Saturday, July 14, 2007

โลกแห่งความกรุณา คือ โลกที่แสนจะอบอุ่น

เราขอเสนอวิธีเปลี่ยนแปลงโลกอันแสนจะว้าเหว่ เหงา เศร้าซึม ของท่าน ให้กลายเป็นโลกที่แสนจะอบอุ่นเปี่ยมล้นไปด้วยมิตรภาพในบัดดล ด้วยธรรมะข้อ "กรุณา"
ด้วย "สติและความเพียร" ของท่านเอง หากท่านสามารถสร้างคุณธรรมข้อนี้ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจอย่างต่อเนื่อง ท่านจะได้สัมผัสกับโลกแห่งความดีงาม อันเป็นโลกของชาวพุทธที่แท้จริง

ทุกข์

ทุกวันนี้ท่านรู้สึกตัวหรือไม่ว่าในท่ามกลางภารกิจการงานแสนจะวุ่นวายรอบ ๆ ตัว ท่านกลับมีความรู้สึกโดดเดี่ยว และ แปลกแยกจากผู้คนรอบข้าง หลายครั้งทีเดียวที่ท่านรู้สึกเหมือนกับว่าต้องเผชิญชีวิตอยู่แต่เพียงลำพังผู้เดียว และ บ่อยครั้งที่ท่านอาจจะรู้สึกว่าผู้คนรอบข้างช่างไม่มีความจริงใจกับท่านบ้างเลย ท่านคงจะรู้ดีว่า ทุกคนๆ ก็ต้องเอาตัวของตัวเองให้รอดไว้ก่อน ก็เลยไม่มีใครที่จะมีเวลาเหลียวแลกันและกันอีกต่อไป เฮ้อ..! คิดแล้วก็ยังทำใจไม่ค่อยได้ว่าทำไมสังคมของเราถึงต้องเป็นอย่างนี้ด้วย ดังนั้นหลาย ๆ คนที่ต้องผจญกับชีวิตแบบนี้ไปนานๆ บางทีเขาจึงอาจจะคิดว่าโลกนี้มันช่างแสนจะน่าเบื่อเสียนี่กระไร


ต้นตอของปัญหา

ครับ.. สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจอะไรเลย เพราะนี่คือบรรยากาศของสังคมแบบบริโภคนิยมที่ห่างเหินจากวิถีชีวิตแบบพุทธไปนั่นเอง เหตุผลง่ายๆ ที่จะช่วยอธิบายให้เราเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น คือ
การที่ชีวิตประจำวันของคนเราในยุคนี้ถูกปลูกฝังให้เกิดค่านิยมบริโภคตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง (ผ่านสื่อต่าง ๆ) ทำให้คนเรายุคนี้มีความเชื่อกันทุกคนว่า ชีวิตจะมีความสุข ต่อเมื่อได้เสพบริโภควัตถุ ดังนั้นทุก ๆ ชีวิตจึงต่างมุ่ง(แก่งแย่ง) แข่งขันกันหาเงินหาทอง (ทุกรูปแบบ) เพื่อนำเงินมาซื้อหาความสุขเหล่านั้น ทีนี้ให้ลองวาดภาพดูว่า การที่นำเอาคนที่มีความคิดแก่งแย่งแข่งขันแบบนี้มาอยู่รวมกันมาก ๆ บรรยากาศของสังคมมันจะเป็นเช่นไร
สรุปว่าความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ที่เกิดขึ้นกับคนในยุคนี้ เกิดจากระบบความคิดแสวงหาผลประโยชน์เข้าครอบงำจิตใจผู้คน จนกลายเป็นกระแสของสังคม ทำให้คนเราแต่ละคนไม่มีเวลาที่จะมานึกถึง ห่วงใยกันและกัน ทั้งนี้เพราะมัวแต่ไปคิดไขว่คว้าหาความสุขจากวัตถุภายนอกนั่นเอง

ภาวะไร้ปัญหา

เปลี่ยนระบบคิดใหม่ ให้ทวนกระแสความคิดแบบบริโภคนิยมที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่ คือ แทนที่เราจะมองว่าการหาทรัพย์สินเงินทองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ให้มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์นี้ต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ด้วยวิธีคิดเพียงเท่านี้ ความรู้สึกทุกข์ใจต่าง ๆ ของเราจะหายไปเองโดยธรรมชาติ ทั้งนี้เกิดจากความคิดของเรามีความสอดคล้องกับธรรมชาติของสังคมมนุษย์นั่นเอง

วิธีการฝึกคิด

๑. ดำเนินชีวิตที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยการฝึกหายใจเข้าออกอย่างมีสติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สติของท่านมีความพร้อมที่จะคิดสร้างสรรค์คุณธรรม "กรุณา" ได้ทุกขณะจิต

๒. ให้นึกถึงความเมตตากรุณาของคุณพ่อคุณแม่ที่ท่านคอยโอบอุ้มช่วยเหลือเราในสมัยเยาว์วัย คือนับตั้งแต่เมื่อครั้งเรายังเป็น ทารกตัวเล็กๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมนำให้คุณธรรมข้อ "กรุณา" ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา สำหรับชาวพุทธ ที่มีความรักศรัทธาในพระพุทธองค์ ให้นึกถึงพระมหากรุณาของพระพุทธองค์เป็นหลัก

๓. เมื่อจิตใจได้สัมผัสถึงความกรุณาของพระพุทธองค์ หรือ คุณพ่อคุณแม่ แล้ว ให้มองสิ่งรอบๆ ตัวของท่าน และคิดในใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวของท่านต่างล้วนมีความกรุณาต่อท่านเหมือนพ่อแม่ที่รักลูกเช่นเดียวกัน
"หน้าต่างประตู" มีความกรุณาต่อท่าน ช่วยนำแสงสว่างเข้ามาในบ้าน ให้ท่านมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข
"หลังคาบ้าน " มีความกรุณาต่อท่าน ช่วยให้ร่มเงา บังแดดบังฝนแก่ท่าน
"ช้อนชาม ถ้วย แก้ว " มีความกรุณาต่อท่าน ช่วยให้ความสะดวกในการรับประทานอาหารแก่ท่าน
"ต้นไม้ ดอกไม้ ผีเสื้อ " มีความกรุณาต่อท่าน ช่วยให้ความสดชื่นแจ่มใส แก่จิตใจของท่าน
"เพื่อนบ้านของท่าน " มีความกรุณาต่อท่าน ที่ไม่คิดทำร้าย หรือ เบียดเบียนท่าน
"ผู้คนในสังคม " มีความกรุณาต่อท่าน ที่ได้ทำหน้าที่ของเขาเพื่อให้ความสะดวกสบายต่อท่าน
ฯลฯ

๔. ให้ท่านมีสติดูลมหายใจเข้าออกอย่างมีความสุข มองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง ในความ "กรุณา" ของสรรพสิ่งที่มีต่อท่าน ให้ท่านตระหนักรู้ว่าชีวิตของท่านเปราะบางยิ่งนัก ต้องอาศัยสิ่งต่าง ๆ มากมาย (ปัจจัย ๔) จึงจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ ในการปฏิบัติท่านอาจจะภาวนาคำว่า "กรุณา" ในใจทุกลมหายใจเข้าออกในขณะที่มองสิ่งต่างๆ ไปด้วยก็ได้

๕. ตามหลักของธรรมชาติ เมื่อเราเป็นผู้รับแล้วก็ควรที่จะเป็นผู้ให้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นขั้นตอนต่อไป ท่านจึงควรแสดงความกรุณาตอบแทนต่อสรรพสิ่งและชีวิตทั้งหลาย

๖. ความกรุณา คือความรู้สึกที่แผ่กว้างออกไป เป็นความรุ้สึกที่ไวต่อความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ทั้งหลาย จนเกิดเป็นแรงจูงใจคิดกระทำการเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์
ในการปฏิบัติให้ท่านระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกรอบตัวท่านนั้น ล้วนแต่มีความทุกข์เป็นเบื้องหลังทั้งสิ้น ให้ท่านรู้สึกไวต่อความทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกลมหายใจเข้าออก เช่นเดียวกับพระพุทธองค์

ยกตัวอย่าง
"ต้นไม้" ให้ความร่มรื่นแก่ท่าน แต่ทุกข์ของต้นไม้ก็คือ หากไม่ได้น้ำก็ต้องเหี่ยวแห้งตาย อีกทั้งยังมีทุกข์จากโรคและแมลงอีกมากมาย ให้ท่านรู้สึกรับรู้ถึงความทุกข์ยากของต้นไม้ จนรู้สึกอยากจะตอบแทนด้วยการคอยดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ
"สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ " ให้ความสะดวกสบายแก่ท่าน แต่ทุกข์ของสรรพสิ่งคือความเสื่อมโทรม เปลี่ยนแปลง ทนได้ยาก หน้าที่ของเราที่ควรเกี่ยวข้องด้วยความกรุณา คือ ช่วยรักษาดูแลให้คงสภาพที่ดีงามไว้ให้มากที่สุด เช่น การช่วย รักษาความสะอาดเป็นต้น

๗. ความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อท่านเริ่มมองเห็นว่าทั้งตัวท่านเองและเพื่อนมนุษย์ทุก ๆ คนในสังคม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ล้วนแต่ต้องตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน คือ ต้องพบกับความทุกข์กายและใจ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ร่างกายไม่พ้นจากอำนาจแห่งความเสื่อมโทรมแก่เฒ่าชรา และในที่สุดท่านเองและทุกๆ คนย่อมไม่พ้นจากความตาย สภาวะทุกข์พื้นฐานเหล่านี้ ทุกๆชีวิตจะต้องได้พบเสมอกัน
การมองเพื่อนมนุษย์ด้วยวิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เกิดมหากรุณาขึ้นภายในจิตใจของท่าน ท่านจะเกิดความรักต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้นจนกลายเป็นความรักที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ
หากท่านมองผู้คนด้วยสายตาแห่งความกรุณาเช่นนี้ บรรยากาศแห่งชุมชนชาวพุทธย่อมเกิดขึ้นภายในจิตใจของท่านอย่างแน่นอน
ยกตัวอย่าง
พบเห็นคนร่ำรวยเงินทอง ท่านคิดในใจว่า ถึงเขาจะร่ำรวยสักเพียงใด แต่เขาก็ยังมีหัวอกเดียวกับเรา คือ ไม่รอดจากความแก่ เจ็บ และ ตาย คิดแล้วก็รู้สึกกรุณา เห็นอกเห็นใจคนร่ำรวยขึ้นมาทันที
พบเห็นคนมีอำนาจ ท่านคิดในใจว่า ถึงเขาจะมีอำนาจล้นฟ้าสักเพียงใด เขาก็ไม่สามารถจะต่อรองกับความ แก่ เจ็บ ตายได้ ตรงนี้เองที่เขาเสมอกับเรา คือ ไม่มีใครสามารถต่อรองกับความตายได้เลย คิดแล้วทำให้ท่านเกิดความกรุณา รู้สึกเมตตาสงสารคนที่มีอำนาจว่า เขาก็ต้องพบกับความทุกข์เช่นเดียวกับเราเหมือนๆ กัน หัวอกเดียวกันแท้ ๆ
ฯลฯ

๘. มหากรุณาสามารถเกิดขึ้นได้โดยวิธีมองผ่านวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ให้ความสะดวกสบายรอบๆตัวท่าน โดยคิดเชื่อมโยงไปถึงความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังของสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเหล่านั้น
ยกตัวอย่าง
"เก้าอี้นั่ง" ด้วยสายตาแห่งความกรุณา ท่านมองเห็น ความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ที่ต้องทำงาน หลังขดหลังแข็งกับสิ่งเหล่านี้ ความยากลำบากของพนักงานขนส่ง ความทุกข์ใจของผู้ประกอบธุรกิจ ความยากลำบากของคนงานที่ต้องไปตัดไม้ในป่า ตลอดจนเห็นความทุกข์ของต้นไม้ที่ต้องถูกตัดโค่นลง ฯลฯ
"ข้าวปลาอาหาร" ด้วยสายตาแห่งความกรุณา ท่านมองเห็น ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ที่ต้องทำงาน อย่างหนักเพื่อผลิตข้าวปลาอาหารให้แก่ท่าน เห็นชีวิตสัตว์ต่างๆ มากมาทที่ต้องล้มตายลงไปมากมายเพื่อให้ชีวิตของท่าน ได้อยู่รอด
ด้วยสายตาแห่งความกรุณานี้เอง ทำให้ท่านเกิดความรักต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

๙. หากทุกลมหายใจเข้าออกของท่าน มีสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะ มองเห็นความกรุณาของสรรพสิ่งที่มีต่อท่าน พร้อมๆ กับท่านเองก็มีความกรุณาต่อสรรพสิ่งทั้งปวงเช่นเดียวกัน ด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ โลกแห่งความกรุณาก็จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของท่าน เป็นที่โลกที่แสนอบอุ่น ท่านจะพบว่าโลกที่เคยโดดเดี่ยวอ้างว้างได้หายหมดไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นโลกที่มีบรรยากาศอบอวลไปด้วยความเมตตากรุณา และ นี่คือ "โลกของชาวพุทธ" ที่แท้จริง

"ปัญญา และ กรุณา ช่วยให้ท่านมองเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ และ เห็นใจ "

No comments: