Sunday, May 13, 2007

ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ


ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ
โดย ร้อยเอกประชุม สุขสำราญ

๐ ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระที่ทรงคุณวิเศษอยู่หลายประการ ยังผลให้ "พระสมเด็จ" ที่ท่านสร้างได้รับความนิยมอย่างสูง แม้นคาถา "ชินบัญชร" ก็ยังเป็นที่นิยมสวดภาวนา จนเป็นคาถาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลผลที่ปรารถนาได้สารพัด ทั้งนี้ก็ด้วยบารมีแห่งคุณวิเศษของท่านนั่นเอง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต มีอายุยืนยาวถึง 5 รัชกาล คือ เกิดใน พ.ศ. 2331 (รัชกาลที่ 1) และสิ้นใน พ.ศ. 2415 (รัชกาลที่ 5) และเชื่อกันว่า เจ้าประคุณเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วย

ผมเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ พูดถึงประวัติของท่านโดยสรุปว่า

"
เกิดที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ สิ้นที่วัดระฆัง"

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ในสถานที่ที่ท่านเกี่ยวข้องอยู่นั้น นัยว่าเพื่อให้สมกับชื่อ "โต" ของท่าน เช่นที่วัดเกตุไชโย อ่างทอง, หลวงพ่อโต วัดอินทร์ บางขุนพรหม กทม. เป็นต้น

เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ท่านประพฤติปฏิบัติแปลกๆ ซึ่งพระรูปอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ และเมื่อท่านทำแล้ว แทนที่จะถูกตำหนิ ติเตียนกล่าวโทษท่าน แต่กลับได้รับความนิยมนับถือยิ่งขึ้น แม้พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมมติเทวดาก็ยังยินยอม ไม่ถือโทษ พระราชทานอภัย ทั้งนี้เพราะท่านทรงอภินิหารเป็นวิสามัญบุคคล เรียกว่าเป็นบุคคลประเภท "ปาปมุติ" ทำอะไรก็น่ารัก น่านับถือไปหมด ว่างั้นเถอะ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เองก็เคยพูดถึงความประพฤติของท่านอยู่เสมอว่า

"
ที่เขาชมว่าขรัวโตดี นั่นแหละคือ ขรัวโตบ้า ที่เขาติว่านั่นแหละคือ ขรัวโตดี"

หรือท่านพูดว่า "ทีขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี, ทีขรัวโตดี ก็ว่าขรัวโตบ้า" เป็นงั้นไป

..............................................................

๐ ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก

ความเป็นอัจฉริยะของท่านนั้น มีมาแต่เยาว์วัย เมื่อครั้งเป็นสามเณรโต ก่อนจะย้ายไปอยู่วัดระฆัง พระอาจารย์ที่วัดระฆังยังฝันไปว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง เข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด ซึ่งพระอาจารย์ตื่นขึ้น ก็เกิดความมั่นใจว่าฝันนั้นจะเป็นนิมิตว่าท่านจะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง

วันรุ่งขึ้น สามเณรโตก็ถูกนำตัวมาฝาก ท่านจึงรับไว้ด้วยความยินดี สามเณรโตเป็นช้างเผือกจริงขนาดไหนก็ลองฟัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ท่านพูดถึงสามเณรโตดูก็ได้ว่า ก่อนจะเรียนหนังสือ (สมัยนั้นเขาแปลหนังสือจากคัมภีร์ภาษามคธ เป็นภาษาไทย) ท่านก็ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า "วันนี้จะเรียนตั้งแต่บทนี้ ถึงบทนี้นะขอรับ"

เสร็จแล้วเวลาเรียนก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ ท่านทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอาจารย์ว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก"
..............................................................

๐ หนีสมณศักดิ์

ท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะเรียนรู้พระปริยัติธรรมอย่างที่เรียกได้ว่า "หนังสือดี" ก็ไม่เข้าแปลหนังสือสอบเป็นเปรียญ และไม่รับยศตำแหน่งทางสงฆ์ แต่ก็ประหลาด ท่านไม่เข้าสอบเป็นเปรียญ แต่ก็เรียก "พระมหาโต" ตั้งแต่บวชพรรษาแรกมา

บางท่านก็เรียกว่า "ขรัวโต" เพราะท่านมักประพฤติแปลกๆ จะทำอย่างไรก็ทำตามความพอใจของท่าน ไม่ถือสาหาความกับใคร ขนาดรัชกาลที่ 3 จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอตัวเสีย และมักหลบหนีไปพักแรมที่ห่างไกล เรียกว่า "ไปธุดงค์" เพราะกลัวว่าจะต้องรับสมณศักดิ์นั่นเอง

แต่ก็น่าแปลกนะครับ คนเราลองมีบุญเสียอย่าง ลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญพระ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมหลั่งไหลมาเอง ไม่ต้องเขียนประวัติเชียร์ตัวเอง ก็ย่อมได้อยู่ดีแหละ

..............................................................

๐ หนีไม่พ้น

ในรัชกาลที่ 4 เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต หนีไม่พ้น ต้องรับสมณศักดิ์ในตำแหน่ง "พระธรรมกิตติ" พอพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว มีพระดำรัสว่า

"ในรัชกาลที่ 3 หนี ไม่รับสมณศักดิ์ คราวนี้ทำไมไม่หนีอีกหล่ะ..."

ท่านถวายพระพรว่า "ก็รัชกาลที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้านี่ (คือพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นพระองค์เจ้า ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า) เป็นแต่เจ้าแผ่นดินเลยหนีได้ (ทำนองว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินหนีขึ้นฟ้าก็พ้นได้) ส่วนมหาบพิตรเป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะหนีไปข้างไหนพ้น"

ครั้นเสร็จการพระราชพิธีพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวังหอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ พอถึงวัดระฆัง ท่านก็เดินร้องบอกดังๆ ว่า "ในหลวง ท่านให้ฉันมาเป็นสมภารวัดระฆังจ้าๆ"

พระเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มาคอยรับต่างก็เดินตามท่านไปเป็นขบวนใหญ่ เมื่อบอกกล่าวรอบวัดแล้ว ท่านจึงได้ขึ้นกุฏิ
..............................................................

๐ วิธีปราบพระนอกรีต

เมื่อท่านเป็นสมภารวัดระฆังนั้น ปรากฏว่ามีพระเณรประพฤติล่วงพระวินัย ท่านก็ไม่กล่าวห้ามปรามหรือลงโทษทัณฑ์แต่อย่างไร ท่านใช้วิธีทำให้ผู้ทำผิดเกิดความละอายทีหลังก็ไม่กล้าทำอีก
ครั้งหนึ่งพระ 2 รูปทะเลาะกัน ทุ่มเถียงกันที่หน้าวัด เสียงเถียงกันดังลั่นไปหมด เถียงกันไปเถียงกันมากลายเป็นท้าชก เมื่อถูกท้าอีกองค์ก็บอก

"
พ่อไม่กลัว"

"พ่อก็ไม่กลัว"

พระจะชกต่อยกันเสียแล้วล่ะครับ เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ได้ยินเสียงเอะอะอย่างนั้น ก็เอาดอกไม้ ธูปเทียนเข้าไปหาพระที่เถียงกันนั้น นั่งประนมมือพูดว่า

"
พ่อเจ้าประคุณ ฉันขอฝากเนื้อฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นแล้วว่าพ่อเจ้าประคุณเก่งนัก นึกว่าเอ็นดูฉันเถิดพ่อคุณ"

พระ 2 รูปนั้น ได้ฟังต่างก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ ต่อมาเกิดความละอายและเสียใจได้เข้าไปกราบ ทำปฏิญาณกับท่านว่า จะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป

คราวหนึ่งท่านไปธุระกับนายเทศ ขณะเดินผ่านหลังโบสถ์ พบว่าพระกลุ่มหนึ่งกำลังเตะตะกร้อกัน ท่านเอาพัดด้ามจิ๋วคลี่ออก แล้วยกขึ้นบังหน้า ทำเป็นทีว่าไม่เห็น นายเทศถามว่า "ทำไมท่านจึงไม่ห้าม"

ท่านตอบว่า "ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเองแหละ ถ้าไม่ถึงเวลาเลิก แม้เราจะห้าม เขาก็ไม่เลิก"

ต่อมาพระเหล่านั้นเตะตะกร้อกันอีก คราวนี้ท่านให้ไปตามพระเหล่านั้นมา ฉันน้ำร้อนน้ำชาผสมน้ำตาลทราย แล้วถามเป็นทำนองอยากรู้ว่า การเตะตะกร้อนี่ต้องฝึกหัดกันนานไหม ลูกข้างลูกหลัง อันไหนเตะยากกว่ากันอย่างไร

พระเหล่านั้นรู้เจตนาของท่าน เกิดความละอาย ต่างก็เลิกไม่เตะตะกร้อกันแต่นั้นมา
..............................................................

๐ ความคะนองของเจ้ากู

สมัยรัชกาลที่ 3 มีสามเณรที่มาเรียนหนังสือที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะที่คอยอาจารย์มาสอน ก็เตะตะกร้อรอเวลา เพลินไปเลย เจ้าหน้าที่วังเห็นก็มาห้ามปรามแต่ก็ไม่ยอมหยุด คงเข้าทำนองที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเอง ไม่ถึงเวลาเลิก ทำอย่างไรก็ไม่เลิก

เจ้าหน้าที่จึงนำความขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ 3 พระองค์กลับรับสั่งว่า

"
เจ้ากูจะเล่นบ้าง ก็ช่างเจ้ากูเถอะ"

เรื่องนี้เป็นมูลเหตุให้พระตามวัดต่างๆ เกิดนิยมเตะตะกร้อกันทั่วไป ด้วยถือว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตำหนิห้ามปราม ความจริง ถ้าเราศึกษาพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 3 โดยตลอดจะเห็นว่า ทรงมีพระราชหฤทัยเสมอด้วยพระโพธิสัตว์ ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนามากมายหลายสถาน ทั้งการบูรณะซ่อมแซมวัดวาอาราม การศึกษาของพระภิกษุสามเณร จนขนาดให้เปิดพระราชวังให้เป็นสำนักเรียน เรื่องจะไปตำหนิพระเณรนั้น ย่อมไม่ทรงกระทำเป็นแน่ แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างขวางของพระองค์ ส่วนผู้มีจิตใจคับแคบก็มักจะหาความใส่กันอยู่เรื่อย

อย่างคราวมีงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีพระเณรเที่ยวเดินปะปน เบียดเสียดกับคฤหัสถ์ชายหญิง พลุกพล่านไปหมด ก็มีคนนำเรื่องนี้กราบทูล รัชกาลที่ 3 ก็รับสั่งว่า

"....
คนก็มากด้วยกัน ก็ต้องเบียดกัน ! เป็นธรรมดา"

เข้าใจได้อย่างนี้ ก็สบายใจทั้งพระทั้งโยมแหละครับ
..............................................................

๐ สวดมนต์จังหวะแปลก

คราวหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปธุระ ขากลับผ่านมาทางวัดชนะสงคราม พบพระลูกวัดของท่าน คือวัดระฆังนั่นแหละกำลังสวดตลกคะนองที่วัดนั้น ท่านจึงแวะเข้าไปนั่งยองๆ ตรงหน้าพระสวดนั้น แล้วประนมมือกล่าวว่า "สาธุ สาธุ สาธุ" แล้วลุกขึ้นเดินหลีกไป

พระเหล่านั้นรู้สึกตัวว่าตนทำผิด ทำให้สมภารวัดต้องอับอายขายหน้า ก็เกิดความละอาย บางองค์ก็สึก องค์ที่อยู่ก็ตั้งใจสังวรไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก

สมัยก่อน การสวดตลกคะนองเป็นที่นิยมแพร่หลาย บางครั้งพระนักสวด สวดหยาบโลนจนเสียสมณะสารูป ไม่สมที่เป็นพระ ต้องถูกลงโทษ มีพระบรมราชโองการให้ชำระพระสวดรำต่างๆ ส่งมาเป็นทหารก็มี สึกเอามาเป็นไพร่หลวงก็มี

สมัยนี้ จะหาวัดที่มีพระสวด เล่นกระแทกจนด้ามตาลปัตรหักนี่หายาก นานๆ จะได้ยินสักครั้งหนึ่ง
..............................................................

๐ ตีกันเพราะกรรมเก่า

ต่อมาครั้งหนึ่ง พระวัดระฆังเกิดทะเลาะกันรุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือตีกันหัวแตก องค์ที่ถูกตีมาฟ้องเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ช่วยชำระคดีให้ที แต่ท่านบอกกับพระองค์นั้นว่า

"
คุณตีเขาก่อนนี่จ๊ะ"

"
กระผมไม่ได้ตี มีคนเป็นพยานได้" พระรูปนั้นเถียง

ท่านก็ยังยืนยันว่า คุณตีเขาก่อน อยู่นั่นเอง

พระรูปนั้นไม่พอใจ จึงไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณ ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ไม่ยอมให้ความเป็นธรรม เราถูกตีก็บอกว่าเราตีเขาก่อน ทั้งทีไม่ได้ตีเลย

สมเด็จพระวันรัตจึงถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ยังยืนยันคำพูดเดิม สมเด็จพระวันรัตจึงถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าพระองค์นี้ตีเขาก่อน

ท่านก็ตอบว่า รู้ได้ตามพระพุทธภาษิตว่า "เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร นี่เป็นเวรต่อเวรมันตอบแทนกัน" (หมายถึงองค์ที่ถูกตีนั้น เมื่อก่อน-ชาติก่อนเคยตีเขามาก่อนแล้ว)

"
ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับภาระช่วยระงับอธิกรณ์นี้ อย่าให้เป็นเวรกันเถอะ"

ท่านจึงให้โอวาทว่า ให้ตั้งอยู่ในสมณสัญญา มีหิริโอตตัปปะ และไม่พึงจองเวรอาฆาตมาดร้ายกันต่อไป แล้วท่านก็เอาเงินทำขวัญให้แก่พระที่ถูกตี 12 บาท บอกว่า ท่านทั้งสองไม่มีความผิด ฉันเป็นผู้ผิด เพราะฉันปกครองไม่ดี
..............................................................

๐ ร้อยคำสอนไม่เท่ากับหนึ่งตัวอย่าง

ว่ากันว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคนเจ้าระเบียบ รักสวยรักงาม เมื่อไปพบเห็นที่ใดที่พระเณรทำสกปรก เช่นทิ้งเปลือกเงาะ ทุเรียน หรือเม็ดผลไม้ ไปทางหน้าต่างกุฏิ ท่านก็เก็บกวาดจนสะอาดเรียบร้อย พระเณรเห็นเข้าก็ไม่กล้าทำสกปรกอีก

บางครั้งพระเณรไม่ลงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ท่านก็ลงไปทำแต่องค์เดียว สวดมนต์องค์เดียว ไม่ช้าพระเณรท่านก็ละอายใจ พากันไปลงทำวัตรสวดมนต์กันหมด

หน่วยงานใดก็ตาม ถ้าผู้ร่วมงานไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมส่วนรวม ผู้บังคับบัญชาน่าจะใช้วิธีนี้บ้าง
..............................................................

๐ สายเพราะคอยบอกลา

ตามปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ค่อยจะมีเวลาว่าง ต้องไปกิจนิมนต์บ้าง ไปดูแลควบคุมการก่อสร้างบ้าง บางปีก็ไปธุดงค์ ทางวัดระฆังจึงไม่ค่อยได้ดูแลปกครอง ต้องมอบการงานในวัดให้พระครูปลัดดูแลแทน และท่านได้สั่งพระเณรในวัดว่า ถ้ามีกิจไปนอกวัดก็ให้บอกลาพระครูปลัดก่อน แม้ตัวท่านเองจะไปไหน ก็บอกลาพระครูปลัดเหมือนกัน

ครั้งหนึ่งท่านไปนิมนต์ไม่ทันงานพระราชพิธี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตรัสถามว่า ทำไมจึงมาล่าช้านัก ท่านจึงถวายพระพรว่า เพราะท่านคอยบอกลาพระครูปลัด ซึ่งยังจำวัดยังไม่ตื่น จึงทำให้ล่าช้า

..............................................................

๐ เมตตาพิศดาร

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีคุณธรรมยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งในอัธยาศัยของท่านคือ มักน้อยสันโดษ ยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ได้ลาภสักการะมาทางใดๆ ก็เอาไปใช้จ่ายในงานการกุศลต่างๆ ทั้งสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป และช่วยเหลือเกื้อกูลสงเคราะห์แก่คนทุกชั้นไม่เลือกหน้า แม้กระทั่งโจรมาลักของ ท่านก็ยังอำนวยความสะดวกให้แก่โจร

ครั้งหนึ่ง ท่านจำวัดหลับอยู่ มีโจรขึ้นกุฏิ ล้วงมือไปทางกรงหน้าต่างเพื่อหยิบเอาตะเกียงลาน แต่สุดมือเอื้อมแล้วก็ยังไม่ถึง ท่านได้ยินเสียงกุกกักก็รู้สึกตัว รู้ว่าโจรจะลักของแต่เอาไม่ถึง จึงช่วยเอาเท้าเขี่ยตะเกียงส่งให้โจร โจรคว้าได้ก็เอาไปเลย

ท่านว่า....มันคงอยากจะได้ ก็ให้มันไป

ท่านไปเทศน์ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์หลายอย่าง ทั้งผลไม้ของสด ของแห้ง ทั้งเสื่อหมอน ขาหลับมาพักแรมกลางทาง ตกดึกมีโจรพายเรือเข้าเทียบเรือของท่าน ลักเอาข้าวของไป พอดีโจรล้วงหยิบเอาเสื่อไปได้แล้วเผอิญท่านตื่นขึ้น จึงร้องบอกว่า "เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ" โจรได้ยินเสียง ก็ตกใจกลัว รีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนตามไปให้ โจรเห็นว่าท่านยินดีให้จึงพายเรือกลับมาเก็บหมอนนั้นไป
..............................................................

๐ เด็กวัดแย่งกัณฑ์เทศน์

อีกเรื่องหนึ่ง ท่านไปเทศน์ที่บ้านโยมทางฝั่งพระนคร แถววัดสามปลื้ม โดยเรือพาย ศิษย์ 2 คน พายหัวคนหนึ่ง พายท้ายคนหนึ่ง ตัวท่านนั่งตรงกลาง ขากลับมาตามทางศิษย์ 2 คน เห็นเครื่องกัณฑ์เทศน์แล้วอยากได้ จึงคิดจัดแบ่งเครื่องกัณฑ์กัน

คนหนึ่งว่า "กองนี้ของเอ็ง กองโน้นของข้า"

อีกคนก็ว่าบ้าง "ไม่ได้ กองนี้ข้าเอา เอ็งเอากองโน้น"

ท่านจึงถามขึ้นว่า ".... แล้วของฉันกองไหนหล่ะจ๊ะ"

เมื่อถึงวัด ศิษย์ 2 คน ได้ขนเอาเครื่องกัณฑ์เทศน์ไปหมด ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร
..............................................................

๐ เมตตามหานิยม
คุณธรรมเจ้าประคุณสมเด็จฯ อย่างหนึ่งคือ ขันติ ท่านเป็นผู้หนักแน่น มั่นคง สงบจิตระงับใจไม่ให้ยินดียินร้าย เมื่อประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา และมิน่าปรารถนา ไม่โกรธเคืองใคร

มีเรื่องเล่าว่า มีบ่าวของท่านพระยาท่านหนึ่ง บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้นฝั่งธนบุรี ดื่มสุราพอเมาได้ที่ดี ก็เข้าไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ พร้อมกับถามด้วยเสียงอ้อแอ้ตามประสาครเมาว่า

"
นี่หรือ คือสมเด็จ ที่เขาเลื่องลือกันนักว่ามีวิชาอาคมขลัง ฉันละอยากลองดีนัก"

พอพูดขาดคำก็ตรงเข้าไปชกหน้าทันที แต่ท่านหลบทันเสียก่อน จึงชกไม่ถูก ท่านจึงบอกบ่าวคนนั้นรีบหนีไปเสีย เดี๋ยวใครมาพบเห็นเข้าจะเดือดร้อน จะถูกจับกุมทำโทษ บ่าวคนนั้นก็ตกใจได้สติรีบหนีไป

เรื่องนี้ได้ทราบถึงหูของท่านพระยาผู้เป็นนายเข้าจนได้ จึงจัดการลงโทษบ่าวคนนั้น โดยเอาโซ่ล่ามไว้กับขอบไม้ที่สนามหญ้าหน้าบ้านประจานให้รู้ทั่วกัน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทราบเรื่องเข้า ก็ได้ไปเยี่ยม เอาเงิน 1 สลึง กับอาหารคาวหวานไปให้บ่าวคนนั้นทุกวัน ฝ่ายท่านพระยาคิดเห็นว่า การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทำอย่างนั้น คงจะมาขอให้ยกโทษโดยทางอ้อม จึงให้แก้บ่าวนั้นปล่อยเป็นอิสระเสรีต่อไป
..............................................................

๐ โกรธไม่เป็นเพราะเย็นที่ใจ

คราวหนึ่ง มีคนนิมนต์ท่านไปในงานพิธีมงคลโกนจุก ณ ที่บ้านตำบลบางพลัด ฝั่งธนบุรี บ้านของเจ้าภาพอยู่ในสวน มีคลองเข้าไปลึกสักโขอยู่ ขณะที่ศิษย์พายเรือเข้าไปในคลองนั้น เจ้าคนพายท้าย ได้เห็นปลาตีนตัวหนึ่ง จึงยกพายฟาดตีไป แต่ไม่ถูก น้ำและโคลนกระเด็นเปื้อนจีวรด้านหลังท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ปลาตัวนั้นได้วิ่งไปทางหัวเรือ เจ้าคนทางหัวเรือ ก็ยกพายฟาดไปอีกที แต่ไม่ถูกอีกนั่นแหละ น้ำโคลนกระเด็นเปื้อนจีวรทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ท่านก็ยังนั่งเฉย ไม่พูดว่ากระไร

เมื่อไปถึงบ้านงาน เจ้าภาพและญาติโยมที่เห็นท่านเปียกเปรอะไปทั้งตัว ก็รุกถามกัน ท่านตอบว่า

"
โยม 2 คนนี้ เขาตีปลาตีนกันจ้ะ"

วัดระฆังที่เจ้าประคุณสมเด็จอยู่นั้น ตั้งอยู่ฝากฝั่งธนบุรี ส่วนพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางฝั่งพระนคร คราวหนึ่งท่านไปสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่กำลังสวดอยู่นั้น เด็กวัดที่ติดตามเป็นศิษย์พายเรือให้ ได้หลบไปเที่ยวที่อื่น จนสวดมนต์จบแล้วก็ยังไม่กลับมา ท่านจึงถือพัดยศกับย่าม เดินออกมาจากวัง นั่งคอยอยู่ในเรือ ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าช้างวังหลวง ลูกศิษย์มัวแต่เที่ยวเล่นเพลิน พอกลับมาจึงรู้ว่า พระราชพิธีเสร็จแล้ว รีบวิ่งกลับมาที่เรือ ก็เห็นท่านนั่งคอยอยู่ในเรือ ใจนึกว่าต้องถูกทำโทษ อย่างน้อยต้องถูกบ่นด่าเป็นแน่ แต่ปรากฏว่า เมื่อไปถึงเรือท่านก็นั่งอยู่อย่างสบายอารมณ์ ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน สั่งให้แก้โซ่ลงเรือพายกลับวัดระฆัง

บางครั้ง ท่านจะไปกิจนิมนต์ด้วยเรือเก๋ง ศิษย์ที่รับใช้ก็คะนองมือเหลือเกิน พอท่านก้าวลงเรือ ยังไม่ทันจะนั่งเรียบร้อยดี ศิษย์ก็ถอยเรือรีบแจวอ้าวทีเดียว ท่านตั้งหลักยังไม่ได้ก้นกระแทกกับพื้นเรือ แทนที่ท่านจะขัดเคือง ท่านกลับพูดว่า

"
พ่อจะอวดว่าพ่อมีแรง แต่คนเดียวนะ คนอื่นที่เขาแรงกว่าพ่อ ยังมีอีกถมไป"
..............................................................

๐ สัมมาคารวะ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงคุณธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อม ว่ากันว่า เมื่อท่านเดินทางไปไหนมาไหน พบพระพุทธรูป ท่านจะถอยห่างหลีกออกไป ราว 4 ศอก แล้วจะนั่งลงกราบ แม้แต่จะไปพบหุ่นแบบสำหรับสร้างพระพุทธรูป ท่านก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เคยมีคนถามท่านว่า หุ่นแบบสร้างพระนั้น ต้องนับถือด้วยหรือ

ท่านก็ตอบว่า "ดินก้อนแรกที่หยิบขึ้นมาปั้นหุ่น ก็นับเป็นองค์พระแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจมาแต่ต้นที่จะทำพระพุทธรูป"

คราวหนึ่งไปสวดมนต์ที่บ้านช่างหล่อ ฝั่งธนบุรี ที่บ้านนั้น เขาเอาหุ่นพระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ ห่างจากทางเดินราว 2 ศอก เมื่อท่านเดินผ่านมาในระยะใกล้ชิด ท่านก้มกายยกมือขึ้นประนมเหนือศรีษะ กระทำคารวะ พระและศิษย์ที่ไปด้วย เห็นท่านทำอย่างนั้น ก็ทำตาม

เมื่อขึ้นบ้านงาน และนั่งลงบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว นายเทศ ผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งคุ้นเคยกับสมเด็จฯ ได้กราบเรียนถามว่า

"
กระผมสงสัยจริง เพราะไม่เคยเห็นเจ้าคุณสมเด็จฯ กระทำอย่างนี้"

ท่านจึงตอบว่า "แต่ก่อนไม่เคยเห็นจริงจ้ะ แต่วันนี้เป็นเหตุบังเอิญจ้ะ เพราะฉันเดินผ่านมาในเขตอุปจารของท่าน ไม่เกิน 4 ศอก จึงต้องทำดังนี้"

นายเทศจึงเรียนว่า "ยังไม่ยกขึ้นตั้ง และยังไม่เบิกพระเนตร จะเป็นพระหรือขอรับ"

ท่านตอบว่า "เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นยกดินก้อนแรกวางบนกระดานแล้วจ้ะ เพราะผู้ทำตั้งใจให้เป็นองค์พระอยู่แล้ว เรียกอุทเทสิกเจดีย์ ยังไงล่ะจ๊ะ"

เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ขากลับผ่านมาท่านก็กระทำอย่างนั้นอีก รุ่งขึ้นท่านไปฉัน ตอนนี้ท่านเห็นพระตั้งอยู่ไกลออกไปราว 6 ศอก ห่างออกไปจากทางที่ท่านเดินผ่านไปเมื่อวาน เพราะเจ้าภาพเกรงว่าจะทำให้พระที่มากิจนิมนต์เดินเข้า-ออกไม่สะดวก ท่านไปหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระแล้วประนมมือนมัสการ พระที่ติดตามไปด้วยก็กระทำตาม ประมาณสัก 1 นาทีแล้วจึงขึ้นไปบนเรือน

เมื่อฉันเสร็จแล้ว เจ้าภาพถวายเครื่องสักการะ และท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วก็นำเอาธูปเทียนดอกไม้ที่เจ้าภาพถวายไปสักการะบูชาพระที่ปั้นหุ่นขึ้นไว้นั้น พระติดตามก็ทำตามอีกแล้วจึงกลับวัด

เล่ากันว่า เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปพบพระเณรแบกหนังสือคัมภีร์ไปเรียน ท่านจะต้องนั่งประนมมือ หรือก้มกายลงแสดงความคารวะพระธรรม หรือแม้แต่ใครจะถ่ายรูปของท่านในอิริยาบทใดก็ตาม ถ้าในที่นั้นมีหนังสือเทศน์ ท่านจะต้องหยิบขึ้นมาถือ เหมือนหนึ่งว่ากำลังเทศน์อยู่เสมอ และเพื่อแสดงว่าในที่นั้นมีพระธรรมเป็นประธานอยู่ (ผู้พิมพ์)

อีกอย่างหนึ่งถ้าท่านไปพบพระเณรกำลังเทศน์อยู่ ท่านจะต้องหยุดฟังจนจบ แล้วจึงไปในที่อื่น ทราบว่าที่ท่านทำอย่างนี้ด้วยประสงค์จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า ที่ทรงฟังธรรมที่พระอนุรุทธแสดงอยู่

เรื่องเดิมมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปจะเข้าวิหาร ขณะถึงซุ้มประตูก็พบว่า พระอนุรุทธกำลังแสดงธรรมอยู่ ครั้นจะเสด็จเข้าไปก็เป็นการไม่เคารพ จึงประทับยืนฟังจนจบ เมื่อพระอนุรุทธทราบ จึงทูลขออภัยที่ทำให้ประทับยืนนาน พระองค์ตรัสว่า แม้จะนานกว่านี้สักเท่าไรก็จะประทับยืน เพราะพระองค์ทรงเคารพในพระธรรม

ในหมู่พระสงฆ์ก็เหมือนกัน พระภิกษุจะมีพรรษาอายุมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อไปกราบท่าน ท่านก็กราบคืนบ้าง กราบท่านกี่ครั้ง ท่านก็กราบคืนตอบเท่านั้นครั้ง

บางท่านสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณฯ ต้องทำอย่างนั้น ท่านตอบว่า "อ้าว...ฉันก็ทำตามพระพุทธภาษิตที่ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ ยังไงล่ะจ๊ะ"
..............................................................
๐ ยศช้าง...ขุนนางพระ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระเถระที่ไม่ถือยศถือศักดิ์ เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบประพฤติเป็นอย่างพระธรรมดาสามัญ เหมือนพระลูกวัดทั่วไป ท่านเคยพูดกับคนอื่นว่า ยศช้างขุนนางพระจะดีอย่างไร

ดังนั้น ท่านจะทำอะไร ท่านก็ทำตามอัธยาศัยของท่าน ไม่เห็นจะต้องคอยเอาอกเอาใจใคร บางครั้งไปกิจนิมนต์ทางเรือบ่อยๆ ศิษย์แจวเรือเหนื่อยก็ให้พักเสีย ท่านก็แจวแทนเสียเอง

คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงาน ที่บ้านแถวจังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว 2 คน ผัวเมียแจวเรือไปส่ง ขณะที่มาตามลำคลองนั้น เขาเกิดผิดใจกันเรื่องอะไรไม่ทราบ ผัวเมียคู่นั้นเป็นปากเสียงเถียงกันหน้าดำหน้าแดง หนักเข้าก็งัดคำหยาบคายต่างๆ นานามาด่ากันลั่นไปหมด ท่านขอร้องผัวเมียคู่นั้นให้เลิกทะเลาะวิวาทกันเสีย แล้วให้เข้าไปนั่งในประทุนเรือ เสร็จแล้วท่านก็แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆัง

คราวหนึ่งมีผู้นิมนต์ท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ ที่บ้านในสวนตำบลราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี บ้านของเขาอยู่ในคลองเล็กลึกเข้าไปมาก สมเด็จฯ ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ เวลานั้นน้ำแห้งเข้าคลองไม่ได้ ท่านก็ลงเข็นเรือกับศิษย์ของท่าน

ชาวบ้านเห็นก็นึกแปลกใจ ด้วยไม่เคยเห็นพระเถระผู้ใหญ่ไม่ถือเนื้อถือตัวอย่างนี้มาก่อน ก็ร้องบอกกันว่า "เร็ว...ดูสมเด็จเข็นเรือๆ" ท่านบอกว่า "ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อ ขรัวโต สมเด็จท่านอยู่ที่วัดระฆังจ้ะ" (ท่านหมายถึงพัดยศที่แสดงว่าเป็นสมเด็จอยูที่วัดระฆัง) แล้วชาวบ้านก็ช่วยท่านเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน

เกี่ยวกับเรื่องพัดยศนี้ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านรับกิจนิมนต์มาในพระบรมมหาราชวัง เมื่อกำลังทำพิธีอยู่นั้น ศิษย์ที่พายเรือให้ท่านก็หลบไปเที่ยวเล่นเสีย คงเป็นเพราะท่านใจดี ไม่เคยดุด่าลงโทษ ก็เลยไม่เกรงใจ พอเสร็จจากพิธีในวังก็แบกพัดยศและย่ามออกมา คอยศิษย์ตั้งนานก็ยังไม่มาสักที เมื่อเห็นว่าคอยต่อไม่ได้แล้ว ก็แบกพัดยศลงเรือ แล้วบอกว่า "เชิญสมเด็จท่าน นั่งบนหัวเรือเถอะ ฉันขรัวโตจะพายเรือเองจ้ะ" ว่าแล้วก็วางพัดยศทางด้านหัวเรือ ท่านก็มายืนพายเรืออยู่ทางด้านท้าย
..............................................................

๐ ประกาศห้ามพระพายเรือ

สมัยก่อนนั้น การคมนาคมไม่สะดวก การจะเดินทางไปไหนไกลๆ มักจะไปทางเรือเป็นส่วนใหญ่ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ต้องไปทางเรือเหมือนกัน แต่มีปัญหาเรื่องคนพายอยู่เสมอ ดังนั้น เพื่อเป็นการพึ่งตนเองโดยไม่รบกวนผู้อื่น จึงมักจะพบพระสงฆ์พายเรือขึ้น - ล่องกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำน้ำเจ้าพระยาอันกั้นระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร

ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีหมายรับสั่งฉบับหนึ่ง ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์แจวเรือ พายเรือ เวลาเสด็จทางชลมารคและเสด็จประทับที่พระที่นั่งริมน้ำ เพราะทรงทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุสงฆ์ ยืนแจวเรือขึ้น - ล่อง ตามลำน้ำผ่านพระที่นั่ง ทรงเห็นจับได้ถึง 3 ราย ตั้งแต่นั้นก็ให้กรมธรรมการจัดเรือสกัดหัวน้ำท้ายน้ำ ห้ามพระภิกษุสงฆ์อย่าให้พายเรือแจวเรือขึ้น - ล่องตามลำน้ำในเวลาเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และเสด็จพระที่นั่งริมน้ำเป็นอันขาดทีเดียว

คราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับพระที่นั่งชลังคพิมานพระที่นั่งริมน้ำ วันนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีกิจจำเป็นต้องแจวเรือผ่านพระที่นั่งนั้นพอเรือจะผ่านหน้าพระที่นั่ง ท่านก็นั่งลง เอาพายพุ้ยน้ำในลักษณะกึ่งพายกึ่งแจว

พระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็น ทรงพระสรวล รับสั่งว่า "ขรัวโตนี่ฉลาดนัก ห้ามยืนแจว ห้ามยืนพาย แต่นี่นั่งลงทำอย่างนี้ไม่ทราบว่าแจวหรือพาย"
..............................................................
๐ วาจาอ่อนหวาน

ตามปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านพูด จ๊ะ จ๋า กับคนทุกคน แม้กับสัตว์ เดรัจฉาน ท่านก็พูดอย่างนั้น เช่น คราวหนึ่ง ท่านเดินทางไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ ท่านพูดกับสุนัขนั้นว่า "โยมจ๋า ขอฉันไปทีจ้ะ" แล้วท่านก็ก้มกายเดินหลีกทางไป

มีผู้ถามว่าทำไมท่านจึงทำดังนั้น ท่านตอบว่า "ฉันไม่รู้ได้ว่า สุนัขนี้เคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดก กล่าวว่า ในกาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข"
..............................................................

๐ ติดบ่วงแทนนก

นอกจากนี้ ท่านยังแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลายทั่วกัน ไม่จำกัดขอบเขตว่า จะเป็นสัตว์ชนิดใด เมื่อพบสัตว์ประสบทุกข์ต้องภัยพิบัติ ท่านก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการุณยจิต

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปต่างจังหวัด ระหว่างทางได้มองเห็นนกตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ กำลังดิ้นรนเพื่อจะเอาชีวิตให้รอดไป แต่ก็ไม่สามารถหลุดไปจากแร้วได้ ท่านจึงแก้บ่วงแร้วปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านก็เอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงนั้น นั่งทำทีเป็นติดแร้วไปไม่ได้ เมื่อคนเดินผ่านมาพบ ก็เข้าไปจะช่วยแกะเชือกแก้บ่วงออก ท่านไม่ยอมให้แก้บอกให้ไปตามเจ้าของแร้วมาก่อน เมื่อเจ้าของแร้วมา ท่านก็บอกความจริงว่า นกติดแร้วแต่ท่านช่วยปล่อยนกนั้นไป จึงขอติดแร้วแทนนก

เจ้าของแร้วบอกท่านว่า ไม่เป็นไร อนุญาต ยินยอมให้ท่านปล่อยนกนั้นได้ โดยไม่ติดใจโกรธแต่อย่างใด ท่านจึงแก้บ่วงจากเท้า แล้วบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ ท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไป

เรื่องการแก้บ่วงปล่อยนกไปนั้น ว่าตามทางพระวินัย ท่านมีความผิดเพราะนกนั้นเป็นทรัพย์มีเจ้าของแล้ว ปรับเป้นภัณฑไทย ดังนั้น ท่านจึงต้องคอยให้เจ้าของแร้วอนุญาตก่อนจึงพ้นผิดได้

อนึ่ง การปล่อยนกในฐานะเช่นนั้น นับเป็นทานอย่างหนึ่งเรียกว่า อภัยทาน การที่เจ้าของแร้วให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปล่อยนกได้นั้น จึงจัดว่าได้บำเพ็ญกุศลที่เรียกว่า อภัยทานนั้นอีกทางหนึ่งด้วย ท่านจึงบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ และท่านกล่าวคำอนุโมทนาดังกล่าว
..............................................................
๐ ยอดนักเทศน์

เจ้ประคุณสมเด็จฯ เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นที่นิยมยกย่องอยู่ทั่วไป แววแห่งการเป็นนักเทศน์ของท่านนั้นปรากฏตั้งแต่เมื่อเป็นสามเณร ใครๆ ก็ชมว่าเทศน์ได้ไพเราะนัก พระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดมาก เมื่ออุปสมบทเป็นพระแล้วยิ่งเป็นนักเทศน์มีชื่อเสียง คนทุกชั้นบรรดาศักดิ์นิยมนับถือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ก็ทรงพระเมตตาทุกพระองค์ว่า ท่านเทศน์ดีเยี่ยมยอด ทั้งในทางธรรมวัตรและมหาชาติ ถึงได้รับยกย่องว่า เป็นพระธรรมกถึก เอกองค์หนึ่ง ในวงการศาสนา

มีกิจอันหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญ คือทรงสดับพระธรรมเทศนาทุกวัน เป็นประเพณีมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 5 ก็ทรงประพฤติพระราชานุกิจอันนี้

เล่ากันว่า ในรัชกาลที่ 4 ครั้งหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถวายเทศนาที่ในพระราชฐาน 3 วัน ติดต่อกัน เนื่องในการเสด็จออกทรงธรรมตามพระราชานุกิจนั้น วันที่ 1 ผ่านไปแล้วถึงวันที่ 2 พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสดับพระธรรมเทศนาแต่เพียงย่อๆ เพราะมีพระราชกิจคอยอยู่อย่างหนึ่ง (นัยว่า เจ้าจอมประสูติ) แต่หาได้รับสั่งให้ทราบไม่ เห็นจะทรงเกรงอัธยาศัย จึงคงประทับฟังจนจบ แต่ว่าวันนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯถวายเทศน์วันนั้นพิสดารยืดยาวมาก

ครั้นถึงวันที่ 3 พอพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ท่านก็ขึ้นธรรมาสน์ถวายศีล บอกศักราช ถวายพระพรตามแบบการเทศน์แล้วตั้งนะโม 3 จบ ตั้งคาถาเดินเรื่องแล้วแปลสัก 2 - 3 คำ ท่านก็กล่าวขึ้นว่า จะถวายพระธรรมเทศนาหมวดใดๆ ก็ทรงทราบอยู่หมดแล้ว เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้ ลงจบเทศนา แล้วลงจากธรรมาสน์

พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถามถึงเหตุว่า ไฉนในวันก่อนถวายเทศน์ยืดยาวมาก และวันนี้ทำไมถวายน้อยนัก ท่านถวายพระพรว่า " เมื่อวานนี้มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้ามีพระราชหฤทัยขุ่นมัว ด้วยทรงมีกังวล จะดับความขุ่นมัวได้ต้องทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มาก ส่วนวันนี้ มีพระราชหฤทัยผ่องใส จะไม่ทรงสดับก็ได้ "

ว่าพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระโอษฐ์แล้วไม่ตรัสว่ากระไร
..............................................................

๐ เลียนแบบเลยเจอดี

การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เทศน์สั้นเพียง 2 - 3 คำ แล้วลง เอวังนี้ ได้ปรากฏข่าวแพร่กระจายไปในหมู่พระสงฆ์ทั่วไป และต่างก็มีความคิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงผนวชนานถึง 27 พรรษา การศึกษาพระพุทธศาสนาก็ทรงแตกฉานลึกซึ้ง จนกระทั่งสามารถตั้งนิกายคณะสงฆ์ขึ้นใหม่คือ "คณะธรรมยุตินิกาย" หรือที่เราเรียกกันว่า พระธรรมยุติ ปรากฏมาจนปัจจุบัน

ในปีต่อมา ทรงโปรดให้ เจ้าคุณพระธรรมไตรโลก (รอด) วัดโมลีโลกยาราม ฝั่งธนบุรี ถวายเทศนา เนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุสรณ์ อุทิศถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี 2396

เจ้าคุณพระธรรมไตรโลก พอขึ้นสู่ธรรมาสน์ ดำเนินการเทศน์ ตั้ง นะโม 3 จบ ตั้งคาถาเดินเรื่องแล้วถวายเทศน์อย่างย่อๆ ว่า ธรรมบทใดๆ พระมหาบพิตรทรงทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ตามอย่างเจ้าประคุณสมเด็จฯ

พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว ตรัสว่า "ตัวเหมือนขรัวโต หรือ จึงเอาอย่าง เทศน์แบบนั้น ยกให้แต่ ขรัวโต เท่านั้น"

ภายหลังต่อมาเจ้าคุณพระธรรมไตรโลก ได้ถวายหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยรู้สึกตัวว่า มีผิดเป็นอันมาก เพราะทำให้เสียพระเกียรติ พระราชศรัทธาไป ถ้าสืบไปเบื้องหน้าทำเช่นนี้อีก จะขอลาสิกขาบทออกมารับพระราชอาญาตามโทษานุโทษ
..............................................................

๐ ประเพณีบอกศักราช

ในการเทศน์นั้น ต้องมีการบอกศักราชก่อนเสมอ เพื่อเตือนผู้ฟังว่า ในเวลานั้นเป็นวัน เดือน ปี อะไร ด้วยว่า ปฏิทินกำหนดวันเวลายังไม่แพร่หลายอย่างปัจจุบัน การที่จะรู้ข้างขึ้นข้างแรม จึงมักจะสอบถามพระอยู่เสมอ หรือบางที ถ้าเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์ปลงผมก็แสดงว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ แน่ ขอประทานโทษ อย่างนี้เรียกว่า เอาหัวพระเป็นปฏิทินนั่นแหละครับ

ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 6 จะต้องเรียกว่า "ฉศก" เช่น ปีขาล ฉศก (จ.ศ.๑๒๑๖) คำว่า ฉศก อ่านออกเสียงแต่เดิมมาว่า "ฉ้อ-ศก" ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถวายเทศนาที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิฉัย ท่านถวายศักราชว่า ปีขาล ฉศก (อ่านว่า ฉะ - ศก) พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดว่าท่านบอกถูกต้องตามอักขรวิธีภาษาไทย ได้พระราชทานกัปปิยภัณฑ์ เป็นมูลค่าถึง 6 บาท และทรงให้ประกาศใช้คำว่า ฉศก แทน ฉ้อศก ให้ถือเป็นแบบฉบับสำหรับแผ่นดินสืบต่อไป
..............................................................

๐ สมเด็จใครตั้ง

ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ถวายเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง จะเป็นงานพระราชพิธีอะไรไม่ทราบ ท่านได้พูดถึงพระอานนท์ โดยใช้คำว่า "สมเด็จพระพุทธอนุชานนท์" พระเจ้าอยู่หัวทรงอยากทราบว่า ทำไมจึงใช้คำว่า "สมเด็จ" นำหน้านามพระอานนท์ด้วย กาตริย์พระองค์ใดตั้งให้ท่านเป็นสมเด็จโปรดให้ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์ ไปสอบถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทีท่านผู้อ่านบางท่าน อาจจะไม่เข้าใจ ในเรื่องตำแหน่งทางคณะสงฆ์ บางที อาจจะงง ผมก็ขอทำความเข้าใจตรงนี้เลยนะครับว่า อันยศของพระสงฆ์ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พระราชาคณะ"

สำหรับเมืองไทยเรา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ตามลำดับสูงสุดลงไปหาล่างสุด เพื่อความเป็นระเบียบในการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้

1.
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี 1 ตำแหน่ง คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปัจจุบันปี 2534-ทรงสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" อันเป็นตำแหน่งชั้นสมเด็จ (สุพรรณบัฏ) ขึ้นในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกแล้ว)

2.
ตำแหน่งชั้น "สมเด็จ" (สุพรรณบัฏ) มี 8 ตำแหน่งคือ

-
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
-
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
-
สมเด็จพระวันรัต
-
สมเด็จพระธีรญาณมุนี
-
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี
-
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
-
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
-
สมเด็จพระพุฒาจารย์

3.
ตำแหน่ง ชั้น "รองสมเด็จ" (หิรัญบัฏ) มี 16 ตำแหน่ง เช่น

-
พระธรรมปัญยาจารย์
-
พระศาสนาโสภณ
-
พระวิสุทธิวงศาจารย์
-
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
-
พระญาณวโรดม
-
พระพิมลธรรม
-
พระธรรมวโรดม
-
พระธรรมปัญญาบดี
-
พระ พุทธวรญาณ
-
พระสุเมธาธิบดี
-
พระพรหมมุนี เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็เป็นพระราชาคณะชั้นล่างๆ ลงมาอีก ที่เรานิยมเรียกอย่างสามัญว่า "เจ้าคุณ" จัดเป็นชั้นๆ ลดหลั่นจากสูงไปหาต่ำ คือ ชั้นธรรม, ชั้นเทพ, ชั้นราช, ชั้นสามัญ พอหลุดจากชั้น "เจ้าคุณ" ก็เป็นชั้นของ "พระครู" เริ่มตั้งแต่พระครูสัญญาบัตร ชั้นพิเศษ, ชั้นเอก, ชั้นโท, ชั้นตรี ต่ำลงไปอีกเป็นพระครูชั้นประทวน พระครูฐานา ฯลฯ เอาไว้ว่ากันอีกทีก็แล้วกันนะครับ
..............................................................
๐ สมณศักดิ์กับบรรดาศักดิ์

แต่เมื่อเทียบยศช้างขุนนางพระที่เรียก "สมณศักดิ์" ของฝ่ายสงฆ์กับ "บรรดาศักดิ์" ของขุนนางฝ่ายบ้านเมืองแล้วก็เทียบได้ดังนี้

สมณศักดิ์................................เท่ากับบรรดาศักดิ์
ชั้นสามัญ................................ชั้นขุน
ชั้นราช...................................ชั้นหลวง
ชั้นเทพ...................................ชั้นพระ
ชั้นธรรม.................................ชั้นพระยา
ชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ)..........ชั้นเจ้าพระยา
ชั้นสุพรรณบัฏ (สมเด็จ)............ชั้นสมเด็จเจ้าพระยา

ก็เป็นอันว่า ตำแหน่ง "สมเด็จ" ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเติมนำหน้าพระนามพระอานนท์นั้น ไม่ทราบว่าใครแต่งตั้งให้จึงเป็นสาเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีปุจฉาไป

เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะแก้พระราชปุจฉาหรือไม่อย่างไรไม่ปรากฏ ได้แต่เขาเล่ากันมาว่า ท่านได้ถวายพระพรสนองพระราชปุจฉาเป็นทำนองว่า ทีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สิน) วัดสระเกส หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยูรวงศาวาส ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ยังเรียกว่า "สมเด็จ" ได้ ส่วนพระอานนท์ เป็นถึงพระอรหันตขีณาสพ ไฉนจึงจะเรียก "สมเด็จ" นำหน้าไม่ได้
..............................................................

๐ ปฏิภาณไหวพริบ

ครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ 4 เจ้าประคุณสมเด็จฯ เข้าไปถวายเทศนาในพระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัย เมื่อท่านขึ้นธรรมาสน์ ตั้งนะโม ถวายศีลแล้วจึงวางตาลปัตร คว้าผ้าห่อคัมภีร์จะเทศน์ถวายต่อไป แต่ปรากฏว่ามีแต่ผ้าห่อเท่านั้น ส่วนหนังสือเทศน์ที่แต่งไว้ ศิษย์ลืมเอามา ครั้นจะเทศน์ถวายโดยใช้ปฏิภาณเฉพาะหน้า ก็ดูมิบังควร ไม่ถูกต้องตามราชนิยม เพราะประเพณีการถวายเทศนาในสมัยนั้น ผู้เทศน์จะต้องเขียนคำเทศนาลงในใบลานและเขียนลงในสมุดไทยถวายด้วย

เมื่อลืมหนังสือเทศน์เสียแล้ว ท่านไม่รู้ที่จะทำอย่างไร จึงทำเป็นหยิบแก้วน้ำบ้วนปากแล้วๆเล่าๆ เหมือนจะประวิงเวลาไว้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นจึงตรัสถามว่าเป็นอะไรจึงทำอย่างนั้น ท่านถวายพระพรว่า วันนี้เสียงดีถ้าโปรดให้ถวายเทศน์กัณฑ์กุมารละก้อเหมาะเป็นที่สุด เมื่อได้รับพระราชทานอนุมัติ ท่านจึงถวายเทศน์กัณฑ์กุมารจนจบ

พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดนัก ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายเทศน์กัณฑ์นี้เป็นพิเศษ

เรื่องขบขันทำนองเดียวกันนี้ ก็เกิดขึ้นกับพระสงฆ์รูปอื่นเหมือนกัน แต่จะเลียนแบบเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เกรงจะถูกตำหนิเอาโทษเหมือนเมื่อคราวเทศน์สั้นๆ ก็ลงเอวังอีก คราวนี้เกิดกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ไปเทศน์ในงานศพที่วัดประยูรวงศาวาส เมื่อให้ศีลแล้วจะเริ่มเทศน์ต่อไป พอเปิดหีบหยิบผ้าห่อคัมภีร์ออกมา จึงรู้ว่าลืมหนังสือเทศน์จะเลียนแบบเจ้าประคุณสมเด็จฯก็ไม่ได้ จึงยื่นหน้าพูดว่า "ลืมหนังสือเทศน์จ้ะ" ต้องให้ศิษย์กลับไปเอาหนังสือเทศน์ที่วัด แต่ศิษย์คนนั้นไปหยิบเอาหนังสือเรื่องอื่นมา ไม่ใช่เรื่องที่เตรียมไว้สำหรับงานนี้ ต้องให้กลับไปเอาใหม่อีกครั้งหนึ่ง กว่าจะลงมือเทศน์ได้ ก็กินเวลาไปร่วมชั่วโมงนั่นแหละครับ
..............................................................

๐ วัดคณิกาผล

มีหญิงคนหนึ่งชื่อแฟง แต่คนทั่วไปมักเรียกแกว่ายายแฟง มีอาชีพเป็นหัวหน้าซ่องหญิงนครโสเภณี (แม่เล้า) จัดเก็บเงินจากหยาดเหงื่อ แรงงานของหญิงโสเภณี จนร่ำรวยมีเงินมีทองมากมาย ต่อมาคิดอยากสร้างกุศลขึ้น จึงได้สร้างวัดไว้ที่ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย ฝั่งพระนคร เรียกว่า "วัดใหม่ยายแฟง"

เมื่อสร้างสร็จ ยายแฟงได้จัดการฉลอง นิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์บอกอานิสงส์ ว่าได้บุญมากน้อยแค่ไหนในการสร้างวัด ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ ได้ผลานิสงสบกพร่องไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่นที่ไม่ชอบด้วยธรรมนิยม ถ้าเปรียบอานิสงส์ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาทจะได้แค่สักสลึงเฟื้อง (ราว 37 สตางค์) เท่านั้น "นี่ว่าอย่างเกรงใจกันนะ" ท่านว่า คนที่ฟังเทศน์ต่างหัวเราะกันครืนทีเดียว แต่ว่ายายแฟงเคืองมาก ต่อมาภายหลัง เมื่อตริตรองดูแล้วก็เห็นจริงตามที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เทศน์ ยายแฟงก็หายเคือง

วัดใหม่ยายแฟงนี้ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนขชื่อตามสมัยนิยมว่า "วัดคณิกาผล"
..............................................................

๐ หัวล้าน - หัวเหลือง

ตามปกติเจ้าประคุณสมเด็จฯ ชอบเอาว่านทองคำมาโขลกทาศรีษะ จนศรีษะเหลืองอ๋อย ปรากฏแก่คนทั้งหลายอยู่เสมอ ฝ่ายเจ้าคุณพระธรรมอุดม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ ศรีษะล้าน เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงมาก

คราวหนึ่ง มีการทำบุญอายุของคุณท้าวผู้หนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกะให้นักเทศน์ทั้งคู่มาพบกัน เหมือนเป็นการพบกันเป็นคู่เอกว่างั้นเถอะ เสร็จแล้วเมื่อถึงกำหนดเวลาเทศน์ พระองค์ก็ประทับบังอยู่ในม่านพระวิสูตรไม่แสดงพระองค์ให้พระนักเทศน์เห็น

พอพระนักเทศน์ทั้งคุ่ เทศน์ไปได้พักหนึ่ง ก็รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอองค์เล็กๆ ทรงยกเชิงเทียนเล็กๆ ออกมาตั้งตรงกลางระหว่างธรรมาสน์ทั้งสองบนเชิงเทียนนั้น ติดเงินสลึงอันหนึ่งเงินเฟื้องอันหนึ่ง รวมเป็นสลึงเฟื้อง พอเจ้าประคุณสมเด็จฯ เหลือบเห็นเข้าเท่านั้น ท่านก็ถามเจ้าคุณพระธรรมอุดมว่า

"
นั่นแน่ะ เห็นไหม มาไรๆ แล้ว"

"
ก็เห็นนะซี"

"
เห็นแล้ว หมายความว่าอย่างไร"

"
ก็ทรงติดกัณฑ์เทศน์เท่านั้นเอง จะมีอะไรอีกล่ะ"

"
ไม่ใช่เท่านั้น นี่แน่ะ จะตีความให้ฟัง ท่านน่ะหัวล้าน..ฉันน่ะหัวเหลือง ได้พระราชทานคนละเฟื้องสองไพ รวมเป็น สลึงเฟื้องไงล่ะ"

พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลงอ อยู่ในหลังม่านด้วยความขบขันนั่นเอง
..............................................................
๐ ล้างไม้ - ล้างมือ
ตอนหนึ่ง กล่าวถึงภัตตทาน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า ผู้ที่ทำอาหารถวายพระต้องล้างมือล้างไม้ให้สะอาด อาหารที่ทำก็ดีพิเศษกว่าอาหารที่ตนบริโภค และถวายโดยอาการเคารพ เช่นนี้ จึงจะได้บุญมาก

เจ้าคุณพระธรรมอุดมถามว่า "ที่ให้ล้างมือนั้นก็ทราบแล้ว แต่ให้ล้างไม้นั้น จะให้ล้างไม้อะไร"

ท่านตอบทันทีว่า "ล้างไม้จวักซิจ๊ะ" ทีนี้ทรงพระสรวลอีก
..............................................................

๐ วิญญาณค้างปี

ในสมัยก่อน วัดสระเกศ มีพระราชาคณะที่เรียกชื่อว่า พระธรรมวิโรจน์ 2 องค์ เจ้าคุณพระธรรมวิโรจน์องค์แรกเคยเทศน์คู่กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาครั้งหนึ่ง ได้เอาเรื่องวิญญาณมาถามว่า เวลาคนตายนั้นวิญญาณไปอย่างไร เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นฝ่ายวิสัชชนา แก้เท่าไรก็ไม่ตกลงกันได้
เลยเป็นเรื่องค้างปีเลิกกันไป

ครั้นเจ้าคุณธรรมวิโรจน์องค์นั้นมรณภาพแล้ว มีพระรูปหนึ่งได้รับตำแหน่งเจ้าคุณที่พระธรรมวิโรจน์ขึ้นแทนในวัดนั้นอีก ได้เทศน์คู่กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ อีก และได้เอาเรื่องวิญญาณมาถามอย่างนั้นอีก

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเอือมระอา เรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว พอได้ยินถามแบบเดียวกันอีก ท่านก็วิสัชชนาว่า "ธรรมวิโรจน์เข้าโกศ อยู่วัดสระเกศ นี่ไอ้...ยังเอามาถามอีกได้" ท่านยั้งไว้ที่ ไอ้...ให้คนฟังต่อกลอนเอาเอง คนฟังต่อได้ก็ฮากันครืนทีเดียว
..............................................................
๐ เทศน์แบบรับจ้าง

มีหญิงหม้ายคนหนึ่ง อยูตำบลบ้านช่างหล่อ ฝั่งธนบุรี ได้นิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์ที่บ้าน ก่อนจะขึ้นเทศน์หญิงนั้นได้เอาเงินมาติดกัณฑ์เทศน์ 100 บาท พร้อมกับกราบเรียนว่า "ขอให้พระเดชพระคุณเทศน์ให้เพราะๆ สักหน่อยน่ะ เจ้าคะ วันนี้ ดิฉันมีศรัทธาติดกัณฑ์เทศน์พิเศษ 100 บาทเลย"

พอได้เวลา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีล บอกศักราชตั้งนะโมแล้วว่า "พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง..." ลงเอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ต่อด้วยยถาสัพพี แล้วลงจากธรรมาสน์หลับวัดไป หญิงคนนั้นขัดเคืองมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่นึกในใจว่า "เทศน์อะไรฟังไม่รู้เรื่องรู้ราว เสียแรงติดกัณฑ์เทศน์ตั้ง 100 บาท"

ครั้นวันรุ่งขึ้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ไปเทศน์ที่บ้านนั้นอีกโดยที่เขามิได้นิมนต์ ก่อนเทศน์ท่านได้บอกหญิงนั้นว่า "เมื่อวานนี้ฉันรับจ้างเทศน์จ้ะ วันนี้ ฉันจะมาให้ธรรมเป็นทานนะจ๊ะ" แล้วท่านก็เทศน์ต่อไปจนจบ ว่าวันนั้นท่านเทศน์แจ่มแจ้งไพเราะจับใจคนฟังมาก
..............................................................
๐ ศรัทธาหัวเต่า

เรื่องเทศน์เป็นของคู่กันมากับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการเทศน์ "มหาชาติ" คือการเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ที่เป็นชาติสุดท้าย ก่อนเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ที่เทศน์เรื่องมหาชาติได้ดีมีไม่กี่รูป โดยเฉพาะการเทศน์ทำนองที่เรียกว่า แหล่นอก แหล่ใน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เป็นรูปหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการเทศน์มหาชาติเป็นอย่างดี อย่างที่เคยแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง สมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยกัณฑ์กุมารมาแล้ว ปรากฏว่าทรงโปรดนัก

มีคหบดีคนหนึ่ง บ้านอยู่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จัดให้มีการเทศน์มัทรีที่บ้าน จึงหานิมนต์พระไปเทศน์ เข้าไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ขอให้ท่านนิมนต์พระเทศน์ให้องค์หนึ่ง โดยไม่ทราบว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เทศน์กัณฑ์มัทรีได้

ครั้นถึงวันกำหนดท่านก็ไปเสียเอง ไม่ได้นิมนต์พระองค์อื่นไปให้ตามที่เจ้าภาพตั้งใจ ฝ่ายเจ้าภาพก็คิดว่าท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ คงจะเทศน์เป้นแต่ทำนองธรรมวัตร คือเดินเรื่องแบบเรียบๆจึงให้แบ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์ที่เตรียมไว้ออกเสียครึ่งหนึ่ง ด้วยคิดว่าจะนิมนต์พระองค์อื่นมาเทศน์ในวันต่อไป

ครั้นถึงเวลาขึ้นเทศน์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เทศน์ทำนองครบเครื่องของกัณฑ์มัทรี ไพเราะจับใจ เกิดศรัทธาเลื่อมใสมาก จึงให้เอาสิ่งของที่แบ่งไว้นั้น มาติดกัณฑ์เทศน์อีก

ท่านสอนคหบดีผู้นั้นว่า "เมื่อจะทำบุญทำกุศลอันใด ต้องมีสรัทธามั่นคงเป็นอจลสัทธา อย่าให้เป็นศรัทธาหัวเต่า..." แล้วบอกให้เอาเครื่องกัณฑ์เทศน์ทั้งหมดไปถวายพระองค์อื่นต่อไป
..............................................................

๐ นิมนต์แบบกำกวม

มีชายผู้หนึ่งนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์ที่บ้าน

ท่านถามว่า "บ้านโยม...อยู่ไหนจ๊ะ..."

ชายผู้นั้นกราบเรียนว่า "บ้านอยู่ริมคลอง...มีกองมะพร้าว...อยู่หน้าบ้าน ขอรับ..."

เมื่อถึงวันกำหนดนัด ท่านก็ไป พบมะพร้าวกองอยู่ริมน้ำ ตรงไหน ท่านก็ขึ้นไปนั่งเทศน์ แล้วก็กลับวัด
..............................................................
๐ วิญญาณนักเทศน์

บางคราวเจ้าประคุณสมเด็จฯ รับนิมนต์ไว้ในวันหนึ่ง หลายแห่งหลายกัณฑ์ ถึงวันกำหนดท่านก็ไปเทศน์ตามลำดับบ้านที่นิมนต์ไว้ก่อนและหลัง ถึงบ้านสุดท้ายเป็นเวลาดึกมาก ต้องปลุกกันให้ลุกขึ้นฟังเทศน์ก็มี

บางครั้งมีเทศน์มหาชาติที่วัดระฆัง ถ้าพระองค์ไหนเทศน์ไม่ดี...ไม่เข้าท่า ท่านบอกให้ลงจากธรรมาสน์ แล้วท่านขึ้นเทศน์แทนก็มี
..............................................................
๐ นักษัตรหรืออริยสัจ

ท่านพระยาผู้หนึ่ง อยากจะฟังเทศน์เรื่องอริยสัจ จึงสั่งบ่าวว่าให้ไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ มาเทศน์อริยสัจที่บ้าน

บ่าวนั้นรับปากแล้วก็เดินทางไป แต่ลืมเรื่องเทศน์ที่สั่งจำไม่ได้ว่าเทศน์เรื่องอะไร จำได้แต่ข้างท้ายว่า "สัดๆ" นี่แหละ นึกไปนึกมาก็เดาเอาว่า เป็นเรื่อง 12 นักษัตร

เมื่อไปถึงวัดจึงนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า "เจ้าคุณที่บ้านให้มาอาราธนาเจ้าประคุณ ไปแสดงธรรมที่บ้าน ค่ำวันนี้"

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถามว่า "ท่านจะให้เทศน์เรื่องอะไร"

บ่าวกราบเรียนว่า "12 นักษัตร...ขอรับ..." แล้วก็กราบลามา

เมื่อถึงเวลาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ไป ได้เวลาขึ้นธรรมาสน์ให้ศีล บอกศักราช แล้วตั้ง นะโม 3 จบ แล้วเดินคาถา 12 นักษัตร ว่า มุสิโก หนู...อุสโก วัวตัวผู้...พยัคโฆ เสือ...สะโส กระต่าย...นาโค งูใหญ่...สัปโป งูเล็ก...อัสโส ม้า...เอฬะโก แพะ...มักกะโฏ ลิง...กุกกุโฏ ไก่...สุนะโข สุนัข...สุกะโร สุกร...

พูดไทยเป็นไทยก็ต้องว่าท่านเดินบท ชวดหนู ฉลูวัว ขาลเสือ เถาะกระต่าย มะโรงงูใหญ่ มะเส็งงูเล็ก เลยทีเดียว

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับทายก ทายิกาทั้งหลาย ตั้งใจว่า วันนี้ต้องได้ฟังเทศน์เรื่องอริยสัจแน่...เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ขึ้น ชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ แบบนี้ ย่อมจะสงสัยเป็นธรรมดา ว่าอริยสัจ ทำไมต้องกลายเป็นนักษัตร

พระยาท่านนั้น จึงเรียกบ่าวมาถามว่า ไปนิมนต์ท่านมาเทศน์เรื่องอะไร บ่าวก็กราบเรียนว่า

"
นิมนต์เทศน์เรื่อง 12 นักษัตร...ขอรับ..."

"
นั่นปะไรเล่า...เจ้าลืมชื่ออริยสัจ ไปเสียแล้ว...ไปคว้าเอา 12 นักษัตรเข้า...ท่านจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์นั่นซี..." ท่านพระยา บ่นอุบอิบ

ฝ่ายเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เป็นผู้ฉลาดเทศน์ ท่านจึงอธิบายบรรยายหน้าธรรมาสน์ว่า

"
อาตมาภาพ ก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไปนิมนต์จะลืมชื่อ อริยสัจ เสียไปบอกว่า ท่านให้นิมนต์เทศน์ 12 นักษัตร...อาตมาภาพก็เห็นว่า 12 นักษัตรนี้ เป็นต้นทางของอริยสัจ แท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง 12 นักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหนๆ ก็มีแต่ เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใคร จะเทศน์ 12 นักษัตรสู่กันฟังเลย ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเหตุแล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนา เรื่อง 12 นักษัตรเล่า ควรจะอนุโมทนาสาธุการ อวยพรให้แก่ผู้ไปนิมนต์ให้มาก"

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์เทศน์ และทายกทายิกาทั้งหลาย เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง 12 นักษัตร เป็นต้นเหตุให้เกิดอริยสัจ ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ แล้วต่างก็ชื่นชมยินดี ยิ้มแย้มแจ่มใสยิ้มน้อยยิ้มใหญ่พอใจกันทุกคน โดยเฉพาะท่านพระยาถึงกับออกปากว่า "ข้าขอบใจ เจ้าคนไปนิมนต์ ขอให้เจ้าได้บุญมากๆ ด้วยกันเถิด"
..............................................................
๐ นักพยากรณ์

เจ้าประคุณสมเด็จฯ นอกจากมีความสามารถในด้านการเทศน์เป็นอย่างดีแล้วยังเป็นนักพยากรณ์ที่แม่นยำอีกด้วย เคยมีผู้มาขอให้ท่านพยากรณ์ ท่านไม่ใช้วิธีผูกดวงชาตาแบบหมอดูทั่วไป เพียงแต่ท่านนั่งนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวท่านก็พยากรณ์ ท่านใช้วิธีการทางญาณศาสตร์ ที่เรียกว่า "ดูทางใน" นั่นเอง

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จะเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาหมดดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น ได้ทรงคำนวณทราบว่า พระชาตาจะถึงฆาตในปีนั้นด้วย

วันหนึ่ง จึงมีพระราชดำรัสถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ณ ที่รโหฐานว่า พระองค์จะเสด็จกลับมาสวรรคตที่กรุงเทพฯ ทันหรือไม่ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า เสด็จกลับทัน จึงเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ประทับแรมอยู่ที่หว้ากอ 9 วัน แล้วจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ และเริ่มมีพระอาการประชวรไข้จับอยู่ 37 วัน จึงสวรรคต
..............................................................
๐ บอกเหตุล่วงหน้า

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จไปพระราชทานพระกฐินที่วัดระฆัง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ลงรับผ้าพระกฐินแต่แต่งตัวแปลกประหลาด กล่าวคือ ท่านห่มจีวรเหมือนปกติ แต่เอาผ้าพันเท้าทั้งสองข้างเหมือนอย่างสวมถุงเท้าอย่างนั้นแหละ มีพระราชดำรัสถามถึงเหตุที่ทำอย่างนั้น ท่านถวายพระพรพยากรณ์ว่า ปีหน้าก็ต้องเป็นอย่างนี้

พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแย้มพระโอษฐ์ ไม่ตรัสว่ากระไร ในปีนั้นได้เสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร, เมืองบะตาเวีย และเมืองสมารัง รวม 37 วัน เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ก็เริ่มทรงจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมในราชสำนักหลายอย่าง เช่น โปรดฯ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัว สวมถุงเท้า รองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง เวลาเสด็จเที่ยวประพาส ก็โปรดให้แต่งตัวใส่ถุงเท้า รองเท้า เสื้อเปิดคอ และยืนเฝ้าเหมือนกัน ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เอาผ้าพันเทิ้นั้น ก็เป็นนิมิตรหมายว่า ปีต่อมาข้าราชการจะต้องสวมถุงเท้าเข้าเฝ้า....ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
..............................................................
๐ ปริศนาพยากรณ์

มีเรื่องพยากรณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองอยู่เหมือนกัน แต่เป็นคำพยากรณ์ที่ยังต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมอีกมาก ทุกพยากรณ์คล้ายเป็นปริศนานั่นแหละ เมื่ออ่านแล้วก็พิจารณาไปตามยุคตามสมัยและวินิจฉัยเอาเองเถอะครับ เขาเรียกว่า "พยากรณ์สมเด็จฯ" มีอยู่ 10 ข้อ คือ

1.
มหากาฬ
2.
พาลยักษ์
3.
รักมิตร (รักบัณฑิต)
4.
สนิทธรรม
5.
จำแขนขาด
6.
ราษฎร์โจร
7.
ชนร้องทุกข์
8.
ยุคทมิฬ
9.
ถิ่นตาขาว
10.
ชาวสิวิไลซ์

ทีนี้ก็ลองดูคำขยายเฉพาะในข้อ 1. ที่ว่า มหากาฬ ท่านขยายความดังนี้

ในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงปราดาภิเษก เกี่ยวแกปราบพรรคพวกของกษัตริย์เดิมเกือบ 82 ครัวเรือน และทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง เฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็ 7 ครั้ง และตีเมืองทวาย เป็นต้น จำต้องประกาศกฎสำคัญ เช่นกฎปรากบกบฏ กฎมณเฑียรบาล และกฎอัยการศึก พร้อมด้วยเหตุการณ์หลายอย่างเป็นที่น่าหวาดเสียวเกรงกลัวมาก จึงเรียกยุคนี้ว่า "ยุคมหากาฬ"
..............................................................

๐ เอาเยี่ยงหมาสิ

การทายเหตุการณ์ได้ก็เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของนักพยากรณ์ ครางหนึ่งพระอาจารย์เทศ วัดชนะสงคราม เกิดผิดพ้องหมองใจกับเจ้าคุณพระอุดมญาณ เจ้าอาวาส มีความร้อนใจ อยากจะหาที่สบาย คิดว่าจะไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ บางทีจะสบายใจขึ้นบ้าง จึงข้ามไปวัดระฆัง

ท่านถามว่า "มีธุระอะไรหรือจ๊ะ"

"
หมู่นี้เกล้ากระผมไม่ใคร่จะสบายเลย จะทำอย่างไรจึงจะได้ความสบายบ้าง"

"
อ้อ อยากจะสบาย ก็ให้ทำเหมือนดังหมาสิจ๊ะ ธรรมดาหมาเมื่อกัดกันขึ้นแล้ว ถ้าตัวหนึ่งแพ้แล้วนอนหงายเสีย เจ้าตัวชนะก็ขึ้นคร่อมอยู่ข้างบนแล้วคำรามทำอำนาจ เจ้าตัวข้างล่างนั้น บางทีมันแหนบกัดเอาได้บ้างเสียอีก ไปทำอย่างนี้สิจ๊ะ"

พระอาจารย์เทศ นึกฉงนใจ น่าอัศจรรย์นักหนาที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีญาณพิเศษล่วงรู้ได้ว่าเรามีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน
..............................................................
๐ ให้หวยแม่น

สมัยก่อนนี้ ก็มีการให้หวยเหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้นใบ้ให้แม่นมาก เพราะหวยมักออกตรงตามที่ท่านบอกเสมอ

นายจ่างกับนายแจ่ม 2 พี่น้อง ปกติจะผลัดกันเปล่ยนเวรกันนวดเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในเวลาค่ำเสมอ ท่านมักพูดว่า พรุ่งนี้หวยจะออกตัวนั้นตัวนี้ วันรุ่งขึ้นหวยก็จะออกตามนั้นเสมอ จึงเล่าให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง

วันหนึ่งญาติ 2 คน ได้บอกนายแจ่ม ซึ่งจะเข้านวดเย็นวันนั้น ว่าคืนนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่าพรุ่งนี้หวยจะออกตัวใดให้จดใส่กระดาษแล้วทิ้งลอดร่องไป ตนจะคอยรับอยู่ที่ใต้ถุนกุฏิ แต่น่าประหลาดที่ในคืนนั้น ท่านนิ่งเฉยไม่พูดถึงเรื่องหวยเช่นเคย

นายแจ่มจึงกราบเรียนถามว่า "หลวงพ่อ พรุ่งนี้หวยจะออกตัวอะไร ครับ"

"
วันนี้ ฉันบอกไม่ได้ เพราะฉันกลัวหวยของฉันจะลอดร่องจ้ะ"

ญาตินายแจ่ม 2 คน ที่ยืนคอยอยู่ใต้ถุนกุฏิได้ยินดังนั้น ต่างพากันหัวเราะดังคิกๆ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงชี้มือไปที่ร่องพร้อมกับพูดว่า "นั่น ! อย่างไรละจ๊ะ"
..............................................................

๐ เบื่อการรับแขก

ในตอนแก่ชรา เจ้าประคุณสมเด็จฯ เห็นจะเบื่อหน่ายที่จะพยากรณ์ให้ใครๆ ท่านจึงมักเอาน้ำปัสสาวะ ราดรดตามพื้นกุฏิและประตูหน้าก็ปิดเสีย เปิดเฉพาะพอมีแสงสว่างสลัวๆ เท่านั้น ด้วยประสงค์จะให้ผู้ที่มาหาเมื่อเสร็จธุระแล้วจะได้รีบๆ กลับ แม้การทายท่านก็ทายแต่น้อย เช่นดูคนป่วย ถ้าท่านบอกว่า "ให้รีบกลับไป" แสดงว่า คนป่วยนั้นตายแน่ ถ้าท่านบอกว่า "ไม่เป็นไร" แสดงว่า คนป่วยไม่ตาย
..............................................................
๐ บิณฑบาตเรือล่ม

สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างสระบัวขึ้นที่ตำบลปทุมวัน แล้วทรงให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อ วัดปทุมวนาราม ให้เป็นวัดของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

ครั้งหนึ่ง ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงบาตร ในสระนั้น โปรดฯ ให้อาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ กับพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อยอีกหลายรูป ลงเรือสำปั้นเล็กที่เรียกว่า เรือบิณฑบาตพายไปรับบาตร

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ รับบาตรแล้วก็ไม่กลับ ยังพายวนเวียนอยู่หน้าพระที่นั่ง บางทีพายเขาไปใกล้เรือพระราชาคณะที่คอยรับบาตรอยู่นั้น แล้วยกพายขึ้นบังศรีษะพระราชาคณะรูปนั้น บอกว่า "ฉันช่วยบังแดดให้นะจ๊ะ"

พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นมีพระราชดำรัสว่า "เขาให้แล้ว ยังไม่ไปอีก เที่ยวพายวนเวียนอยู่นี่เอง จะเอาอะไรอีกเล่า"

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า "เกรงพระราชาคณะที่แก่เฒ่าและไม่ชำนาญพายเรือ ถ้าเรือล่มลงจะได้ช่วยท่านทัน" แล้วก็พายเลยกลับไป ว่าตั้งแต่นั้นมาก็เลิก มิได้ทรงบาตรในสระนั้นอีก

เรื่องที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านห่วงก็เกิดขึ้นจริงๆ จนได้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 สระที่เสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน อยุธยานั้น โปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติกับวัดชุมพลนิกายาราม เข้าไปรับบิณฑบาต ในพระราชวัง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เป็นการบิณฑบาตทางบก ใช้บาตรสะพายคล้องไหล่ มีสายโยงตามอย่างโบราณ พระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เป็นฝ่ายธรรมยุติ ค่อนข้างลำบากในการใช้บาตรแบบมีสายสะพายเพราะเคยแต่อุ้มบาตร ต้องใช้เวลาฝึกหัดซ้อมรับบาตรแบบสายสะพายกันอยู่นาน ด้วยเกรงว่าฝาบาตรหรือตัวบาตรจะพลัดตกลงไป แต่พอถึงวันจริง ทุกอย่างก็เป็นไปเรียบร้อยด้วยดี

ครั้งหลัง โปรดฯ ให้เข้ารับบิณฑบาตทางเรือ พระสงฆ์ต่างลงเรือสำปั้นเล็ก ตั้งบาตรไว้ข้างหน้าพายไปเอง เหมือนทีพระไปเที่ยวรับบิณฑบาตทางเรือโดยปกติ วันนั้นพระสงฆ์ที่ไม่ชำนาญการพายเรือ เพราะไม่เคยมาก่อนได้รับความลำบากพอสมควรถึงขนาดเรือพระครูธรรมทิวากร (โห้) เจ้าอาวาสวัดชุมพลฯ เข้าไปล่มในพระราชวัง ต้องช่วยกันเอะอะไปหมด เป็นที่ทุลักทุเลยิ่งนัก
..............................................................

๐ การถวายพระเกียรติยศ

เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับต้นพระศรีมหาโพธิ จากพุทธคยา ที่พวกอังกฤษนำมาถวายนั้น โปรดฯ พระราชทานต้นพระศรีมหาโพธินั้นไปปลูกตามพระอารามหลวงต่างๆ

เจ้าพนักงานได้มีหมายแจ้งไปยังเจ้าอาวาสให้ไปรับต้นพระศรีมหาโพธิมาปลูก เจ้าอาวาสทั้งหลายก็เอาเรือจ้างบ้าง เรืออื่นๆบ้างไปรับ

ฝ่ายเจ้าประคุณสมเด็จฯ กลับมีลิขิตตอบไปว่า ท่านไปรับไม่ได้ ด้วยเกรงจะเป็นการดูหมิ่นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไป ควรให้เจ้าหน้าที่นำเรือกัญญาไปรับต้นพระศรีมหาโพธิแล้วมีเรือดั้งนำ เชิญไปพระราชทานตามวัดจึงจะสมควรแก่พระเกียรติยศเจ้าพนักงานได้นำลิขิตนั้นขึ้นกราบบังคมทูล ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ถูกของท่าน" เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดที่รับต้นพระศรีมหาโพธิไปแล้ว ก็ต้องนำมาส่งคืน เจ้าพนักงานจึงเชิญต้นพระศรีมหาโพธิลงเรือกัญญา มีขบวนแห่ไปส่งตามพระอารามหลวงต่อไป ตามคำแนะนำของเจ้าประคุณสมเด็จฯ
..............................................................

แนะนำตัวทิฐิ

คราวหนึ่ง ท่านไปเทศน์ที่วัดศรีประวัติ จังหวัดนนทบุรี ขณะที่นั่งพักรอเวลาอยู่บนอาสน์สงฆ์นั้น มีอุบาสกคนหนึ่งกราบเรียนถามว่า "ตัวทิฐินั้น มันเป็นอย่างไร"

"
ถ้าอยากรู้ตัวทิฐิ เดี๋ยวก็รู้" ท่านตอบ

ครั้นถึงเวลาเทศน์ เจ้าภาพก็จุดเทียนที่หน้าธรรมาสน์ ปี่พาทย์ก็เริ่มบรรเลงเพลงสาธุการ แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังนั่งเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อน มีใครคนหนึ่งกราบเรียนว่า "ถึงเวลาแล้ว ขออาราธนาพระเดชพระคุณขอรับ"

ท่านก็ยังนั่งเฉยอยู่เหมือนเดิม จนกระทั่งอุบาสกคนนั้นเข้าไปกราบเรียนนั่นแหละ ท่านจึงว่า "นี่แหละ คือตัว ทิฐิ ละจ้ะ" แล้วลงจากอาสน์สงฆ์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ต่อไป
..............................................................

๐ เหล็กดี - หินดี

คราวหนึ่งรัชกาลที่ 4 รับสั่งถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ณ ที่รโหฐานเป็นการส่วนพระองค์ว่า การเสพเมถุนธรรม เพียงครั้งเดียวจะเกิดบุตรได้หรือไม่

ท่านถวายพระพรว่า "การเสพเมถุนธรรม แม้เพียงครั้งเดียว ย่อมจะเกิดบุตรได้ อุปมาว่า เหล็กดี หินดี ประกอบกับเชื้อดีด้วย ตีทีเดียวไฟก็ติด"
..............................................................

๐ ย้อนเทศะ เพื่อกาละ

ครั้งหนึ่ง ท่านไปในกิจนิมนต์ที่บ้านแห่งหนึ่งในปลายคลองบางแวก ฝั่งธนบุรี ท่านกำหนดว่า ระยะทางจะไปนั้น เวลาฉันเพลจะถึงที่วัดโตนดพอดี จึงให้จัดเตรียมอาหารคาวหวานไปพร้อมในเรือ สั่งศิษย์ว่า ถ้าถึงวัดโตนดให้ปลุกท่านด้วย พอออกเรือท่านก็จำวัดหลับตาตลอดทางมา เมื่อเรือย่างเจ้าเจตวัดโตนดก็ประจวบกับวัดตีกลองเพลพอดี ศิษย์ที่แจวเรือทั้ง 2 คนนั้น ไม่สันทัดในการอ่านหนังสือ เห็นป้ายวัดเขียนว่า "วัดโตนด" ก็อ่านว่า วัด - โต - นด และคิดเหมือนกันว่า วัดโตนดที่ท่านสั่งคงจะอยู่ข้างหน้าจึงแจวเรือกันไปต่อ

ฝ่ายเจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อตื่นขึ้น เหลือบเห็นดวงตะวันเลยเที่ยงไปโขแล้ว จึงถามศิษย์ว่า

"
ถึงวัดโตนดหรือยัง"

"
ยังไม่ถึงขอรับ" ศิษย์ตอบ

"
แล้วถึงเวลาเพลที่ไหน" ท่านถามต่อ

"
ที่วัดโต - นด ขอรับ"

"
งั้นก็พายเรือกลับไปที่ที่ถึงเพลตรงนั้น ฉันจะฉันเพลที่นั่น"

ศิษย์ทั้ง 2 ช่วยกันแจวเรือกลับไปที่บริเวณหน้าวัดนั้น

นัยว่า ท่านทำอย่างนั้น ด้วยประสงค์จะทำโทษศิษย์โดยปริยาย เพราะเหตุที่อ่านชื่อวัดไม่ถูก
..............................................................
๐ พระย่ามใหญ่

คราวหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปบิณฑบาตที่พระบรมมหาราชวัง พระสงฆ์ที่มารับบิณฑบาตนั้น นิมนต์เป็นเวรกันมารับจึงเรียกว่า "บิณฑบาตเวร"

วันนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบาตรด้วยแตงโม เจ้าประคุณสมเด็จฯ คงจะทราบว่าจะทรงบาตด้วยแตงโมในวันนั้น จึงได้เอาย่ามใบใหญ่ไปด้วยแต่ท่านเอามีดตัดก้นย่ามเป็นช่องโตทะลุตลอด เมื่อทรงหยิบแตงโมใส่ย่าม แตงโมนั้นก็ลอดช่องย่ามตกลงไปที่พื้น รับสั่งว่า

"
ฟ้ารู้ทันแล้วๆ"

ท่านถวายพระพรว่า "โลกนั้นพร่องอยู่เสมอ ไม่รู้จักเต็มอย่างนี้"

ท่านสอนเป็นปริศนากันอย่างนี้ และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรู้ทันเหมือนกัน จึงบอกว่าฟ้ารู้ทันหรอกน่า ที่ทำนี้ หมายความว่าให้อิ่มเสียที เขาว่า พวกชาววังเลยเรียกท่านว่า พระย่ามใหญ่ แต่นั้นมา
..............................................................

๐ ใจกลางของโลก

มีพวกฝรั่งมิชชั่นนารีไปถามท่านว่า "ใจกลางของโลกอยู่ที่ตรงไหน"

ท่านย้อนถามว่า "ก็โลกกลมหรือแบนล่ะจ๊ะ"

"
โลกกลม" ฝรั่งว่า

ท่านจึงเอาไม้ปักลงที่พื้นดิน บอกว่า "ตรงนี้แหละใจกลางโลก ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองวัดดูซีจ๊ะ"

ฝรั่งต่างพากันยกย่องสรรเสริญว่าท่านมีปฏิภาณว่องไวเฉียบแหลมมาก
..............................................................
๐ พระงั่ง

ท่านไปได้ไตรจีวรแพรจากที่ไหนไม่ทราบ ห่มเรียบร้อยแล้วเดินทางไปวัดสังเวชฯ เห็นเจ้าคุณพระบวรวิริยเถร (อยู่) กำลังจำวัดอยู่ ท่านก็เปล้องจีวรออกคลุมที่เท้าของเจ้าคุณ แล้วออกมาบอกกับพระที่อยู่ข้างนอกว่าให้ช่วยเรียนท่านเจ้าคุณด้วยว่า "ฉันได้มาทอดผ้าป่าจ้ะ ทีนี้ฉันก็เป็นงั่งไปละจ้ะ" (คือมีแต่ผ้าอังสะ ไม่มีจีวรห่ม) ว่าแล้วท่านก็เดินทางกลับวัด
..............................................................

๐ เรื่องของหมา คนอย่าเกี่ยว

ครั้งหนึ่งเป็นงานทำบุญวันสารท ทายกทายิกาพระสงฆ์ก็พร้อมกันที่ศาลาการเปรียญ พอพระสงฆ์ถวายพรพระจะสวดมนต์ คนทั้งหลายก็เตรียมจะตักบาตร บังเอิญในขณะนั้น มีสุนัขคู่หนึ่งบนศาลาการเปรียญกำลังขึ้นคร่อมทำวังวาสกันอยู่ เป็นที่อุจาดตายิ่งนัก ผิดกาละเทศะ ต่างพากันตะเพิดไล่กันสับสนไปหมด

เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงร้องบอกว่า "อย่าไปทำเขา เรื่องของสัตว์ สัตว์ทำไป เรื่องของคน ก็ให้คนทำกันไป"

วาทะของเจ้าประคุณสมเด็จฯ นี้ น่าจะเป็นคติเตือนใจที่ดี สำหรับคนที่มักจะเอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นธุระของตน หรือชอบวิพากษ์วิจารณ์แต่เรื่องของคนอื่น ส่วนเรื่องของตนเองไม่เคยสนใจ อย่างนี้ต้องว่าตามสไตล์สมัยใหม่ "เรื่องของหมา เทวดาไม่เกี่ยว"
..............................................................

๐ ตั้งสมเด็จกลางถนน

คราวหนึ่งเป็นพระราชพิธีโสกัณต์ (โกนจุก) เจ้าพนักงานวางฎีกาอาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเจริญพระพุทธมนต์เวลาเย็น รุ่งขึ้น เวลาเช้ารับพระราชทานฉัน จะเป็นเพราะลืมเสียหรืออย่างไรไม่ทราบ ทำให้ท่านไปไม่ทันกำหนดเวลาเจริญพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งเป็นที่สัพยอกว่า

"
ทำไมล่าช้านัก ไม่เอาใจใส่ในราชการอย่างนี้ ถอดออกเสีย ก็ดีหรอก"

เมื่อสวดมนต์จบแล้วท่านหาได้เอาพัดยศกลับไปด้วยไม่ คงวางไว้ที่อาสนะนั่ง เจ้าพนักงานเห็นดังนั้น เข้าใจว่าท่านคงลืมจึงรีบเอาพัดยศตามไปถวาย ท่าจึงว่า "นี่พ่อเป็นอะไร จึงมาตั้งสมเด็จได้ เมื่อถอดๆ กันในวัง จะมาตั้งกันกลางถนนอย่างไร"

เจ้าพนักงานนำความขึ้นกราบทูล ครั้นวันรุ่งขึ้น เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพัดยศ ทรงตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะเหมือนเดิม พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไตรแพรแถมอีก 1 ไตร
..............................................................

๐ ดูเบางานราชการ

อันเรื่องของ "สมณศักดิ์" หรือยศของพระสงฆ์นี้ ผมเคยพูดไว้แล้วว่า เป็นยศที่พระมหากษัตริย์ ทรงพระราชทานให้แก่พระสงฆ์ หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า เป็นเครื่องมือสำหรับกำหนดตัวพระสงฆ์เหล่านั้นให้เป็นบริวาร จึงเรียกว่า "พระราชาคณะ" แปลว่า "พวกของพระราชา" นั่นเอง เมื่อสมณศักดิ์เป็นเครื่องมือดังกล่าว การแต่งตั้งและการถอดถอนสมณศักดิ์ จึงเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ว่าจะทรงตั้งใคร จะถอดถอนใคร

ในสมัยรัชกาบที่ 5 มีพระราชาคณะ 2 รูป ถูกถอดเพราะ เข้ามาไม่ทันงานพระราชพิธี เป็นทำนองเดียวกับเรื่องเจ้าประคุณสมเด็จฯ คือเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (ทอง) วัดอรุณราชวราราม กับพระโพธิวงศาจารย์ (ผ่อง) วัดราชบูรณะ รับฎีกานิมนต์ ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลแล้ว ยังไปรับฎีกานิมนต์ของเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช) ที่เป็นสมุหนายกอีกงานหนึ่งด้วย

ในวันนั้น มีพระสงฆ์ได้รับนิมนต์ร่วมพระราชพิธีจำนวน 32 รูป กำหนดหน้าที่ไว้ว่า พระธรรมเจดีย์เป็นผู้ถวายศีล พระโพธิวงศาจารย์ เป็นผู้ขัดตำนาน ปรากฏว่า พระธรรมเจดีย์ไม่มาให้พระปลัดมาแทน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงกริ้ว ถึงตรัสว่า "ท่านภู เขาดีกว่าฉัน" แล้วโปรดฯ ให้ลดยศลงเป็นพระมุนีตามเดิม และให้ออกหมายรับสั่งเอาเรื่องกับพระที่ไม่มาสวดมนต์ในงานหลวง ไม่ให้มีพระมาแทนต่อไป

ส่วนเจ้าคุณพระโพธิวงศานั้น ไม่ได้ไปไหน เมื่อรับฎีกานิมนต์จากสังฆการีแล้ว ก็ทิ้งไว้ไม่ได้เปิดดู จึงไม่รู้พอรู้ก็สายแล้วมาไม่ทัน จึงมีรับสั่งให้ตีสังฆการีผู้วางฎีกานิมนต์เสีย 30 ที เพราะทำให้พระขาด ไม่ได้ครบจำนวนตามกาลเวลาที่กำหนด และให้ถอดพระโพธิวงศ์ที่ไม่มานั้น ลงไปเป็นพระธรรมภาณพิลาสตามเดิมให้ริบตาลปัตรคืน แล้วทรงตั้งพระเทพโมลี เป็นพระธรรมเจดีย์แทน และตั้งพระราชมุนี เป็นพระโพธิวงศ์ในเดี๋ยวนั้น
..............................................................
๐ คนประจบมักพูดไม่จริง

ตามปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมักฉันอาหารสำรวม คือเวลาฉันจะหยิบอาหารคาวหวานทุกชนิด ใส่ลงในบาตรคลุกเคล้ากับข้าวสุกก้นบาตรแล้วจึงฉัน ท่านทำอย่างนี้เป็นประจำ เว้นแต่ไปในกิจนิมนต์ตามบ้านญาติโยม

คราวหนึ่งท่านประกอบอาหารปรุงจากยอดผักบุ้งลวกน้ำร้อน แล้วคลุกเคล้ากับข้าวก้นบาตรอย่างที่ว่านี้ แบ่งถวายพระวัดระฆัง 3 - 4 รูป ฉัน แล้วท่านถามพระเหล่านั้นว่า "อร่อยไหมจ๊ะ"

บางองค์เกรงใจท่าน ก็เรียนว่า "อร่อยมาก" ท่านก็นึกในใจว่า นี่พูดไม่จริง ถามอีกองค์เป็น

หลวงตาแก่ๆ หลวงตาตอบว่า "ไม่ได้มีรสชาติอะไรเลย ไม่อร่อย"

ท่านก็ว่า "พระองค์นี้พูดจริง - พูดถูก ข้าวคลุกผสมทั้งขนม ทั้งผัก จะอร่อยได้อย่างไร"
..............................................................

๐ จุดไต้ตำกำแพง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ กับพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงชอบพระราชอัธยาศัยคุ้นเคยกันมาก ครั้งหนึ่งเจ้าประคุณเกิดวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวจะทรงหมกมุ่น มัวเมาในกามคุณมากเกินพอดี

ครั้นท่านจะถวายพระพรทูลเตือนโดยตรง ก็เกรงพระราชอัธยาศัย ท่านจึงแสร้งจุดไต้ เดินถือเข้าไปในพระราชวัง กลางวันแสกๆ เป็นประหนึ่ง จะเตือนว่า ที่ในพระราชฐานมีแต่ความมืดมน

พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสว่า "ขรัว รู้แล้วๆ"

เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงเอาไต้นั้นทิ่มกับกำแพงวัง ดับไฟเสีย แล้วเดินกลับออกมา
..............................................................
๐ ตำรวจนิมนต์พระคือจับพระ

วันหนึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เดินผ่านไป ทรงเห็นเข้า มีพระราชดำรัสสั่งตำรวจว่า "ไปนิมนต์ ขรัวโต มานี่ที"

ตำรวจวิ่งไปตามท่านแล้วเรียนตามที่ในหลวงสั่ง ท่านหยุดแล้วถามว่า "พ่อเป็นใคร"

"
ตำรวจขอรับ"

"
อย่างนั้นฉันไม่ไป"

ท่านคิดว่าให้ตำรวจมาเชิญนั้น ก็เหมือนกับว่าตัวท่านมีความผิดทางกฏหมายบ้านเมือง เมื่อท่านไม่ได้ทำผิดอะไรจึงบอกว่าไม่ไป ตำรวจกลับกราบมาทูลว่า ท่านไม่ยอมมา

พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยในเจตนาของท่านดี จึงตรัสว่า "สังฆการีไปนิมนต์ขรัวโตมานี่"
คราวนี้ท่านจึงยอมมา
..............................................................
๐ นี่แหละ...สมเด็จฯ โต

ในงานพระบรมศพของรัชกาลที่ 4 ที่พระมหาปราสาท เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านรับฎีกานิมนต์ไว้ แต่ท่านเข้าไปไม่ทันเสด็จลง เจ้าพนักงานนึกว่าท่านไม่ไป เพื่อให้พระสงฆ์ได้นั่งเข้าที่ให้เรียบร้อย ไม่ให้มีที่ว่างไว้ จึงนิมนต์พระองค์รองเลื่อนขึ้นไปนั่งที่ของท่านแทน พอท่านไปถึงเห็นไม่มีที่นั่ง เลยขึ้นไปนั่งบนขอบหน้าต่าง เมื่อถึงเวลาสวด ก็สวดบนขอบหน้าต่างนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็โปรดให้ยกสำหรับขึ้นไป ถวายให้ฉันบนขอบหน้าต่างนั้นเหมือนกัน เรื่องอย่างนี้ ถ้าเป็นพระรูปอื่นต้องถูกตำหนิ แต่เมื่อเป็นบุคคลพิเศษอย่างเจ้าประคุณ ก็ไม่มีใครถือสาแต่อย่างใด

นี่แหละ...สมเด็จฯ โต



No comments: