Thursday, July 29, 2010

ปกิณกะธรรม

ปกิณกะธรรม

วันนี้อ่านพบในหนังสือเรื่องโลกทิพย์ในปัญหาธรรม คือ มีนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่งเขาถามปัญหาธรรมไปถึงบรรณาธิการหนังสือ เขาบอกว่าเขาภาวนา "พุทโธ ๆ" เวลานั่งแล้วก็ตัวมันเกร็ง ตัวแข็ง เขาถามว่า "ลักษณะอย่างนี้มันเป็นอะไร? รู้สึกว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน" ทีนี้ก็บรรณาธิการเขาตอบว่า "ให้ปฏิบัติไปเถอะ" คือ คนนั้นกลัวว่าจะเป็นบ้าไม่กล้าปฏิบัติจึงเขียนปัญหาไปถาม เขาบอก "ให้ปฏิบัติไปเถอะอย่าท้อถอย นิวรณ์ย่อมมีเป็นธรรมดา ปฏิบัติไปๆ นิวรณ์นั้นมันก็จะดับแล้วข้ามไปได้" ที่ตอบอย่างนั้นนั่นแสดงว่าไม่รู้จักลัษณะของฌาน
การที่ตัวเกร็จคนนั้นไม่ได้บอกว่า "มือชาเท้าชา" คือ อาจจะไม่ได้สังเกต ผู้ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องฌาน แล้วศึกษาแต่เรื่องสมาธิๆ นั้นไม่รู้หรอก นี่แหละเป็นเรื่องที่ว่ามันยาก เพราะอย่างนี้ เท่าที่เห็นปัญหาธรรมแล้วก็ที่ตอบโยนไปให้นิวรณ์นั้น นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี แล้วอคติอีก ๔ อย่าง คือ รัก โกรธ เกลียด กลัว นี่เรียกว่า อคติ แล้วคนที่ถามปัญหานั้นนั่น ก็มีอคติด้วย คือ กลัว แล้วก็ไอ้ตัวโมหะคือ ไม่รู้นั่นมันก็ทำให้กลัว บางคนก็สงเคราะห์ลงไปในนิวรณ์ก็ได้ แต่เขาก็ไม่ชี้ลงไปว่าเป็นนิวรณ์ตัวไหน? นิวรณ์ตัวที่ ๕ นั้น คือ มันสงสัยจึงถาม ก็เพราะไม่เข้าใจในหลักปริยัติธรรมที่ถูกต้อง แล้วก็เพราะตนเองไม่เคยพบธรรมชนิดนั้นจึงตอบเขาไม่ได้ แต่เขาก็เป็นบรรณาธิการ และเขาก็เป็นผู้ปฏิบัติเหมือนกัน
ฉะนั้น พวกวิปัสสนากับพวกสมถวิปัสสนาจึงมีความแตกต่างกันในเรื่องหลักสมาธินี้มาก สมาธินั้น หลักของสมาธิมี ๓ อย่าง คำว่า สมาธิ คือ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วเขาก็ไปเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่ทำฌานนั้น คือ ฝ่ายที่ทำวิปัสสนาเฉยๆ นั้น ก่อนนั่งไม่ต้องอาศัยฌานหรอก เขาอ้างว่าถ้าไปทำฌานเสียแล้วไปพระนิพพานไม่ได้ นั่นเรื่องหนึ่ง แล้วก็ทำสมาธิเพียงขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิก็ไปพระนิพพานได้ สมาธิมี ๓ อย่าง ขั้นหนึ่งขั้นต้นเรียกว่า ขณิกสมาธิ ขั้นสองเรียก อุปจารสมาธิ ขั้นสูงหรือขั้นที่สาม เรียกว่า อัปปนาสมาธิ มี ๓ ขั้น
ทีนี้ฌานนั้น ความจริงฌานในพระอภิธรรมนั้นท่านเรียก ฌาน ๕ แต่บางแห่งก็เรียก ฌาน ๔ ในพระสูตรกล่าวถึง ฌาน ๔ ในพระอภิธรรมท่านพูดถึงหมวดธรรมแล้วก็เช่นว่า ธรรมพระนิพพานนี้เป็นจิต ๔๐ ดวง ที่เรียกว่า โลกุตตรจิต โลกุตตรจิต คือ จิตที่อยู่เหนือโลก มี ๔๐ ดวง ใน ๔๐ ดวงนั้น อะไรมันเป็น ๔๐ ได้นั้น คือว่า ฌาน ๕ คูณด้วย มรรค ๘ เท่ากับ ๔๐ ทีนี้ถ้าเราเรียนอยู่อย่างนี้อาจจะเป็นบ้าได้แน่ เพราะจิตดวงหนึ่ง คือว่าเมื่อจิตไปสัมปยุต คือ จิตไปเกี่ยวกับอันไหนของฌาน เช่นจิตที่มีฌาน ๑ อยู่ คือ วิตก วิจาร แล้วก็ไปเกี่ยวกับมรรคองค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบนั่นดวงหนึ่ง แล้วก็เป็นจิตดวงหนึ่ง ทีนี้จิตดวงที่ ๒ สมาธิดวงที่ ๒ อุปจารสมาธิมันไปเกี่ยวโยงกับสัมมาวาจา มรรคองค์ที่ ๓ เช่นวันนี้พูด หรือด่าคนไปมันนึกได้ ทีนี้สมาธิกำลังมีอุปจารสมาธิตั้งได้มั่นมาก แต่ก็ยังมีอารมณ์นึกคิดบ้างก็นั่นเป็นจิตดวงหนึ่งแล้วนั่น นั่นเรียกว่าลักษณะจิตดวงหนึ่ง คือ แล้วแต่ว่าจะไปรวมกับอะไร
แต่ทีนี้บัญญัติของสมาธิ คือ ให้มีรูปฌาน ๔ อยู่ บัญญัติ อันนี้อยู่ในพระอภิธรรมเหมือนกัน แต่ว่าถ้ารูปฌาน ๔ (๔ คูณ ๘ มันก็ ๓๒ ดวงเท่านั้น) ถ้ารูปฌาน ๕ (๘ คูณ ๕ มันก็ ๔๐) เราอาจจะไม่เข้าใจว่าฌาน ๕ นั้นมาจากตรงไหน ก็คือ ฌาน ๑ นั่นเอง แยกแบ่งเป็น ๒ ฌาน คือ วิตกเป็นฌานที่ ๑ แล้ววิจารเป็นฌานที่ ๒ ปีตินั้นเป็นฌาน ๓ ฌานสุขเป็นฌาน ๔ (เดิมนั้นเป็นฌาน ๓) แล้วเอกัคคตาอุเบกขาเป็นฌาน ๕ แต่โดยส่วนใหญ่ก็เรียกว่า ฌาน ๔ รูปฌาน ๔
อย่างที่เรียกว่าภูมิ ๓ พอพูดว่าภูมิ ๓ เราก็ไม่รู้ว่าที่ไหนบ้าง? อะไรบ้าง? ภูมิ ๓ ก็คือว่า กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ กามภูมิ คือ ตั้งแต่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ (สัตว์เดรัจฉาน เรต อสุรกาย สัตว์นรก) แล้วมนุษย์โลกด้วย แล้วก็เทวดาทั้ง ๖ ชั้นด้วย นี่จัดอยู่ในพวกกามภูมิทั้งสิ้น ทั้งหมด ๑๑ หน่วย มีนรก ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ (รวมเป็น ๑๑) สวรรค์ ๖ ชั้นที่เรียกว่า ฉกามาพจร นั้นมี (พระอินทร์เป็นราชาดาวดึงส์ ท้าวจาตุมฯ ๔ องค์เป็นราชาของชั้นจาตุมหาราช ท้าวยามาเป็นราชาของสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิตชั้นดุสิต นิมมานรดีก็ท้าวนิมมานรดี ปรนิมมิตรสวัตตี ก็คือ ท้าวปรมินฯ เป็นจอมเทวดา หรือเป็นราชาของชั้นเทวดานี่ พวกนี้ท่านเรียกว่า กามภูมิ)
ทีนี้ในพวกที่เป็นการ ภูมินี่แหละ อย่างพวกเราที่ปฏิบัติธรรมกันอยู่นี่ ขณะที่นั่งอยู่นี้เราเป็นกามภูมิ (ยังไม่ได้เข้าฌาน) แต่พอเรานั่งหลับตาว่า "เกศา โลมา"... แล้วฌาน ๑ ฌาน ๒ เริ่มจับ หรือฌาน ๓ ฌาน ๔ ก็แล้วแต่ คือ ตั้งแต่ฌาน ๑ มีขึ้นแล้ว คราวนี้เป็นรูปภูมิแล้ว เป็นพรหมแล้ว ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ นี่เป็นรูปภูมิ ทีนี้พอผู้ที่สอนหลักสมาธิให้สูงขึ้นขั้นอรูปภูมิ ก็สอนอรูปฌานอีก ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๔ ชั้นนั่นเป็นภูมิของ อรูป คือ ภูมิของพวกพรหมที่ไม่มีรูป นี่เรียกว่า ภูมิ คือ ที่อยู่นั่นเอง
ทีนี้เราที่เป็น มนุษย์อยู่นี้ เมื่อทำอรูปฌานด้วยแล้ว ขณะที่จิตในอรูปฌานนั้นก็เป็นสัตว์ชั้นอรูปภูมิ แต่ทีนี้เมื่อจัดชั้นสูงเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง คือ โลกุตตรภูมิ (ภูมิ ๔) ภูมิ ๓ นั้นมีแค่นี้ คือ ยังเป็นโลกียะทั้งนั้น ภูมิ ๓ นี่ท่านเอาภูมิที่ ๔ มาด้วย เป็นภูมิสูงสุด เรียกว่า โลกุตตรภูมิ ผู้เป็นโลกุตตรภูมิ ก็คือ ผู้เป็นพระอรหันต์แล้วจึงเรียกว่า โลกุตตรภูมิ เพราะพระอรหันต์เสวยผลของจิตความเป็นอรหันต์ที่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ตลอดกาล (เมื่อยังครองขันธ์ ๕ อยู่ในวิบากของความเป็นมนุษย์นี้) แต่จิตนั้นเป็นพระอรหันต์ตลอดกาลสมบูรณ์ ก็เรียกว่าผู้อยู่ในโลกุตตรภูมิ ฉะนั้นคนๆ เดียวนั้น อยู่ได้ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ แล้วขณะที่เรานั่งปฏิบัติอยู่ เมื่อเราเข้าฌานเข้าสมาธิแล้ว จิตของเราก็เปลี่ยนภูมิไปตามลำดับ นี่ให้เราเข้าใจหลักปริยัติธรรม
พูดภาษาไทยๆ มันก็ไม่มีแปลได้มากกว่านี้ คำว่า ภูมิ นั้น ภาษาไทยก็มีอยู่ แต่ที่นี้ฌาน ก็ว่า ฌาน ๑, ๒, ๓, ๔ ก็เป็นภาษาไทยได้ อรูปฌานก็อรูปฌาน ๑, ๒, ๓, ๔ ก็ว่าได้เหมือนกัน แต่ว่าพูดตามหลักพระปริยัติธรรม คือ พระอภิธรรม พระปริยัติธรรม คือ ทั้งหมด ทั้งวินัย ทั้งศีล ทั้งสมาธิ และพระอภิธรรม เรียกว่าเป็นพระปริยัติธรรมทั้งสิ้น ทีนี้เราผู้ปฏิบัติ เมื่อรู้ปริยัติก็ต้องคู่กันไป ถ้าเราไม่รู้หลักปริยัติก็เมหือนที่เล่าตะกี้ว่า ที่มีผู้ถามไปว่า "นั่งภาวนาพุทโธฯ นั่งแล้วมือเกร็งตัวเกร็งไปหมด แล้วก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน?" แล้วไปตอบเขาว่า "นิวรณ์ ๕" แต่ตอบไม่เต็มปาก ตอบอ้อมๆ เพราะไม่รู้ แต่ว่าอาจารย์รู้ ตอบเขาได้ว่า นั่นถึงฌาน ๔ การที่ตัวเกร็ง กายเกร็ง นั่นมันเข้าฌาน ๔ ที่ลึกจนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน นี่จิตของผู้นั้นในตอนนั้น จิตกับกายแยกกันได้เด็ดขาด มันท่องเที่ยวไปไหนๆ ก็ได้ ฉะนั้นพวกเราผผู้ปฏิบัติจงจำเอาไว้ ถ้าเมื่อจิตมันถึงอันนั้นแล้ว เราก็จะได้รู้ไว้ คือ เราต้องรู้หลักปริยัติ เมื่อรู้หลักปริยัติว่า บัญญัติว่าอย่างไร เราก็ปฏิบัติตามปริยัติ ถ้าเราทำถูกต้องตาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วก็พบผล คือ ปฏิเวธ หรือ พระนิพพาน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
แต่ ทีนี้เราจะปฏิบัติให้ตรงได้ เราก็ต้องมาจากสมมติ จากบัญญัติ แล้วก็มาจริงปรมัตถ์ ถึงจริงปรมัตถ์จริงนี่ ความจริงหรือสัจจะมี ๓ อย่าง คือ จริงสมมติ จริงบัญญัติ จริงปรมันถ์
จริงสมมติ ก็ที่โลกเขาใช้กันอยู่ทั่วไป ตลอดไป เช่น ต้นไม้ ภูเขา วัดวาอาราม บ้านช่อง ชื่อต่างๆ มนุษย์ต่างๆ สัตว์ต่างๆ นั่นเป็นชื่อ เป็นจริงสมมติของโลก แล้วก็เพื่อให้มันมั่นคง โลกก็เอาบัญญัติเป็นชื่อเรียก เช่นชื่อต้นไม้ชนิดนี้ เรียกว่าอินทนิล แล้วใครจะมาเรียกต้นอินทนิลเป็นต้นไม้อื่นก็ไม่ได้ บ่งบัญญัติ บัญญัติไว้ในกฏหมายว่าลักษณะต้นเป็นอย่างนั้น เปลือกเป็นอย่างนั้น ใบเป็นอย่างนั้น ดอกเป็นอย่างนั้น มีผลเป็นอย่างนั้น นั่นจริงบัญญัติ หรือข้อบังคับของสังคมที่เรียกว่ากฏหมาย นั่นก็จริงบัญญัติ แล้วก็ข้อวินัยของพระ คือ ศีลหรือวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ หรือธรรมต่างๆ ที่จารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบัญญัติ เรียกชื่อธรรมต่างๆ นั่นก็เป็นสมมติ นั่นเรียกว่าจริงบัญญัติ ทีนี้เมื่อรู้จักจริงสมมติแล้วก็รู้จักจริงบัญญัติแล้ว มันก็สามารถที่จะเรียนถึงจริงปรมันถ์ได้
การที่จะปฏิบัติได้เป็นอุชุปฏิปนฺโน คือ ปฏิบัติได้ตรง ก็ต้องรู้จักบัญญัติ ถ้าไม่รู้จักบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้แล้ว การปฏิบัติธรรมนี้จะปฏิบัติอย่างไร? เริ่มจากไหนก่อน? ไม่ใช่อยู่ๆ ถึงก็ขึ้นวิปัสสนา แล้วศีลก็ไม่ต้องรักษา สมาธิก็ไม่ต้องทำ นั่งถึงหลับตาถึงก็ "พุท" หายใจเข้า "โธ" หายใจออก แล้วก็นั่งคิดว่า สังขารนี้ไม่เที่ยง สังขารนี้เป็นทุกข์ สังขารนี้ไม่ใช่ตัวตน แต่บางทีคิดไปคิดมาจิตท่องพุทโธๆ นั้นจิตมันตั้งเป็นสมาธิเข้ามันก็เป็นฌานนั่นแหละฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ก็เป็นได้ (แต่ฌาน ๔ นั้นไม่ค่อยจะถึงหรอก ตามพระอภิธรรมบอกไม่ถึงทีเดียว) แล้วทีนี้ตัวเองก็พอจะเป็นฌานได้ แต่ทีนี้เราไม่รู้บัญญัติของฌาน มันก็เป็นโมหะ มันก็ไม่เป็น อุชุปฏิปนฺโน
อุชุปฏิปนฺโน หมายความว่า ปฏิบัติตรง องค์ของสังฆคุณ "สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน" คำว่า "อุชุ" นั่นคือ ปฏิบัติตรง คือ ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน คือ บัญญัติไว้แล้ว จริงปรมัตถ์ นั่นได้พบแน่ ใจเราอย่าไปโต้เถียง เราต้องมีศรัทธามั่นในคำบัญญัติของพระพุทธเจ้า เราอย่ามาแปลธรรม แปลวินัย แปลเรื่องของพระพุทธเจ้าให้เป็นอย่างอื่น ถ้าใครขืนแปลให้ไปออกนอกลู่นอกทางเรียกว่า เป็นพระสัทธรรมปฏิรูป นั่นผิดมาก ลงลึกทีเดียว
ฉะนั้น เราผู้ปฏิบัติ เมื่อเรายังไม่พบ ยังไม่ถึงในธรรมที่พระพุทธองค์กล่าวนั่นก็เพราะความเพียรของเรายังไม่พอ อย่างหนึ่ง แล้วก็บุญวาสนาที่เราสร้างมาแต่ในอดีตชาติอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม นั้นมันตามมาอุ้มชูช่วยเหลือไม่ได้ เพราะอดีตเราสร้างไว้มันไม่เพียงพอ เราต้องรู้อย่างนี้แล้วก็ความกังวลใจ ความท้อถอยต่างๆ มันก็จะไม่เกิดมีขึ้นถ้าเรารู้เหตุรู้ผลของตัวเรา
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร

๓๑ กรกฏาคม ๒๕๒๙

ที่มา


http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati/kar-tha-wipassna/pkinka-thrrm

No comments: