Friday, June 17, 2011

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๓ )


พระองค์ ทรงรับอาราธนา แล้วประทานบาตรแก่มหาทุคตะ มหาทุคตะรับบาตรไปด้วยความดีใจ เสมือนหนึ่งได้มหาสมบัติจักรพรรดิ น้ำตาไหลอาบแก้ม ด้วยความปลาบปลื้มปีติยินดี แม้พระราชามหาอำมาตย์ จะอ้อนวอน ขอบาตร หรือต่อรองขอซื้อบาตร ด้วยราคาเป็นแสน เขาก็ไม่ยอมขาย เพราะมหาทุคตะเป็นผู้มีปัญญา เห็นว่าบุญเท่านั้นที่จะเป็นสมบัติติดตัวไปได้ ทั้งในภพนี้และภพเบื้องหน้า จึงไม่ยอมยกบุญนี้ให้แก่ใคร









มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๓ )

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรท้อถอย
ควรมุ่งหมายจนกว่าจะประสบความสำเร็จ


ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่โลกผันผวนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์กำลังประสบปัญหารุม เร้ารอบด้าน จนทำให้เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย สับสนในชีวิต หมดกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป ในภาวะเช่นนี้ หากมีใครสักคนที่เข้าใจ และคอยให้กำลังใจ ก็จะทำให้ความรู้สึกดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง ใครสักคนที่ว่านั้น มิใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ ดังนั้นบุคคลที่จะให้กำลังใจเราได้ดีที่สุดก็คือ ตัวของเราเอง ไม่ควรคิดว่า เรื่องนั้นเป็นปัญหา ทุกปัญหาล้วนมีวิธีแก้ไข ฉะนั้นปัญหาจึงมีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้กลุ้ม ขอ เพียงเราเดินออกจากปัญหา และทำจิตใจให้สงบ ก็จะพบทางออก ถ้าเรารู้จักคำว่า หยุด ชีวิตย่อมจะพบความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ ใจหยุดนิ่งจะทำให้พบหนทางสว่าง ที่จะนำพาเราไปสู่อิสรเสรี เป็นตัวของตัวเอง และได้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ คือ พระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน จูฬชนกชาดก ว่า

"วายเมเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต
บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรท้อถอย
ควรมุ่งหมายจนกว่าจะประสบความสำเร็จ"

อัธยาศัยอย่างหนึ่งของพระบรมโพธิสัตว์ที่น่าศึกษา คือ เมื่อท่านตัดสินใจทำอะไรแล้ว จะไม่ย่อท้อ หากไม่สำเร็จเป็นไม่เลิกลา จะไม่ตามใจกิเลส เพราะรู้ว่ากิเลสคือสิ่งที่ชักจูงใจให้ตกต่ำ ต้องเวียนวนอยู่ในมหาสมุทรแห่งทุกข์ใน สังสารวัฏ ไม่สามารถข้ามขึ้นสู่ฝั่งพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้พุทธสาวกมีความเพียรไม่ลดละ เพราะคนจะล่วงพ้นจากทุกข์ได้เพราะความเพียร หากย่อหย่อนแล้ว ความสำเร็จที่ตั้งไว้จะไกลออกไป แม้การสั่งสมบุญก็ต้องมีความเพียร มีใจจดจ่อ ไม่ย่อท้อเมื่อเจออุปสรรค

อุปสรรค นอกจากแปลว่า สิ่งขวางกั้นการทำความดีของเราแล้ว นักปราชญ์ยังให้ไว้อีกนัยหนึ่งว่า อุปสรรค แปลว่า เข้าใกล้สวรรค์ ใกล้ความสุขและความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อพบเจออุปสรรค ก็ให้ดีใจเถิดว่า เราใกล้จะประสบความสำเร็จแล้ว

สำหรับตอนนี้ เรามาติดตามเรื่องราวของมหาทุคตะ ผู้ไม่ย่อท้อในการทำความดีกันต่อ ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงมหาทุคตะเสียใจที่ผู้นำบุญมัวแต่สาละวนจนหลงลืม ทำให้เขาไม่มีเนื้อนาบุญไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ทว่าผู้นำบุญได้ชี้ทางสว่างให้ว่า อย่าเพิ่งท้อแท้ใจ พระบรมศาสดาทรงเป็นผู้อนุเคราะห์คนยากคนจน ขอให้ไปทูลอาราธนาพระพุทธองค์เถิด

*วันนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นมหาทุคตะเข้ามาในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่า มหาทุคตะคิดจะเลี้ยงพระ ได้ตั้งใจทำงานรับจ้างเพื่อทำบุญ แต่ว่ามหาทุคตะจะไม่ได้เลี้ยงพระ เนื่องจากคนที่มาบอกบุญลืมแบ่งพระให้ มีแต่เราตถาคตเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของมหาทุคตะในครั้งนี้ เมื่อทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงทำสรีรกิจแต่เช้าตรู่ แล้วเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ประทับนั่งรอคอยเวลาที่จะสงเคราะห์ มหาทุคตะ

ฝ่ายมหาทุคตะ เมื่อได้รับคำแนะนำแล้ว ได้มุ่งหน้าไปสู่พระคันธกุฎี ซึ่งมีทั้งพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมทั้งเหล่ามหาเศรษฐีทั้งหลาย ที่กำลังรอคอยรับบาตรจากพระบรมศาสดา ทุกท่านต่างพูดห้ามปรามมหาทุคตะว่า "เวลานี้ ไม่ใช่เวลามาขออาหาร เจ้าจงออกไปเสียก่อน"
เพราะที่ผ่านมา เคยเห็นแต่มารอคอยรับอาหารที่เหลือหลังจากพระฉันเสร็จแล้ว มหาทุคตะตอบว่า ข้าพระองค์ไม่ได้มาขออาหาร แต่มาเพื่อถวายบังคมพระบรมศาสดาต่างหาก" เขาซบศีรษะลงที่ธรณีพระคันธกุฎี ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ พลางกราบทูลเสียงดังว่า "ผู้ที่ยากจนกว่าข้า พระองค์ ในเมืองนี้ไม่มีอีกแล้ว พระเจ้าข้า ขอพระองคŒทรงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระองค์เถิด ขอทรงทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิด"

ธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุเคราะห์ชนทุกชั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์ทรงรับอาราธนา แล้วประทานบาตรแก่มหาทุคตะ มหาทุคตะรับบาตรไปด้วยความดีใจ เสมือนหนึ่งได้มหาสมบัติจักรพรรดิ น้ำตาไหลอาบแก้ม ด้วยความปลาบปลื้มปีติยินดี แม้พระราชามหาอำมาตย์ จะอ้อนวอน ขอบาตร หรือต่อรองขอซื้อบาตร ด้วยราคาเป็นแสน เขาก็ไม่ยอมขาย เพราะมหาทุคตะเป็นผู้มีปัญญา เห็นว่าบุญเท่านั้นที่จะเป็นสมบัติติดตัวไปได้ ทั้งในภพนี้และภพเบื้องหน้า จึงไม่ยอมยกบุญนี้ให้แก่ใคร
บุญใหญ่นี้ไม่ใช่ของสาธารณะสำหรับคนทั่วไป จึงตอบปฏิเสธว่า "สิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาที่สุดในเวลานี้คือบุญ แม้เอาทรัพย์สมบัติมากองเท่าภูเขา ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการ" เมื่อมหาทุคตะไม่ให้บาตรกับใคร ก็ไม่มีผู้ใดสามารถมายื้อแย่งเอาบาตรที่พระบรมศาสดาทรงประทานให้ได้

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน ทรงดำริว่า มหาทุคตะ แม้เขาจะเอาทรัพย์มาล่อ ก็ไม่ยอมให้บาตรของพระศาสดาแก่ใคร ช่างมีใจเด็ดเดี่ยวจริงหนอ ถ้าอย่างไร หลังจากมหาทุคตะถวายไทยธรรมแล้ว เราจึงจะทูลอาราธนาพระบรมศาสดาไปรับภัตตาหาร ที่พระราชมณเฑียรทีหลังก็ได้ จากนั้นต่างชักชวนกันตามเสด็จพระบรมศาสดาไปที่บ้านของมหาทุคตะ

ฝ่ายท้าวสักกเทวราช ครั้นจัดอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็ปูอาสนะอันสมควรสำหรับพระบรมศาสดา มหาทุคตะทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปข้างใน ปกติบ้านของมหาทุคตะจะหลังเล็กและต่ำมาก ถ้าหากไม่ก้มตัวลงจะเข้าประตูบ้านไม่ได้ แต่สำหรับพระพุทธองค์แล้ว พระองค์ไม่ต้องก้มก็เสด็จเข้าไปได้ เพราะแผ่นดินใหญ่ยุบลงต่ำเอง นี่เป็นผลแห่งมหาทานบารมีที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ถวายไว้ดีแล้ว และเป็นผลแห่งการแสดงความนอบน้อมต่อบุคคลผู้ควรกราบไหว้บูชา ฉะนั้นภพชาตินี้ จึงไม่มีใครหรือสิ่งใด ที่พระองค์ต้องก้มศีรษะให้อีกต่อไป

เมื่อพระบรมศาสดาประทับนั่งแล้ว ท้าวสักกะเปิดข้าวยาคูและภัตตาหาร อันมีกลิ่นเหมือนสุธาโภชน์ของเหล่าเทวดา กลิ่นนั้นหอมหวนยวนใจตลบไปทั่วทั้งเมือง พระราชาทรงตรวจดูข้าวยาคูและอาหารของมหาทุคตะแล้ว บังเกิดความอัศจรรย์ใจ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน คิดว่า ไทยธรรมของมหาทุคตะจะเป็นอย่างไร จึงตามมาดู ครั้นเห็นแล้ว ให้รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหม่อมฉันไม่เคยเห็นอาหารที่ใดที่เลิศเช่นนี้มาก่อนเลย พระเจ้าข้า" หลังจากนั้นก็กราบทูลลาเสด็จกลับพระราชมณเฑียร

มหาทุคตะและภรรยา พร้อมด้วยท้าวสักกะ ต่างกุลีกุจอ ถวายอาหารหวานคาว น้ำดื่ม น้ำล้างพระหัตถ์ด้วยความเลื่อมใส เมื่อพระบรมศาสดาเสวยภัตตาหารแล้ว ทรงอนุโมทนาในกุศลจิตศรัทธาของมหา ทุคตะ จากนั้นเสด็จลุกจากอาสนะเพื่อกลับพระวิหาร พระอินทร์ทรงบอกให้มหาทุคตะรับบาตร และตามส่งพระบรมศาสดา มหาทุคตะรีบเข้าไปประคองบาตร ตามเสด็จด้วยความปลื้มปีติในบุญใหญ่ครั้งนี้ ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามในตอนต่อไป

สำหรับตอนนี้มีข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ฝากทุกท่านว่า ถ้าเราตั้งใจทำความดีแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ อย่าย่อท้อ ชีวิตจะงดงามและมีคุณค่าเมื่อก้าวข้ามอุปสรรค ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะอยู่กับเราไม่นาน ไม่ช้าย่อมหมดไป ขอเพียงเราอย่ายอมแพ้ ยอดนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะท่านชิงช่วงสร้างบารมีในยุคที่ลำบากยากเข็ญ กระแสบุญจะส่งผลแรงในช่วงนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นผู้ที่ทำได้ต้องมีกำลังใจสูงส่ง เมื่อสามารถทำได้ จะเกิดมหาปีติ ส่งผลให้กระแสธารแห่งบุญ ที่สอดละเอียดซ้อนลงมาในกลางกาย มีกำลังแรงมากเป็นพิเศษ จนสามารถพลิกผันชีวิตของผู้นั้นให้ประสบความสำเร็จและได้ดียิ่งกว่าใครๆ ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสู้ต่อไป สู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. บัณฑิตสามเณร เล่ม ๔๑ หน้า ๓๒๔

ที่มา
http://buddha.dmc.tv/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99/mongkol02-23.html

No comments: