บาตรที่ตรงตามหลักพระธรรมวินัย
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผลิตบาตรพระหลายรูปแบบออก มาจำหน่าย แต่บาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 2 ชนิดเท่านั้นคือ ‘บาตร ดินเผา’ และ ‘บาตรเหล็กรมดำ’ โดยควรมีขนาด 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่างๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ ก็ใช้ไม่ได้
อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน วัดบางแห่งจึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่อง จากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์ ส่วนฝาบาตรนั้นในสมัยพุทธกาลจะทำจากไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทน เนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิ ในภาคอีสานบางรูปก็ยังใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่ โดยนำไม้มะค่าหรือไม้ประดู่มากลึงให้ได้รูปทรงเข้ากับตัวบาตรวัตรปฏิบัติในการใช้บาตร
พระครูใบฎีกาขาล สุขฺมโม วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรใช้บาตรที่ทำ จากโลหะมีค่า เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้พระได้รับอันตรายจากโจรผู้ร้ายที่มาแย่งชิงบาตร เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น นอกจากพระจะออกบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาขบฉันแล้ว ก็ยังต้องออกธุดงค์ไปตามเมืองต่างๆเพื่อเผยแผ่ธรรมะ ด้วย อีกทั้งการใช้บาตรที่ทำจากของที่มูลค่าสูงอย่างเงินหรือ ทองคำอาจทำให้พระเกิดกิเลสได้ง่าย แต่ในปัจจุบันบางวัดอาจอนุโลมให้ใช้บาตรสแตนเลสได้ในกรณีพระที่บวชไม่นาน เช่น บวชหน้าไฟ บวชช่วงเข้าพรรษา 1-3 เดือน
นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังทรงบัญญัติว่าห้ามพระภิกษุใช้บาตรที่มีขนาดเกิน 11 นิ้ว เนื่องจากในสมัยพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่งโลภมาก จึงใช้บาตรลูกใหญ่ในการบิณฑบาต หากบิณฑบาตได้อาหารดีๆก็จะนำไปซ่อนไว้ใต้บาตรเพื่อที่ จะได้ฉันคนเดียว เมื่อบิณฑบาตได้อาหารจำนวนมากก็ฉันไม่หมด เน่าเสีย ต้องเททิ้ง ขณะที่พระบางรูปไม่มีอาหารจะฉัน พระพุทธเจ้าเห็นดังนั้นจึงทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ใช้บาตร ที่มีขนาดใหญ่เกินไป”
อย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการใช้บาตรของพระภิกษุสงฆ์ไว้หลายประการ เช่น ในการบิณฑบาตให้พระภิกษุรับบาตรได้ไม่เกิน 3 บาตร ซึ่ง หมายถึงว่าเมื่อบิณฑบาตจนเต็มแล้ว สามารถถ่ายของออก จากบาตรและรับบาตรได้อีกไม่เกิน 3 ครั้ง, เวลาบิณฑบาต ห้ามสะพายบาตรไว้ด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้บาตรไปชน อะไรแตกหักเสียหาย, ห้ามเปิดประตูขณะที่มือถือบาตรอยู่ เพราะอาจทำให้บาตรหล่นและแตกหักได้ ต้องวางบาตรให้ เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเปิดประตู, ขณะที่ถือบาตรอยู่ห้าม ห่มจีวร ต้องวางบาตรให้เรียบร้อยก่อนจึงจะทำการขยับหรือนุ่งห่มจีวร, ห้ามวางบาตรชิดขอบโต๊ะ โดยต้องวางให้ห่างจากขอบโต๊ะอย่างน้อย 1 ศอก เพื่อป้องกันบาตรตกแตกเสียหาย
ทรงตะโกนิยมสุด
รูปทรงของบาตรพระที่นิยมใช้ในประเทศไทยนั้น ‘หิรัญ เสือศรีเสริม’ ช่างแห่งชุมชนบ้านบาตร ซึ่งสืบทอดการตีบาตร มาเป็นรุ่นที่ 6 ของตระกูล อธิบายว่า บาตรพระนั้นมี อยู่ 5 ทรงด้วยกัน คือ
1.ทรงไทยเดิม มีฐานป้าน ก้นแหลมจึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ต้องวางบนฐานรองบาตร
2.ทรงตะโก ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้
3.ทรงมะนาว รูปร่างมนๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น
4.ทรงลูกจัน เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาวแต่จะเตี้ยกว่า และ
5.ทรงหัวเสือ รูปทรงคล้ายกับทรงไทยเดิม แต่ส่วนฐานตัดเล็กน้อย สามารถวางบนพื้นได้
สำหรับทรงไทยเดิมและทรงตะโกนั้นจัดว่าเป็นทรงโบราณ ที่มีมานับร้อยปีแล้ว ขณะที่ทรงมะนาวและทรงลูกจันนั้นมี อายุประมาณ 80-90 ปี ส่วนทรงหัวเสือเป็นรุ่นหลังสุด มีมา ประมาณ 30 ปี เป็นทรงที่พระสายธรรมยุตนิยมใช้ ส่วน ทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันได้แก่ทรงตะโก
กว่าจะเป็นบาตรพระ
ว่ากันว่าบาตรที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยนั้นต้อง เป็นบาตรบุ หรือบาตรที่ทำขึ้นด้วยมือ และประกอบด้วยเหล็ก 8 ชิ้น มิใช่บาตรหล่อซึ่งผลิตด้วยเครื่องจักรอย่างที่พระบวชใหม่บางรูปใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการทำบาตรบุนั้นมี ขั้นตอนต่างๆมากมาย กว่าจะได้บาตรมาแต่ใบ โดยจะแบ่ง คร่าวๆเป็น 7 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 ทำขอบบาตร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของ การทำบาตรพระ เนื่องจากขอบบาตรจะเป็นตัวกำหนดว่าบาตรใบนั้นจะมีขนาดและรูปทรงอย่างไร การขึ้นรูปขอบบาตรเริ่มจากการนำเหล็กมาตัดตามแต่ขนาดของบาตร เช่น บาตรขนาด 7 นิ้ว จะต้องตัดแผ่นเหล็กให้มีความยาว 8 นิ้ว เพื่อเหลือเนื้อที่ไว้ประกบปลายทั้งสองข้าง เมื่อได้เหล็กที่มี ขนาดตามต้องการแล้วก็นำมาตีขมวดเป็นวงกลม ซึ่งเหล็ก ที่นำมาใช้นั้นจะใช้ฝาถังน้ำมันหรือใช้เหล็กแผ่นก็ได้
ขั้นตอนที่ 2 การประกอบกง ช่างจะตัดแผ่นเหล็กเป็น รูปกากบาท ซึ่งเรียกว่า ‘กง’ จากนั้นจึงดัดงอขึ้นรูปแล้วนำ มาติดกับขอบบาตร เมื่อขึ้นรูปเสร็จจะเหลือช่องว่างรูปสาม เหลี่ยมใบโพ 4 ช่อง ช่างจะวัดและตัดแผ่นเหล็กรูปร่างเหมือน ใบหน้าวัว 4 ชิ้น ที่เรียกว่า ‘หน้าวัว’ หรือ ‘กลีบบัว’ จักฟัน โดยรอบเพื่อใช้เป็นตะเข็บเชื่อมกับส่วนต่างๆ ตีให้งอเล็กน้อยตามรูปทรงของบาตร ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้วจะได้บาตรที่มีตะเข็บ 8 ชิ้นพอดี
ขั้นตอนที่ 3 การแล่น คือการเชื่อมประสานรอยตะเข็บ ให้เหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้ผงทองแดงกับน้ำประสาน-
ทองทาให้ทั่วบาตรก่อนเพื่อให้น้ำประสานทองเชื่อมโลหะไม่ให้มีรูรั่ว สมัยโบราณใช้เตาแล่นแบบที่ใช้มือสูบลมเร่งไฟ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องเป่าลมไฟฟ้าแทน
ขั้นตอนที่ 4 การลาย หรือการออกแบบรูปทรง เป็นการนำบาตรที่แล่นแล้วมาเคาะให้ได้รูปทรงที่ต้องการ โดยจะ ใช้ ‘ค้อนลาย’ ซึ่งเป็นค้อนรูปโค้งงอ หัวค้อนมีลักษณะแหลม เคาะด้านในของบาตร สำหรับที่รองเคาะนั้นเป็นทั่งไม้สี่ เหลี่ยมขนาดพอเหมาะกับบาตร
ขั้นตอนที่ 5 การตี ช่างจะใช้ค้อนเหล็กตีผิวด้านนอกของบาตรให้รอบเพื่อให้ส่วนที่นูนออกมาจากการลายเรียบเสมอกัน รวมทั้งตีให้รอยตะเข็บที่ยังขรุขระเรียบเสมอกัน จากนั้น ต้องนำไป ‘ตีลาย’ บนทั่งไม้ เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ แล้วนำไปเจียรต่อโดยใช้เครื่องเจียรไฟฟ้า แล้วจึงตะไบตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ซึ่งจะได้บาตรสีเงินขึ้นเงาแวววับ
ขั้นตอนที่ 6 การสุม หรือระบมบาตร เพื่อป้องกันการ เกิดสนิม โดยในสมัยก่อนจะใช้กำมะถันทา จากนั้นจึงนำบาตร มากองรวมๆกันแล้วใช้หม้อครอบสุม เชื้อเพลิงที่ใช้จะเป็น เศษไม้สักจากร้านขายเครื่องไม้ซึ่งมีอยู่รอบภูเขาทอง เนื่อง จากไม้สักเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูง ซึ่งบาตรที่ได้จากการสุม จะมีสีดำ จากนั้นจึงใช้น้ำมันมะพร้าวทาทับอีกครั้ง แต่ปัจจุบัน
นิยมใช้น้ำมันกันสนิมชโลมให้ทั่วตัวบาตรแทน
ขั้นตอนที่ 7 การทำสี อันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทำ ให้บาตรเป็นสีต่างๆ เช่น สีเขียว สีดำสนิท นั้นถือเป็นเทคนิค เฉพาะตัวของช่างแต่ละคน รวมทั้งการแกะสลักลวดลายไทย การตีตรา การสลักชื่อช่างผู้ทำ ซึ่งจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่ความพอใจของช่างตีบาตร
มีทั้งสุมเขียว และรมดำ
ส่วนสีของบาตรพระนั้นส่วนใหญ่จะนิยมสีดำเป็นหลัก ซึ่ง‘หิรัญ’ช่างเก่าแก่ของบ้านบาตร เล่าถึงวิธีการทำสีว่า โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 แบบ คือ ‘สุมเขียว’ และ‘รมดำ’ ซึ่งสุมเขียว ก็คือการนำเศษไม้สักมาเผาให้เกิดความร้อน แล้วจึงนำบาตรไปเผาในฟืนไม้สัก บาตรที่ได้จะเป็นสีเขียวปีกแมลงทับ ส่วน
รมดำคือการนำบาตรไปเผาจนดำ รอให้เย็น จากนั้นจึงนำ น้ำยาที่ทำจากส่วนผสมของใบขี้เหล็ก แอลกอฮอล์และชะแล็ก มาทาให้ทั่วทั้งด้านนอกและด้านในบาตร ตากให้แห้ง แล้วนำไปรมควันอีกครั้ง ถ้าอยากให้สีดำสนิทก็ให้ทาน้ำยา หลายๆเที่ยวนอกจากนั้นปัจจุบันยังมีการทำให้เกิดลวดลาย ด้วยการใช้ค้อนค่อยๆตีให้ขึ้นลาย ซึ่งเรียกกันว่า ‘บาตรตีเม็ด’
“ถ้าเป็นพระสายธรรมยุตส่วนใหญ่ท่านได้บาตรที่ตะไบ จนขึ้นเงาแล้วมาก็จะนำไปบ่มเอง การรมดำกับการบ่มบาตร ไม่เหมือนกันนะ รมดำใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว แต่บ่มบาตร ใช้เวลาทั้งวันทั้งคืน ซึ่งช่างแถวบ้านบาตรเราไม่มีความรู้ทางด้านนี้ไม่รู้ว่าท่านทำยังไง แต่พระสายธรรมยุตท่านเก่งมาก เพราะการบ่มบาตรต้องใช้ความอดทนสูง ท่านเก่งกว่าเรา (หัวเราะ) แต่ละวัดไม่เหมือนกัน บางวัดจะใช้บาตรที่มีสีเงิน เงาวับซึ่งเรียกว่าบาตรตะไบขาว แต่ถ้าเป็นพระสายธรรมยุต จะใช้บาตรซึ่งมีดำสนิท” ช่างตีบาตรจากบ้านบาตร กล่าว
สนนราคาตั้งแต่ 300-1,700
สำหรับสนนราคาของบาตรพระนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและวิธีการทำ บาตรบุซึ่งทำด้วยเหล็กจะมีราคาแพงกว่าบาตรปั๊ม
สแตนเลส โดยบาตรขนาด 7 นิ้ว หากเป็นบาตรบุราคา จำหน่ายอยู่ที่ 900 บาท ส่วนบาตรปั๊ม มีราคาเพียง 600 กว่าบาท
(ต้นทุนที่ทางร้านเครื่องสังฆภัณฑ์รับมาขายอยู่ที่ 100 กว่าเท่านั้น) ขนาด 8.5 นิ้ว บาตรบุราคา 1,400 บาท ส่วนบาตรปั๊ม ราคา 650 บาท สำหรับบาตรขนาดมาตรฐาน 9 นิ้ว บาตรบุราคา 1,500 บาท บาตรปั๊ม ราคา 1,700 บาท ส่วนบาตร ขนาด 11 นิ้วนั้นปัจจุบันไม่มีการทำออกมาจำหน่ายแล้ว ทั้งนี้ หากเป็นบาตรปั๊มที่ทำจากเหล็กราคาจะถูกกว่ามาก โดยอยู่ ที่ใบละ 300-600 บาทเท่านั้น
‘วันทนา แต่มีบุญ’ เจ้าของร้านเพ้งสหพันธ์ ย่านเสาชิงช้า บอกว่า ปัจจุบันร้านสังฆภัณฑ์ต่างๆจำหน่ายแต่บาตรปั๊ม สแตนเลส ส่วนบาตรบุไม่มีจำหน่ายแล้ว เนื่องจากผู้ที่ผลิต บาตรบุไม่สามารถทำส่งได้ทัน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาบาตรปั๊มปรับตัวสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะไม่มีคู่แข่ง
“เดี๋ยวนี้พระท่านนิยมบาตรสแตนเลสมากกว่า เพราะดูแลรักษาง่าย ส่วนบาตรบุตีตะเข็บไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะมักมี
ปัญหาบาตรรั่วบริเวณแนวตะเข็บ อีกอย่างช่าง ก็ทำไม่ค่อยทัน ถ้าพูดถึงยอดขายในช่วงเข้าพรรษานี้ก็ไม่ค่อยดีเท่าไร อาจเป็น
เพราะส่วนใหญ่จะอุปสมบทช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อถวายเนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปีของในหลวง”
พระสึกแล้ว บาตรไปไหน
บางคนอาจสงสัยว่าในแต่ละปีมีพระภิกษุที่บวชในช่วง เข้าพรรษาและลาสิกขาไปในช่วงออกพรรษา รวมทั้งภิกษุสามเณรที่บวชภาคฤดูร้อนเป็นจำนวนมาก เมื่อภิกษุสามเณรเหล่านี้ลาสิกขาไปแล้วบาตรพระที่ท่านใช้อยู่หายไปไหน มี การนำกลับมาเวียนใช้ใหม่หรือไม่ และหากเป็นวัดที่มีการ อุปสมบทภาคฤดูร้อนเป็นประจำ พระท่านจะจัดการกับบาตร ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างไร
พระครูใบฎีกาขาล สุขมฺโม ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ว่า
“เวลาที่พระภิกษุหรือสามเณรสึกออกไปจะไม่นิยมนำผ้าจีวรหรือบาตรกลับบ้าน แต่จะทิ้งไว้ที่วัดเพื่อเป็นการ ทำบุญ ซึ่งหากบาตรของพระรูปใดแตก ร้าว หรือบิ่น ท่านก็จะนำบาตรเหล่านี้มาใช้แทน ถ้าในกรณีที่วัดนั้นมีการบวชภาคฤดูร้อนก็จะนำบาตรดังกล่าวมาให้สามเณรที่บวชใหม่ ได้ใช้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กๆได้บวชเรียน แต่ถ้าเป็น บวชภาคฤดูร้อนของพระภิกษุ ผู้ที่จะบวชต้องนำบาตรมาเอง เพราะถือเป็นหนึ่งในอัฐบริขารที่ผู้บวชต้องมี
อย่างที่วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกที่อาตมาอยู่นั้นก็ มีการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนทุกปี เราก็จะจัดสรรบาตร เตรียมไว้ให้สามเณรบวชใหม่ ถ้ามีเหลือเราก็จะส่งไปให้ พระสงฆ์ที่มหามกุฎราชวิทยาลัย ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรบวชเรียนอยู่ประมาณ 1,000 กว่ารูป เพราะเราเห็นว่าบาตรแต่ลูกหากใช้ไปหลายๆปีก็อาจจะกะเทาะ หรือมีรอยบุบ พระ-เณรท่านจะได้ใช้บาตรที่เราส่งไปแทนได้”
.........
กล่าวได้ว่าเส้นทางของ‘บาตรพระ’คงไม่แตกต่างจาก การเดินเข้าสู่เส้นทางธรรมของบรรดาชายหนุ่มที่พร้อมจะสละความสุขทางโลก เพื่อแสวงหาธรรมะขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเส้นทางนั้นต้องผ่านการเคี่ยวกรำเฉกเช่นการตีและบ่มบาตร อีกทั้งพร้อมที่จะเสียสละตนเองทุกเมื่อเพื่อดำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนา
บ้านบาตร : วิถีของช่างตีบาตร
หากจะพูดถึงแหล่งตีบาตรพระที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้วละก็เป็นที่ ไหนไปไม่ได้นอกจาก ‘ชุมชนบ้าน บาตร’ซึ่งปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเมรุปูน ใกล้วัดสระเกศ ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมืองและถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร
สันนิษฐานว่าบ้านบาตรเกิดจากการรวมตัวของชาวกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความชำนาญด้านการตีบาตรที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯราวพ.ศ.2326 สมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี และเนื่องจากในช่วงต้นของราชวงศ์จักรีนั้น พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีฐานะ นิยมสร้าง วัด ทำให้กรุงเทพฯมีวัดและพระสงฆ์อยู่เป็นจำนวนมาก การตีบาตรพระจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่เฟื่องฟูมากในขณะนั้นและกลาย เป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านบาตรเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2514 ได้มีการก่อตั้งโรงงานผลิตบาตรพระขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบ อย่างหนักต่อชาวบ้านบาตร ชนิดที่เรียกว่า แทบจะทำ ให้ชุมชนล่มสลายเลยทีเดียว เพราะครอบครัวที่ประกอบอาชีพตีบาตรพระ ต่างก็ต้องเลิกกิจการไปตามๆกัน เนื่องจากยอดสั่งซื้อมีน้อยลงและถูกกดราคาจนไม่สามารถอยู่ได้
อย่างไรก็ดี ในปี 2544 ได้มีการตั้งกลุ่มทำบาตรพระขึ้นมา อีกครั้งจากการสนับสนุนของนายชาญชัย วามะศิริ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ โดยส่งเสริมให้บ้านบาตรกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งคนไทยและต่างชาติสามารถเข้ามาดูวิธีการทำบาตรและซื้อ หาบาตรพระใบเล็กๆไปเป็นที่ระลึก ส่งผลให้กิจการของชาวบ้านบาตรเริ่มฟื้นตัวขึ้น เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการตีบาตรสำหรับพระภิกษุแล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจาก การขายบาตรขนาดเล็กให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย หลายครอบครัวที่เลิกอาชีพนี้ไปก็กลับมาทำอาชีพตีบาตรเหมือนเดิม ทำให้ปัจจุบันชุมชนบ้านบาตรกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นอีกครั้ง
|
No comments:
Post a Comment