Monday, May 14, 2007

จะเลือกถวายจีวรสีใด




จะเลือกถวายจีวรสีใด
โดย อาจารย์ธรรมจักร สิงห์ทอง


จีวร ถือว่าเป็นธงชัย หรือเครื่องหมายของพระอรหันต์ มีหลักฐานปรากฏในพระคัมภีร์อุบาลีเถราปทาน ว่า

"
บุคคลเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่ (แม้) เปื้อนอุจจาระที่ถูกทิ้งไว้ตามถนนหนทาง ก็ควรประนมมือไหว้ผ้านั้น อันเป็นธงชัยของพระอริยเจ้า ด้วยเศียรเกล้า"

ในฉัททันตชาดก ติงสนิบาต กล่าวว่า "พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์ กำลังจะเดินตรงเข้าไปทำร้ายนายพรานป่าใจบาป ผู้คิดจะฆ่าตน แต่พอมองเห็นจีวรที่นายพรานชูให้เห็นกลับคิดได้ว่า ผู้มีธงชัยหรือเครื่องหมายแห่งพระอรหันต์ ไม่ควรถูกฆ่า จึงไม่ได้ทำร้าย และให้อภัยแก่นายพรานปล่อยให้รอดไป..."

ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา กล่าวว่า "สมัยที่พระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ พระธนิยะได้ตัดไม้เป็นสมบัติของหลวงจำนวนมาก มีความผิดตามกฎหมายบ้านเมืองโทษฐานถึงขั้นประหารชีวิต แต่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์ ก็ทรงมีรับสั่งให้พระราชทานอภัยโทษ เพราะทรงเห็นแก่จีวร (ผ้าเหลือง) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์นั่นเอง"


กำเนิดแบบตัด-เย็บจีวร

วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จถึงทักขิณาคิรีชนบท พร้อมด้วยพระภิกษุจำนวนหนึ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นท้องนาของชาวมคธแล้ว มีรับสั่งกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ เธอสามารถออกแบบตัดเย็บจีวรให้มีรูปร่างอย่างนี้ได้หรือไม่"

พระอานนท์กราบทูลว่า "สามารถทำได้พระเจ้าข้า" หลังจากนั้นพระอานนท์ได้ออกแบบทำจีวรให้มีรูปร่างตามพุทธประสงค์ถวาย คือมีลักษณะคล้ายผืนนาที่มีคันนาคั่นเป็นระยะๆ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า "พระอานนท์เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถเข้าใจคำสั่งของเราได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ถูกต้อง และชัดเจน"

ที่พระพุทธองค์มีรับสั่งให้ออกแบบจีวรเช่นนั้น เพราะมีพระประสงค์ ๓ ประการ คือ

๑. ผ้าที่มีราคาแพงๆ หากตัดเป็นชิ้นๆ จะทำให้ผ้าราคาตก แทบไม่มีใครต้องการ

๒. เมื่อนำเศษผ้าที่ตัดแล้วมาเย็บติดกัน จะทำให้เกิดรอยตะเข็บ มีตำหนิขาดความสวยงาม

๓. ยิ่งนำไปย้อมเปลี่ยนสีพร้อมทั้งทำเครื่องหมาย (ทำพินทุ ใช้ปากกาหรือดินสอทำเป็นจุดที่ผ้าจีวร) ทำให้สีของผ้าเศร้าหมอง ไม่มีค่าไม่มีราคา ไม่เป็นที่ต้องการของใคร ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าสนใจ ไม่มีประโยชน์สำหรับใครๆ โจรผู้ร้ายไม่แย่งชิง แบบจีวรที่ถูกกำหนดตัดเย็บมาแต่โบราณ จึงถือเป็นแบบอย่างใช้มาจนถึงปัจจุบัน

สีของจีวร แต่เดิมพระภิกษุใช้มูลโค (โคมัย) หรือดินแดงย้อมจีวร ทำให้สีของจีวรเป็นสีคล้ำไม่เหมาะสม มีการทักท้วงกันขึ้น จึงนำความกราบบังคมทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระพุทธเจ้ามีดำรัสว่า

"
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ ชนิดสำหรับย้อมจีวร คือ น้ำย้อมจากรากไม้ น้ำย้อมจากต้นไม้ น้ำย้อมจากเปลือกไม้ น้ำย้อมจากใบไม้ น้ำย้อมจากดอกไม้ และน้ำย้อมจากผลไม้"

เมื่อย้อมเสร็จแล้วจีวรจะออกมาเป็นสีกรัก สีเหลืองหม่น หรือสีเหลืองเจือแดงเข้มเหมือนย้อมด้วยแก่นขนุน แต่ทรงห้ามไม่ให้ภิกษุย้อมจีวรด้วย ขมิ้น ฝาง แกแล มะหาด เปลือกโลท เปลือกคล้า ใบมะเกลือ คราม ดอกทองกวาว ฯลฯ

สีจีวรที่ต้องห้าม คือ

๑. สีเขียวคราม สีเหมือนดอกผักตบชวา
๒. สีเหลือง สีเหมือนดอกกรรณิการ์
๓. สีแดง สีเหมือนชบา
๔. สีหงสบาท (สีเหมือนเท้าหงส์) สีแดงกับเหลืองปนกัน
๕. สีดำ สีเหมือนลูกประคำดีควาย
๖. สีแดงเข้ม สีเหมือนหลังตะขาบ
๗. สีแดงกลายๆ แดงผสมคล้ายใบไม้แก่ๆ ใกล้ร่วง (เหมือนสีดอกบัว)

มีบางแห่งระบุว่าสีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และ สีชมพู ถ้าจีวรมีสีตรงตามนี้ ให้ภิกษุย้อมใหม่ ถ้าทำลายสีเดิมไม่ออกก็ให้นำไปใช้เป็นผ้าปูลาดสำหรับรองนั่ง หรือใช้งานอื่นๆ หรือใช้ซับในระหว่างจีวรสองชั้นก็ได้


สีจีวรที่พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกใช้

การที่จะยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้จีวรสีใดย่อมเป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนได้ เนื่องจากไม่เคยมีใครได้พบเห็นพระพุทธองค์ด้วยตัวเอง แต่สามารถประเมินได้จากหลักฐานพระคัมภีร์ในหลายแห่งที่พอเปรียบเทียบได้ คือ

๑. พระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธเจ้า) ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งมีสีดุจทอง ออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง
๒. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่ย้อมดีแล้ว ทรงห่มจีวรมหาบังสุกุล ได้ขนาดสุตตประมาณ ปานผ้ารัตตกัมพล (ผ้าสีแดง)
๓. พระผู้มีพระภาค ทรงห่มบังสุกุลจีวรอันประเสริฐสีแดง มีสีคล้ายสียอดอ่อนของต้นไทร

สีจีวรของพระอัครสาวกมีหลักฐานปรากฏว่า ๑. แม้พระมหาเถระทั้งหลาย มีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น ห่มบังสุกุลจีวร มีสีแดงเหมือนเมฆ ๒. พระมหาเถระทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะ เป็นต้น ห่มบังสุกุลจีวรมีสีแดงเหมือนเมฆ

สีจีวรของพระเถระผู้ใหญ่ในสมัยพุทธกาล ก็เหมือนกับสีจีวรของพระพุทธเจ้า คือ สีแดง ตรงตามพระบรมพุทธานุญาต คือ สีเหลืองเจือแดงเข้ม ที่ใช้ย้อมด้วยแก่นขนุน คือสีกรักนั่นเอง

สีจีวรของพระสงฆ์ไทยปัจจุบัน ในสมัยพุทธกาล แม้พระภิกษุสงฆ์จะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติแท้ๆ แต่ก็เชื่อว่าสีคงจะไม่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดแน่นอน คงจะมีผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง แม้ในยุคปัจจุบันก็มีการใช้สีจีวรต่างๆ แต่พอแยกออกได้ ๒ สี คือ สีเหลืองเจือแดงเข้ม และ สีกรักสีเหลืองหม่น

วัดใดจะใช้จีวรสีไหนก็ได้ ไม่มีข้อห้าม เพราะถือว่าถูกต้องตรงตามพระบรมพุทธานุญาตทั้ง ๒ สี แต่ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรที่ยู่ในวัดเดียวกัน ก็น่าจะใช้จีวรสีเดียวกัน ส่วนสีที่นิยมในพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) นิยมใช้สีกรัก หรือสีเหลืองหม่น เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนผ้าไตรที่ทางฝ่ายพระราชพิธีจัดเตรียมไว้ถวายพระด้วย ทั้งนี้ เพื่อความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้มีจิตศรัทธาต้องการถวายผ้าจีวรแก่พระสงฆ์ควรทราบ

๑. ข้อควรปฏิบัติ คือ จะเลือกซื้อจีวรแบบไหนสีใดไปถวายพระวัดใด ต้องคำนึงถึงคุณภาพของผ้า ที่พระท่านสามารถใช้สอยได้อย่างเหมาะสม อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องเลือกสีให้ถูกต้องตรงตามความนิยมของแต่ละวัด เช่น วัดบวรนิเวศ ใช้สีกรักหรือเหลืองหม่น วัดสระเกศ ใช้สีเหลืองเจือแดงเข้ม เป็นต้น

๒. จุดประสงค์การถวายผ้าจีวร เพื่อให้พระภิกษุหมดภาระในการแสวงหาผ้านุ่งห่ม ไม่ต้องกังวลใจ มีเวลาปฏิบัติธรรมอย่างเพียงพอ และเป็นการช่วยให้พระภิกษุมีผ้านุ่งห่ม ป้องกันเหลือบยุง บำบัดความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันไม่ให้ป่วยไข้เพราะร้อนและหนาวเกินไป และรักษาสุขภาพอนามัยคือใช้ชายจีวรกรองน้ำดื่มเมื่อถึงคราวจำเป็น

๓. อานิสงส์การถวายจีวร ผู้ถวายต้องตั้งเจตนาบริจาคให้เป็นทานบารมีที่บริสุทธิ์จริงๆ ไม่ให้เกิดการเสียดาย จึงบังเกิดเป็นบุญมหาศาล แยกได้ดังนี้

(
๑) สามารถตัดบาปออกไปจากจิตใจได้เด็ดขาด
(
๒) กำจัดกิเลสขวางโลก คือ ความโลภ ความตระหนี่ถี่เหนียว ให้บรรเทาเบาบางจนจางหายไปในที่สุด
(
๓) ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นสุขสดใสใจเบิกบาน
(
๔) เกิดความภาคภูมิใจที่มั่นคงอยู่ในบุญกุศล
(
๕) พ้นจากความยากจน ความลำบากขัดสนทุกภพทุกชาติ
(
๖) มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ ทุกภพทุกชาติ
(
๗) เกิดชาติใดภพใดจะเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผุดผ่องแจ่มใส
(
๘) ทำให้บังเกิดความอิ่มบุญ เย็นใจตลอดเวลาทุกครั้งที่นึกถึง


คำถวายจีวร

อิมานิ มะยัง ภันเต จีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ จีวะรานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

หรือจะกล่าวเฉพาะคำแปลก็ได้ คือ ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายจีวร พร้อมทั้งของบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ โปรดรับจีวร พร้อมทั้งของบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ
.....................................................

คัดลอกมาจาก ::
นสพ.คม ชัด ลึก คอลัมน์ พระเครื่อง คม ชัด ลึก
ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2547

No comments: