Friday, July 13, 2007

เทคนิคคิดปรับปรุงชีวิตให้ก้าวหน้า

"ทำไมผมจึงชอบทำในสิ่งที่ไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ผมรู้ว่ามันไม่ดี เมื่อทำแล้วก็เสียใจ แต่พอเผลอๆ มันก็อยากทำอีก( ทำอะไรไม่บอกอะ) ช่วยบอกหนทางแก้ไขให้หน่อยสิ"
ชายกลาง
"รู้สึกไม่สบายใจเลย ด้านหนึ่งเราก็นึกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีนิสัยบางอย่างของเราที่เลวร้ายมาก มันจึงดูเหมือนกับว่าเรามีคนสองคนอยู่ในร่างเดียวกัน ไม่ชอบเลย คือ เราอยากเป็นคนดีล้วนๆ " นกเอี้ยง

คำถามที่ยกมาแสดงข้างต้น สมมุติขึ้นมาเพื่อแสดงถึงภาวะจิตใจที่สับสน คือ คนจำนวนมากเริ่มไม่แน่ใจตัวเองว่า เขาเป็นคนดีหรือคนชั่วกันแน่เพราะการกระทำของเขามีทั้งด้านสว่างและด้านมืด บางครั้งเขารู้สึกตัวว่าเป็นคนดี แต่บางครั้งเขาก็รู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่แย่มากจนไม่น่าให้อภัย และนิสัยทั้งสองด้านนี้เองที่มันจะติดตามเขาไปเหมือนเงาตามตัว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตทั้งด้านดีและร้าย คือ นิสัยดีช่วยสร้างสรรค์ให้ชีวิตของเขาได้ก้าวหน้า แต่นิสัยที่ไม่ดีนี่สิ กลับเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้เขาได้รับผลร้ายจากมันนานาประการ

ยกตัวอย่าง

" คุณติ๊ดตี่เป็นคนดี ชอบทำงานอุทิศเพื่อสังคม มีน้ำใจเสียสละ ปัจจุบันทำงานให้กับองค์กรเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากคุณติ๊ดตี่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ให้ชอบคิดเอาชนะผู้อื่น พอโตขึ้นแกเลยมีนิสัยไม่ชอบให้ใครมาทำงานเก่งเกินหน้า ผลร้ายที่ได้รับคือไม่มีใครอยากทำงานด้วย คุณติ๊ดตี่เลยต้องทำงานไปตามลำพังด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยว เมื่อทำงานคนเดียวเวลาพบปัญหาอุปสรรคก็เลยแก้ไขไม่ได้ คุณติ๊ดตี่จึงทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมายสักที ล้มเหลวมาโดยตลอด "

"คุณปูดเป็นหนุ่มนิสัยดี ขยันทำการงาน อนาคตไกล แต่ได้รับการปลูกฝังเรื่องเพศผิด ๆจากสื่อมวลชนตั้งแต่เด็ก แกจึงกลายเป็นคนที่มีจิตใจไม่ปรกติ ชอบทำผิดศีลธรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นประจำ และไม่สามารถระงับพฤติกรรมที่ผิดปรกติของตัวเองได้ คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังทำ คุณปูดจึงสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอยู่เป็นประจำ
ในที่สุดวันหนึ่งคุณปูดก็ถูกตำรวจจับนำไปปรับที่โรงพักในข้อหาอนาจาร แล้วคุณปูดก็ถูกสื่อมวลชนอีกนั่นแหละที่นำเรื่องของแกไปลงข่าวประนามเหยียดหยาม จนคุณปูดกลายเป็นคนที่เลวร้ายไม่มีสิ้นดีอีกคนหนึ่งในสังคมไทย ในที่สุดคุณปูดจึงต้องออกจากงาน หมดอนาคตไปเลย "

จากตัวอย่างที่ยกมาสองกรณีข้างต้น จะเห็นว่าทั้งคุณติ๊ดตี่และคุณปูด ต่างมีนิสัยทั้งด้านดีและไม่ดีอยู่ในตัวเอง นิสัยทั้งสองด้านล้วนมีผลต่อการดำเนินชีวิตของทั้งสองคน คือ นิสัยด้านดีทำให้ชีวิตของเขาทั้งคู่เจริญก้าวหน้าไปด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันนิสัยด้านลบกลับเป็นอุปสรรคขัดขวาง หรือ ถึงกับทำลายหนทางชีวิตที่ดีงามของเขาให้หมดสิ้นไป

หลักการแก้ไขปัญหา

คนเราถึงจะมีจุดมุ่งหมายที่ดีงามเพียงไร แต่ถ้าเราไม่สนใจแก้ไขปรับปรุงนิสัยที่ยังบกพร่องอื่นๆ ของตัวเอง พร้อมกันไปด้วยแล้ว ก็ยากยิ่งที่เราจะสามารถนำพาชีวิตของตนให้บรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของตนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนี่เองที่จะคอยเป็นตัวถ่วงความเจริญ หรือ ทำให้ชีวิตติดตัน หรือถึงขนาดเสื่อมถอยลงไป ทำให้ไม่ประสบความก้าวหน้าดังที่ตั้งใจไว้

อุปมาเราต้องการจะขับรถไปเชียงใหม่ แต่ทว่าสภาพรถที่ขับกลับไม่ดูแล น้ำมันเติมไม่เต็มถัง ยางหลังรั่วแบน พวงมาลัยฝืด น้ำมันเบรกก็ไม่มี สภาพรถอย่างนี้ ต่อให้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะขับไปให้ถึงสักเพียงใด ก็ไม่มีทางขับไปถึงอย่างแน่นอน

ดังนั้นหากเรารู้จักปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราเองเป็นประจำ โดยการหมั่นสำรวจตรวจตรานิสัยใจคอ ตลอดจนการกระทำของเราทุก ๆ ด้าน เราก็จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาชีวิตของตนให้ก้าวหน้าอย่างมีดุลยภาพ (พัฒนารอบด้าน ได้สมดุลย์) นี้เป็นวิธีการที่ดีที่สามารถพัฒนาชีวิตของเราจะได้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด ชักช้า หรือ เสื่อมถอย อีกต่อไป

วิธีปรับปรุงชีวิตของตนเองให้ดีพร้อมทุกด้าน

ทุกวันก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่เหมาะสำหรับการมานั่งทบทวนชีวิตของตนเองที่ได้ดำเนินมาตลอดวันว่าเรายัง มีอะไรที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุงตนเองได้อีกบ้าง เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองทุกด้านให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยขอเสนอวิธีคิดดังต่อไปนี้
๑. ให้ถามตัวเองว่า วันนี้ตนเองได้ทำอะไรที่เป็นที่น่าพอใจบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเอง หรือ ผู้อื่น หรือ การสร้างเสริมนิสัยที่ดีงามให้แก่ตนเอง ให้ทบทวนในใจเป็นข้อ ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกพอใจยินดีปราโมทย์ในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป จนรู้สึกเคารพตนเองว่าเป็นบุคคลที่เกิดมาแล้วได้ทำสิ่งที่ดีๆ ฝากไว้กับโลก
ยกตัวอย่าง
๑.๑ ฉันพอใจที่ได้ตื่นแต่เช้าในวันนี้ไม่ตื่นสายเหมือนวันก่อน
๑.๒ฉันพอใจที่ทำงานได้เสร็จก่อนเวลาตามนัดหมาย
๑.๓ฉันพอใจที่ระงับความขุ่นเคืองตอนคุณแม่บ่นได้
๑.๔ฉันพอใจที่ได้มีน้ำใจทักทายเพื่อนบ้านด้วยวาจาอันไพเราะ
ฯลฯ

๒. ให้บอกกับตนเองว่า ความดีที่ทำไปมันยังไม่พอ มันต้องทำให้ดีกว่านี้ มากกว่านี้ เป็นทวีคูณ เพราะถ้าคนเราคิดว่าตัวเองดีแล้ว เก่งแล้ว นั่นแหละครับ เขาเรียกว่า " คนประมาท " ดังนั้นเราจึงควรสร้างความ "ไม่พอใจ" ในความดีที่มีอยู่ คือ ไม่ควรหลงตนเองว่าดีแล้ว แต่ควรมีความอ่อนน้อมถ่อมตน คิดฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นี้เป็นนิสัยประจำตัวของพระพุทธองค์ในสมัยก่อนที่จะตรัสรู้เลยทีเดียว คือ "ความไม่สันโดษในกุศลธรรม"

ยกตัวอย่างวิธิคิด
๒.๑. คุณเอนั่งสมาธิเก่งมาก แต่แกก็สอนตัวเองว่า " ถึงจะนั่งสมาธิได้ดี แต่ฉันยังโกรธง่ายอยู่เลย ไม่ได้เรื่องหรอก คงต้องฝึกเมตตาให้มากกว่านี้ "
๒.๒. คุณดวดขยันทำการงาน จนเจ้านายชมเปาะ แต่แกก็สอนตัวเองว่า " ยังขยันไม่พอหรอกแค่นี้ มันต้องขยันทุกลมหายใจถึงจะดี"
๒.๓. คุณอุ๋ยใจดีมีเมตตา จนเพื่อน ๆ ชมว่าเป็นแม่พระประจำออฟฟิส แต่คุณอุ๋ยก็เตือนตัวเองเสมอว่า " ใจดี แต่ไม่ค่อยจะใช้สติปัญญา อย่างเนี้ยนะ โดนเขาหลอกประจำ ไม่ไหวหรอก "

๓. ให้นึกถึงสิ่งที่บกพร่องของตนเองที่ทำมาตลอดวันว่ามีอะไรบ้าง และให้สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไปทำอีกด้วยการ รู้จักติเตียนตนเองให้เกิดความละอายใจ เห็นผลร้ายของนิสัยไม่ดีเหล่านี้ (หิริโอตตัปปะ)
ยกตัวอย่าง
๓.๑. กินข้าวไม่ล้างจาน "แย่จริง น่าละอายมาก เอาเปรียบคนอื่นนี่เรา"
๓.๒.จิ๊กเงินแม่ " โห.. เนรคุณสุด ๆ แม่รู้คงเสียใจแย่เลย "
๓.๓. เปิดดูรูปโป๊บนเน็ต " โรคจิตนี่เรา ทำไมไม่หาอะไรดีๆ มีสาระดูบ้างล่ะ โตแล้วนะ"
๓.๔. นินทาเพื่อน " เลวมาก.. ทำไมเราเป็นคนอย่างนี้ ถ้าคืนอื่นเขานินทาเราม้าง เราจะรู้สึกอย่างไร "
ฯลฯ

๔. ในกรณีที่เป็นความประพฤติผิดศีลธรรม ให้คุณรู้จักสร้างความรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำที่ไม่ดีของคุณเอง ด้วยการสารภาพกับใครสักคนหนึ่งที่คุณมีความเคารพ และ ไว้ใจ

การสารภาพสำนึกผิดนี้เองที่จะเป็นการปลดปล่อยจิตวิญญาณของคุณให้พ้นจากความชั่วร้ายต่าง ๆ ที่ครอบงำคุณมาโดยตลอด

ในสังคมสมมุติสงฆ์ ท่านจึงให้พระภิกษุมาทำการสารภาพความผิด (ปลงอาบัติ) กับหมู่คณะ หากพระภิกษุนั้นได้กระทำความผิดต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งลงไป (อาบัติเบา) คณะสงฆ์เมื่อได้รับรู้ก็จะให้อภัย และ ช่วยเป็นกำลังใจให้สำรวมระวังต่อไป นี้เป็นบรรยากาศของชุมชนที่ดีงามในอุดมคติ ที่สมาชิกทุกคนในชุมชนช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน (น่าเสียดายที่สมัยนี้ ตามวัดต่าง ๆ พระภิกษุทำพอแต่เป็นพิธีๆ จึงไม่ได้รับประโยชน์อะไร )

กระบวนการ "สารภาพผิด" เป็นการฝึกชาวพุทธให้เป็นคนที่รู้จักสำนึกผิดในสิ่งไม่ดีที่ตนได้กระทำลงไป มีผลดีทำให้จิตใจของผู้ที่สารภาพผิดเกิดความโปร่งโล่งสบายใจ (ที่ได้สารภาพผิด ) และ ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติไม่ให้เผลอไปทำสิ่งที่ไม่ดีในอนาคต

อนึ่ง หากคุณเหลียวมองรอบ ๆ ตัวแล้ว ยังมองไม่เห็นมีใครที่คุณพอจะไว้วางใจให้รับฟังความผิดของได้ เราขอแนะนำให้คุณระลึกถึงพระพุทธองค์ (หากคุณเป็นชาวพุทธ ) โดยให้นึกในใจว่าคุณกำลังนั่งสารภาพผิดอยู่ต่อหน้าพระพุทธองค์ ให้คุณทำการสารภาพด้วยจิตใจที่สำนึกผิด และ สัญญากับพระพุทธองค์ว่าจะสำรวมระวังไม่เผลอพลาดพลั้งไปกระทำอีก

ขั้นตอนนี้หากคุณทำด้วยความศรัทธาและรู้สึกสำนึกผิดจริงๆ นิสัยที่ไม่ดีต่าง ๆ ของคุณที่เคยเปรียบ เสมือนมารผจญที่คอยมารุกรานชีวิตของคุณย่ำแย่มาตลอดชีวิต ก็จะค่อยๆ หมดพิษสงลง จนหมดสิ้นไปในไม่ช้า

No comments: