Sunday, June 26, 2011

ถ้อยคำของมิตรแท้...

มงคลที่ ๒

คบบัณฑิต - ถ้อยคำของมิตรแท้

ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด จะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเขากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่เปรอะเปื้อน

การสร้างบารมี เป็นงานที่สำคัญยิ่งของมวลมนุษยชาติ เราเกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติเพื่อบ่มบารมีให้แก่รอบ โดยเดินตามรอยบาทของพระบรมศาสดา มุ่งแสวงหาธรรมกายที่ มีอยู่ภายใน ทำใจหยุดใจนิ่งจนกระทั่งบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือที่สุดแห่งธรรม แต่ในระหว่างทางที่เราสร้างบารมีอยู่นั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะต้องพบเจอกับอุปสรรค

อุปสรรคเหล่านั้น เป็นเพียงเครื่องทดสอบกำลังใจของนักสร้างบารมี หากเราใช้สติปัญญาและขันติธรรม เราย่อมผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาเหล่านั้นไปได้พร้อมกับใจที่ผ่องใส

มีวาระพระบาลีใน คันธารชาดก กล่าวไว้ว่า

"กามํ รุปฺปตุ วา มา วา ภูสํ วา วิกิริยฺยตุ
ธมฺมํ เม ภณมานสฺส น ปาปมุปลิมฺปติ

ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด จะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเขากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่เปรอะเปื้อน"

ผู้มีหัวใจยอดกัลยาณมิตร มี ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เมื่อเห็นข้อบกพร่องของผู้ใดแล้ว มีกำลังใจพอที่จะว่ากล่าวตักเตือน และพูดออกไปด้วยความหวังดี นับว่าเป็นผู้ที่หาได้ยากในโลก คนที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีจิตใจสูงส่ง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใหญ่เป็นหลัก แม้บางครั้งจะต้องพบกับความไม่พอใจหรือไม่เข้าใจของผู้ที่เราว่ากล่าวตัก เตือน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ใจของผู้ชี้บอกขุมทรัพย์จะต้องยิ่งใหญ่และผ่องใสเสมอ อย่าให้สูญเสียความละเอียดไปอย่างเด็ดขาด เช่นนี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล

ส่วนผู้ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน ให้ทำตนประหนึ่งรวงข้าวที่เต็มบริบูรณ์ น้อมรวงลง ไม่ยะโสโอหัง ยอมรับฟังคำเตือนนั้น แม้ว่าบางครั้งเราจะเกิดความรู้สึกที่ไม่พอใจกับคำเตือนนั้น แต่หากบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายได้รับฟังคำเตือนของผู้รู้ และน้อมนำมาปฏิบัติตามแล้ว จะทำให้ใจอ่อนโยนควรค่าแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม และยังจะส่งผลให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

*ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งขณะประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันพระบรมศาสดาได้ยกตัวอย่างการสร้าง บารมีของพระองค์มาเล่าให้พระภิกษุทั้งหลายฟัง สาเหตุของการตรัสเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองราชคฤห์ ตอนนั้น พระปิลินทวัจฉเถระ พระอริยเจ้าผู้เป็นพุทธสาวกได้ไปที่พระราชวังเพื่อโปรดคนรักษาอาราม แล้วได้สร้างปราสาททองถวายพระราชาด้วยกำลังฤทธิ์ มหาชนต่างพากันเลื่อมใส จึงส่งเภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยไปถวายท่าน พระเถระเป็นผู้ที่ไม่สั่งสมอยู่แล้ว จึงแจกจ่ายให้กับพระภิกษุผู้เป็นลูกศิษย์ ศิษย์เหล่านั้นได้เก็บสะสมไว้ในหม้อบ้าง ในถลกบาตรบ้าง

ญาติโยมทั้งหลายเห็นการกระทำนั้น จึงพากันติเตียนโพนทะนาว่า สมณะทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้มักมากจริงๆ ได้อาหารเท่าไรก็ยังไม่รู้จักพอ พากันสะสมมากมายก่ายกองอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะไปตั้งเป็นคลังสินค้าหรืออย่างไร เมื่อเรื่องราวนั้นรู้ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตในกาลก่อน แม้ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสด็จอุบัติขึ้น ยังเป็นนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา รักษาเพียงศีล ๕ เท่านั้น ก็ไม่สะสมแม้ก้อนเกลือไว้เพื่อในวันรุ่งขึ้น ส่วนพวกเธอออกบวชมีจุดมุ่งหมาย เพื่อที่จะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ในศาสนาของเราตถาคต ยังพากันสะสมอาหารไว้เพื่อฉันในวันที่ ๒ ที่ ๓ ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง" จากนั้นทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า

ในสมัยที่ยังสร้างบารมี มีอยู่พระชาติหนึ่งที่พระโพธิสัตว์เกิด เป็นพระโอรสของ พระเจ้าคันธาระ อยู่ที่คันธารรัฐ เมื่อพระบิดาสวรรคตจึงเสด็จถวัลย์ราชสมบัติ ทรงครองราชย์โดยธรรม พระเจ้าคันธาระเป็นผู้ที่มีพระอัธยาศัยงดงาม มีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ ทรงมีพระราชไมตรีกับแว่นแคว้นต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ พระเจ้าวิเทหะ ที่ครองราชย์อยู่ที่วิเทหรัฐ ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชาที่ถูกอัธยาศัยกันเป็นพิเศษ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นหน้ากันและกัน เพียงแต่เจริญสัมพันธไมตรีกันตลอดมา คนในยุคนั้นมีอายุยืนถึง ๓๐๐,๐๐๐ ปีทีเดียว ทุกวันอุโบสถพระเจ้าคันธาระจะสมาทานศีล เสด็จประทับบนบัลลังก์แล้วจะตรัสถ่อยคำที่ประกอบด้วยธรรม ให้โอวาทแก่ข้าราชบริพารอย่างสม่ำเสมอ

วันหนึ่ง หลังจากที่พระเจ้าคันธาระสมาทานศีลแล้ว ขณะประทับนั่งและให้โอวาทแก่ข้าราชบริพารอยู่นั้น ทรงทอดพระเนตรออกไปทางนอกพระบัญชร เห็นพระราหูได้บดบังดวงจันทร์ที่เต็มดวง แสงจันทร์ที่ทอแสงสว่างนวลกระจ่างตาในคํ่าคืนนั้น ถูกกลืนหายไปทันที

พระราชาทอดพระเนตรดูพระจันทร์แล้ว ทรงดำริว่า "พระ จันทร์ที่มีแสงกระจ่างยังเศร้าหมองกับสิ่งที่จรมา แม้ข้าราชบริพารนี้ก็เป็นสิ่งเศร้าหมองสำหรับเรา ทำให้เราไม่สามารถแสวงหาทางหลุดพ้นได้ การที่เราจะเป็นผู้ที่หมดสง่าเหมือนพระจันทร์ที่ถูกราหูอมนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกับเราเลย เราจะเป็นผู้ที่ตักเตือนตัวเอง แสวงหาหนทางที่บริสุทธิ์จะดีกว่า"

เมื่อดำริเช่นนี้แล้ว จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติให้กับอำมาตย์ทั้งหลายพร้อมกับกล่าวว่า "พวกท่านจงแสวงหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นพระราชาเถิด เราต้องการที่จะออกบวช"

พระเจ้าคันธาระจึงออกผนวช โดยอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ ยังฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้น ทรงเอิบอิ่มด้วยฌานสุขที่ได้บรรลุ

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะสหายที่ยังไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เมื่อไม่ได้รับข่าวคราว ของเพื่อนรักหลายวัน ก็นึกสงสัยว่า ทำไมเพื่อนเราจึงขาดการติดต่อมา จนกระทั่งวันหนึ่งมีพ่อค้ามาจากแคว้นคันธาระ จึงตรัสถามพวกพ่อค้าว่า "สหายเรานั้นเป็นอย่างไรบ้าง ยังสุขสบายดีอยู่หรือ"
พ่อค้าทั้งหลายกราบทูลว่า "ตอนนี้พระสหายของพระองค์ ได้สละราชสมบัติออกผนวชเป็นดาบสแล้วพระเจ้าข้า"

พระเจ้าวิเทหะสดับดังนั้น ทรงดำริทันทีว่า "สหายของเราคงเห็นอะไรบางอย่างเป็นแน่จึงออกบวช อย่ากระนั้นเลย เราก็ควรที่จะออกบวชตามสหายรัก เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต"

จากนั้นพระเจ้าวิเทหะก็สละราชสมบัติทั้งหลายออกผนวชเป็นดาบสอาศัยอยู่ที่ป่า หิมพานต์เช่นกัน วันหนึ่งดาบสทั้งสองนี้มาเจอกัน ต่างยังไม่รู้จักกันและกัน เมื่อได้พบปะพูดคุยรู้สึกถูกอัธยาศัย จึงพากันสร้างอาศรมเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ใกล้กัน

ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสององค์นั่งสนทนากันอยู่นั้น วันนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ ได้เกิดเหตุการณ์ราหูอมจันทร์อีกครั้งหนึ่ง วิเทหดาบสสงสัยว่า แสงจันทร์หายไปไหน จึงแหงนดูพระจันทร์ที่ถูกราหูบดบังจนมืดมิด จึงถามคันธารดาบสว่า "ข้าแต่ท่านอาจารย์ ทำไมวันนี้ราตรีไม่มีแสงจันทร์เลย"

คันธารดาบสโพธิสัตว์กล่าวตอบว่า "ดู ก่อนอันเตวาสิก นี้ชื่อว่าราหู เป็นมลทินแห่งจันทร์ แม้ตัวเราเห็นเหตุการณ์อย่างนี้จึงคิดว่า ราชสมบัติก็เป็นมลทินในการแสวงหาความหลุดพ้น เราจึงได้ออกบวช"
วิเทหดาบสฟังเช่นนั้น เกิดความสงสัย จึงถามขึ้นว่า "ท่านอาจารย์ ท่านคือพระเจ้าคันธาระหรือ"

คันธารดาบสก็ตอบยืนยันว่า "ใช่แล้ว เราเคยเป็นพระราชาแห่งคันธาระ"

วิเทหะดีใจยิ่งนัก รีบพูดขึ้นว่า "กระผมเองคือวิเทหะผู้เป็นสหายของท่าน รู้ข่าวว่าท่านออกบวชจึงออกบวชตาม"
เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ที่มาของกันและกัน ก็ยิ่งเพิ่มความรัก ใคร่ปรองดองยิ่งขึ้น วันหนึ่งทั้งคู่ออกจากป่าหิมพานต์มาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านใกล้ชายแดน ชาวบ้านทั้งหลายเห็นท่านดาบสทั้งสอง ต่างพากันออกมาถวายทานกับท่าน และอาราธนาให้ ท่านอยู่ประจำในที่แห่งนั้น

ท่านทั้งสองก็รับอาราธนาและเที่ยวภิกขาจารอยู่ที่นั้นอีก ทั้งมานั่งฉันที่บรรณศาลาที่ชาวบ้านสร้างถวาย ด้วยเหตุที่อาหาร ที่ชาวบ้านนำมาถวายนั้นมีรสหลากหลาย มีทั้งรสจืดสนิท รสเข้มข้น ดังนั้นวิเทหดาบสจึงเก็บเกลือที่ชาวบ้านถวายไว้ เพื่อจะได้ใช้ผสมอาหารที่มีรสจืดในวันต่อๆ ไป วันหนึ่งเมื่อได้อาหารที่ค่อนข้างจืด ท่านจึงนำเกลือนั้นออกมาถวายคันธารดาบส ท่านจึงถามว่า "วันนี้ชาวบ้านไม่ได้ถวายเกลือ ท่านได้เกลือมาจากไหน"

วิเทหดาบสจึงเล่าเรื่องที่ตนเก็บเกลือไว้

ท่านคันธาระรู้จึงตำหนิทันทีว่า "ดูก่อนวิเทหะ ตัวท่านสละราชสมบัติออกบวชแล้ว ยังจะทำการสะสมอยู่อีกหรือ"

เมื่อได้ฟังคำติเตียนตรงๆ อย่างนี้ วิเทหดาบสรู้สึกไม่ พอใจคันธารดาบส คิดว่า "เรื่องเล็กแค่นี้ก็ตำหนิ ทำไมไม่ยอมติเตียนตัวเองบ้าง" จึงตอบโต้ด้วยมานะทิฏฐิว่า "ท่านก็ละทิ้ง รัฐคันธาระมาแล้ว ยังจะปกครองที่นี้อยู่อีกหรือ"

คันธารดาบสรู้ทันทีว่าสหายรักไม่พอใจ แต่หวังประโยชน์ ของสหาย จึงสวมหัวใจของยอดกัลยาณมิตร โดยกล่าวสอนว่า "ดูก่อนวิเทหะ ผู้มีปัญญา หากมีคนใดที่พูดชี้โทษให้ ควรมองผู้นั้นเหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าหากคบผู้นั้นแล้ว จะมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย"

วิเทหดาบสฟังแล้วก็ได้คิด และยอมอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทรงบอกกสิณบริกรรม ทำให้วิเทหดาบสยังฌานและอภิญญาสมาบัติให้บังเกิดขึ้นได้

เราจะเห็นว่า ถ้อยคำของมิตรแท้ที่คอยว่ากล่าวตักเตือนนั้น เป็นถ้อยคำที่ออกมาจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดี ไม่มีความมุ่งร้าย มีแต่จะให้มิตรภาพนั้น เป็นทางมาแห่งประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ไพศาลต่อเพื่อนพรหมจรรย์ ดังนั้นเมื่อได้รับคำตักเตือนจากมิตรแท้ของเราแล้ว ควรที่จะน้อมนำมาปรับปรุงตัวของเราให้ดี อย่าได้ประมาท เมื่อเราทำได้เช่นนี้ เราย่อมจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อม และได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

No comments: