Monday, April 9, 2007

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 10 )

ชีวิตทั้งหมดอยู่ด้วยอานาปานสติ
การเจริญอานาปนสติ มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้เกิดสติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ เพื่อละสังโยชน์เข้าถึงอริยมรรค อริยผล และพระนิพพาน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
หนทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ ได้ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้คือสติปัฏฐาน 4
สติที่ระลึกรู้อารมณ์ในสติปัฏฐาน 4 คือสติที่ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กายเป็นสักแต่ว่ากาย เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา จิตสักแต่ว่าจิต
ธรรมสักแต่ว่าธรรม

ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ทำให้จิตถอนอุปาทาน ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นเหตุแห่งทุกข์
ธรรมชาติของจิตเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความยึดมั่นถือมั่น
ยกตัวอย่าง อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เช่น คนติดบุหรี่ คิดถึงบุหรี่สม่ำเสมอด้วยความอยาก หากไม่มีก็หงุดหงิดไม่พอใจ เป็นเหตุให้เกิดความโกรธ ความคับแค้นใจ ก็เพราะเกิดอุปทานในบุหรี่ สำหรับคนที่ติดเหล้า ติดการพนัน ติดในบุคคล วัตถุสิ่งของ หรือไม่ว่าจะติดในอะไรก็ตาม ก็มีลักษณะเดียวกัน คือทำให้เกิดอารมณ์ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ตามมาเสมอ แต่สำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่แล้ว บุหรี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีคุฯค่าความหมายอะไรเลย ดังนั้นการถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นก็คือเพื่อทำจิตใจปล่อยวางความยึดติด
ติดบุหรี่ คือติดในกาย เวทนา จิต ธรรม
ความยึดติดในบุหรี่ซึ่งเป็นวัตถุ คือ กาย

ความยึดติดในความรู้สึกคือ เวทนา
รู้สึกสุขเมื่อได้สูบบุหรี่ คือ สุขเวทนา
รู้สึกทุกข์เมื่อหิวบุหรี่ คือทุกขเวทนา
ความยึดติดในอาหารอยากบุหรี่ คือ จิต
ความยึดติดในความเห็น คือ ธรรม
ความเห็นว่าสูบบุหรี่ทำให้มีความสุข
ความเห็นว่าสูบบุหรี่ทำให้ดูโก้ เป็นต้น
ถ้าเราพิจารณาจนถอนอุปาทานจากความยึดติดในอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เท่ากับถอนอุปาทานจากกาย เวทนา จิต ธรรม ได้ทั้ง 4 อย่าง เลิกบุหรี่ได้ ไม่ติดบุหรี่ติดไป
เมื่อถอนอุปาทานเสียแล้วสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป ทำให้จิตว่าง สงบเบาสบาย มีความบริสุทธิ์ผ่องใสตามธรรมชาติเดิมแท้ของจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
จิตที่มีความยึดติด คือจิตที่เป็นทุกข์

จิตที่ไม่มีความยึดติด คือจิตที่เป็นอิสระ เป็นสุขอย่างยิ่ง

การเจริญอานาปานสติในชีวิตประจำวัน สามารถอธิบายในลักษณะวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ตามรู้ลมหายใจ
= ตามดูจิต
การตามรู้ลมหายใจ กับตามดูจิตเป็นเรื่องเดียวกัน เปรียบเทียบลมหายใจ เป็นหน้าต่าง ภาพที่มองเห็นผ่านหน้าต่างเป็นจิต
เมื่อมองดูหน้าต่าง เราเห็นภาพข้างนอก เมื่อกำหนดดูลมหายใจ ก็มองเห็นจิต
ลองสังเกตดู หากเราคิดฟุ้งซ่านเมื่อไร ความรู้สึกตัวกับลมหายใจจะหายไป แต่เมื่อเรามีสติระลึกรู้ลมหายใจได้
แสดงว่าจิตใจสงบพอสมควรเรียกว่าเรามีจุดยืน มีความรู้สึกตัวที่ลมหายใจ ติดตามดูจิต รักษาจิต ไม่ว่าจะนึกคิดอะไรขึ้นมา คิดดีหรือคิดชั่วก็ตามกำหนดรู้เท่าทันคือความดับ คิดดีหรือคิดชั่วนั้นก็ดับไปๆ ไม่ต้องห้าม ไม่ต้องยึด ไม่ต้องคิดปรุงแต่งต่อคือรู้แล้วก็ดับไป รู้แล้วให้ปล่อย รู้แล้วไม่ต้องติดใจอะไรอีก เรียกว่า กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์แล้ว กิเลส และความทุกข์ก็ไม่เกิด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนจริงๆ สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้

ผู้ใดตามรู้จิตของตน ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงมาร

2. ลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร

โดยปกติ จิตที่ไม่ได้ฝึกก็จะฟุ้งซ่านไปทั่วทุกสารทิศ ปรุงแต่ไปตามการรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้น สำหรับการฝึกปฏิบัติของเราคือ ให้มีสติระลึกรู้ลมหายใจ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ตาม ให้มีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สม่ำเสมอในอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน พยายามทำอยู่บ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้คิดปรุงแต่งไปตามอารมณ์ยินดี ยินร้าย รักษาใจให้เป็นปกติ เป็นศีล เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร รักษาใจสงบ สุขภาพใจดี

3.ลมหายใจยาวๆ คือปฐมพยาบาลแก่จิตใจ
เมื่อติดอามารณ์ คือ มีความไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เกิดขึ้นเมื่อไร ให้เอาลมหายใจเป็นปฐมพยาบาลแก่จิตใจ ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ
การหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกตัวชัดเจน เมื่อมีความรู้สึกตัวชัดเจนกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกติดต่อกันต่อเนื่องแล้ว ความคิดที่ไม่ดี ความรู้สึกที่ไม่ดีก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ความรู้สึกตัว ความรู้สึกที่ดี ความสงบสบายใจจะเข้ามาแทน เป็นปฐมพยาบาลแก่จิตใจ ช่วยทำให้สุขภาพใจดี

4.ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด

ในอิริยาบถบางอย่างไม่สะดวกที่จะกำหนดรู้ลมหายใจ เช่น ขณะที่กำลังพูดคุย เรียนหนังสือ ขับรถ เล่นกีฬา ฯลฯ เราไม่ต้องกังวล คือไม่ต้องระลึกถึงลมหายใจ แต่ให้อยู่ในหลักอานาปานสติให้ครบถ้วน คือเอาใจใส่ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี มีความสุขใจ

ปัจจุบัน เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด
อดีต ผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่ต้องไปคิดถึง

อนาคตยังมาไม่ถึง การวิตกกังวลถึงอนาคต จึงไม่มีประโยชน์เลย

เรื่องคนอื่นไม่สำคัญเท่าไร โดยเฉพาะความชั่ว ของคนอื่น อย่าแบก

ตัวเราเองทำดีทำถูก รักษาใจเป็นปกติได้ สำคัญที่สุด

ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี คือ ใจเป็นศีล ไม่เบียดเบียน ตั้งเจตนาถูกต้อง

ไม่ยินดี คือ ไม่โลภ

ไม่ยินร้าย คือ ไม่โกรธ

รู้เท่าทันอารมณ์ คือ ไม่หลง

มีความเมตตากรุณา ต่อตนเองและผู้อื่น

ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ คือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี สุขใจ

ชีวิตนี้ไม่ควรทำชั่ว
ไม่ควรอาฆาตพยาบาท
และไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
ชีวิตนี้เพื่อสร้างสมคุณงามความดี
สาระสำคัญของชีวิตคือความรักความเมตตา
ที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น

จากหนังสือเราเกิดมาทำไม? พระอาจารย์มิตซูดอะ คเวสโก

No comments: