Thursday, July 29, 2010

ปกิณกะธรรมปฏิบัติ

ปกิณกะธรรมปฏิบัติ

ฌาน เราพิจารณาตนเอง เราต้องดูตัวเราว่าผลของการปฏิบัตินั้นมันย่อมันหย่อน หรือมันเข้มงวดกวดขัน มันเป็นอุกฤษฏ์ หรือว่ามันพอดี เราต้องดูตัวเราดูการปฏิบัติของเราเอง การปฏิบัติที่ดีที่เหมาะที่สมก็คือ ปานกลาง ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป นั่นเป็นการปฏิบัติที่เหมาะสม ฉะนั้นไม่มีใครที่จะชี้ให้เราได้ว่าเหมาะสมแค่ไหน พระพุทธองค์ก็บอกแต่เพียงว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางที่ถูกต้อง คือ ปานกลาง (ไม่หย่อนและไม่ตึงเกินไป) ฉะนั้นเราหาเอาเอง
แต่ที่อาจารย์หาไว้ให้แล้ว คือ รวมเวลาปฏิบัติวันละ ๓ ชั่วโมง ทำให้ได้ทุกวัน แค่นี้แหละพอที่จะไปพระนิพพานได้ ให้นังกรรมฐานให้ได้วันละ ๓ ชั่วโมง (ทุกวัน) ทั้งทำสมาธิ ทำฌานให้เกิดขึ้น แล้วก็เจริญวิปัสสนาไปด้วยแล้ว กิเลสอยู่กับเราไม่ได้ ข้อสำคัญคือว่าให้มีสติรอบคอบอยู่ตลอดเวลา สติควบคุมจิตให้ดี อย่าให้ลุแก่อำนาจจิตใจ ออกไปนอกลู่นอกทาง ประคองจิตอยู่แต่ในแนวทางที่ดี ในทางที่เป็นบุญ เป็นกุศล อย่าให้จิตมันละลาบละล้วงไปในแนวทางที่เป็นอกุศล อย่าให้จิตมันไปยุ่งเข้า เมื่อจิตของเรารักษาได้สะอาดดีอยู่เป็นประจำทุกๆ วันแล้ว หนทางที่จะสลัดกิเลสออกจากจิตได้หมดสิ้นนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ยาก
ใครมีข้อสงสัยในธรรมอันใดถามได้ ถ้ามีอยู่แล้วไปนั่งเถอะ มันติดตรงนั้นแหละไม่ไปหรอก ไม่ได้หรอกมันขัดขวางเรา "วิจิกิจฉา"
ลูกศิษย์ ถาม. ไม่เคยนั่งเลยนะ เพิ่งจะมาหัดนั่ง
พระอาจารย์ตอบ.. นั่งจะต้องมีความอดทน คนที่ไม่เคยนั่งเลยนี่นะถ้าฝึกหัดนั่งแล้วนั่งได้เร็ว คนที่มากครูมากอาจารย์แล้วนั่งนั้น นั่งได้ช้า เพราะคิดอยู่ มัวสงสัยอยู่ คนที่มาถึงแล้วก็รับธรรมโดยยังไม่เคยปฏิบัติที่ไหนมาก่อนเลยนั้นได้เร็ว
ลูกศิษย์ ถาม. คือ ฌาน ๒ จะต้องรอให้เกิดเองเป็นเองหรือเปล่า? หรือต้องช่วยด้วยครับ
พระอาจารย์ตอบ.. ให้เกิดเองเป็นเอง ถ้าว่าเรานึกให้มันเป็นนั้นมันไม่ใช่ (เป็นภวตัณหา) คือ เมื่อจิตมันตั้งได้มั่นคงแล้ว จิตเป็นเอกัคคตาเป็นหนึ่งมั่นคงแล้วฌานมันเต็ม พอฌานมันเต็มแล้ว ฌาน ๒ มันก็เริ่มเกิด จากขนลุกขนพองก่อน เสียวสันหลังเสียวหน้าแข้ง ขนหัวพองขนหัวลุก เส้นผมบนหัวนั่น แล้วก็มันหนัก เมื่อฌาน ๒ มันเกิดมีกำลังมากมันก็กระตุกที่มือที่เท้า คือ มันยกมือขึ้นก่อน บางทีมันยกมือขึ้นมาก่อนแล้วทีนี้อย่ากดไว้มันจะสั่นมันจะตีก็อย่ากดมัน ปล่อยมัน ต้องให้ขึ้นเองเป็นเอง ถ้าว่าเราทำให้มันเป็นขึ้นมานั่นมันหลอกเรา (มันเป็นสัญญาทีหลัง) เมื่อจิตชำนาญแล้วพอจิตหยุดกึกแล้วมันก็ขึ้นโครมทันที แต่ว่าเมื่อแรกๆ นั้นมันยาก เพราะจิตเรายังวอกแวก จิตยังมีความนึกคิด เมื่อจิตว่ากรรมฐานไม่หลงได้แล้วนั่นก็ได้ไปได้ สำคัญคือยึดกรรมฐานให้อยู่ ทีนี้ขณะที่ว่ากรรมฐานอยู่นั้นจิตไปนึกอื่นเสียก็หยุดว่ากรรมฐาน พอนึกอื่นสังขารก็ปรุงแต่งทันทีเรื่องต่างๆ ประดังกันเข้า เรื่องนั้นเรื่องนี้ เอาสัญญาบ้าง เอาเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึงบ้าง เอาเรื่องอดีตคือ สัญญา มานึกมาคิด คือเรื่องอนาคตที่ยังไม่ถึงก็ไปคิด ตกลงไม่ต้องว่ากรรมฐาน เมื่อจิตมีความคิดมีความนึกอยู่ก็จิตเป็นวิตก เมื่อจิตเป็นวิตก จิตก็ตั้งเป็นเอกัคคตาไม่ได้ คือ ถ้าจิตยึดกรรมฐานได้ จิตก็เป็นเอกัคคตา ได้ "เกศา โลมา...." ว่าไม่หลงแล้วจิตก็เป็นหนึ่งได้ เมื่อเป็นหนึ่งได้แล้วขนลุกขนพองก็เกิดขึ้นนั่นเป็น ปีติ
ลูกศิษย์ ถาม. ถ้านั่งนานๆ แล้วจะเป็นโทษต่อร่างกายหรือไม่? ครับ
พระอาจารย์ ตอบ.. ไม่ตายหมดแล้วหรือ อาจารย์ตายก่อนผู้อื่นแล้ว นั่งมา ๑๔ ปีแล้ว วันละ ๘ชั่วโมงก็เคยนั่ง ทำไมยังเดินได้อยู่ดีแล้วก็สอนผู้อื่นอยู่ทุกวัน เรื่องนี้มันเป็นเรื่องเหลวไหลที่เข้าใจกันแล้ว เรื่องทำไมถึงมันสั่นนั่นก็ "ฌาน" ไงล่ะ มีชื่ออยู่ในบัญญัตินี่นา ในพระอภิธรรมก็มี ไม่ใช่ว่าเอาเอง พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว แต่เราไม่รู้จักเองต่างหาก
อิริยาบถมีอยู่ ๔ เรามีอยู่นี่ เดิน ยืน นั่ง นอน ใครจะไปนั่งทั้งวันมีหรือ มันเป็น อัตตกิลมถานุโยค คือ เบียดเบียนกาย นั่ง ๑-๒ ชั่วโมงแล้วก็เดิน ลุกขึ้นเดินจงกรมก็ได้ หรือเดินไปเดินมาก็ได้ เมื่อยก็นอนพัผ่อน ยืน เดิน นั่ง นอน เรานั่งอยู่แล้ว เมื่อฝึกไปชำนาญแล้วมันก็นั่งได้ทน ๓-๔ ชั่วโมง มันก็นั่งได้ มันไม่เจ็บไม่ปวดหรอก ถึงปวดขึ้นมาก็เมื่อมีฌานแล้วมันก็ดับไป ฌานมันต่อสู้ได้เมื่อจิตถึงฌาน ๔ แล้วเดี๋ยวมันปวด มันปวดจี๊ดแล้วมันก็ดับ แล้วตัวมันก็ลอยขึ้นไปบนอากาศ ทีนี้ไม่อยากออกแล้ว มีความสุขมาก มีความสบายมาก
ไม่ใช่มันมีคงที่อยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ว่าไม่เกิดอะไรขึ้นกับกายกับจิต มันมีความเปลี่ยนแปลงไปตามรูปของธรรม ของ ฌาน ๑ ก็อย่างหนึ่ง ของ ฌาน ๒ ก็อย่างหนึ่ง ฌาน ๓ ก็อย่างหนึ่ง ฌาน ๔ ก็อย่างหนึ่ง แล้วพอขึ้นวิปัสสนาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยทั้งจิตทั้งกายเปลี่ยนแปลงไป ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป ดีขึ้นเรื่อย และปัญญาก็เริ่มเกิดขึ้น ขั้นต้นก็มีปัญญารู้จักฌาน เมื่อรู้จักฌานก็เรียกว่า มีปัญญาแล้ว ปัญญาขั้นต้นรู้จักรักษาศีลไม่ให้ขาดตกบกพร่องก็เรียกว่ามีปัญญาแล้ว
คือธรรมทั้งหมด ที่นำมาสอนให้นั้นเป็นธรรมอยู่ในโอวาท อยู่ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ไม่ได้คิดขึ้นมาเองอย่างหลวงพ่อ หรือท่านอาจารย์บางท่านที่คิดธรรมของท่านง่ายๆ ไว้นั่น มี...ที่ไม่เอาในพระอภิธรรมนั่นมีเหมือนกัน หรือเอาสักนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็มาคิดขึ้นเอง อย่างเช่นทำอานาปานสตินี้เป็นต้น ในพระอภิธรรมบอกว่า "ให้นับลมหายใจเข้าหายใจออก จนจิตตั้งมั่นนับไม่หลง" แต่นี่ให้นั่งดูลมาหายใจเข้าหายใจออก หรือนั่งดูลมหายใจเข้าลึกเหนือสะดือ ๒ นิ้ว นั่นมาสอนกันเอง แล้วลมหายใจอะไรเล่าผ่านลำไส้มาจากไหนกันนั้น ลมหายใจมันลงไปแค่ปอดเท่านั้นเอง แล้วทำไมลงไปอยู่เหนือสะดือ ๒ นิ้วได้นั่น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น แต่หลวงพ่อท่านสอนอย่างนั้นก็ทำกันอยู่นั่นแหละ แล้วก็ว่าทำอานาปานสติดูลม
ทีนี้บางคนก็จะ ดูให้จนลมดับไม่ให้มี นี่ก็มีเป็นศิษย์ที่นี่เหมือนกัน ที่สุโขทัยสอนอยู่คืนหนึ่งนั่นยังไม่ยอมเข้าใจ ก็ถามเขาว่า "ถ้าลมดับแล้วเราเป็นพระอรหันต์หรือ?" ก็ตอบไม่ได้ "เราหมดกิเลสหรือ?" ก็ตอบไม่ได้ ก็ถามว่า "คุณต้องการดับเรื่องอะไร?" "ธรรมชาติมันต้องหายใจอยู่นี่มนุษย์" "ผมต้องการให้ลมหายใจมันดับ" ก็เลยบอกเขาว่า "อานาปานสติไม่ใช่ว่าต้องการให้ลมมันดับนี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ลมมันดับ" แต่ว่าถ้าจิตละเอียดถึงที่สุดนั่นมันเหมือนไม่มีลมหายใจ เรามีความรู้สึกอย่างนั้นนั่นจิตละเอียดมาก ถ้าเอาสำลีมารอที่จมูกจึงจะรู้ คนนั่งอยู่ใกล้ๆ นั่งมองนั่นไม่รู้หรอก คือ การหายใจเข้าหายใจออกปกติ ร่างกายมันมีการกระเพื่อม (แต่นี่ไม่มีหรอก นั่นจิละเอียดเมื่ออานาปานสติถูกต้อง) แต่จะให้ลมดับนั้นมันไม่ได้ ลมดับก็ตาย ทีนี้ก็เห็นว่าไม่ยอมเข้าใจโดยง่ายก็เลยต้องวางไม้เด็ดตอนเช้าใกล้รุ่ง แล้วจะพูดคำเดียวเท่านั้นไม่พูดอีก เพราะทิฏฐิมานะมาก เลยบอกว่า "นี่ถ้าคุณต้องการจะให้ลมดับ ไม่ยากหรอก วานใครก็ได้สักคนขุดหลุมลึกลงไปแค่หน้าอก กว้างสัก ๒ ศอก ยาวสักวา ลึกสัก ๓ ศอก พอขุดหลุมเสร็จเราก็ลงไปนอนในก้นหลุมแล้วสั่งให้เขากลบดินแล้วเหยียบให้แน่น ดับแน่ลม" แล้วก็ไม่พูดอีก ๙ เดือน กลับมาหาอาตมา มาหาที่นี่แล้วมาเป็นศิษย์ ๙ เดือน เจอคำๆ เดียวเท่านั้นมาถึงกราบ ๓ ทีแล้วบอกว่า "หลวงพ่อจำผมได้ไหม" "อ้อ...นึกได้แล้ว พบที่สุโขทัยใช่ไหม? ที่บ้านหลานชาย" บอก "ใช่" ถามว่า "คุณมาธุระอะไร" "ผมมาหาหลวงพ่อมาขอธรรม ผมรู้แล้วผมทราบแล้วว่าผมนี้โง่มาก บวชมา ๔ ปี ไม่ได้อะไรเลย" เลยก็บอกว่า "อ้อ....นี่คุณรู้แล้วรึว่าคุณโง่" บอก "รู้แล้วครับ" บอกว่า "นี่แหละปัญญา คุณมีปัญญาแล้ว เวลานี้ปฏิบัติได้" "ใครที่รู้สำนึกว่าตัวนี่โง่ นั่นแหละปัญญา ถ้ารู้ว่าตัวนี้มีปัญญามากนั่นแหละโง่ที่สุด" เรื่องปฏิบัติธรรมนี่มันอัศจรรย์ ไอ้นั่นก็รู้ ไอ้นี่ก็รู้ พูดได้ว่ามีปัญญามากนั่นแหละตัวโง่ ถ้า "เอ้...มันไม่รู้นี่ ทำอย่างไร? มันก็ไม่ยอมรู้ไม่เข้าใจ เพราะธรรมที่จิตของเรายังไม่กระจ่างแจ้ง" ที่เรียกว่ารู้ๆ มันต้องรู้ที่จิต (ไม่ใช่หูฟังแล้วจิตไปจำเอาไว้แล้วก็เรียกว่ามีปัญญานั่นไม่ใช่) จิตที่เราจำได้นั้นเรียกว่า สัญญา ไม่ใช่ปัญญา จำได้หมายรู้ จำได้เรื่องอะไรนั่นมันเป็นสัญญา ส่วนปัญญานั้นมันรู้แจ้งมันรู้ตลอด มันแทงทะลุ มันตีแตก เรียกว่ารู้ แล้วก็มีเหตุผลที่รู้นั้น
นี่คือว่า ผู้ปฏิบัตินั้นคือ อ่านก็อ่านลวกๆ ไม่ตรึกตรอง อ่านธรรมะนี่บางครั้ง ๓ เที่ยวแล้วยังไม่รู้เรื่อง เพราะการแปลไม่ได้แปลเป็นสำนวนไทยแท้ๆ แปลไปตามภาษาบาลี แปลไปตามตัว แปลตามไวยากรณ์ของบาลีไป ทีนี้การอ่านธรรมะถ้าผู้ปฏิบัติรู้จักธรรม รู้ธรรมแล้วก็อ่านเข้าใจง่ายไม่ลำบากตีแตก ข้อสำคัญที่สุดให้มีศรัทธาในการปฏิบัติ คือ มีความเชื่อในคำสั่งสอนปฏิบัติตามคำสั่งสอน เมื่อเราทำตามได้แล้ว ผลมันเกิดขึ้นบอกเราเอง
ถ้า มัวแต่คิดว่า "เราจะคิดทำอย่างนั้นคิดทำอย่างนี้" ซึ่งเราไม่ได้เป็นพระศาสดาหรือพระอรหันต์ที่จะรู้ธรรมแล้วเอามาทำเองได้ พระพุทธเจ้าวางไว้ดีแล้วทุกอย่าง เราเพียงทำตามที่พระองค์สอน พระองค์แนะที่วางไว้นั่นเราก็ยังทำให้ครบให้ถ้วนไม่ได้ ฉะนั้นการฝึกปฏิบัติธรรมเมื่อฝึกกับผู้ที่รู้จักธรรม หรือผู้ที่มีความรู้ในธรรมแล้วจึงเป็นการไม่ยาก เราทำตามเท่านั้น
ดัง เช่นเรื่องกายสั่น มือสั่น ตัวสั่นอย่างนี้บางคนไม่เอา บางคนถึงกับพูดว่า "นั่นมันเจ้าเข้าทรง" เอาเถอะไปใหญ่นั่น คนที่เจ้าเข้าทรงนั่นมันรู้เมื่อไหร่ล่ะ? ตัวเองไม่รู้ ออกแล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร? เพราะจิตของตัวออกไปจากร่าง แล้ววิญญาณของผู้อื่นเข้ามาอยู่ในตัวเรา ใช้ร่างกายของเรา มาใช้อวัยวะของเรา จะพูดหรือกิริยาท่าทาง แต่จิตนั้นไม่ใช่ของเรา เป็นของผู้อื่น เป็นของยักษ์ของมาร ของภูตผีปีศาจ หรือ ของเทพบางพวก แต่เทพเขาไม่ค่อยมายุ่งหรอก ที่ว่า "เทพๆ เจ้าๆ นั่นไม่จริงแท้หรอก" มีบางครั้งเท่านั้นที่จะมี เคยพบแล้วเทพที่เข้าสิงสู่คนนั้นลักษณะเป็นอย่างไร? ผิดมาก ต่างจากไอ้พวกเจ้าเหล่านั้น ราศีของเจ้าก็ไม่มีสักนิดหนึ่ง ราศีของคนทรงก็ไม่มีเลยหน้าดำหน้ามุ่ย แต่ถ้าเทพลงมาสิงสู่ผู้ใดจริงแล้ว มองเห็นรัศมีผิวพรรณหน้าตาเลือดฝาดดีทั้งนั้น การพูดการจาของเทพพูดมีจังหวะ พูดอ่อนโยน รู้จักพระจักเจ้า แล้วพูดนิ่มไม่พูดกระด้างเลย พูดไพเราะแล้วไม่พูดมาก แต่นี่เจ้าอะไรมันถึงจะกินไก่กินเหล้า ถ้าไม่ทำตามจะหักคอเสียบ้าง เจ้าอะไร? นี่แหละมันหลายอย่าง
ฉะนั้น โดยมากทิฏฐิมานะของเรามีทุกคน ที่ว่าไม่มีนั้น มีมานะคือ การถือตัวถือตน ถือรู้ ถือชาติ ถือการเกิด ถือตระกูลดี ถือฐานะอะไรเหล่านี้ ทีนี้การปฏิบัติธรรม ถ้ามีทิฏฐิมานะตัวนี้อยู่ด้วยแล้ว การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันก็เป็นไปได้ยาก ฉะนั้นเราต้องทิ้งหมด เราต้องมีความคิดความเห็นของเราให้ตรงว่า เราเป็นสัตว์โลกตัวหนึ่งเท่านั้น จะเป็นวัว เป็นควาย เป็นช้าง เป็นม้าอะไรก็เป็นสัตว์โลก เราเมนุษย์นี้ก็เป็นสัตว์โลก แม้แต่เทวดาก็ยังเป็นสัตว์โลก ผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกามคุณทั้งสิ้น เรียกว่า สัตว์โลกทั้งนั้น ฉะนั้นเราก็เป็นสัตว์โลกอย่างหนึ่งเท่านั้น การที่จะมีทิฏฐิมานะ ถือชาติ ถือตระกูล ถือศักดิ์ ถือรู้ ถือความรู้ ถืออะไรก็ตามมันถือเอาอะไร? เหมือนกันทั้งสิ้น ขันธ์ทั้ง ๕ มันก็เหมือนกัน มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายกัน รูปเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน และเสียงไม่เหมือนกัน จิตใจดั้งเดิมก็มีปัญญาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ใครสะสมกิเลสไว้มากกว่ากันก็โง่และฉลาดผิดกว่ากัน แล้วแต่การสะสมกิเลสของตนไว้ มันเป็นอย่างนี้
พระอาจารย์ ถาม.. "แล้วฌานได้หรือยัง? ฌาน ๒?"
ลูกศิษย์ ตอบ. "ยังไม่ได้ค่ะ"
พระ อาจารย์ ถาม.. ไม่ใช่ไปนั่งเอาเองได้เหมือนเราเรียนหนังสือ (เราต้องนึกดู) ตำราแบบเรียนเร็วเขามีนี่ เรียนลัดแล้วเราเรียนให้รู้ซิ ถ้าไม่มีครูสอนก็ไม่รู้หรอก ต้องมีครูสอนครูแนะ ต้องคอยเตือนสติ ธรรมะนี่ก็เช่นเดียวกัน ที่เราจะรู้ได้ก็ต้องมีครูอาจารย์คอยชี้แนะ คอยเตือนอยู่ก่อน แล้วถ้าว่าเราจะนั่งเอาเองแล้ว ถ้ามันเกิดขึ้นเราจะรู้ได้อย่างไร? ว่านั่นคืออะไร...ก็ไม่รู้
เช่น มีคนที่ทำงานอยู่นี่เคยบวช เมื่อบวชแล้วก็มีจิตมีศรัทธา จำได้ว่าอุปัชฌาย์บอก "เกศา โลมา..." ให้บวชแล้วเขาก็นั่เลย นั่งท่อง "เกศา โลมา..." นั่งท่องจิตมันก็ตั้งได้ เข้าหายวืดเที่ยวเหาะเหินเดินอากาศไปที่นั่นที่นี่ แล้วรู้ว่าที่นั่นจะสร้างวัด ที่นั่นเป็นอย่างนั้นๆ พอตอนออกจะคืนกลับมานั้น ปีติ คือ ฌาน ๒ มันขึ้นจนกุฏเกือบพัง ดังสนั่นหวั่นไหวไปหมด พระทั้งวัดก็วิ่งมาดู อาจารย์ของเขาก็วิ่งมาดูแล้วก็ถามว่า "เออ...เป็นอะไรไปคุณ?" เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้เป็นอะไร เขานั่งกรรมฐานว่า "เกศา โลมา...." แล้วก็มันหาย จิตมันตั้งได้มั่นแล้วก็ไปเที่ยวที่นั่น ที่นี่ เห็นนั่น เห็นนี่ เห็นเดือน เห็นตะวัน เห็นเทพ เห็นอะไรๆ อาจารย์ของเขาก็บอกว่า "คุณอย่าทำอีกนะต่อไป" แล้วก็ไล่พระผู้อื่นกลับไป แล้วก็เข้าไปปลอบ เพราะนึกว่าบ้า "คุณอย่าทำนะต่อไปมันจะเป็นบ้า" จนครบพรรษาแล้วก็สึกไป มีลูก ๗-๘ คน แล้วนี่มาที่นี่มาเป็นศิษย์ เขาก็เล่าให้ฟัง ก็บอกเขาว่า "ยังทำได้ไหม?" เอาว่า "เกศา โลมา...." ตามเดิมนั่นแหละ เขาก็ทำ เดี๋ยวก็สั่นโครมๆ ก็บอกว่า "นั่นฌาน ๒" แล้วก็ "ฌาน ๓ ฌาน ๔" ก็บอกให้ ก็ขึ้นได้...ก็เห็น เขาก็บอกว่า "อย่างนี้แหละ อย่างนี้ที่ผมเคยทำมาเมื่อผมบวชนั่น" จนอายุเกือบ ๕๐ แล้ว พึ่งมารู้เห็น นี่คนนี้ทำงานอยู่ที่นี่ แล้วอาจารย์สมภารที่วัดนั้นที่สอนเขาอย่างนั้น นั่นตัดขวางทางพระอริยะเจ้าของผู้อื่น เขามีธรรมแล้วไปว่าเขาจะเป็นบ้า นี่เพราะความไม่รู้ ฉะนั้นเราจะหาครูบาอาจารย์ต้องหาผู้รู้จริงๆ (ไม่ใช่รู้พูด) ต้องรู้กระทำ
ปฏิบัติ ให้ได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้แวเราก็โคลงเคลงอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จะเอาอะไรแน่ก็บอกว่า "ให้ชีสอนให้ ให้สอนจนได้ฌาน ๑ ฌาน ๒" ถ้าได้ฌาน ๒ แล้ว ฌาน ๓ ฌาน ๔ มันไม่ยาก แต่ถ้าไม่ได้ฌาน ๒ แล้วอย่าหวัง มันทำไม่ได้หรอก ฌาน ๒ นี่เป็นหลักของธรรมอันสำคัญ และเป็นอทธิฤทธิ์ ทำให้เกิดกำลังใจมาก ผู้ได้ฌาน ๒ แล้ว ความเลื่อมใสศรัทธาในธรรมก็เกิดขึ้น เมื่อใครได้ ฌาน ๒ เพราะมันเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ ตัวเราไม่เคยพบ ไม่เคยรู้ แล้วเมื่อมาพบมารู้เข้า จิตใจมันก็อิ่มเอิบพร้อมทุกอย่างที่ ฌาน ๒ นี้ แล้วมีกำลังใจเกิดขึ้น เพราะมันเป็นอิทธิฤทธิ์
ไม่ ได้หวังจะได้บริวาร หรือศิษย์มาก สอนให้ทำได้ แม้จะมีปริมาณน้อยก็ให้มันมีคุณภาพ ถึงจะมีศิษย์เป็นหมื่นเป็นแสนแล้วมีแต่ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร? มักรกขี้ขยะทั้งเพ ไม่มีแก่นสาร ศิษย์นี้ได้เพียง ฌาน ๑ ฌาน ๒ แค่นี้ก็ใช้ได้ ถือว่าเป็นผู้เข้าถึง เข้าเดินอยู่ในมรรคแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้เลย ก็ยังไม่เข้าถึงมรรค ใครที่เข้าได้ถึงมรรคก็คือ อยู่ในหนทางที่จะไปพระนิพพานนั้นแล้ว ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ยังไม่อยู่ในทาง เพียงศีลอย่างเดียวนั้นยังไม่อยู่ในทาง เพราะศีลอย่างเดียวนั้นหนทางในอนาคตชีวิตเราสิ้นบุญจากชาติที่เป็นมนุษย์นี้ แล้ว โอกาสที่จะไปเกิดใหม่อย่างสูงก็สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นเท่านั้น แล้วก็ลงมาเป็นมนุษย์อีกแค่นั้นเอง แต่ถ้ามีฌานนี้แค่ฌาน ๑ ก็พ้นสวรรค์ ๖ ชั้นได้แล้ว ได้ไปอยู่พรหมโลก มีบุญกุศลวาสนามากกว่ากัน เพราะพวกพรหมเว้นได้เด็ดขาดจากราคะ และโทสะ เป็นพวกพรหมนี่ไม่มีแล้ว ที่สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นนั้นยังมีราคะ และโทสะยังมีทั้งนั้น ถึงจะสะกดไว้ได้อย่างเทพผู้ใหญ่แต่ก็ยังมีไม่ใช่ตัดขาดได้
ลูกศิษย์ ถาม. เมื่อกำลังภาวนาอยู่นี่ อยากทราบว่าจะต้องทำอย่างไรกับลมหายใจ?
พระอาจารย์ ตอบ.. ถ้าไปยุ่งกับลมหายใจก็ทำงาน ๒ อย่างล่ะซิ ลมหายใจมันก็อย่างหนึ่ง ถ้าจะทำลมหายใจก็เรียกว่า อนาปานสติ เช่นนับลมหายใจเข้าและออก นั่นมันเป็นกรรมฐานห้องหนึ่งลมหายใจนี่ แต่เมื่อเราภาวนา "เกศา โลมา...." แล้วเราจะไปห่วงกาย ไปนึกถึงกายไม่ได้ ลมหายใจนั้นเรียกว่าเป็น มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ มันเกี่ยวกับรูปทั้งสิ้น ถ้าเราไปติดอยู่ที่รูปนั้นจิตก็ตั้งไม่ได้ ต้องทิ้ง ต้องไม่คำนึงถึง ต้องให้จิตมันภาวนาอยู่อย่างเดียวว่า "เกศา โลมา..." นั่งกายให้ตั้งตรง มือขวาทับมือซ้ายตามแบบแผน แล้วก็ตั้งใจภาวนาเรื่อยไปไม่ต้องเอาอะไร การภาวนานั้นในภาษาธรรมเรียกว่า บริกรรมภาวนา ก็เพื่อให้มีให้เป็น เมื่อจิตตั้งได้มั่นแล้ว ความมีความเป็นของธรรม คือ ฌานก็เกิดขึ้น คำบริกรรมนั้นเป็นธรรมที่ทำให้มีให้เป็น คือ คำภาวนานั่นเอง
ลูกศิษย์ ถาม. คือการภาวนาให้ช้าหรือให้เร็วที่จะต้องลำดับอย่างไร ครับ?
พระอาจารย์ ตอบ.. คือเมื่อจิตเริ่มตั้งได้ เมื่อปีติเริ่มเกิดขนลุกขนพองแล้ว ถ้าเราภาวนาให้เร็วขึ้นจิตมันก็มั่นคงขึ้น ถ้าเราภาวนาช้าๆ แล้วสังขารมันโผล่มาปรุงแต่งได้ มันเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคิดนึกได้ ถ้าเราภาวนาเร็วแล้วจิตก็ไม่มีเรื่องนึกคิดอื่นๆ สังขารก็ปรุงแต่งไม่ได้ ปีติก็จับได้เต็มที่ ฌาน ๒ เมื่อถึงฌาน ๓ ฌาน ๔ แล้วก็ภาวนาช้าๆ ผ่อนลมหายใจให้เบา อย่าให้หยาบ ถ้าลมหายใจหยาบ จิตมันก็หยาบ ถ้าผ่อนลมหายใจเบา จิตก็ละเอียด ถ้ายังรับรู้เรื่องลมหายใจว่าได้ยินลมหายใจอยู่ ยังรับรู้ลมหายใจอยู่ จิตก็ไปอยู่กับกาย (จิตไม่ได้อยู่เฉพาะจิต) จิตต้องไปนึกถึงกาย ไปเกี่ยวโยงกับกายอยู่ ฉะนั้นเมื่อภาวนาแล้วให้จิตมันทำงานอย่างเดียว คือ ภาวนาเท่านั้น เรื่องลมหายใจนั้นเราต้องรู้สภาพความเป็นธรรมชาติ คือ เราจะบังคับให้มันหยุดก็หยุดไม่ได้หรอก มันจะหายใจเบาหรือมันจะหายใจหยาบ มันก็อยู่ที่ร่างกายของเราออกกำลังหรือไม่ออกกำลัง ถ้าออกกำลังก็หายใจหยาบ ถ้าไม่ออกกำลังถ้านั่งนิ่งสงบกายสงบอยู่ การหายใจมันก็เบาลง เมื่อหายใจเบาลงจิตของเรามันก็ไม่วุ่นวาย เพราะไม่ต้องไปรับรู้ก็ประคองจิตตั้งได้มั่น
ลูกศิษย์ ถาม. ไม่ต้องพิจารณา หมายถึงแปลคำภาวนาใช่ไหม ครับ?
พระอาจารย์ ตอบ.. นั่นแหละ ไอ้ตัวแปลตัวพิจารณา วิปัสสนึก นี่มันยุ่งจริงๆ อาจารย์ไหนก็อาจารย์นั้นแหละ นั่งพิจารณาว่าผมเป็นอย่างนั้น ขนเป็นอย่างนั้น เล็บเป็นอย่างนั้น ฟันเป็นอย่างนั้น หนังเป็น อย่างนั้น (มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน) นั่นแหละตัวเลอะเทอะ ตัวนั่งพิจารณานั่งคิดนึกนั่นมันตัววิตก เมื่อจิตยังเป็นวิตกอยู่แล้วมันจะตั้งได้กับอะไรเล่า? สมาธิมันตั้งไม่ได้ นั่นแหละตัวพิจารณา อาจารย์ไหนก็อาจารย์นั้นแหละพิจารณา
การพิจารณาวิปัสสนาที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่นั่งคิดอย่างนั้น คือ เมื่อเห็นรูปจากนิมิตที่เกิดขึ้นจะสวยจะงามหรือไม่สวยไม่งามก็ ละ ได้ยินเสียงก็ ละ ปวดขึ้นมาก็ ละ นึกคิดขึ้นมาก็ ละ ได้กลิ่นก็ ละ รสเกิดขึ้นที่ลิ้นก็ ละ ละกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่คือตัววิปัสสนา ตัววิปัสสนาคือ ตัวละ ฝึกให้จิตมันละ ให้มันทิ้ง ให้มันปล่อย ให้มันวาง เมื่อฝึกอยู่อย่างนี้ทุกวัน จิตมันรู้มันก็คุ้นเคยแล้วมันก็ไม่รับสิ่งเหล่านั้นต่อไป มันก็เบื่อหน่ายต่อกามคุณนั่น นั่นแหละตัววิปัสสนา คือ ตัวละ ไม่ใช่นั่งคิด ตัวคิดนึกนั่นเป็นตัววิตก (ไม่ใช่ตัวละ)
ลูกศิษย์ ถาม. คำว่า "ละ" นี่คือไม่คิดถึงหรือยังไง คะ?
พระอาจารย์ ตอบ.. "ละ" คือ ให้จิตมันทิ้ง เราอย่าไปนึกถึงมัน ตัวละ คือไม่เอา ทิ้ง วาง
ลูกศิษย์ ถาม. เมื่อกลับไปแล้วให้ภาวนาอย่างเดียว คือ ไม่ต้องขึ้นวิปัสสนาใช่ไหม ครับ?"
พระอาจารย์ ตอบ.. ยังขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ ไม่ได้ฌาน ๔ ขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ ถ้า ใครไม่ได้ฌาน ๔ แล้วไปขึ้นวิปัสสนาที่ทำกันนั่งถึงก็ทำวิปัสสนา นั่นมันแหละหิมพานต์นั่นแหละ ไม่ใช่นิพพาน เป็นหิมพานต์ พบมามากแล้วโยมเอ๊ยก็ทุกๆ คนที่ทำวิปัสสนาก็รับว่าจริง หิมพานต์จริง มันไม่ลงสักที มันไม่เห็นอะไรสักที แล้วจิตก็ไม่เห็นมันจะสงบสักที มันจะสงบอะไรล่ะนั่งคิด เมื่อมัวนั่งคิดแล้วมันจะเอาอะไรมาสงบล่ะ จิตคิดกับนึก ๒ อย่าง คิดถึงอนาคต นึกถึงเรื่องอดีต อดีตก็เอาสัญญามาทั้งสิ้น คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วในชีวิต ไม่ใช่วันนี้ มันตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อวานซืน หรือตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก อะไรที่มีมันก็เอามานึกมาคิดต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง (ตามที่ตนพบมา นั่นเอามานึก...นึกมา ส่วนคิดนั่นอยากจะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อยากจะมีหน้าที่การงาน อยากมีบ้านมีช่อง มีตึกมีราม คิดไปข้างหน้า) แล้วมันได้อะไร? ก็ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น เรื่องอดีตไปนึกก็ไม่ได้อะไรทั้งสิ้นเหมือนกัน
ที่ พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้อยู่กับปัจจุบัน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่หลับตาอยู่นี่ มันปวดที่ขา ปวดที่สันหลังก็ละสิ่งนั้น เมื่อละแล้วถ้าจิตมันละได้ สิ่งนั้นมันก็ดับ เมื่อดับนั่นแหละเป็นตัวนิโรธ เพราะสิ่งที่เกิดนั้นเป็นทุกข์ รูปต่างๆ เป็นทุกข์ เสียงต่างๆ ก็ให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเรารับเอากามคุณทั้ง ๕ ก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น เป็น ทุกข์ปรมัตถ์ อย่าไปคิดว่าทุกข์ธรรมดา ทุกข์ คือ ความไม่เที่ยง มันไม่คงที่ เรียกว่าเป็นทุกข์
ทำ มากดีกว่าพูดมาก (จำไว้) นิ่งดีที่สุด ทำมากดีกว่าพูดมาก เคยเจอที่กรุงเทพฯ ร้อยเอกจาตุรงค์ ๒ วัน ๒ คืน พาเพื่อนมา พาญาติมาได้หมด ได้ถึงฌาน ๔ เลย แต่ตัวเองถามอยู่นั่นแหละ ๒ คืน คือ จะถามให้จน แต่ผลสุดท้ายมันไม่จบ แล้วพอหยุดถาม "เอ้า...ถามซิ" ก็จี้อีก "ถามซิ หมดแล้วหรือ?" ก็นั่งเกาหัวยิกๆ ไม่รู้จะทำอะไร เหลียวไปเหลียวมา "เอ้า...ถามอีก อย่าให้เสียเวลา ถามให้หมด ให้หมดสงสัย" พอลงท้าย ๒ คืนก็ถามเขาบ้างว่า "นี่ได้อะไรบ้าง? เรามา ๒ คืนแล้ว ถามคนอื่นที่มาด้วยกันดูว่าเขาได้อะไร? ฌาน ๔ นี่ แล้วเราได้อะไร? เขาตอบว่า "จริง แล้วผมค่อยเอาเที่ยวหลัง" ปวารณาตัวเป็นศิษย์แล้วนะเอาเที่ยวหลังนั่นแน่ะ เลยบอกไปว่า "แล้วรู้หรือว่าจะอยู่อีกเมื่อไร อีกนานเท่าไร?" เราไล่แหละทีนี้ "อืม...ลำบาก" แล้วก็ไม่ได้พบอีก
การ ถาม ถามแต่ที่เราปฏิบัติ เขาสงสัยว่า "ทำไมถึงขนลุกขนพอง หรือทำไมมันถึงกระตุก ทำไมมันถึงสั่น" นั่นถามอย่างนั้น นั่นเพราะเราจะต้องพบ หรือบอกให้รู้แล้ว พอมันเกิดขึ้นแล้วเราก็ไม่ต้องถาม "อ้อ...รู้ว่านี่มันคือฌาน ๒" นั่นเรียกว่า ปีติ ชื่ออุพเพงคาปีติ คือ กายโยก กายสั่น กายคลอน กระโดดโลดเนไป
พยายาม นั่งให้นาน ให้มีความอดทน ทุกๆ คนที่นั่งปฏิบัตินี่ต้องเจ็บต้องปวดทั้งนั้น อาตมาเองเอาผ้า ๓-๔ ชั้น จีวรสังฆาฏิมารองแล้ว มันก็ปวดอยู่นั่นแหละ เอาผ้าขนมารองแล้วมันก็ปวดอยู่นั่น ปวดก้นไม่พอ ยังปวดสันหลังด้วย พอปวดสันหลังหนักเข้าตรงขมับนี่มันลั่นเปรี๊ยะๆ มันเหมือนจะแตก มันปวด "เอ้...ทำยังไงดี" จะทำยังไง เมื่อบวชเข้ามาแล้วมันก็ต้องทำให้มันตาย ให้มันรู้ไป มีเท่านั้น แล้วเป็นไง? หยุดไหมล่ะ? ชั่วเวลาปีกว่าๆ ที่เราลำบากนั่น ต่อจากนั้นก็มีแต่ความสุขความสบาย นั่งเท่าไรก็ได้ เพราะเราชนะมัน เรามีความเพียรมั่นคง เราไม่ท้อถอย
บาง คนก็เที่ยวพูดไปส่งๆ ว่า "ทำฌานไปพระนิพพานไม่ได้" นั่นรู้ไม่จริง ใครบอกว่าเอาฌานเข้าพระนิพพาน พระพุทธเจ้าสอนไว้ที่ไหนว่าเอาฌานเข้าพระนิพพาน นั่นไม่รู้ว่าฌานนี้มีไว้สำหรับเป็นเครื่องมือเดินทางเท่านั้น ไว้เป็นอาวุธ ไว้เป็นกำลัง ไว้เป็นอิทธิฤทธิ์ เพราะทางที่เราจะเดินไปพระนิพพานนั้น (ถ้าเปรียบเหมือนบนพื้นแผ่นดิน ก็เรียกว่า มีขวาก มีหนาม มีเศษกระเบื้อง มีเศษแก้ว มีอะไรอยู่พร้อมข้างหน้าเหมือนอย่างนี้แหละ ถ้าเปรียบเหมือนทางโลกก็อย่างนี้) ทางพระนิพพานนั้นไม่ได้ปูด้วยพรมราบเรียบ และไม่ได้โรยไว้ด้วยดอกกุหลาบ มันล้วนแต่ขวากหนามทั้งนั้น มารต่างๆ คือ (กิเลสมาก อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร ขันธมาร มัจจุมาร) พอตั้งใจดีก็ตายเสีย พอจะทำดีก็ตายเสีย มารทั้ง ๕ มันก็อย่างนี้แหละ แล้วลูกหลานมารอีกไม่รู้เท่าไร นั่นเฉพาะแม่มันตัวใหญ่นั่น เอาล่ะนั่งเถอะ
หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ
วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
๕ กันยายน ๒๕๒๔

http://sites.google.com/site/wattham/rwm-thrrm-brryay/thrrm-wan-makhbucha/khanth-lok/pkinka-thrrm-ptibati

No comments: