั้ง ๓ ประเภท คือ
๑. อดีตสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต
๒. อนาคตสัมมาพุทธะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตและ
๓. ปัจจุปันนสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน

ธูป สำหรับบูชาพระพุทธเจ้านั้น นิยมใช้ธูป มีกลิ่นหอม โดยมาความหมายว่า ธรรมดากลินธูปนี้เป็นกลิ่นหอมที่น่าอัศจรรย์ กว่ากลิ่นหอมต่าง ๆ ที่ชาวโลกนิยมใช้กัน

กลิ่นหอมที่ชาวโลกนิยมใช้กันอยู่ทุกชนิด เมื่อบุคลได้สูดกลิ่นแล้วเป็นเหตุทำให้กิเลสฟูตัวขึ้น ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่สงบส่วนกลิ่นหอมของธูปนั้น เมื่อบุคคลได้สูดกลิ่นแล้วเป็นเหตุทำให้กิเลสยุบตัวลง ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน

อนึ่ง ธูปนั้นแม้จะถูกไฟไหม้หมดไปแล้ว แต่กลิ่นหอมของธูปนี้ก็ยังหอมอบอวลอยู่ในบริเวณนั้นได้เป็นเวลานานฉันใด พระคุณของพระพุทธเจ้า ก็เป็นที่ซาบซึ้งเข้าถึงจิตใจของชาวบุคคลทั้งหลาย โดยที่สุด แม้แต่มหาโจรใจเหี้ยม เช่น องคุลีมาลโจร เป็นต้น ย่อมทำให้ผู้นั้นมีจิตใจสงบระงับจากการทำความชั่ว หันหน้าเข้าสู่ความดี และแม้แต่พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานถึง ๒ พันปีเศษแล้วก็ตาม แต่พระพุทธคุณก็ยังปรากฏซาบซึ้งตรึงอยู่กับจิตใจของชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ฉันนั้น


เทียนสำหรับบูชาพระธรรม
เทียนนั้น สำหรับบูชาพระธรรม นิยมจุดบูชาครั้งละ ๒ เล่ม เป็นอย่างน้อย โดยมาความมุ่งหมายว่า พระศาสนธรรมคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แยกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ:-
๑. พระวินัย สำหรับฝึกหัดกาย และวาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และ
๒. พระธรรม สำหรับอบรมจิตใจ ให้สงบระงับจากความชั่ว ทุจริตทุกประการ และ เทียนที่นิยมจุดบูชาครั้งละ ๒ เล่ม ก็เพื่อบูชาพระวินัยเล่ม ๑ และบูชาพระธรรม อีกเล่ม ๑

เทียน สำหรับบูชาพระธรรมนั้น นิมยมใช้เทียน ขนาดใหญ่พอสมควรแก่เชิงเทียน ความนิยมใช้เทียนจุดบูชาพระธรรมนั้น โดยมุ่งหมายว่า ธรรมดาเทียนนี้ บุคคลจุดขึ้น ณ สถานที่ใด ย่อมเกิดจำกัดความมืดในสถานที่นั้น ให้หายหมดไป ทำให้เกิดเเสงสว่างขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ฉันใด

พระศาสนธรรมคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นบุคคลใดมาศึกษาอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้น แล้ว ย่อมกำจัดความมืด คือ โมหะ ความโง่เขลาเบา ปัญญาในจิตใจของบุคคลนั้นให้หายหมดไป ทำให้เกิดแสงสว่าง คือ ปัญญาขึ้นภายใจจิตใจของตนฉันนั้น


ดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์
ดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์ โดยความมุ่งหมายว่า ธรรมดาดอกไม้นานาพันธุ์ เมื่อยังอยู่ ณ สถานที่เกิดของมันก็ย่อมมีความสวยงามตามสมควรแก่สภาพของพันธุ์ไม้นั้น ๆ ครั้นบุคคลเราเก็บดอกไม้นานาพันธุ์เหล่านั้นมากองรวมกับไว้โดยมิได้จัดสรร ย่อมหาความเป็นระเบียบมิได้ ย่อมไม่สวยงาม ไม่น่าดูไม่น่าชม ต่อเมื่อนายมาลาการ คือ ช่างดอกไม้ผู้ฉลาด มาจัดสรรดอกไม้เหล่านั้นโดยจัดใส่แจกันหรือจัดใส่พานประดับให้เข้าระเบียบ แล้ว ย่อมเป็นระเบียบเรียบร้อยเกิดความสวยงามน่าดูน่าชม ฉันใด

บรรดาพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สมัยเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์อยู่บ้านเรือนของตน ๆ ย่อมมีกิริยามารยาททางกายทางวาจา และจิตใจ เรียบร้อยตามสมควรแก่ภูมิชั้นแห่งตระกูลของตน ๆ หยาบบ้าง ปานกลางบ้าง ละเอียดบ้าง ครั้งคฤหัสถ์เหล่านั้น ซึ่งต่างชาติกัน ต่างตระกูลกัน มีนิสัยอัธยาศัยต่าง ๆ กัน มีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชอยู่ร่วมกัน ถ้าไม่มีระเบียบปฎิบัติเป็นแบบแผนเดียวกัน พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นก็จะหาความเป็นระบียบมิได้ ย่อมไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใสของผู้ได้ประสบพบเห็น ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าผู้เปรียบเสมือนนายมาลาการผู้ฉลาดได้ทรงวางพระธรรม วินัย ไว้เป็นแบบแผนประพฤติปฎิบัติ จัดพระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ให้ประพฤติปฎิบัติอยู่ในระเบียบเดียวกัน จึงเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าเคารพ น่าสักการะบูชา ฉันนั้น

อนึ่ง ดอกไม้สำหรับให้บูชาพระสงฆ์ นิยมไช้ดอกไม้ที่เพรียบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. มีสีสวย ๒. มีกลิ่นหอม ๓. กำลังสดชื่น
ดอกไม้ที่บูชาพระประจำวันนั้น นิยมจัดเปลี่ยนให้สดอยู่เสมอ อันนี้เป็นนิมิตหมายแห่งความสดชื่น ความรุ่งเรือง ไม่นิยมปล่อยให้เหี่ยวแห่ง เพราะความเหี่ยวแห้ง เป็นนิมิตหมายแห่งความหดหู่ใจ ความเสื่อมโทรม เป็นต้น

บุคคลผู้บูชาด้วยดอกไม้ที่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่นหอม เช่น บูชาพระด้วยดอกไม้พลาสติก หรือดอกไม้ประดิษฐ์เป็นต้น ต่อไปในภายหน้าบุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่มีรูปร่างลักษณะดีมีรูปสวย แต่คุณภาพไม่ดี ดังคำพังเพยว่า “ สวยแต่รูป แต่จูบไม่หอม ”

บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้มีกลิ่นหอม แต่มีสีไม่สวย ต่อไปในภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่มีคุณภาพดีแต่รูปร่างลักษณะไม่สวย ไม่งดงาม ดังคำพังเพย “ ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจดี ”

บุคคลผู้บูชาด้วยพระดอกไม้กำลังสดชื่น ต่อไปภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่เป็นของใหม่ ๆ ไม่ต้องใช้ของที่ขาใช้แล้ว เป็นมือหนึ่ง ไม่ต้องเป็นมือสองรองใคร ดังตัวอย่างเช่น ชูชกมีอายุคราวปู่ได้นางอมิตตดาซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นคราวลูกคราวหลานเป็นภรรยา เพราะอานิสงส์ที่ชูชกได้เคยบูชาพระด้วยดอกบัวตูมที่กำลังสดชื่น ฉะนั้น

บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้ที่บอบช้ำ เหี่ยวแห้ง ต่อไป ในภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่เป็น ของเก่า ๆ เหี่ยว ๆ แห้ง ๆ เป็นของที่ผ่านมือผู้อื่นมาแล้ว ตัวอย่างเช่น นางอมิตตดาได้ชูชกแก่คราวปู่เป็นสามี เพราะโทษที่ได้เคยบูชาพระด้วยดอกไม้ที่บอบช้ำเหี่ยว ๆ ฉะนั้น

Wednesday, April 22, 2009

การบริจาคเงินมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์

การบริจาคเงินมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์

- การบริจาคตั้งทุน เริ่มต้นทุน 1,000 บาทขึ้นไป ใช้เฉพาะดอกผล
- การบริจาคสมทบมูลนิธิฯ แบ่งเป็น
1. ค่าถวายภัตตาหาร
2. ค่าเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค
3. ค่าบำรุงโลหิต
4. ค่าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์
5. ค่าบำรุงทั่วๆ ไป
การบริจาคสมทบทุนจะระบุได้หลายรายการแล้วแต่ความประสงค์ของผู้บริจาค

ที่อยู่ มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ 445 ถ. ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กทม. 10400
โทร 02-354-4278, 02-354-4293 FAX. 02-644-9779

สถานที่บริจาค
อาคารคิลานเภสัช ชั้นล่าง ติดร้านค้าสวัสดิการ ร.พ. สงฆ์
เวลาทำการ
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.
วันหยุดราชการและนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-13.00 น.

บริจาคผ่านธนาคาร
ธนาคารทหารไทย บัญชีออมทรัพย์ สำนักพหลโยธิน
เลขที่ 001-2-461-80-2 ชื่อบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์
1. กรุณาระบุวันที่โอนเงินเข้าบัญชี
2. บอกชื่อและที่อยู่
3. แจ้งวัตถุประสงค์การบริจาค
ส่ง FAX. 02-644-9779 หรือโทร 02-354-4278, 02-354-4293
ติดต่อเจ้าหน้าที่การเงิน

โพชฌังคปริตร

โพชฌังคปริตร



โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
( โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ )
วิริยัมปีติ ปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
( วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ )
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา
( สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ )
สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะทักขาตา
( 7ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว )
ภาวิตา พะหุลีกะตา
( อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว )
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
( ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน )
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ )
เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา
( ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ
และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก )
โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
( จึงทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง )
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา
( ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม )
โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
( โรคก็หายได้ในบัดดล )
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ )
เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
( ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง (พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก )
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
( รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ )
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
( ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน )
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ )
ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
( ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก )
มัคคาหะตะกิเลสาวะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
( ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา )
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ. )


โพชฌังคปริตร ถือเป็นพุทธมนต์ที่ช่วยให้คนป่วยที่ได้สดับตรับฟังธรรมบทนี้แล้วสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้
ที่เชื่ออย่างนี้เพราะมีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าว่า พระสัมมาสัมพุทธเจา้ได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะที่อาพาธ
พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ พบว่าพระมหากัสสปะสามารถหายจากโรคได้
อีกครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธ หลังจากนั้น พบว่า พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้
ในที่สุด เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็หายประชวร

พุทธศาสนิกชนจึงพากันเชื่อว่า โพชฌงค์นั้น สวดแล้วช่วยให้หายโรคได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นธรรมเกี่ยวกับ

ปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง ซึ่งเป็นความจริงในเรื่องการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใส ซึ่งสามารถช่วยรักษาใจ เพราะจิตใจมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับ

ร่างกาย เนื่องจากกายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน จึงทำให้หายจากโรคได้

Friday, April 10, 2009

รัตนสูตร

รัตนสูตร ( สวดแล้ว ทำให้สุขภาพแข็งแรง โรคภัยไม่เบียดเบียน )
*******************************************


ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
สัพเพวะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ
( ขอหมู่ภูตทั้งปวงนั้น จงเป็นผู้มีใจดีเถิด )
อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง
( และเชิญฟังคำสดุดีพระรัตนตรัย อันข้าพเจ้ากล่าวโดยเคารพเถิด )
ตัสมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ
( ดูก่อนภูตทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายทั้งปวง จงฟังข้าพเจ้า )
เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ
( ขอท่านทั้งหลาย จงกระทำเมตตาจิต ในประชาชาวมนุษย์เถิด )
ทิวา จะ รัตโต จะ หะรันติ เย พะลิง
( ซึ่งเขาทั้งหลาย ทำเทวตาพลีอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืน )
ตัสมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตา
( เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาท ช่วยคุ้มครองรักษาเขาเหล่านั้นด้วยเถิด )
ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา
( ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น )
สักเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง
( หรือรัตนะใดอันสูงค่า ในสรวงสวรรค์ )
นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ
( ทรัพย์หรือรัตนะนั้นๆ ที่จะเสมอด้วยพระตถาคตเจ้า มิได้มีเลย )
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ จัดเป็นรัตนะอันสูงส่ง ในพระพุทธเจ้า )
เอเตนะ สัจเจนะสุวัตติ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีเถิด )
ขะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง ยะทัชฌะคา สักยะมุนี สะมาหิโต
( พระศากยมุนีเจ้า ทรงมีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใด
เป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สิ้นราคะ เป็นอมตะอย่างแท้จริง )
นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ
( สิ่งใดๆที่เสมอด้วยพระธรรมนั้น ย่อมไม่มี )
อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ จัดเป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระธรรม )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ยัมพุทธะเสฏโฐ ปะริวัณณะยี สุจิง
( พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญสมาธิใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด )
สะมาธิมานันตะริกัญญะมาหุ
( บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงสมาธิใด ว่าให้ผลไม่มีสิ่งใดคั่นได้ )
สะมาธินา เตนะ สะโม นะ วิชชะติ
( สมาธิอื่น ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ย่อมไม่มี )
อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ ก็จัดเป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระธรรม )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีเถิด )
เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัตถา
( บุคคลเหล่าใด นับเรียงองค์ได้เป็น ๘ )
จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ
( นับเป็นคู่ได้ ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว )
เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา
( บุคคลเหล่านั้น เป็นสาวกของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน )
เอเตสุ ทินนานิ มะหัปผะลานิ
( ทานทั้งหลาย ที่บุคคลถวายในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลเป็นอันมาก )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( ข้อนี้ จัดเป็นรัตนคุณอันสูงส่ง )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )

เย สุปปะยุตตา มะนะสา ทัฬเหนะ นิกกามิโน โคตะมะสาสะนัมหิ
( บุคคลทั้งหลายเหล่าใด ประกอบความเพียรอย่างดี ดำเนินไปในศาสนา ของพระโคดมเจ้า ด้วยใจอันมั่นคง )
เต ปัตติปัตตา อะมะตัง วิคัยหะ
( บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ได้บรรลุคุณอันควรบรรลุ คือ พระอรหัตตผลแล้ว )
ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา
( จึงได้เสวยอมตะรส คือ ความสงบเย็น จากความเร่าร้อนทั้งปวง )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง แม้ข้อนี้
( ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ยะถินทะขีโล ปะฐะวิง สิโต สิยา จะตุพภิ วาเตภิ อะสัมปะกัมปิโย
( เสาเขื่อนที่ฝังลงดิน อย่างมั่นคงแล้ว ลมทั้งสี่ทิศ ไม่พึงทำให้หวั่นไหวได้ ฉันใด )
ตะถูปะมัง สัปปุริง วะทามิ โย อะริยะสัจจานิ อะเวจจะ ปัสสะติ
( เราตถาคตกล่าวว่า สัตบุรุษผู้หยั่งเห็นอริยสัจธรรม ก็มีอุปมาฉันนั้น นั่นแล )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
เย อะริยะสัจจานิ วิภาวะยันติ คัมภีระปัญเญนะ สุเทสิตานิ
( บุคคลเหล่าใด กระทำอริยสัจธรรมทั้งหลาย ที่พระบรมศาสดา
ผู้มีปัญญาอันลึกซึ้ง ทรงแสดงดีแล้ว ให้แจ่มแจ้งแก่ตนได้ )
กิญจาปิ เต โหนติ ภุสัปปะมัตตา
( บุคคลเหล่านั้น ถึงจะยังเป็นผู้ประมาทอยู่มาก )
นะ เต ภะวัง อัฏฐะมะมาทิยันติ
( แต่ท่านก็ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งภพที่ ๘ )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )

สะหาวัสสะ ทัสสะนะสัมปะทายะ ตะยัสสุ ธัมมา ชะหิตา ภะวันติ,
สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉิตัญจะ สีลัพพะตัง วาปิ ยะทัตถิ กิญจิ
(สังโยชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
ซึ่งเป็นกิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ อันพระโสดาบันละได้แล้ว
เพราะความถึงพร้อมแห่งญาณทัสนะ)
จะตูหะปาเยหิ จะ วิปปะมุตโต
(อนึ่ง พระโสดาบันเป็นผู้พ้นได้แล้ว จากอบายภูมิทั้ง ๔)
ฉะ จาภิฐานานิ อะภัพโพ กาตุง
(ทั้งไม่อาจที่จะทำอภิฐาน คือ ฐานะอันหนัก ๖ ประการ (คือ อนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีต)
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
(แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระสงฆ์)
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
(ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด)
กิญจาปิ โส กัมมัง กะโรติ ปาปะกัง กาเยนะ วาจายุทะ เจตะสา วา
(พระโสดาบันนั้น ยังทำความผิดเล็กน้อยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ อยู่บ้างก็จริง)
อะภัพโพ โส ตัสสะ ปะฏิจฉะทายะ
( แต่เมื่อทำแล้ว ท่านเปิดเผย ไม่ปกปิดความผิดนั้นไว้ )
อะภัพพะตา ทิฏฐะปะทัสสะ วุตตา
( ความที่บุคคลเข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้วเป็นผู้ไม่ปกปิดความผิดไว้นี้ อันเราตถาคตกล่าวแล้ว )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่งในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )

วะนัปปะคุมเพ ยะถา ผุสสิตัคเค คิมหานะ มาเส ปะฐะมัสมิง คิมเห
( พุ่มไม้ในป่า แตกยอดในเดือนคิมหันต์แห่งคิมหันตฤดูฉันใด )
ตะถูปะมัง ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ
( พระตถาคตเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ )
นิพพานะคามิง ปะระมังหิตายะ
( ซึ่งเป็นหนทางให้ถึงพระนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็มีอุปมาฉันนั้น )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
(แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์)
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
วะโร วะรัญญู วะระโท วะราหะโร
พระตถาคตเจ้า ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้รู้สิ่งอันประเสริฐ
( ทรงเป็นผู้ให้สิ่งอันประเสริฐ ทรงเป็นผู้นำมาซึ่งสิ่งอันประเสริฐ )
อนุตตะโร ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ
( ทรงเป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งพระธรรมอันประเสริฐ )
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระพุทธเจ้า )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ขีณัง ปุราณัง นะวัง นัตถิ สัมภะวัง
( กรรมเก่า ของพระอริยบุคคลเหล่าใดสิ้นแล้ว กรรมสมภพใหม่ย่อมไม่มี )
วิรัตตะจิตตายะติเก ภะวัสมิง
( พระอริยบุคคลเหล่าใด มีจิตอันหน่ายแล้ว ในภพต่อไป )
เต ขีณะพีชา อะวิรุฬ หิฉันทา
( พระอรหันต์เหล่านั้น มีพืชคือวิญญาณสิ้นไปแล้ว ไม่มีความพอใจที่จะเกิดอีกต่อไป )
นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป
( เป็นผู้มีปัญญา ย่อมนิพพาน เหมือนดังดวงประทีปที่ดับไปฉะนั้น )
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
( แม้ข้อนี้ ก็เป็นรัตนคุณอันสูงส่ง ในพระสงฆ์ )
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ
( ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีเถิด )
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
ตะถาคะตัง เทวะสะนุสสะปูชิตัง พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ
( เราทั้งหลายจงนมัสการพระพุทธเจ้าผู้มาแล้ว อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสุขสวัสดีจงมีเถิด )
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
ตะถาคะตัง เทวะสะนุสสะปูชิตัง ธัมมัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ
( เราทั้งหลายจงนมัสการพระธรรมอันมาแล้ว อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสุขสวัสดีจงมีเถิด )
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข.
( เหล่าภูตทั้งหลายทั้งที่อยู่ ณ ภาคพื้นก็ดี ทั้งที่อยู่ในอากาศก็ดี ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้ก็ดี )
ตะถาคะตัง เทวะสะนุสสะปูชิตัง สังฆัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ
( เราทั้งหลายจงนมัสการพระสงฆ์ผู้มาแล้ว อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสุขสวัสดีจงมีเถิด )


********************************************************

ตำนาน

ครั้งหนึ่ง ณ พระนครไพสาลี อันไพบูลย์ไปด้วยขัตติยะตระกูล มีพระยาลิจฉวีเป็นประธาน ได้บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงฝนแล้ง พืชพันธุ์ธัญชาติ ปลูกเท่าไหร่ก็ตายหมด หมู่คนยากจนทั้งหลาย พากันอดยาก ล้มตายลงเป็นอันมาก หมู่ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็พากันเอาศพไปทิ้งไว้นอกพระนคร กลิ่นซากศพนั้น เหม็นตลอดไปทั่วพระนคร

กาลนั้น หมู่อมนุษย์ทั้งหลาย ก็เข้ามากินซากศพ แล้วตรงเข้าไปสู่พระนคร เป็นเหตุให้ชนผู้คนในพระนคร ติดอหิวาตกโรค และโรคนานา จนผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองสกปรก ปฏิกูลไปด้วย เฬวรากซากศพ จากคนและสัตว์

ขณะนั้นกล่าวได้ว่า นครไพสาลี มีภัยเกิดขึ้น ๓ ประการ คือ
๑. ทุพภิกขภัย ข้าวแพง มนุษย์ล้มตายลงเพราะอดอาหาร
๒. อมนุษย์ภัยเบียดเบียน ตายด้วยภัยของอมนุษย์
๓. โรคภัย ผู้คนล้มตายด้วยโรคภัยต่าง ๆ มีอหิวาตกโรค เป็นต้น

ขณะนั้น ผู้คนในพระนคร ต่างได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า จึงชวนกันเข้าไปเฝ้า สภากษัตริย์ลิจฉวี แล้วทูลว่า แต่ก่อนแต่ไรมา ภัยอย่างนี้มิได้เคยมี เหตุไรจึงมาเกิดภัยเช่นนี้ หรือว่า จะมาจากเหตุ ราชะสภามิได้ตั้งอยู่ในธรรม หรือว่าผู้คนมหาชนทั้งหลาย ในไพสาลีนคร หมกมุ่นมัวเมาประมาทขาดสติ มิมีธรรมะ หรือว่า จะมาจากเหตุ นักบวช สมณะ สงฆ์ มิได้ทรงศีลสิกขา จึงเป็นเหตุให้เกิดกาลกิณี แก่ปวงประชา

ฝ่ายสภากษัตริย์ หมู่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ก็มิอาจจับต้นชนปลาย หรือจะรู้สาเหตุก็หาไม่ ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันไปมา ได้แต่ทำตาลอกแลกแล้วส่ายหน้า จนมีท้าวพระยาลิจฉวี พระองค์หนึ่ง ลุกขึ้นตรัสว่า เห็นทีภัยร้ายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก มิอาจจะระงับได้ด้วย กำลังทหาร กำลังทรัพย์ หรือกำลังปัญญา คงต้องอาศัยกำลังของพระโพธิบวร แห่งองค์สมเด็จพระชินศรีศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาโปรด ชาวไพสาลีให้พ้นภัยพิบัติครั้งนี้คงจะได้ ในที่สุดประชุมราชะสภา ต่างเห็นพ้องต้องกัน จึงมอบให้พระยาลิจฉวี ๒ พระองค์พร้อมไพร่พลนำเครื่องบรรณาการ ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอให้พระองค์ทรงอนุญาต ให้เชิญเสด็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายังนครไพสาลี

กล่าวฝ่ายพระราชาพิมพิสาร เมื่อได้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของชาวนครไพสาลี และวัตถุประสงค์ของพระยาลิจฉวี จึงทรงอนุญาตชาวนครไพสาลีไปทูลอาราธนา องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตามประสงค์

องค์พระผู้มีพระภาค พร้อมภิกษุบริษัทอีก ๕๐๐ รูป ได้เสด็จพระดำเนิน ไปสู่นครไพสารี ในเวลาที่เสด็จนั้น พระราชาลิจฉวี หมู่มุขมนตรี ชาวพระนคร องค์อินทรเทวะพรหมินทร์ทั้งหลาย ได้พากันเฝ้ารับเสด็จระหว่างทาง ด้วยการโปรยทราย ดอกไม้ของหอม พร้อมยกฉัตรกางกั้น แสงพระสุริยะฉาย จัดตั้งราชวัตรฉัตรธง จตุรงค์เสนาขุนทหารทั้งหลาย ต่างพากัน ยืนแถวถวายพระเกียรตินานาประการ

ในขณะเดินทาง ทรงหยุดพักระหว่างทางวิถี พระราชาและหมู่ชนต่างพากันจัดสรรสรรพผลาหารอันเลิศ ประเสริฐรส นำมาถวายแด่พระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์

ครั้นเสด็จพระดำเนินมาถึง ริมฝั่งคงคา พระยานาคราช ผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำคงคา ก็ขึ้นมาถวายเครื่องสักการะ แล้วเนรมิตวงกายให้เป็นเรือใหญ่ แล้วทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ ที่เนรมิตถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ส่วนหมู่มนุษย์พระยาลิจฉวี และชาวพระนคร ก็ให้ขึ้นเรือแพ ที่จัดเตรียมมา แล้วเรือนาคา ก็บ่ายหน้าแล่นตรงไป ยังนครไพสาลี สิ้นระยะทาง ๘ โยชน์ กินเวลา ๘ วัน ระหว่างทางองค์นาคราช และบริวารได้ถวายอภิบาลพระบรมศาสดา และหมู่สงฆ์ มิให้สะดุ้ง สะเทือนระหว่างทาง ไม่ว่าคลื่นจะซัด ลมจะพัด น้ำจะแรง เรือนาคราชนั้นก็บรรเทาผ่อนแรง บดบังลมแดดแรงเป็นอันดี ประดุจดัง ทางประทับ อยู่บนยอดขุนเขาคีรีษี มิได้มีหวั่นไหวฉะนั้น

ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เสด็จพระดำเนินถึงเขตนครไพสาลี เมฆฝนก็ตั้งเค้า ลมทั้งหลายก็พัดหอบเอาเมฆมารวมไว้บนท้องฟ้า เหนือนครไพสาลี ครั้นสมเด็จพระชินศรี ทรงย่างพระบาทเหยียบยืนบนแผ่นดินไพสาลี เม็ดฝนก็ตกลงมาในทันที

องค์สมเด็จพระชินศรี เมื่อเสด็จประทับภายในพระนครไพสาลี เป็นอันดีแล้ว ฝนที่มิได้เคยตกมาเจ็ดปี ก็พลูไหลริน จนท่วมภาคพื้นปฐพี กระแสน้ำได้พัดพาเอาซากอสุภ และสิ่งปฏิกูลทั้งปวง ไหลลงไปสู่แม่น้ำคงคาจนหมดสิ้น

ครั้นเม็ดฝนหยดสุดท้ายหมดสิ้น หมู่อมรนิกรเทพพรหมินทร์ และอินทรราช ก็เข้าเฝ้ากราบเบื้องยุคลบาทพระผู้มีพระภาค

ฝ่ายฝูงอมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นเห็นหมู่มหาเทพ ได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพระผู้พระภาคเจ้า ต่างตนต่างก็เกรงกลัวเดช กลัวจะเกิดอาเพศ จึงพากันหลีกลี้หนีไปเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาค จึงทรงมีพุทธฎีกาตรัสเรียกพระอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ เธอจงเรียนมนต์รัตนสูตรนี้ แล้วจงถือเอาเครื่องพลีกรรม เที่ยวไปในระหว่างแห่งกำแพงทั้งสามชั้นของพระนคร แล้วจงสาธยาย มนต์รัตนสูตร เวียนเป็นประทักษิณให้ครบ ๓ รอบ แล้วนำบาตรของเราตถาคต ใส่น้ำที่สำเร็จด้วยมนต์รัตนสูตร สาดรดไปทั้งพระนคร อมนุษย์ทั้งหลายที่ยังมิได้หนี จักได้พากันหนีไปสิ้น ประชาชนผู้คนในพระนคร จักได้ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน

ครานั้น พระบรมสุคตเจ้า ได้ทรงแสดง รัตนสูตร โปรดหมู่อมรนิกรพรหมินทร์ อินทราธิราชทั้งหลาย กาลเมื่อทรงแสดงธรรมจบสิ้น ความสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ก็บังเกิดแก่ชาวไพสาลีทั้งปวง อุปัททวภัยทั้งหลายก็ระงับสิ้น หมู่มนุษย์และเทพทั้งหลาย มีประมาณแปดหมื่นสี่พัน ได้บังเกิดธรรมจักษุ ต่างพากันรู้ทั่วถึงธรรมนั้น ตามแต่อุปนิสัย วาสนาบารมีธรรมของตนที่สั่งสมมา

เมื่อหมู่อมรเทพนิกร พรหมินทร์ อินทรา เสด็จกลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระกรุณาโปรดแสดงธรรมเทศนา รัตนสูตร โปรดชาวพระนครไพสาลีอยู่อีก ๖ วัน รวมสิ้นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ภายในพระนครไพสาลีสิ้นเวลา ๑๕ วัน จึงเสด็จ

ระหว่างทางขณะเสด็จมาถึงริมแม่น้ำคงคา พญานาคาและเหล่าบริวาร ผู้เฝ้ารอคอยเสด็จกลับ ก็ได้เนรมิตกาย ให้เป็นเรือพระที่นั่งถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐

ระหว่างทางได้ทรงแสดงธรรม โปรดพญานาคและบริวาร จนเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ หมู่ชนชาวพระนครราชคฤห์พร้อมพระราชาพิมพิสาร ต่างรอคอยถวายเครื่องสักการะต้อนรับ ยิ่งกว่าตอนเสด็จไป

Monday, April 6, 2009

วิธีบรรเทาความโศก

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน :: วิธีบรรเทาความโศก


ความ โศกเป็นอาการอย่างหนึ่งของจิต เมื่อกระทบกับอารมณ์อันไม่พึงปรารถนา มีความเสียใจเป็นตัวนำ อันเกิดขึ้นเพราะความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเสื่อมญาติ เป็นต้น หรือเพราะต้องทุกข์ร้อนด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้มีอาการใจแห้งอยู่ภายใน คือ ขาดความชุ่มชื่นในดวงจิต เหมือนต้นไม้หรือใบไม้ที่เ่ยวแห้ง เพราะขาดน้ำหรือถูกแดดแรงเกินไป อาการแห่งจิตดังกล่าวนี้แหละเรียกว่าความโศก หรือบางทีก็เรียกรวมว่า “เศร้าโศก”

ในชีวิตประจำวันนั้น มนุษย์ต้องต่อสู้กับเรื่องนานาประการ เรื่องการทำมาหากินเป็นเรื่องต้น และยังมีเรื่องยุ่งต่างๆ ซึ่งตามมาสารพัดอย่าง เช่น การต้องต่อสู้แข่งขันกันในพวกที่ทำมาหากินอย่างเดียวกัน หรืออาชีพเดียว กัน นอกจากนี้มนุษย์ส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในอำนาจของความอยาก ถูกบีบคั้นด้วยความปรารถนาจากภายในตนเองบ้าง เหตุการณ์ภายนอกบีบบังคับให้จำต้องปรารถนา เช่น ค่านิยมของสังคมบ้าง

คน ส่วนใหญ่มักพ่ายแพ้ต่อความทะยานอยากที่บีบคั้นเข้ามา ทั้งจากภายในตนเองและจากภายนอก จึงต้องกระหืดกระหอบแสวงหาทรัพย์สิน แสวงหาเกียรติ ความนิยมชมชอบของสังคม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลาภ ยศ และสรรเสริญ เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนา หรือถูกขัดขวาง ก็มีการกระทบกระทั่ง แล้วกระเทือนใจ เสียใจ แล้วมีอาการแห่งผู้โศก อาจถึงต้องคร่ำครวญออกมา คือ การร้องไห้เพื่อระบายความทุกข์โศกที่อัดแน่นอยู่ในใจหรือความรู้สึก ถ้าได้ดังใจปรารถนาก็เพลิดเพลินหลงใหลติดอยู่ ข้องอยู่ในอารมณ์ เป็นเชื้อให้ไฟ คือ ความปรารถนาทวีรุนแรงขึ้นอีก ไม่รู้จักพอ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ ลงท้ายด้วยความทุกข์ความโศกอีก

จิตใจของ คนส่วนใหญ่จึงเสมือนท่อนไม้ที่ลอยอยู่ในกระแสคลื่น ถูกคลื่นซัดสาดให้ลอยขึ้น จมลงอยู่ในกระแสคลื่นนั่นเอง คลื่น คือ โลกธรรม-ลาภ เสื่อมลาภ, ยศ เสื่อมยศ,สรรเสริญ นินทา,สุข ทุกข์ คอยซัดสาดท่อนไม้ คือ ดวงใจที่ไม่มั่นคงนั้นให้ฟูขึ้น ฟุบลง ไม่มีเวลาสงบนิ่ง ประเดี๋ยวก็ดีใจ ประเดี๋ยวก็เสียใจ

ส่วนผู้ที่มี จิตมั่นคงดีแล้ว แม้จะกระทบกับกระแสคลื่น คือ โลกธรรม ก็หาขึ้นลงตามโลกธรรมนั้นไม่ ผู้มี จิตมั่นคงดีแล้ว ย่อมมองดูโลกธรรมเป็นเพียงเรื่องผ่าน เข้ามาแล้วผ่านเลยไป ไม่นำตนไปผูกพันกับโลกธรรม และไม่นำโลกธรรมมาผูกพันกับตน ต่างก็เป็นอิสระแก่ กัน เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า มันเกิดขึ้นแล้วไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมดังที่พระศาสดาตรัสไว้ (ในโลกธรรมสูตร) ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ (ธรรมของพระอริยะ) เขามิได้สำเหนียก ด้วยดีว่า “บัดนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นแล้วแก่เรา” เขาไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า “โลกธรรมนี้ไม่เที่ยง มี สภาวะบีบคั้น และมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา”

“เมื่อโลกธรรม ส่วนที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้นก็เหมือน กัน เขาไม่สำเหนียกและไม่รู้ตามความเป็นจริง โลกธรรม จึงครอบงำจิตได้ เขาย่อมยินดีเมื่อได้ ยินร้ายเมื่อเสีย เมื่อดีใจบ้างเสียใจบ้างอยู่เช่นนี้ เขาย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพัน ความคับแค้นใจ กล่าวโดยย่อคือ ไม่อาจพ้นจากทุกข์ได้”

“ส่วนสาวกของพระอริยะผู้ได้สดับ (ธรรมของพระอริยะ) เมื่อโลกธรรมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้น เขาย่อม สำเหนียกได้ว่า บัดนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เขารู้ตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมนี้ไม่เที่ยง มีสภาวะบีบคั้น มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อรู้ตามความเป็นจริงอยู่ดังนี้ โลกธรรมก็ไม่อาจครอบงำจิตได้ เขาไม่ยินดีเมื่อได้ ไม่ยินร้ายเมื่อเสีย เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่ต้องดีใจบ้างเสียใจบ้าง จึงสามารถพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก เสียใจ พิไรรำพัน ความคับแค้นใจ กล่าวโดยย่อคือสามารถทำตนให้พ้นจากความทุกข์ได้ นี่แลภิกษุทั้งหลายคือความแตกต่างกัน ความพิเศษกว่ากันระหว่างสาวกของพระอริยะผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ”

จะ เห็นได้ว่าความเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพันนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความยึดมั่นในโลกธรรม เพราะความเขลาต่อความจริง ไม่รู้ตามความจริง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมิได้สดับธรรมของพระอริยะ ไม่ใส่ใจเนืองๆ ซึ่งธรรมของพระอริยะมีคุณภาพในการกำจัดโศก และกำจัดความหลงใหลมัวเมา

อีกประการหนึ่ง บุคคลทั่วไปเมื่อพิจารณาสิ่งใดก็มักพิจารณาในด้านคุณหรือด้านโทษแต่ประการ เดียว คือ ดิ่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่พิจารณาให้เห็นทั้งด้านคุณและด้านโทษของสิ่งนั้นๆ จึงทำให้เขามีทางปฏิบัติเอียงสุดไปด้านใดด้านหนึ่งโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ วิ่งเข้าหา หรือผลักไส ชอบ ไม่ชอบ ยินดี ไม่ยินดี เป็นอาทิ ผลก็คือจิตของเขาไม่มีเวลาสงบนิ่งได้เลย คอยกังวลอยู่กับเรื่องพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง

ตัวอย่างคนที่แสวงหาลาภ ทรัพย์สินเงินทอง ก็เพ่งมองแต่ด้านคุณของทรัพย์สินเงินทองแต่ประการเดียว ไม่เคยนึกเฉลียวถึงด้านโทษของมันซึ่งมีอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน เช่น บางคนต้องเสียชีวิตลงเพราะป้องกันทรัพย์ของตน บางคนต้องแตกจากมิตร บางคนต้องเสีย คนเสียความเป็นคนดี เพราะทะนงในทรัพย์สิน บางคนต้องคอยระวังรักษาไม่เป็นอันหลับนอน ฯลฯ เหล่านี้ล้วน เป็นโทษที่แฝงมากับการมีทรัพย์ทั้งสิ้น

ความเสื่อมลาภหรือเสื่อม ทรัพย์นั้น คนทั้งหลายเป็น อันมากก็พากันเพ่งมองว่าไม่ดี แต่ความจริงมีดีอยู่เป็นอันมาก ทำให้ทรัพย์ภายในคือคุณธรรม เช่น ความขยันหมั่นเพียรเพิ่มขึ้น ไม่ใช้ชีวิตเหลวแหลกอย่างคนมีทรัพย์ บางคน มีความเจียมตัวเจียมใจ สุภาพอ่อนโยน เป็นเหตุ ให้เป็นที่รักของคนทั้งหลายผู้เข้าใกล้คบหาสมาคม มีศรัทธาในศาสนาเป็นแหล่งเพาะอุปนิสัยที่ดีให้แก่ตน ยิ่งกว่านั้นบางคนได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่สังคมและชาติบ้านเมือง ก็เพราะเหตุที่ตนเป็นคนขัดสนทรัพย์ จำเป็นต้องทำงานหาทรัพย์มาเลี้ยงตนด้วยเรี่ยวแรงกำลัง ผลงานของเขาเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป ยั่งยืนนานดีกว่า คนมั่งมีนั่งกินนอนกินแล้วตายไปโดยทิ้งศพของตนไว้ให้เป็นที่ลำบากแก่คนที่ อยู่ข้างหลัง

ที่พูดถึงแง่เสียของการมีลาภและแง่ดีของความเสื่อม ลาภในที่นี้ก็เพื่อให้ผู้สนใจได้มองเห็นทั้งด้านคุณและด้านโทษของสิ่งๆ เดียว เพื่อจะได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันด้วยสติปัญญาอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทรง สอนไว้ว่า

“อาทีนวทสฺสาวี นิสฺสรณปฺณโญ ปริภุญฺชติ ถือเอาความว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ด้วยการพิจารณาเห็นโทษ และมีปัญญาในการสลัดออก” คือ ไม่นำตนเข้า ไปผูกพันชนิดที่ถอนไม่ขึ้น แต่เข้าไปบริโภคใช้สอยอย่าง มีสติปัญญาโดยประการที่จะไม่ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น ไม่ให้สิ่งนั้นย่ำยีเอาแล้วต้องคร่ำครวญว่า “ทุกข์หนอๆ” แต่ก็ยังกอดรัดสิ่งนั้นเอาไว้ ยึดสิ่งนั้นเอาไว้เหมือนที่ร้อง ว่า “ไฟร้อนหนอ” แล้วก็วิ่งเข้าหากองไฟครั้งแล้วครั้งเล่า ลองคิดดูเถิดว่าน่าสงสารสักเพียงใด

คนส่วนมากแสวงหา ลาภ ยศ และสรรเสริญด้วยคิด ว่า ถ้าได้มาก็จะทำให้ตนมีความสุขขึ้นเป็นผู้สมบูรณ์ขึ้น จะเป็นจริงดังนี้ได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นทำตนอยู่เหนือ ลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ถ้าได้มาแล้วกลับตกเป็นทาสของมัน เขาก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเป็นเบื้องหน้า ต้องหยั่งลงสู่ทุกข์ มีทุกข์เป็นเบื้องหน้าอย่างแน่นอน เพราะสิ่งนี้พระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาอันยอดเยี่ยมได้ตรัสบอกไว้แล้วว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อนิจฺโจ ทุกฺโข วิปริณามธมฺโม” ใครไปฝืนกระแสอันนี้เข้าก็เท่ากับฝืนกระแสแห่งสัจจะ ย่อมต้องเดือดร้อนเองเศร้าหมองเอง ทุกข์ทรมานเอง

บางคนเก็บเอา เรื่องที่ล่วงแล้วนานปีมาเศร้าโศกทรมานใจ ความจริงอดีตก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของอดีต มันไม่กลับฟื้นคืนชีพมาอีกแล้ว อย่าว่าแต่นานปีเลย แม้เพียงแต่ชั่วโมงเดียวที่ล่วงแล้วก็ถอยหลังไม่ได้ อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้เลย เมื่อมันล่วงไปแล้วก็ปล่อยให้มันล่วงไปเถิด อย่าไปรื้อฟื้นมันขึ้นมาอีกเลย

บางคนเหนี่ยวรั้งเอาเรื่องอนาคตมากังวลเศร้าหมอง กลัวว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จนไม่มีแก่จิตแก่ใจจะทำอะไรในปัจจุบันให้ จริงจัง เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้แต่ท้อแท้ อ่อนแอ เพราะความหวาดกลัวเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังใจ

จงให้กำลังใจแก่ตนเอง เสมอๆ ว่า “จงทำปัจจุบันให้ดีเถิด อนาคตจะดีเอง” หรือ “อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถิด ฉันทำปัจจุบันดีที่สุดแล้ว” เมื่อเป็นดังนี้อารมณ์หรือจิตใจก็อยู่เฉพาะปัจจุบัน ความเศร้าโศกไม่มี ความวิตกหมกมุ่นก็ไม่มี เพราะ ความกังวลไม่มี

นี่แหละคือที่พึ่ง อันเกษมของดวงจิต หาใช่อื่นไม่ (อกิญฺจนํ อนาทานํ เอตํ ทีปํอนาปรํ) เมื่อจิตได้ที่พึ่งอันเกษมอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก จิตไม่โศกนั้นเป็นมงคลอันสูงสุดข้อหนึ่ง

Saturday, April 4, 2009

โลกกะธรรม,โลกธรรม,โลกกระทำ

ปุจฉา
โลกกะธรรม,โลกธรรม,โลกกระทำ


วิสัชนา

ในบรรดาหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสอนนั้น หลักเรื่อง โลกธรรม (ธรรมที่มีอยู่ประจำโลก กล่าวคือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ, ได้ยศ เสื่อมยศ,สรรเสริญ นินทา,สุข ทุกข์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โลกธรรม ๘ ) นับว่าเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตที่สำคัญมาก

ใน โลกนี้ มีคนมากมายเกินคณานับที่เวียนว่ายอยู่ท่ามกลางโลกธรรม ๘ โดยไม่รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงของมัน และนั่นเป็นเหตุให้เขาเหล่านั้น ต้องทุกข์ทรมานกับเรื่องธรรมดาๆ ของชีวิต บางคนปล่อยให้เรื่องธรรมดาๆ ขั้นพื้นฐานอย่างโลกธรรมเล่นงานชีวิตจนเสียผู้เสียคน ที่หนักกว่านั้นก็ถึงขั้นเสียชีวิตไปเลย

โลกธรรม ประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนที่น่าชื่นชม และส่วนที่น่าขมขื่น

โลกธรรมสองส่วนนี้ ไม่ว่าเราจะชอบ หรือไม่ชอบ จะรู้หรือไม่รู้ วันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องพบกับโลกธรรมทั้งสองส่วนนี้อยู่ดี

สำหรับคนที่เผชิญกับโลกธรรมทั้งสองส่วนด้วยความรู้เท่าทัน โลกธรรมก็แค่เพียงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่พอเรารู้ไม่เท่าทันเท่านั้นแหละ เมื่อโลกธรรมผ่านมาแล้ว มันอาจพัดพาเอาความสุขของเราผ่านไป หรือที่ร้ายกว่านั้นก็พัดพาเอาชีวิตของเราผ่านไปด้วย

โลกธรรมสองส่วนที่ว่านั้นประกอบด้วย

น่าชื่นชม น่าขมขื่น

ได้ลาภ เสื่อมลาภ

ได้ยศ เสื่อมยศ

สรรเสริญ นินทา

สุข ทุกข์

ธรรมชาติอันเป็นธรรมดาที่จะต้องรู้ให้เท่าทันก็คือ โลกธรรมที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่

- เกิดขึ้น

- ดำรงอยู่ชั่วคราว

- แตกดับไปในที่สุด

ถ้าเรารู้ทันธรรมชาติของโลกธรรม ๘ ประการนี้ ผลที่จะตามมาก็คือ เรา จะไม่ยึดติดโลกธรรมทั้งสองฝ่ายว่ามันจะต้องสถิตอยู่กับเราตลอดไป และในทางกลับกันเราก็จะสามารถปล่อยวางโลกธรรมด้านที่เราชื่นชมได้อย่างง่าย ดาย โดยไม่อาลัยอาวรณ์

เคย มีดาราคนหนึ่งเล่าถึงชีวิตของตัวเองไว้ว่า ช่วงที่เขาพบกับโลกธรรมฝ่ายชื่นชมนั้น เขามีชื่อเสียงสูงสุดถึงขนาดไม่สามารถไปเดินห้างสรรพสินค้าได้อย่างคนทั่วไป เพราะเขารู้สึกว่า ไม่ว่าจะขยับทำอะไร ล้วนแต่มีคนคอยจับจ้องไปเสียทุกฝีก้าว กิจกรรมของชีวิตมีสิทธิ์เป็นข่าวได้ตลอดเวลา สภาพชีวิตเช่นนั้น ทำให้หัวใจของเขาพองโต แม้ว่าเขาจะขาดอิสรภาพไปบ้างก็ตาม แต่ต่อมา พอพ้นจากช่วงขาขึ้นแล้ว เขาเล่าว่า แม้เขาจะแต่งหน้า แต่งตัวให้ดูดีเพียงใดไปเดินห้างสรรพสินค้า ก็แทบจะหาคนมาทักเขาไม่ได้ และ ด้วยความที่สำคัญตนว่าเป็นดารามีชื่อเสียง แม้วันหนึ่งเขาจะกลายมาเป็นคนขัดสน แต่ถึงกระนั้น เขาก็พยายามนำเสนอตนเองต่อสังคมว่า ยังคงเป็นคนมีฐานะและยังคงพยายามใช้ชีวิตอย่างพระเอกอยู่เหมือนเดิม กว่าจะยอมรับได้ว่า ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เขาต้องใช้เวลาเยียวยาตัวเองอยู่หลายปี

เรื่องที่เล่ามานี้ คือ ภาพสะท้อนของคนที่ไม่รู้จักโลกธรรม เมื่อ ดังมากๆ ก็อยากจะสัมปทานความดังนั้นไว้ให้เป็นสมบัติของตนเองไปตลอดโดยหารู้ไม่ว่า สรรพสิ่งล้วนมีเกิด มีดับเป็นธรรมดา ชื่อเสียงมาได้ วันหนึ่งก็ไปได้ พอไม่เข้าใจโลกธรรม เรื่องแสนธรรมดา จึงเล่นงานเอาทำให้เขาทุกข์ปางตาย

แต่ครั้นผ่านวันเวลามาพอสมควรแล้ว เขา จึงเกิดการเรียนรู้ว่า หากไม่ยอมรับความจริง คงอดตายแน่ ในที่สุด เขาก็ยอมรับด้วยความจำนนต่อสัจธรรมว่า วันเวลาของตนเองในโลกมายาได้จบลงแล้ว และนั่นทำให้เขาต้องเตือนตนเองว่า เขาควรจะกลับมาเป็นคนธรรมดาได้แล้ว ครั้นเกิดการยอมรับว่า ตนก็เป็นคนธรรมดาได้เหมือนกัน ความสุขที่หายไป ก็ผลิบานขึ้นมาใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ

แท้จริง ความสุขในชีวิตของเขาไม่เคยหายไปไหนเลย มันยังคงซ่อนอยู่เบื้องหลังทัศนคติที่ผิดของเขานั่นเอง ทันทีที่ปรับใจให้หันมาเห็นถูกตามธรรมชาติอันเป็นธรรมาดาของโลกธรรมได้ ความสุขก็เผยตัวตนออกมา

โลกธรรมนั้น ถ้าเรารู้เท่าทันแล้ว ก็ไม่มีอิทธิพลอะไรมากมายนัก หรืออาจไม่มีผลอะไรเลยก็ได้ต่อชีวิต หากโลกธรรมฝ่ายชื่นชมและขมขื่นเกิดขึ้น เราก็เพียงแต่รับรู้ สัมผัส แล้วก็ปล่อยมันไป แค่เพียงรู้เท่าทันไม่ว่าโลกธรรมนั้นจะมาในลักษณะไหน ด้วยความเข้มข้น หนักหนาสาหัสเพียงใด เราก็จะผ่านมันไปได้อย่างมีความสุข

...............................

ในโลกของเราทุกวันนี้ ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีความคิดอย่างผิดๆ ว่า โลก (ชีวิต) ไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับธรรม (ในความหมายอย่างแคบ คือ หลักธรรมคำสั่งสอนของศาสดาแต่ละศาสนา) ธรรมะควรเป็นเรื่องของพระและผู้สละตนเข้าสู่เพศพรหมจรรย์อย่างแม่ชีเท่านั้น ส่วนชาวโลกควรกิน ดื่ม สืบพันธุ์ ดำเนินชีวิตไปโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

คนที่คิดอย่างนี้ คือ คนที่แยกโลก กะ ธรรม ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แน่ นอนว่า คนประเภทนี้ มักไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต เพราะเมื่อเขาไม่สนใจธรรมะ เขาจึงไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด ที่ไม่รู้ว่า หลุมบ่อ หรือขวากหนามแห่งชีวิตอยู่ตรงไหน เมื่อไม่รู้จักธรรมะ พอถูกโลกธรรมทั้งแปดกระทบเข้าจึงทุกข์หนักหนาสาหัส

คนที่ไม่รู้จักโลกธรรมแปดเพราะมีความคิดว่า โลก กะ ธรรม ไม่เกี่ยวข้องกัน จึงมักถูก โลกกระทำ ให้เจ็บช้ำน้ำใจครั้งแล้วครั้งเล่า

พอได้ลาภ ก็หลงระเริงฟูฟ่อง แทบมองไม่เห็นหัวคน

พอเสื่อมลาภ ก็เศร้าสลดจนแทบจะทนมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ไหว

แต่สำหรับผู้รู้เท่าทันโลกธรรมแล้ว เขาย่อมมองเห็นอย่างชัดเจนด้วยปัญญาว่า โลก กะ ธรรม นั้น ไม่อาจแยกจากกันได้ ในโลก (ชีวิต) ต้องมีธรรม และในธรรมก็ต้องมีโลก (คือ ธรรมะต้องนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิต) เมื่อตระหนักรู้ด้วยความเข้าใจว่า โลกกะธรรมต้องไปด้วยกัน และรู้ต่อไปว่าในโลกนั้นมีธรรมประจำโลกอยู่เป็นธรรมดา จึงวันหนึ่งเมื่อถูกโลกธรรมกระทบ คนเช่นนี้ จึงไม่ถูกโลกกระทำให้ช้ำใจ

โลกกะธรรม โลกธรรม และโลกกระทำ

คือ สัจธรรมที่เราทุกคนต้องเปิดตาเปิดใจเรียนรู้เอาไว้ให้เท่าทัน เพราะมีแต่การรู้เท่าทันเท่านั้น ที่จะทำให้เราอยู่ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างมีความสุข

ถูกชมคือธรรมดา ถูกด่าก็ไม่เลว

ปุจฉา
ถูกชมคือธรรมดา ถูกด่าก็ไม่เลว


วิสัชนา

ถูกชมคือธรรมดา ถูกด่าก็ไม่เลว

ว.วชิรเมธี

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าว จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว กันมาบ้างแล้ว คำกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของจิต หรืออีกนัยหนึ่งของความคิดได้เป็นอย่างดีว่า จิตกำหนดวัตถุ หรือกายเป็นไปตามอำนาจของจิต

ผู้รู้ท่านหนึ่งเคยกล่าวถึงความสำคัญของจิต หรือความคิดไว้ว่า

เธอจงระวังความคิด เพราะความคิดจะกลายเป็นการกระทำ

เธอจงระวังการกระทำ เพราะการกระทำจะกลายเป็นนิสัย

เธอจงระวังนิสัย เพราะนิสัยจะกลายเป็นบุคลิก

เธอจงระวังบุคลิก เพราะบุคลิกจะกำหนดชะตากรรมของเธอ

ชีวิต ของเราจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความคิดหรือวิธีคิดอย่างไร ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้ความสำคัญกับวิธีคิดเป็นอันมาก พระนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ประมวลวิธีคิดในพุทธศาสนาไว้ว่ามีมากกว่า ๑๐ วิธี

วิธีคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราควรนำมาปรับใช้ในชีวิตก็คือ วิธีคิดเชิงบวก

วิธีคิดเชิงบวก หมายถึง การรู้จักเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งโดยมากมักแสดงตัวให้เราได้สัมผัสในแง่ลบ แต่ พอเราพลิกมุมมองใหม่ เราจะได้อะไรดีๆ จากเรื่องลบๆ เหล่านั้น เช่น ในชีวิตจริงของผู้เขียนซึ่งทำงานกับคนหมู่มาก มักจะพบกับคำชมและคำด่าอยู่เสมอ ๆ เมื่อแรกเผชิญกับคำชม ผู้เขียนก็ฟู ครั้นพบกับคำด่าก็แฟบ แต่เมื่อเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคำชมและคำด่า ก็รู้สึกว่า ได้คุณค่าจากคำด่าคำชมเป็นอันมาก

คำชมนั้น สำหรับคนที่ไม่คิดอะไรมาก ดูเหมือนว่า ไม่ลำบากใจเลยที่จะน้อมรับ แต่ สำหรับผู้เขียนแล้ว คำชมนั่นแหละคืออันตรายยิ่งกว่าคำด่า เพราะหากเรารู้ไม่ทัน คำชมจะทำให้เราหลงตัวเองและมีโอกาสลืมตัวสูง ส่วนคำด่า ถ้าพิจารณาไม่ดีก็ทำให้เราเสียศูนย์ได้ง่ายๆ แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งด้วยวิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี บางทีคำด่ากลับมีค่ามากกว่าคำชม

คำด่ามีค่ามากอย่างไร ?

(๑) คำด่า คือ กระจกเงาสะท้อนความบกพร่องของงานที่เราทำ

(๒) คำด่า มักแฝงคำแนะนำมาด้วยเสมอ

(๓) คำด่า บอกเราว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นหากมีคนที่คิดไม่เหมือนเราเขามองดูอยู่ เขาเห็นอะไรในสิ่งที่เรามองไม่เห็นบ้าง

(๔) คำด่า คือ กระดาษทรายอย่างดี ที่คอยขัดสีฉวีวรรณให้เรามีความกลมกล่อมลงตัวเหมือนพระประธานที่ต้องถูกกระดาษทรายขัดสีฉวีวรรณจนผุดผ่อง

(๕) คำด่า ทำให้เราไม่ประมาทผลีผลามทำอะไรด้วยความเชื่อมั่นมากเกินไป

(๖) คำด่า ทำให้รู้ว่า มีคนรักหรือเกลียดเรามากน้อยแค่ไหน

(๗) คำ ด่า ทำให้รู้ว่า อย่างน้อยก็มีคนสนใจในสิ่งที่เราทำ หรืออย่างน้อย สิ่งที่เราทำมันกำลังส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมีคนอุทิศตนมาสนใจและด่าอย่างเป็นงานเป็นการ

(๘) คำด่า จะทำให้เราได้หันกลับมาดูภูมิธรรมของตนเองว่า เข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน เมื่อทุกข์กระทบแล้วธรรมกระเทือน หรือกิเลสกระเทือน ถ้าธรรมกระเทือนแสดงว่าเราฝึกตนเองมาดี แต่ถ้ากิเลสกระเทือนแสดงว่า ต้องกลับไปฝึกจิตตัวเองใหม่ให้เข้มแข็งกว่านี้

(๙) คำด่า ทำให้เราได้รู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครหนีโลกธรรม ๘ ได้ (ได้ลาภ เสื่อมลาภ,ได้ยศ เสื่อมยศ,สรรเสริญ นินทา,สุข ทุกข์)

(๑๐) คำ ด่า คือ บทเรียนเรื่องการปล่อยวางตัวกูหรืออัตตาที่ดีที่สุด เพราะหากเรายังปล่อยวางตัวกูไม่ได้ เราก็จะต้องหาวิธีด่าคืนอยู่ไม่สิ้นสุด แต่เมื่อเราปล่อยวางตัวกูได้แล้ว คำด่านั่นเองคือบททดสอบที่ดีที่สุด

เพราะคำด่ามีคุณค่ามากกว่าคำชมดังกล่าวมานี้เอง ทุกครั้งที่ถูกด่า ผู้เขียนก็บอกตัวเองว่า ไม่เลวเหมือนกัน ได้พบอาจารย์ใหญ่ที่เข้มงวดอีกแล้ว เวลาเจอคำชม ผู้เขียนจะบอกตัวเองว่า ระวังเอาไว้หน่อย โบราณท่านเตือนว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา ถ้าเราไม่หวั่นเกรงต่อคำด่า ไม่เสียท่าต่อคำชม ชีวิตก็สบายไปแล้วครึ่งหนึ่ง

ในทุกวันที่เราต้องทำงานกันตัวเป็นเกลียว เชื่อเหลือเกินว่า เราแต่ละคน คงจาริกอยู่ท่ามกลางคำด่าและคำชมกันทั้งนั้น หลังอ่านบทความนี้จบแล้ว ลองเปลี่ยนมุมมองต่อคำชมคำด่าดู แล้วเราจะพบว่า สิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์อย่างคำด่านั้น จริงๆ แล้ว แฝงเพชรนิลจินดาแห่งสติปัญญาเอาไว้อย่างแวววาวพราวพรายไม่น้อยเลยทีเดียว