Thursday, June 16, 2011

เรื่องสุมนสามเณร....เกี่ยวกับการอธิษฐานให้ไม่รู้จักคำว่า "ไม่มี" และบุญ...แบ่งได้หรือไม่?

เรื่องสุมนสามเณร
เกี่ยวกับการอธิษฐานให้ไม่รู้จักคำว่า "ไม่มี" เลยทำบุญเลียนแบบเสียเลย

คัดลอกจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 43 หน้า 395-415

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 395***

๑๒. เรื่องสุมนสามเณร [๒๖๓]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภสุมนสามเณร
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " โย หเว " เป็นต้น.
บุรพกรรมของพระอนุรุทธะ
อนุปุพพีกถาในเรื่องนั้น ดังต่อไปนี้ :-
ความพิสดารว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตระ
กุลบุตรผู้หนึ่ง เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
กว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ ในท่ามกลางบริษัท ๔ ปรารถนาสมบัติ
นั้น จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประมุขสิ้น ๗ วัน แล้วตั้งความปรารถนาว่า " พระเจ้าข้า แม้ข้าพระองค์
พึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า
พระองค์หนึ่งในอนาคต."
พระศาสดาทรงตรวจดูสิ้นแสนกัลป์ ทรงทราบความสำเร็จแห่ง
ความปรารถนาของเขาแล้ว จึงทรงพยากรณ์ว่า " ในที่สุดแห่งแสนกัลป์
แต่ภัทรกัลป์นี้ เธอจักเป็นผู้ชื่อว่าอนุรุทธเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้
ได้ทิพยจักษุ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม." เขาฟัง
คำพยากรณ์นั้นแล้ว สำคัญสมบัตินั้นดุจว่าอันตนบรรลุในวันพรุ่งนี้, เมื่อ
พระศาสดาปรินิพพานแล้ว, จึงถามการบริกรรมเพื่ออันได้ทิพยจักษุกะ
พวกภิกษุ ให้ทำโคมต้นหลายพันต้น ล้อมพระสถูปทองอัน (สูงใหญ่ได้)
๗ โยชน์ แล้วให้ทำการบูชาด้วยประทีป จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดใน

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 396**

เทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกสิ้นแสนกัลป์ ในกัลป์นี้
เกิดในตระกูลของคนเข็ญใจ ในกรุงพาราณสี อาศัยสุมนเศรษฐี เป็นคน
ขนหญ้าของเศรษฐีนั้นเลี้ยงชีพแล้ว. เขาได้มีชื่อว่า " อันนภาระ." แม้
สุมนเศรษฐีก็ถวายมหาทาน ในพระนครนั้น ตลอดกาลเป็นนิตย์.
ภายหลังวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธะนามว่าอุปริฏฐะ ออกจาก
นิโรธสมาบัติที่เขาคันธมาทน์แล้ว คิดว่า "วันนี้ เราจักทำความอนุเคราะห์
แก่ใครหนอแล ?" ทราบว่า " วันนี้ การที่เราทำความอนุเคราะห์แก่บุรุษ
ชื่ออันนภาระ ควร, ก็บัดนี้ เขาขนหญ้าจากดงแล้วจักมาเรือน" ดังนี้
แล้ว จึงถือบาตรและจีวรไปด้วยฤทธิ์ ปรากฏเฉพาะหน้าของอันนภาระ.
อันนภาระเห็นท่านมีบาตรเปล่าในมือแล้ว ถามว่า " ท่านขอรับ ท่านได้
ภิกษาบ้างแล้วหรือ ?" เมื่อท่านตอบว่า " เราจักได้ละ ท่านผู้มีบุญมาก "
จึงเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรอหน่อย
เถิด" ดังนี้แล้ว ก็ทิ้งหาบหญ้าไว้ ไปสู่เรือนโดยเร็ว ถามภรรยาว่า " นาง
ผู้เจริญ ภัตส่วนที่หล่อนเก็บไว้เพื่อฉันมีหรือไม่ ? " เมื่อนางตอบว่า " มี
อยู่ นาย," จึงกลับมาโดยเร็ว รับบาตรของพระปัจเจกพุทธะไปสู่เรือน
ด้วยคิดว่า " เมื่อความที่เราเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะให้ มีอยู่ ไทยธรรมไม่
มี, เมื่อไทยธรรมมี เราไม่ได้ปฏิคาหก แต่วันนี้ปฏิคาหกเราก็พบแล้ว
และไทยธรรมของเราก็มีอยู่, เป็นลาภของเราหนอ" ให้เทภัตลงในบาตร
แล้วนำกลับมาตั้งไว้ในมือพระปัจเจกพุทธะแล้วตั้งความปรารถนาว่า :-
" ก็ด้วยทานอันนี้ ความเป็นผู้ขัดสนอย่าได้มี
แล้วแก่ข้าพเจ้า, ชื่อว่าคำว่า ไม่มี อย่ามีแล้วใน
ภพน้อยภพใหญ่.

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 397***

ท่านเจ้าข้า ขอข้าพเจ้าพึงพ้นจากการเลี้ยงชีพอันฝืดเคืองเห็นปานนี้,
ไม่พึงได้ฟังบทว่า ' ไม่มี ' เลย."
พระปัจเจกพุทธะกระทำอนุโมทนาว่า " ขอความปรารถนาของท่าน
จงเป็นอย่างนั้นเถิด ท่านผู้มีบุญมาก" ดังนี้แล้ว ก็หลีกไป.
เทพดาผู้สิงอยู่ในฉัตรแม้ของสุมนเศรษฐี กล่าวว่า :-
" น่าชื่นใจจริง ทานเป็นทานเยี่ยม อันนภาระ
ตั้งไว้ดีแล้วในพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ "
ดังนี้แล้วก็ได้ให้สาธุการสามครั้ง.
ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะเทพดานั้นว่า "ท่านไม่เห็นเราผู้ถวายทาน
อยู่สิ้นกาลประมาณเท่านี้หรือ ? "
เทพดา. ข้าพเจ้าปรารภทานของท่านแล้วให้สาธุการก็หาไม่, แต่
สาธุการนี่ ข้าพเจ้าให้เป็นไปแล้ว ก็เพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาตที่
อันนภาระถวายแล้วแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
เศรษฐีนั้นคิดว่า " น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ: เราถวายทาน
สิ้นกาลเท่านี้ ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้เทพดาให้สาธุการได้, อันนภาระ
อาศัยเราเป็นอยู่ ยังให้เทพดาสาธุการด้วยบิณฑบาตหนเดียวเท่านั้นได้,
เราจักทำสิ่งอันสมควรกันในทานของเขา แล้วทำบิณฑบาตนั้นให้เป็น
ของ ๆ เราเสีย " ดังนี้แล้ว จึงให้เรียกเขามาถามว่า " วันนี้ เจ้าได้ให้
อะไรแก่ใครบ้าง ?"
อันนภาระ. นายขอรับ, วันนี้ กระผมถวายภัตตาหารแก่พระ-
อุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.


***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 398***

เศรษฐี. เอาเถอะ พ่อ เจ้าจงถือเอากหาปณะ แล้วให้บิณฑบาต
นั่นแก่ฉันเถิด.
อันนภาระ. ให้ไม่ได้ดอกนาย.
เศรษฐีนั้น ขึ้นราคาให้จนถึงพัน. ฝ่ายอันนภาระนี้ ก็มิได้ให้แม้
ด้วยทรัพย์ตั้งพัน. ลำดับนั้น เศรษฐีกล่าวกะเขาว่า " ผู้เจริญ ข้อนั้น
จงยกไว้เถิด, ถ้าเจ้าไม่ให้บิณฑบาต, จงถือเอาทรัพย์พันหนึ่ง แล้วให้ส่วน
บุญแก่ฉันเถิด."
เขากล่าวว่า " กระผมปรึกษากับพระผู้เป็นเจ้าดูแล้ว จักรู้ได้ " รีบ
ไปทันพระปัจเจกพุทธะแล้วเรียนถามว่า " ท่านผู้เจริญ สุมนเศรษฐีให้
ทรัพย์พันหนึ่ง แล้วขอส่วนบุญในบิณฑบาตของท่าน, กระผมจะทำ
อย่างไร ? "
ทีนั้น ท่านนำข้อความมาเปรียบเทียบแก่เขาว่า " แม้ฉันใด ท่าน
ผู้เป็นบัณฑิต ประทีปในเรือนหลังหนึ่งในบ้าน ๑๐๐ ตระกูล พึงลุก
โพลงขึ้น, พวกชนที่เหลือ เอาน้ำมันของตนชุบไส้แล้วพึงไปจุดไฟดวง
อื่นแล้วถือเอา; แสงสว่างของประทีปดวงเดิม อันบุคคลจะพึงกล่าวว่า
' มี ' หรือว่า ' ไม่มี. '
อันนภาระ. แสงสว่างย่อมมีมากกว่า ขอรับ.
พระปัจเจกพุทธะ. ฉันนั้นนั่นแล ท่านผู้เป็นบัณฑิต จะเป็นข้าว
ยาคูกระบวยหนึ่ง หรือภิกษาทัพพีหนึ่งก็ตาม, เมื่อบุคคลให้ส่วนบุญใน
บิณฑบาตของตนแก่ผู้อื่นอยู่, ให้แก่คนไปเท่าใด, บุญเท่านั้นย่อมเจริญ;
ก็ท่านได้ให้บิณฑบาตส่วนหนึ่งเท่านั้น, แต่เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่เศรษฐี,
บิณฑบาตชื่อว่าเป็นสองส่วน: ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน ส่วนหนึ่งเป็นของ
เศรษฐี.

****พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 399***

เขารับว่า " ดีละ ท่านผู้เจริญ " แล้ว ไหว้พระปัจเจกพุทธะนั้น
แล้วไปสู่สำนักของเศรษฐี กล่าวว่า " นาย ขอท่านจงรับเอาส่วนบุญเถิด."
เศรษฐี. ถ้ากระนั้น พ่อจงรับเอากหาปณะเหล่านี้ไป.
อันนภาระ. กระผมไม่ได้ขายบิณฑบาต, กระผมให้ส่วนบุญแก่ท่าน
ด้วยศรัทธา.
เศรษฐีกล่าวว่า " เจ้าให้ด้วยศรัทธา, ถึงเราก็บูชาคุณของเจ้า;
ด้วยศรัทธา จงรับเอาไปเถิดพ่อ, อนึ่ง จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้ทำการ
งานด้วยมือของตน, จงปลูกเรือนอยู่ริมถนนเถิด, และจงถือเอาวัตถุ
ทุกอย่างที่เจ้าต้องการ จากสำนักของฉัน. "
ก็บิณฑบาตที่บุคคลถวายแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธ ย่อมให้ผลในวัน
นั้นนั่นเอง; เพราะฉะนั้น แม้พระราชาทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว จึง
รับสั่งให้เรียกอันนภาระมาแล้ว ทรงรับส่วนบุญ พระราชทานโภคะมาก
มาย แล้วรับสั่งให้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีแก่เขา.

ประวัติพระอนุรุทธะ
อันนภาระนั้น เป็นสหายของสุมนเศรษฐี ทำบุญทั้งหลายตลอด
ชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลก
และมนุษยโลก, ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในตำหนักของเจ้าศากยะ
พระนามว่าอมิโตทนะ ในพระนครกบิลพัสดุ์. พระประยูรญาติทั้งหลาย
ทรงขนานพระนามแก่พระกุมารนั้นว่า " อนุรุทธะ. " พระกุมารนั้น เป็น
พระกนิษฐภาดาของเจ้ามหานามศากยะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าอาของ
พระศาสดา ได้เป็นผู้สุขุมาลชาติอย่างยิ่ง มีบุญมาก.

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 400***

ได้ยินว่า วันหนึ่ง เมื่อกษัตริย์หกพระองค์เล่นขลุบเอาขนมทำ
คะแนนกัน, เจ้าอนุรุทธะแพ้, จึงส่งข่าวไปยังสำนักของพระมารดาเพื่อ
ต้องการขนม. พระมารดานั้น เอาภาชนะทองคำใบใหญ่บรรจุให้เต็มแล้ว
ส่งขนม (ให้). เจ้าอนุรุทธะเสวยขนมแล้ว ทรงเล่นแพ้อีก ก็ส่งข่าวไป
อย่างนั้นเหมือนกัน.
เมื่อคนนำขนมมาอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง, ในครั้งที่ ๔ พระมารดาส่งข่าว
ไปว่า " บัดนี้ ขนมไม่มี." เจ้าอนุรุทธะ ทรงสดับคำของพระมารดานั้น,
แล้ว ทำความสำคัญว่า " ขนมที่ชื่อว่าไม่มี จักมีในบัดนี้ " เพราะความ
ที่บทว่า " ไม่มี " เป็นบทที่ตนไม่เคยสดับแล้ว จึงทรงส่งไปด้วยพระดำรัส
ว่า " เจ้าจงไป, จงนำขนมไม่มีมา."
ครั้งนั้นพระมารดาของพระกุมารนั้น, เมื่อคนรับใช้ ทูลว่า " ข้าแต่
พระแม่เจ้า นัยว่า ขอพระแม่เจ้าจงให้ขนมไม่มี," จึงทรงดำริว่า " บทว่า
' ไม่มี ' อันบุตรของเราไม่เคยฟังมาแล้ว, เราพึงให้เขารู้ความที่ขนมไม่มี
นั้นอย่างไรได้หนอแล ?" จึงทรงล้างถาดทองคำปิดด้วยถาดทองคำใบอื่น
ส่งไปว่า " เอาเถิด พ่อ เจ้าจงให้ถาดทองคำนี้แก่บุตรของเรา. "
ขณะนั้น เทพดาทั้งหลายผู้รักษาพระนคร คิดว่า " เจ้าอนุรุทธะ
ผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ถวายภัตอันเป็นส่วน (ของตน) แก่พระปัจเจกพุทธะ
นามว่าอุปริฏฐะ แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า ' เราไม่พึงได้ฟังบทว่า
ไม่มี ' ในกาลแห่งตนเป็นคนขนหญ้าชื่ออันนภาระ. หากว่า เราทราบ
ความนั้นแล้ว พึงเฉยเสียไซร้, แม้ศีรษะของเราพึงแตกออก ๗ เสี่ยง "
จึงบรรจุถาดให้เต็มด้วยขนมทิพย์ทั้งหลายแล้ว . บุรุษนั้นนำถาดมาวางไว้ใน
สำนักของเจ้าศากยะเหล่านั้น แล้วเปิดออก. กลิ่นของขนมทิพย์เหล่านั้น

****พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 401***

แผ่ซ่านไปทั่วพระนคร. ก็เมื่อขนมพอสักว่าอันเจ้าศากยะเหล่านั้น ทรงวาง
ไว้ในพระโอษฐ์ กลิ่นนั้นได้แผ่ไปสู่เส้นสำหรับรสตั้ง ๗ พันตั้งอยู่แล้ว.
เจ้าอนุรุทธะทรงดำริว่า "ในกาลก่อนแต่นี้ พระมารดาเห็นจะไม่
ทรงรักเรา. เพราะในกาลอื่น พระองค์ท่านไม่เคยทอดขนมไม่มีแก่เรา. "
พระกุมารนั้นไปแล้ว ทูลกะพระมารดาอย่างนี้ว่า " ข้าแต่พระมารดา
หม่อมฉันไม่เป็นที่รักของพระองค์หรือ ?"
มารดา. พ่อ พูดอะไร ? เจ้าเป็นที่รักยิ่งของแม่ แม้กว่านัยน์ตา
ทั้งสอง แม้กว่าเนื้อในหทัย.
อนุรุทธะ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าหม่อมฉันเป็นที่รักของพระองค์ไซร้.
เพราะเหตุอะไร ? ในกาลก่อน พระองค์จึงไม่ได้ประทานขนมไม่มีเห็น
ปานนี้แก่หม่อมฉัน.
พระนางตรัสถามบุรุษนั้นว่า " พ่อ อะไรได้มีในถาดหรือ ?"
บุรุษนั้นทูลว่า " มี พระแม่เจ้า, ถาดเต็มเปี่ยมด้วยขนมทั้งหลาย,
ขนมเห็นปานนี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น."
พระนางดำริว่า " บุตรของเราได้ทำบุญไว้แล้ว, ขนมทิพย์จัก
เป็นของอันเทพดาทั้งหลายส่งไปให้บุตรของเรา."
แม้เจ้าอนุรุทธะ ก็ทูลกะพระมารดาว่า " ข้าแต่พระแม่เจ้า ขนม
เห็นปานนี้ หม่อมฉันไม่เคยกินเลย, จำเดิมแต่นี้ พระองค์พึงทอดเฉพาะ
ขนมไม่มีเท่านั้น แก่หม่อมฉัน."
จำเดิมแต่นั้น พระนางทรงล้างถาดทองคำแล้ว ปิดด้วยถาดใบอื่น
ส่งไป (ให้) ในเวลาเจ้าอนุรุทธะทูลว่า " หม่อมฉันมีประสงค์จะบริโภค
ขนม." เทพดาทั้งหลายย่อมยังถาดให้เต็ม (ด้วยขนม). พระกุมารนั้น

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 402***

เมื่ออยู่ในท่ามกลางวัง มิได้ทราบเนื้อความแห่งบทว่า "ไม่มี" ด้วย
อาการอย่างนี้ เสวยแต่ขนมทิพย์ทั้งนั้น.
ก็เมื่อโอรสของเจ้าศากยะผนวชตามลำดับตระกูล เพื่อเป็นบริวาร
ของพระศาสดา, เมื่อเจ้ามหานามศากยะตรัสว่า " พ่อ ในตระกูลของพวก
เรา ใคร ๆ ซึ่งบวชแล้วไม่มี, เธอหรือฉันควรจะบวช." เจ้าอนุรุทธะ
ตรัสว่า " หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ไม่สามารถจะบวชได้."
เจ้ามหานาม. ถ้ากระนั้น เธอจงเรียนการงานเสีย. ฉันจักบวช.
เจ้าอนุรุทธะ. ชื่อว่าการงานนี้ เป็นอย่างไร ?
จริงอยู่ เจ้าอนุรุทธะย่อมไม่ทราบแม้ที่เกิดขึ้นแห่งภัต, จักทราบ
การงานได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น.
ก็วันหนึ่ง เจ้าศากยะสามพระองค์ คือ อนุรุทธะ ภัททิยะ กิมพิละ
ปรึกษากันว่า " ชื่อว่าภัต เกิดในที่ไหน ?" บรรดาเจ้าศากยะทั้งสาม
พระองค์นั้น เจ้ากิมพิละตรัสว่า " ภัตเกิดขึ้นในฉาง." ได้ยินว่าวันหนึ่ง
เจ้ากิมพิละนั้น ได้เห็นข้าวเปลือกที่เขาขึ้นใส่ในฉาง; เพราะฉะนั้น จึงตรัส
อย่างนี้ ด้วยสำคัญว่า " ภัต ย่อมเกิดขึ้นในฉาง."
ครั้งนั้น เจ้าภัททิยะตรัสกะเจ้ากิมพิละนั้นว่า " ท่านยังไม่ทราบ "
ดังนี้แล้ว ตรัสว่า " ธรรมดาภัต ย่อมเกิดขึ้นในหม้อข้าว." ได้ยินว่า
วันหนึ่ง เจ้าภัททิยะนั้น เห็นชนทั้งหลายคดภัตออกจากหม้อข้าวนั้นแล้ว
ได้ทำความสำคัญว่า " ภัตนั่นเกิดขึ้นในหม้อนี้เอง," เพราะฉะนั้น จึงตรัส
อย่างนั้น.
เจ้าอนุรุทธะตรัสกะเจ้าทั้งสองนั้นว่า " แม้ท่านทั้งสองก็ยังไม่
ทราบ" แล้วตรัสว่า " ภัตเกิดขึ้นในถาดทองคำใบใหญ่๑ ซึ่งสูงได้
๑. โตก.

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 403***

ศอกกำมา." ได้ยินว่า ท่านไม่เคยเห็นเขาตำข้าวเปลือก ไม่เคยเห็นเขาหุงภัต,
ท่านเห็นแต่ภัตที่เขาคดออกไว้ในถาดทองคำแล้ว ตั้งไว้ข้างหน้าเท่านั้น;
เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ทำความสำคัญว่า " ภัตนั่น ย่อมเกิดขึ้นในถาด
นั่นเอง; เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น. กุลบุตรผู้มีบุญมาก เมื่อไม่รู้แม้
ที่เกิดขึ้นแห่งภัตอย่างนั้น จักรู้การงานทั้งหลายอย่างไรได้.
เจ้าอนุรุทธะนั้น ได้สดับความที่การงานทั้งหลายที่เจ้าพี่ตรัสบอก
โดยนัยเป็นต้นว่า " อนุรุทธะ จงมาเถิด, ฉันจักสอนเพื่อการอยู่ครองเรือน
แก่เธอ: อันผู้อยู่ครองเรือน จำต้องไถนาก่อน " ดังนี้ เป็นของไม่มีที่สุด
จึงทูลลาพระมารดาว่า " ความต้องการด้วยการอยู่ครองเรือนของหม่อมฉัน
ไม่มี" แล้วเสด็จออกไปพร้อมกับพระโอรสของเจ้าศากยะห้าพระองค์มีเจ้า
ภัททิยะเป็นประมุข เข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทรงผนวชแล้ว,
ก็แลครั้นผนวชแล้ว พระอนุรุทธะเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓
โดยลำดับ เป็นผู้นั่งบนอาสนะเดียว สามารถเล็งดูโลกธาตุพ้นหนึ่งได้
ด้วยทิพยจักษุ ดุจผลมะขามป้อมที่บุคคลวางไว้บนฝ่ามือฉะนั้น จึงเปล่ง
อุทานขึ้นว่า :-
" เราย่อมระลึกได้ซึ่งบุพเพนิวาส,๑ ทิพยจักษุเรา
ก็ชำระแล้ว, เราเป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นผู้ถึงฤทธิ์,
คำสอนของพระพุทธเจ้า อันเราทำแล้ว."
พิจารณาดูว่า " เราทำกรรมอะไรหนอ ? จึงได้สมบัตินี้ " ทราบได้ว่า
" เราได้ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
ปทุมุตตระ " ทราบ (ต่อไป) อีกว่า " เราท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ในกาล
๑. ขันธ์อันอาศัยอยู่ในกาลก่อน.

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 404***

ชื่อโน้น ได้อาศัยสุมนเศรษฐี ในกรุงพาราณสีเลี้ยงชีพ เป็นผู้ชื่อว่า
อันนภาระ" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า :-
" ในกาลก่อน เราเป็นผู้ชื่อว่าอันนภาระ เป็นคน
เข็ญใจ ขนหญ้า เราถวายบิณฑบาตแก่พระอุปริฏฐ-
ปัจเจกพุทธะ ผู้มียศ."
พระเถระระลึกถึงสหายเก่า
ครั้งนั้น ท่านได้มีความปริวิตกฉะนี้ว่า " สุมนเศรษฐีผู้เป็นสหาย
ของเรา ได้กหาปณะแล้วรับเอาส่วนบุญจากบิณฑบาตซึ่งเราถวายแก่พระ-
อุปริฏฐปัจเจกพุทธะ ในกาลนั้น, บัดนี้ เกิดในที่ไหนหนอแล ?" ทีนั้น
ท่านได้เล็งเห็นเศรษฐีนั้นว่า " บ้านชื่อว่ามุณฑนิคม มีอยู่ที่เชิงเขาใกล้ดงไฟ
ไหม้. อุบาสกชื่อมหามุณฑะในมุณฑนิคมนั้น มีบุตรสองคน คือมหาสุมนะ,
จูฬสุมนะ, ในบุตรสองคนนั้น สุมนเศรษฐี เกิดเป็นจูฬสุมนะ; " ก็แล
ครั้นเห็นแล้ว คิดว่า " เมื่อเราไปในที่นั้น, อุปการะจะมีหรือไม่มีหนอ ?"
ท่านใคร่ครวญอยู่ได้เห็นเหตุนี้ว่า " เมื่อเราไปในที่นั้น. จูฬสุมนะนั้น
มีอายุ ๗ ขวบเท่านั้นจักออกบวช, และจักบรรลุพระอรหัตในเวลาปลงผม
เสร็จนั่นเอง:" ก็แลท่านครั้นเห็นแล้ว เมื่อภายในกาลฝนใกล้เข้ามา จึง
ไปทางอากาศลงที่ประตูบ้าน. ส่วนมหามุณฑอุบาสก เป็นผู้คุ้นเคยของ
พระเถระแม้ในกาลก่อนเหมือนกัน. เขาเห็นพระเถระครองจีวรในเวลา
บิณฑบาต จึงกล่าวกะมหาสุมนะผู้บุตรว่า " พ่อ พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธ-
เถระของเรามาแล้ว; เจ้าจงไปรับบาตรของท่านให้ทันเวลาที่ใครๆ คนอื่น
ยังไม่รับบาตรของท่านไป; พ่อจักให้เขาปูอาสนะไว้." มหาสุมนะได้ทำ
อย่างนั้นแล้ว. อุบาสกอังคาสพระเถระภายในเรือนโดยเคารพแล้ว รับ

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 405***

ปฏิญญาเพื่อต้องการแก่การอยู่ ( จำพรรษา ) ตลอดไตรมาส. พระเถระรับ
นิมนต์แล้ว.
ครั้งนั้น อุบาสกปฏิบัติพระเถระนั้นตลอดไตรมาส เป็นเหมือน
ปฏิบัติอยู่วันเดียว ในวันมหาปวารณา จึงนำไตรจีวรและอาหารวัตถุ
มีน้ำอ้อย น้ำมัน และข้าวสารเป็นต้นมาแล้ว วางไว้ใกล้เท้าของพระเถระ
เรียนว่า " ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับเถิด ขอรับ."
ไม่รับวัตถุกลับได้สามเณร
พระเถระ. อย่าเลยอุบาสก ความต้องการด้วยวัตถุนี้ของฉัน ไม่มี.
อุบาสก. ท่านผู้เจริญ นี่ชื่อว่า วัสสาวาสิกลาภ (คือลาภอันเกิดแก่
ผู้อยู่จำพรรษา), ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับวัตถุนั้นไว้เถิด.
พระเถระ. ช่างเถิด อุบาสก.
อุบาสก. ท่านย่อมไม่รับเพื่ออะไร ? ขอรับ.
พระเถระ. แม้สามเณรผู้เป็นกับปิยการก ในสำนักของฉันก็ไม่มี.
อุบาสก. ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นมหาสุมนะเป็นบุตรของกระผม
จักเป็นสามเณร.
พระเถระ. อุบาสก ความต้องการด้วยมหาสุมนะของฉันก็ไม่มี.
อุบาสก, ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าจงให้จูฬสุมนะ
บวชเถิด.
พระเถระ. รับว่า "ดีละ" แล้วให้จูฬสุมนะบวช. จูฬสุมนะนั้น
บรรลุอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง.

****พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 406***

พระเถระ อยู่ในที่นั้นกับจูฬสุมนสามเณรนั้นประมาณกึ่งเดือนแล้ว
ลาพวกญาติของเธอว่า " พวกฉันจักเฝ้าพระศาสดา" ดังนี้แล้วไปทาง
อากาศ ลงที่กระท่อมอันตั้งอยู่ในป่า ในหิมวันตประเทศ.
พระเถระปรารภความเพียรเสมอ
ก็พระเถระ แม้ตามปกติเป็นผู้ปรารภความเพียร. เมื่อท่านกำลัง
จงกรมอยู่ในที่นั้น ในคืนแรกและคืนต่อมา ลมในท้องตั้งขึ้นแล้ว.
ครั้งนั้น สามเณรเห็นท่านลำบาก จึงเรียนถามว่า " ท่านขอรับ
โรคอะไร ? ย่อมเสียดแทงท่าน."
พระเถระ. ลมเสียดท้องเกิดขึ้นแก่ฉันแล้ว.
สามเณร. แม้ในกาลอื่น ลมเสียดท้องเคยเกิดขึ้นหรือ ขอรับ.
พระเถระ. เออ ผู้มีอายุ.
สามเณร. ความสบาย ย่อมมีด้วยอะไรเล่า ? ขอรับ.
พระเถระ. เมื่อฉันได้น้ำดื่มจากสระอโนดาต, ความสบายย่อมมี
ผู้มีอายุ.
สามเณร. ท่านขอรับ ถ้ากระนั้น กระผมจะนำมา (ถวาย).
พระเถระ. เธอจักอาจ (นำมา) หรือ ? สามเณร.
สามเณร. อาจอยู่ ขอรับ.
พระเถระ. ถ้ากระนั้น นาคราชชื่อปันนกะ ในสระอโนดาตย่อม
รู้จักฉัน. เธอจงบอกแก่นาคราชนั้น แล้วนำขวดน้ำดื่มขวดหนึ่งมาเพื่อ
ประโยชน์แก่การประกอบยาเถิด.
เธอรับว่า " ดีละ" แล้วไหว้พระอุปัชฌายะ เหาะขึ้นสู่เวหาสได้ไป
ตลอดที่ ๕๐๐ โยชน์แล้ว.


***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 407***

สามเณรต่อสู้กับพระยานาค
ก็วันนั้น นาคราชมีนาคนักฟ้อนแวดล้อมแล้ว ปรารถนาจะเล่นน้ำ.
นาคราชนั้น พอได้เห็นสามเณรผู้ไปอยู่เท่านั้น ก็โกรธคิดเห็นว่า " สมณะ
โล้นนี้ เที่ยวโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงกระหม่อมของเรา, สมณะโล้นนี้
จักเป็นผู้มาแล้วเพื่อต้องการน้ำดื่มในสระอโนดาต, บัดนี้เราจะไม่ให้น้ำดื่ม
แก่เธอ " ดังนี้แล้ว นอนปิดสระอโนดาตซึ่งมีประมาณถึง ๕๐๐ โยชน์ด้วย
พังพาน ดุจบุคคลปิดหม้อข้าวด้วยถาดใหญ่ฉะนั้น.
สามเณร พอแลดูอาการของนาคราชแล้วก็ทราบว่า " นาคราชนี้
โกรธแล้ว" จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
" นาคราช ผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก ท่านจงฟัง
(คำ) ของข้าพเจ้าเถิด, จงให้หม้อน้ำดื่มแก่ข้าพเจ้า,
ข้าพเจ้าเป็นผู้มาแล้วเพื่อประโยชน์แก่น้ำสำหรับประ-
กอบยา."
นาคราชฟังคาถานั้นแล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-
" แม่น้ำใหญ่ชื่อคงคา ณ เบื้องทิศบูรพา ย่อมไหล
ไปสู่มหาสมุทร, ท่านจงนำเอาน้ำดื่มจากแม่น้ำคงคา
นั้นไปเถิด."
สามเณรฟังคำนั้นแล้วคิดว่า " พระยานาคนี้จักไม่ให้ตามความ
ปรารถนาของตน, เราจักทำพลการให้มันรู้อานุภาพใหญ่ จักข่มพระยานาค
นี้แล้ว จึงจักนำน้ำดื่มไป " ดังนี้แล้ว กล่าวว่า " มหาราช พระอุปัชฌายะ
ให้ข้าพเจ้านำน้ำดื่มมาจากสระอโนดาตเท่านั้น, เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึง

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 408***

จักนำน้ำดื่มนี้อย่างเดียวไป, ท่านจงหลีกไปเสียอย่าห้ามข้าพเจ้าเลย" ดังนี้
แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า:-
" ข้าพเจ้าจักนำน้ำดื่มไปจากสระอโนดาตนี้เท่า
นั้น, ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความต้องการด้วยน้ำดื่มนี้เท่านั้น,
ถ้าเรี่ยวแรงและกำลังมีอยู่ไซร้, นาคราชท่านจงขัด
ขวางไว้เถิด."
ครั้งนั้น พระยานาคกล่าวกะเธอว่า :-
" สามเณร ถ้าท่านมีความกล้าหาญอย่างลูกผู้ชาย
ไซร้, ข้าพเจ้าชอบใจคำพูดของท่าน, เชิญท่านนำ
น้ำดื่มของข้าพเจ้าไปเถิด."
ลำดับนั้น สามเณรตอบกะพระยานาคนั้นว่า " มหาราช ข้าพเจ้าจัก
นำไปอย่างนั้น, เมื่อพระยานาคพูดว่า " เมื่อท่านสามารถก็จงนำไปเถิด"
รับปฏิญญาถึง ๓ ครั้งว่า " ถ้ากระนั้น ท่านจงรู้ด้วยดีเถิด " แล้วคิดว่า
" การที่เราแสดงอานุภาพแห่งพระพุทธศาสนาแล้วจึงนำน้ำไป สมควรอยู่"
ได้ไปสู่สำนักของพวกอากาสัฏฐกเทพดาก่อน. เทพดาเหล่านั้นมาไหว้แล้ว
กล่าวว่า " อะไรกัน ? ขอรับ " แล้วพากันยืนอยู่.
สามเณรกล่าวว่า " สงครามของข้าพเจ้ากับปันนกนาคราชจักมี ที่
หลังสระอโนดาตนี่, พวกท่านจงไปในที่นั้นแล้ว ดูความชนะและความ
แพ้." สามเณรนั้นเข้าไปหาท้าวโลกบาลทั้ง ๔ และท้าวสักกะ ท้าวสุยาม
ท้าวสันดุสิต ท้าวสุนิมมิต และท้าววสวัตดี แล้วบอกเนื้อความนั้นโดย
ทำนองนั้นแล. ต่อแต่นั้น สามเณรไปโดยลำดับจนถึงพรหมโลก อัน
พรหมทั้งหลาย ในที่นั้นๆ ผู้มาไหว้แล้วยืนอยู่ถามว่า " อะไรกัน ? ขอรับ "
จึงแจ้งเนื้อความนั้น.

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 409***

สามเณรนั้นเที่ยวไปบอกในที่ทุกแห่ง ๆ โดยครู่เดียวเท่านั้น เว้น
เสียแต่อสัญญีสัตว์และอรูปพรหม ด้วยอาการอย่างนี้.
ถึงเทพดาทุก ๆ จำพวกฟังคำของเธอแล้ว ประชุมกันเต็มอากาศ
ไม่มีที่ว่าง ที่หลังสระอโนดาต ดุจจุรณแห่งขนมที่บุคคลใส่ไว้ในทะนาน
ฉะนั้น.
สามเณรเชิญเทพดามาดูการรบ
เมื่อหมู่เทพดาประชุมกันแล้ว, สามเณรยืน ณ อากาศ กล่าวกะ
พระยานาคว่า:-
" นาคราช ผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก ท่านจงฟัง
คำของข้าพเจ้า ท่านจงให้หม้อน้ำดื่มแก่ข้าพเจ้า,
ข้าพเจ้าเป็นผู้มาเพื่อต้องการน้ำประกอบยา."
ทีนั้น นาคกล่าวกะเธอว่า :-
" สามเณร ถ้าท่านมีความกล้าหาญอยู่อย่างลูก
ผู้ชายไซร้, ข้าพเจ้าชอบใจคำพูดของท่าน, ท่านจงนำ
น้ำดื่มของข้าพเจ้าไปเถิด."
สามเณรนั้นรับคำปฏิญญาของนาคราชถึง ๓ ครั้งแล้ว ยืน ณ อากาศนั้นเอง
นิรมิตอัตภาพเป็นพรหมประมาณ ๑๒ โยชน์ แล้วลงจากอากาศ เหยียบ
ที่พังพานของพระยานาค กดให้หน้าคว่ำลงแล้ว. ในทันทีนั้นเอง เมื่อ
สามเณรพอสักว่าเหยียบพังพานของพระยานาคเท่านั้น แผ่นพังพานได้
หดเข้าประมาณเท่าทัพพี ดุจหนังสดอันบุรุษผู้มีกำลังเหยียบแล้วฉะนั้น.
ในที่ซึ่งพ้นจากพังพานของพระยานาคออกมา สายน้ำประมาณเท่าลำตาล

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 410***

พุ่งขึ้นแล้ว. สามเณรยังขวดน้ำดื่มให้เต็ม ณ อากาศนั้นเอง. หมู่เทพได้
ให้สาธุการแล้ว.
พระยานาคแพ้สามเณร
นาคราชละอาย โกรธต่อสามเณรแล้ว. นัยน์ตาทั้งสองของนาคราช
นั้นได้มีสีดุจดอกชบา. พระยานาคนั้นคิดว่า " สมณะโล้นนี้ให้หมู่เทพ
ประชุมกันแล้ว ถือเอาน้ำดื่ม ยังเราให้ละอายแล้ว, เราจะจับเธอ สอด
มือเข้าในปากแล้ว ขยี้เนื้อหทัยของเธอเสีย, หรือจะจับเธอที่เท้า แล้ว
ขว้างไปฟากแม่น้ำข้างโน้น " ดังนี้แล้วติดตามไปโดยเร็ว. แม้ติดตามไป
อยู่ ก็ไม่สามารถจะทันสามเณรได้เลย.
สามเณรมาแล้ว วางน้ำดื่มไว้ในมือพระอุปัชฌายะ เรียนว่า " ขอท่าน
จงดื่มเถิด ขอรับ."
พระยานาคพูดเท็จแต่สามเณรไม่พูดเท็จ
แม้พระยานาคก็มาข้างหลัง กล่าวว่า " ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ สามเณร
ถือเอาน้ำซึ่งข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้เลยมา, ขอท่านจงอย่าดื่ม."
พระเถระ. ถามว่า " นัยว่า อย่างนั้นหรือ ? สามเณร."
สามเณร. ขอนิมนท์ท่านดื่มเถิด ขอรับ, น่าดื่มอันพระยานาคนี้
ให้แล้ว กระผมจึงนำมา.
พระเถระทราบว่า " ขึ้นชื่อว่าการกล่าวคำเท็จของสามเณรผู้เป็น
ขีณาสพ ย่อมไม่มี " จึงดื่มน้ำแล้ว. อาพาธของท่านสงบลงในขณะนั้นเอง.
นาคราชกล่าวกะพระเถระอีกว่า " ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้อัน
สามเณรให้หมู่เทพทั้งหมดประชุมกันให้ละอายแล้ว ข้าพเจ้าจักผ่าหทัย
ของเธอ, หรือจักจับเธอที่เท้า และขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำข้างโน้น."

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 411**

พระเถระกล่าวว่า " มหาราช สามเณรมีอานุภาพมาก, ท่านจักไม่
สามารถเพื่อสู้รบกับสามเณรได้; ท่านจงให้สามเณรนั้น อดโทษแล้วกลับ
ไปเสียเถิด."
พระยานาคขอขมาสามเณร
พระยานาคนั้น ย่อมรู้อานุภาพของสามเณรแม้เอง, แต่ติดตามมา
เพราะความละอาย.
ลำดับนั้น พระยานาคให้สามเณรนั้นอดโทษตามคำของพระเถระ
ทำความชอบพอกันฉันมิตรกับเธอ จึงกล่าวว่า " จำเดิม
ความต้องการด้วยน้ำในสระอโนดาตมีอยู่, กิจด้วยการมาแห่งพระผู้เป็นเจ้า
ย่อมไม่มี พระผู้เป็นเจ้าพึงส่ง (ข่าว) ไปถึงข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าเองจักนำ
น้ำมาถวาย " ดังนี้แล้ว หลีกไป, แม้พระเถระก็พาสามเณรไปแล้ว .
พระศาสดาทรงทราบความมาแห่งพระเถระแล้ว ประทับนั่งทอด-
พระเนตรการมาแห่งพระเถระบนปราสาทของมิคารมารดา. ถึงพวกภิกษุ
ก็เห็นพระเถระซึ่งกำลังมา ลุกขึ้นต้อนรับ รับบาตรและจีวร.
พวกภิกษุล้อเลียนสามเณร
ครั้งนั้น ภิกษุนางพวกจับสามเณรที่ศีรษะบ้าง ที่หูทั้ง ๒ บ้าง
ที่แขนบ้าง พลางเขย่า กล่าวว่า " ไม่กระสันหรือ ? สามเณร." พระศาสดา
ทอดพระเนตรเห็นกิริยาซึ่งภิกษุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า " กรรมของ
ภิกษุเหล่านี้หยาบจริง. ภิกษุเหล่านี้ จับสามเณรเป็นดุจจับอสรพิษที่คอ,
พวกเธอหารู้อานุภาพของสามเณรไม่; วันนี้ การที่เราทำคุณของสุมน-
สามเณรให้ปรากฏ สมควรอยู่." แม้พระเถระก็มาถวายบังคมพระศาสดา
แล้วนั่ง.

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 412***

พระศาสดาทรงทำคุณของสามเณรให้ปรากฏ
พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับด้วยท่านแล้ว ตรัสเรียกพระอานนท-
เถระมาว่า " อานนท์ เราเป็นผู้มีความประสงค์เพื่อจะล้างเท้าทั้งสองด้วย
น้ำในสระอโนดาต เธอจงให้หม้อแก่พวกสามเณรแล้วให้นำน้ำมาเถิด."
พระเถระ ให้สามเณรประมาณ ๕๐๐ ในวิหารประชุมกันแล้ว.
บรรดาสามเณรเหล่านั้น สุมนสามเณรได้เป็นผู้ใหม่กว่าสามเณร
ทั้งหมด. พระเถระกล่าวกะสามเณรผู้แก่กว่าสามเณรทั้งหมดว่า " สามเณร
พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงล้างพระบาททั้งสองด้วยน้ำในสระอโนดาต,
เธอจงถือหม้อน้ำไปนำน้ำมาเถิด." สามเณรนั้นไม่ปรารถนา ด้วยกล่าวว่า
" กระผมไม่สามารถ ขอรับ. " พระเถระถามสามเณรทั้งหลายแม้ที่เหลือ
โดยลำดับ. แม้สามเณรเหล่านั้น ก็พูดปลีกตัวอย่างนั้นแล.
มีคำถามว่า " ก็บรรดาสามเณรเหล่านี้ เณรผู้เป็นขีณาสพ
ไม่มีหรือ ?"
แก้ว่า " มีอยู่. แต่สามเณรเหล่านั้นไม่ปรารถนา ด้วยคิดเห็นว่า
" พวงดอกไม้นี้ พระศาสดาไม่ทรงผูกไว้เพื่อพวกเรา พระองค์ทรงผูกไว้
เพื่อสุมนสามเณรองค์เดียว. แต่พวกสามเณรผู้เป็นปุถุชนไม่ปรารถนา
ก็เพราะความที่ตนเป็นผู้ไม่สามารถนั่นเอง. "
ก็ในที่สุด เมื่อวาระถึงแก่สุมนสามเณรเข้า, พระเถระกล่าวว่า
" สามเณร พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงล้างพระบาททั้งสองด้วยน้ำ
ในสระอโนดาต, ได้ยินว่า เธอจงถือเอาหม้อไปตักน้ำมา" สุมนสามเณร
นั้น เรียนว่า " เมื่อพระศาสดาทรงให้นำมา, กระผมจักนำมา" ดังนี้แล้ว
ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 413***

พระองค์ให้ข้าพระองค์นำน้ำมาจากสระอโนดาตหรือ ? พระเจ้าข้า "
พระศาสดา ตรัสว่า " อย่างนั้น สุมนะ. "
สุมนสามเณรนั้น เอามือจับหม้อใหญ่ใบหนึ่ง ซึ่งจุน้ำได้ตั้ง ๖๐
หม้อ ในบรรดาหม้อสำหรับเสนาสนะ ซึ่งเลี่ยมดาดด้วยทองแท่ง อัน
นางวิสาขาให้สร้างไว้ หิ้วไปด้วยคิดว่า " ความต้องการของเราด้วยหม้อ
อันเรายกขึ้นตั้งไว้บนจะงอยบ่านี้ ย่อมไม่มี " เหาะขึ้นสู่เวหาส บ่ายหน้า
ต่อหิมวันตประเทศ รีบไปแล้ว.
นาคราชเห็นสามเณรซึ่งกำลังมาแต่ไกลเทียว จึงต้อนรับ แบกหม้อ
ด้วยจะงอยบ่า กล่าวว่า " ท่านเจ้าข้า เมื่อผู้รับใช้เช่นข้าพเจ้ามีอยู่เพราะ
อะไร พระผู้เป็นเจ้าจึงมาเสียเอง; เมื่อความต้องการน้ำมีอยู่, เหตุไร ?
พระผู้เป็นเจ้าจึงไม่ส่งเพียงข่าวสาสน์มา" ดังนี้แล้ว เอาหม้อตักน้ำแบกเอง
กล่าวว่า " นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าล่วงหน้าไปก่อนเถิดขอรับ, ข้าพเจ้าเอง
จักนำไป. " สามเณรกล่าวว่า " มหาราช ท่านจงหยุด, ข้าพเจ้าเองเป็นผู้
อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้มา " ดังนี้ให้พระยานาคกลับแล้ว เอามือจับ
ที่ขอบปากหม้อ เหาะมาทางอากาศ.
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงแลดูเธอซึ่งกำลังมา ตรัสเรียกพวกภิกษุ
มาแล้ว ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูการเยื้องกรายของสามเณร,
เธอย่อมงดงามดุจพระยาหงส์ในอากาศฉะนั้น."
แม้สามเณรนั้นวางหม้อน้ำแล้ว ได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืนอยู่.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า " สุมนะ เธอมีอายุได้เท่าไร ?
สามเณรกราบทูลว่า " มีอายุ ๗ ขวบ พระเจ้าข้า." พระศาสดาตรัสว่า
" สุมนะ ถ้ากระนั้น ตั้งแต่วันนี้ เธอจงเป็นภิกษุเถิด" ดังนี้แล้ว
ได้ประทานทายัชชอุปสมบท.

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 414***

ได้ยินว่า สามเณรผู้มีอายุ ๗ ปี ๒ รูปเท่านั้น ได้อุปสมบท คือสุมน-
สามเณรนี้รูปหนึ่ง โสปากสามเณรรูปหนึ่ง เมื่อสุมนสามเณรนั้นอุปสมบท
แล้วอย่างนั้น พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า " ผู้มีอายุทั้งหลาย
กรรมนี้น่าอัศจรรย์:- อานุภาพของสามเณรน้อย แม้เห็นปานนี้ก็มีได้,
อานุภาพเห็นปานนี้ พวกเราไม่เคยเห็นแล้ว ในกาลก่อนแต่กาลนี้."
สมบัติย่อมสำเร็จแก่เด็ก ๆ ได้
พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ
นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?" เมื่อพวกเธอกราบทูลว่า " ด้วยเรื่อง
ชื่อนี้ พระเจ้าข้า" ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ในศาสนาของเรา บุคคล
แม้เป็นเด็ก ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้สมบัติเห็นปานนี้เหมือนกัน" เมื่อ
จะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๑๒. โย หเว ทหโร ภิกฺขุ ยุญฺชติ พุทฺธสาสเน
โส อิมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา.
" ภิกษุใด แลยังหนุ่ม พากเพียรอยู่ในพระพุทธ-
ศาสนา, ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์
ที่พ้นแล้วจากหมอก (เมฆ) สว่างอยู่ฉะนั้น."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุญฺชติ ได้แก่ พากเพียร คือ
พยายามอยู่.
บทว่า ปภาเสติ เป็นต้น ความว่า ภิกษุนั้นย่อมยังโลกต่างโดย
ขันธโลกเป็นต้น ให้สว่างได้ คือย่อมทำให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน

***พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 415***

ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตมรรคของตน ดุจพระจันทร์ที่พ้นแล้วจาก
เครื่องกำบังมีหมอกเป็นต้นฉะนั้น.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-
ปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องสุมนสามเณร จบ.
ภิกขุวรรควรรคนา จบ.
วรรคที่ ๒๕ จบ.

No comments: