Friday, June 17, 2011

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๑ )


ชายคนหนึ่งชื่อ มหาทุคตะ เพราะความเป็นผู้ยากจนมาก ยากจนกว่าใครทั้งหมดในเมือง บางวันเขาและภรรยาต้องไปขออาหารเหลือเดน ที่ชาวบ้านจะเททิ้งมากินประทังชีวิต แม้มหาทุคตะจะจนทรัพย์แต่ไม่อับจนปัญญา ในวันนั้นบุญเก่าตามมาทัน ส่งผลให้เกิดปัญญา เขาคิดว่า "ที่เราอดอยาก ยากจนอยู่ทุกวันนี้ เพราะความตระหนี่ของเราแท้ๆ ดังนั้น วันนี้ เราจะต้องทำบุญใหญ่ให้ได้"











มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๑ )
เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำออก (ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว

บุญเป็นเครื่องสนับสนุนในการเดินทางไกล ข้ามวัฏสงสาร ไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ อมตมหานิพพาน บุญเท่านั้น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เราได้สร้างบารมีอย่าง สะดวกสบาย บุญกุศลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราต้องสั่งสมไว้ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์มีโอกาสในการสร้างบุญสร้างบารมีแล้ว จงอย่าปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะบุญเป็นที่พึ่งของเราทั้งในโลกนี้และโลกหน้า บุญจะสนับสนุนให้ได้ประสบความสำเร็จในชีวิต ได้บรรลุจุดหมายปลายทาง คือ ที่สุดแห่งธรรม ดังนั้น ให้รีบขวนขวายในบุญกุศลกันทุกคน

มีวาระธรรมภาษิตใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

"เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำออก (ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อมไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้ เพลิงยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้ อนึ่งบุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วยตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัด ดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึง สถานที่อันเป็นสวรรค์"

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ล้วนถูกไฟ คือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เผาลนอยู่ทุกอนุวินาที ถึงเราจะไม่สามารถหลบหนีพ้น แต่เราทุกคนก็สามารถขนสมบัติที่หามาได้ด้วยความยากลำบากนี้ ให้ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้ เพียงแต่ต้องทำให้ถูกหลักวิชชา ไม่ใช่เอาไปฝากธนาคาร หรือฝังดินไว้ ต้องตัดความตระหนี่ แล้วบริจาคทาน เปลี่ยนทรัพย์สมบัติหยาบ ให้เป็นทรัพย์ละเอียด คือ บุญ หากยังตัดความตระหนี่ไม่ได้ สมบัติที่เรามีอยู่ ก็จะใช้ในชาตินี้เพียงชาติเดียวเท่านั้น

นักรบผู้เก่งกล้าชำนาญการศึก มักมีคติเตือนตนว่า "การศึกเรื้อรัง ให้ระวังท้องพระคลังจะร่อยหรอ" แม่ทัพที่เจนจัดในการรบทัพจับศึก เมื่อถึงคราวออกรบ ต้องตระเตรียมเสบียง กำลังพลและกลยุทธ์ในการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะถ้าปล่อยให้การศึกยืดเยื้อเรื้อรัง กำลังพลจะอ่อนแอ เสบียงจะร่อยหรอ ความพ่ายแพ้ก็จะตามมา

การทำศึกสงครามของชีวิตในสังสารวัฏ เพื่อต่อสู้เอาชนะกิเลสที่มาครอบงำจิตใจก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการตระเตรียมเสบียง คือ บุญ ให้ถึงพร้อม มีเป้าหมาย มีกุศโลบายในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้นด้วยความไม่ประมาท ตามแนวพุทธวิธี ถ้าปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย ไร้การตระเตรียมเสบียง หากเสบียงบุญร่อยหรอ เมื่อเกิดภพชาติต่อ ไป จะไม่มีสมบัติให้ใช้ ชีวิตก็เกิดความอัตคัดขัดสน หาเช้ากินค่ำ บางคนจำต้องไปขอทานเขากินก็มี ฉะนั้น พวกเราทุกคนอย่าได้ประมาทในชีวิต ให้หมั่นรีบสั่งสมความดี ทุกๆ วัน จึงจะสามารถพิชิตสมรภูมิชีวิตในสังสารวัฏได้

เหมือนดังชีวิตที่ผกผัน จากคนยากจน อดมื้อกินมื้อ กลับพลิกผันมาเป็นผู้มีสมบัติมากมายในภพชาติปัจจุบัน และยังร่ำรวยข้ามชาติได้ เรื่องมีอยู่ว่า

*ในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ มีพระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร ได้เสด็จไปกรุงพาราณสีเพื่อโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ พวกชาวเมืองรู้ว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาโปรด ได้กำหนดกำลังทรัพย์ของตนเองว่า จะทำบุญกับภิกษุสงฆ์กี่รูปดี เพราะมีมากถึง ๒๐,๐๐๐ รูป บางคนมีทรัพย์ ไม่มาก ก็รวมกัน ๘ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ได้ถวายอาคันตุกทานด้วยความปีติเบิกบาน

วันหนึ่ง หลังจากเสร็จภัตกิจ พระบรมศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนาว่า "อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้คิดว่า เราให้ของของตนเท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาชักชวนคนอื่น เมื่อคิดเช่นนี้ จึงให้ทานด้วยตนเองเท่านั้น ไม่ชักชวนผู้อื่น บุคคลนั้นย่อมได้โภคทรัพย์สมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติในที่ที่ตนไปบังเกิด
บางคนชักชวนผู้อื่น แต่ตนเอง ไม่ยอมบริจาค เมื่อผลบุญบังเกิดขึ้น ย่อมได้บริวารสมบัติเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้โภคทรัพย์สมบัติ รวยบริวารแต่ขาดแคลนทรัพย์สมบัติ

บางคนเป็นคนตระหนี่ ทั้งตนเองไม่ยอมให้ทาน และไม่ชักชวนคนอื่น จะไปบังเกิดภพภูมิไหน ก็ไม่มีโภคทรัพย์สมบัติ ไม่มีบริวารสมบัติ ต้องเป็นคนที่มีชีวิตอยู่อย่างอัตคัดขัดสน กินเดนคนอื่น
แต่บางคนเป็นผู้มีปัญญา รู้คุณค่าของทานว่า คือ เสบียงสำหรับเดินทางไกลในสังสารวัฏอย่างแท้จริง จึงให้ทานด้วยตนเอง และขยันชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมบุญ เขาย่อมได้รับอานิสงส์ใหญ่ คือ ได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว"

หนุ่มบัณฑิตคนหนึ่งนั่งในธรรมสภา ได้ฟังอนุโมทนากถานั้นแล้ว จึงสอนตนเองว่า บัดนี้เราจะทำสมบัติทั้งสองอย่าง ให้บังเกิดขึ้นกับตัวเรา จึงคลานเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา พลางทูลนิมนต์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"
พระบรมศาสดาตรัสถามว่า "ต้องการภิกษุเท่าไรล่ะ" ด้วยความ ศรัทธาอยาก ได้บุญใหญ่ แม้รู้ว่าลำพังตนเองไม่มีทรัพย์พอที่จะเลี้ยงพระได้ถึง ๒๐,๐๐๐ รูป แต่อาศัยแรงกายและกำลังสติปัญญาว่า ถ้าหากไปเที่ยวชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมบุญ จะสามารถเลี้ยงพระได้หมดทุกรูป จึงทูลว่า ขอนิมนต์หมดทั้ง ๒๐,๐๐๐ รูป

เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว หนุ่มคนนี้รีบกลับเข้าไปในหมู่บ้าน เที่ยวเดินบอกบุญเพื่อนๆ ให้มาร่วมกันถวายมหาสังฆทาน ชาวเมืองต่างปวารณาร่วมถวาย ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๑๐๐ รูปบ้าง ตามกำลังฐานะของตนเอง บางคนเลี้ยงคนเดียวไม่ไหว ก็รวมเป็นกลุ่ม ขอรับเลี้ยงพระถึง ๕๐๐ รูป หนุ่มบัณฑิตผู้เป็นต้นบุญรีบจดคำปวารณาของแต่ละคนไว้ในบัญชีบุญ จะได้รู้ว่า ครบ ๒๐,๐๐๐ รูป หรือยัง เมื่อยังไม่ครบ ก็ได้เที่ยวชักชวนไปเรื่อยๆ

สมัยนั้น ในกรุงพาราณสี มีชายคนหนึ่งชื่อ มหาทุคตะ เพราะความเป็นผู้ยากจนมาก ยากจนกว่าใครทั้งหมดในเมือง บาง วันเขาและภรรยาต้องไปขออาหารเหลือเดน ที่ชาวบ้านจะเททิ้งมากินประทังชีวิต เมื่อบัณฑิตผู้มีจิตใจงดงามเดินผ่านมาพบเข้า เกิดความกรุณา อยากให้เขาพ้นจากความยากลำบาก จึงได้บอกเรื่องที่ตนนิมนต์พระไว้ และชักชวนให้มหาทุคตะรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง มหาทุคตะปฏิเสธ เพราะรู้ว่า ตนเองยากจนเข็ญใจขนาดนี้ ต้องขอเขากินแทบทุกวัน จะถวายทานได้อย่างไร แต่บัณฑิตยอดกัลยาณมิตร ก็ไม่ละความพยายาม ยังชักชวนต่อไปว่า
"สหายเอ๋ย คนในเมืองนี้ ต่างร่ำรวยมั่งคั่ง ไม่ต้องทำงานหนัก มีเงินทองมากมาย เพราะเขาทำบุญมาดี ส่วนท่านยากจนอยู่เช่นนี้ เพราะไม่ค่อยให้ทาน จงรีบทำบุญเถิด"
แม้มหาทุคตะจะจนทรัพย์แต่ไม่อับจนปัญญา ในวันนั้นบุญเก่าตามมาทัน ส่งผลให้เกิดปัญญา เขาคิดว่า "ที่เราอดอยาก ยากจนอยู่ทุกวันนี้ เพราะความตระหนี่ของเราแท้ๆ ดังนั้น วันนี้ เราจะต้องทำบุญใหญ่ให้ได้"
จึงตอบตกลง รับเลี้ยงพระภิกษุ ๑ รูปทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะหาทรัพย์มาจากไหน เพื่อไปซื้ออาหารมาเลี้ยงพระ แต่อาศัยใจถึงจึงรับไว้ก่อน ส่วนเขาจะทำ ความปรารถนาของตน ให้สำเร็จได้หรือไม่อย่างไร คงต้องมาติดตามกันในตอนต่อไป

จะเห็นได้ว่า การตัดสินใจที่จะทำความดี มีส่วนอย่างสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเรา ตราบใดที่ท้องฟ้ายังกว้างใหญ่ แผ่นดินยังสูงอยู่ เราต้องยืนหยัดสู้ต่อไป กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ กำลังใจยิ่งใช้ก็ยิ่งมี ใช้เท่าไรไม่หมดสักที แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำ แต่เราต้องยกใจให้สูงเข้าไว้
ปัจจัยที่ จะนำมาทำบุญ อาจมีไม่มาก แต่ขอให้มีใจใหญ่ มากด้วยศรัทธา มีความเลื่อมใสเต็มเปี่ยม เพียงแค่มีจิตเป็นกุศลก็ได้บุญแล้ว เพราะฉะนั้นให้พวกเราทุกคนหมั่นนึกคิดแต่เรื่องที่ดี หมั่นสร้างความดีทุกๆ วัน ชีวิตเราจะได้สมบูรณ์กัน ทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เรื่องบัณฑิตสามเณร เล่ม ๔๑ หน้า ๓๑๘

ที่มา
http://buddha.dmc.tv/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99/mongkol02-21.html

No comments: