Friday, July 20, 2007

" "สอนตัวเองให้สนุก" "

วันนี้มีกิจกรรมแปลกใหม่มาแนะนำกันเช่นเคย "สอนตัวเองให้สนุก" กิจกรรมที่นอกจากจะมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเราแล้ว ยังสนุกสะใจ(ที่ได้สอนตัวเอง) อีกด้วย เทคนิคการสอนตนเองนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบให้คนอื่นมาสอน ในเมื่อเราไม่ชอบให้ใครมาสอน เราก็หัดสอนตัวเองก็แล้วกัน ชีวิตจะได้ก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง หรือ ถอยหลังลงคลอง

กลวิธีพูดสอนตัวเองนี้ เป็นกุศโลบายที่คุณสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการพัฒนาปรับปรุงชีวิตของคุณเองให้มีความสมบูรณ์ลงตัวมากขึ้น วิธีสอนตัวเองนี้มีหลายสไตล์หลายรูปแบบ ขอเชิญเลือกนำไปใช้ได้ตามความชอบใจ ดังต่อไปนี้

๑.สอนให้ใฝ่สร้างสรรค์
พูดปลุกเร้าใจให้เกิดความรักในสิ่งที่ดีงาม จนเกิดความรู้สึกอยากลงมือทำ อยากสร้างสรรค์
ยกตัวอย่าง คุณป๊อก ไม่อยากจะทำงานดูแลบ้านช่องตามที่คุณแม่สั่งไว้เท่าไหร่นัก "โด่..งานของผู้หญิงมาให้เราทำได้ไง " ใจของคุณป๊อกคิดอย่างนี้ แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวคุณแม่กลับมาจะดุเอา คุณป๊อกจึงลงมือสอนตนเองให้มีความคิดใฝ่สร้างสรรค์ทันที โดยพูดกับตัวเองว่า

" ป๊อก..นายคิดดูนะ ทำความสะอาดบ้านนี่ดีจะตายไป บ้านจะได้สะอาดสะอ้าน คุณแม่กลับมาเห็นก็จะสบายใจ นี่ถ้าเราตั้งใจจัดข้าวของให้มันดี ๆ อะไร ๆ มันก็จะดูเรียบร้อยไปหมด หาก็ง่าย หายก็รู้ ปัดกวาดบ้าน ถูพื้นห้องให้มันสะอาด บ้านของเราก็จะน่าอยู่ อย่ากระนั้นเลย เรารีบลงมือทำเลยดีกว่า.. "

สอนให้ตัวเองเห็นคุณค่า จนคิดอยากจะทำแบบนี้แหละ ที่เขาเรียกว่า สอนให้ใฝ่สร้างสรรค์ คือ พูดสอนตัวเองให้เห็นคุณค่าของงานจนรู้สึกคันไม้คันมืออยากจะลงมือทำ
( ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรมข้อ "ฉันทะ" องค์ประกอบข้อที่หนึ่งในหลักธรรมชุด"อิทธิบาทสี่"ในพระไตรปิฎก )

๒.ว่าให้อาย
พูดติเตียนตัวเองให้เกิดความรู้สึกละอายใจในกระทำที่ไม่ดีงาม สอนแบบนี้สนุกดีครับ ปรกติธรรมดาถ้ามีคนอื่นมาว่าเรา เราจะโกรธ แต่พอเราลองมาดุด่าตัวเอง กลับไม่โกรธแฮะ..แปลกดี

ยกตัวอย่าง คุณเฉียบ เอาเปรียบเพื่อน ไม่ยอมไปช่วยงานส่วนรวมตามที่นัดหมายตกลงกันไว้ คุณเฉียบแกเป็นคนชอบเอาเปรียบเพื่อนอย่างนี้มานานแล้ว จนเพื่อน ๆ เขาระอาใจกันหมด อย่าว่าแต่เพื่อน ๆ เลย ตัวคุณเฉียบเองแกก็เบื่อตัวเองอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมนิสัยตูถึงแก้ไม่หายสักทีนะ ว่าแล้วแกก็ใช้วิธีสอนตัวเองแบบ "ว่าให้อาย" มาจัดการทันที แกจึงพูดกับตัวเองว่า

" เฉียบ..นายนี่มันทำตัวใช้ไม่ได้เลย น่าละอายที่สุด เดินผ้าหลุดกลางตลาดก็ยังไม่น่าอายเท่านี้ นายเอาเปรียบเพื่อนอย่างนี้ได้อย่างไร นายตกลงกับเพื่อนไว้แล้วทำไมไม่ไปตามนัด แถมยังมาทำหน้าทะเล้น ยิ้มระรื่นอยู่คนเดียวอีก รู้จักละอายใจบ้างสิ โตจนป่านนี้แล้ว แต่ทำตัวยังกับเด็ก เพื่อนๆ เขาเซ็งนายเต็มทีแล้วนะจะบอกให้ "
สารพัดคำพูดที่สรรหามา ถ้าว่าให้อายได้ ก็ลงมือจัดการเลยครับ ความรู้สึกละอายที่เราปลุกเร้าขึ้นมานี้ ในภายหลังจะสามารถช่วยคุ้มครองตัวเราไม่ให้กระทำผิดลงไปอีก เป็นการช่วยให้ตัวเราสามารถแก้ไขพฤติกรรมของเราให้ดีขึ้นด้วยตัวของเราเอง
(ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรม "หิริ" องค์ประกอบข้อที่หนึ่งของธรรมะชุดคุ้มครองโลก จากพระไตรปิฎก)

๓. ขู่ให้กลัว พูดให้เกิดความรู้สึกเกรงกลัวภัย อันเป็นผลจากการกระทำอันประมาทของตนเอง หรือ จากการกระทำที่ผิดศีลธรรมของตนเอง ว่าตนเองจะต้องประสบผลร้ายในอนาคตอย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่าง คุณจวบเป็นคนรักเพื่อนมาก วันหนึ่งเพื่อนรักมาชวนคุณจวบให้ไปเที่ยวโสเภณีด้วยกัน คุณจวบรู้สึกคล้อยตามเพื่อน เพราะเป็นคนรักเพื่อน แต่อีกใจหนึ่งก็ยังลังเลอยู่ คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะดีแน่ แกจึงรีบเข้าไปนั่งคนเดียวเงียบ ๆ พูดกับตัวเองว่า

" นี่เรากำลังจะทำอะไรลงไปเนี่ย เราแน่ใจแล้วหรือว่าเราจะปลอดภัย การที่เราเข้าไปเที่ยวสถานที่เช่นนั้น เราอาจจะเจอคนพาลเกเร คนขี้เหล้าเมายา มาทำอันตรายเราก็ได้ และ การเที่ยวไปหมกมุ่นมัวเมาอย่างนั้น สักวันหนึ่งมันก็ต้องพลาดพลั้งติดโรคร้ายแรงถึงตายเข้าจนได้ เราจะมายอมเสียอนาคต เสียเงินทอง เสียชื่อเสียงเพียงเพื่อแลกกับการสนุกสนานเพียงชั่ววูบเดียวเช่นนี้หรือ มันช่างไม่คุ้มค่าเสียเลย" วิธีสอนตัวเองแบบ "ขู่ให้กลัว" นี้ คุณจะพูดยกแม่น้ำทั้งห้าอย่างไรก็ได้ ขอเพียงสามารถอธิบายให้ตัวเองยอมรับเหตุผล จนเกิดความกลัวภัยอันจะเกิดขึ้นจากการกระทำไม่ดีของตนเองเป็นใช้ได้
(ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรม "โอตตัปปะ" องค์ประกอบข้อที่สอง ของชุดธรรมะคุ้มครองโลก จากพระไตรปิฎก)

๔.ปลุกเร้าให้เพียรสู้
พูดปลุกเร้าใจตนเองให้เกิดความเพียร ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคปัญหาทั้งปวง โดยไม่คิดพึ่งพาอาศัยใคร แต่จะยืนหยัดเพียรสู้ด้วยกำลังสติปัญญาของตนเอง

ยกตัวอย่าง คุณติ๋มทำงานธนาคารมานาน แต่ต่อมาภายหลังเศรษฐกิจตกต่ำ ธนาคารจำเป็นจะต้องปลดพนักงานออก คุณติ๋มผู้โชคร้ายเป็นผู้หนึ่งที่จะต้องถูกปลดออกจากงานด้วย ถึงแม้เธอจะเกิดความทุกข์ใจ และ เศร้าใจ แต่เธอก็พยายามสอนตัวเองว่า..

" ติ๋ม..เธอสู้ต่อไป เธอไม่ต้องกลัว คนอื่น ๆ ที่เขาโชคร้ายกว่าเธอยังมีอีกเยอะแยะ บางคนเขาไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ ไม่มีข้าวจะกิน เธอยังสบายกว่าเขาไม่รู้กี่เท่าเธอรู้ไหม ติ๋ม..เธอทำได้อยู่แล้ว 0อุปสรรคความยากลำบากทั้งหลายพวกนี้มันมาพิสูจน์ตัวเธอว่า เธอเป็นนักสู้หรือเปล่า มันต้องเจออะไรยากๆ อย่างนี้สิ เธอถึงจะแกร่ง เธอมั่นใจได้เลยนะว่า ตราบใดที่เธอยังใจสู้ไม่ถอย เธอจะต้องฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน"

สอนตัวเองให้ใจสู้แบบนี้แหละครับ คือวิธีคิดพึ่งตนเองแบบ"ชาวพุทธ" ที่แท้จริง คุณลองอ่านนิทานชาดกเรื่อง "พระมหาชนก " ดูก็ได้ นิทานเรื่องนี้จะสื่อให้คุณรู้เลยว่า"ความเพียรของมนุษย์นั้นแม้แต่เทวดายังต้องยอมรับนับถือ" ก้อดูสิ..ขนาดเรือพระมหาชนกแตกอับปางอยู่กลางมหาสมุทร ท่านยังคิดสู้ว่ายน้ำขึ้นบก ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง นี้เป็นตัวอย่างของความเพียรที่เห็นได้อย่างชัดเจน
( ประยุกต์วิธีคิดมาจากหลักธรรมข้อ "วิริยะ" องค์ประกอบข้อที่สองในหลักธรรมชุด"อิทธิบาทสี่"ในพระไตรปิฎก )
ขอยกตัวอย่างเทคนิคสอนตัวเองมาให้ดูสัก ๔ แบบก่อน ทีนี้ถ้าคุณจับหลักได้แล้ว คุณก็จะสามารถที่นำไปประยุกต์เป็นวิธีสอนตนเองแบบอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง อนึ่ง การสอนตนเองบ่อย ๆ เช่นนี้ นอกจากคุณจะได้มีการพัฒนาปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ในที่สุดคุณก็จะกลายเป็นคนที่รู้จักรับฟังคำติติงชี้แนะจากผู้อื่น คือ เป็นคนพูดง่ายไม่ปิดหูปิดตาตัวเองอีกต่อไป

No comments: