1. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ คือ ตั้งเอาไว้เป็นของนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้เป็นของประจำตัวชนิดนั้นๆเช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร
คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐานส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร,คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ”(ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ เป็นต้น)
2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐),ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา
ที่มา http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อธิษฐาน
ดังนั้น การตั้งจิตอธิษฐาน คือการตั้งใจมั่นในสิ่งที่เรากระทำ เหมือนพระโพธิสัตว์ที่ท่านตั้งใจมั่นในการสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า การอธิษฐานจึงเป็นบารมีสำคัญข้อหนึ่งในบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ อานิสงค์ของบารมีข้อนี้ คือ ทำให้เราตั้งมั่น ไม่ออกนอกลู่นอกทางในการสร้างบารมี
การอธิษฐานจึงไม่ใช่การขอนู่นขอนี่ แต่เป็นการตั้งจิตเพื่อให้สิ่งที่เรากระทำลงไป ตรงตามเป้าหมายที่เราต้องการ คือ พระนิพพานและที่สุดแห่งธรรม
การอธิษฐาน ถือเป็นบารมี 1 ใน 10 ทัศที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ต้องสั่งสมให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์จึงจะสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้
การอธิษฐานนั้น ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนหางเสือเรือ ที่จะคัดท้ายนาวาชีวิตให้ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว ถ้าปราศจากการอธิษฐานเสียแล้ว ชีวิตก็เหมือนเรือที่ขาดหางเสือ ไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน ได้แต่ลอยตามน้ำ ตามกระแสกิเลส ยากที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ดังนั้นการอธิษฐานที่เรียกว่าเป็นอธิษฐานบารมีคือ การอธิษฐานเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้มีสิ่งดีๆ บังเกิดขึ้นในชีวิตเพื่อเกื้อหนุนในการสร้างบารมี สร้างความดี ได้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สำหรับข้อดีของการอธิษฐานบารมีก็เหมือนกับเป็นหางเสือชีวิต เป็นการตั้งผังชีวิตในภพชาติต่อไป ว่าต้องการให้มีชีวิตเป็นอย่างไร หรือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ การอธิษฐานก็เหมือนกับการตั้งผังชีวิตที่ชัดเจนว่า การเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ เราต้องการให้ชีวิตเราเป็นอย่างไร
แต่สิ่งที่อธิษฐานจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งทีเราปรารถนานั้นยิ่งใหญ่เพียงไหน ถ้าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือการบรรลุธรรม ก็ต้องใช้บุญมาก การทำบุญเพียงนิดๆ หน่อยๆ ไม่อาจจะทำให้เราบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือบรรลุธรรมได้ เราจำเป็นต้องสั่งสมบุญบ่อยๆ แล้วอธิษฐานตอกย้ำในเรื่องเดิม สิ่งที่เราปรารถนาจึงจะสำเร็จ ถ้าชาตินี้ยังไม่สำเร็จ สิ่งทีเราอธิษฐานเอาไว้ก็จะเป็นเชื้อให้ภพชาติต่อไป เมื่อเรามาเกิดสร้างความดี สิ่งที่เราอธิษฐานเอาไว้ในชาติก่อนจะกระตุ้นเตือนให้เราอยากจะสร้างความดีเพิ่มขึ้น แล้วก็มาอธิษฐานในสิ่งที่ยังไม่สมหวังในชาติที่แล้ว
ถ้าจะให้อุปมา บุญเปรียบเสมือนเงิน สิ่งที่เราปรารถนาเปรียบเสมือนสิ่งของที่เราอยากได้ ถ้าสิ่งที่เราอยากได้ราคายิ่งแพง (คำอธิษฐาน) เราก็ต้องยิ่งเก็บเงินมากๆ (มีบุญมากๆ) เพื่อที่จะได้มีเงินไปซื้อของสิ่งนั้น (คำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผล)
แต่ผู้ฉลาดในการลงทุน แทนที่เอาแต่เก็บเงินทีละนิดๆ จนมีเงินพอไปซื้อของ ก็จะเอาเงินไปลงทุนเพิ่มเติม ขยายกิจการ ให้มีทางมาของเงินมากขึ้น จะได้ซื้อของที่อยากได้แต่ราคาแพงได้เร็วขึ้น ถ้าจะให้อุปมาก็เหมือน พอเราทำบุญแล้วเราอธิษฐานให้เราได้มี รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มรรคผล นิพพาน ที่สุดแห่งธรรม คือ เราอธิษฐานให้บุญที่เรามีส่งผลให้เรามีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ดีขึ้นในภพชาติต่อไป (คือ การลงทุนเพิ่มเติม ขยายกิจการ) แล้วเราก็นำรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ดีขึ้นในภพชาติต่อไป มาสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าภพชาติก่อน (คือ เรามีทางมาแห่งเงินมากขึ้น เหมือน เปลี่ยนฐานะจากมนุษย์เงินเดือนเป็นเจ้าของกิจการ) แล้วเราก็ตั้งจุดหมายปลายทางให้ชัดเจนว่า ให้มรรคผล นิพพาน ที่สุดแห่งธรรม (คือ สามารถซื้อสิ่งของราคาแพงทีเราอยากได้)
ดังนั้นคนในยุคปัจจุบันที่บอกว่า ทำบุญแล้วอธิษฐานเป็นการโลภนั้น เค้าไม่เข้าใจหลักการดำเนินชีวิตในวัฏฏสงสาร แต่ถ้าเราทำบุญแล้วอธิษฐานในสิ่งที่ผิด บุญก็จะบันดาลให้สำเร็จเหมือนกัน แต่จะทำให้ชีวิตแย่ลง เพราะเราจะหลงไปสร้างบาปเพิ่มเติมได้
No comments:
Post a Comment